- การศึกษาคือใบเบิกทางของความสำเร็จ และเป็นใบเบิกทางที่ใหญ่พอสมควรสำหรับอนาคตเด็ก ทั้งเรื่องของวุฒิการศึกษา ความรู้ ทักษะต่างๆ ซึ่งต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีที่มาและพื้นฐานที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเด็กแบบรายบุคคล
- ปัญหาการเงิน ปัญหาครอบครัว ทำให้เด็กกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเรียนในระบบปกติได้ กับเด็กอีกกลุ่มที่ไม่อยากเรียนในระบบ เนื่องจากหลักสูตรไม่ตอบโจทย์ เบื่อหน่ายการเรียนในห้องเรียน อยากลงมือทำงานจริงมากกว่า ‘ห้องเรียนระบบสอง’ จึงเข้ามาแก้ปัญหาเด็กที่หลุด-เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาทั้งสองกลุ่มนี้
- ห้องเรียนระบบสองนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างในระบบกับตามอัธยาศัย คือ เด็กเลือกที่จะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ โดยยังอยู่ในระบบของการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น
“ผมอาจจะเรียนไม่เก่ง แต่การทำงานเก่งครับ …ผมชอบลงมือ มากกว่ามานั่งเขียน คือชอบลงมือปฏิบัติมากกว่านั่งเรียนทฤษฎี”
เอิร์ท-ธนภัทร ธรรมแสง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากห้องเรียนระบบสอง โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย บอกกับ The Potential เมื่อถามถึงการเรียนรู้ที่คิดว่าตอบโจทย์ชีวิตตัวเองที่สุด ณ ตอนนี้
เนื่องด้วยข้อจำกัดในชีวิตทำให้เอิร์ทไม่สามารถเลือกเรียนในระบบปกติ หรือที่โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ เรียกว่า ‘ห้องเรียนระบบหนึ่ง’ ได้ เช่นเดียวกับเด็กส่วนใหญ่ในห้องเรียนระบบสองที่ครอบครัวมักมีปัญหาทางการเงิน จำเป็นต้องออกมาหางานทำ เพื่อเลี้ยงปากท้อง จึงทำให้มาเรียนบ้าง ขาดเรียนบ้าง จนในที่สุดก็หลุดจากระบบการศึกษา และอีกส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของตัวนักเรียนเองที่ไม่ชอบการเรียนในห้องเรียน และค่อนข้างเรียนรู้ช้า จึงขาดเรียนบ่อย ปัญหาที่ตามมาคือ ผลการเรียนต่ำ ติด 0 ร มส. เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกเช่นกัน
ทำอย่างไรให้เด็กกลุ่มนี้ได้มีโอกาสทางการศึกษาไปพร้อมๆ กับสร้างรายได้ และสร้างมายด์เซ็ตให้เด็กเห็นความสำคัญของการศึกษา เห็นคุณค่าของโอกาสทางการศึกษา เรียนรู้อย่างมีความสุข นี่จึงเป็นโจทย์หลักที่โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ พยายามหาวิธีการแก้ปัญหาเด็กที่เสี่ยงหลุด-หลุดออกจากระบบการศึกษาได้กลับเข้ามาเรียนจนจบตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นใบเบิกทางสำหรับการทำงานในอนาคต จึงเกิดเป็น ‘ห้องเรียนระบบสอง’ ขึ้น
ห้องเรียนระบบสอง คืออะไร?
“เด็กควรมีสิทธิได้เลือก และมีโอกาสในชีวิต ได้เรียนได้ทำงาน เป็นการศึกษาแบบยืดหยุ่น”
ผอ. พิเศษ ถาแหล่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม กล่าวในเวที ‘กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ ออกแบบเส้นทางการสร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นไร้รอยต่อ’ เพื่อสร้างการรับรู้และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาในพื้นที่ตำบลห้วยซ้อ จังหวัดเชียงราย
“ภาพจำของการจัดการศึกษาในระบบ คือ เด็กนักเรียนจะต้องมาโรงเรียน 8 โมง และเลิกเรียน 4 โมงเย็น มีการนั่งเรียนในห้อง มีการสอบที่ครูเป็นคนออกข้อสอบ แล้วก็บอกว่าเด็กได้เกรดอะไร ได้เกรด 4 คือนักเรียนที่เก่งมาก เกรด 0 คือเด็กคนนี้ไม่ค่อยเก่งนัก หรือไม่เก่งเลย ก็จะเป็นภาพในระบบการศึกษาที่ห้วยซ้อวัดความสามารถของเด็ก จนได้มาเจอกับสถานการณ์โควิด เนื่องจากตอนนั้นเราก็ไม่สามารถให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนได้ เด็กจึงเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบง่ายขึ้น และเป็นความตั้งใจที่ผมเองมองว่า สำหรับเด็กที่เขาไม่สามารถเรียนในระบบได้ เนื่องจากปัญหาทางการเงิน ปัญหาครอบครัว เขาจะยังคงได้เรียนอยู่
