- จากปัญหาที่พบในห้องเรียน คือ เด็กจะนั่งเรียนกันเรียบร้อย และเงียบกริบ จนไม่โต้ตอบเมื่อครูถามเลย เด็กขาดทักษะการสื่อสาร ไม่กล้าแสดงออก และเรียนอย่างไม่มีความสุข หรือห้องเรียนนี้จะน่าเบื่อเกินไปสำหรับพวกเขา
- ครูดำรงฤทธิ์ เอี่ยมทอง ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมองว่า ‘บอร์ดเกม’ อาจจะแก้ปัญหาจุดนี้ได้ เพราะว่าเกมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีความสุข ได้ลงมือทำ สนุกกับการเรียน แถมยังได้เพิ่มทักษะ เช่น การคิด-วางแผน-แก้ปัญหา เป็นต้น
- ‘Animal Racing’ เกมกระดานที่ครูดำรงฤทธิ์ออกแบบ ต้นแบบจากเกมเศรษฐีแต่สอดแทรกเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับ ‘ภัยพิบัติ’ ให้เด็กเรียนรู้ และสามารถนำทักษะการแก้ปัญหาไปใช้จริงด้วย
การเรียนการสอนที่ครูยืนอยู่หน้ากระดาน เด็กๆ คอยเปิดหนังสือตามและทำแบบฝึกหัดวัดผล นอกจากจะเป็นรูปแบบการสอนที่ไม่เอื้อให้เด็กเกิดกระบวนการคิดแล้ว อาจจะส่งผลให้เด็กขาดทักษะการสื่อสาร และความกล้าแสดงออก ดังเช่น โรงเรียนวัดวังเรือน จังหวัดพิจิตร โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในสังคมชนบท แม้เด็กที่นี่จะเชื่อฟังครูเป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกันพวกเขากลายเป็นเด็กที่ไม่กล้าตอบคำถามหรือกล้าแสดงออก
ครูดำรงฤทธิ์ เอี่ยมทอง ครูชำนาญการ สอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า ปกติผมสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 สอนหลายวิชา แต่วิชาหลักคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รูปแบบการสอนก็เหมือนมาติวความรู้ ทำใบงาน เด็กก็นั่งเรียนเรียบร้อย เงียบกริบ ถามอะไรก็ไม่ตอบ เราอยากให้เด็กกล้าแสดงออก และมีทักษะด้านการสื่อสารมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มองว่าสื่อการสอนที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ จึงมองว่าบอร์ดเกมอาจจะแก้ปัญหาจุดนี้ได้ เพราะว่าเกมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีความสุข เราไม่อยากให้เด็กเรียนแต่ท่องจำ อยากให้ได้ลงมือทำ สนุกกับการเรียน
The Potential ชวนติดตามตัวอย่างการนำ ‘บอร์ดเกมเพื่อการศึกษา’ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) กระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ เพิ่มทักษะการคิด-การแก้ปัญหา ฝึกประลองปัญญาชิงไหวชิงพริบ และยังได้ทักษะการสื่อสารมากขึ้น
จากครูผู้สอนสู่ ‘นวัตกรบอร์ดเกม’
เพื่อเพิ่มทักษะด้านการพัฒนาบอร์ดเกมสำหรับนำมาบูรณาการในการเรียนการสอน ครูดำรงฤทธิ์ เอี่ยมทอง ได้เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรการพัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้เชิงรุก ภายใต้โครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยผลงานการออกแบบ ‘บอร์ดเกม’ ชิ้นแรก คือ Animal Racing เป็นเกมกระดานที่มีต้นแบบจากเกมเศรษฐีแต่สอดแทรกเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับ ‘ภัยพิบัติ’
