- มุกตลกๆ จากการ์ตูนเล่มละ 15 บาท นอกจากจะสร้างเสียงหัวเราะแล้ว ยังเป็นคลังคำศัพท์ด้วย (จนกลายเป็นคู่มือเตรียมสอบของหลายคน)
- ชวนย้อนวันวานวัยเด็กกับ เฟน – อารีเฟน ฮะซานี ผู้เขียน ‘สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่’ การ์ตูนที่มีเอกลักษณ์ คือ การล้อเลียนละคร และยังดัดแปลงวรรณกรรมดังๆ มาทำเป็นการ์ตูนสร้างความบันเทิงแต่แฝงสาระ เขาทำได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทสนทนานี้
- หัวใจของการ์ตูนเรา คือ เด็กอ่านแล้วต้องสนุก เนื้อหาเข้าใจง่าย ด้วยภาษาพูด เอาคำศัพท์ง่ายๆ ย่อยเนื้อหาให้คนรับได้ง่ายๆ แต่ยังคงความถูกต้อง บางทีข้อมูลเยอะ ก็อาศัยทำเกร็ดความรู้แยกออกมา บางคนได้แรงบันดาลใจไปเรียนต่อทางวรรณคดี เพราะอ่านการ์ตูน
ในวัยเด็กที่แหล่งเอนเตอร์เทนเมนท์ยังเกิดขึ้นไม่เยอะเท่าดอกเห็ดเช่นสมัยนี้ รวมถึงเงินในกระเป๋าก็อาจจะไม่ได้มีมากพอ สิ่งที่สร้างความสนุกให้เราคงมีไม่กี่อย่าง สำหรับเราหนึ่งในนั้นคงเป็นเจ้าการ์ตูนเล่มละ 15 บาทที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ ราคาของมันไม่เจ็บปวดมากไป พอจะยอมควักเงินค่าขนมจ่าย
ขายหัวเราะ มหาสนุก ปังปอนด์ สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ ฯลฯ หัวหนังสือที่เราคุ้นตาบนแผง
นอกจากเสียงหัวเราะที่ได้เรายังได้ความรู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคลังคำศัพท์ เรียกว่าเป็นแหล่งความบันเทิงพลัสความรู้ในราคาย่อมเยาที่หลายคนพอจะเอื้อมถึง
กาลเวลาผ่านไปทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง แหล่งความสนุกวันนี้หาได้ง่ายขึ้น สไลด์หน้าจอคุณก็จะพบตัวเลือกมากมาย คุยแชท ดูหนังซีรีส์ ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือออนไลน์ก็ได้ หนังสือบนแผงก็ค่อยๆ ลดลงตามปริมาณคนอ่าน และเปลี่ยนไปอยู่บนแพลต์ฟอร์มออนไลน์แทน
บทความชิ้นนี้เราอยากชวนทุกคนไปย้อนวันวานวัยเด็กกับ เฟน – อารีเฟน ฮะซานี ผู้เขียนสาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ การ์ตูนของเขานอกจากเอกลักษณ์ คือ การล้อเลียนละคร เฟนยังดัดแปลงวรรณกรรมดังๆ มาทำเป็นการ์ตูนด้วย (จนกลายเป็นคู่มือเตรียมสอบของหลายคน)
เบื้องหลังการปลุกตัวการ์ตูนให้มีชีวิตโลดแล่นบนหน้ากระดาษ หรือการหยิบวรรณกรรมที่เนื้อหายาวๆ ยากๆ มาดัดแปลงทำเป็นการ์ตูนที่สร้างความบันเทิง แต่ก็ยังแฝงสาระทำได้อย่างไร ชวนไปสนทนาหาคำตอบกับเฟน
การกำเนิดของนามปากกา ‘เฟน’
เป็นความฝันตั้งแต่เด็กๆ ว่าโตขึ้นอยากเป็นนักวาดการ์ตูน เพราะเราชอบอ่านการ์ตูนเบบี้ของของอาวัฒน์ วัฒนากับหนูจ๋าของอาจุ๋มจิ๋ม จำนูญ เล็กสมทิศมาก ฝังใจเลยว่าโตขึ้นต้องเป็นนักวาดการ์ตูนแบบนั้น ก็ฝึกวาดการ์ตูนมาเรื่อยๆ เอาสมุดตอนเรียนที่จะมีหน้าเหลือมาตีช่องวาดตัวการ์ตูน
