- จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ หรือ บุช ชาวประมงจากประจวบคีรีขันธ์ วัย 44 ปี บอกว่า ทุกวันนี้ถ้าจะขายปลาสักตัว ไม่ใช่แค่ความสด สะอาด หรือได้มาตรฐานอาหารทะเล แต่ทุกตัว ทุกชิ้น ต้องมีเรื่องราว
- บุช เข้ามาเป็นสมาชิก ร้านคนจับปลา หรือ Fisherfolk ด้วยข้อสงสัยว่า ‘ทำไมเถ้าแก่ (พ่อค้าคนกลาง) ต้องใส่สารฟอร์มาลิน ทั้งๆ ที่ก็จับมาสดๆ ด้วย’
- ชาวประมงรุ่นใหม่ ควรรู้กฎหมายรู้เท่าทันโลกภายนอก ชาวประมงหันมาดูแลสิทธิของตัวเองมากขึ้นไม่ได้คิดแต่เรื่องหาปลาอย่างเดียว แต่คิดถึงเรื่องการอนุรักษ์กับการฟื้นฟูไปด้วย เราจะส่งเสริมให้ทุกพื้นที่มีชาวประมงแบบนี้ ไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย
ทุกวันนี้จะขายปลาอินทรีสักตัว ไม่ใช่แค่ความสด สะอาด หรือได้มาตรฐานอาหารทะเล แต่ทุกตัว ทุกชิ้น ต้องมี story
“จับปลาอินทรีสักตัว ต้องเริ่มตั้งแต่หาเหยื่อล่อคือปลาดาบเงิน ออกเรือตั้งแต่ตี 2 แล่นเรือออกไปไกล 7-10 ไมล์ เพราะอินทรีย์มันอยู่น้ำลึก กว่าจะกลับเข้าฝั่งก็เที่ยง” จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ หรือ บุช ชาวประมงจากประจวบคีรีขันธ์ วัย 44 ปี เล่าให้ฟังพลางเปิดโทรศัพท์โชว์คลิปและรูปปลาประกอบ
เท่านั้นยังไม่พอ บุชยังใช้เฟซบุ๊คชื่อเดียวกับตัวเอง ขายอาหารทะเลทั้งสดและแปรรูป จัดส่งตรงถึงมือผู้บริโภคแบบไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางและปลอดสารฟอร์มาลิน
เพราะบุชเข้ามาเป็นสมาชิกของ Fisherfolk: ร้านคนจับปลา ตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว ด้วยคำถามและข้อสงสัยที่ว่า ทำไมเถ้าแก่ (พ่อค้าคนกลาง) ต้องใส่สารฟอร์มาลินด้วย ทั้งๆ ที่ก็จับมาสดๆ
“เขา (เถ้าแก่) บอกว่าไม่ใส่ไม่ได้เพราะต้องไปส่งที่เดียวกันหมด ถ้าปลาโดนตีกลับก็โดนตีกลับทั้งคันเลย” รวมกับความรู้สึกว่าโดนขบวนการพ่อค้าคนกลางรวมตัวกันกดราคามานาน บุชจึงเป็นชาวประมงคนแรกๆ ของประจวบฯ ที่ตีตัวออกห่างระบบเถ้าแก่แล้วมาเป็นสมาชิกของร้านคนจับปลา
ร้านคนจับปลาหรือ Fisherfolk คือ กิจการของชาวประมงที่ลงขันกันในนามเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ร่วมหุ้นกับสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย โดยรับซื้อปลาจากจากชาวประมงพื้นบ้านในราคาสูงกว่าแพปลา ชาวประมงพื้นบ้านนี้จะใช้เรือขนาดเล็กกับเครื่องมือที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ ‘คลีน กรีน แฟร์’
