- “เพราะเด็กที่โตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่มีพื้นที่ให้เขาได้ออกมาทำกิจกรรม ทักษะการเข้าสังคมของเขาก็จะน้อยลง ส่งผลกระทบไปถึงเรื่องการสื่อสารกับผู้อื่น ทำให้เขาโตขึ้นมาไม่กล้าแลกเปลี่ยน ไม่กล้าคุยกับคน” คุยกับ โจ-จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกชุมชนในย่านที่ชักชวนคนในพี่น้องในย่านมาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาย่านตลาดน้อย โดยใช้วิธีคิดที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกคนและการสำรวจความต้องการของพี่น้องในชุมชนเป็นแกนหลัก
- การพัฒนาย่านครั้งนี้ทำให้โจได้กลับมาทำความรู้จักกับ ‘บ้าน’ ของตัวเองอีกครั้ง ยิ่งกว่านั้นนอกจากชุมชนที่เปลี่ยนไป ‘ความรู้สึกข้างในที่มีต่อพื้นที่’ ของโจก็เปลี่ยนไปด้วย
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
หากพูดถึงย่านเก่าที่ยังคงความแข็งแรงและมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมในเขตกรุงเทพฯ คงมีไม่กี่ชื่อที่ผุดเข้ามาในหัว หนึ่งในนั้นคือ ตลาดน้อย-เจริญกรุง ย่านที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี เพราะนอกจากพื้นที่ตรงนี้จะเป็นบ้านเรือนที่เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ในชุมชนตลาดน้อยยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าจีนสไตล์ฮกเกี้ยนอย่างศาลเจ้าโจวซือกง หรือโบสถ์คริสต์โรมันคาทอลิกอย่างโบสถ์กาลหว่าร์ ด้วยความสมบูรณ์ของวิถีชีวิตและบรรยากาศของชาวตลาดน้อย จึงทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศจำนวนไม่น้อย เลือกเข้ามาใช้เวลาเดินเที่ยวชมย่าน เสพสุนทรียะตามตรอกซอกซอยในชุมชน
The Potential ชวน โจ-จุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกชุมชนในย่าน ที่ชักชวนคนในย่านมาช่วยกันเปลี่ยนแปลงและพัฒนาย่านตลาดน้อย ในนามกลุ่ม ‘ปั้นเมือง’ พูดคุยถึงการเดินทางของเขาในการกลับมาทำความรู้จักกับ ‘บ้าน’ ของตัวเองอีกครั้ง รวมไปถึงพูดคุยถึงแนวทางการพัฒนาชุมชนที่ใช้กระบวนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพี่น้องในชุมชน เน้นสำรวจความคิดเห็นและให้คนในชุมชนลงมือทำเพื่อ ‘บ้าน’ ของตัวเอง
ท้ายที่สุดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพครั้งนี้ ตลาดน้อยมีระเบียบขึ้น มีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้วิ่งเล่น มีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็นรูปธรรมให้พี่น้องในชุมชนได้ใช้ร่วมกัน แต่ในแง่ของความรู้สึก กระบวนการดังกล่าวที่ดึงให้คนในชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้กลายเป็นเครื่องมือฝังวิธีคิดให้ชาวชุมชน กล้าพูด กล้าแสดงออก และเกิดเป็นสำนึกรักพื้นที่ของตัวเองได้ในที่สุด
