- “แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ทำพลาดอีกเลยนะ มีคลาสนึงที่เราเข้าไปแล้วนักศึกษาคุยกันเสียงดัง เราก็พยายามพูดบอกทุกคนว่า ‘ครูเข้ามาแล้วนะ’ ก็ไม่มีใครฟัง ‘ทุกคนครูเข้ามาแล้วนะครับ’ ก็ยังไม่มีคนสนใจ ทีนี้เราเลยตวาดเลย ‘ทุกคนฟัง!’ ซึ่งทุกคนก็หันมาฟังจริงๆ แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับนักศึกษาเหมือนแก้วที่ร้าวไปแล้ว เพราะทุกคนฟังเราด้วยความกลัว จากคลาสนั้น บางคนก็แสดงออกให้เห็นเลยว่าเขาไม่ชอบเรา”
- รัชนิกร ชลไชยะ หรือ ครูเฮง คืออาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ครูผู้สอนเลขผ่านสื่อหลากหลาย ทั้งบทเพลง บทกลอน และการใช้ภาพที่เขาได้ออกแบบขึ้นมาเพื่อทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องง่ายขึ้น เขาสอนนักเรียนมาหลากหลายแบบ ตั้งแต่เด็กมัธยมต้น มัธยมปลาย เด็กออทิสติก หรือเตรียมทหารก็ยังเคย กิตติศัพท์ด้านความสนุกในวิชาที่เขาสอนนี่แหละ ที่ทำให้เราอยากมานั่งคุยกับเขา
- ตลอดสองชั่วโมงที่คุยกัน เรื่องเล่าของเขาเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดและผิดหวังในชีวิต จนแทบจะไม่มีเรื่องของความสำเร็จและรอยยิ้มอยู่เลย เขาเผยเอาสิ่งที่อยู่ข้างในซึ่งเป็นบทเรียนที่สั่งสอนเขาอย่างเจ็บปวดให้เราได้สัมผัส
รัชนิกร ชลไชยะ หรือ ‘ครูเฮง’ เริ่มต้นประโยคแรกกับเราด้วยคำว่า ‘ไม่เคยให้สัมภาษณ์มาก่อนเลยนะ ไม่รู้จะไหวหรือเปล่า’ …
จากนั้นเวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วจนเกือบสองชั่วโมง ‘ยิ่งกว่าไหวอีก’ เรารีบบอกเขาทันทีที่กดหยุดเครื่องบันทึกเสียง
สิ่งที่น่าสนใจระหว่างการพูดคุยสัมภาษณ์กับครูเฮงก็คือ เรื่องเล่าของเขาที่เต็มไปด้วยข้อผิดพลาดและผิดหวังในชีวิต จนแทบจะไม่มีเรื่องของความสำเร็จและรอยยิ้มอยู่เลย เขาเผยเอาสิ่งที่อยู่ข้างในซึ่งเป็นบทเรียนที่สั่งสอนเขาอย่างเจ็บปวดให้เราได้สัมผัส
ครูเฮง คืออาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ ที่มีรูปแบบการสอนที่สนุกสนาน เขาเป็นครูที่นำวิชาเลขซึ่งเป็นวิชาที่หลายคนอยากจะหลีกหนี มาสอนผ่านการใช้สื่อที่หลากหลาย ทั้งบทเพลง บทกลอน และการใช้ภาพที่เขาได้ออกแบบขึ้นมาเพื่อทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เขาเคยได้รับเชิญไปสอนนักเรียนมาหลากหลายแบบ ตั้งแต่เด็กมัธยมต้น มัธยมปลาย เด็กออทิสติก หรือเตรียมทหารก็ยังเคย กิตติศัพท์ด้านความสนุกในวิชาที่เขาสอนนี่แหละ ที่ทำให้เราอยากมานั่งคุยกับเขา
เรานัดพบครูเฮงที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นที่ทำงานแห่งใหม่ที่เขาเพิ่งมาอยู่ได้เพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น โดยเขานิยามว่าถ้าชีวิตเป็นบทในหนังสือ การมาสอนที่มจธ. ก็นับว่าเป็น Chapter ที่ 4 แล้ว บทสนทนาของเราจึงเป็นเรื่องราวตั้งแต่คำนำของหนังสือ เนื้อหาใน Chapter ที่ 1-3 เพื่อสำรวจว่า ก่อนจะมาเป็นครูเฮงนักสร้างสรรค์ห้องเรียนคณิตศาสตร์ในวันนี้ได้ เขาได้ผ่านบทเรียนอันสำคัญในชีวิตแบบไหนมาบ้าง
