- ในสภาวะที่การเรียนการสอนไม่เหมือนเดิม ความไม่แน่นอนและปรับเปลี่ยนไปมาอาจส่งผลกระทบกับผู้เรียนเกิดภาวะ ‘ความรู้ถดถอย’ (Learning Loss)’
- งานเสวนา ‘ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้’ ครั้งที่ 1 โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามาแชร์วิธีออกแบบการเรียนรู้ในช่วงเวลาโควิด – 19 โดยให้สอดคล้องกับวิถีและความสนใจของเด็ก เพิ่มโจทย์ที่ท้าทายศักยภาพเด็กแต่ละคน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะต่างๆ ไม่ให้พวกเขาเกิดภาวะความรู้ถดถอย
- ผู้ปกครองกลายมาเป็นฝ่ายซับพอร์ตเด็กแทนครู ทำให้โรงเรียนต้องเตรียมความพร้อมให้พวกเขา เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถเกื้อหนุนการเรียนรู้ให้กับลูกๆ ที่บ้านได้ เข้าใจกระบวนการและวิธีการสนับสนุนการเรียนรู้ที่บ้านตั้งแต่การออกแบบตารางเวลาเรียน การทำกิจกรรมร่วมกับลูก และการให้ข้อมูลป้อนกลับหรือฟีดแบคกลับมายังคุณครู
การเรียนรู้ท่ามกลางสถานการณ์โควิด – 19 ของเด็กๆ บ้านกับโรงเรียนต้องเชื่อมโยงกัน โรงเรียนต้องออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับพื้นที่และสถานการณ์ เพื่อให้เด็กๆ ได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับโรคระบาดได้โดยไม่เกิดภาวะ ‘ความรู้ถดถอย’ (Learning Loss)’ ที่สำคัญควรออกแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีและความสนใจของเด็กด้วย โดยครูอาจเพิ่มโจทย์ที่ท้าทายศักยภาพเด็กแต่ละคน เพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะต่างๆ
สำหรับเด็กในช่วงชั้นประถมศึกษา สิ่งที่ครูต้องให้ความสำคัญ คือ พัฒนาการความฉลาดรู้ 3 ด้าน สมรรถนะ 6 ด้าน, คุณสมบัติพึงประสงค์, พัฒนาการ Self (Self-esteem, Self-control) และพัฒนาการทักษะสมอง EF
The Potential ถอดบทเรียนจากการนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาโดย ครูยิ้ม – ศิริมา โพธิจักร์ ครูประถมและหัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ผ่านงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘ล็อกดาวน์ไม่ล็อกการเรียนรู้’ ครั้งที่ 1
ครูยิ้มเริ่มต้นด้วยการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก ผู้ปกครอง และความพร้อมของเครื่องมือ เพื่อนำมาจัดกลุ่ม และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ กิจกรรมสำหรับเด็กแต่ละกลุ่ม ซึ่งในกรณีที่ผู้ปกครองไม่มีเวลา ไม่มีศักยภาพ ครูจะเป็นโค้ชเพื่อให้แนะนำเพิ่มเติม แต่หากผู้ปกครองไม่สามารถจัดการเรียนรู้ได้แม้จะได้รับคำแนะนำจากครูแล้ว ในส่วนนี้ครูจะออกแบบให้โดยดูจากความสนใจของเด็กเป็นสำคัญ
PLC ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของครู
ด้วยสถานการณ์โควิด – 19 เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน การปรับรูปแบบการเรียนรู้ถือเป็นโจทย์ใหญ่และไม่สามารถคิดคนเดียวได้ ครูยิ้มเล่าว่า ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา มีการนำเครื่องมือที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community) มาใช้เพื่อสร้างการเรียนรู้ระหว่างครูด้วยกัน
