- ไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูด้วยความรัก ไม่ใช่แค่การมอบการศึกษา ไม่ใช่แค่การส่งเสริมพัฒนาการตามวัย แต่สำคัญกว่านั้นคือ ‘ความเข้าใจ’ เข้าใจหนึ่งชีวิตที่ค่อยๆ เติบโต จากวัยเด็ก สู่วัยรุ่น และเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
- แชร์ประสบการณ์การเลี้ยงลูกจากคุณพ่อจอมดุ ที่เปลี่ยนมายเซ็ตใหม่เป็นพ่อแม่ที่ใจดีแต่ไม่ตามใจตั้งแต่การเป็นพ่อคนครั้งแรก ความรัก ความคาดหวังที่มีต่อลูกที่มาพร้อมกับแรงกดดันและผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก ไปจนถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีคุณภาพขึ้นมาใหม่
- อันดับแรกต้องสร้างความเชื่อใจ (Trust) กับลูกใหม่ ผลัดกันเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี ข้อสำคัญเลยคือ ให้เขาได้เป็นตัวเอง โดยไม่เอาเขาไปเปรียบเทียบกับใคร และสนับสนุนสิ่งที่เขาชอบ
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก ดีต่อลูก
หมอค่ะ/ครับ ลูกปลอดภัยไหม ครบ 32 รึเปล่า? เชื่อว่าหลังจากที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก นี่คงเป็นประโยคแรกที่คุณพ่อคุณแม่มักถามกับหมอผู้ทำคลอดเป็นอันดับแรก ความรู้สึก ณ ตอนนั้นคงทั้งตื่นเต้นและเป็นห่วงว่าเจ้าตัวน้อยจะเป็นอย่างไรบ้างนะ ยิ่งเป็นลูกคนแรกยิ่งตื่นเต้นเข้าไปใหญ่ แต่การเป็นพ่อแม่คนย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่หนักอึ้ง
ไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูด้วยความรัก ไม่ใช่แค่การมอบการศึกษา ไม่ใช่แค่การส่งเสริมพัฒนาการตามวัย แต่สำคัญกว่านั้นคือ ความเข้าใจ…เข้าใจหนึ่งชีวิตที่ค่อยๆ เติบโต จากวัยเด็ก สู่วัยรุ่น และเชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
The Potential ชวนคุณโต้ง-สุระ จารุศศิธร คุณพ่อลูกสามที่อยากแบ่งปันแนวทางการดูแลลูกแบบสร้างสรรค์ให้กับทุกๆ ครอบครัว เจ้าของเพจ ‘ดีต่อลูก’ และล่าสุดเขียนหนังสือชื่อ ‘ดีต่อลูก Vol.1 บ้านพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูก’ รวบรวมบทความที่เคยเขียนไว้ในเพจตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แชร์ประสบการณ์ของการเลี้ยงลูก ตั้งแต่การเป็นพ่อคนครั้งแรก ความรัก ความคาดหวังที่มีต่อลูกที่มาพร้อมกับแรงกดดัน และผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก ไปจนถึงการปรับมายเซ็ตครั้งสำคัญของครอบครัว สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและมีคุณภาพขึ้นมาใหม่
ความคาดหวังของพ่อแม่ อาจกำลัง ‘รังแก’ ลูกอยู่
คาดหวังว่า ‘ลูกต้องอัจฉริยะ’ ต้องเก่งต้องดี จนลืมไปว่า… ลูกมีความสุขอยู่ไหมนะ?
