- เมื่อนักออกแบบผู้เชี่ยวชาญศิลปะการใช้ตัวอักษร (Typography) จับมือกับศิลปินกราฟฟิตี้ ที่ถนัดด้านงานลายฉลุ (Stencil) สร้างอาวุธทางศิลปะเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่เล่าเรื่อง ที่ใครบางคนไม่อยากให้เล่า ในแบบที่สนุกและสร้างสรรค์
- ชวนฟัง มุมมองของอาจารย์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์กราฟฟิคดีไซน์ การถือกำเนิดของศาสตร์การออกแบบตัวอักษร ไม่ใช่เพียงแค่ความงาม หรือประโยชน์ทางการใช้สอย แต่ยังสอดแทรกอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ และประชาธิปไตย และมุมมองของศิลปินสตรีทอาร์ต ที่เชื่อมั่นว่าศิลปะคือเครื่องมือในการแสดงออกทางความคิดอย่างเสรี และการทำงานในประเทศที่สามารแสดงออกทางการเมืองได้ ในวงเล็บ เมื่อคุณอยู่ถูกข้าง
- ไม่ใช่แค่ใช้ศิลปะพูดเรื่องประชาธิปไตย แต่ตั้งใจทำ Democratization of tools เพื่อสร้างประชาธิปไตยในการออกแบบสื่อสารด้วย
ที่ทั้งสองชวนตั้งคำถามกับการเมืองในปัจจุบัน และสร้างฟอนต์เพื่อเป็นอาวุธส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ ไปสร้างประวัติศาสตร์
หากพูดถึงคำว่า แอร์ แล้วเห็นภาพอ.อ่างที่มีน้ำแข็งเกาะ หากนึกถึงชื่อหนังสยองขวัญแล้วเห็นภาพตัวอักษรที่ยืดย้วยเหมือนเลือดและน้ำหนองไหล หรือพูดถึงความเป็นไทยแล้วเห็นภาพตัวอักษรชดช้อยสีทอง เราคือเพื่อนกัน
และทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราใจตรงกัน แต่เป็นศาสตร์การออกแบบตัวอักษร หรือ Typography ที่มีที่มาที่ไปยาวนาน และอำนาจมหาศาลในการสร้างภาพจำและการรับรู้ของคนผ่านการสื่อสารด้วยภาพ (visual communication)
ในวันที่เยาวชน คนรุ่นใหม่ ลุกขึ้นมาส่งเสียงและสื่อสารถึงอนาคตที่พวกเขาอยากเห็น ตั้งคำถามต่อความบิดเบี้ยวในสังคม และความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมา สองนักออกแบบ คนหนึ่งคือผู้เชี่ยวชาญศิลปะการใช้ตัวอักษร คนที่สอง คือศิลปินกราฟฟิตี้ที่จับเรื่องการเมืองมาชวนคนขบคิดผ่านงานศิลปะแบบสตรีทอาร์ตในนาม Headache Stencil จับมือกันทำเพจ ประชาธิปไทป์ ที่อยากส่งต่อความรู้เรื่องการออกแบบตัวอักษร และการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม เพื่อส่งต่อเครื่องมือให้ทุกคนได้ส่งเสียงของตัวเอง อย่างเท่าเทียมกัน
จากที่ชื่นชอบและตามงานของ Headache Stencil อยู่แล้ว แรงดึงดูดและความสนใจเรื่องการบ้านการเมืองก็ทำให้สองศิลปินโคจรมาเจอกันในนิทรรศการหนึ่ง พร้อมจังหวะเวลาที่บ้านเมืองเรียกร้องความเท่าเทียม เป็นฤกษ์ดีให้ทั้งสองตกลงปลงใจลงเรือลำเดียวกัน เพื่อแล่นสู่ดินแดนที่ฟ้าสีทองผ่องอำไพ คราวนี้เมื่อ Typography มาเจอกับศิลปะแบบ Stencil หรือ การออกแบบพ่นสีบนลายฉลุ เพื่อสร้างฟอนต์ที่ส่งเสียงเรียกร้องทางการเมืองและประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่การเมืองในสภาหรือบนถนน แต่ชวนคิดไปถึงประวัติศาสตร์การออกแบบฟอนต์ การเมืองในการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือสื่อสารในโลกสากล และอำนาจ ความเหลื่อมล้ำ และเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด หากการเมืองคือเกม การต่อสู้ในเกมนี้จะมีศักดิ์ศรีที่สุดเมื่อทุกคนเล่นอยู่บนกติกาเดียวกัน อย่างเท่าเทียม – กติกาที่ชื่อว่าประชาธิปไตย
*บทสัมภาษณ์ต่อจากนี้ ขอแทนตัวผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสอง ว่า Type lover และ Headache Stencil