คุณรู้ตัวว่าอยากเป็นครูตั้งแต่เมื่อไร
ตั้งแต่ตอนอยู่ป.2
โอ้โห ทำไมรู้จักตัวเองได้เร็วจัง
เหตุผลมันจะตลกหน่อยนะ คือเราอยากใส่ชุดสีกากีมาก จะอาชีพอะไรก็ได้ที่ใส่ชุดกากี แต่คุณแม่ขอไว้อย่างนึงว่าอย่าไปเป็นตำรวจ เราก็เลยมาเลือกๆ ดูแล้วก็จิ้มไปที่ครู พอเราตั้งเป้าได้แล้ว เราก็เดินไปถามอาจารย์เลยว่าถ้าอยากเป็นครูต้องทำยังไง เขาก็ตอบมาว่า ถ้าจะเป็นครูต้องเรียนให้เก่งๆ
จากนั้นเราก็ตั้งใจเรียน นั่งหน้าห้อง ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองเรียนเก่ง พอถึง ป.6 เราก็กลับไปหาอาจารย์คนเดิม ถามเขาอีกว่า เรียนเก่งแล้วต้องทำอะไรต่อ เขาตอบว่าเรียนเก่งแล้ว เธอพูดรู้เรื่องหรือยัง เธอสอนเพื่อนได้ไหม? พอถึงช่วงมัธยมเราก็เลยเริ่มลองติวให้เพื่อนดู ซึ่งทุกครั้งที่เราติวก็จะได้รับคำชมจากเพื่อนว่าเธอพูดให้เข้าใจได้ง่ายจัง จากนั้นเราก็เลยคิดว่าการเป็นครูนี่แหละคงใช่ตัวเราจริงๆ
ในยุคนั้น ความฝันในการเป็นครู ต้องเจออุปสรรคบ้างไหม
การเป็นครูมันค่อนข้างไม่ตรงกับความคิดของคนสมัยก่อนที่อยากจะให้คนเก่งไปเป็นหมอหรือวิศวะ มันเลยทำให้เราโดน ‘กักฝัน’ เพราะทุกครั้งที่บอกว่าจะไปเป็นครู ก็มักจะมีคนพูดว่าเสียดายความรู้ของเรา แต่ในหัวของเรามักจะมีเสียงที่ตอบโต้เสมอว่าจะเสียดายไปทำไมวะ เป็นครูก็ต้องเก่งสิไม่เห็นน่าเสียดายเลย
ช่วงมัธยมปลายมีหลากหลายเสียงมากที่แนะนำให้เราสอบเข้าคณะต่างๆ ทั้งวิศวะฯ เภสัชฯ หมอ พวกคณะที่เด็กเก่งๆ เขาเรียนกัน แต่สำหรับเรา เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘นรกของคนเรียนเก่ง’ เพราะมันทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่เราอยากจะเป็นจริงๆ อย่างอาชีพครูได้น้อยลง
ตอนจบม.6 เราสอบติดทั้งหมด 7 คณะ ตามที่เคยได้รับคำแนะนำว่าให้ลองไปสอบดู ซึ่งมีทั้งแพทย์พระมงกุฎฯ วิศวกรรม ม.ขอนแก่น เภสัชฯ มศว. ทุนก.พ. ไปอเมริกาก็ติด เราติดทุกอย่างที่เคยได้รับคำแนะนำมาให้ลองไปสอบ แต่สุดท้ายเราก็สละสิทธิ์ทั้งหมด แล้วเลือกคณะวิทยาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ จุฬาฯ
เสียดายคณะดังๆ ที่สละสิทธิ์ไปไหม
ไม่เสียดายนะ ตอนนั้นเรามานั่งพิจารณาทีละคณะเลยว่าเราจะตัดอะไรออกบ้าง เราไม่เอาหมอเพราะกลัวเลือด ไม่เอาเภสัชฯ เพราะไม่ถนัดวิชาชีววิทยา ตัดคณะวิศวกรรม เพราะช่วงนั้น (ปี 2541) มีวิศวกรตกงานเยอะ มันก็เหลือคณะอีกไม่กี่ที่ ซึ่งสองตัวเลือกสุดท้ายในตอนนั้นมีคณะศึกษาศาสตร์ เคมี ของม.เกษตร กับ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยความที่เราชอบเรียนคณิตศาสตร์มากกว่า รวมถึงจุฬาฯ ให้ทุนด้วยก็เลยเลือกที่จุฬาฯ
ภาพ
การสอบให้ติดทุกคณะนี่ไม่ง่ายเลยนะ คุณมีเคล็ดลับในการเรียนยังไง