“ในตอนนั้นก็เลี้ยงลูกด้วยการเปิดเพลงคลาสสิกให้ลูกฟัง เปิดทั้งตอนนอนตอนเล่นของเล่นก็เปิดตลอด ความรู้ตอนนั้นเพลงคลาสสิกทำให้เด็กฉลาดเราก็เชื่อแบบนั้น แล้วก็อ่านนิทานให้ลูกฟัง ซึ่งการอ่านนิทานให้ลูกฟังก็ทำให้ลูกเราพูดได้เร็วมาก อ่านหนังสือได้เร็วมาก แต่มันก็จะมาพร้อมกับความคาดหวัง พอลูกเริ่มโตขึ้นก็เริ่มมีความคาดหวังขึ้นไปอีก”
และเมื่อลูกทำในสิ่งที่พ่อแม่มองว่าง่ายไม่สำเร็จ จึงตามมาด้วยการระเบิดอารมณ์ใส่ลูก เช่น สอนคิดเลขแล้วลูกทำไม่ได้ ก็เริ่มดุ เริ่มตี “ทำไมถึงเขาทำไม่ได้นะ เรื่องง่ายๆ แค่นี้เอง”
แม้พัฒนาการทางด้าน IQ ของลูกจะดีดั่งใจหวัง แต่คุณโต้งบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ลูกจะทั้งรักทั้งกลัวเขามาก เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนัก และพัฒนาการทางด้านอารมณ์ หรือ EQ ของลูกๆ ก็ค่อนข้างแย่ตามไปด้วย ยกตัวอย่างลูกสาวคนที่สองของบ้าน ที่ถูกเลี้ยงด้วยการให้อยู่เนอสเซอรีที่ช่วยเรื่องพัฒนาเด็กเล็กโดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 2 เดือน ซึ่งก็ทำให้ลูกพูดได้เร็ว มีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด แต่ก็แลกด้วย EQ ที่แย่ลง
“พอเห็นลูกเรียนเก่ง โรงเรียนก็สอนดี ลูกก็พัฒนาการเร็ว เราก็อัดเขาขึ้นป.1 เร็วกว่าปกติหนึ่งปี พัฒนาการเขาหายไปหนึ่งปีเลยช่วงนั้น แทนที่เขาจะได้เล่น พัฒนา EQ ให้พร้อม ซึ่งเขาก็ทำได้ดีนะ แต่ก็จะมีความรู้สึกในใจของเขาว่าฉันสู้คนอื่นไม่ได้ เกิดความรู้สึกว่าตัวเองต้องทำได้มากกว่านี้ ต้องเพอร์เฟกตลอด แรกๆ คือ แพ้ไม่เป็น แพ้ไม่ได้ แพ้แล้วเฟล แพ้แล้วร้องไห้ เลิกเล่น ออกจากเกมดื้อๆ เลย แล้วก็เขาไม่สามารถแสดงอารมณ์ออกมาได้ เสียใจก็อธิบายไม่ได้ ดีใจก็อธิบายออกมาไม่ได้ ดีใจก็ดีใจไม่สุด เสียใจก็เสียใจไม่สุด”
เปลี่ยนมายเซ็ต เลิกแล้วเป็น ‘พ่อแม่รังแกฉัน’
“สิ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนมาเซ็ตตัวเองก็คือวันนั้นลูกเขาทำอะไรสักอย่างนี่แหละ แล้วเราก็รู้สึกไม่พอใจ รู้สึกโกรธเขา ก็ดุเขาเสียงดัง เขาก็กลัวเรามาก ทุกครั้งที่ดุลูก ระเบิดอารมณ์เสร็จเราก็เสียใจนะ รู้สึกผิดในใจ ครั้งนี้ก็เหมือนกัน มองหน้าภรรยาแล้วก็ร้องไห้กัน คิดว่าเราทำอะไรอยู่ เรารักลูกแต่สิ่งที่เราทำมันใช่หรอ เรากำลังทำให้เขาเสียใจ เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ละ เพราะลูกโตขึ้นทุกวัน วันนึงเขาโตขึ้นไปเรียนมหาลัยเขาต้องไปจากเรา ถ้าความสัมพันธ์กับลูกไม่ดีนะ ลูกจะไม่กลับมาหาเรา หรือมาแค่วันหยุด วันปิดเทอม แล้วก็โทรหาเราแค่ตอนที่เขาเงินหมด หรือต้องการให้เราช่วย แล้วก็ไม่ได้รู้จักกัน เพราะเขาไม่ได้ไว้ใจเรา ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น”