จุดเริ่มต้นของประชาธิปไทป์
ประชาธิปไทป์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
Type lover: เราพบว่า คนรอบๆ ตัวสนใจการเมืองมากขึ้น เช่น เราไปสอนเด็กมหา’ลัย เราสอนมาหลายปี ให้เด็กดูสารคดีเรื่องเดียวกัน แต่คำถามที่เด็กจับประเด็นมาคุยกันมันกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้น เป็นเรื่องสังคมมากขึ้น เราก็เลยคิดว่า เอ๊ะ… หรือว่าความเคลื่อนไหวตรงนี้มันจะมา ก็เลยชวน Headache มาทำงานร่วมกัน
เราสนใจกาารเมืองอยู่แล้วแหละ แต่สมาชิกในครอบครัวบางคนมีความเห็นไม่ตรงกัน แล้วเราก็กลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับงานหลักของเราและครอบครัวของเรา ก็เลยคิดว่าถ้าจะทำงานที่พูดเรื่องการเมืองมากขึ้นเราก็ควรจะสร้างตัวตนอะไรใหม่ขึ้นมาสักอัน เลยสร้าง ประชาธิปไทป์ ขึ้นมาไว้ทำงานร่วมกัน และคิดว่านอกจากทำงาน เราทำอะไรอย่างอื่นได้อีก เราเป็นอาจารย์พิเศษ ก็ว่า เอ๊ะ… แล้วพวกความรู้อะไรต่างๆ ที่เรามี ถ้าเรามาเผยแพร่ผ่านทางเพจนี้ด้วย มันก็เป็นที่ส่งต่อความรู้ได้เหมือนกัน เพราะว่าบางเรื่องที่เรารู้สึกว่า เราไม่ได้ตื่นเต้นอะไรแล้ว แต่พอไปคุยกับคนที่ไม่ใช่นักเรียนดีไซน์แล้วเขาตื่นเต้นกัน ก็เลยคิดทำเพจ หรืออย่างเราไม่สะดวกไปม็อบ เราก็เอาความรู้ความถนัดที่เรามี มาทำเป็นฟอนต์ให้เด็กๆ เขาเอาไปใช้สื่อสาร เราอยากเห็นการสื่อสารที่มันสร้างสรรค์และสวยงาม เพื่อให้เกิดการคุยกัน
Headache Stencil: ช่องโหว่หนึ่งในงานของผมคือเรื่องตัวอักษร ยอมรับเลยว่าไม่ถนัด หากย้อนไปดูผลงานที่ผ่านๆ มา เราจะเน้นไปที่ภาพหรือการเอาสัญลักษณ์ (symbol) มาเรียงต่อกัน พอได้มาทำงานร่วมกับอาจารย์ จึงช่วยปลดล็อค และสร้างสรรค์งานได้มากขึ้น
ปัญหาที่ตลอดมาผมเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง มันไม่ใช่จากตัวงานศิลปะ แต่มันมาจากแคปชัน ถ้าถามว่าทำไมต้องมีแคปชัน? จากที่ทำงานมาผมพบว่าคนไทยยังไม่ถนัดเรื่องการตีความงานศิลปะ ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จมากนะในการทำให้คนหาเช้ากินค่ำอย่างคนขับแท็กซี่ คนขับวินมอเตอร์ไซค์มาตามงานของผม เขาได้ฝึกการตีความงานศิลปะ แต่หลายครั้ง จะเห็นว่าผมทำหน้าบุคคลบ่อยมาก คือมันยังต้องมีการผลิต Space Art ตรงๆ ที่คนเห็นแล้วเข้าใจเลย แต่ว่าผมก็จะคอยแทรกตัวศิลปะ เหมือนซ่อนความหมายโดยที่เราไม่ต้องโจมตีหน้าใครตรงๆ ไว้เรื่อยๆ และเรายังมีความต้องการให้คนที่เห็นงานเราเข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อออกไป แคปชันเลยเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลายเป็นพอเราอธิบาย มันดันทำให้เราติดคุก เพราะมันจะผิดกฎหมายจากตัวแคปชัน
การที่เรามี wording ในงานได้เลย อย่างตัวงานอันนี้ที่ทำเดจาวู มันเป็นคำก็จริง แต่ว่ายังเป็นคำที่คุณต้องตีความหมาย ถ้าเป็นภาพเฉยๆ ไม่มีตัวอักษรคนก็อาจจะ ‘อ๋อ มันรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ’ แต่พอมันมีคำว่าเดจาวูเข้ามาปุ๊บ มันต้องตีความหมายต่อว่า ทำไมเดจาวู เดจาวูคืออะไร แล้วพอรวมกับภาพนี้คืออะไร มีปืนเลเซอร์มันคืออะไร แต่ละคนอาจจะตีความหมายไม่เหมือนกัน แต่มันทำให้เข้าใจ เสพงานพวกนี้ได้มากขึ้น เพราะอย่างผมบางครั้งการตีความออกมาเป็นภาพเฉยๆ ผมเองดูแล้วยังแบบ จะตีความออกหรอ แต่พอมันมีคำหรืออะไรมาเพิ่มทำให้มันสนุกขึ้น เป็นการร่วมงานกันที่ลงตัว และไม่ติดคุกคนเดียวละ (เขาทิ้งท้ายที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนทั้งห้อง)
