- เวทีแข่งขันทั่วไปมุ่งตัดสินความดีเลิศของเด็กในเวลาไม่กี่นาที ก่อนจะแจกรางวัลแล้วจบไป แต่เวทีนี้ไม่ทิ้งเด็กไว้กลางทางแต่จะโค้ชเด็กจนสุด ให้ผลงานดีๆ หลายชิ้นพัฒนาไปสู่การใช้งานจริงให้ได้
- นอกจากความภูมิใจ สิ่งที่เด็กจะได้ตลอดทาง คือ อาวุุธต่างๆ ที่ติดตัวไป ทำให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่งในอนาคต
- นี่อาจจะเป็นโครงการสำหรับเด็กที่สนใจด้านไอที แต่เอาเข้าจริง ‘Intensive Course’ จากโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่นี้ นำไปใช้ได้กับเด็กทุกสายได้จริงๆ
เราเคยเชื่อกันว่า เด็กไอคิวดีย่อมเอาตัวรอดและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ นั่นคือความเชื่อที่สืบทอดกันมาหลายยุค แต่ถ้าเราลองถอยห่างออกมามองเด็กในฐานะของมนุษย์ องค์ประกอบของชีวิตนั้นมีอะไรมากมายกว่าแค่เรื่องของเนื้องาน แต่แวดล้อมไปด้วยเรื่องของพื้นที่ เวลา ความสัมพันธ์ของมนุษย์ แม้กระทั่งเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ล้วนต้องการความสามารถในการบริหารจัดการให้ลงตัว
ไอคิวจึงอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะช่วยให้เด็กอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ ในศตวรรษปัจจุบันที่ทุกอย่างเชื่อมร้อยกันเป็นสหวิทยาการ เด็กเรียนเก่งแต่ไม่สามารถบริหารความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานได้ ก็ยากที่จะอยู่รอด เด็กที่จัดเจนในสาขาวิชาที่ตนถนัด แต่ไม่สามารถเชื่อมโยงผลงานกับโลกภายนอกได้ การจะอยู่ให้รอดก็ยาก
คำถามคือ แล้วคาแรคเตอร์แบบไหนที่จะทำให้เด็กอยู่รอดและประสบความสำเร็จได้ในปัจจุบัน?
เพื่อหาคำตอบ…วันนี้ The Potential จึงขอชวนมาบุกค่าย โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ โครงการความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติหรือเนคเทค ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ที่แหวกกรอบโครงการประกวดไอทีเทคโนโลยีทั่วๆ ไปด้วยการไม่มุ่งตัดสินความผิด-ถูก ดี-ด้อย จากผลงานของเด็ก แต่ใช้ผลงานของเด็กเป็นทางผ่านเพื่อพัฒนาตัวเด็กให้เติบโตเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงและมีคาแรคเตอร์ที่จะอยู่รอดได้ในศตวรรษที่ 21
สร้างคาแรคเตอร์ให้เด็ก ผ่านการพัฒนาผลงาน
ท่ามกลางโครงการประกวดแข่งขันชิงรางวัลที่มีอยู่มากมายในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งตัดสินความดีเลิศของเด็กในเวลาไม่กี่นาที ก่อนจะแจกรางวัลแล้วปิดโครงการ โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่เกิดขึ้นมาด้วยแนวคิดที่ต้องการสนับสนุนเยาวชนให้สานต่อผลงานประกวดไปสู่การนำไปใช้จริง ทั้งในระดับของการขยายผลเพื่อการกุศลและจำหน่ายเชิงพาณิชย์
“กว่า 20 ปีที่ผ่านมาเนคเทคมีกิจกรรมการประกวดหลายรูปแบบ ซึ่งพวกเรามีคำถามมาตลอดว่า ประกวดเสร็จแล้วยังไงต่อ? แค่เด็กได้รางวัลแล้วจบหรือ? หลังจบการประกวดมันจะมีผลงานทั้งที่ได้รับและไม่ได้รับรางวัล แต่เด็กยังมี passion หรือสิ่งที่อยากจะไปต่อ เนคเทค ธนาคารฯ และมูลนิธิฯ จึงคิดกันว่าเราไม่อยากให้เด็กจบแค่การประกวด ดังนั้นเราน่าจะทำโครงการต่อยอดหรือขยายผลจากการประกวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผลงานดีๆ หลายชิ้นพัฒนาไปสู่การใช้งานจริงให้ได้” ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการ เนคเทค เล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบโครงการ
