- อบขนมปัง ยิงธนู หินสี เดินจักรวาล ปลูกผัก และเลี้ยงไก่ ห้าห้องเรียนที่เจ้าของบ้านเรียนทางช้างเผือกไม่อยากเรียกว่าวิชา
- “ถ้าเราเรียกว่าวิชา คนก็ไม่อยากเรียนแล้ว” ‘โอ๊ค’ คฑา มหากายี พ่อบ้านแห่งบ้านเรียนทางช้างเผือก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ บอกว่าอย่างนั้น
- ห้องเรียนเหล่านี้สอนให้รู้ว่า พ่อแม่ต่างหากที่เรียนและรู้จากลูก
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
วิชาต่างๆ ของบ้านเรียนทางช้างเผือก (อ่านบทความ บ้านเรียนทางช้างเผือก: ทำให้ทุกวิชามีความรู้สึก บ้านหรือโรงเรียน ที่ไหนก็เรียนรู้) ถูกจัดวางไว้อย่างหลวมๆ อยู่ใน 3 หมวดนี้ คือ ตัวเอง (Individual) สังคม (Social) และ โลก (Earth) โดยมี ‘ความรู้สึก’ เป็นสารตั้งต้น
ส่วนเป้าหมายหรือปลายทางว่าจะได้อะไร ผ่านคำถามยอดฮิตว่า “เรียนวิชานี้แล้วได้อะไรบ้าง” ทั้งพ่อ โอ๊ค คฑา และ แม่ โรส-วริสรา มหากายี เคยตั้งไว้เหมือนกันแต่ก็พลาดเป้าไปเกือบหมด เพราะสิ่งที่ ลูกชาย-ช้างน้อย วัย 11 และ ลิปตา ลูกสาววัย 8 ขวบ เรียนรู้และฟีดแบคกลับมาให้พ่อแม่ฟัง มันเซอร์ไพรส์มากกว่านั้น
ที่สำคัญ อบขนมปัง ยิงธนู หินสี เดินจักรวาล ปลูกผัก และเลี้ยงไก่ – วิชา…ไม่สิ ห้องเรียนเหล่านี้สอนให้รู้ว่า พ่อแม่ต่างหากที่เรียนและรู้จากลูก
“แค่ไม่เรียกมันว่าวิชา มันก็น่าเรียนแล้ว” เห็นด้วยไหม?
‘อบขนมปัง’ สอนด้วยเซนส์ ไม่ใช่สูตร
ครูผู้ก่อตั้งหลักสูตรวิชาขนมปังก็คือแม่ คุณโรส วริสรา ด้วยแนวคิดสำคัญคือ เพราะเป็นอาชีพของที่บ้าน
“แม่ทำเพื่อหารายได้เข้าบ้าน จะได้ทำบ้านเรียนได้สะดวกขึ้น ถ้าเราไม่เอามาก็เป็นส่วนหนึ่งของบ้านเรียน แม่ก็ถูกแยกออกไปเลย และไม่มีเวลาสอนลูกได้เลย”
สิ่งที่ได้ ไม่ใช่แค่ขนมปัง แต่ระหว่างทำยังได้เห็นตัวเองในมิติต่างๆ เพราะขนมปังของคุณโรส เน้นใช้เซนส์ ไม่ใช้สูตร
ส่วนผสมทั่วไป ทุกอย่างมาเป็นถ้วย มาเป็นกรัม เตาอบก็เป็นอุณหภูมิ ควบคุมด้วยเวลา ทุกอย่าง วางไว้หมดแล้ว เราแค่ไปทำตาม