“ในส่วนกระบวนการทำงานของครูอันนี้สำคัญมาก เวลาเราได้งานแล้วคิดคนเดียวบางทีเราจะรู้สึกว่ามันตัน จะทำยังไงให้กระบวนการเรียนรู้ช่วยผลักเราให้เกิดไอเดียร่วมกันได้ ที่โรงเรียนเราจะมีวง PLC ครูที่เข้มแข็งมาก กระบวนการแต่ละกระบวนการจะค่อนข้างให้ครูได้นำไปใช้กับเด็กจริงๆ จนเกิดผล เพราะว่าเราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำทั้งหมดจะต้องส่งผลไปหาเด็กๆ”
นอกจากกระบวนการทำงานระหว่างครูกับครูแล้ว การสร้างการมีส่วนร่วมของระหว่างครูกับผู้ปกครองก็เป็นขั้นตอนสำคัญ ครูจะส่งต่อโจทย์ให้เด็กผ่านการจัดการเรียนรู้โดยพ่อแม่ และโจทย์นั้นต้องเป็นโจทย์ที่ท้าทายพัฒนาด้านต่างๆ ของเขา จนสั่งสมเป็นสมรรถนะ
สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา จะแบ่งเป็น 2 ช่วงชั้น คือ ป.1 – ป.3 และ ป.4 – ป.6 ในช่วงชั้นแรกกระบวนการจะคล้ายกับอนุบาล เนื่องจากไม่ได้เรียนออนไลน์ 100% เป็นการเรียนรู้กึ่งออนไลน์ ที่เน้นกระบวนการทำงานกับผู้ปกครองเช่นกัน แต่ในช่วงชั้นที่สอง คือ ป.4 – ป.6 จะมีกระบวนการออนไลน์ร่วมด้วย
“ในกระบวนการทำงานกับผู้ปกครอง เราพยายามทำให้เขาเห็นทั้งหมด 3 ส่วน ส่วนแรกคือ ให้เห็นเป้าหมายที่แท้จริงของการจัดการศึกษาทั้งระยะไกลและระยะใกล้ เห็นถึง vision (วิสัยทัศน์) รวมถึงสมรรถนะว่าผู้ปกครองต้องมีอะไร ส่วนที่สองอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจลูกแต่ละวัย พัฒนาการและการใช้จิตวิทยาที่เหมาะสม สกิลที่ลูกควรได้คืออะไร และส่วนที่สาม ที่สำคัญเลยคือ ผู้ปกครองต้องเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ให้ลูกๆ ได้”
การจัดกิจกรรมให้กับผู้ปกครองจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถเกื้อหนุนการเรียนรู้ให้กับลูกๆ ที่บ้านได้ เข้าใจกระบวนการและวิธีการสนับสนุนการเรียนรู้ที่บ้านตั้งแต่การออกแบบตารางเวลาเรียน การทำกิจกรรมร่วมกับลูก และการให้ข้อมูลป้อนกลับหรือฟีดแบคกลับมายังคุณครู
คณิต Pro – active: สร้างกิจกรรมให้เด็กค้นพบวิธีการแก้ปัญหา
สำหรับโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาการให้โจทย์มีเงื่อนไขที่ครูใหญ่วิเชียรตั้งไว้ว่า ต้องไม่เยอะแต่สร้างความท้าทายและซับซ้อนให้กับผู้เรียน และครูแต่ละวิชาว่าต้องตอบให้ได้ว่าโจทย์นั้นจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในเรื่องอะไร จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการแบ่งกลุ่มตามศักยภาพของผู้เรียน
“เวลาแบ่งกลุ่มผู้เรียน เราจะมีจุดมุ่งหมาย คือ อยากให้เด็กๆ ทุกคนเขามีโอกาสที่จะทำงานนั้นสำเร็จ หมายความว่าทำได้ตามศักยภาพของเขา เพราะฉะนั้นครูผู้สอนเราก็เชื่อว่าครูที่เป็นคนให้โจทย์นั้นจะเป็นคนที่เข้าใจเด็กจริงๆ เราก็มาช่วยกันคิด วิเคราะห์โจทย์กัน โจทย์แต่ละกลุ่มก็จะไม่เหมือนกัน”