สมัยเราเรียนอยู่มัธยมมันก็มีโรงเรียนกวดวิชาแล้วนะ เราว่าเราเรียนเก่งจากการเรียนกวดวิชานี่แหละ ต้องยอมรับว่าเนื้อหาวิชาที่เรียนในโรงเรียนมันเยอะมาก ถ้าให้อ่านเองเราคงไม่ไหว แต่จริงๆ ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีตังไปเรียนหรอก พอดีเรามีเพื่อนที่ลงเรียนไว้ แล้วเขาไม่ค่อยได้เข้าเรียน เขาก็ขอให้เราเข้าไปแทนแล้วกลับมาติวให้หน่อย เราก็ชอบเลยเอาบัตรของเพื่อนไปเรียน เรียนตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม
สิ่งที่ดีคือนอกจากจะเหมือนได้เรียนฟรีแล้ว เรายังได้โอกาสในการติวให้เพื่อนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสุขมาก มันเป็นหน้าที่ที่เพื่อนฝากฝังให้กับเราในการไปเรียน แล้วสอนให้เขาเข้าใจ มันเป็นความรู้สึกเหมือนนักเรียนทุนเลย เพียงแต่เป็นทุนจากเพื่อน
พอเข้าเรียนมหาลัยในคณะที่ไม่ใช่ครุศาสตร์ ความอยากเป็นครูยังอยู่ไหม
100 เปอร์เซ็นต์ยังอยู่ ถึงจะไม่ได้เรียนครู แต่ระหว่างที่เรียนเราทำคะแนนได้ดีในหลายวิชา เพื่อนก็เลยมาขอให้ช่วยติวให้ เราก็เลยมีโอกาสได้ติวใต้หอ ได้ไปร่วมโครงการพี่จุฬาฯ พาน้องติว แล้วก็ค่อยๆ สั่งสมชื่อเสียงด้านการสอน ซึ่งตอนนั้นเป็นการติิวฟรีด้วยนะ คือเรารู้สึกว่าเราเป็นทั้งนักเรียนทุน ได้ทั้งเงินทุนประจำเดือนและได้เรียนฟรี ก็เลยอยากจะแบ่งปันอะไรให้กับคนอื่นบ้าง
แต่ความอยากเป็นครูของเรามันก็เปลี่ยนรูปแบบไปตามเวลา ตอนเรียนอยู่ป.ตรี เราอยากสอนเด็กประถมหรือมัธยมต้น เพราะรู้สึกว่าปัญหาของนักเรียนมันมีจุดเริ่มต้นมาจากช่วงวัยนั้น ตอนเราเรียนป.โท เราก็เริ่มเปลี่ยนไปอยากสอนเด็กมัธยมปลาย อาจเพราะเริ่มมั่นใจในความรู้ของตัวเองมากขึ้น แล้วพออยู่ป.เอก เราก็เริ่มรู้สึกอยากสอนนักศึกษามหาวิทยาลัย ตอนกลับมาจากอังกฤษเราเลยวางแผนไว้เลยว่าเราจะสอนในมหาวิทยาลัยก่อน จากนั้นจะค่อยๆ ถอยลงไปสอนมัธยมปลาย-ต้น และประถม
ทำไมมันกลับหัวกลับหางกันแบบนี้
เพราะเราต้องค่อยๆ ปรับ mindset ของตัวเอง การลงไปที่นักเรียนประถมหลังจากการจบป.เอก ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการสอนเด็กวัยนี้จะต้องใช้ความรักและทะนุถนอมมากกว่าเด็กวัยอื่นๆ ซึ่งเรารู้ตัวว่าวันที่เราจบด็อกเตอร์มา เรายังเต็มไปด้วยอีโก้และความคาดหวังต่อนักเรียนของเราในระดับที่สูง
สมัยที่เราสอนนักศึกษาช่วงแรกๆ เราคาดหวังให้เขาเข้าใจเนื้อหาบทเรียนโดยไม่ค่อยแคร์ความรู้สึกของเขา ถ้าทำข้อสอบไม่ได้ หรือส่งงานมาไม่ดี เราก็จะพูดจาที่ไม่ค่อยไพเราะนัก ซึ่งมันทำให้นักเรียนของเราเสียใจ บางทีร้องไห้ต่อหน้าเราก็ยังมี
กำลังอยากทราบพอดีว่าจากนักเรียนอังกฤษสู่อาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพา คุณต้องปรับตัวยังไง
ช่วงแรกๆ เราช็อกเลย นอกจากจะเป็นการสอนจริงจังครั้งแรกแล้ว เรายังพบว่าทัศนคติเรื่องการเรียนของนักศึกษาก็ไม่เหมือนกับของเราในวันที่เป็นนักเรียนด้วย คือเราเป็นคนที่ถ้าเห็นคนอื่นในห้องเก่งกว่าเรา เราจะพยายามฝึกฝนเพื่อให้เก่งทัดเทียมกับเขา แต่สังคมของนักศึกษาที่ม.บูรพาคือ ถ้าในห้องมีคนเก่ง คนอื่นๆ จะชื่นชมและภูมิใจว่าเพื่อนคนนั้นเก่ง ซึ่งปัญหาคือเขาชื่นชมยกยอเพื่อนที่เก่ง แต่ตัวเขากลับไม่ได้พัฒนาให้มีทักษะที่ดีขึ้นตามด้วย