“แต่จริงๆ แล้วการทำขนมปังมันไม่ใช่แค่นั้น แป้งที่บอกว่า 350 กรัม แป้งแต่ละวัน แต่ละพื้นที่ แต่ละยี่ห้อ ความชื้นไม่เท่ากัน แล้วขนมปังมันเป็นธรรมชาติ มันก็ไม่ประนีประนอมกับความ error ของมนุษย์ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องใช้เซนส์ อย่างน้ำ 200 มิลลิลิตร ก็เตรียมไว้ตามสูตร แต่ไม่ได้บอกว่าต้องใช้หมด ต้องใส่ไปทำไป แล้วก็นวด นิ่มหรือยังก็ใช้มือรู้สึก แห้งก็เติม เปียกก็หยุด สูตรทุกอย่างเป็นไกด์ไลน์ เวลาอบก็ไม่เกี่ยวกับเวลา เพราะเตาอบก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่วัดว่าสุกแล้วคือกลิ่น ต้องใช้จมูก มือ ตา ใช้เซนส์หมดเลย อันนี้เป็นความรู้สึกของเขา เขาอะรู้ แต่เรากำลังทำให้เขาไม่รู้ ตรงนี้อันตรายมาก”
ถัดมา คือ วิชาคณิตศาสตร์ผ่านการคำนวณต้นทุน กำไร
“แม่ทำ sour dough ต้นทุนแพงแต่เราขายถูกเพื่อให้เป็นห้องเรียนลูก ลิปตา (ลูกสาว) เล็กๆ ยังบวกเลขไม่เป็น ราคาจึงไม่มีตัวเลขยากเลย 5, 10, 15, 20 เพื่อให้รู้สึกว่าบวกง่าย ลิปตาคุยเก่ง พี่น้อย (ช้างน้อย-พี่ชาย) เป็นคนทอนเงิน”
ขายได้เท่าไหร่ พ่อแม่ลูกก็ต้องมาประเมินร่วมกันว่า ใครควรได้เท่าไหร่ เช่น พ่อช่วยตั้งโต๊ะ แม่ออกค่าวัตถุดิบ ส่วนลูกๆ ตั้งใจขายแค่ไหน
“เคาะกันออกมาเป็นคะแนน ประเมินออกมาเป็นเงิน ซึ่งเราก็ให้เขาตัดสินนะว่าควรได้เท่าไหร่ ใครควรได้ตังค์เยอะสุด”
ย้อนกลับไปช่วงขาย พ่อแม่บ้านนี้ปล่อยให้ลูกไปตั้งโต๊ะขายกันเอง แน่นอน แรกๆ ย่อมเขินอายเป็นธรรมดา แต่ครั้งต่อมาเขาเริ่มเรียนรู้ว่าการอาย = ขายไม่ได้
“การเรียนรู้กระบวนการทำ ทำให้เห็นตัวเอง การเอาไปขาย ก็เท่ากับลดความอาย เกิดปฏิสัมพันธ์กับคนนอก เขาต้องลดตัวตน ลดทุกอย่าง เราทำบ้านเรียน เราอยู่เดี่ยวๆ ไม่รู้จะคุยกับใคร แต่พอพาไปตลาด เขาสื่อสารได้กับคนทุกเพศวัย เพื่อนของเขาไม่ใช่วัยเดียวกัน ใครมาเขาอยากเล่นด้วยหมดเพราะโหยหา อยากมีเพื่อนทุกที่”
เมื่อทำๆ ขายๆ จนเอาอยู่ สิ่งที่ตามมาคือความเบื่อ ซึ่งแม่เห็นเพราะคอยสังเกตลูกอยู่ทุกช่วง เป็นความท้าทายต่อมาว่า วิชาขนมปังที่ช่วยฝึกเด็กๆ ให้อดทน รู้จักเวลา จะไปต่ออย่างไร แม่จึงลองเปลี่ยนให้เด็กๆ เป็นผู้สอนบ้าง วิชาน่าเบื่อก็สนุกขึ้นมาทันที
“เลยเปิดคลาสเด็กขึ้น แกล้งบอก มาสอนไหม ได้ตังค์นะ (หัวเราะ) เขาอยากได้เพื่อน เลยตกลง
“แต่จะสอนได้ คุณต้องเก่งก่อน เขาตั้งใจมากเลยเพราะรู้ว่าต้องไปถ่ายทอด พอตั้งใจ เขาได้กับตัวเองก่อน ไม่เข้าใจถามก่อน รู้จักการแก้ปัญหาก่อน เขาจะเห็น process หมดแล้ว เราให้ formula (สูตร) ไป เขาจะแก้ให้เลยว่ามันยากไป เช่น ลดน้ำลงเหอะ เด็กทำไม่ไหว วาดรูปประกอบเอง ทำรูปเล่มเอง โตขึ้นก็หัดใช้คอมพิวเตอร์เอง ก็สนุกขึ้น”