ช่วงปวช.เรามีโอกาสมาเรียนต่อวิทยาลัยเพาะช่างที่กรุงเทพฯ ด้วยความที่ฐานะทางบ้านไม่ค่อยดี ทำให้ต้องหางานพิเศษทำ ตัดสินใจลองเขียนการ์ตูนส่งสำนักพิมพ์ นั่งเปิดหนังสือการ์ตูนดูหน้าสารบัญว่าที่ตั้งสำนักพิมพ์อยู่ตรงไหน ไปหายื่นต้นฉบับให้เขา โชคดีว่าเขาคงเห็นแววเราเลยรับต้นฉบับตีพิมพ์ ได้ค่าเรื่องประมาณ 15 บาทต่อหน้า
เป็นจุดเริ่มต้นการเดินบนเส้นทางนักเขียนการ์ตูน
เขียนการ์ตูนส่งไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 – 4 สำนักพิมพ์ ทำจนรู้สึกว่าแข็งแกร่งละ ตัดสินใจลองส่งการ์ตูนไปเสนอที่สำนักพิมพ์บรรลือสาส์นที่อาวัฒน์กับอาจุ๋มจิ๋มอยู่ ตอนไปเสนอเจอเจ้าของสำนักพิมพ์บันลือสาส์น คุณบันลือ อุตสาหจิต (คุณพ่อ บ.ก วิธิต อุตสาหจิต) พอเขาเห็นงานเราเขาบอกว่า ลายเส้นพอไปได้ ตกลงรับตีพิมพ์ ให้ค่าต้นฉบับประมาณ 30 – 40 บาทต่อหน้า
ถ้าเทียบกับค่าเงินสมัยนั้นถือว่าเยอะไหม?
เรทปานกลางสำหรับนักเขียนหน้าใหม่อย่างเรา ตอนนั้นจำได้เลยว่าเขียนการ์ตูนเนื้อหาเกี่ยวกับเยาวชน ชื่อเรื่อง”สวัสดีโรงเรียน” เป็นการ์ตูนแนวนิยายภาพ หยิบเรื่องสมัยเรียนมัธยมที่อยู่ต่างจังหวัดมาเขียน
การ์ตูนไทยมีประมาณกี่แบบ
หลักๆ จะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ การ์ตูนแนวนิยายภาพ ลายเส้นจะสมจริงเลย นึกถึงการ์ตูนฝรั่งอย่างพวกมาร์เวล (Marvel) ดีซี (DC) ได้รับความนิยมมาก กับอีกแบบหนึ่งจะเป็นการ์ตูนแนวหรรษา ความสมจริงน้อยลง ตัดทอนรายละเอียด เน้นอารมณ์ เช่น ตัวละครตกใจ ก็วาดตาโตๆ หัวโต แนวการ์ตูนขายหัวเราะ สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ ตัวเราเป็นคนถนัดวาดการ์ตูนแบบนิยายภาพ ชอบผูกเป็นเรื่องๆ มีอยู่วันหนึ่ง บ.ก.วิธิต ก็ถามว่า ลองเขียนการ์ตูนตลกดูไหม
ทำไมเขาถึงถามคุณแบบนั้น
ช่วงนั้นการ์ตูนแนวตลกมาแรง เช่น ขายหัวเราะ และ มหาสนุก กำลังได้รับความนิยม ทาง บ.ก.วิธิตคงเห็นว่าเราน่าจะปรับมาเขียนแนวนี้ได้ จึงให้โอกาสเราเขียนแนวตลกดู
เขียนการ์ตูนตลกเป็นไง
แรกๆ เส้นแข็งมาก เพราะก่อนหน้านี้เราถนัดวาดแนวนิยายภาพรายละเอียดเยอะๆ สมจริงเลยละ พอมาเขียนการ์ตูนตลก ต้องลดทอนรายละเอียดลง ใส่แอคชั่นตัวละครมากขึ้น แต่ก็ใช้เวลาไม่นานนัก เราก็เขียนการ์ตูนแนวตลกหรรษาได้ และเขียนแนวนี้จนถึงปัจจุบัน
การเขียนการ์ตูนตลกยากไหม ต้องเป็นคนตลกหรือเปล่าถึงจะคิดมุกออก
เราก็ไม่เป็นคนตลกนะ แต่เป็นคนอารมณ์ดี แม้แต่พี่ต่าย (ภักดี แสนทวีสุข) หรือพี่นิค (นิพนธ์ เสงี่ยมศักดิ์) เองก็เหมือนกัน แต่เวลาคิดเรามักจะคิดในมุมที่มันตลกได้ ขอใช้คำว่าต่อยอดละกัน อาศัยดูสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว แล้วคิดต่อยอดว่าจะเล่นมุกยังไง นำมาเขียนให้ตลกได้แบบไหน
บางคนอาจอ่านแล้วขำ แต่บางคนอาจจะไม่ คุณต้องมีทดสอบมุกก่อนไหมว่ามุกนี้คนฮาหรือเปล่า?