ใจความสำคัญหนึ่งที่โจใช้ปักธงการเปลี่ยนแปลงย่านคือ “ย่านจะพัฒนาและกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ คนในต้องอยู่สบายก่อน”
จุดเริ่มต้นในการพัฒนาย่านตลาดน้อยคืออะไร คุณมองเห็นอะไร
เราไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนเลย อาจเป็นเพราะเราเกิดที่นี่ เราอยู่ตรงนี้ทุกวัน มันก็มีความผูกพันกับพื้นที่อยู่บ้าง ย้อนไปเราจบสถาปนิกมา เราทำงานอยู่ในสายงาน commercial อยู่ประมาณเกือบปี เราออกแบบบ้าน ดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ ไม่เคยจับงานชุมชนเลย แต่พอเราทำตรงนั้นไปได้สักพัก เรารู้สึกว่ามันมีอีกหลายๆ เรื่องที่เรายังไม่เคยลอง ตอนนั้นเราก็มีคำถามกับงานสายธุรกิจที่เราทำเยอะเหมือนกัน เราถามตัวเองว่า ‘งานออกแบบที่เราจับอยู่ จะทำมันอย่างไรให้มีประโยชน์มากที่สุด’ บวกกับตอนนั้นเรากำลังจะเรียนต่อพอดี เราจึงเลือกเรียนต่อในสายชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่สถาบันอาศรมศิลป์ แต่เราก็ยังไม่ได้คิดที่จะทำงานชุมชนนะ เพราะสนใจสิ่งแวดล้อมมากกว่า (อาจจะเป็นเทรนด์ช่วงนั้นเลยทำให้เราอิน)
พอเรียนไปเรื่อยๆ ในปีสุดท้าย เราจำเป็นต้องทำงานควบคู่ไปด้วย โจทย์ของเราคือการทำ project base เพื่อพัฒนาสิ่งต่างๆ ต้องทดลองและลงพื้นที่ จึงเกิดการจับมือกันระหว่างชุมชนคนรักตลาดน้อย สสส. และ สถาบันอาศรมศิลป์ เพื่อทำโปรเจ็คต์พัฒนาชุมชนขึ้นมา
ความรู้สึกช่วงแรกที่เริ่มทำงานชุมชน ถึงแม้เราจะเกิดที่นี่ โตที่นี่ แต่เราแทบจะไม่รู้จักบ้านเราเลย ทุกอย่างต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด แม้เราจะบอกว่าเราเป็นคนตลาดน้อย แต่ชีวิตเราผูกพันกับพื้นที่เล็กๆ เพียงแค่ละแวกบ้านเท่านั้น เรารู้จักแค่คนในซอย คุ้นหน้าแค่ที่เดินผ่านตอนเราเดินไปเรียน ไปทำงาน แต่เราไม่เคยรู้อะไรมากไปกว่านั้นเลย เราไม่เคยรู้จักตลาดน้อยในมุมอื่นๆ
ดังนั้นการที่เรามาทำงานชุมชน อย่างแรกคือการทำความรู้จักชุมชนของตัวเองก่อน เราต้องรู้จักคนอื่น เราต้องสำรวจว่าคนอื่นมีนิยามต่อชุมชนว่าอย่างไร ถึงแม้เราจะนั่งคุยอยู่ในสิ่งเดียวกัน มีใจอยากพัฒนาเหมือนกัน แต่เราเข้าใจคำนั้นอย่างเดียวกันไหม เราจึงต้องเริ่มต้นจากการ ‘ฟัง’ ฟังทุกคนเยอะๆ ฟังทุกเสียง
หัวใจหลักของการทำงานพัฒนาชุมชนสำหรับเรา คือ การทำให้คนในชุมชนเองตั้งคำถามว่าตัวเองรู้สึกกับย่านตัวเองอย่างไร หรือเขามี vision ต่อชุมชนว่าอย่างไร จึงทำให้งานในปีแรกที่เราเริ่มทำ เราหมดเวลาไปกับการคุยกับคนเยอะมาก เราคุยทุกระดับ ทั้งชาวบ้าน ผู้นำชุมชนในเรื่องศาสนา ผู้นำเรื่องเศรษฐกิจ เราสะสม data ไว้เยอะ เราได้เป็นกรอบกว้างๆ เพื่อสรุปว่าคนตลาดน้อยอยากเห็นอะไร เขาอยากจะคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ใช่ไหม ทั้งวัฒนธรรม คุณค่าประเพณี เศรษฐกิจปากท้อง และชุมชนต้องดูเป็นมิตร