ตอนนั้นก็เลยคิดในใจว่าจะยอมให้เป็นแบบนี้ไมไ่ด้ เราเลยพยายามผลักดันพวกเขาหนักมาก เรารักนักเรียนของเรานะ แต่เราแสดงออกไม่เป็น สิ่งที่ออกมาคือความเข้มงวด เราคิดว่าการตำหนิแรงๆ คือการแสดงความรัก เราถึงกับเคยหลุดคำว่า ‘ห่วย’ ใส่นักศึกษา ไม่รู้เหมือนกันว่ามันออกจากปากไปได้ยังไง เราไม่ชอบตัวเองตอนนั้นเอามากๆ มันเป็นช่วงเวลาที่เรารู้จักตัวเองน้อยเกินไป มีประสบการณ์น้อยเกินไป
ที่คุณดุ นั่นเพราะความคาดหวังที่คุณมีต่อนักศึกษา
ตลอดเวลาหลังจากกลับมาจากอังกฤษแล้วมาสอนอยู่ที่ม.บูรพา เราไม่มีความสุขเลย ไม่มีความสุขเพราะความคาดหวัง ทั้งคาดหวังความตั้งใจจากเด็ก คาดหวังงานที่ดี คาดหวังว่าเขาจะชอบเรา ซึ่งอันหลังนี่คือสิ่งที่โครตจะเจ็บปวด เพราะว่าตอนที่เราอ่านประเมินของนักศึกษา เราเคยเจอคอมเมนต์ที่บอกว่าเราไม่มีความเป็นครู ประโยคนี้ทำร้ายจิตใจเรามาก เราร้องไห้กับตัวเอง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะแก้ไขมันยังไง
เรารู้แค่ว่าเรายังอยากเป็นอาจารย์อยู่ แต่ยิ่งสอนลูกศิษย์ยิ่งออกห่างจากเรา จริงๆ สมัยจบป.โท เราก็เคยมาสอนที่นี่ช่วงสั้นๆ ก่อนจะไปเรียนที่อังกฤษ ตอนนั้นเรามีความสุขกว่านี้มาก ทั้งที่เราก็รู้สึกว่าเราสอนดีเหมือนเดิม ก็เลยพยายามหาสาเหตุว่าทำไมนักศึกษาถึงถอยห่างจากเรา หรือว่าเป็นที่ช่วงอายุ? ก็ไม่น่าใช่ เพราะอาจารย์ที่แก่กว่าเรายังมีลูกศิษย์มาปรึกษาเหมือนเดิม
จนได้คำตอบว่าทุกคนกลัวเรา กลัวเพราะเขาบอกว่าเราเป็นคนเป๊ะ คือสมัยนั้นทัศนคติที่เรามีต่อห้องเรียนยังเป็นแบบโบราณอยู่ พอเข้าไปสอนปุ๊ปทุกคนต้องเงียบ มีอยู่วันหนึ่งสอนเด็กแล้วมีคนคุยกัน เราจับชอล์คที่สอนอยู่ปาใส่เลย แล้วแม่นมากคือไปลงหัวเขาพอดี ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไร แต่เหตุการณ์นี้มันมาสะเทือนตอนที่มีคนเขียนในใบประเมินอาจารย์ว่า “ในวันนั้น ถ้ามันเข้าตาหนูล่ะคะ” ซึ่งเราก็รับรู้ได้เลยว่าเป็นนักเรียนคนนี้
แล้วคุณแก้ปัญหาความคาดหวังนี้อย่างไร
ความอยากปรับปรุงตัวเองมันมีมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์มันก็มาถึงจุดที่ว่า ถ้าเรายังสอนอยู่ที่ม.บูรพาต่อไป เราจะไม่มีโอกาสได้เปลี่ยนตัวเองเลย เพราะว่าคนที่เรียนจบไปเขาก็จะบอกต่อรุ่นน้องว่าอาจารย์เฮงโหด ซึ่งสิ่งนี้มันส่งผลต่อห้องเรียน นักศึกษาก็จะกลัวเราตั้งแต่วันแรกจนไม่กล้ามีปฏิสัมพันธ์อะไรเลย เราเลยคิดว่ามันคงถึงเวลาที่ต้องไปแล้ว ต้องเปลี่ยนสถานที่แล้ว เราก็เลยลาออกจากมหาวิทยาลัยบูรพา
จากนั้นคุณไปไหนต่อ
เราสมัครเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แต่ครั้งนี้สมัครเข้าไปสอนในคณะครุศาสตร์ ซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของเรา เพราะจริงๆ เราอยากเป็นอาจารย์ที่ทำหน้าที่สอนคนเรียนครูมานานแล้ว พอได้มาสอนที่ม. นี้ เราก็พยายามเรียนเพิ่มเติม เราไปลงปริญาโทในวิชาการสอนคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง นอกจากนี้ก็ได้ไปเข้าร่วมอบรมหลักสูตรหนึ่งที่ทำให้ได้เจอจุดเปลี่ยนในชีวิตการสอนครั้งสำคัญ
ในปีแรกของการสอนที่ราชภัฏฯ ก็มีเพื่อนอาจารย์มาแนะนำโครงการหนึ่งชื่อว่า ‘ครูกล้าสอน’ มันเป็นโครงการอบรมที่ช่วยพัฒนาแนวคิดของครูช่วยให้ครูตามหาตัวตน เราเห็นว่าน่าสนใจและตรงกับปัญหาที่เราเจออยู่ก็เลยลองสมัครเข้าไปดู
พอเข้าเรียนไปเท่านั้นแหละ เราร้องไห้ตั้งแต่คลาสแรกเลย คือมันเป็นคลาสที่ทำให้เราได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมเราถึงอยากเป็นครู ความเป็นครูมีความหมายกับเรายังไง หลังจากนั้นหลักสูตรก็ค่อยๆ เผยให้เราได้รู้จักกับตัวเองมากขึ้น แล้วมันก็เจ็บปวดมาก เพราะเราได้เห็นว่าตัวเองเคยเป็นครูที่แย่ขนาดไหน เป็นครูที่ไม่เคยฟังเด็กเลย ไม่เคยสนใจความรู้สึกของเขาเลย มันเลยยิ่งทำให้เราตั้งมั่นกับตัวเองว่าเราจะเป็นครูที่ดีกว่านี้ให้ได้
คุณเรียนรู้อะไรจากโครงการครูกล้าสอนบ้าง
ได้เยอะเลย อย่างแรกคือเขาสอนให้เราได้รู้จักตัวเอง ได้เห็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากเป็นครู จากนั้นเขาก็สอนให้เราได้รู้จักการฟังที่ดี ซึ่งการฟังที่ดีช่วยให้เราไม่ตัดสินใคร เคยมีลูกศิษย์มาบอกเราว่าอาจารย์เป็นคนแรกที่ตั้งใจฟังผมอย่างนี้ ซึ่งมันก็ทำให้รู้สึกดีใจนะ แต่ขณะเดียวกันก็ได้สะท้อนคิดว่า ถ้าเราเป็นคนแรกที่ได้ฟังเขาตอนอายุ 18 ปี แล้วก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครฟังเขาเลยใช่ไหม
พอฟังเป็น เขาก็สอนให้เราถาม การเป็นครูบางครั้งก็ไม่ต้องให้คำแนะนำกับลูกศิษย์ก็ได้ แค่ถามให้ตรงจุด แล้วพาให้เขาคิดด้วยตัวเอง ถามไปเรื่อยๆ แต่ไม่ตัดสินใจแทนเขา สลับกับการถามถึงความรู้สึกเขาเป็นระยะๆ ซึ่งเรามีความสุขกับการถามสิ่งเหล่านี้มาก ตลอดเวลาที่อยู่ม.บูรพา เราไม่เคยถามลูกศิษย์เลยว่าเขารู้สึกอะไรอยู่ ซึ่งบางทีคำถามนี้คำถามเดียวมันก็ไปสะกิดอารมณ์ความรู้สึกของเขาได้แล้ว บางคนร้องไห้เลย มันเลยเป็นคำถามที่เรารู้สึกจริงใจทุกครั้งที่ได้ถาม ไม่ว่าคำตอบจะเศร้าหรือสุขก็ตาม
จากนั้นเราก็ค่อยๆ ได้รู้จักการสอนโดยใช้กระบวนการ เริ่มไม่สอนแบบเลคเชอร์ เปลี่ยนรูปแบบจากการเป็นคนหน้าห้องมาอยู่หลังห้องบ้าง ข้างห้องบ้าง โดยคนที่เป็นคนดำเนินการคือตัวนักเรียนเอง ซึ่งก่อนเริ่มคลาสเราก็จะมาคุยกับเด็กก่อนว่าเขาอยากให้มีการเรียนการสอนแบบไหน กิจกรรมแบบไหน แล้วก็มานั่งสร้างเงื่อนไขกัน ออกแบบห้องเรียนร่วมกัน
ภาพ
การนำสิ่งที่คุณได้จากการเรียนมาใช้ในคลาส ทำให้มีผลตอบรับที่ดีขึ้นไหม
เราอบรบหลักสูตรครูกล้าสอน พร้อมๆ กับการสอนที่ม.ราชภัฏเทอมแรก เราก็เลยพยายามเอาสิ่งที่เรียนมามาใช้กับห้องเรียน พยามเป็นครูที่ใจดี ใจเย็นขึ้น คลาสแรกที่เราได้สอนคือได้สอนวิชาแคลคูลัสให้กับเด็กที่เรียนไม่ผ่านมาก่อน ซึ่งเด็กพวกนี้คือกลุ่มที่เคยไปเจออาจารย์ชนิดที่ด่าเด็กว่าโง่ เราเลยอยากจะเยียวยาพวกขา เป็นโอกาสในการแก้มือของเรา
