- ‘แกะสลักชีวิต’ คือหน่วยการเรียนรู้สุดท้ายในวิชาบูรณาการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ที่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนปัญญาประทีปจะต้องเรียนรู้ก่อนจบการศึกษา
- หัวใจสำคัญของการแกะสลักชีวิต คือ การสำรวจตัวเอง เรียนรู้ผู้อื่นผ่านการลงมือปฏิบัติ และสะท้อนคิดเพื่อที่จะเข้าใจตัวเอง ก่อนจะสกัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคหรือจุดอ่อนออกไป
- “เมื่อเด็กๆ ได้มองเห็นตัวเองและหาวิธีแก้ปัญหาในวิธีของตัวเองอย่างจริงจังต่อเนื่อง ในที่สุดสายตาของเด็กๆ ที่มองปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ก็จะกว้างขึ้นและละเอียดลึกซึ้งกว่าเดิม”
“คุณครูหลายๆ คนในโรงเรียนแห่งนี้เป็นดั่งพื้นที่ปลอดภัย เป็นผู้ที่สนับสนุนในทุกความฝันและการตัดสินใจของเด็ก เป็นผู้ที่ให้กำลังใจทุกครั้งที่เราล้มลง และยินดีกับเราทุกครั้งเมื่อเราสำเร็จ
คุณครูโรงเรียนนี้มักไม่ค่อยมีคำว่าถูกหรือผิด เพราะคุณครูในปัญญาประทีปให้ความสำคัญกับความพยายามมากกว่าผลลัพธ์ที่ได้ และผมเชื่อว่าการศึกษาที่ดีไม่ใช่การวางท่อประปา การศึกษาที่แท้จริงไม่ใช่การผลิตเด็กออกมาให้เป็นพิมพ์เดียวกัน แต่ให้แต่ละคนได้เปล่งประกายที่สุดในแบบที่เขาสามารถเป็นได้”
สุนทรพจน์บางส่วนของน้องไวศ์ วงศ์ทวีทอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปัญญาประทีป ที่กล่าวในงานปัจฉิมนิเทศสะกิดความสนใจของผมให้ออกเดินทางไปยังโรงเรียนทางเลือกวิถีพุทธปัญญาแห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 82 ไร่ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการจัดการเรียนรู้ของที่นี่
สำหรับผม หน่วยการเรียนรู้ที่สนใจมากเป็นพิเศษ คือ วิชาแกะสลักชีวิต ซึ่ง ‘ครูขวัญ’ ฐิติขวัญ เหลี่ยมศิริวัฒนา เป็นผู้สอน โดยวิชานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาบูรณาการเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว ถือเป็นวิชาชีวิตวิชาสุดท้ายที่โรงเรียนจะถ่ายทอดแก่น้องๆ ม.6 ก่อนจะโบยบินสู่โลกภายนอกที่เต็มไปด้วยสิ่งท้าทายต่างๆ มากมาย
‘แกะสลักชีวิต’ เริ่มง่ายๆ จากการเข้าใจตัวเอง
“โรงเรียนเราสอนวิชาการตามปกติเหมือนโรงเรียนอื่นค่ะ” ครูขวัญเริ่มบทสนทนา ก่อนอธิบายว่าสิ่งที่แตกต่างไปจากหลายๆ โรงเรียนคือการสอดแทรกวิชาบูรณาการ 3 หน่วยกิตที่ชื่อ ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ ซึ่งเป็นหลักสูตรรวบรวม ‘วิชาชีวิต’ ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดีเพื่อสอนให้เด็กๆ ในแต่ละระดับชั้นได้มีทักษะชีวิตที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ
“ในหลักสูตรเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว คุณครูจะแบ่งออกเป็นวิชาต่างๆ ตามความเหมาะสม ม.1 จะสอนวิชากินเป็นอยู่เป็น ม.2 สอนวิชาซับเหงื่อโลก ม.3 สอนวิชาโตก่อนโต ม.4 สอนวิชาสื่อสารเป็น ม.5 สอนเรื่องสัมมาธุรกิจ และ ม.6 สอนวิชาแกะสลักชีวิต ซึ่งครูจะสอนวิชาโตก่อนโตกับแกะสลักชีวิต