ทีมงานจึงออกแบบกระบวนการโครงการในรูปของการอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นค่ายที่ให้เด็กๆ เข้ามาร่วม มีวิทยากรมาให้ความรู้ เด็กๆ ได้นำผลงานตนเองมาฝึกปฏิบัติและพัฒนา มีทีมโค้ชคอยแนะนำเทคนิคและแนวทางการพัฒนาผลงาน และมีกรรมการคอยชี้แนะ ภายใต้เป้าหมายหลักคือ ให้เด็กๆ มีความรู้และทักษะในการพัฒนาผลงานไปสู่การใช้งานจริง ตลอดจนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในชีวิตจริง
“เรามุ่งพัฒนาเด็ก โดยยึดโปรเจ็คต์ของเด็กเป็นแก่นในกระบวนการทำงาน ขณะที่โปรเจ็คต์ขับเคลื่อนไป เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการทำงานนั้นๆ ไปโดยอัตโนมัติ” ดร.กัลยา กล่าว
“เรากำลังพัฒนาคนโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ โครงการอื่นอย่าง start up เขามองที่ปลายทางของผลงานว่าจะต้องเวิร์คในเชิงธุรกิจ คือขายได้ แต่โครงการนี้เน้นกระบวนการพัฒนาตัวเด็ก เพราะเรามองว่าเด็กยังมีอนาคตอีกหลากหลาย ดังนั้นการสร้างเด็กต้องทำให้เขาสามารถต่อยอดชีวิตได้ดีขึ้น เป็น multiplier เป็นตัวคูณในอนาคตมากกว่าการมองว่าผลงานในวันนี้ต้องเสร็จ” สิรินทร อินทร์สวาท นักวิจัยนโยบาย ฝ่ายบริหารและสนับสนุนเทคโนโลยีฐาน เนคเทค เล่าถึงจุดประสงค์ของโครงการ
“นอกจากความรู้และทักษะในการพัฒนาผลงานแล้ว โครงการยังปลูกฝังทัศนคติและคุณลักษณะให้เด็กๆ ทำงานได้สำเร็จ และนึกถึงสังคมด้วย เช่น การรู้จักตนเอง การเข้าใจความแตกต่างภายในทีม การเห็นใจและอยากทำอะไรเพื่อผู้อื่น ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในค่าย” สิทธิชัย ชาติ นักวิชาการ งานพัฒนาเยาวชนและเขตพื้นที่ด้านไอที ฝ่ายสนับสนุนการวิจัย เนคเทค และหัวหน้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ เสริม
และถึงวันนี้ที่โครงการดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 นอกจากผลงานมากมายหลายชิ้นที่ถูกพัฒนาไปสู่การใช้งานจริงและจำหน่ายได้ สิ่งที่ทีมงานทุกคนได้ประจักษ์ก็คือ เด็กๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น มีคาแรคเตอร์ของผู้ที่จะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงเรื่องงาน แต่หมายรวมถึงชีวิต
และนี่คือ 10 คาแรคเตอร์ของเด็กโครงการต่อกล้าฯ ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เป็นคาแรคเตอร์ที่จะทำให้เด็กอยู่รอด และประสบความสำเร็จได้ในศตวรรษที่ 21
1. รู้ลึกและรู้รอบ
การจะพัฒนาผลงานไปสู่การใช้งานจริงได้นั้น อันดับแรก ตัวผลงานนั้นต้องมีคุณภาพและดีที่สุด ซึ่งการที่เด็กๆ จะสามารถพัฒนาผลงานไปถึงขั้นนั้นได้ จำเป็นต้องรู้ลึกในผลงานของตนเอง
“เด็กในโครงการมีคาแรคเตอร์แบบรู้ลึกค่ะ เพราะต้องปรับแก้ผลงานกันตลอด (หัวเราะ) ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ แม้จะคิดว่าทำมาสมบูรณ์แล้ว แต่ทีมโคชและกรรมการก็มองเห็นจุดที่พัฒนาต่อได้ และพยายามช่วยตั้งคำถามหรือกระตุ้นให้เขาเห็นมุมมองใหม่ในการปรับให้ดียิ่งขึ้นไปอีก จึงกลายเป็นว่าเด็กต้องรู้ลึกรู้จริง ไม่ได้รู้แค่ฉาบฉวย เด็กประกวดส่วนใหญ่จะรู้แค่เรื่องที่ทำประกวดและรู้เพราะว่าครูบอก แต่พอเด็กมาอยู่ค่ายกับเรา ครูช่วยอะไรมากไม่ได้ (ยิ้ม) ต้องช่วยเหลือตัวเอง มันเลยกลายเป็นทักษะที่เด็กต้องรู้ลึก ต้องค้น ต้องหา ต้องพยายามปรับปรุงงานของเขาทุกด้านให้ดีในทุกมุม” ดร.กัลยา เล่า
นอกจากการรู้ให้ลึกแล้ว การพัฒนาผลงานไปสู่การใช้งานจริงในสังคมได้นั้น ไอเดียเจ๋งหรือผลงานดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องประกอบรวมด้วยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อีกมาก ทั้งการออกแบบ การโฆษณา รวมไปถึงการตลาด
เพื่อส่งให้เด็กนำพาผลงานไปถึงจุดนั้นได้ ทีมงานจึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็กในรูปแบบค่าย 3 ระยะ และ 1 กิจกรรม ซึ่งรวมแล้วกินระยะเวลาร่วมปี ได้แก่