ครูดำรงฤทธิ์ เล่าว่า ครั้งแรกผมออกแบบเกมโดยใช้แนวทางของเกมเศรษฐี เพราะคิดว่าเด็กๆ รู้จักและเล่นเป็น โดยนำลักษณะโครงสร้างของเกมเศรษฐีมาเป็นต้นแบบ จากนั้นตั้งชื่อ ออกแบบกลไกเกม และหมากตัวเดินใหม่ทั้งหมด ที่สำคัญคือมีการแทรกเนื้อหาวิชาวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย ตอนนั้นเลือกเนื้อหาเกี่ยวกับภัยพิบัติ เพราะเป็นหนึ่งในหัวข้อเรียนรู้ของวิชาวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
“เกม Animal Racing มีการวางแผนออกแบบให้เด็กเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ ระดับแรกเป็นการเรียนรู้ภัยพิบัติในท้องถิ่น ซึ่งขั้นนี้เด็กจะได้เรียนรู้กลไกและวิธีการเล่นเกมก่อน และมีความรู้ถึงภัยพิบัติที่พบได้ในท้องถิ่น พอระดับที่ 2 เรียนรู้ภัยพิบัติในระดับชาติ รอบนี้เด็กจะต้องบอกกลไกเกมเอง เขาต้องทบทวนความรู้เกี่ยวกับกลไกเกม และระดับที่ 3 เรียนรู้ภัยพิบัติระดับโลก ในขั้นนี้เด็กจะได้สร้างเกมขึ้นมา เป็นการสร้างการ์ดเล็กๆ ขึ้นมาก่อน เพราะว่าเรามีการ์ดสถานการณ์ให้เขาออกแบบ เป็นการ์ดพิเศษที่มีให้เลือก”
‘การ์ดเปิดใจ’ เพิ่มทักษะสื่อสาร ติดตามพฤติกรรมเสี่ยง
ด้วยเป้าหมายสำคัญของการนำบอร์ดเกมมาจัดการเรียนรู้เชิงรุก คือการพัฒนาจุดอ่อนของเด็กๆ ในเรื่องทักษะด้านการสื่อสาร ทำให้ครูดำรงฤทธิ์นำ ‘การ์ดเปิดใจ’ มาใช้เป็นกิจกรรมนำเกม เพื่อกระตุ้นให้เด็กกล้าสื่อสารอย่างเปิดใจมากขึ้น
“เราจะตั้งคำถามว่าเขารู้สึกอย่างไรกับการเรียนที่ผ่านมา จากการเลือกการ์ดที่เขาชอบ เช่น เขาเลือกการ์ดรูปคนก็จะเล่าว่า ผมนึกถึงตัวเองตอนนี้ที่รู้สึกเคว้งคว้าง โดดเดี่ยว บางคนเลือกภาพที่มีเพื่อน เขาก็จะพูดถึงเพื่อน เป็นกิจกรรมก่อนเล่มเกมใน 5 นาทีแรก
สำหรับในช่วงการเล่นเกม จะมีการแบ่งช่วง โดยครั้งแรกให้เล่นแค่ 5 นาที เพื่อตรวจสอบว่าเด็กเล่นถูกกติกาไหม เด็กบางคนเล่นไม่ถูก ไปไม่ได้ เรียนรู้ช้า เพื่อนก็ต้องช่วยแนะนำ ทำให้เกิดการพูดคุย การสื่อสารในกลุ่มของตัวเอง จากนั้นจะให้เล่นในรอบที่ 2 เป็นช่วงการเซ็ตเกม ออกแบบให้ใช้เวลา 15 นาที ซึ่งคราวนี้เด็กจะเริ่มเล่นเป็นมากขึ้น”
ทั้งนี้ หลังการเล่นเกมจะมี ‘กิจกรรมการแลกเปลี่ยนรู้’ เพื่อให้เด็กสะท้อนถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน
ครูดำรงฤทธิ์ เล่าว่า รุ่นแรกให้เขียน Mind Map แต่เด็กทำได้ช้า เพราะกลัวทำออกมาไม่สวย รุ่นที่สองเลยปรับให้เขียนเป็นตารางแยกออกมาว่า ภัยพิบัตินี้มีอะไรบ้าง ส่งผลกระทบอย่างไร พอมาในรุ่นที่ 3 ก็ปรับมาให้เขียนสรุปและออกมาอธิบายว่า ทำไมถึงเลือกออกแบบการ์ดภัยพิบัติเรื่องนี้ และจะมีวิธีแก้ปัญหาหรือป้องกันอย่างไร ดังนั้นเด็กจะไม่ได้แค่ทักษะการสื่อสาร แต่เขาจะได้สะท้อนถึงการนำไปใช้ด้วยว่าถ้าเขาเจอสถานการณ์จริง เขาจะประยุกต์ใช้อย่างไร ซึ่งก็เป็นการเรียนรู้ที่เกินไปกว่าเป้าที่เราตั้งไว้มาก