อย่างตอนเด็กๆ ขึ้นชั้นม. 3 จะเป็นช่วงที่เขากำลังจะเข้าสู่ม.ปลายเพื่อเลือกสายการเรียน ดังนั้นครูก็เอาวิชาแนะแนวมาขยายผลเป็นวิชาโตก่อนโต หลักๆ จะเป็นการทำให้เด็กๆ ได้รู้จักตัวเองว่าฉันเกิดมาเพื่ออะไร ถนัดอะไร ชอบอะไร แล้วที่ฉันเรียนหนังสือไปนั้นฉันเรียนเพื่ออะไร เพื่อในที่สุดแล้วฉันจะได้รู้ว่าฉันจะทำอะไรต่อไปในอนาคต โดยไฮไลต์คือเขาจะต้องไปฝึกงานเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในอาชีพที่เขาสนใจ ซึ่งครูก็จะมีโจทย์อื่นๆ ด้วย เช่น อาชีพที่เป็นงานบริการสังคม เพื่อให้เขาเรียนรู้สกิลที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างการจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยตัวเอง รวมถึงได้สัมผัสว่าการเป็นฟันเฟือนหนึ่งของสังคมเป็นอย่างไร”
สำหรับวิชาแกะสลักชีวิต ครูขวัญบอกว่าวิชานี้เป็นเหมือนวิชาที่รวบรวมทุกสิ่งที่สอนในโรงเรียนมาสรุปและทบทวนให้นักเรียนเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งหลักคิดของวิชานี้มาจากเรื่องการแกะสลักม้าของไมเคิล แองเจลโล ที่เผยเคล็ด(ไม่)ลับว่า เขาไม่ได้แกะม้า แต่แกะสิ่งที่ไม่ใช่ม้าออกไป
“มีนักเรียนที่เพิ่งจบไปพูดเรื่องนี้ในงานสุนทรพจน์ว่าการอยู่ในโรงเรียนนี้ไม่ใช่แค่การมาเรียน แต่เป็นการแกะสลักชีวิตอยู่ตลอดซึ่งในการแกะสลักม้าของแต่ละคนนั้น ย่อมเห็นภาพม้าที่รออยู่ด้านในเนื้อม้าไม่เหมือนกัน ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการเรียนรู้ว่าม้าของคุณเป็นยังไง ซึ่งคำสอนของพระอาจารย์ชยสาโร (องค์ประธานที่ปรึกษาโรงเรียนปัญญาประทีป) และความรู้ที่ได้จากคุณครูแต่ละคนก็คืออุปกรณ์ในการแกะสลักที่ช่วยให้ม้าของเขาค่อยๆ ละเอียดประณีตยิ่งขึ้น
ดังนั้นวิชานี้เราจะออกแบบคอร์สร่วมกัน เพื่อเตรียมเด็กแต่ละคนให้พร้อมก่อนที่จะจบออกไป เหมือนกับเป็นการฝากวิชาชีวิตครั้งสุดท้ายให้เขา”
ครูขวัญบอกว่ากิจกรรมแรกของการแกะสลักชีวิตคือการสำรวจตัวเองเชิงลึก ผ่านการให้นักเรียนแต่ละคนได้วิเคราะห์ SWOT (จุดแข็ง,จุดอ่อน, โอกาส,อุปสรรค) ของตัวเอง ทั้งยังเพิ่มระดับความเข้มข้นของกิจกรรมดังกล่าวด้วยการให้เพื่อนๆ คุณครู รวมถึงผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการคอมเมนต์หรือวิจารณ์นักเรียนอย่างเป็นกัลยาณมิตร
“สมมติว่านักเรียนชื่อปั่น ครูก็จะให้เขียนทุกคนข้อดีของปั่น อะไรที่ปั่นเก่งปั่นถนัด หรืออะไรที่เป็นข้อดีปั่นอวดได้เลย ต่อไปเป็นข้อเสีย ข้อเสียอะไรที่เป็นนิสัยไม่ดีของปั่น อะไรที่เพื่อนรู้สึกว่าปั่นติดค้างอยู่ในนั้น คือครูจะตีโจทย์ของคำว่าข้อดีข้อเสียอย่างละเอียดเพื่อให้เด็กเขียนออกมาเยอะที่สุด เพราะฉะนั้นเด็กๆ แต่ละคนจะมีลิสต์ข้อดีข้อเสียของตัวเองเยอะมาก