ค่ายแรก: เปิดรับเด็กจำนวน 30 ทีม ให้ความรู้เรื่องการพัฒนาผลงานบนฐานผู้ใช้จริง การบริหารจัดการโครงการ การทำการตลาด และการสร้างแบรนด์ให้ผลงานของตัวเอง โดยวันสุดท้ายจะให้เด็กนำเสนอแผนงานแก่คณะกรรมการ และทำการคัดเลือกเหลือ 15 ทีม
ค่ายที่ 2: ให้ความรู้เรื่อง User Interface (UI) และ User Experience (UX) ที่ว่าด้วยการออกแบบหน้าจอหรือรูปลักษณ์ของผลงานให้ตรงกับประสบการณ์ของผู้ใช้ พ่วงด้วยเรื่องการตลาด
ค่ายที่ 3: เปิดคลินิกให้คำแนะนำเด็กในการพัฒนาผลงาน พร้อมให้ความรู้เรื่องการประชาสัมพันธ์การตลาด และเรื่องสิทธิบัตร
หลังจากนี้ทีมโค้ชจะลงไปเยี่ยมเด็กๆ เพื่อโคชเป็นรายทีม แล้วต่อด้วย กิจกรรมนำเสนอผลงานสู่สาธารณะ: เป็นการจัดงานออกบูธเผยแพร่ผลงานของเด็กๆ โดยเปิดให้ผู้สนใจและผู้ประกอบการจริงเข้ามาชมงาน เปิดโอกาสให้ผลงานของเด็กได้ต่อยอดสู่โลกธุรกิจต่อไป
เนื้อหาที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้จากค่ายทั้งหมด จะเป็นตัวช่วยพัฒนาให้มีคาแรคเตอร์แบบรู้รอบในขอบเขตของผลงานตนเองอีกทางหนึ่ง
“มันเหมือนกับการติดอาวุธให้เด็กค่ะ นอกจากเรื่องผลงานแล้ว ถ้าถามเรื่องตลาด เรื่อง PR หรือเรื่องผู้ใช้ เราเชื่อว่าเขาตอบได้ เพราะสิ่งที่เราให้ค่อนข้างรอบด้าน” ศิริพร ปานสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์อาวุโส งานประชาสัมพันธ์ ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศและประชาสัมพันธ์ เนคเทค สรุปความ
2. ใฝ่รู้
สืบเนื่องจากกระบวนการค่ายข้างต้น บวกด้วยกระบวนการให้คำแนะนำในการปรับปรุงผลงานจากทีมโคช ซึ่งหลายครั้งที่ขั้นตอนหรืออุปกรณ์ที่โคชแนะนำนั้น อยู่ในขั้นสูงเกินกว่าเด็กจะเข้าใจ จึงจำเป็นต้องกลับไปค้นคว้าหาความรู้ จนหลายๆ คนเกิดคาแรคเตอร์ใฝ่รู้ไปโดยปริยาย
“น้องมัธยมที่มาทางสายอิเล็กทรอนิกส์ พอทีมโค้ชแนะนำว่าให้กลับไปปรับใช้อุปกรณ์ตัวนั้นตัวนี้ น้องก็จะมึนๆ (หัวเราะ) มันคืออะไรหรือพี่ ไม่เคยได้ยินมาก่อน อย่างอุปกรณ์วัดค่าทางอุตสาหกรรมซึ่งพี่แนะนำของที่ดีที่สุดไป น้องก็กลับไปเสิร์ชว่าสิ่งที่พี่พูดมันคืออะไร มันทำอะไรได้ และผมต้องการถึงระดับนั้นไหม ถ้าไม่น้องก็จะกลับมาบอกว่า ผมแค่อยากวัดอุณหภูมิ ตัวนี้มันวัดได้ตั้งหลายตัว แพงไป เยอะไป เกินจากสิ่งที่ทำไป มันคือการใฝ่รู้และวิเคราะห์เอง รวมไปถึงการใฝ่รู้ในปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อย่างเช่นกลุ่มที่ทำเรื่องเกี่ยวกับอาหารหรือยา ก็จำเป็นต้องไปศึกษาการขอ อย. ค่ะ” ศรินทร์ วัชรบุศราคำ นักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาพ หน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ เนคเทค เล่าอย่างอารมณ์ดี
3. บริหารจัดการชีวิตได้
ด้วยระยะเวลาของกระบวนการค่ายที่ยาวเหยียด รวมทั้งยังมีการบ้านจากทีมโค้ชที่ต้องส่งตามกำหนดเวลา เด็กๆ ส่วนใหญ่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา การต้องพัฒนาผลงานในโครงการจึงไม่ต่างอะไรกับงานหนักที่เพิ่มเข้ามาในชีวิต
แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า ด้วยกระบวนการเช่นนี้สร้างทักษะการบริหารจัดการเวลาและชีวิตไปโดยอัตโนมัติ
“เนื่องจากค่ายเรามีถึง 3 ค่าย มีการนำเสนอไฟนอล และยังมีทีมโค้ชลงไปติดตามงานในพื้นที่อีก สำหรับเด็กที่ยังต้องอยู่ในโรงเรียนก็ถือว่าหนักนะคะ แต่สิ่งที่เขาได้ก็คือการฝึกจัดการตัวเอง เด็กๆ จะได้ทักษะการจัดการเวลา เวลามีจำกัด จะทำยังไงให้ทัน และอีกมุมหนึ่งคือ เงื่อนไขแบบนี้ก็ช่วยให้เด็กดึงศักยภาพที่ถูกเก็บซ่อนอยู่ออกมาใช้ได้” ดร.กัลยา กล่าว