ครูยิ้มยกตัวอย่างวิชาคณิตศาสตร์ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาของเด็กๆ ซึ่งตนเองมีประสบการณ์ตรงจากการเป็นโค้ชวิชานี้ในช่วงที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดได้ปกติ โจทย์ที่ครูยิ้มคิดล้วนมาจากสถานการณ์จริงในชีวิตที่เด็กต้องเผชิญอยู่แล้ว เช่น รายการอุปกรณ์การเรียนแต่ละประเภทที่ผู้ปกครองต้องซื้อให้ลูกพร้อมราคา โดยโจทย์ที่ชวนให้เด็กได้คิดไม่ใช่แค่วิธีการบวก ลบ คูณ หาร แต่เป็นการให้เขาได้คำนึงถึงบริบทของพ่อแม่ และแสดงวิธีคิดว่าในข้อจำกัดนั้นเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร
“อย่างข้อนี้ ถ้าแม่ทำงานมีรายได้วันละ 350 บาท แม่ต้องทำงานกี่วัน ถึงจะสามารถซื้ออุปกรณ์การเรียนได้ครบทุกประเภท แล้วถ้าแม่มีลูก 2 คน แม่ต้องใช้เงินในการซื้ออุปกรณ์การเรียนทั้งหมดกี่บาท และแม่ต้องทำงานกี่วัน ให้เขารู้สึกว่าขณะที่ทำโจทย์ก็ต้องคิดถึงบริบทของพ่อแม่เราที่ทำงานเพื่อจะซัพพอร์ตเราด้วย แล้วเราก็มีทิ้งท้ายไปด้วยว่า ถ้าเรามีลูก 2 คน จะช่วยแม่ประหยัด จะออกแบบการซื้ออย่างไร แต่ยังได้ครบทุกประเภท เด็กๆ เขาก็จะมีวิธีการ กระบวนการแสดงวิธีคิดของเขา”
ซึ่งหนึ่งในนักเรียนของครูยิ้ม ตอบกลับมาว่า “เราไม่จำเป็นต้องซื้อสีกล่องใหญ่ เพราะสีกล่องใหญ่มัน 189 บาท เราสามารถใช้สีไม้กล่องเล็กแล้วมาเรียนรู้การผสมสีการไล่สีได้” จะเห็นว่าเขาสามารถให้คำตอบพร้อมเหตุผลได้
และเมื่อไรก็ตามที่นักเรียนของครูยิ้มส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะด้านใด ครูยิ้มไม่รีรอที่จะตอบสนองความต้องการนั้นกลับไปทันที นี่คือกระบวนการฟีดแบคที่ต้องทำทันที
“ถ้าเมื่อไรที่เด็กเขามีข้อความส่งมาหาเรา เราอย่ารอช้าควรจะรีบหยิบขึ้นมาแล้วตอบทันทีเลย เพราะเราเชื่อว่าขณะนั้นแสดงว่าเขามีความอยากรู้ มีแพชชั่นที่จะเรียนแล้ว เราก็ต้องตอบโต้หรือว่าให้ฟีดแบคให้ข้อมูลเขาไปทันที”
นอกจากนี้ นักเรียนของครูยิ้มยังมีกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ กลุ่มที่อยู่กับปู่ย่าตายายหรือมีความขัดข้องหลายๆ ด้าน ซึ่งครูต้องเข้าไปติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะในระยะยาวหากปล่อยไปเรื่อยๆ โอกาสที่การเรียนรู้ของเขาจะถดถอยมีสูงมาก
บทเรียนสองภาษา ฝึกทักษะการสื่อสาร
สำหรับการเรียนรู้ภาษาไทยผ่านวรรณกรรม ใช้การ์ตูนเรื่อง ‘อธิษฐานสิจ๊ะ’ กับ ‘นางฟ้าสีเขียว’ ตอนแจกัน เป็นโจทย์ในการอ่าน สรุปความเข้าใจและลำดับเหตุการณ์ พร้อมปั้นแจกันในรูปแบบของตนเอง
การเรียนรู้ขั้นแรกเริ่มจากการคาดเดาเรื่องผ่านคำถาม เช่น “เหตุการณ์ในตอนนี้จะเป็นอย่างไร?” จากนั้นทบทวนความรู้สึกหลังอ่านจบ สรุปลำดับเหตุการณ์ผ่านการวาดการ์ตูนช่อง และค้นหาคำศัพท์ใหม่ จับกลุ่มคำความหมายเหมือนหรือใกล้เคียงแล้วนำมาแต่งประโยคเพื่อยืนยันว่าใช้คำได้ถูกความหมาย ขั้นต่อมาคือการตีความใต้บรรทัด เพื่อเข้าใจความคิด ความเชื่อ สังคมและวัฒนธรรม โดยครูยิ้มหย่อนคำถามว่า “ลวดลายบนแจกันแบบต่างๆ บอกถึงสิ่งใด ทำไมถึงคิดเช่นนั้น?” และเพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เขาจะได้ออกแบบและลงมือปั้นแจกันที่สามารถใช้งานได้จริงเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงหนึ่งชิ้น