เสียงของตัวอักษร
‘ฟอนต์’ สำคัญอย่างไร
Type lover: ตัวหนังสือ พอเปลี่ยนฟอนต์มันก็เหมือนเปลี่ยนน้ำเสียงที่พูด เช่น เราพูดว่า ‘ผมรักคุณ’ โดยใช้ตัวหนังสือที่หนาๆ ใหญ่ๆ ตันๆ มันก็เหมือนว่าคนพูดที่อาจจะตัวใหญ่หน่อย เสียงดังขึงขังหน่อย ‘ผมรักคุณ’ (เลียนเสียงขึงขัง) ถ้าเกิดว่าผมรักคุณเป็นแบบย้วยๆ ลูกทุ่ง เราก็อาจจะรู้สึกว่าเขาอาจจะเป็นร้อยตำรวจเอกปลอมตัวมา แล้วก็ ‘ผมรักคุณ’ (พูดช้าๆ เสียงเอื้อนๆ) อะไรแบบนี้ พอใช้ฟอนต์เดิมซ้ำไปเรื่อยๆ มันก็เหมือนกับคนจำน้ำเสียงเราได้ พอคนจำได้ สิ่งที่ตามมาคือ การผลิตซ้ำ แล้วบางทีคนจำแบรนด์นั้นได้โดยที่ไม่ต้องเห็นโลโก้ด้วยซ้ำ
แต่มันไม่ใช่แค่แบรนด์ไง เพราะบางทีมันลามไปถึงความเป็นชาติด้วย
Type lover
อย่างเช่น ตัวอักษร blackletter ที่เป็นเส้น stroke ปากกาหัวตัดหนักๆ ที่มันกำเนิดจากเมื่อก่อนเขาใช้คัดไบเบิล ไปๆ มาๆ กลายเป็นอัตลักษณ์ของเยอรมัน พอนาซีเอาไปใช้ มันก็เลยกลายเป็นภาพจำของความเป็นชาตินิยมสุดโต่งของเยอรมัน และรัฐเผด็จการในสมัยนั้น แต่อีกมุมหนึ่งก็ถูกมาใช้บนฉลากเบียร์ด้วย และด้วยความที่มันดูเยอรมั้นน…เยอรมัน (เล่นเสียง) จนเบียร์ที่ผลิตในประเทศอื่นใช้ตัวอักษรแบบนี้บนฉลากแล้วดูเยอรมันเฉยเลย หรือตัวหนังสือตัวอาลักษณ์ย้วยๆ เอิงเอย คนไทยจะรู้สึกว่า มันสอดคล้องกับภาพของความงามตามขนบราชสำนัก เป็นต้น
ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะตระหนักหรือมีทฤษฎีรองรับหรือไม่ คนมีความเข้าใจร่วมกัน (collective knowledge) ประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เช่น ทำไมหนังผีตัวหนังสือต้องย้วยๆ เหลวๆ เหมือนมีหนองไหล หรือพอเป็นแบรนด์เทคโนโลยี เส้นมันต้องเรียบง่ายขึ้น ไม่เอาหัวกลมนะ ไม่งั้นจะดูไม่เร็ว มันคือเรื่องที่คนทำซ้ำๆ ต่อกันมาจนเกิดเป็นขนบก็ได้ ส่วนอะไรที่เป็นของสามัญชน ของชาวบ้าน ถามว่าที่มันดูหยาบ ไม่ประณีตบรรจง ไม่ใช่เพราะว่าชาวบ้านไม่อยากประณีต แต่ชาวบ้านต้องเอาเวลาไปทำมาหากินไง งานวัดๆ วังๆ เจ้าๆ เลยเป็นศูนย์รวมของความประณีตบรรจง ของความงาม ดังนั้น ผมว่ามันก็มาจากโครงสร้างสังคมนั่นแหละ ที่ทำให้ความประณีตบรรจงทั้งหลาย กลายเป็นของไม่ศาสนาก็วัง
ฟังดูมีความเหลื่อมล้ำอยู่ในทุกเรื่องเลย
Type lover: แต่ว่าคุณจะไม่รู้สึกถึงความเหลื่อมล้ำ ถ้าคุณอยู่ในที่ที่ไม่ลำบาก หรือไม่ก็อยู่ด้วยความศรัทธาโดยที่ไม่ตั้งคำถาม แล้ว empathy มันจะเกิดขึ้นได้ยากมากถ้าไม่ลงมามีประสบการณ์หรือลงมาคลุกคลี
เรามีศิลปะบางรูปแบบที่ได้รับการชื่นชม ยกย่อง มีกลุ่มศิลปินฝั่งขวาที่เขาไปแสดงงานในการชุมนุมเมื่อหลายปีก่อนได้ ผมว่ามันก็กลับไปเรื่องโครงสร้างอำนาจทางสังคมที่ถูกวางแผนและจัดตั้งขึ้นมาหลายสิบปี ถ้าติดตามข่าวในแวดวงศิลปะร่วมสมัยประเทศไทย จะมีดราม่าเกิดขึ้นตลอดเมื่อมีใครสักคนไปแตะประเด็นความเชื่อสาธารณะ เช่น พระอุลตร้าแมน ภาพภิกษุสันดานกา ดังนั้น มันไม่ใช่แค่วิจารณ์รัฐ แม้แต่เรื่องศาสนา ถ้าไปแตะก็จะโดนสังคมต่อต้านทันที ดังนั้น ผมว่าเราอยู่ในประเทศที่งานศิลปะเหมือนจะอนุญาตให้แสดงออกไปได้ทิศทางเดียว แล้วก็มีเพดานที่ค่อนข้างต่ำ”
มันไม่ใช่แค่เรื่องประชาธิปไตยหรือการเมือง แต่เป็นการไปสู้กับความเชื่อ?