“เราจะให้เครื่องมือที่เป็นปฏิทินวางแผนงานไป ให้น้องไปแบ่งว่าใน 1 วัน 1 สัปดาห์จะทำอะไรบ้าง เพราะเราจะให้น้องกำหนดเป้าตลอด หนึ่งเดือนผ่านไปอะไรจะสำเร็จ พี่ๆ ลงไปติดตามจะได้เห็นอะไร คือถ้าไม่มีเป้าน้องจะเรื่อยเปื่อย แล้วมันจะไม่ได้อะไร น้องจะจัดการยังไงก็ขึ้นอยู่กับเขา มันคือการจัดการของเขา” ศรินทร์ อธิบาย
4. ช่ำชองกระบวนการวิทยาศาสตร์
เพราะโครงการต่อกล้าฯ คือค่ายของนักพัฒนาด้านนวัตกรรมและไอที ดังนั้นการที่น้องๆ ถูกฝึกฝนเรื่องกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นเรื่องปกติ
“เราอัดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ให้น้องแน่นมากค่ะ น้องจะถูกย้ำเสมอให้ตั้งคำถาม วางแผน หาข้อมูล ลองทำ และปรับปรุง ขั้นตอนการทดลองจะดีไซน์ยังไง ทำซ้ำแล้วต้องได้ผลเหมือนเดิม เพราะมันคือความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเวลาน้องไปนำเสนองาน จะได้ไม่มีใครสงสัยเรื่องกระบวนการได้มาของผลงาน นี่คือกระบวนการที่น้องทุกคนจะได้ไปจากโครงการ” ศรินทร์ แจงเหตุผล
ถึงตรงนี้หลายคนอาจแย้งว่า กระบวนการทางวิทยาศาสตร์คือปัจจัยสำคัญสำหรับนักวิทยาศาสตร์ แต่มันอาจไม่จำเป็นสำหรับคนทั่วไป หรือเด็กๆ ในค่ายก็อาจไม่ได้คิดว่าโตไปจะเป็นนักวิทยาศาสตร์กันทั้งหมด
“น้องสามารถนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปทำโครงการอะไรในชีวิตได้มากมาย แม้แค่เรื่องจะปลูกต้นไม้หลังบ้านก็ตาม เขาก็ต้องวางแผนก่อน ศึกษาข้อมูลก่อน ทดลองทำกระถางเล็กแล้วค่อยปลูกจริง ทำจริงเสร็จก็ปรับปรุง มันจะช่วยวางระบบความคิดให้เป็นระเบียบและเห็นขั้นตอนไม่ว่าจะทำสิ่งใดๆ ในชีวิต ชีวิตเขาจะง่ายขึ้น ยกตัวอย่างน้องที่จบจากค่ายไป กลับมาบอกว่าเขาไปเสนอธีสิสแล้วผ่านง่ายมาก มันก็คือกระบวนการคิดแบบเดียวกัน” ศรินทร์ ยกตัวอย่าง
5. กล้านำเสนอ
ปัญหาหนึ่งของเด็กไอที รวมไปถึงเด็กในสายวิชาชีพอื่นๆ ก็คือหลายคนเก่ง แต่ไม่สามารถนำเสนอหรืออธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ แต่สำหรับโครงการต่อกล้าฯ ด้วยกระบวนการที่เด็กต้องนำเสนอผลงานทั้งต่อกรรมการและทีมโค้ชตลอดระยะเวลาร่วมปี นั่นคือการฝึกให้เด็กกล้าแสดงออก และมีทักษะการนำเสนอที่ดี ถือเป็นคาแรคเตอร์สำคัญในการประกอบอาชีพหรือแม้กระทั่งประกอบธุรกิจในอนาคต
“น้องหลายคนที่เราเคยเจอตอนประกวดงานอื่นๆ ที่เขาไม่กล้าพูดเลย ถามอะไรก็ไม่ตอบ จนกระทั่งมาเข้าโครงการและอยู่กันไปจนสุดทาง เราพบว่าเขาเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งเลย จากเด็กที่ไม่กล้าคุยกับคนอื่น กลายเป็นคนพูดเก่ง ชวนคนอื่นคุยได้ นำเสนอผลงานได้ ขึ้นเวทีโต้ตอบกับกรรมการได้ ให้สัมภาษณ์ได้ ซึ่งเด็กที่เปลี่ยนได้แบบนี้มีเยอะมากในค่าย” ศิริพร เล่าอย่างมีความสุข
6. อดทน มีภูมิคุ้มกัน
ด้วยเนื้อหาความรู้จากค่ายที่มากมาย ภาระงานที่ต้องทำให้สำเร็จ บวกกับคำชี้แนะแฝงแรงกระตุ้นจากทั้งกรรมการและทีมโค้ช ทำให้แต่ละปีมีบ้างที่น้องๆ ต้องเสียน้ำตา
“ถ้าน้องจะเป็นผู้ประกอบการ น้องต้องเรียนทุกวิชาที่ค่ายสอนไปอีกอย่างน้อย 10 ปีถึงจะจบ แต่เราช่วยบีบอัดระยะเวลา 10 ปีนั้นให้เหลือแค่ไม่ถึงปี รวมถึงการนำเสนอต่อหน้ากรรมการร่วม 20 คน ถ้าใครไม่ได้มาเจอกับตัวเองจะไม่รู้เลยค่ะว่ามันกดดันมาก จึงไม่แปลกที่จะเห็นเด็กนำเสนอเสร็จแล้วออกไปร้องไห้นอกห้อง” ศิริพร เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดเป็นประจำทุกปี
แต่นั่นเองคือการจำลองโลกแห่งความจริงมาให้เด็กๆ ได้สัมผัส ให้เกิดภูมิคุ้มกัน อดทนต่อคำถาม คำวิจารณ์ หรือการปฏิเสธผลงานได้ และมากกว่านั้นคือการนำคำวิจารณ์กลับไปปรับปรุงและพัฒนาตัวเองและผลงานให้ดีขึ้น