วัดจากตัวเราก่อน มีการคัดกรองระดับหนึ่ง ถ้าเราไม่ขำก็เปลี่ยนใหม่ จริงๆเรื่องแบบนี้ฝึกกันได้แต่ต้องอาศัยเวลา ต้องอาศัยประสบการณ์ และอาจจะใช้พรสวรรค์ด้วยส่วนหนึ่ง
เราว่ามันก็เหมือนกับการถ่ายภาพ ต้องอาศัยฝึกถ่ายบ่อยๆ ส่วนจะรู้ว่าผลงานเราดี – ไม่ดีก็ต้องส่งให้คนอื่นช่วยดู ช่วยวิจารณ์ ให้คำแนะนำว่าควรพัฒนาตรงไหน
เวลาเราสอนรุ่นน้องหรือลูกศิษย์จะบอกตลอดว่า มีของอย่าเก็บไว้ ให้นำเสนอไปเลย อย่าอาย วันหนึ่งมันอาจจะสร้างงานให้เราได้
ถ้าพูดชื่อนามปากกาเฟน คิดว่า ‘สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่’ คงเป็นผลงานชิ้นแรกๆ ที่คนนึกถึง อยากรู้ว่าจุดเริ่มต้นมาจากอะไร?
ตอนนั้นเราวาดการ์ตูนลงขายหัวเราะกับมหาสนุก ส่วนตัวเป็นคนชอบดูละคร ดูทุกช่องเลย ก็มานั่งคิดว่า เอ๊ะ ลองเอาที่ดูๆ มาเขียนการ์ตูนล้อดีไหม ปรากฎว่าคนอ่านชอบมาก เพราะเราทำมุกให้ฮาๆ ฉีกแนวละครที่เขาเคยดู ตอนต้นเดินเรื่องมาแบบนี้ พอกลางเรื่องฉีกไปอีกทาง ตอนจบหลุดโลกไปเลย
บ.ก วิธิต เสนอว่าเขียนแยกเป็นเล่มของตัวเองเลยดีไหม ตอนนั้นมีของพี่ต่ายที่แยกไปเขียนปังปอนด์แล้วไปได้ดี เขาเลยให้เราลองทำบ้าง สุดท้ายก็ออกมาเป็น”สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่”
ที่มาของชื่อสาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่
เราคิดว่าเนื้อหาของการ์ตูนเล่มนี้มันคงเป็นเรื่องราวของผู้ชายกับผู้หญิง บวกกับมีหนังจีนที่กำลังดังในไทยตอนนั้นชื่อว่า ดอกไม้กับนายกระจอก (An Autumn’s Tale) เลยเอาว่ะ ตั้งชื่อล้อกับหนังเรื่องนี้ ออกมาเป็นสาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ ชื่อหนังจีนมันนายกระจอก ฟังแล้วดูเป็นผู้ชายต่ำต้อย แต่ผู้ชายของเราต้องเป็นคนฮาๆทะเล้นๆ เลยตั้งชื่อเป็นนายกล้วยไข่แทน เขียนเป็นการ์ตูนล้อละครมาเรื่อยๆ