Type lover: ใช่ สู้กับระบบความเชื่อของสังคม สู้กับความเป็นอำนาจนิยมที่มันคลุมไปหมด
ฟังดูเหมือนเราจะมีอิสระในการคิด แต่จริงๆ มันมีความจำกัดบางอย่างแบบ informal อยู่
Type lover: มันก็ถูกจำกัดมาโดยตลอดแหละ มันเหมือนกับว่าเป็นที่รู้ๆ กันว่าคุณทำงานแบบไหนแล้วคุณจะโชว์ง่าย คุณทำงานแบบไหนคุณถึงจะมีโอกาสได้เป็นศิลปินแห่งชาติ คุณทำงานแบบไหนคนถึงจะแห่กันมาซื้อ
เส้นทางประชาธิปไตยของตัวอักษร
ซึ่งสิ่งที่เพจกำลังทำอยู่ คือสร้างการเรียนรู้เพื่อให้คนเข้าใจว่าการเมืองอยู่ในทุกเรื่อง แม้แต่ตัวอักษร
Type lover: ในประวัติศาสตร์กราฟฟิคดีไซน์ มันจะมีคำว่า Democratization of tools การทำให้เครื่องมือเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือการทำให้เครื่องมือเป็นของประชาชนมากขึ้น
เรื่องตัวอักษรก่อนที่จะมีเทคโนโลยีการพิมพ์ก็ต้องคัดลายมือ ลองนึกภาพบาทหลวงคัดไบเบิล นั่งหลังขดหลังแข็งกว่าจะคัดไบเบิลเสร็จเล่มหนึ่ง แต่พอเริ่มมีเทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นมา คนที่สามารถถ่ายทอด (reproduce) ความเชื่อและความรู้ได้ก็ยังไม่ใช่ประชาชนทุกคนอยู่ดี เพราะว่าเมื่อก่อนแท่นพิมพ์ก็ใหญ่โต อยากได้ฟอนต์หนึ่งก็ต้องไปหล่อตะกั่วขึ้นมาเพื่อทำตัวอักษรเอามาเรียงเป็นแม่พิมพ์ อยากมีฟอนต์ไซส์ 12 กับไซส์ 14 คุณก็ต้องซื้อตัวหนังสือแยกชุดกัน ดังนั้น มันเลยยังเป็นเรื่องที่ต้องมีทุน ต้องมีสถานที่ มันไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปสามารถทำได้ ผู้ที่สามารถผลิตหนังสือและถ่ายทอดอุดมการณ์ความคิดไปได้กว้างไกล ก็คือศาสนากับรัฐ
ต่อมาเริ่มมีเทคโนโลยีที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงการควบคุมตัวอักษรได้มากขึ้นที่เป็นเทคโนโลยีขั้นเปลี่ยนผ่าน เช่น ตัวขูด ที่สมัยก่อนซื้อมาเป็นแผ่นๆ แล้วก็ถูๆ จากนั้นเป็นยุคคอมพิวเตอร์ เกิด desktop publishing ขึ้นในยุค 80s พร้อมกับที่มีคอมพิวเตอร์ Macintosh แล้วมันแผ่ขยายไป ทำให้คนสามารถเข้าถึงเครื่องมือ เข้าถึงตัวอักษรและผลิตสิ่งพิมพ์หรือเผยแพร่ความรู้ ความคิด เผยแพร่อำนาจรัฐได้กว้างขึ้นเรื่อยๆ Democratization of tools มันเลยมาสุดตรงยุคที่คนสามารถซื้อคอมพิวเตอร์ได้ มีพรินเตอร์เป็นของตัวเอง ตัวหนังสือมาเป็นไฟล์ฟอนต์ ทีนี้ช่วงที่คนทั่วไปยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีการพิมพ์ มันก็กลายเป็นว่า ใครที่มีทรัพยากรและมีอำนาจก็จะเสียงดังกว่า หรือมีโอกาสที่จะผลิตสื่อ ผลิตสิ่งพิมพ์มากกว่า ก็คือศาสนากับรัฐอีกเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่นเรื่องที่เราต้องจำ กอเอ๋ยกอไก่ ขอไข่ ญอหญิง เคยมีอาจารย์ปิยลักษณ์ เบญจดล คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ เขาตั้งคำถามเรื่องภาพที่เราใช้เล่าเรื่องญอผู้หญิง แล้วเขาไปไล่ดูตำราในยุคต่างๆ ภาพผู้หญิงที่อยู่ข้างตัวญอหญิงมันสะท้อนว่า ณ ช่วงนั้น รัฐอยากให้ผู้หญิงในอุดมคติเป็นยังไง
เช่น ภาพผู้หญิงใส่ชุดไทยร้อยมาลัย พอบางยุคบทบาทครอบครัวถูกรัฐปลูกฝังว่าผู้ชายต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงก็จะเป็นภาพส่งสามีออกไปทำงาน หรือพอเริ่มมีตำราที่ใช้ในภาคใต้ ญอหญิงโสภาในตำราภาคใต้ก็อาจแต่งตัวแบบชุดมุสลิม