“ในค่ายเด็กจะโดนทั้งหมัดฮุคหมัดแย็บนะคะ สิ่งที่เด็กได้คือความอดทน เด็กหลายคนอดทนกว่าก่อนมาค่ายเยอะมาก แรกๆ เด็กก็ของขึ้นเหมือนกันนะเวลาโดนกรรมการซัดไปหลายหมัด มีโมโห มีชักสีหน้าเล็กๆ ถอนหายใจ ส่ายหน้า แต่พอผ่านค่ายไปเรื่อยๆ เขาจะเริ่มเก็บอารมณ์เป็น ไม่โวยวายหรือร้องไห้ นั่นคืออีคิว” ศรินทร์ เล่าต่อ
“แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะอัดเด็กอย่างเดียวนะคะ พอภูมิคุ้มกันเด็กอ่อนแอเราก็จะมีหน่วยพยาบาลเข้าไปช่วยดูแล (ยิ้ม) ทั้งโคชทั้งพี่ TA จะเกาะไปกับเด็ก คอยคุยคอยให้กำลังใจคอยให้แนวทาง” ดร.กัลยา เสริม
“กว่าภูมิคุ้มกันจะเกิดได้ มันต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นและเราไม่ได้ฉีดเข็มเดียวแล้วจบ ใน 1 ปีที่เด็กอยู่กับเรา เราไม่ได้ปล่อยให้เขาต้องไปเผชิญปัญหาตามลำพัง เราให้โจทย์ไปแล้วเรียกกลับมา จากค่ายแรกสู่ค่ายสองสู่ค่ายสาม อยู่ด้วยกันไปจนจบโครงการ” ศิริพร เสริม
“รวมถึงช่วงลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของการพัฒนาผลงานด้วย ทีมโค้ชที่ไป นอกจากจะไปช่วยตรวจเช็ค ตรวจสอบ ทดลองใช้ ปรับแก้ เราก็ไม่ทิ้งเรื่องการเสริมภูมิคุ้มกันนะครับ เพราะเราจะไปเจอกับสภาพแวดล้อมการทำผลงานจริงที่น้องๆ อยู่ กับปัญหาที่มี มากบ้าง น้อยบ้าง ดังนั้น กำลังใจ และแรงใจจะเป็นตัวช่วยเสริมภูมิคุ้มกันอีกทางครับ เราทำกันหลากหลายหน้าที่มากครับ” (หัวเราะ) สิทธิชัย เล่าอีกมุม
7. ใจสู้
การเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็ทิ้งไม่ได้ ไหนจะวิชาความรู้ต่างๆ ในค่ายที่ต้องเรียนรู้ และไหนจะต้องพัฒนาปรับปรุงผลงานตามการบ้านที่ทีมโค้ชให้ น้องๆ จึงถูกปลูกฝังเรื่องความใจสู้ไปโดยปริยาย
“คาแรคเตอร์หนึ่งที่เห็นชัดมากคือ เด็กสู้สิ่งยาก ด้วยเงื่อนไขของโครงการที่เด็กต้องมีความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลาด ผู้ใช้ และไหนจะเงื่อนไขของตัวเด็กเอง ทั้งเรื่องเรียนเรื่องส่วนตัว แต่เด็กต้องผ่านมันไปให้ได้ เงื่อนไขเหล่านี้มันทำให้เด็กพยายาม สู้สิ่งยาก ซึ่งเป็นคาแรคเตอร์ที่หาได้ยากในเด็กสมัยใหม่” สิรินทร อธิบาย
“พวกเราจะท้าทายน้องตลอดเวลา ให้ปรับปรุงพัฒนาผลงานต่อไปอีก ทำมาแบบนี้หรือ…ต้องทำได้อีกๆๆๆ อย่างมาค่าย ให้โจทย์ไปตอนกลางคืน รุ่งเช้าน้องก็ทำงานมาส่งได้ เห็นได้ชัดว่าน้องพยายามที่จะ fighting สู้! และ finding ค้นหาแล้วมาตอบเราได้” ศิริพร กล่าวอย่างภาคภูมิใจในตัวเด็กๆ
8. ยอมรับความต่าง & รู้จักทำงานเป็นทีม
เพราะไม่มีใครที่รู้ไปหมดทุกเรื่อง การพัฒนานวัตกรรมจึงต้องอาศัยทีมเวิร์คที่มีความหลากหลาย ซึ่งการทำงานเป็นทีมนี่เองที่เด็กๆ ได้สัมผัสจากโครงการอย่างเต็มที่ ด้วยขอบเขตของงานที่มุ่งเป้าไปสู่การใช้งานจริง เทคนิคทางเขียนโปรแกรมหรือการสร้างกลไกทางช่างจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องผสมผสานศาสตร์ของการออกแบบ การเก็บบันทึกข้อมูล การประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ ที่จำเป็นอีกมากมาย
ประสบการณ์นี้สอนให้เด็กๆ รู้จักการฟอร์มทีมที่มีความหลากหลายขึ้นมา หลายทีมต้องปรับทีมกันกลางโครงการ ด้วยการดึงเพื่อนที่มีความสามารถในด้านที่ทีมขาดอยู่เข้ามาร่วมแรงร่วมใจกัน นี่เองคือการฝึกการทำงานแบบทีมเวิร์คไปในตัว
“คาแรคเตอร์ปกติของเด็กเก่งคือฉันอยากทำทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ คือคนเก่งส่วนใหญ่จะชอบทำงานคนเดียว แต่พอมาอยู่ในค่ายเขาเริ่มรู้ว่ามันทำไม่ได้หรอก การเอาคนอื่นเข้ามาช่วยด้วยมันทำให้พลังเขาเยอะขึ้น ซึ่งโครงการปีหลังๆ มานี้เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ของน้องหลายๆ ทีม คือ แต่ละทีมมีขนาดใหญ่ขึ้น และสมาชิกในทีมมีความถนัดที่แตกต่างกัน มีการทำงานร่วมกัน รู้จักแบ่งงาน แสดงว่าน้องเข้าใจแล้วว่าในทีมต้องมีการผสมผสาน มีความถนัดที่หลากหลาย หลายทีมยอมไปหาเด็กที่วาดรูปเก่งมาเข้าทีม จากที่แต่เดิมเด็กคำนวณจะไม่คุยกับสายศิลปะ แต่เขายอมเพราะเห็นได้ว่าพอรวมกันแล้วการทำงานมันดีขึ้น” สิรินทร แบ่งปันประสบการณ์