ซึ่งการที่จะทำแบบนี้ได้ แล้วเพื่อนทุกคนสามารถเขียนถึงกันและกันได้ หรือการที่เขาต้องนำ SWOT ไปให้คุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือรุ่นพี่รุ่นน้องที่เขาสนิททำมันโหดมากถ้าเราไม่ได้เตรียมเด็กมาดีก่อน โดยเฉพาะ ‘วิชาสื่อสารเป็น’ ที่เขาได้เรียนรู้การสื่อสารกับมนุษย์ว่าเพื่อนคือเพื่อนทุกข์ คนตรงหน้าคุณคือเพื่อนทุกข์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรที่เขากำลังพูดอยู่ คุณต้องหาให้เจอว่าความทุกข์เขาคืออะไร แล้วคุณไปแก้ความทุกข์นั้นให้เขา แล้วทุกอย่างมันก็จะโอเคขึ้น
เพราะฉะนั้นเราจะทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกันจริงๆ และสิ่งที่อยู่ในนี้เราจะไม่เอาไปตลบหลังกันอีกที ดังนั้นกิจกรรมนี้จะทำให้เขาได้พบอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเองว่าคนทุกคนต่างมีข้อดีข้อเสีย และจุดที่ยังต้องจัดการเพิ่มเติม”
‘เงาตามงาน’ สำรวจโลกจริงก่อนสำรวจใจตัวเอง
เมื่อให้เด็กๆ ส่องกระจกสำรวจตัวเองแล้ว โรงเรียนจะเปิดโอกาสให้นักเรียนม.6 ได้มีโอกาสกลับไปฝึกงานอีกครั้ง ซึ่งการฝึกงานนี้จะคล้ายกับวิชาโตก่อนโตของนักเรียนชั้นม.3 แต่ใช้ระยะเวลานานกว่า เพื่อให้เด็กๆ ได้รับประสบการณ์ชีวิตที่หาไม่ได้จากห้องเรียน
“ที่จริงคำว่าฝึกงานครูใช้ในฐานที่เข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วคำที่ถูกต้องคือเงาตามงาน (Job Shadowing) เด็กๆ ก็จะไปติดต่อหาคนที่เขาอยากตามค่ะ สมมติมีเด็กสนใจอาชีพนักข่าว เขาก็จะไปขอยืนอยู่ใกล้ๆ และสังเกตตลอดเวลาว่านักข่าวจะต้องทำอะไรบ้าง จะไม่ได้เป็นการ train for skills เพราะเราไม่ได้เรียนอะไรมาก่อน ฉะนั้นเด็กจะยังไม่ได้ทำงานจริง แต่อาจจะได้หัดได้ลองทำอะไรบ้าง ซึ่งเด็กๆ จะได้เรียนรู้ชีวิตจริงว่าเขาโอเคไหมกับอาชีพนี้ คนที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขามีความคิด มีการจัดการกับตัวเองกับโลกใบนี้ยังไงบ้าง
ครูอยากให้เขาไปเห็นภาพจริงของการมีชีวิตมากกว่า เพราะครูจะให้เขาไปทำให้เหมือนเลย ถ้าเป็นไปได้ก็จะพยายามเชียร์ให้ไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะอยากให้เด็กรู้จักดูแลตัวเอง ใช้เงินเป็นก้อน ทำเหมือน First Jobber ทุกอย่าง”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเลือกเป็นเงาตามงานในอาชีพที่เขาอยากเป็นในอนาคต เพราะบางคนก็เลือกไปเป็นเงาตามงานในอาชีพที่เขาสนใจและอยากเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนในอาชีพนั้นมากขึ้น
“มีเด็กรุ่นหนึ่งเขาเริ่มต้นไปเป็นเงาตามงานสถาปนิกก่อน แต่พอเป็นได้สักพักเขาก็ลองไปเป็นเงาตามงานพนักงานเก็บขยะที่แชร์กันเป็นไวรัลในอินเตอร์เน็ตอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งตอนแรกทางเขตก็ไม่ต้องการรับใครไปฝึกงาน แต่พอเด็กไปนั่งดักรอรถเก็บขยะก็ได้พูดคุยจนได้ไปตามเก็บขยะที่ซอยอ่อนนุชอยู่ 2 – 3 คืน เด็กก็ได้ทำจริงๆ คือเอามือจ้วงล้วงลงไปในน้ำครำจนเกือบสุดแขน เด็กคนนี้ก็มาเขียนว่ามันเกิดขึ้นอะไรในใจเขาบ้าง เขาได้รู้ว่าการเด็ดดอกไม้มันสะเทือนถึงดวงดาวจริงๆ และสำหรับเขาพี่คนนี้เป็นเหมือนกับฮีโร่ของประเทศเรา เพราะถ้าไม่มีคนทำอาชีพนี้ ประเทศเราคงเต็มไปด้วยขยะทุกตรอกซอกซอย