ไม่ใช่แค่คนสอนที่สนุก คนเรียนก็สนุก เพราะเรียนจากเพื่อนๆ พี่ๆ ที่พูดภาษาเดียวกัน
“เด็กสอนเด็ก เด็กที่มาเรียนก็จะฟัง ไม่น่าเบื่อเหมือนผู้ใหญ่พูด บางทีเราชอบใช้ศัพท์ยาก หรือไม่ก็เสียงสองไปเลย เด็กไม่ชอบ เด็กจะพูดตรงๆ ไปเลย เขาจะสื่อสารกันง่าย เราแทบไม่ต้องดูอะไรเลย แค่เดินรอบๆ ช่วยดูเตา ที่เหลือเขาจัดการเอง”
หลังจากสอนเสร็จทุกคืน ไม่ว่าดึกหรือง่วงแค่ไหน พ่อแม่ลูกต้องประชุม ประเมิน เพื่อถอดบทเรียน
“วันรุ่งขึ้นเราก็แก้ไขในสิ่งที่เขา (ลูก) พูด เขาจะรู้ว่าการประชุมสำคัญ อะไรก่อน หลัง ช่วงเบรกทำอะไรดี ช้างน้อยช่วยดูน้องมากขึ้น เขาจะอยู่แต่โต๊ะเด็ก เป็นโมเมนต์ที่เราไม่เคยเห็น ลูกเราดูแลเป็น ยอมเป็น ไม่แย่งซีน ส่วนลิปตา ไม่ค่อยเปลี่ยนเยอะมาก แต่อดทนมากขึ้น อยู่ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ช่วยเก็บของ”
’ยิงธนู’ ครูคือลูกที่ยิงพลาด
ทำไมต้องเป็นกีฬายิงธนู? วิชานี้เริ่มจากความอยากรู้ของพ่อ
“เราไปอ่านสัมภาษณ์แชมป์โลกยิงธนูหญิงชาวไต้หวัน คำถามว่าเคล็ดลับในการยิงคืออะไร เขาตอบว่า ฉันน่ะไม่ได้ยิงเลย มันไปของมันเอง เราอ่านแค่ประโยคนี้ แบบ มันคืออะไร เป็นแชมป์โลกทำไมพูดแบบนี้ ไม่เข้าหูเลย”
จุดนี้ทำให้พ่อเริ่มไปเรียนยิงธนู การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นหลังจากนั้น
“มันมีบทเรียนซ่อนอยู่ในนั้นหมด ตั้งแต่ท่ายิง self awareness รู้จักตัวเอง รู้จักอุปกรณ์ รู้จักสภาพแวดล้อม ผลของมันก็รูปธรรมมาก ยิงเข้าเห็นเลย ยิงออกก็เห็นเลย ไม่คลุมเครือ ลูกที่ออกมันบอกเราหมดเลยว่าเราควรจะปรับตัวเองอย่างไร มันไม่พูดสักคำว่าให้เราแก้ยังไง ยิงสูง ยิงต่ำ พอมันไม่ประนีประนอมแบบนี้ มันเป็นครูที่ดี เพราะมันแสดงความจริงให้เราเห็นว่าเราเป็นแบบนี้ self awareness เรามี แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะได้ดั่งใจ และทุกอย่างเริ่มที่ตัวเอง
เพราะธนูที่ใช้เป็นแบบ traditional ไม่มีอะไรถ่วง หรือช่วย ใช้ตัวเองเล็งและยิง
“ลูกที่ออก มันเอนไปทางซ้าย มันบอกเราโดยธรรมชาติเลยนะว่าเราต้องปรับขวา ยิงเข้าไม่เข้าก็เพราะฉันไม่ใช่เพราะคันธนู (หัวเราะ) โทษใครไม่ได้”
ดังนั้นครูที่สำคัญของวิชานี้ คือลูกที่ฟิ้วววว ออกนอกเป้า