สิทธิ เสรีภาพ ของนักสร้างภาพศิลปะ
เสรีภาพในการแสดงออกด้วยศิลปะในไทยเป็นอย่างไร ความเสี่ยงในการติดคุกหรือการโดนจับเพราะแสดงความคิดเห็น มันขนาดไหน
Headache Stencil: เราถูกกดดันด้วยวิถีทางกฎหมายก่อน เขาหาให้ผิดได้อะ สุดท้ายมันอาจจะไปโดนในแง่หมิ่นประมาท ซึ่งหมิ่นหรือเปล่าไม่รู้ เขาฟ้องไปก่อน แล้วการฟ้องหมิ่นประมาท คนระดับนั้นค่าศาลมันไม่ได้เดือดร้อนเขา แต่การที่เราไปขึ้นศาลมันมีค่าใช้จ่าย
Type lover เพื่อนร่วมทีมเสริม: เป็นการฟ้องเพื่อก่อกวน
Headache Stencil: ใช่ กวนเพื่อให้หมดกำลังใจ แต่อย่างเราทำงานทุกครั้ง อย่างน้อยพอเรารู้ว่ามันจะเสี่ยงมาก เราจะโทรคุยกับทนายก่อนละ ว่ายังไงเราถึงจะรอด หรือถ้าโดนให้โดนน้อยที่สุด
วิธีกดดันมันมาหลายรูปแบบ พอใช้กฎหมายสร้างความกลัวไม่ได้ ก็ใช้วิธีนอกกฎหมาย เช่น คุณอยู่บ้านแล้วเดินเข้าออกบ้านตอนดึกๆ บ่อยๆ แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งคุณมาเจอคนแปลกหน้าเดินผ่านแล้วมองคุณทุกวันๆ ต่อให้เขาไม่ทำอะไรเลย คุณก็หลอนแล้ว คุณก็ไม่มีความสุขในการจะอยู่แล้ว ผมเจอสภาวะนั้นบ่อยมาก บ่อยจนชินแล้ว คราวนี้พอพ้นระดับนั้นมาแล้ว ล่าสุดที่ผมเจอคือผมกำลังจะทำงาน Exhibition ที่จะเป็นทัวร์หลายๆ จังหวัด แล้วผมปล่อยโปสเตอร์ตัวแรกซึ่งมีรายชื่อของศิลปินทั้งหมดอยู่ หนึ่งในศิลปินที่มีรายชื่ออยู่ในโปสเตอร์นั้น เหมือนเขาได้รับงานของหน่วยงานรัฐ เขาถูกแคนเซิลงานกับหน่วยงานรัฐ ด้วยเหตุผลที่ว่า ร่วมงานกับ Headache Stencil ต่อไปเวลาเราจะชวนใคร หรือไปร่วมงานกับใคร มันก็ยากขึ้น
ในต่างประเทศ ทั่วโลก ศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่คนใช้เพื่อเรียกร้อง หรือเพื่อขับเคลื่อนประเด็นในสังคม แต่ทำไมในไทยมันกลายเป็นเรื่องที่ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงขนาดนี้
Headache Stencil: ผมว่ามันเป็นภาพลวงตาที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนี้มากกว่า ไม่ใช่แค่ตัวงานศิลปะ มันรวมถึงหนัง ศิลปะทุกแขนงที่พยายามจะสื่อสารเรื่องการเมือง มันเหมือนมีภาพลวงตาที่มาครอบ แล้วบอกเราว่า คุณทำแบบนี้ไม่ได้ ทั้งๆ ที่ในขั้นตอนการเริ่มต้นที่คุณศึกษาศิลปะ ศิลปะคือความอิสระ
ภาพลวงตาได้ถูกสร้างขึ้นหลังการปฏิวัติเป็นต้นมา มันเพิ่มกลุ่มคนที่เราไม่สามารถแตะต้องได้ในแง่ใดๆ ทั้งสิ้นเลย ไม่ว่าจะทางสังคมหรือว่าทางกฎหมาย เพราะอย่างที่เห็นว่าหลายเรื่องที่เรารู้สึกว่า เฮ้ย.. มันไม่ใช่ป้ะวะ แล้วก็มีคนพยายามไปฟ้องร้องหรือทำอะไรสักอย่าง สุดท้ายก็ไม่ได้รับการตอบรับใดๆ ทั้งสิ้นพอยิ่งเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น มันยิ่งบีบให้คนเหลืออยู่แค่กล้ากับไม่กล้า ซึ่งฟังดูมันเหมือน 50-50% แต่จริงๆ ไม่ใช่ คนที่กล้าจริงๆ มีอยู่แค่ 20% ที่พร้อมจะอยู่ในจุดที่นายจ้างเลิกจ้าง เพราะเรามีความคิดเห็นทางการเมือง แล้วจะไม่รู้สึกอะไร ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนรวยหรืออะไรเลย มันอยู่แค่ใจว่า เรายังยืนยันในสิ่งที่เราคิดหรือสิ่งที่เราทำว่ามันถูกต้องหรือเปล่า หรือมันอาจจะไม่ถูกก็ได้นะ แต่เราควรจะมีอิสระในการคิดและพูดหรือเปล่า เพราะถ้าเกิดเรากลัวในการที่จะพูดหรือแสดงออก มันเท่ากับเราเป็นคนยืนยันด้วยตัวเราเองนะว่า เราไม่ได้มีสิทธิในการคิดหรือแสดงออกอย่างอิสระ เรายืนยันกับระบบสังคมเองว่า ประเทศนี้ไม่ได้มีอิสระในการคิดและการแสดงออก