เมื่อเราได้ vision มาแล้ว สิ่งต่อไปเราจึงต้องมองหาพื้นที่เพื่อทำ action ซึ่งตลาดน้อยเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยความที่ตลาดน้อยซับซ้อนน้อยกว่าย่านเยาวราช ตลาดน้อยเป็นพื้นที่เย็น ไม่ได้มีประเด็นร้อน หรือมี pain point อะไรที่ทำให้คนต้องรีบลุกฮือขึ้นมา ผู้คนก็ชิลๆ นี่จึงเป็นที่มาทำให้เราตัดสินใจลุยกับพื้นที่ตรงนี้ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 7-8 ปี ที่ค่อยๆ ทำมา
ตลาดน้อยเมื่อ 7-8 ปีก่อนเป็นอย่างไร
อย่างที่บอกเรากำลังพยายามชวนให้ทุกคนข้างในชุมชนตอบตัวเองว่า เขารู้จักตัวเองแค่ไหน รู้จักย่านตัวเองแค่ไหน ซึ่งในตอนนั้นคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมีใครรู้ประวัติศาสตร์บ้านตัวเองหรอก แต่เราก็พยายามทำให้คนมาคุยกัน จับประเด็นคัดแยกเป็นตระกร้าไว้ บางคนเขาสนใจเรื่องการทำย่านให้อยู่ในเชิงท่องเที่ยว บางคนสนใจอยากให้ย่านกลายเป็นแหล่งธุรกิจ บางคนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม บางคนชิลเขาสนใจแค่จะทำอย่างไรให้อยู่สบายและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็พอ
โดยทั้งหมดทั้งมวลทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ‘ทุกคนอยากอยู่ที่นี่ อยากอยู่บ้าน’ ซึ่งแต่ก่อนสปิริตของย่านและคนในชุมชนต้องยอมรับว่าอาจจะไม่เข้มแข็งมาก ทำให้หลายๆ คน เลือกที่จะออกไปอยู่ที่อื่น พอคนย้ายออกความเป็นเอกลักษณ์ต่างๆ ก็หายตาม เรื่องราวต่างๆ ของตลาดน้อยมันย่อมอยู่ในคนตลาดน้อยใช่ไหม ยิ่งคนที่มีเชื้อสายจีนด้วย เขายิ่งแคร์เรื่องการเป็นครอบครัว เขาอยากอยู่กับลูกหลานอยู่แล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรให้พื้นที่นี้มันส่งต่อเป็นมรดกให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ได้ใช้งานจริงๆ
พอเราเคาะแล้วว่าเราจะลงมือพัฒนาที่ตลาดน้อย อยากให้พูดถึง ‘กระบวนการ’ ทำงานว่าคุณทำงานอย่างไร
โปรเจ็คต์นี้เราไม่ได้ทำคนเดียว มีทีมที่อยู่กันมา เป็นคนที่สนใจและมีความเชื่อเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของคนเหมือนกัน เราเริ่มจากทำความรู้จักคนนั่นแหละ สำหรับตัวเราเองเรารู้จักบ้านตัวเองเพิ่มขึ้นเพราะโปรเจ็คต์นี้ เวลาทำงานเราก็คุยไปเรื่อยเลยครับ เราเดินไปตามซอย ใครชื่ออะไร บ้านอยู่หลังไหน ขายอะไร ทำเหมือนเพื่อนบ้านคุยกัน
ขยายความถึงขั้นตอนการสำรวจหน่อยว่าพบอะไรบ้าง แล้ววิธีนี้มันดีอย่างไร