“ลูกที่เข้า มันเฮอย่างเดียว ลูกที่ออกมันเป็นครู มันจึงเต็มไปด้วยความรู้สึก เศร้า ดีใจ เสียใจ พ่อแม่ก็ต้องหยิบให้ทัน คนที่ทำงานการศึกษาก็ต้องหยิบให้ทันว่าจะช่วยเขาได้อย่างไรจากความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้”
เมื่อออกจากบ้านไปแข่งกับคนแปลกหน้ายังสนามต่างๆ วิชาที่ตามมาติดๆ คือ วินัย ผ่านความรู้สึกของผู้แพ้และผู้ชนะ
“อันดับหนึ่งเลยคือการรู้จักตัวเอง ทำอะไรได้ทำอะไรไม่ได้ ทั้งหมดมาจากวินัยข้างในของเขา วินัยไม่ได้แปลว่ากฎ แต่แปลว่าเครื่องมือสู่ความสำเร็จ ถ้าเขาอยากทำท่านั้นก็ต้องมีวินัย ต้องฝึก โดยไม่ต้องบอก นี่สำคัญ เพราะพ่อแม่ไม่ใช่นักกีฬา ไม่มีทางที่เราจะสอนเขาได้ว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นของชีวิต เขาจะมีเจตจำนงสูงมาก
ตามมาด้วย empathy การเป็นผู้ชนะที่เข้าใจผู้แพ้ และการที่แชมป์กอดคอที่สามแล้วขึ้นไปยืนบนแท่นเดียวกันมันเป็นไปได้เสมอ
“ชนะคือการชื่นชมมันมีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเราก็ต้องชัดเจนด้วยว่าเราต้องคิดถึงคนที่ได้ลำดับอื่นๆ เราถามลูกว่าคนที่ได้ที่สองเขารู้สึกยังไง ทั้งที่เขาก็ฝึกมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่เขาไม่ได้ตรงนี้เขาจะรู้สึกยังไง ไม่ใช่อันดับที่หนึ่งที่ยืนโดดเดี่ยวอยู่คนเดียว ประเด็นสำคัญคือเห็นคนอื่นไหม เราเข้าใจในมาตรฐานของกีฬา แต่เรื่องมาตรฐานของจิตใจมันไม่มีกฎมาควบคุม เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปเคารพกฎแบบนั้น เรามีสิทธิที่จะจูงมือเพื่อนที่อยู่ที่สองที่สามมายืนด้วยกันได้”
ถ้าแพ้ พ่อโอ๊คบอกว่าสอนลูกง่ายกว่า เพราะพ่อก็แพ้ให้เห็นเป็นประจำ
“บางครั้งเราก็ไม่ได้อยากไปแข่งธนู แต่ไปแข่งเพื่อให้ลูกเห็นว่าแพ้ไม่เป็นไร โอเค แฮปปี้ นี่คือสิ่งที่ท้าทายเรา ที่หนึ่งก็ดีนะ เก่งมาก แต่เรายังไปไม่ถึง ต้องพยายามต่อไป ซึ่งการแพ้ของพ่อ แต่ละครั้งมันมีพัฒนาการ มันมีบันไดแต่ละขั้นให้ขึ้น ความรู้สึกกับพ่อแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เราต้องสร้างความคิดที่ดีว่า แพ้ไม่ใช่ปัญหา แพ้เป็นครู เหมือนลูกธนูที่ออก ชนะมีแต่เฮ ไม่รู้หรอกชนะแล้วไงต่อ แต่แพ้นี่รู้ว่าต้องไปยังไงต่อ”
’หินสี‘ ธรณีวิทยายาวไปถึงประวัติศาสตร์สงครามโลก
เริ่มจากการชวนช้างน้อยและลิปตาไปสำรวจธรรมชาติรอบๆ เชียงดาว พ่อชวนลูกเก็บหินในลำธารเอามาบดเป็นสี ก่อนจะพบว่า ‘สีของเชียงดาว’ มีเยอะมาก