คลีน: อาหารทะเลสะอาด ปลอดสารเคมี
กรีน: การประมงที่ยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำให้ปลาหมดไปจากทะเล
แฟร์: แฟร์สำหรับคนกินได้ของดีและปลอดภัย แฟร์สำหรับคนจับปลา ในราคาที่เป็นธรรม
ความรู้เก่า เก๋าๆ
ประสาลูกเลที่ออกเรือมาตั้งแต่ 5 ขวบ แต่เพิ่งมาตั้งตัวขายปลาเองเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ความรู้หลายอย่างก็ต้องนับหนึ่งใหม่ ซึ่งต้องเอามาปรับใช้กับ ‘วิชาเก่า’ ที่โรงเรียนไหนก็ไม่มีสอน นอกจากทะเล
เริ่มตั้งแต่เมาเรือ สองครั้งแรกเท่านั้นที่ทะเลเอาชนะบุชได้ชนิดอาเจียนจนรากเขียวรากเหลือง จากนั้นมาบุชก็ชนะขาด ไม่ว่าจะเปลี่ยนเรือไปกี่ลำ คลื่นใหญ่ลมจัดแค่ไหนก็ตาม
อาจเพราะทำอะไรเป็นในเรือมากขึ้น ความคุ้นเคยและความวุ่นในเรือก็ทำให้ลืมเมาไปเสียสนิท โดยเฉพาะการเป็นประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำตามฤดูกาล เครื่องมือก็มากตามไปด้วย
“ประมงพื้นบ้านใช้กระแสน้ำเป็นหลัก ถ้าเราอยากได้กุ้ง เราต้องเอาอวนกุ้งไปจับ ถ้าอยากได้ปูก็ต้องเอาอวนปูไปจับ ถ้าอยากได้ปลาอินทรีก็ต้องเอาเบ็ดไปปล่อย ถ้าอยากได้ปลาจาละเม็ดก็ต้องเอาอวนปลาจาระเม็ดไปจับ เครื่องมือไม่เหมือนกันสักอย่าง อะไรเข้าผมก็เอาอันนั้นไปจับ ไม่เหมือนเรือพาณิชย์ที่ใช้อวนลาก อวนล้อม เครื่องมือเดียวจับสัตว์น้ำได้ทุกชนิด” บุชหมายความถึง ลูกปลา ลูกปู ลูกกุ้ง และหอยต่างๆ โดยเฉพาะหอยลาย
นอกจากกระแสน้ำแล้ว ชาวประมงยังต้องรู้ฤดูกาลสัตว์น้ำด้วยว่า ช่วงไหนควรจับอะไร เช่น ปลาหมึกปีหนึ่งจะจับได้แค่ 2 ครั้งคือ ก่อนมรสุมและหลังมรสุม ปลาหลังเขียวจับได้ตลอดปี และปลาอินทรีจับได้ช่วงมรสุมเท่านั้น
และยังต้อง ‘ฟังปลา’ ให้เป็นด้วย
“ชาวประมงฝั่งนครศรีธรรมราช ฟังปลาจวดเป็น เขาจะดำน้ำลงไปฟังเสียงปลาก่อน พอได้ยินเสียงปลาจวดร้อง อ้อดๆๆ ก็ค่อยวางอวน”
ฝั่งประจวบฯ ของบุชเอง โดยมากคนเรือจะรู้ก่อนเลยว่า ปลาที่ขึ้นก่อน เป็นปลาอะไร
“มี 2 อย่าง ถ้าเป็นกลางคืน จะขึ้นเป็นสีพรายดำ คือ สีออกเขียวๆ อยู่ใต้น้ำ ถ้าเป็นปลาทูเราจะมีไฟฉาย ส่องไปมันจะแตกตัวปึ้งๆๆ มันจะแตกลงล่าง กระจายเป็นพลุเลย ถ้ามันแตกขึ้นบนจะเป็นปลาเล็ก ส่วนกลางวัน ถ้าขึ้นก้อนดำๆ มันใช้หางฟาดน้ำเปรี๊ยะปร๊ะๆ อันนั้นเป็นปลาหลังเขียว แต่ถ้ามันใช้เหงือกหายใจ เหงือกมันจะสะท้อนกับแสงแดดวอบแวบๆ อันนั้นจะเป็นปลาทู”
เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาดูปลา ที่บุชและชาวประมงเรียนรู้สืบต่อกันมา เพื่อเตรียมเรือให้พร้อมเสมอกับสัตว์น้ำตรงหน้า
วิชาดูฟ้าดูฝนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะนั่นหมายถึงน้ำขึ้นน้ำลง บุชเรียกว่า ‘รู้น้ำ’
“รู้น้ำขึ้นน้ำลง ปล่อยอวนแล้วดูว่าน้ำจะไหลไปทางไหน วันนี้เราปล่อยตรงนี้ ปลามันติดตอนใต้ พรุ่งนี้เราก็ต้องเขยิบลงไปใต้อีกหน่อยนึง ไล่ตามปลาไปเรื่อยๆ สมมุติปลาติดตอนเหนือ พรุ่งนี้เราก็ต้องวิ่งไปเหนือกว่า ถ้าเป็นปลาทูมันจะกินเข้ากินออก เราก็จะดูตาอวนแล้วว่าปลากินขึ้นเหนือหรือลงใต้ ถ้าปลากินสาดมาทางใต้หมดเลย เฮ้ย ปลาลงใต้ วันนี้เราก็ต้องลงไปอีก 3 ไมล์ เพราะคืนๆ หนึ่งปลาจะวิ่ง 3 ไมล์ สมมุติวันนี้เราปล่อยเหนือที่ 45 ไมล์ พรุ่งนี้ต้องวิ่งไปดูที่ 48 ไมล์ ไล่ดูเชื้อเรื่อยๆ ถ้ามีเชื้อเราก็ปล่อยอวน”
นอกจากนี้ก็ต้อง ‘รู้ลม’ เกิดวิ่งเรือไปสุ่มสี่สุ่มห้า นอกจากปลาจะไม่ได้ เรือก็อาจจะไม่ได้เข้าฝั่ง
“ถ้ามาทางใต้ก็เป็นลมใต้ ลมตะเภา ถ้ามาใต้เฉียงตะวันตกก็เป็นลมพัทยา ฯลฯ ถ้าเป็นลมสลาตัน พัดตั้งแต่ 5 โมงเป็นต้นไป ลมจะจัด เราต้องทำงานให้เสร็จก่อน 5 โมง ถ้าลมพัดธรรมดาไม่มีขี้เมฆ ไม่น่ากลัว แต่ถ้ามีขี้เมฆขึ้นดำ มีฟ้าผ่าเปรี๊ยะปร๊ะ ฟ้าแลบเป็นระยะ พอมันเข้ามาใกล้เรา จะแลบถี่อันนี้ต้องรีบเข้าฝั่ง” บุชยกตัวอย่าง
จับปลาเก่งอย่างเดียวไม่พออีกต่อไป ต้องขายเป็นด้วย
เดือนๆ หนึ่ง เรือของบุชจะหยุด 2 วัน ทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำ ออกเรือตั้งแต่ 4 โมงเย็น เพื่อไปปล่อยอวนตอน 6 โมงเย็น ก่อนจะสาวอวนขึ้นตอนทุ่มครึ่ง เพื่อพาเรือเข้าฝั่งตอน 2 ทุ่ม
“จากนั้นปลดปลา สะบัดปลาออก ขนปลาขึ้นไปขาย ทั้งหมดนี้เสร็จประมาณเที่ยงคืน”
แต่พอบุชตัดสินใจไม่ขายให้แพปลาเถ้าแก่ แต่มาขายเองและส่งร้านคนจับปลา บุชต้องเรียนรู้และฝึกขายหลายอย่าง
“จากเมื่อก่อนขึ้นท่ามาเถ้าแก่ก็เอาน้ำแข็งมาให้สามตู้ ยกปลาให้เลือก ชั่ง หมดหน้าที่เราละ กลับบ้าน แต่พอเราไม่ขายเถ้าแก่ เราก็วิ่งไปซื้อน้ำแข็งเอง คัดแยกปลา ปลาตัวไหนเป็นแผลก็คัดออก ดอง (แช่น้ำแข็ง) ปลาเอง”
บุชยังต้องรับหน้าที่เป็นพ่อค้า เรียนรู้ที่จะขายเอง เขาถือคติไม่อายทำกินโดยการโทรหาลูกค้าเก่าเองว่า ไม่ได้ขายปลาให้เถ้าแก่แล้ว ถ้าอยากได้ปลาให้มาซื้อที่เรา