เราประกาศตั้งแต่คลาสแรกเลยว่าห้องเรียนนี้จะไม่มีการด่า ไม่มีการลงโทษ ถ้ามาสายเข้ามาเรียนได้เลย บอกเขาว่า “ครูรู้ว่าความรู้สึกของคนที่เข้าห้องสายมันมีความกลัว แต่ถึงจะสายหนึ่งชั่วโมงก็เข้ามาเถอะ ดีกว่าไม่ได้เรียนเลย” ห้องเรียนมันก็ยืดหยุ่นขึ้น เรามีความสุข เด็กก็มีความสุขทั้งกับเราและตัววิชา
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ทำพลาดอีกเลยนะ มีคลาสนึงที่เราเข้าไปแล้วนักศึกษา คุยกันเสียงดัง เราก็พยายามพูดบอกทุกคนว่า “ครูเข้ามาแล้วนะ” ก็ไม่มีใครฟัง “ทุกคนครูเข้ามาแล้วนะครับ” ก็ยังไม่มีคนสนใจ ทีนี้เราก็เลยตวลาดเลย “ทุกคนฟัง!” ซึ่งทุกคนก็หันมาฟังจริงๆ แต่เหตุการณ์นี้มันทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับนักศึกษาเหมือนแก้วที่ร้าวไปแล้ว เพราะทุกคนก็จะฟังเราด้วยความกลัว บางคนจากคลาสนั้นก็แสดงออกให้เห็นเลยว่าเขาไม่ชอบเรา
คะแนนประเมินในวิชานี้ของเราต่ำมาก ชีวิตนี้ไม่เคยได้ต่ำขนาดนี้มาก่อน เต็ม 5 ได้ 3.8 เองมั้ง เราก็ปล่อยโฮอีกแล้ว มันเป็นความรู้สึกที่ว่า เรามาเริ่มต้นใหม่กับที่นี่แต่เราก็ดันทำผิดซ้ำเดิมอีกแล้วเหรอ
คุณได้เรียนรู้อะไรจากทั้งสองคลาสที่แตกต่างนี้บ้าง
เราได้เห็นว่าห้องเรียนที่ยืดหยุ่นและสนุก มันดึงศักยภาพเด็กออกมาได้มากกว่า และทุกคนก็มีความสุขกว่าด้วยรวมถึงผู้สอน ซึ่งบทเรียนจากเหตุการณ์ทั้งสองอันนี้ที่เราได้มาคือ First Impression เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเราเริ่มคลาสได้ไม่ดีมันก็จะร้าวแบบนั้นไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเริ่มต้นดีมันก็จะง่ายไปตลอด
หลังจากนั้นคุณเจอจุดเปลี่ยนอะไรที่ทำให้ต้องออกจากม.ราชภัฏฯ มาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
การได้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาทำให้เราเข้าใจและมีความสุขกับตัวเองในฐานะครูมากขึ้น เราสอนอยู่ที่ราชภัฏฯ ได้ประมาณ 3 ปี แต่พอถึงจุดหนึ่งความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่ทำให้เราต้องเริ่มคิดหาโอกาสใหม่ๆ
จุดเปลี่ยนอันนี้มีที่มาจากเรื่องของครอบครัว เราอยากที่จะมีความสามารถในการดูแลพ่อกับแม่ให้ได้ดีกว่านี้ แต่จุดเปลี่ยนอันนี้มันก็ทำให้ต้องเลือกระหว่างความฝันในการเป็นครูที่สอนนักศึกษาครู กับการย้ายมาที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี แล้วได้เงินเดือนเยอะขึ้น ซึ่งก็เป็นงานสอนที่เราชอบเหมือนกัน คือสอนในคณะวิิทยาศาสตร์ สาขาคณิตศาสตร์ เพียงแต่ไม่ใช่ความฝันในการสร้างครู
มันคือการเลือกระหว่างเงินเดือนสูงกว่า ความกดดันมากกว่า กับ เงินเดือนไม่พอใช้ แต่โครตมีความสุข สุดท้ายด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจเราก็เลือกที่จะลองเปลี่ยนและย้ายมาสอนที่มจธ.