“สีของหินพวกนี้มันมาจากไหน นี่เป็นเรื่องของการสังเกตและกิจกรรมที่อยู่ในลำน้ำ และการไปค้นหาว่าสีพวกนี้มันมาจากอะไร อันนี้เป็นวิชาธรณีวิทยา จากสีของหินที่เก็บมา เราพบว่าประเทศไทยสีโทนร้อนเยอะมากเลย และเราค้นพบอีกว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยธาตุเหล็ก เพราะให้สีสนิม แดง เหลือง ส้ม ส่วนสีอื่นๆ อย่าง เขียว เทา เกิดขึ้นมาเพราะว่าส่วนที่ oxidation กับอากาศ มันต่างกัน ซึ่งเราก็ไม่เคยรู้มาก่อน เราเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก”
หินสียังพาไปไกลถึงวิชาประวัติศาสตร์สงครามโลก และบูชิโดสปิริต
“จากธาตุเหล็กที่เราเริ่มต้น จนกระทั่งไปเห็นลูกระเบิด พลูโตเนียม ลูกก็ถามว่า ทำไมธาตุนี้เป็นรูประเบิด เราก็เล่าเรื่องระเบิดปรมาณูให้เขาฟัง ว่ามันมาจากธาตุพวกนี้ที่หายาก แล้วก็เล่าว่ามันถูกใช้งานครั้งแรกที่ไหน แล้วก็เล่าว่าญี่ปุ่นโดนอะไร ทำไมถึงโดน แล้วเขาทำอะไรต่อ สุดท้ายเราไปจบที่เครื่องบินซีโร่ซึ่งขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่นโดยเติมน้ำมันเที่ยวเดียว
จิตใจแบบไหนกันนะที่เขาเติมน้ำมันเที่ยวเดียว ไปถึงเพิร์ลฮาร์เบอร์แล้วกลับไม่ได้ สปิริตอันนี้ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในคนญี่ปุ่น เรียกว่าบูชิโดสปิริต ทั้งหมดนี้เราเริ่มจากเก็บหิน”
ยังมีวิชาร่างกายของเรา เพราะบ้านเรียนทางช้างเผือก ทุกวิชาต้องมีความรู้สึกเป็นแกนสำคัญ
“ตอนที่เขาดมสนิม เราก็พบว่ากลิ่นของสนิมกับเลือดเราใกล้กันมากเลย นั่นเพราะมันมีพื้นฐานอันเดียวกันกับเลือด คือธาตุเหล็ก เขาจึงรู้ว่าร่างกายเราก็มีธาตุเหล็กด้วย”
คุณโอ๊คชี้ว่าทุกการเรียนรู้มีความรู้สึก อยู่ที่เราจะใช้ประโยชน์อย่างไร แต่ก็ต้องเผื่อใจให้คนทำกระบวนการอย่างพ่อแม่ว่าลูกอาจจะรู้สึกไม่เหมือนเรา ถ้าคนสอนปรับตัว-ปรับใจทัน และไม่มีเป้าว่าจะพาเขาไปไหนตั้งแต่แรก
“มันจะง่าย”
’เดินจักรวาล’ ปั่นจักรยานไปดาวพลูโตแค่สองชั่วโมงเอง
ถัดจากลุยน้ำ ก็ขี่จักรยานไปดาวพลูโต ทั้งหมดนี้อยู่ใน ‘ห้องเรียนสำรวจธรรมชาติ’
“ส่วนมากถ้าอยู่เชียงดาว ก็สำรวจรอบบ้านเลย ผลหมากรากไม้ พืช แมลง เขาเริ่มต้นจากแมลง ต่อด้วยเรื่องพืช ทุกอย่างที่เป็นสิ่งมีชีวิตเราเอาหมด เริ่มต้นผมนำให้ เรื่องดิน เรื่องฟ้า เอาทุกมิติ สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเอง เริ่มต้นจากกายภาพที่เขาเห็น สีในดิน แล้วก็ขี่มอเตอร์ไซค์สำรวจไปทั่ว ขุดดิน แคะๆ แล้วมาเก็บดู เริ่มต้นอย่างนี้นะ ดิน พืช แมลง สัตว์ ท้องฟ้า โลก และจักรวาล”