มันทำให้ได้แลกเปลี่ยน ในขณะที่เราถามเขา เขาก็ถามเรา มันเป็นกระบวนการถามตอบไปเอง การเดินสำรวจทีละตรอกซอกซอยนอกจากจะได้รู้จักคนแล้ว ยังช่วยหาขอบว่าย่านตลาดน้อยกว้างถึงไหน นำไปสู่การทำแผนที่ infograhpic พอทำแผนที่ออกมาพบว่าซอยนี้ใกล้กับซอยนั้น ซอยนี้ทะลุไปซอยนี้ได้ งั้นเรามาช่วยกันทำความรู้จักพื้นที่กันไหม เอกลักษณ์เราคืออะไร ตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เพื่อทำการพัฒนา เช่น พบว่าย่านเราไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะส่วนกลางให้หยุดพักเลย หันไปทางไหนมันเป็นบ้านเรือนไปหมด ซึ่งคนในชุมชนก็เห็นด้วย งั้นนี่อาจจะเป็นโจทย์ต่อไปของเรา
อีกอย่างหนึ่งการเข้าไปทำความรู้จักกับคน มันจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจนทลายกำแพงระหว่างกัน เวลาพี่น้องอยากจะทำอะไร เขาก็จะมาบอก เช่น อยากจะจัดระเบียบซอยนี้ให้มันเรียบร้อย อยากขุดดิน อยากซ่อมตรงนู้นตรงนี้ เราก็ค่อยๆ ทำกับเขาด้วย หรือบางทีมีคนเดินหลงเข้ามาในย่าน เขาก็ให้เราช่วยทำแผนที่เพื่อบอกเส้นทางในตลาดน้อย
จะเห็นว่ากลุ่มเราไม่ได้มีธงตั้งแต่แรกว่าโปรเจ็คต์นี้จะต้องทำอะไร เราไม่ได้บังคับตัวเองว่ามาเปลี่ยนย่านแล้วต้องสร้างตึกสวยๆ เราแค่เห็นว่าตลาดน้อยมันน่าอยู่และมีความเฉพาะตัว แต่มันซบเซาลงเพราะปัจจุบันคนย้ายออกจากย่านของตัวเองเยอะ มันน่าเสียดายนะ
เพราะเมื่อคนย้าย มรดกทางวัฒธรรมต่างๆ ที่มันผูกพันกับคนมันก็ย้ายออกไปตาม ฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันคือการพัฒนาแบบ bottom up คือ การพัฒนาเริ่มจากคนก่อน
ซึ่งเรามองว่าถ้าอยากให้พื้นที่มันฟื้นฟูได้จริง มันต้องไปด้วยทั้งคน วัฒนธรรม ชุมชน เป็น eco sysmtem มันอยู่กันอย่างเป็นนิเวศ อันไหนอันหนึ่งหายไป อาจจะแย่ก็ได้ ลองคิดเล่นๆ ในย่านไชน่าทาวน์ที่ทุกอย่างมัน modernize (ทันสมัย) จนไม่เหลือที่ให้คนทำมาหากิน หรือไม่เหลือพื้นที่ให้เด็กได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ มันจะเกิดอะไรขึ้น?
แล้วหน้าตาปลายทางของการพัฒนาย่านครั้งนี้คืออะไร ต้องการทำให้ตลาดน้อยคือชุมชนท่องเที่ยวหรือเปล่า?
เราไม่ได้มี end product ที่ชัดเจนว่าตลาดน้อยจะเป็นแบบไหน ไม่อยากปิดกั้น คนข้างนอกมักมองว่าตลาดน้อยคือชุมชนท่องเที่ยว แต่ถ้าถามเรา เราว่าไม่ใช่ ตลาดน้อยคือชุมชนค้าขายและเป็นบ้าน เป็นที่อยู่อาศัย การท่องเที่ยวเป็นส่วนที่เสริมเข้ามา ถามว่าดีไหม มันเติมเต็มใน passive income ทำให้ร้านค้าในชุมชนมีลูกค้าเยอะขึ้น แต่ถ้าเราโฟกัสไปที่เรื่องเดียวมันอาจจะไม่ใช่คำตอบ
เรามองไปที่ความกินอยู่สบาย สภาพชุมชนสะอาด ถนนหนทางดี ทำให้คนเฒ่าคนแก่ออกมาเดินได้โดยที่ไม่โดนรถเฉี่ยว เด็กในชุมชนออกมาวิ่งเล่นได้ หัวใจคือคนในต้องอยู่สบายก่อน ค่อยไปนึกถึงคนข้างนอก
ซอยบางซอยที่เคยไม่เรียบร้อย เราก็ไปเก็บกวาด ผลพลอยได้คือมีคนนอกขี่จักรยานมาเที่ยว มาแวะกินก๋วยเตี๋ยวในชุมชนแค่นี้ก็โอเคแล้ว ประเด็นสำคัญคือคนในชุมชนต้องอยู่อย่างมีคุณภาพและปลอดภัยก่อน ถ้าเรื่องของการท่องเที่ยวจะตามมามันก็โอเค เพราะตลาดน้อยก็มี eco system ที่มีความเป็นตัวของตัวเองที่ชัดอยู่แล้ว