9. รู้จักสร้างเครือข่าย
สืบเนื่องจากการทำงานเป็นทีมข้างต้น สำหรับเด็กๆ บางกลุ่มที่ยังขาดทักษะที่จำเป็นในการพัฒนาผลงาน แต่ไม่มีการปรับทีมหรือดึงเพื่อนมาช่วย ทีมโคช รวมถึงพี่ TA (Teacher Assistant) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในโครงการรุ่นก่อนๆ จะช่วยเชื่อมเครือข่ายให้ ด้วยการดึงเด็กจากทีมอื่นที่มีความเชี่ยวชาญในสิ่งที่ทีมดังกล่าวขาด มาช่วยแนะนำและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเองระหว่างเด็ก
“ช่วงต้นโครงการเด็กจะอยู่เป็นกลุ่มก้อนของตัวเอง ทีมโค้ชซึ่งจะรู้ความเป็นมาของทุกทีมจะเห็นแล้วว่า ถ้าทีมนี้ได้สมาชิกหนึ่งจากทีมนั้นมาช่วยแนะนำมันจะทำให้ผลงานเขาเร็วขึ้น เราจึงพยายามทำให้เด็กๆ ต่างทีมมีโอกาสได้คุยหรือแชร์กัน ตรงนี้ไม่รู้หรือ…ไปเรียกน้องทีมนั้นมาถามสิ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กไม่หวงความรู้ ระหว่างที่คุณไปสอนเขาคุณแบ่งปัน และคุณก็ได้ความรู้หรือมุมมองใหม่ๆ กลับมาด้วย ต่างคนต่างก็ได้ประโยชน์เพราะได้คุยกัน” ศรินทร์ เล่าบรรยากาศ
“มันจึงเกิดเป็นเครือข่ายของเด็กๆ นอกจากเครือข่ายในโรงเรียน เขาก็ได้ทำงานร่วมกับทีมจากโรงเรียนอื่น เราเห็นเด็กกล้าที่จะขยับขยายตัวเองออกไปเป็นเครือข่ายมากขึ้น” สิรินทร เสริม
และไม่เพียงเครือข่ายระหว่างเพื่อนรุ่นเดียวกันเท่านั้น แต่ทีมงานยังพยายามสร้างเครือข่ายในแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่จะคอยช่วยเหลือกันนับแต่ในค่าย ไปจนกระทั่งจบค่าย ออกสู่โลกภายนอก
“ความเป็นเครือข่ายคือสิ่งที่เราอยากเห็นมื่อเด็กจบจากเราไปแล้ว เพื่อนๆ หรือรุ่นพี่ หรือแม้กระทั่งโค้ชเอง ก็ยังเป็นเครือข่ายที่สามารถเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ ให้เด็กตระหนักว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ เขามีเพื่อนมีโคชมีทีมงานที่จะสนับสนุนกันและกันอยู่ และเครือข่ายนี้ก็อาจจะช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้แก่สังคมได้” ดร.กัลยา ยิ้มท้ายประโยค
10. เป็นคนเก่งและเป็นตัวคูณให้สังคม
ด้วยการอัดแน่นวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ และด้วยกระบวนการค่ายที่ฝึกเด็กให้มีประสบการณ์ในการทำงานจริงอย่างเข้มข้น ทำให้เด็กโครงการต่อกล้าฯ ‘พร้อม’ กว่าเด็กคนอื่นๆ ในโลกของการแข่งขัน
“กระบวนการทั้งหมดในโครงการคือประสบการณ์ที่จะติดตัวไป เราไม่ได้โฟกัสแค่ผลงานในวันนี้ของน้อง แต่เราคาดหวังกับผลงานชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 หรือชิ้นต่อๆ ไปหลังออกจากโครงการไปแล้ว เชื่อมั่นได้เลยว่ามาตรฐานของเขาอยู่ในระดับสูงแน่นอน” ศรินทร์ กล่าวอย่างมั่นใจ
“คุณสมบัติหรือคาแรคเตอร์ทั้งหมดนั้นมันเกิดจากการเรียนรู้ด้วยตัวเด็กเอง เราไม่ได้สอนหรือสั่งว่าคุณต้องมีคุณสมบัติแบบนี้ แต่มันเกิดจากการที่เด็กได้ไปดำเนินการเอง ไปลงมือทำเอง ไปเจอความบีบคั้นเอง เขากำลังสร้างตัวเขาด้วยตัวเขาเอง” ดร.กัลยา เสริม
ซึ่งจะดีมากหากเราสามารถพัฒนาน้องๆ เหล่านี้ให้เป็นวิทยากรตัวคูณให้แก่สังคมภายนอกได้อีกต่อหนึ่ง
“เราหวังว่าเด็กเหล่านี้จะเป็นเด็กคุณภาพ และเป็นตัวคูณในการสร้าง ขยาย หรือส่งต่อสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ให้เพื่อน ให้รุ่นน้อง หรือเขาโตไป ก็ส่งต่อให้ลูกเขา หรือคนในสังคมได้ และถ้ามีตัวคูณแบบนี้เยอะๆ ประเทศไทยน่าจะดีขึ้น” ความคาดหวังของ ดร.กัลยา