วิชาจักรวาล คุณพ่อบ้านนี้ก็หาวิธีทำให้ลูกๆ รู้ถึงระยะห่างระหว่าง ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์แต่ละดวง ด้วยการปั่นจักรยานตาม ‘โมเดลดวงดาว’
“เราทำเรื่องโมเดลดวงดาว คำนวณระยะห่างตามสเกล ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (ฟรี) เข้ามาเป็นเครื่องมือ สมมุติว่าบ้านเราเป็นพระอาทิตย์ ตรงไหนเป็นดาวอะไร เราก็ขี่จักรยานไปจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ พล็อตจุดและไปตามจีพีเอส ดาวสุดท้ายที่เราขี่จักรยานไปคือดาวพลูโต ซึ่งตอนนี้ถูกลดชั้นไปแล้ว อยู่ห่างจากนี่ไป 11.5 กิโลเมตร อยู่ที่อ่างเก็บน้ำของอีกหมู่บ้านหนึ่ง”
การขี่จักรยานเพื่อไปดาวต่างๆ มันให้อะไรบ้าง?
“กิจกรรมนี้เราเรียกว่า ‘เดินจักรวาล’ ส่วนมากเราชวนคุย เดินไปที่โลก บอกว่านี่ไงโลก แล้วก็มองกลับมาที่บ้านซึ่งผมเปิดไฟทิ้งไว้ดวงนึง เพื่อให้เห็นว่านี่คือตำแหน่งดวงอาทิตย์ พอมองย้อนกลับมา เป็นไฟดวงจิ๋วเท่านั้นเอง เนี่ย เรื่องราวทั้งหมดของชีวิตมนุษย์ทุกคนอยู่ตรงนี้ ผมว่ามิติแบบนี้เป็นมิติที่น่าสนใจ
ส่วนความรู้ในแง่ข้อมูล วิชาเดินจักรวาลให้เด็กๆ ได้ประสบการณ์ ความรู้สึก และความเข้าใจในระยะห่างระดับความเร็วแสงจากดาวต่างๆ ถึงโลก
“สมมุติเราอยู่พระอาทิตย์ เดิน 8 นาทีไปที่โลก นั่นเท่ากับเราเดินด้วยความเร็วแสงเลยนะ นี่มันเก็ตไอเดียเลย ถ้าพูดแค่ความเร็วแสงสามแสนกิโลเมตรต่อวินาที เราไม่รู้หรอกมันคืออะไร ตัวเลขที่ขึ้นไปถึงหมื่นแสนมันไม่เข้าใจแล้ว ทีนี้เราจะทำยังไงให้เกิดความเข้าใจ ก็ใช้สเกล 1 ต่อ 500 ล้านสิ มันก็ยังเป็นคอนเซ็ปต์อยู่ แต่ทำให้แคบลงมาเพื่อให้เด็กมีความรู้สึกร่วม รู้สึกถึงระยะที่ห่าง”
การปั่นจักรยานไปดาวพลูโตจึงไกลมาก ใช้เวลาสองชั่วโมงกว่าเลย
‘เลี้ยงไก่ ปลูกผัก’ ลูกรู้แล้วว่าความรักเป็นอย่างไร
กลับมาสู่วิชาในรั้วบ้าน ทั้งเลี้ยงไก่และปลูกผัก กุญแจสำคัญของการร่างหลักสูตรคือ ความรับผิดชอบ
รดน้ำ ใส่ปุ๋ย คือหน้าที่ที่ลิปตาและช้างน้อยต้องช่วยกันทำ
“เช้ามาพี่น้อยมีหน้าที่ไปกวาดขี้ไก่ในเล้าแล้วเอามาเป็นปุ๋ยใส่ผักผลไม้” แม่โรสพูดถึงพี่ชาย
ตอนนี้แปลงผักของมาลาดาราดาษหนักไปทางผลไม้เพราะเด็กๆ ชอบกิน โดยเฉพาะตระกูลเบอร์รีทั้งหลาย