สิ่งที่คุณโต้งกับภรรยาทำก็คือ การขอโทษลูก แล้วบอกว่า เรามาเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวกันใหม่ จากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือจิตวิทยาเชิงบวก หนังสือพัฒนาการเด็ก หนังสือสมองเด็ก เพื่อทำความเข้าใจลูกและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขา
อันดับแรกต้องสร้างความเชื่อใจ (Trust) กับลูกใหม่ ให้เขาเชื่อว่า “พ่อเปลี่ยนจริงๆ นะ พ่อจะไม่ทำเหมือนเดิมนะ” แต่หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคทำนองว่า ความเชื่อใจที่พังแล้ว สร้างกลับมาใหม่ได้ยาก เช่นเดียวกันกับการทำให้ลูกเชื่อใจพ่อแม่ใหม่ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก
“เมื่อก่อนพอเขามีปัญหาก็จะไม่กล้าบอกเรา เพราะเขารู้ว่าถ้าสิ่งที่บอกเป็นสิ่งที่ไม่ดีของเขา เดี๋ยวพ่อจะต้องตี ต้องโกรธแน่นอน เราก็ต้องแบบสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างเรื่อยๆ เหมือนจีบผู้หญิงใหม่ คุยกับลูกมากขึ้น พยายามฟังเขาให้มาก และฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ซ้ำเติม เขาก็เริ่มเล่ามากขึ้น”
เมื่อเปิดใจให้กันแล้ว ก็ต้องทำให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง มองเห็นข้อดีข้อด้อยของตัวเอง โดยอาศัยการชมบ่อยๆ แต่ชมบนพื้นฐานความจริง ชมในสิ่งที่เห็นว่าเป็นส่วนดีของเขา เช่น หนูทำอันนี้ดีแล้วนะ หนูเก่งเรื่องนี้นะ หนูเด่นเรื่องนี้นะ นอกเหนือจากนี้จะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกัน ยิ้มและหัวเราะไปด้วยกัน
ข้อสำคัญเลยคือ ให้เขาได้เป็นตัวเองโดยไม่เอาเขาไปเปรียบเทียบกับใคร และสนับสนุนสิ่งที่เขาชอบ
“หลังจากนั้นลูกก็คุยกับเรามากขึ้น ลูกปรึกษาเรา แม้แต่เรื่องการเมืองหรือความเชื่อที่ต่างกัน ก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ พอเราเข้าใจในมุมของวัยรุ่น เข้าใจมุมที่เขาคิด แล้วเราก็เข้าใจสมองเขามากขึ้นว่าวัยรุ่นก็เป็นแบบนี้แหละ เขาไม่ได้เถียงเรานะ เขาแค่อธิบายในมุมที่เขาคิด เราก็แค่ต้องฟังเขามากขึ้น แล้วเขาก็จะฟังเรามากขึ้น”
ในขณะเดียวกันฝั่งของคุณพ่อคุณแม่เอง ต่างก็กลายเป็นคนใจเย็นขึ้น มีสติมากขึ้น อีกทั้งยังได้ทักษะการฟังด้วย