ยุคหลังๆ เริ่มมีการ์ตูนดัดแปลงจากวรรณกรรม เช่น ศึกมหาภารตะ มโหสถ เทพอภินิหารตำนานกรีก ทำไมถึงสนใจดึงเรื่องพวกนี้มาเล่าแบบฉบับการ์ตูน
ตอนเด็กๆ เราขัดใจตลอดว่า ทำไมถึงไม่ค่อยมีคนเอาเรื่องแบบรามเกียรติ์มาทำเป็นการ์ตูนให้อ่านง่ายๆ บ้าง ที่เจอคือเนื้อหาเยอะๆ ไม่ก็ภาพหนึ่งภาพแล้วแปะคำบรรยายไว้ข้างล่าง แถมบางทีเล่าเฉพาะตอน ไม่เป็นเรื่องต่อกันยาวๆ เช่น ตอนหนุมานเจอนางเงือก ตอนนางสีดาเจอกวาง
อยากลองทำเป็นการ์ตูน เอาไปเสนอบ.ก วิธิต เขาก็บอกมันเป็นเรื่องยาวนะ จะทำไหวหรือเปล่า? เพราะนโยบายเขียนการ์ตูนจะเน้นให้จบในตอน คนอ่านจะได้ไม่ลำบากต้องตามอ่านเยอะๆ แล้วบางทีเขียนเป็นเรื่องยาวๆ มันมีโอกาสสูงที่เขียนไปนานๆ แล้วจะเกิดอาการตัน แต่สุดท้ายเขาก็ให้เราลองทำนะ
การแปลงวรรณกรรมให้เป็นการ์ตูน
เริ่มจากเลือกเรื่องที่เราสนใจก่อน เรื่องแรกที่วาด คือรามเกียรติ์ แต่เราใช้คำว่า รามาวตาร ส่วนเรื่องที่สองคือเรื่อง ศึกมหาภารตะ (มหากาพย์ชื่อดังของอินเดีย เล่าเรื่องราวความขัดแย้งของสองตระกูล เการพและปาณฑล) เราเคยอ่านฉบับแปลของอาจารย์กรุณา กุศลาสัย สนใจอยากเอามาทำเป็นการ์ตูน แต่ข้อมูลในไทยมีน้อยมาก (เน้นเสียง) ต้องสั่งหนังสือฉบับภาษาอังกฤษจากต่างประเทศมาอ่าน ลงทุนไปพาหุรัดซื้อซีรีส์ฉบับคนอินเดียแสดงมาดูอีกทาง ซื้อมาแทบทุกเวอร์ชันเลย จ่ายเงินไปเกือบหมื่น ตังค์เราก็ไม่ค่อยมี (หัวเราะ) แต่เราก็คิดว่าเขียนครั้งเดียวในชีวิตให้มันดีไปเลย
ต้องศึกษาเนื้อเรื่องให้ละเอียด โดยเฉพาะนิสัยใจคอของตัวละคร เราถึงจะวางโครงเรื่องได้ ตอนหาข้อมูลเจอความแตกต่างเยอะมาก อย่างเช่นรามเกียรติ์ฉบับอินเดีย หนุมานบริสุทธิ์เลยนะ ไม่มีเมีย แต่ฉบับไทยนี่ โอ้โห เมียเยอะมาก คือศึกษาจนมีข้อมูลไปเขียนได้อีกเรื่องเลย
วรรณกรรมที่เนื้อหาเยอะและมีความละเอียดสูง เราจะย่อยเรื่องออกมาเป็นการ์ตูนอย่างไร?