ถ้าเถ้าแก่ตั้งราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 20 บาท บุชจะขายปลาในกิโลกรัมละ 22 บาท
“ตั้งราคาสูงกว่านิดหน่อยแต่เขามาที่เราได้ปลาแน่ๆ ถ้าไปหาเถ้าแก่อาจจะไม่ได้เพราะแม่ค้าแย่งกันซื้อ จนบางที ซื้อในราคาสูงกว่าที่เราขายด้วย ที่สำคัญปลาเราจะสดกว่าเพราะเป็นปลาของเราลำเดียว ต่างจากเถ้าแก่ที่มีปลาหลายลำซึ่งแต่ละลำไม่รู้ว่าเขาจะมาส่งเมื่อไหร่ บางคนปลดปลาช้า บางคนปลดปลาแล้วยังไม่ดองน้ำแข็ง”
สปีดในการทำงานก็เร็วให้พอกับความสดของปลา จากเมื่อก่อนทำกันสบายๆ ไม่รีบร้อน
“เพราะไม่ว่าปลาสดปลานิ่มก็ราคาเท่านี้ เราจะรีบไปทำไม แต่พอมีร้านคนจับปลา ร้านคนจับปลารับซื้อในราคาที่แพงกว่าตลาด 20 เปอร์เซ็นต์ ด้วยราคานี้ทำให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นตามไปด้วย ชาวประมงคนอื่นก็มีรายรับสูงขึ้นตามๆ กัน”
ทุกวันนี้ บุชออกเรือแค่วันละครั้ง ไม่ต้องตะบี้ตะบันออกให้ได้เยอะที่สุดเหมือนที่ผ่านมา เพราะเมื่อปลามีคุณภาพ ก็มีราคา การออกเรือครั้งเดียวแล้วกลับมาพร้อมกับปลาสด ย่อมดีกว่าการออกไปจับทั้งวันทั้งคืนเพื่อแลกเงินกับปลาไม่ได้ราคา
“วันนี้ได้ 1,000 กิโล ได้ 8,000-9,000 บาท พอแล้ว แต่ก่อนออกทั้งวันทั้งคืนจะต้องปล่อยให้ได้มาเพราะราคาปลาถูก ปลากิโลละ 6 บาท เราก็ต้องจับให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ปลากิโลละ 9 บาท ได้แค่นี้ก็พอ”
ขายปลาสดก็ยังไม่พอ ชาวประมง พ.ศ. นี้ ที่รักจะเป็นพ่อค้าด้วย ต้องแปรรูปและขายเป็น โดยเฉพาะการทำปลาเค็มที่ขึ้นชื่อว่ายาก บุชทำแล้วทิ้งๆ มานักต่อนัก
“ปลาเค็ม ปลาหวานทำทิ้งๆ เยอะมาก เพราะทำแล้วขึ้นรา ทำแล้วไม่ได้รสชาติอย่างที่คนกรุงเทพฯ ชอบ หลังจากลองผิดลองถูก จึงค้นพบว่า ปลาเค็ม ต้องเอามาซีลสุญญากาศและรีบแช่เข้าตู้เย็น จากเมื่อก่อนเราเอาไปตากแดดแล้วห่อกระดาษ ทำให้ขึ้นราง่าย เวลาตากเรากางมุ้งให้กันแมลงวัน หรือปลาหวาน น้ำปลาที่เราใช้ทำถ้าเอาไปแช่เย็นก่อนค่อยผสม มันก็ทำให้ปลาหวานอยู่ได้นาน แต่ถ้าเราทำน้ำปลาแล้วเอาปลาไปใส่หรือตากเลยมันก็จะขึ้นรา”
วิธีถนอมอาหารนี้ เป็นความรู้เก่าที่บุชครูพักลักจำมาจากพ่อแม่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องฟังพยากรณ์อากาศไปด้วย โดยเฉพาะตอนแล่ปลาก่อนนำไปตาก
“ถ้าฝนจะมาก็ไม่ทำ ผิดกับเมื่อก่อน คิดจะทำก็ทำเลย”
พ่อค้าพร้อม ของพร้อม แล้วลูกค้าล่ะเป็นใคร?