แล้วคนที่สร้างภาพลวงตานี้ก็คือสื่อสารมวลชนนะ ที่ทำให้การแสดงออกของศิลปินกลายเป็นสิ่งต้องห้ามมากขึ้นเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของโลกที่ศิลปะถูกการเมืองปิดกั้น มันมีมาตั้งแต่ฝั่งยุโรปสมัยโบราณ ที่ไล่ล่าศิลปินหาว่าเป็นแม่มด มันเกิดขึ้นและผ่านไปนานมากแล้ว แต่สิ่งนี้กลับกำลังวนกลับมาเกิดในประเทศของเรา
Type lover: สิ่งที่ทางผู้ถืออำนาจประสบความสำเร็จที่สุดคือ การทำให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติของคนที่เป็นประชาชนทั่วๆ ไป ทีนี้ระดับความกล้า ระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนจะรับได้มันก็แตกต่างกันไป แต่ว่าท้ายที่สุดแล้ว การเซนเซอร์ตัวเองโดยอัตโนมัติมันกำลังเกิดขึ้น
เราเคยมีงานแสดงเมื่อ 2 ปีก่อน มีการออกข่าว แล้วในกลุ่มไลน์เพื่อนสมัยเรียน มีคนทักมา “เฮ้ย.. มีทหารไปเยี่ยมบ้านยัง” มันทำให้เรารู้สึกว่าทางผู้ถืออำนาจรัฐเขาประสบความสำเร็จมากในการที่ทำให้คนรอบๆ ตัวเรามีวิธีคิดแบบนี้ คือต่อให้เรารู้สึกว่า เราโอเค งานจบไปละ มันทำให้สังคมรู้สึกว่า ทุกคนควรเซนเซอร์ตัวเอง และถ้าคนใกล้ตัวคุณเขาทำอะไรก็ช่วยไปเซนเซอร์เพื่อนคุณด้วย ซึ่งไม่ว่าจะด้วยความกลัวหรือความเป็นห่วง ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาถามทีเล่นทีจริง แต่อะไรแบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นไง
การสื่อสารคืออาวุธของทุกคน
นอกจากเรื่องการออกแบบตัวอักษรและศิลปะ อีกเรื่องที่เพจอยากสื่อสารคือพลังของการใช้สื่อ และการออกแบบสารในสื่อสาธารณะ ช่วยขยายความให้ฟังหน่อย
Type lover: ‘Weapons of Mass Communication’ เป็นคำที่ชอบมาก เพราะเป็นชื่อของหนังสือเล่มหนึ่งที่รวมคอลเลกชันพวกโปสเตอร์สงคราม เวลาเราศึกษาประวัติศาสตร์กราฟิก เราเจอว่า Visual Communication ของรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จมันเข้มแข็งมาก คุณลองไปดูโปสเตอร์สังคมนิยมจีน รัสเซีย อิตาลี หรือแม้แต่ดีไซน์ของนาซี ทุกอย่างมันเข้มแข็ง ทรงพลัง เห็นแล้วภูมิใจ เห็นแล้วรู้สึกว่าถ้าเราเป็นกลุ่มเป้าหมาย เราก็คงเห็นดีเห็นงามไปกับเขา แล้วทีนี้ปรากฏว่า ในประเทศไทย ‘Weapons of Mass Communication’ ของไทยที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ อะไรที่ทำขึ้นมาเพื่อสถาบัน เราก็จะรู้สึกว่า ทองๆ เรืองๆ ประณีตๆ แข็งแกร่ง น่าภูมิใจ น่าศรัทธา
คำว่า ‘Weapons of Mass Communication’ มันคือสิ่งที่ตรงไปตรงมามากเลย เพราะว่าสุดท้ายการปลูกฝังความเชื่อเหล่านี้ทำให้ประชาชนหันมาฆ่ากันเองได้จริง มันทำให้คนไทยเกลียดกลัวคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ได้โดยที่อาจจะไม่ค่อยเข้าใจว่าคอมมิวนิสต์คืออะไรด้วยซ้ำ มันทำให้คนเยอรมันที่เห็นด้วยกับนาซีพร้อมใจจะฆ่าชาวยิวได้ มันทำให้ประชาชนในประเทศจีนฆ่ากันเองได้ เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องอันตรายมาก