หัวใจของการ์ตูนเรา คือ เด็กอ่านแล้วต้องสนุก ฉะนั้นเนื้อหาต้องเข้าใจง่าย ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาพูด เอาคำศัพท์ง่ายๆ ย่อยเนื้อหาให้คนรับได้ง่ายๆ แต่ยังต้องคงความถูกต้องนะ บางทีข้อมูลมันเยอะเราอัดในเรื่องไม่หมด ก็อาศัยทำเกร็ดความรู้แยกออกมา
เสียงตอบรับของคนอ่าน
คนอ่านชอบมาก พอรวมเล่มก็ได้รับความนิยมมาก มีคนส่งจดหมายมาหาเยอะบอกว่าอ่านการ์ตูนเราแล้วไปสอบภาษาไทยได้คะแนนเต็ม 10 เลย หรือเป็นแรงบันดาลใจไปเรียนต่อทางวรรณคดี ฟังแบบนี้เราก็ดีใจนะที่งานของเรามันประสบความสำเร็จทำให้เด็กหันมาอ่านวรรณกรรมมากขึ้น อ่านการ์ตูนเราต่อยอดไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านวรรณกรรม หรือต่อยอดอ่านวรรณกรรมที่เนื้อหามากขึ้น
ที่บอกว่าอ่านการ์ตูนแล้วเข้าใจกว่าเรียนในห้อง คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร ในเมื่อใช้เนื้อหาเหมือนกัน ความแตกต่างระหว่างหนังสือเรียนกับการ์ตูนที่คุณนำเสนอ
การ์ตูนจะมีภาพให้เด็กเห็นชัดเจน ดูผ่อนคลายกว่าอ่านแบบตัวอักษรเยอะๆ อีกอย่างตัวการ์ตูนแต่ละตัวก็มีคาแรกเตอร์ชัดเจนจำง่าย บทก็ใช้เป็นภาษาพูดมากกว่า อีกทั้งยังแทรกบทตลกเบาๆ ด้วย แต่เนื้อหาหลักจะต้องตรงตามต้นฉบับและแบบเรียน
กลุ่มคนอ่านการ์ตูนคุณส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน ณ วันนี้ที่คุณอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยคุณกับเด็กยุคนี้มันมากขึ้น ส่งผลกับการคิดงานคุณไหม?
ต้องปรับตัวพอสมควร อาศัยดูว่าช่วงนี้เด็กๆ กำลังฮิตอะไร เช่น ดูเพจเฟซบุ๊ก ช่องยูทูบทำให้เราพอเข้าใจวิธีคิดของเด็กสมัยนี้พอสมควร
ในฐานะที่คุณทำงานกับเด็ก คุณคิดว่าอะไรคือความเหมือน – แตกต่างของเด็กแต่ละยุค
เราว่าเด็กแต่ละยุคไม่แตกต่างกันมากนะ เด็กทุกยุคยังต้องการการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต้องการค้นหาตัวตน ค้นหากลุ่มของเขา อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เขาอยากหากลุ่มตัวเองให้เจอ เช่น ชอบดูหนังแนวเดียวกัน เล่นเกมเดียวกัน เขาก็จะหาคนที่ชอบสิ่งเหมือนๆ กัน เป็นปกติทุกยุค
พอจะมีคำแนะนำแนวทางการปรับตัวให้เข้ากับคนรุ่นใหม่สำหรับผู้ปกครองโพเทนเชียลไหม?
ปล่อยให้เขาได้ทำ ได้เป็นในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ไปบังคับหรือห้ามอะไรลูก เพราะจะขัดแย้งกันเปล่าๆ ไม่เชื่อลองนึกย้อนสมัยเราเป็นวัยรุ่นก็ได้ เราเชื่อพ่อแม่ที่ไหนละ? (หัวเราะ) และไม่แน่บางทีลูกอาจจะรุ่งในทางของเขาก็ได้
สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือ เป็นแรงซับพอร์ตข้างๆ ลูก ถ้าวันไหนเขาไม่ไหวก็เข้าไปเป็นแบล็กอัพให้เขา เหนื่อยนัก หากไปต่อไม่ไหวก็กลับมาพักก่อน พ่อแม่ต้องพร้อมอ้าแขนรับ
ได้ยินว่านอกจากเป็นนักเขียนการ์ตูน คุณยังทำอาชีพอื่นๆ เช่น ครู
ใช่ เรียนเพาะช่างจะได้วุฒิศึกษาศาสตร์บัณฑิตด้วย ตอนเรียนเคยขอไปฝึกสอนที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สอนอยู่ 2 เดือน ประสบการณ์ช่วงนั้นเราเจอลูกศิษย์ดี เขารับการสอนเราได้ เลยรู้สึกว่าตัวเราก็น่าจะเป็นครูได้ พอเรียนจบก็มีโอกาสไปเป็นครูสอนศิลปะชั้นประถมปลาย ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเกษตร 3 ปี
เนื้อหาที่เราสอนจะเป็นเรื่องพื้นฐานตั้งแต่เส้น สี องค์ประกอบในภาพ การจัดวาง วาดภาพก็เหมือนเขียนงาน เราต้องมีการผูกเรื่องด้วย เช่น เราบอกโจทย์ให้วาดวิว นักเรียนก็จะคิดละว่าวาดวิวอะไร ทะเล ภูเขา ต้องใส่อะไรลงไปในงาน สร้างความบาลานซ์และสีสันในภาพ
ศิลปะมักจะมาคู่กับเรื่องสวย – ไม่สวย ส่วนตัวคุณมีมุมมองกับเรื่องนี้ยังไง?