ระหว่างทางที่ทำโปรเจ็คต์นี้เจอเรื่องว้าวๆ ใหม่ๆ อะไรไหม
เรื่องว้าวเยอะมาก หนึ่งเลยคือ คนในชุมชน ไม่เคยคุยกันเลย (หัวเราะ) ไม่เคยคุยกันถึงเรื่องส่วนรวม แต่พอเขาได้คุยกันมากขึ้น มันก็ทำให้เขาโตขึ้น โตในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าแก่ขึ้นนะ เขาเติบโตขึ้นในมุมมองของชาวบ้านธรรมดาที่ทำงานเสร็จแล้วก็ปิดบ้านนอน ค้าขายเสร็จก็นอน เสาร์อาทิตย์ออกไปเที่ยวข้างนอก ไม่เคยเห็นบ้านของตัวเอง แต่ตอนนี้เขาเห็นบทบาทของตัวเองและมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นที่จะลุกขึ้นมาพูด แค่นี้สำหรับเราก็ว้าวแล้วนะ (ยิ้ม)
ถามแบบซื่อๆ ทำไมต้องมาตลาดน้อย
เราจะตอบในฐานะที่เราโตมาที่นี่ เรียนแถวนี้ เราว่าเวลาในตลาดน้อยมันเดินช้า มันมีความชิลลอยอยู่ในอากาศ ชิลมาก ในขณะที่บริเวณรอบๆ ทุกอย่างเปลี่ยนแล้ว แต่ในตลาดน้อยยังไม่ค่อยเปลี่ยน โอเคมันสะอาดขึ้นจาก 20 ปีที่แล้ว แต่ตลาดน้อยมันให้ภาพลางๆ ของกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาหนึ่งในบริเวณของความเป็นชุมชนได้เลย ไม่ใช่ว่าแถวเยาวราชหรือในเขตอื่นๆ ไม่เป็นนะ แต่ถ้าเราไหลเข้าไปซอย ไหลเข้าไปในชุมชน จะพบว่าคนตลาดน้อยไม่ค่อยเปลี่ยนวิถีของตัวเองเสียเท่าไหร่ เช่น ค้าขายบ๊ะจ่างแต่ยืนคุยกับลูกค้านานเป็นชั่วโมง ที่นี่อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับใครที่อยากจะสโลว์ดาวน์ชีวิต
มีวิธีการดีลกับคนในชุมชน ที่เขาไม่มั่นใจและไม่เชื่อในการเปลี่ยนย่านครั้งนี้อย่างไร
เราไม่ได้ซีเรียสว่าเราจะเปลี่ยนใคร เราโฟกัสว่าใครอยากทำอะไรมากกว่า แล้วเราก็แค่ลงมือทำ พอทำแล้วคนได้ประโยชน์ คนก็จะเรียนรู้ไปกับมัน ซึ่งเราเชื่อว่าเรื่องทุกเรื่องมันเป็นไปได้ แต่ว่าด้วยเงื่อนไขอะไร นานแค่ไหน หรือว่าต้องใช้อะไรบ้างมันเป็นอีกเรื่อง เราต้องตั้งไว้ว่าเราทำได้ ถ้ายังไม่หมดแรงไปก่อน เราก็จะทำอยู่ ส่วนคนที่เขาเปลี่ยนไม่ได้ เราก็จะได้มุมมองหลายอย่างจากเขา เช่น เรื่องที่เราจะทำ มันอาจไม่ได้จำเป็นกับเขาจริงๆ เขาไม่ได้รู้สึกสำคัญ หรืออินกับเรื่องนั้นจริงๆ
ตัวอย่างเช่น มีคนมาชวนให้พวกเขาทำเป็นชุมชนท่องเที่ยว เขาอาจจะไม่ซื้อ เพราะที่นี่คือย่านชุมชนที่อยู่อาศัย แต่ถ้าเราบอกว่าการท่องเที่ยวมันเป็นผลพลอยได้นะ เป็นแค่ซีนหนึ่งนะ แต่เป้าหมายจริงๆ คือเรากำลังจะทำถิ่นที่อยู่อาศัยในซอยของเราให้เรียบร้อยขึ้นนะ สะอาด ปลอดภัยขึ้นนะ มีคนมาดูแลมากขึ้น เจ้าของบ้านที่ดูแลหน้าบ้านตัวเอง เจ้าหน้าที่เขตมาดูแล หรือสุดท้ายถ้ามีนักท่องเที่ยวเยอะขึ้นก็จะมีคนเข้ามาดูแล มีไฟฟ้า มีแสงสว่างเพิ่มขึ้น มี CCTV ถึงแม้จะไม่ได้โดยตรงร้อยเปอร์เซ็นต์แต่มันมีสิ่งที่ได้ตามมาในเรื่องของคุณภาพชีวิต ที่อาจจะไม่ได้เห็นเดี๋ยวนั้น