คุณบอกว่าเพิ่งมาอยู่ได้ 2 อาทิตย์
ใช่ แต่เป็น 2 อาทิตย์ที่แฮปปี้มากเลยนะ เรารู้สึกว่าที่นี่มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุนและการสนับสนุนอาจารย์ ซึ่งทำให้เราตื่นเต้นกับทุกอย่าง เราจะมีเงินเดือนที่สามารถดูแลพ่อแม่ได้ มีเงินทุนในการพัฒนาไอเดียสำหรับสร้างนวัตกรรมร่วมกับนักศึกษา แถมมีทีมอาจารย์ที่เข้าอกเข้าใจในประเด็นที่เราสื่อสารด้วย
โจทย์ของการสอนที่นี่จึงเปลี่ยนไปจากที่เราเคยเจอ มันคือการที่เราได้มาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน แล้วตัวเราเรียนรู้และสร้างสรรค์อะไรจากสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้บ้าง
15 ปีที่ผ่านมาในอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย ถ้าให้คุณลองแบ่งเป็นบทในหนังสือ มันจะได้สักกี่ Chapter แล้วแต่ละช่วงควรนิยามว่าด้วยคำว่าอะไร
จุดเปลี่ยนจริงๆ มีทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกคือช่วงสั้นๆ หลังจากจบป.โท ครั้งที่สองคือการกลับมาจากเรียนป.เอกที่อังกฤษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายมาก จากนั้นก็เริ่มมีความสุขในจุดเปลี่ยนที่สามคือช่วงที่สอนในม.ราชภัฏฯ และความเปลี่ยนแปลงล่าสุดคือการย้ายมาอยู่มจธ.
ถ้าจะให้ลองนิยามสนุกๆ เราว่า Chapter แรกของเรามันคือ ‘พจมานในบ้านทรายทอง’ เราไร้เดียงสา เข้าไปสอนพร้อมกับความฝัน แต่ด้วยความที่เราใหม่มากก็ยังทำอะไรไม่ค่อยถูก เจอปัญหานิดหน่อยก็ร้องไห้ จากนั้นเราบินไปเรียนที่อังกฤษ 4 ปี กลับมาทีนี้เรากลายเป็น ‘จอมมารบู(รพา)’ ดูอ้วนๆ กลมๆ ดูน่ารัก แต่โหด
พอรู้ตัวว่าโหด เราก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองจนได้ไปอยู่ที่ม.ราชภัฏฯ ชีวิตตอนนี้เราว่าเราเหมือน ‘โดเรมอนในดินแดนมหัศจรรย์’ คือเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ช่วยเปลี่ยนชีวิต ครูกล้าสอนหยิบยื่นเครื่องมือให้กับเรามากมาย เป็นเหมือนอุปกรณ์วิเศษที่เราต้องเรียนรู้การใช้ในจังหวะที่ถูกต้อง
ส่วนการเปลี่ยนครั้งล่าสุดคือการมาสอนที่มจธ. มันอาจจะยังนานไม่พอที่จะนิยาม แต่ถ้าให้ลองจินตนาการว่าเราอยากให้มันเป็น Chapter แบบไหน เราคิดว่าเราอยากจะให้มันเป็นแบบ ‘แม็คไกเวอร์ (MacGyver)’ เพราะเขาคืออิจฉริยะที่สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาจากสิ่งรอบตัว เราเองก็อยากหยิบอะไรแล้วออกมาเป็นความรู้ที่นำมาสอนได้ เราอยากสอนให้ได้ในทุกสถานการณ์
15 ปี คุณคงสอนอะไรให้นักศึกษามาแล้วมากมาย ในทางกลับกันนักศึกษาได้ให้บทเรียนอะไรที่สำคัญกับคุณบ้าง