เรื่องสวย – ไม่สวย เราว่าพูดลำบาก เพราะแต่ละคนมีมุมมองไม่เหมือนกัน แต่โอเคถ้าจุดๆ หนึ่งมันต้องการตัดสินว่าภาพนี้สวยหรือไม่ แต่เราในฐานะครูจะไม่มองแค่เรื่องสวย – ไม่สวย เราเน้นสอนให้เด็กใส่ใจกับการวางองค์ประกอบภาพ และการใช้สีมากกว่า
เวลาให้คะแนนเราก็จะมองหลายๆ มุม คนนี้ถึงวาดภาพไม่เก่งแต่จัดองค์ประกอบได้เอาไป B ถ้ามองแต่เรื่องสวย – ไม่สวย คนที่วาดไม่เก่งคงได้คะแนน C ทั้งปี เรารู้สึกว่านี่จะยิ่งทำให้เด็กไม่ชอบศิลปะ ทำให้เขาหนี ทั้งๆ ที่ในหัวเขาอาจจะมีศิลปะอยู่
เราเคยเจอลูกศิษย์บางคนที่เขาวาดรูปอาจไม่สวยเท่าคนวาดเก่ง แต่เขาถ่ายรูปออกมาได้อย่างมืออาชีพ เพราะใช้การจัดภาพและวางสีแสงได้ดีนั่นเอง ซึ่งก็มีอีกหลายอาชีพ ที่ไม่ต้องวาดรูปเก่งมากนักก็ได้ แต่ใช้พื้นฐานด้านศิลปะที่ซ่อนอยู่ นำไปใช้ในอาชีพที่ตัวเองทำอยู่ได้ดีเช่นกัน
การทำงานที่ต้องผลิตงานสู่สายตาคนอื่นๆ มักจะตามคู่มากับคำวิจารณ์ คุณมีวิธีรับมือกับเรื่องนี้ยังไง?
เราก็รับฟังคำวิจารณ์พอสมควร เพราะอย่างที่บอกว่าแต่ละคนมีมุมมองไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายอย่าให้คำวิจารณ์มาทำลายวิธีคิดเรา ทำลายงานที่เป็นตัวตนของเราจนเกินไป
สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ ในวันที่เดินทางมาถึงฉบับที่ 300 ถ้าให้เปรียบเป็นคน คุณคิดว่าเขาจะเป็นคนแบบไหน?
เป็นคนทำ ‘ห้องสมุดการ์ตูน’ ที่มีหนังสือหลากหลายแนว ทั้งแนววรรณกรรม เช่น รามาวตาร ศึกมหาภารตะ อภินิหารตำนานกรีก ไซอิ๊ว ฯลฯ มีชั้นการ์ตูนแนวหรรษาบันเทิง เช่น พ่อแม่ลูก สิงห์สยาม ปอมปอมกิ้งก่าเทวดา ซูเปอร์โคโรน่า และมีชั้นหนังสือแนวตลกขำขัน เช่น ก๊อง เปาบุ้นจี้ บ้าครบสูตร และบริษัทอัดผี
รอให้คนอ่าน แวะเข้ามายังห้องสมุดการ์ตูนของผมครับ