เราไม่ได้บีบบังคับให้ทุกคนเปลี่ยน หรือให้ต้องทำ เราอาศัยการทำให้ดูก่อน ตรงไหนทำได้เราก็ค่อยๆ ทำไป เช่น ซอยโรงเกือกที่มีสตรีทอาร์ต เราก็ไปวาดให้ก่อน เราจัดระเบียบให้มันสวยงาม เรียบร้อย พอชาวชุมชนเห็น เขาก็มาช่วยกันคิด ระดมไอเดียว่ารูปที่วาดมันน่าจะเล่าเรื่องของชุมชนด้วยนะ เขาก็ดำเนินการได้เอง หรือถ้าบุคคลภายนอกเห็นแล้วอยากมาวาด เขาก็สามารถมาคุยกับชุมชนเองโดยตรงไม่ต้องผ่านเราแล้ว เพราะสุดท้ายสีที่วาดมันก็จะจางหายไป แต่จะทำอย่างไรให้พื้นที่นั้นมีไดนามิค และเป็นพื้นที่ที่คนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากกว่า
ปัจจุบันพื้นที่ชุมชนตลาดน้อยเป็นพื้นที่ที่จัดงานนิทรรศกาล Bangkok Design Week มา 2 ปีแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้มีนิตยสารฉบับหนึ่งอยากมาทดลองทำไฟอีก ซึ่งคนแถวๆ นี้ก็ได้ประโยชน์ตามไป พอจะตั้งที่ทางค้าขายได้บ้าง เปลี่ยนแปลงในสเกลที่น่ารัก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้มันทำให้ eco system มันไปได้ด้วยตัวเอง สุดท้าย product ของชุมชนตลาดน้อยไปหวังพึ่งคนข้างนอก ยังไงก็เจ๊ง
โจทย์คือจะทำอย่างไรให้คนข้างในได้ใช้ได้ทุกคน ร้านข้าวบางร้านที่เปิดขึ้น เราไม่ได้เปิดให้คนข้างนอกเป็นอันดับแรก แต่เราเปิดให้คนข้างในออกมากิน คนข้างในออกมาใช้พื้นที่ของตัวเองมากกว่า ถ้า service หรือ product ที่มันตอบคนข้างในได้ ทำให้คนในย่านรู้จักทรัพยากรหรือของที่อยู่ในย่านเขาเองน่าจะดีกว่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำ เช่น การแนะนำสถานที่สำคัญ การจัดอีเวนท์ เพราะอยากให้เด็กรุ่นต่อไปได้รู้จักว่า อะไรอยู่ตรงไหน ใครขายอะไร และชุมชนมีเรื่องราวที่ไปที่มาอย่างไร
แล้วคุณมีวิธีการทำงานกับคนที่ยังไม่เชื่อ ไม่อยากเปลี่ยนในชุมชนอย่างไร
เราไม่ทำงานคนเดียวอยู่แล้ว เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ เราเหมือนเป็น facilitator ที่อยู่ขนาบเขากับชุมชน ถ้าเขาขาดอะไรเราค่อยเติม แต่เราจะทดลองทำไปด้วยกัน เพราะโปรเจ็คต์นี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว เพราะถ้าเราเป็นเจ้าของโปรเจ็คต์คนเดียว พอทำเสร็จ มันก็จบ ชุมชนไม่ได้อะไร
อะไรที่ทำให้ตลาดน้อยพัฒนาได้ เป็นเพราะตลาดน้อยมีแม่น้ำ มีวัฒนธรรม เป็นเรื่องของทรัพยากรอย่างเดียวหรือเปล่า แล้วชุมชนอื่นๆ จะพัฒนาได้ไหม
การที่คนเราจะทำอะไรสักอย่าง เชื่อว่ามันต้องเริ่มจากการที่เราต้องได้เสียอะไรกับมัน แต่ความได้เสียนี้ ถ้าตัดผลประโยชน์ออกไป มันคือความผูกพันของย่าน การตั้งคำถามกับตัวเองว่าเขาอยากจะอยู่ในย่านนี้ต่อไปไหม แล้วจะอยากอยู่ต่อไปแบบไหน สำหรับเรา เราก็เกิดที่นี่ โตที่นี่ รักที่นี่ และเชื่อว่าลึกๆ ทุกคนก็น่าจะรักบ้านตัวเองเหมือนกันไม่ว่าคุณจะอยู่ย่านไหน เขตไหน ด้วยความที่ตลาดน้อยเป็นชุมชนเก่า เป็นย่านที่มีซอยย่อยๆ นี่คือข้อดีที่ทำให้ชาวบ้านได้เจอกัน ได้รู้จักกันโดยปริยาย ซึ่งบางพื้นที่อาจจะไม่เอื้อให้มีพื้นที่ให้คนได้หยุดคุยกันมากเหมือนตลาดน้อย