“การที่เด็กคนนึงจะเติบโตเป็นมนุษย์คนนึงมันไม่จำเป็นต้องตามแพทเทิร์นเหมือนที่เราเคยเป็นมา ชีวิตในยุคของลูกเรามันไม่ได้เป็นแบบนั้นอีกแล้ว การเรียนเก่งก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะประสบความสำเร็จ เราก็ได้มุมมองว่าการที่ลูกจะประสบความสำเร็จคือลูกก็เป็นแบบที่เขาเป็นนั่นแหละ แบบที่เขามีความสุข เขาหาตัวเองเจอว่าเขาชอบอะไร แล้วพ่อแม่ก็สนับสนุนเขาไปให้สุดนั้นคือสิ่งที่เราได้”
ทั้งนี้ต้องเริ่มต้นจากการพูดคุยกันดีๆ ก่อน วางอคติหรือสิ่งที่คาดหวังไว้ในใจก่อน ลองเปิดใจรับฟังถึงจะเห็นมุมของลูก เห็นความชอบของลูกจริงๆ ไม่ใช่ความชอบของพ่อแม่
“บางทีพ่อแม่จะคาดหวังว่าลูกฉันต้องเป็นแบบนี้ ถึงจะมีอนาคตที่ดี เป็นความหวังดีของพ่อแม่ แล้วก็เป็นความคาดหวังของสังคมรอบข้างที่มองเข้ามา ก็เกิดการเปรียบเทียบลูกฉันลูกเธอ สำหรับตอนนี้ลูกใครจะไปสอบเข้าที่ไหนได้ก็เรื่องของลูกเขา แต่นี่คือลูกของเรา สนใจแค่ตรงนี้ดีกว่า”
แต่สิ่งที่ควรคาดหวังคือ การที่ลูกไม่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น ทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ และมีความสุข โดยพ่อแม่มีหน้าที่ส่งเสริมให้เขาได้เรียนรู้ ลองทำในสิ่งสนใจ ถ้านั้นคือสิ่งที่ใช่ก็ช่วยผลักให้เขาลุยต่อ แต่ถ้าไม่ใช่ก็แค่ออกมาแล้วเริ่มต้นใหม่
“อย่างล่าสุดลูกก็ไปฝึกงานกับบริษัทจัดเทรนนิ่ง จัดคอร์สอบรมทักษะใหม่ๆ การพัฒนาตนเอง นี่ก็เป็นหนึ่งกิจกรรมที่ให้ลูกลองไปฝึกงานดูว่าจะชอบไหม เราก็พยายามหากิจกรรมใหม่ๆ ให้ลูกได้ลองทำดู เพื่อช่วยเสริมให้เขาค้นหาความชอบของตัวเอง ให้เขาลองดูว่าจะชอบไหม สุดท้ายเขาจะเลือกเอง เราก็แค่มีหน้าที่นำเสนอ พาไปทำ พาไปลอง ถ้าใช่ก็ลุบ ถ้าไม่ใช่ก็ออกมา”
ในขณะเดียวกันถ้าเขาค้นพบว่ามันไม่ใช่ แล้วเกิดผิดหวัง สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดคือการที่หันมาแล้วยังเห็นพ่อแม่อยู่ข้างๆ และไม่ซ้ำเติม
ทำความเข้าใจลูก สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้าน
“อย่างที่เขียนไว้ในหนังสือ ‘ดีต่อลูก Vol.1 บ้านพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูก’ มันไม่ใช่คำภีร์หรอก เพราะไม่ได้มีหลักเกณฑ์ หลักการมาก แต่มันเป็นเหมือนประสบการณ์แล้วก็เป็นการปรับมายเซ็ตพ่อแม่มากกว่า อยากให้พ่อแม่รู้ในมุมที่เขาอาจจะยังไม่รู้ อยากให้ทุกคนได้เข้าใจลูก เพราะถ้าเราเข้าใจลูกอะไรๆ ก็ง่ายนะ”
หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ เข้าใจบ้าน เข้าใจครอบครัว เข้าใจสมอง พัฒนาการเด็กและวัยรุ่น สุดท้ายเข้าใจการศึกษาในยุคแห่งการเรียนที่เปลี่ยนไป และเด็กๆ ของเราก็กำลังแย่ลงเพราะการศึกษา หากเข้าใจทั้ง 3 ส่วน ต่อไปลูกโตขึ้นเขาจะเป็นมนุษย์ที่มีความสุข
“ไม่อยากให้เห็นเด็กวัยรุ่นต้องกรีดข้อมือ เด็กวัยรุ่นที่เป็นซึมเศร้า เมื่อเราเลี้ยงลูกเรา เราก็อยากเห็นลูกคนอื่นดีด้วย ลูกเรารอดคนเดียวไม่ได้ เพราะเขาต้องอยู่ในสังคม ถ้าลูกคนอื่นไม่ดีลูกเราอยู่ยากนะ ถ้าสังคมเต็มไปด้วยคนไม่ดีลูกเราก็อยู่ลำบาก เลยมองว่าถ้าเราทำให้สังคมมันดี ลูกเราก็อยู่สบาย เพราะว่าต่อไปพ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่กับเราด้วยเขาก็ต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเอง
ถ้าเขาไม่มีพื้นฐานที่ดี การเห็นคุณค่าในตัวเอง เห็นคุณค่าของคนอื่น ต่อไปจะเป็นยังไงก็ไม่รู้ ไม่แคร์คนอื่น โกงกัน ฆ่ากัน ทะเลาะกันง่ายๆ ไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น”
นอกจากนี้สิ่งที่จำเป็นต้องสอนลูกอีกเรื่องก็คือ สิทธิในเนื้อตัวของลูก ซึ่งเป็นคุณแม่ที่รับหน้าที่สอนเรื่องนี้ โดยสอนให้เขารู้ว่าการที่มีคนมาถูกเนื้อต้องตัวโดยที่เราไม่เต็มใจ รู้สึกอึดอัด ไม่ใช่เรื่องปกติ เรามีสิทธิที่จะไม่ชอบ และต้องบอกพ่อแม่ ต้องให้เขารู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องปกติที่ใครจะมาทำกับเขาแบบนี้ได้ ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นว่าพอมีคนอื่นมาทำกับเขาแบบนี้เป็นเรื่องปกติที่ทำได้
ลูกวัยรุ่น ‘เพื่อน’ มีอิทธิพลกับลูกมากกว่าเรา
“ตอนแรกก็ไม่เข้าใจนะ แต่พอลูกเริ่มเข้าวัยรุ่นเราก็หาหนังสือเกี่ยวกับสมองวัยรุ่นมาอ่าน เราสนใจเรื่องสมองมาก สมองวัยรุ่นเนี่ยมันมีเรื่องของอารมณ์มากกว่าเหตุผล คือเราบอกเหตุผลกับลูกวัยรุ่นแทบตายไม่ฟังหรอก อารมณ์มันนำมาก่อน กับเพื่อน…วัยรุ่นเขาต้องการสังคมมากกว่า สังคมเพื่อน พ่อแม่ก็ส่วนหนึ่งแต่สังคมเพื่อนสำคัญกว่า”
สิ่งที่ทำได้คือ พยายามเข้าใจโลกอีกใบของเขา แต่จะไม่ก้าวเข้าไปในโลกใบนั้นมากเกินไป เพราะต่อให้พ่อแม่พยายามเป็นเพื่อนกับลูก แต่พ่อแม่ก็ไม่ใช่เพื่อนเขาอยู่ดี