สร้างเด็กแบบต่อกล้า (เคล็ดไม่ลับฉบับทีมโค้ช)
การสร้างเด็กผ่านกระบวนการค่ายนั้น ฟันเฟืองที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ ก็คือ ทีมโค้ช ซึ่งวันนี้โค้ชทั้ง 4 พร้อมจะเผยเคล็ดไม่ลับในการสร้างค่าย เพื่อสร้างคนให้มีคาแรคเตอร์ของการที่จะประสบความสำเร็จแบบต่อกล้าฯ มีเคล็ดลับอะไรกันบ้าง ไปลองดูกัน…
1. ไม่ฆ่าเด็ก
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของการประกวดที่เราพบเห็นได้บ่อยก็คือ กรรมการหรือทีมผู้ตัดสินมักวิจารณ์ผลงานแบบฆ่าเด็ก
“การประกวดอื่นที่เราไม่ชอบคือ กรรมการมาเห็นเด็กทีเดียวแล้วฟัน ใช้เวลาแค่ 10-15 นาทีในการตัดสินเด็ก ทั้งๆ ที่เบื้องหลังเด็กทำงานมานานมาก แต่โครงการต่อกล้าฯ มีกระบวนการในการพัฒนาผลงาน ซึ่งช่วยเด็กได้เยอะ ถูกผิดเราได้ชี้ได้บอก มีเวลาเป็นชั่วโมงๆ ให้คุยกัน” ศรินทร์ แจกแจง
“เพราะฉะนั้นกรรมการและโคชทุกคนจะได้รับการคุยทุกครั้งก่อนจะเริ่มกระบวนการ เราจะย้ำกันเองตลอดเวลาว่า เราไม่ได้มาฆ่าเด็กนะ (หัวเราะ) เรามาพัฒนาเด็ก กรรมการที่อื่นเขาจะแค่มาฟัน มาตบ แต่เรามาสอนเด็ก ตรงไหนที่พัฒนาเขาได้เราจะคุยกับเขาตรงส่วนนั้น และไม่ใช่ทุกอย่างต้องไปจากเรา บางทีมุมมองของเด็กก็ดีกว่าของเรา ทำให้เราเรียนรู้ว่าเวลาเราจะวิจารณ์ผลงาน เราต้องเปิดช่องว่างให้เด็กศึกษาเรื่องอื่นๆ เพิ่มเติม เพราะมันอาจจะมีทางออกอื่นด้วย มันจึงกลายเป็นการที่เราเรียนรู้ไปด้วยกัน เด็กพัฒนาและเราก็ได้พัฒนาตัวเองในฐานะโคชไปด้วย” สิรินทร เล่า
“และทีมโค้ชเองจะพยายามบอกกันเสมอ ย้ำกันตลอด ว่า นี่คือผลงานของเยาวชน ไม่ใช่ผลงานของนักวิจัย หรือนักธุรกิจ มันจะนำหลักเกณฑ์ที่เท่ากันมาใช้พิจารณาหรือตัดสินไม่ได้ เราต้องพยายามหาวิธีและแนวทางที่พอเหมาะพอควรกับผลงานของเด็กในโครงการของเรา มันจึงจะเหมาะสมกว่า” สิทธิชัย กล่าวเสริม
2. เป็นเพื่อนกับเด็ก
โครงการประกวดอื่นๆ นั้นกรรมการก็คือกรรมการ โคชก็คือโคช เด็กก็คือเด็ก สถานะของแต่ละฝ่ายชัดเจนและมักไม่ยืดหยุ่น แต่สำหรับโครงการต่อกล้าฯ กรรมการและทีมโคชพยายามที่จะลดช่องว่างความห่างของวัยและสถานะ ให้เหลือเป็นเพียงเครือข่ายพี่น้องระหว่างกัน
ซึ่งนอกจากการทำตนเป็นที่พึ่ง อีกกลไกหนึ่งที่ทีมงานสร้างขึ้นมาในช่วง 2 ปีหลังก็คือ การให้รุ่นพี่ TA เข้ามาเป็นตัวเชื่อมระหว่างเด็กกับโคช หรือเด็กกับกรรมการ
“สองปีมานี้เราเริ่มมีตัวเชื่อมค่ะ เพราะการสื่อสารระหว่างโคชกับเด็ก อย่างไรก็ยังมีช่องว่างอยู่ เราจึงเอารุ่นพี่ที่ผ่านค่ายมาแล้วมาเป็นตัวเชื่อมประสานอีกต่อหนึ่ง เขาวัยไล่เลี่ยกัน พอวัยใกล้กันน้องก็ไว้ใจ กล้าถามกล้าปรึกษาพี่ บางอย่างที่พี่เองตอบไม่ได้ก็มาถามโคช เวลามีกิจกรรมพี่ก็ลงไปเล่นกับน้องด้วย มันจึงมีความสนิทกัน และน่าจะเติบโตไปเป็นเครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้องที่ช่วยเกื้อกูลกันต่อไปได้” ดร.กัลยา อธิบายกลยุทธ์ของค่าย
3. เป็นเชฟความรู้ให้เด็ก
เพราะเด็กยังไม่มีประสบการณ์มากมาย และความรู้ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็มาจากในโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ยังเชื่อมต่อไม่ติดกับความรู้ในวิชาชีพจริง
การถ่ายทอดความรู้ให้เด็กจึงไม่สามารถยกความรู้เฉพาะเชิงวิชาชีพมาแบบดิบๆ ได้ หรือแม้แต่การยกตัวอย่างเนื้อหาข้ามสายวิชาชีพ เด็กจากสายหนึ่งก็ย่อมเข้าไม่ถึงอีกสายหนึ่ง
ดังนั้น นอกจากทีมโค้ชจะต้องพัฒนาตัวเองในการ ขวนขวายความรู้ เพื่อมาถ่ายทอดให้เด็ก แล้วก็ยังต้อง เลือก เนื้อหาที่เหมาะสมกับตัวเด็ก และ ย่อย เนื้อหาจากที่ยากให้ง่ายขึ้นด้วย