ประโยชน์ของการมีพื้นที่ทางสังคม มันก่อให้คนเกิดปฏิสัมพันธ์กัน เมื่อคนรู้จักกันแล้ว มันทำให้คนเห็นปัญหา เห็นประเด็นเดียวกัน และมันจะสร้างเป็นพลังกำลังขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ตัว ไม่ต่างจากที่สถาปนิกหลายๆ คนชอบพูดว่า ‘ชีวิตของมนุษย์จำเป็นต้องมี space นะ’ ก็เพราะนี่มันคือคำตอบ การมีพื้นที่มัน shape คุณภาพชีวิตของเราได้ เราจะไม่มีวันเข้าใจหรอกว่า การมีชีวิตที่มีพื้นที่อย่างไม่มีอะไรมาขวางหรือการมีพื้นที่ให้เจอกันมันดียังไง แต่การปล่อยให้ชีวิตเจอกับภาวะกลับบ้าน ขับรถ เปิดประตูเข้าบ้าน ขับรถ เปิดประตูเข้าบ้าน เข้าบ้าน วนไปอยู่แบบนี้ เราจะไม่ได้ยินเสียงใครที่อยู่ข้างนอก
เด็กที่โตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ โตมากับชุมชนที่ไม่มีพื้นที่ให้เขาออกมาได้ทำกิจกรรม ทักษะการเข้าสังคมของเขาก็จะน้อยลง ส่งผลกระทบไปถึงเรื่องการสื่อสารกับผู้อื่น ทำให้เขาโตขึ้นมาไม่กล้าแลกเปลี่ยน ไม่กล้าคุยกับคน
เพื่อตอบคำถามว่าการเปลี่ยนย่านมันยากจริงไหม มันก็ยากจริงๆ ยิ่งเริ่มต้นยิ่งยากที่สุด
ตัวเราเองตอนเริ่มทำโปรเจ็คต์นี้ เราก็เป็นเด็กที่ไม่ค่อยคุยกับใครเหมือนกัน แต่เราต้องทำงานไง มันก็ค่อยๆ shape ตัวเราได้ในที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ควรเริ่มต้นแบบนี้นะ ชีวิตเราควรเติบโตขึ้นมาพร้อมบรรยากาศรอบๆ มีพื้นที่ที่ทำให้เราพร้อมเรียนรู้ ทำให้เราได้พบปะ เจอกับผู้อื่น และผลสุดท้ายอะไรเหล่านี้ก็จะก่อให้เกิดเป็นความรู้สึกร่วมต่อชุมชน-สังคมไปเอง
โมเดลแบบตลาดน้อยจะช่วยปลุกให้คน หรือปลุกย่านอื่นๆ ให้ลุกขึ้นมาจัดการพื้นที่ชุมชนของตัวเองได้แค่ไหน
เราว่าทุกคนมีสำนึกอยู่ในตัว ไม่ว่าคุณจะอยู่ในชุมชนแบบไหน
ส่วนมากกระบวนการฟื้นฟูย่านหรือการทำพื้นที่ชุมชนมันจะเริ่มต้นด้วยการมีประเด็นมาก่อน เพียงแค่ว่าประเด็นนั้นมันเร่งด่วนไหม ถ้ามันเป็นประเด็นเย็นมันก็อาจจะค่อยเป็นค่อยไป รอมีคนฉุกคิด มีคนตั้งคำถาม แล้วก็เริ่ม โดยอาจจะเริ่มจากแค่บ้านหลังหนึ่งลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ บางอย่าง แล้วบ้านข้างๆ เห็นจึงทำตามแค่นี้ก็ได้
สำคัญคือ เรามองเห็นภาพเดียวกันไหม หรือ เรามีประเด็นร่วมกันไหม สำนึกรักบ้านมันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่รอบๆ บ้านคุณล่ะ คุณรักมันไหม เช่น ถนนเข้าหมู่บ้านของคุณพัง นั่นอาจจะเป็นประเด็นทำให้ชุมชนจับมือกันแล้วเดินไปหาทางออกด้วยกัน ก้าวแรกมันเริ่มได้เสมอ ถ้ามีใครสักคนเริ่มตั้งคำถามหรือมีคนพยายามเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ส่วนรีแอคชั่นของชาวบ้านคนอื่นๆ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าคุณทำให้เขาเห็นภาพเดียวกันได้ไหม