“เราก็เคยไปดูคอนเสิร์ตนักร้องเกาหลีกับเขานะ เพราะเราก็อยากรู้ว่ามันคืออะไร โอ้โห…วัยรุ่นเต็มเลย เราถึงได้เข้าใจว่าโลกวัยรุ่นยุคนี้มันเป็นแบบนี้เอง ก็เหมือนเราสมัยก่อนแหละ แต่แค่สมัยก่อนเราไม่มีพวกนี้ ยุคนั้นถ้าชื่นชอบนักร้องคนไหนก็จะไปซื้อเทป โทรเข้ารายการวิทยุไปหาเพลง แล้วก็ไปนั่งเฝ้า อ่านนิตยสารดารา ไม่ว่าจะวัยรุ่นสมัยลูกหรือสมัยเราก็เป็นวัยรุ่นเหมือนกัน แต่แค่รูปแบบเทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปเท่านั้นเอง”
“พ่อแม่หลายคนมักลืมว่า ครั้งหนึ่งฉันก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน เคยใจร้อน เคยดื้อ ซึ่งเราในตอนนี้ต่างกับลูกในตอนนี้หลายสิบปี เราต้องย้อนกลับไปดูเราตอนนู้น เราอาจจะเกเรกว่าลูกก็ได้ ตอนนี้ลูกก็เป็นเหมือนเราตอนนั้นแหละ แค่ต้องคอยดูไม่ให้เขาตกเหวตายเท่านั้นเอง อาจจะมีไปซ้ายบ้างขวาบ้าง แต่อย่าให้ตกเหวเป็นพอ พยายามประคองกลับมาให้ได้”
ความชอบของลูกไม่ใช่เรื่องไร้สาระ
“จริงๆ ที่เราทำเพจนี้ก็เพราะว่าลูกตามไอดอลนะ 4 ปีที่แล้วลูกทำเพจก่อนตามนักร้องวง TWICE แล้วมันไม่เวิร์ก เราก็เลยอยากทำให้ลูกเห็นว่าการทำเพจ ถ้าหนูตั้งใจทำมันจริงๆ แล้วหนูไม่หยุดนะ หนูก็สามารถทำให้มันโตได้ ก็บอกลูก เดี๋ยวป๊าทำให้ดูนะ ลูกก็หัวเราะ ป๊าทำได้เหรอ ไม่มีใครรู้จัก ใครจะตาม ใครจะมาอ่าน เราก็บอกเดี๋ยวป๊าทำให้ดู ทำแบบนี้แหละ ทำจากสิ่งที่ป๊ามีนี่แหละ วิธีการเลี้ยงลูก เดี๋ยวไปอ่านหนังสือเพิ่ม ไปศึกษาเพิ่ม เพราะตอนนั้นก็เริ่มเข้าใจวิธีการเลี้ยงลูกแล้ว ก็เริ่มอยากจะถ่ายทอดบ้าง”
จนในวันที่ลูกของเขาเห็นว่า เพจที่พ่อทำสามารถเติบโตได้จริง จากผู้ติดตามไม่กี่สิบคนสู่ผู้ติดตามหลักแสน ลูกจึงกลับมาทำอีกครั้งแต่บนแพลตฟอร์ตทวิตเตอร์
“เขาก็ทำบ้านเบสของเขา สนับสนุนศิลปิน แรกๆ ที่เขาทำ ถามว่าห่วงไหม ก็ห่วง เพราะตอนแรกที่ลูกทำเหมือนเป็นทีมงานของเขา มันก็มีต้องคุยกับคนในทีมที่เป็นผู้ชาย ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใครไง ดีไม่ดี จะมาหลอกลูกเราไหม แล้วลูกทำอันนี้มันต้องคอยติดตามมันจะเสียการเรียนไหม แรกๆ ก็กังวลสองส่วนนี้นะ แต่พอนั่งดูลูกทำไปก็มาคิดได้ว่า เอ๊ะ…การทำพวกนี้มันก็ดีนะ มันเหมือนเป็นการเรียนรูัการทำงานไปในตัว”
อย่างแรกที่เป็นพ่อมองเห็นคือภาษา เพราะศิลปินเป็นคนต่างชาติ ต้องมีการแปลภาษา เช่น จีน อังกฤษ สองได้ฝึกการทำงานเป็นทีม การวางแผนกัน และสามได้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากต้องคิดคอนเทนท์ และทำภาพกราฟิกประกอบ
“อย่างหนังสือที่เขียนภาพประกอบก็เป็นฝีมือลูก เขาไปเรียนรู้จากในยูทูบเอง สุดท้ายเราก็เห็นข้อดีมากกว่าข้อเสีย ข้อเสียที่มองเห็นก็มีเรื่องเดียวคือ มันกินเวลาลูกเรา แทนที่จะได้มานั่งคุยกันกับเรา ก็มานั่งจดจ่อกับอันนี้ของเขา แต่ไม่เป็นไรเรายังสามารถใช้เวลาร่วมกันได้”