“มีแบล็คเบอร์รี ราสเบอร์รี มันเก็บกินได้ทั้งปี ยังมี องุ่น แก้วมังกร เสาวรส ผักสวนครัวต่างๆ ทางโน้นก็จะเป็นเฮิร์บ (สมุนไพร) ของพ่อ เพราะชอบทำอาหารอิตาเลียน”
ถัดไปไม่ไกลเป็นทุ่งข้าวสาลี วัตถุดิบของวิชาอบขนมปัง
“เพราะบ้านเราทำขนมปัง เด็กจะได้เห็นกระบวนการตั้งแต่ต้นว่าก่อนจะมาเป็นขนมปัง ต้นมันเป็นแบบนี้ เกี่ยวเสร็จ แล้วเราก็ไปโม่แป้ง โม่เสร็จปุ๊บก็เอามาทำขนมปังกันค่ะ”
แม่โรสบอกว่าอยากให้ลูกๆ รู้ว่าสิ่งที่กินเติบโตมาอย่างไร มีเวลาการรอคอยแค่ไหน ต้องดูแลมันอย่างไร ถ้าเอาแต่ซื้อกิน อาจไม่รู้ที่มาที่ไป
“ของสดมันมีชีวิตนะ เก็บปุ๊บกินปั๊บเลย ลิ้นจะมีทักษะ รู้ว่ารสชาติที่แท้มันเป็นอย่างไร”
ไม่ใช่แค่คนเท่านั้น แมลงต่างๆ ก็ยังอยากกินด้วย โดยเฉพาะสตรอเบอร์รี
“ปีที่แล้ว แมลงมากินหลายลูก ช้างน้อยก็ไปสังเกตว่าแมลงอะไร ปรากฏว่ามันเป็นหนอน เราก็ช่วยกันคิดหาวิธีที่ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ช้างน้อยเลยช่วยออกแบบ หาไม้มาค้ำทีละลูกเพื่อไม่ให้สตรอเบอร์รีถูกเจาะ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ฆ่าแมลง ฆ่าหนอน”
สิ่งที่ช้างน้อยทำคือ พยายามเอื้อให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้กินด้วย
“ผักมีรู เขาก็บอกว่าโอเค แบ่งๆ กันกิน ไม่ได้รู้สึกว่าเราต้องเอาดีคนเดียว รู้จักเอื้อเฟื้อแบ่งปันให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ” แม่โรสสรุป
ส่วน เลี้ยงไก่ พ่อโอ๊คเล่าว่าเกิดมาจากการให้เลือกทำงานบ้านสักอย่างเพื่อฝึกหน้าที่และความรับผิดชอบ
“คุยกันว่างั้นเลี้ยงไก่ก็แล้วกัน จะได้มีไข่ไว้ทำขนมปัง ไว้ทำอาหารด้วย เราคาดหวังเรื่องความรับผิดชอบเป็นหลัก ไม่ได้คิดเรื่องอื่น”
แต่หลังจากเลี้ยงไปหนึ่งปี พ่อลูกก็มานั่งถอดบทเรียนกันง่ายๆ นอกจากไก่จะมีชื่อทุกตัวแล้ว สิ่งที่ลูกชายเซอร์ไพรส์พ่อมากๆ กลับเป็นสิ่งนี้
“เขารู้แล้วว่าความรักคืออะไร ที่ป๊ารักเขามันหมายความว่าอะไร เราก็ถาม เพราะพี่น้อยเป็นพ่อไก่เหรอ เขาก็บอกว่าใช่ เขารู้แล้วว่าทำไมป๊าต้องคอยทำสิ่งดีๆ ให้ ทำไมต้องคอยดุ กระบวนการที่ได้ทั้งหมดเนี่ย เราดีไซน์ตั้งแต่ต้นไม่ได้ เราทำได้อย่างเดียวคือทำกิจกรรมที่มีปลายเปิดมากๆ เราหวังว่าเขาต้องได้เรียนรู้อะไรบางอย่างแน่ๆ ด้วยความอิสระและธรรมชาติของเขาเอง”