สถานการณ์โควิดทำให้รู้ว่าห้วยซ้อมีเด็กกลุ่มนี้เกิดขึ้น ด้วยเจตนาตั้งต้นไว้แล้วว่าให้เขาได้เรียนจบม.3 เพื่อเป็นใบเบิกทางในการทำอาชีพ ครูก็พยายามที่จะหาแนวทาง พยายามโน้มน้าวเด็กว่าเธอต้องเรียนให้จบนะ เราเกือบจะถึงเส้นชัยแล้ว เพราะฉะนั้นต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อแลกกับสิ่งที่เรียกว่าวุฒิการศึกษา”
จากแนวคิดดังกล่าวจึงเกิดเป็น ‘ห้องเรียนระบบสอง’ นวัตกรรมการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น ของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ โดยทางโครงการก่อการครู โครงการห้องเรียนข้ามขอบ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาเป็นลมใต้ปีกคอยซัพพอร์ตให้ห้องเรียนระบบสองมีคุณค่าและเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น
“เด็กควรจะมีสิทธิได้เลือกและมีโอกาสในชีวิต มีพื้นที่ในการเรียนรู้ควบคู่กับการดำเนินชีวิตของเขาด้วย ทำให้การศึกษายืดหยุ่นขึ้น
ผมอยากให้ภาพจำนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ของเรา อยากให้ครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน เห็นภาพการศึกษาเหล่านี้ควบคู่กันไป เปลี่ยนภาพจำเดิมเพิ่มภาพจำใหม่ เรื่องของการจัดการศึกษาให้ลูกหลานเรา สร้างรากฐานแก่ชีวิตของเด็ก ครอบครัว ชุมชน”
ผอ.พิเศษ กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาคือใบเบิกทางของความสำเร็จ และเป็นใบเบิกทางที่ใหญ่พอสมควรสำหรับอนาคตเด็ก ทั้งเรื่องของวุฒิการศึกษา ทั้งเรื่องของความรู้ ทักษะต่างๆ ซึ่งต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีที่มาและพื้นฐานที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้วิธีการที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเด็กแบบรายบุคคล
“บางคนมีข้อจำกัดของชีวิต ไม่ใช่เขาไม่อยากเรียน แต่สิ่งที่พวกเราผู้ใหญ่มองบนพื้นฐานพฤติกรรม การแสดงออกหลายๆ อย่าง มองกันเพียงว่าใต้ลึกลงไปมีเงื่อนงำและความจำเป็นที่เขาไม่สามารถบอกได้อีกเยอะ”
ออกแบบการเรียนรู้ บูรณาการผ่าน 7 On
เพราะไม่อยากทิ้งเด็กคนไหนไว้กลางทางสักคนเดียว ผอ.และครู โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงพยายามจับมือเด็กๆ กลุ่มที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาให้เดินไปพร้อมๆ กัน บนเส้นทางที่เด็กมีสิทธิเลือกเอง
ครูกิ๊ก-พรรณภา ชิมโพธิ์ครัง ครูชำนาญการพิเศษ สอนวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ซึ่งเป็นทีมหลักที่คอยประสานและทำงานในห้องเรียนระบบสอง กล่าวว่า ในการจัดการเรียนการสอนหลักๆ มีด้วยกัน 2 ระบบ คือการศึกษาในระบบและการศึกษาแบบตามอัธยาศัย หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ‘กศน.’ ซึ่งห้องเรียนระบบสองนั้นเป็นการผสมผสานระหว่างในระบบกับตามอัธยาศัย คือ เด็กเลือกที่จะเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้ โดยยังอยู่ในระบบของการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำหรับการออกแบบการเรียนรู้และประเมินผล ครูกิ๊กอธิบายว่า ปัจจุบันอิงตามการจัดการเรียนรู้ที่ทำกันในช่วงโควิด โดยจะมีทั้งหมด 7 On ด้วยกัน คือ On-site, Online, On Home, On demand, On hand และ On Community
เริ่มจาก On-site นัดพบปะนักเรียนเทอมละ 3 ครั้ง เพื่อทำกิจกรรม โดยกิจกรรมจะเป็นลักษณะบูรณาการ ครูจะกำหนดหัวข้อว่า ต้องการให้เด็กเรียนรู้เรื่องอะไร และอาจพาไปเรียนรู้นอกสถานที่ เช่น ศูนย์ฝึกอาชีพ เป็นต้น
“ในส่วนของ Online เราจะจัดให้เรียนทุกๆ เย็นวันพุธ เวลา 18.00 น.สำหรับเด็กๆ ที่อยากเรียนกับครูโดยการนั่งเรียนอยู่ที่บ้าน ส่วน On Home นั้นเราจะมีบันทึกประจำวันให้กับเด็กๆ เพราะเขาต้องอยู่บ้านและทำงานตามอาชีพของเขา เราก็จะให้เขาบันทึกร่องรอยประสบการณ์ของเขาว่าทำอะไร ได้รับประสบการณ์อะไรบ้างและพบปัญหาอะไร รวมถึงให้เก็บร่องรอยด้วยการบันทึกภาพถ่ายและวิดีโอ ซึ่งพอท้ายเทอมเขาจะต้องเอาสิ่งเหล่านี้มานำเสนอกับครู