นอกจากทักษะการอ่านการเขียนแล้ว โจทย์นี้ยังสร้างโอกาสที่จะเกิดสมรรถนะ 2 ด้านด้วยกัน คือ การสื่อสารด้วยภาษา มีความสามารถในการรับรู้ รับฟัง ตีความ และส่งสารด้วยวัจนภาษาและอวัจนภาษา โดยใช้กระบวนการคิด นำไปสู่การเรียนรู้ ความเข้าใจ และการคิดขั้นสูงและการเรียนรู้ สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ เข้าถึงความเชื่อมโยงร่วมกันอย่างเป็นระบบด้วยการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล
“ส่วนภาษาอังกฤษ เน้นกระบวนการคือ ให้โจทย์นักเรียนไปก่อน แต่ว่าโจทย์จะไม่ใช่ใบงานหรือไม่ใช่สิ่งที่ต้องยุ่งยากหรือเป็นภาระมาก พอให้โจทย์ให้คลิปไปศึกษาเสร็จ เราจะมีช่วงภาษาอังกฤษของช่วงชั้น ชั้นละประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ มาแชร์กันในช่อง zoom หรือว่าช่องที่เรากำหนดไว้ ประมาณ 40 นาที เด็กเขาก็จะนำชิ้นงาน นำสิ่งที่ทำมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ แล้วก็ฝึกฝนการใช้ภาษา”
ตัวอย่างโจทย์ English : Telling the Feeling and Emotions เป้าหมายคือให้เข้าใจความหมายของศัพท์ Feeling and Emotions สามารถสนทนาตอบคำถาม เขียน วาดภาพ แต่งการ์ตูนช่อง เพื่อสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้
ครูยิ้มยกตัวอย่างกรณีนักเรียนชั้นป.4 คนหนึ่งซึ่งเรียนรู้ค่อนข้างช้า โดยเฉพาะการเขียนและการสื่อสาร ยังพูดไม่ชัด สื่อสารไม่ตรงประเด็นหรือไม่ตรงคำถาม อีกทั้งเวลาอยู่ในห้องเรียนค่อนข้างที่จะกำกับตัวเองยากในการนั่งอยู่กับที่
“ครอบครัวนี้อาจจะมีสภาวะหลายอย่างที่บ้าน กระบวนการทำงานกับผู้ปกครองคือ จะให้นักเรียนมารับโจทย์กับคุณแม่ที่โรงเรียน มาทำความเข้าใจก่อน เสร็จแล้วก็ทำงานที่โรงเรียนสักประมาณนึงแล้วค่อยกลับไปทำต่อที่บ้าน ส่วนคุณแม่ก็คอยช่วยเหลือด้วยการถ่ายภาพ ส่งข้อความมาสอบถาม วันต่อมาเขาไม่สามารถที่จะเข้าออนไลน์กับเพื่อนๆ ได้ เราก็ให้เขากลับมาที่โรงเรียนอีก เป็นการสลับบางวันให้เขาได้เรียนรู้กับเพื่อนๆ แล้วก็กล้าที่จะใช้ภาษา”
หลังจากที่ครูยิ้มสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้ปกครองเป็นรายกรณี ออกแบบการเรียนรู้ 3 ช่วงเวลาที่บ้าน พร้อมติดตามและฟีดแบคทันที ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือ
เด็กมีเป้าหมายกำกับตัวเอง รับผิดชอบงานจนสำเร็จ มีความมั่นใจในการพูด โต้ตอบได้ดีกับครูเจ้าของภาษาในระหว่างเรียนออนไลน์ มีความพยายามสื่อสารภาษาอังกฤษง่ายๆ ตามโจทย์ที่ครูให้ได้โดยไม่กลัวผิด และเคารพในกฎกติกาการร่วมกิจกรรม เช่น เคารพข้อตกลง การยกมือ การเปิด-ปิดไมล์ในการเรียนออนไลน์ร่วมกับเพื่อนๆ ได้สมรรถนะการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง
จะเห็นว่าช่วงเวลาการจัดการเรียนรู้แบบออนไลน์ของครูยิ้ม บทบาทครูยิ้มไม่ใช่ครูบอกสอนออนไลน์ แต่เป็นโค้ชที่ให้ฟีดแบค ฟังความคิดของเด็กที่กำลังพรั่งพรู พูดคุยประเด็นปัญหาต่างๆ ระหว่างการเรียนรู้ ทำให้เด็กเข้าใจบทเรียนนั้นมากขึ้น การเรียนรู้จึงกลายเป็นเรื่องสนุก