“ส่วนตัวไม่ได้มีความรู้ด้านการตลาด แต่ต้องมาสอนการตลาด (หัวเราะ) เคยถามทีมงานแล้วว่า หาวิทยากรด้านนี้มาสอนได้ไหม ซึ่งโครงการเคยลองแล้ว แต่เนื้อหาจากวิทยากรนั้นสูงเกินไป น้องเอื้อมไม่ถึง ฟังแล้วไม่เข้าใจ มันจึงกลายเป็นหน้าที่ของเราในการต้องไปลงเรียนการตลาดเพิ่มเอง เลือกเรื่องที่จะสอน ถ้าไกลตัวเด็กไปเด็กก็งง ไปไม่ถูก แล้วที่สอนต้องไม่ซับซ้อน คือต้องย่อยให้มันง่าย” ศรินทร์ ยกตัวอย่างจากกรณีของตนเอง
“การสรรหาวิทยากรในแต่ละหัวข้อก็สำคัญไม่น้อย เพราะในแต่ละเรื่องที่สอนในค่าย น้องๆ ไม่เคยได้เรียนในห้องเรียน บางเรื่องยาก รายละเอียดเยอะ แต่ต้องสอนภายในไม่กี่ชั่วโมง ดังนั้นการทำให้เรื่องที่ไม่เคยเรียนและยากนั้นน่าสนใจ ดึงความสนใจเด็กไว้ได้ วิทยากรจึงต้องสอดแทรกกิจกรรมและแบบทดสอบ แบบทดลอง ให้ได้ลองทำจริงตลอดการสอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมากของวิทยากรแต่ละคน” สิทธิชัย เล่าถึงโจทย์หลักที่วิทยากรแต่ละคนต้องเจอ
4. สร้างบรรยากาศเชิงบวก
บรรยากาศนั้นสำคัญมากในการเรียนรู้ไม่ว่าสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ ยิ่งโดยเฉพาะค่ายของเด็กโครงการประกวด การสร้างบรรยากาศเชิงบวกหรือพื้นที่ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทีมงานโครงการต่อกล้าฯ พยายามทำให้เกิดขึ้นตลอดมา ทั้งในแง่ของการไม่ตัดสินเด็ก สร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน หรือการวางสถานะตัวเองเป็นเพื่อนกับเด็ก ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุด
“เราพยายามสร้าง Positive Environment หรือบรรยากาศเชิงบวกในค่ายค่ะ ทั้งสภาพของค่าย การฝึกวิธีการคิดเชิงบวกให้น้อง รวมถึงกระบวนการที่ไม่ใช่สภาพแวดล้อมของการแข่งขันแบบแพ้คัดออก ในค่ายเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะคิด จะถาม จะคุย หรือนำเสนออะไรใหม่ๆ แปลกๆ ได้ โดยไม่ถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อหรือแปลกแยก หรือแม้การวิจารณ์ผลงานน้อง คอมเมนต์จากกรรมการหรือทีมโคชจะบอกน้องตลอดว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ มันไม่ใช่เรื่องแย่หรือเลวร้าย ซึ่งมันจะสร้างพลังบวกให้เด็กได้ดีมากๆ” สิรินทร เล่า
ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็เพื่อสร้างเด็กให้มีคาแรคเตอร์ของผู้ที่จะประสบความสำเร็จ อยู่รอดอย่างมีความสุข และต่อยอดไปสู่การสร้างสังคมที่ดีต่อไปในอนาคต
“เรารู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ทำค่ะ เด็กหลายคนประสบความสำเร็จ หลายคนเป็นเด็กที่มีความพิเศษ ไม่เหมือนคนอื่น การมาเข้าค่ายเราเห็นเลยว่าเขาเปลี่ยนมุมมองชีวิต จากที่เคยเป็นปมด้อยของเพื่อนที่โรงเรียน พอมาเข้าค่ายนี้เขาหาตัวเองเจอ และเอาจุดที่เป็นจุดเด่น ทั้งๆ ที่คนอื่นมองว่าจุดเด่นของเขาคือจุดด้อยด้วยซ้ำ มาสร้างเป็นแรงหมุนทำให้เขาค้นพบตัวเอง ไปทำผลงานจนเป็นที่ยอมรับ ชิ้นงานเขาถูกเอาไปใช้จริงในชุมชน นี่เป็นสิ่งที่เราภูมิใจมากๆ
“นั่นคือเป้าหมายปลายทางที่เราพูดกัน คือเด็กสามารถประยุกต์ใช้สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากกระบวนการตลอดโครงการเรา ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคิดเชิงตรรกะ การมองในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน ใฝ่เรียนรู้ รู้จักบริหารจัดการ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ นี่คือคุณสมบัติของคนศตวรรษที่ 21 กระบวนการเหล่านี้มันฝังอยู่ในตัวเขา สิ่งเหล่านี้เขาควรจะต้องติดตัวไปใช้ไม่ว่าเรียน ทำงาน สร้างอาชีพ แม้กระทั่งนำไปใช้ในครอบครัวเขาเอง อยู่บ้านก็เป็นสุข ทำงานก็ได้ผล นั่นคือปลายทางที่เราอยากเห็นค่ะ” ดร.กัลยา ทิ้งท้าย