หลายเรื่องเลย อย่างแรกคือสอนว่า First Impression สำคัญ การฟังคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ และอีกอย่างคือเขาสอนให้เรารู้จักการควบคุมอารมณ์ตัวเอง เราโกรธคนน้อยลง ไม่เห็นความสำคัญของความโกรธอีกแล้ว เราสามารถแยกความไม่พอใจกับความโกรธออกจากกันได้ เช่น ถ้านักศึกษา บางทีมาเสียมารยาทกับเราอย่างการมารบกวนเราตอนกำลังสอน เรามีสิทธิ์ที่ไม่พอใจ แต่เราจะไม่โกรธ
อีกอย่างหนึ่งที่เราเรียนรู้มาตลอด 15 ปีนี้คือ เราต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองสามารถทำผิดได้ด้วย สมัยก่อนถ้าเราทำอะไรผิดปุ๊ปเราจะกระทืบๆ ก่นด่าตัวเอง เฆี่ยน โบยตีตัวเอง จนเราไม่ไหว ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องจำเป็นเลย จริงๆ มันก็แค่ เราทำผิดไป ลุกขึ้นมาใหม่ ทำให้ดีกว่าเดิมเท่านั้นเอง
นอกจากตัวเองแล้ว เราก็เปิดโอกาสให้นักศึกษาในการทำผิดมากขึ้นด้วยเช่นกัน ความคาดหวังจากที่เคยมีสูงๆ เราก็ลดมันลงมา เพราะความคาดหวังเนี่ยมันทำลายเราทุกอย่าง ซึ่งพอเป็นแบบนี้คลาสมันก็ผ่อนคลายขึ้น สนุกขึ้น ความผิดพลาดทั้งหลายทั้งปวงที่เคยเกิดขึ้นกับเรา วันนี้มันกลายเป็นบทเรียนที่อุดมสมบูรณ์พร้อมที่จะส่งต่อสิ่งเราได้เรียนรู้มาแก่คนอื่น มันเลยทำให้ตอนนี้เรารู้สึกตื่นเต้นมากๆ กับที่นี่
UNIQUE TEACHER
คุณมองว่าความ Unique อะไรที่ทำให้คุณเป็นครูที่แตกต่างจากคนอื่น
เราว่าเราเป็นครูนักฟังที่อารมณ์ดี ประโยคนี้ประกอบไปด้วยคำ 3 คำ คือ 1.ครู ซึ่งเป็นคนที่สามารถสอนหนังสือให้กับคนอื่นได้ 2.นักฟัง คือการมีเวลามากพอที่จะฟังเรื่องราวของลูกศิษย์ 3.อารมณ์ดี คือการที่เราจับความรู้สึกและควบคุมมันไว้ได้ ซึ่งอารมณ์ดีนี่ไม่ใช่แค่ความเฮฮานะ แต่มันคือการรู้จักที่จะจัดอารมณ์ตัวเองให้ไม่เครียดและอารมณ์ดีจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่ดูแฮปปี้จากภายนอกแต่ภายในผุพังด้วย
อยากให้คุณเลือกคำมาหนึ่งคำ แล้วสะท้อนตัวตนผ่านคำนั้น
เราขอเลือกคำว่ากล้าหาญละกัน เพราะในวันที่เราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าเราได้แต่คิดกับอ่านหนังสือว่าการเป็นครูที่ดีต้องทำยังไง แต่ไม่มีความกล้าที่จะลงมือทำ มันจะไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย ทุกครั้งที่เราได้ไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากครูกล้าสอน เราก็จะใช้ความกล้านั้นมาใช้กับเด็ก เรากล้าที่จะเรียนรู้และยอมรับความผิดพลาดของเรา เราไม่อายนะที่มานั่งเล่าให้ The Potential ฟังว่าเราได้ล้มเหลวในเรื่องอะไรมาบ้าง แต่นี่แหละมันคือความกล้าอย่างหนึ่งที่เป็นตัวตนของเรา
ความกล้านี่แหละที่พาเราข้าม Chapter ของชีวิตมาจนถึง Chapter ที่ 4 แล้วมันก็จะพาเราไปต่อด้วย เพราะเราค่อยๆ เติบโตผ่านคำคำนี้เสมอ