ส่วน On demand เราจะมีการอัปโหลดคลิปวิดีโอการเรียนการสอนทุกวิชาของครูทุกคนไว้ที่หน้าเว็บไซต์ของโรงเรียน นักเรียนก็จะต้องเข้าไปเรียนตามความสนใจของตัวเอง โดยนักเรียนจำเป็นต้องเรียนให้ครบทุกวิชา และ On Hand คือเราจะให้งานเด็กไปทำ
สุดท้าย On Community คือเด็กจะต้องมีส่วนร่วมในชุมชน ถ้าในชุมชนมีงานต่างๆ เช่น งานวัด งานศพ งานประชุมประจำเดือน นักเรียนก็ต้องไปเข้าร่วมมาและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน เพื่อที่ในปลายภาคเรียนครูจะสามารถประเมินผลจากงานและร่องรอยต่างๆ ที่นักเรียนส่งมาได้ ซึ่งตอนประเมินผลก็มีทั้งให้เด็กทำเป็นคลิปวิดีโอมาส่ง และสัมภาษณ์เขา เพราะเด็กบางคนอาจไม่ถนัดการทำวิดีโอ จึงพยายามใช้วิธีการที่หลากหลาย”
ผลลัพธ์ที่มากกว่าเกรดเฉลี่ย คือทักษะที่ติดตัวเด็ก
เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงของเด็กหลังจากที่เข้ามาเรียนในห้องเรียนระบบสองของโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ครูกิ๊กมองว่าเด็กๆ มีทักษะชีวิตและความรับผิดชอบที่มากขึ้น มีทักษะในการแก้ปัญหา
“เราจะเห็นว่าเด็กระบบสองบางคนเขาโตขึ้น มีทักษะชีวิต รับผิดชอบมากขึ้น และโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จากแต่ก่อนเขาอาจจะไม่มีตัวตนในห้องเรียน เอาแต่เล่นเกมหรือนอน พอเขามาอยู่ระบบสองเขาก็โตขึ้นเยอะจากประสบการณ์การไปทำงานหรืออยู่ข้างนอก ทำให้ทักษะชีวิต ความคิดเปลี่ยนไปเยอะ”
แม้การเรียนรู้ลักษะนี้จะยืดหยุ่นและให้อิสระเด็ก แต่ถึงอย่างนั้นครูกิ๊กมองว่า ห้องเรียนระบบสองนี้ยังมีข้อเสียที่เห็นได้ชัดอยู่ นั่นคือเรื่องของการวัดประเมินตามตัวชี้วัด
“ข้อเสียครูมองว่าการจัดการศึกษาก็อาจจะไม่เต็มที่ตามตัวชี้วัด ซึ่งก็เป็นความท้าทายที่หลายๆ ภาคส่วนต้องช่วยกันหาแนวทางว่าระบบสองจะมีคุณภาพได้อย่างไรหากไม่ได้เรียนหรืออยู่ในห้องเรียน แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งคือเด็กเขาก็จะมีทักษะจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในขณะที่เด็กระบบปกติต้องอาศัยครูคอยป้อนให้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันดีไหม มันก็ต้องมีการพัฒนาต่อไป เราต้องหาวิธีการที่ทำให้เด็กได้รับความรู้มากที่สุด
ตอนนี้เราทำงานร่วมกับโครงการห้องเรียนข้ามขอบ ทำให้เราได้รับความรู้และกระบวนการในการวัดและประเมินผลมากขึ้น สิ่งที่เป็นความท้าทายและสิ่งที่จะทำต่อไปคือการพัฒนาการวัดและประเมินผล และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งก็จะต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเราทำแบบเดิมเด็กก็จะเบื่อ เราเลยต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ”
นอกจากนี้ ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ครูเองก็ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปพร้อมกับเด็กด้วย
“รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปเยอะค่ะ คือแต่ก่อนเราจะยึดเกณฑ์เป๊ะๆ ว่าเท่านี้ๆ ถึงผ่าน การประเมินการวัดผลของเราจะเป็นเกณฑ์เดียว เครื่องมือตัวเดียว แต่พอมาคลุกคลีกับห้องเรียนระบบสอง เราเห็นสภาพเด็กๆ เราก็มีมุมมองที่เปลี่ยนไปเพราะเด็กมีความหลากหลาย จึงต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น กับเด็กระบบหนึ่งเอง เราก็ได้เรียนรู้จากตรงนี้และนำไปปรับใช้ คือเรามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ฟิกซ์กับแค่เครื่องมือเดียว แต่ใช้หลายๆ เครื่องมือมากขึ้น เพราะเด็กในห้องก็เหมือนเด็กในระบบสองค่ะ คือเด็กมีความแตกต่างหลากหลาย จะใช้เกณฑ์เดียวไม่ได้”
“เราอาจจะไม่ต้องใช้โมเดลห้องเรียนระบบสองก็ได้นะคะ เพราะแต่ละโรงเรียนอาจจะมีตัวแปรที่ต่างกัน แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือเราจะทำยังไงให้นักเรียนไม่หลุดออกจากระบบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละโรงเรียน และสามารถออกแบบได้เอง” ครูกิ๊ก ทิ้งท้าย