เป็นพ่อแม่ที่ใจดี แต่ไม่ตามใจ
ในฐานะที่เป็นครอบครัวที่ลองผิดลองถูกกับการเลี้ยงลูกมาหลายวิธี คุณโต้งแนะนำทริคเล็กๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หรือคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังหาวิธีการเลี้ยงลูก เพื่อที่จะได้เอาไปปรับใช้กัน
“จริงๆ แล้วทุกอย่างเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ ถ้าความสัมพันธ์ของเรากับลูกดีนะ เราพูดคำเดียวลูกฟังเลย ไม่ต้องพูดถึงสิบคำ ไม่ต้องขึ้นเสียงด้วย เหมือนเรากับลูกนะ อยากให้ลูกทำอะไร เราก็เดินไปหาเขา หยุดได้แล้วลูก ลูกก็หยุด อะมาทำนี่ ลูกก็มา ไม่ต้องทำน้ำเสียงดุ พูดดีๆ ยิ้มแย้ม หรือถ้าลูกไม่มาเราก็ฟังเหตุผลของเขาว่าเขามาไม่ได้เพราะอะไร”
“เคยฟังคุณหมอคนนึงเขาบอกว่า การที่พ่อแม่ขึ้นเสียงกับลูกหรือว่าดุลูก นั่นไม่ใช่การเรียกลูกครั้งที่หนึ่ง แต่เรียกลูกครั้งที่ห้า ครั้งที่สิบแล้วลูกไม่มา จนสุดท้ายแม่ขึ้นเสียงลูกถึงมาแล้วลูกก็จะติดเป็นนิสัยว่า เสียงเลเวลนี้ไม่มีอะไรหรอก ไม่ต้องฟังก็ได้ เลเวลสองก็ยังโอเค แต่พอเลเวลสามเลเวลสี่นี่โดนแน่เลยถึงจะไป ดังนั้นพ่อแม่ควรบอกความต้องการให้ชัดเจนตั้งแต่เสียงเลเวลแรก ไม่ควรรอให้ไปถึงเลเวลที่สอง สาม หรือสี่ จนถึงจุดที่พร้อมระเบิดอารมณ์แล้วเราค่อยไปจัดการลูกอันนั้นก็ไปด้วยอารมณ์โกรธ”
สุดท้ายนี้ ทุกคนเป็นพ่อแม่คนได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นพ่อแม่ที่เข้าใจลูกได้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้พ่อแม่ลองลด ละ เลิก พฤติกรรมที่จะส่งผลเสียต่อตัวลูกมากกกว่าผลดีเหล่านี้ดู
หนึ่ง – เปรียบเทียบลูก อย่าทำ! ยิ่งเปรียบเทียบลูกกับพี่น้องยิ่งไม่ควรทำ จะทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่า
สอง – ไม่ฟังเหตุผลลูก อย่าทำ! เพราะจะทำให้เขาจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าข้าง ต่อไปจะไม่มาคุยด้วยอีก
สาม – เป็นพ่อแม่ที่ขี้บ่น ชอบเอาเรื่องเก่าๆ มาพูด เช่น เคยทำแบบนี้เดี๋ยวก็ทำแบบนั้นอีก ขุดคุ้ยอดีตที่ผิดพลาดของเขามาพูด เหมือนเป็นการซ้ำเติม
สี่ – เป็นพ่อแม่ที่ขี้หงุดหงิดตลอดเวลา ไม่มีใครชอบคนที่ขี้หงุดหงิดหรือขี้บ่นอยู่แล้ว จริงๆ เราก็ไม่ชอบ
หากหยุด! พฤติกรรมเหล่านี้ได้ ความสัมพันธ์กับลูกจะค่อยๆ ดีขึ้น มาเป็นพ่อแม่ที่ใจดีแต่ไม่ตามใจกันดีกว่า