บุชบอกว่า ‘คนกรุงเทพฯ’ ที่มักจะชอบปลาไม่กี่ชนิด คือ ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาอินทรี นอกนั้นเป็น ปู กุ้ง ปลาหมึก
และเป็นคนรักสุขภาพเพราะ โลโก้ของร้านคนจับปลาคือ ปลอดสารฟอร์มาลิน
“วันนี้ผู้บริโภคสนใจอาหารปลอดสาร นอกจากนั้นยังรักษาสิ่งแวดล้อม รายได้ส่วนหนึ่งของร้านคนจับปลา จะนำกลับไปฟื้นฟูดูแลทะเล เช่น ทำธนาคารปู รายได้ กำไรทั้งหมดนำมาหมุนเวียนในร้านคนจับปลา ปันหุ้นทุกสิ้นปี สมาชิกตรวจสอบได้หมด
สมัยก่อนเราไม่เคยสนใจตรงนี้ ระบบที่สบายที่สุดคือขายให้เถ้าแก่ แต่ถ้าเราไปคิดว่าทำไมเถ้าแก่ถึงไม่เอาดอกเบี้ยจากเรา เขาบอกเราว่าขาดทุนแต่ถอยรถเอาๆ แต่ที่เขาเอากำไรจากเรามันมากกว่าดอกเบี้ยที่เขาไม่เอา บางทีเขาซื้อเครื่องมือให้เราออกทะเลด้วยซ้ำเพราะเราออกมากเขาก็ได้มาก”
เตรียมตัวเป็น Smart Fisherfolk
บุชและเพื่อนๆ สมาชิกร้านคนจับปลาเตรียมตัวเป็น Smart Fisherfolk แปลเป็นไทยแบบไม่ตรงตัวว่า ชาวประมงพื้นบ้านรุ่นใหม่ มีศักดิ์ศรีและมีคุณค่า โดยมีสมัชชาชาวประมงพื้นบ้านประเทศไทยเป็นตัวตั้งตัวตี
Smart Fisherfolk มีคุณสมบัติอะไรที่น่าสนใจบ้าง
- ทำประมงอย่างรับผิดชอบ ต่อเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช้อาวุธทำลายล้าง ไม่เอาเปรียบคนอื่น เลือกจับสัตว์น้ำโตเต็มวัย จับสัตว์น้ำควบคู่กับการฟื้นฟูดูแลทะเล
- ใช้เทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกทั้งการสื่อสารและการประมง ลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนแทน
- ดูแลสัตว์น้ำอย่างมีคุณภาพ คำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงสุด
- เรียนรู้โลก เรียนรู้กฎหมาย นโยบายที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอ
- สืบทอดภูมิปัญญาและวิชาประมงอย่างรับผิดชอบจากรุ่นสู่รุ่น
“ชาวประมงต้องพูดคุยกับคนข้างนอกได้ ออกไปกลางทะเลก็โพสต์ ได้คุย ได้สื่อสารเรื่องราวของตัวเองให้คนทั้งโลกได้รู้” บุช อธิบายพลางเปิดคลิปจับปลาอินทรีตัวเท่าต้นขาให้ดู
ไม่ใช่เพื่อขายของเท่านั้น แต่ชาวประมงรุ่นใหม่ต้องสื่อสารเป็น เพราะชาวประมงแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน
“ไม่มีใครไปพูดแทนคุณได้ รู้ปัญหาตัวเอง รู้จุดแข็ง ที่ทำให้เราไม่ทะเลาะกันเรื่องทรัพยากร”
นี่แหละ Smart Fisherfolk