เด็กคนต่อมาเขียนเล่ามาว่าผมไปฝึกงานที่ปั๊มน้ำมันของเพื่อน แม่ก็เป็นห่วงมากพร้อมกับเตือนว่าต้องระวังตัวนะ เวลามีพวกคนขับสิบล้อมาเติมน้ำมันตอนกลางคืนอย่าไปคุยนะ เดี๋ยวเขาจะแบบนั้นแบบนี้ ช่วงแรกๆ เขาก็กลัวและระวังตัวเป็นพิเศษทุกครั้งที่มีรถสิบล้อหรือรถส่งของเข้ามา แต่พอฝึกงานจบ เขากลับพบว่าจริงๆ แล้วคนที่ใจร้ายที่สุดคือคนที่ขับรถที่แพงที่สุดมากกว่า อย่างคนขับรถสิบล้อไปซื้อของในเซเว่น เขาก็ซื้อมาฝาก บอกไอ้น้องเอาไปกิน กินข้าวหรือยัง ทำไมตัวเล็กแค่นี้มาทำงานล่ะ
กลับกันคนที่มองเขาด้วยสายตาดูถูกคือคนที่ขับรถที่แพงที่สุด ตัวเล็กแค่นี้ทำงานเป็นหรือเปล่า ระวังนะเดี๋ยวทำรถพี่เสียหาย เขาก็ได้กลับไปบอกแม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เหมือนที่แม่บอกไว้ มันตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ครูก็รู้สึกว่ามันต้องให้เขาไปเรียนรู้แบบนี้แหละ เขาถึงจะเข้าใจชีวิตอย่างแท้จริง”
หลังออกไปเรียนรู้ชีวิตผ่านการเป็นเงาตามงาน ครูขวัญบอกว่าผลลัพธ์คือนักเรียนของเธอมองเพื่อนมนุษย์ด้วยความเข้าอกเข้าใจมากขึ้น เพราะในชีวิตเราไม่สามารถตัดสินใครคนหนึ่งด้วยหน้าฉากที่เราเห็นเพียงอย่างเดียว
“ในที่สุดแล้วเขาก็ได้เรียนรู้ว่ามันมีทุกรสชาติในทุกสิ่งที่เขาทำ ฉะนั้นเขาก็แค่ต้องผ่านมันไปให้ได้ แล้ว make something good ออกมา อันนี้คือเป้าหมายของการที่เราให้เขาไปฝึก ไม่ได้อยากให้เขาไปทำเชิงวิชาชีพอย่างเดียว อยากให้เขารู้วิชาชีวิตกลับมามากกว่า
นอกจากนี้มันจะสอดคล้องกับสิ่งหนึ่งที่ครูสอนในโรงเรียนเรื่อยๆ เลยคือเรื่อง Empathy เพราะว่าเพื่อนมนุษย์ทุกคนมีทุกข์ที่แตกต่างกัน แล้วก่อนที่คุณจะตัดสินคน คุณเข้าใจทุกมุมทุกเรื่องของเขารึยัง ลองเอาไฟฉายส่องเขาทุกๆ ด้านก่อน”
Transformation Project ถึงเวลาขจัดจุดอ่อนในชีวิตออกไป
เมื่อเด็กๆ ได้รู้จักตัวเองมากขึ้นผ่านการทำ SWOT ก่อนออกไปลิ้มลองรสชาติของชีวิตจริงนอกรั้วโรงเรียน ก็ถึงเวลาที่ครูขวัญจะชวนให้ทุกคนนำประสบการณ์เหล่านั้นย้อนกลับมาเชื่อมโยงกับตัวเองผ่านการทำโปรเจกต์ที่ชวนให้เด็กๆ ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองผ่านการแกะสลักเอาสิ่งที่เป็นจุดอ่อนหรืออุปสรรคในชีวิตออกไปอย่างน้อย 1 ข้อ
“ก่อนปิดเทอม 1 ครูจะพาเขาทำ Transformation Project เพราะหลังจากที่เด็กคนหนึ่งรู้จักตัวเอง รู้ว่าฉันอยากเป็นอะไรแล้ว ในที่สุดเขาจะกลับมาพร้อมสิ่งที่ฉันอยากเปลี่ยนแปลงมากที่สุด 1 หรือ 2-3 อย่าง ซึ่งครูจะสอน Iceberg Model ด้วยค่ะ ว่าปัญหาที่คุณเห็นอยู่มันคืออันนี้ (ยอดเขาเหนือระดับน้ำ) คุณต้องไปเรียนรู้ว่าข้างล่างที่มองไม่เห็นมันคืออะไร ที่สุดแล้วต้นกำเนิดมันคืออะไร อย่างเด็กบางคนแบบว่าพังมาก ทะเลาะกับที่บ้านเพราะไม่ยอมติว ในที่สุดแล้วไปพบว่า จริงๆ แล้วเขาไม่มีเวลา Register ตัวเอง เขามัวแต่วิ่งไปกับสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ
มีเด็กคนหนึ่งบอกว่าหนูมีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป เขาก็ไปหาว่าจะทำยังไง เริ่มจากลองทำแบบทดสอบระดับความสุข จุดบอดที่ทำให้เขามีความสุขน้อยคืออะไร ซึ่งครูจะให้ออกแบบว่าเขาต้องการจะจัดการอะไรกับตัวเอง ให้เขาพยายามศึกษาหาต้นตอที่แท้จริง แล้วเขาจะได้ลองทำวิจัยสั้นๆ เพื่อจัดการกับปัญหานั้นในแบบที่เขาคิดมาดีแล้ว โดยมีการเก็บข้อมูลเชิงโปรเจกต์ มีการวัดผล Before & After อย่างชัดเจน รวมไปถึงกระบวนการติดตามที่มีพ่อแม่มาช่วยดูและประเมินผล ก่อนที่สุดท้ายจะให้เด็กๆ มา Report กันว่าแต่ละคนมีการเปลี่ยนแปลงยังไง”
ครูขวัญกล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อเด็กๆ ได้มองเห็นตัวเองและหาวิธีแก้ปัญหาในวิธีของตัวเองอย่างจริงจังต่อเนื่อง ในที่สุดสายตาของเด็กๆ ที่มองปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ก็จะกว้างขึ้นและละเอียดลึกซึ้งกว่าเดิม
“พอได้ทำโปรเจกต์นี้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน เขาจะรู้ว่าจริงๆ แล้วเขามี Muscle memory (ความจำที่เกิดจากประสบการณ์ในการพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นทักษะติดตัวระยะยาว) ที่ทำให้ผ่านมันไปได้ถ้าลงมือทำจริงๆ แล้วเขาจะรู้ว่าฉันก็ทำมันสำเร็จได้เหมือนกัน”
อย่างไรก็ตาม แม้วิชาชีวิตจะไม่มีผลต่อองค์ความรู้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และหลายๆ โรงเรียนต่างมุ่งเน้นผลิตเด็กที่เก่งวิชาการโดยมีปลายทางอยู่ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ครูขวัญเชื่อว่าวิชาชีวิตที่เธอมอบให้เด็กๆ จะช่วยให้เขารับมือกับเรื่องต่างๆ ในอนาคตได้อย่างมีสติมากขึ้น
“ทุกวันนี้สิ่งสำคัญแต่ไม่เร่งด่วนเราลืมไปหมดเลย ทำให้เราต้องไปทำตอนที่มันเร่งด่วนแต่ไม่สำคัญแล้ว การให้วิชาชีวิตลูกก็เหมือนกัน พ่อแม่ลืมให้ สังคมก็ลืมให้ หรือให้อะไรบางอย่างที่ไม่ควรให้ แล้วไม่เคยมีคนชี้ให้เด็กเห็นว่าสิ่งนี้คืออะไรที่เขากำลังเสพมันอยู่ ครูเลยคิดว่ามันต้องมีที่ที่ทำแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนทางเลือก ยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกที่บ้านได้จะดีมากเลย
ครูคิดว่าวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต มันต้องมาพร้อมกันเหมือน Head Hand Heart มนุษย์ต้องมีหัว ต้องมีใจ ต้องมีการลงมือทำ ทุกอย่างมันต้องสอดรับกัน ซึ่งรุ่นพี่ที่จบไปแล้วหลายคนมักกลับมาสะท้อนว่าที่สุดแล้ววิชาชีวิตต่างๆ ที่ฝึกไปมันสามารถนำดึงมาใช้จริงๆ โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่คาดคิดอย่างการนั่งสมาธิเพื่อให้มีสติ แล้วกลับมาที่ลมหายใจ (อยู่กับปัจจุบันขณะ)”
ถึงตรงนี้ ผมอดถามไม่ได้ว่า โรงเรียนนี้จะทำให้เด็กโลกสวยหรือเปล่า เขาจะเอาตัวรอดได้ใช่ไหม ซึ่งครูขวัญตอบอย่างมั่นใจว่า
“โลกสวยนี่แหละจะทำให้ไม่ต้องเอาตัวรอด เพราะว่าเขาไม่ได้มองว่าคนที่ไม่เหมือนเขาเป็นภัยคุกคาม เขามองว่าเป็นเพื่อนทุกข์แทนที่จะมองว่าพี่คนนั้นน่ากลัวจังเลย แต่การที่เขามองโลกสวยเพราะเขามีแนวโน้มจะเข้าใจมากกว่ากลัว ดังนั้นเฉดสีของเด็กๆ เลยอาจจะละมุนกว่าเฉดปกตินิดนึง”