วันนี้ตลาดน้อยสำหรับคุณโจกับตลาดน้อยของเด็กชายโจ เปลี่ยนไปไหมในแง่ความรู้สึก
จะพูดว่าไม่เปลี่ยนก็คงจะโกหก ในมุมมองของกายภาพ มันดีขึ้น เรียบร้อยขึ้น เมื่อก่อนตลาดน้อยมักจะถูกมองข้ามไป คนจะมองเห็นแต่เยาวราช เราไม่เคยถูกมองเห็นโดยจากส่วนภาครัฐหรืออะไรก็ตามแต่ แต่ตอนนี้คนเริ่มรู้จักมากขึ้นแล้ว ผ่านอีเวนท์ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค คนได้รู้จักตลาดน้อยในอีกหลายๆ มุม ซึ่งมันไม่ได้แย่เลยนะ
ส่วนในเรื่องความรู้สึก หลังจากย่านเปลี่ยนไป มันทำให้ชาวชุมชนเดินไปถึงจุดกล้าที่จะพูด กล้าคิด กล้าแสดงความต้องการของตัวเอง เพราะนี่คือพื้นที่ของเขา ซึ่งแต่ก่อนเขาอาจจะไม่ยุ่ง เพราะคิดว่าเรื่องชุมชนไม่ใช่ธุระปะปังของเขา แค่ค้าขายไปวันๆ
แล้วในมุมของการเรียนรู้ ชุมชนตลาดน้อย ตอบตรงนี้ได้อย่างไรบ้าง
มันเป็นไปได้อยู่แล้ว ทุกที่มันเรียนรู้ได้ มันขึ้นอยู่กับว่าอยากเรียนรู้อะไร เรื่องราวมันเยอะแยะไปหมด แค่คนในชุมชน รู้สึกอยากจะออกจากบ้าน ออกแล้วมีพื้นที่ให้เขาเดินเล่น ได้อยู่ในชุมชนแบบที่มันเป็น ชีวิตมันก็สนุกแล้ว
ถ้ามาตลาดน้อย เราจะมีกิจกรรมอะไรให้ทำบ้าง
เดินนี่แหละ เรารู้สึกว่าการเดินมันมีเวลาช้าพอที่จะทำให้เราได้ปล่อยความรู้สึกไปกับสิ่งต่างๆ เรามาเดินเล่นในย่าน อยากหยุดตรงไหนก็หยุด อยากมองอะไรก็มอง อยากจะคุย อยากจะซื้ออะไรกินอะไรก็ทำได้เลย แต่ละซอยมีความเฉพาะตัว มีธรรมชาติของคน มีข้าวของที่อยู่ในซอย เพราะ aesthetic ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน สุนทรียะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีสุนทรียะกับการวางเหล็ก บางคนมีสุนทรียะกับกองขยะ บางคนเป็นทาสแมวในย่านก็มีแมว ที่นี่มันหลากหลาย
สุดท้ายกระบวนการที่คุณทำ การดึงให้ทุกคนพูด ให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาย่านตัวเอง มันจะฝังเครื่องมือติดตัวอะไรให้กับชาวบ้าน
การให้เขาลงมือทำเองเป็นวิธีที่ทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็แล้วแต่ มันต้องผ่านกระบวนการคิด วางแผน ว่าจะทำอะไร เจอปัญหาอะไร แล้วแก้ปัญหานั้นอย่างไร ถ้าเกิดวันนั้นเราแค่ไปสำรวจความคิดเขาอย่างเดียว ไปถามเขาว่าอยากทำอะไร พัฒนาบ้านของเขาอย่างไร แต่ไม่ดึงเขามาแอคชั่นกับเราด้วยมันก็ไม่ได้เรียนรู้อะไร ยิ่งการที่เขาได้อยู่ตั้งแต่กระบวนการเริ่มจนจบ มันเหมือนเป็นแพ็คเกจชุดใหญ่ที่เปิดให้เขาได้ทดลองทำ ส่วนเราเป็นแค่ผู้สนับสนุนอยู่ข้างหลัง ทุกอย่างมันจะทำให้ชาวชุมชนค่อยๆ เรียนรู้กันไปเป็นเลเวล