แต่ขณะเดียวกันก็สวยงามเหลือเกิน เวลาเห็นโปสเตอร์สงครามสวยๆ เท่ๆ เรามองแล้วเรารู้สึกว่ามันสวย มันเท่ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เราออกจากบริบททางสังคมตรงนั้นมาแล้ว ดังนั้น ถ้าเราจะช่วยในการต่อสู้ของเยาวชนหรือใครก็ตามในช่วงนี้ เราไม่สะดวกที่จะไปม็อบ เราช่วยอะไรเขาได้บ้าง ซึ่งตอนนี้เราเห็นว่า คนรุ่นใหม่ ฉลาดในการใช้ Visual Communication และสัญลักษณ์ต่างๆ ทำมีมกันเร็วมาก ทำหมุดคณะราษฎรกันทั้งเร็ว ทั้งเยอะ ทั้งตั้งใจและทุ่มเท เราเลย เอ๊ะ.. ถ้าเราเพิ่ม design element เราค่อยๆ ทำฟอนต์ออกมาเรื่อยๆ แล้วมีคนเอาไปทำงานสวยๆ งานดีๆ ที่มันอิมแพ็คต่อใครๆ ต่อไป ขยายภาพจำการส่งต่อเจตนาต่างๆ ไปใน form ของฟอนต์ที่เราทำ มันก็น่าจะเป็นการส่งต่ออาวุธที่ดีเหมือนกัน
Headache Stencil: ผมว่ามันไม่ใช่แค่งาน Graffiti อย่างเดียว อาจเป็นงานของ Fine Art หรือว่ากราฟิกก็ได้ คือศิลปะมันมีข้อได้เปรียบในการเอาผิดทางกฎหมายอยู่ อย่างภาพ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ผมทำแล้วเอามงกุฎไปครอบไว้ตรงกลาง มันขึ้นกับการตีความจริงๆ ถ้าผมไม่เขียนแคปชันอธิบายนะ คราวนี้ต่อให้ภาพมันแรงแค่ไหน หรือจะถูกตีความไปให้แรงได้แค่ไหน เราแก้ต่างให้มันเป็นอีกอย่างหนึ่งได้ มันไม่ได้เหมือนกับการพูดหรือการเขียนหนังสือ ผมคิดว่านี่ยังเป็นข้อได้เปรียบของการใช้ศิลปะอยู่ แต่บริบทจากสังคม ณ ตอนนี้ Street Art หรือ Graffiti น่าจะเป็นอุปกรณ์ในการสืบสานและส่งออกเมสเสจทางการเมืองด้วยศิลปะได้ง่ายที่สุด เพราะว่ามันใช้พื้นที่อิสระมาก เราอยากไปพ่นตรงไหน โอเคมันจะมีพื้นที่ที่ผิดกฎหมายและไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งมันแล้วแต่ศิลปินคนไหนจะเลือกใช้พื้นที่แบบไหน แต่ว่าสำหรับผมมันค่อนข้างเป็นพื้นที่ที่อิสระมากที่สุด ณ ตอนนี้ อิสระมากกว่าการ์ตูนในหนังสือพิมพ์อีก
สำหรับผมแล้ว ศิลปะตอนนี้น่าจะเป็นวิธีแสดงออกทางการเมืองที่ไม่ได้เรียกว่าสวยงามที่สุด แต่เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการสื่อสารออกมาว่าเราคิดเห็นทางการเมืองยังไง
ฟอนต์ ที่เป็นของประชาชน
ฟอนต์ ‘ทางม้าลาย’ กับ ‘หัวหาย’ ที่ปล่อยให้โหลดตอนนี้ มีที่มาอย่างไร
Type lover: เราอยากสร้างเครื่องมือที่ใครๆ อยากเอามาใช้ก็ใช้ได้ ส่วนหนึ่งก็คือ เราไม่เห็นด้วยกับดีไซเนอร์บางคนที่ห้ามผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับเขานำฟอนท์ของเขาไปใช้ เราว่ามันเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง เมื่อไรก็ตามที่คุณผลิตฟอนต์ออกมา เหมือนกับคุณผลิตก้อนอิฐออกมา แล้วคนเขาจะเอาไปก่อสร้างเป็นบ้านแบบไหนมันก็เรื่องของเขา เขาจะเอาไปสร้างโรงเรียน หรือสร้างฐานทัพ หรือสร้างแหล่งซ่องสุม มันก็เรื่องของเขา
สองฟอนต์แรกที่กำลังทำออกมา ฟอนต์ทางม้าลายมันต่อยอดจากงานที่พ่นบนพื้น เราก็ออกแบบมาให้มันพ่นง่ายส่วนฟอนต์หัวหายมันก็เกิดจากมีคนเคยทำภาพ”ประชาชน”ที่ไม่มีหัวอยู่แล้ว แล้วเรารู้สึกว่ามันกระทบใจ ตอนที่ สว. เขาไม่เอาการแก้รัฐธรรมนูญ คำว่าไม่เห็นหัวประชาชน เราก็เลยทำให้เป็นฟอนต์ คุณจะพิมพ์ว่า นักเรียน นักศึกษา เยาวชน ผู้เสียภาษี ผู้มีรายได้น้อย คนจน คนพิการ อะไรทั้งหลายที่ถูกรัฐไม่เห็นหัวก็ใช้ฟอนต์นี้ได้หมด เราอยากสร้างเครื่องมือทางการสื่อสารที่มันเข้าถึงได้
ตัวอักษรพูดเรื่องการเมืองได้อย่างไรบ้าง
Type lover: ผมศึกษาว่า โปรเจกต์เกี่ยวกับ Typography ที่พูดเรื่องการเมืองในต่างประเทศมันมีอะไรน่าสนใจบ้าง ก็มีดีไซเนอร์ที่ทำฟอนต์สำหรับการประท้วง ฟอนต์ที่พ่นง่าย หรือฟอนต์ที่ใส่คำสั่งไว้ว่าพอเราพิมพ์เรียงเป็นคำที่ต้องห้ามโดยรัฐปุ๊บ มันจะกลายเป็นแถบก้อนๆ มาบัง มันมีคนต่างชาติที่เขาใส่เทคโนโลยีล้ำๆ เข้าไปในฟอนต์เยอะมาก หรือว่ามีภาษาของชนกลุ่มน้อยที่กำลังจะสูญหายไป ก็มีคนทำฟอนต์ของมันขึ้นมา เพื่อที่หากคนในชนเผ่านี้หายไปแล้ว อย่างน้อยมีซอฟต์แวร์นี้เพื่อสามารถจะพิมพ์ภาษานี้ต่อไปได้ คือเรารู้สึกว่า มัน fascinating มากที่เห็นเจตนาแบบนี้ หรือว่าฟอนต์ที่ครึ่งบนเป็นอังกฤษ ครึ่งล่างเป็นอีกภาษา พอพิมพ์ไปพร้อมกันปุ๊บ คนที่ถนัดอ่านภาษาหนึ่งก็มองข้างบนแล้วยังรับรู้ได้ คนอีกกลุ่มก็มองข้างล่างแล้วรับรู้ได้ เฮ้ย.. มันมีอะไรให้ทำเยอะแยะเลย นอกจากตัวอักษรที่ เฮ้ย.. สวยดี เอาไปใช้เหอะ แต่ว่าตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าปลายทางเราจะได้ทำอะไรแบบนั้นหรือเปล่า เราก็เลยลองเริ่มจากอะไรอย่างนี้ก่อน
ตัวอักษรเดินทางจากของที่มีต้นทุนสูง มาสู่สิ่งที่ใครๆ ก็ใช้ได้ เช่นเดียวกับสตรีทอาร์ทตอนนี้ที่เดินทางจาก High Art Fine arts ลงมาถึงมือใครก็ทำได้ นี่จึงเป็นเหมือนส่วนผสมสองอย่างที่มาเจอกันถูกที่ถูกเวลา เป็นอาวุธในการสื่อสารแห่งปัจจุบัน เราถือวิสาสะสรุปบทสนทนาในวันนี้
Headache stencil: จะสรุปแบบนี้ก็ได้นะ ถ้าเป็นในบริบทต่างประเทศที่เขาสามารถสื่อสารผ่านสตรีทอาร์ตได้ แต่ถ้าในไทย มันยังมีข้อจำกัดทางความคิด ไม่มีศิลปินกล้าออกมาใช้สื่อสาร เพราะทุกคนยังต้องทำงานหาเงิน สภาวะตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องของความอยุติธรรมที่ชัดเจน การเมืองมันเป็นเรื่องที่มีฝั่งซ้ายฝั่งขวาชัดเจน เราไปบังคับให้คนซ้ายมาชอบขวา คนขวามาชอบซ้ายไม่ได้ เเล้วแบรนด์เขาก็มีลูกกค้าทั้งสองฝั่ง เพราะฉะนั้น เขาก็จะเลือกไม่แสดงออกทางการเมือง ซึ่งก็คลุมไปถึงการเลือกศิลปินมาร่วมงานด้วย ซึ่งก็ยิ่งเป็นโจทย์ให้ศิลปินไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ เพราะมันคืออาชีพของเขา การแสดงออกของคุณครั้งเดียวมันอาจจะตัดสินอนาคตของคุณต่อจากนี้ไปเลย
Type lover: เราอยากเห็นภาพที่ทั้งสองฝ่ายสู้กันบนโลกโซเชียลด้วย visual ที่มันสร้างสรรค์ น่ารักๆ แต่ก่อนมันมีการ์ตูนการเมือง หรือภาพวาดที่มันรุนแรง หรือการเชียร์ตัวเองที่มันสร้างความเป็นฮีโร่มากๆ แต่เรามองว่าเดี๋ยวนี้มันสื่อสารแบบน่ารักๆ ซอฟท์ขึ้นได้ approachable ให้ข้อความมันไม่ใช่การโจมตี แต่เป็นการชวนคิด กระตุกให้ได้คิด
สุดท้าย ไม่ว่าเราจะเห็นต่างกันแค่ไหน เรายังต้องอยู่ในสังคมเดียวกันต่อไป ถ้าเราไม่เห็นด้วย เราอยากโต้แย้ง เราต้องต่อต้านโดยไม่มีเจตนาที่ไปเหยียบอีกฝั่งหนึ่งให้ตาย หรือขับไล่ออกนอกประเทศ แต่เปลี่ยนเป็นการจะพูดอย่างไรให้ฉุกคิด และเกิดการสนทนากันเกิดขึ้น
ติดตามผลงานและโหลดฟอนต์ฟรี ได้ที่ Facebook Page Prachathipatype