“แต่ก่อนการเรียนรู้เกี่ยวเรื่องภัยพิบัติจะใช้แบบฝึกหัด มีสถานการณ์ให้ แล้วก็มีคำถามคำตอบ พอเราเปลี่ยนมาเป็นเกม และให้เด็กสะท้อนความคิด สรุปองค์ความรู้ร่วมกัน จะเห็นว่าปลายทางเด็กได้ความรู้เหมือนกัน แต่ความสุขกับการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ที่สำคัญการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงก็ย่อมยั่งยืนกว่าการท่องจำ”
บอร์ดเกมไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยเพิ่มทักษะการสื่อสาร แต่ยังมีส่วนช่วยให้ครูติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมเด็กที่ส่อแววมีปัญหา
“เด็กในชั้นมี 16 คน ผลสะท้อนจากเกมการ์ดเปิดใจ ทำให้เราแบ่งกลุ่มเด็กที่เริ่มมีปัญหาเพื่อติดตามสังเกตอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เรายังดูในเรื่องของเจตคติด้วย ดูจากการแบ่งกลุ่มว่าเขาแบ่งกลุ่มอย่างไร เลือกจะอยู่ในกลุ่มที่เพื่อนไม่ค่อยพูดเหมือนเดิมไหม กลุ่มไหนต้องเพ่งเล็งเป็นพิเศษ
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการจัดการเรียนรู้ เพราะครูไม่ใช่แค่สอนความรู้อย่างเดียว แต่ต้องสอนทั้งทักษะและเจตคติ เพื่อให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข”
‘เกมประทัดระเบิด’ ฝึกการวางแผน แฝงความรู้เศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากเกม Animal Racing แล้ว ก็ยังมีบอร์ดเกมอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น เกมประทัดระเบิด
ครูดำรงฤทธิ์ เล่าว่า เกมประทัดระเบิดจะสอดแทรกวิชาสังคมศึกษา เป็นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เกมนี้ไม่มีแผนที่ มีแค่การ์ดอย่างเดียว เป็นการ์ดขนาดเล็กๆ แล้วให้เด็กจั่วคล้ายจั่วไพ่คนละ 5 ใบ แต่ว่ากลไกของเกม คือ เรื่องของการจับประทัด ถ้าใครได้ประทัด ต้องปลดชนวน ถ้าปลดชนวนได้ก็รอด และเอาประทัดไปซ่อนในกองเหมือนเดิม กลไกเกมมีแค่นี้ แต่ว่าเราแทรกความรู้เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปด้วย
ตัวการ์ดจะประกอบด้วยรถไถนา นาข้าว พืชสวน พืชนา ปลา การเลี้ยงสัตว์ และที่อยู่อาศัย เป็นต้น ความรู้ที่ใส่ไป เช่น การ์ดรูปบ้านจะเป็นการ์ด Skip ปลูกฝังว่าถ้าปลูกบ้านเป็นของตัวเองได้ แปลว่าคนนั้นมีความพอเพียง สมมุติว่าเห็นประทัดอยู่ด้านบนสุด เด็กก็จะรู้แล้วว่าต้องใช้การ์ดบ้านเพื่อเลื่อนตาเล่นไปก่อน ถึงจะรอดจากระเบิดได้”
นอกจากความสนุกที่เด็กต้องลุ้นระเบิดจนตัวโก่งแล้ว กลไกของเกมยังช่วยให้เด็กได้ฝึก ‘ทักษะการคิดและการวางแผน’
ครูดำรงฤทธิ์ เล่าว่า เกมนี้สิ่งที่เด็กได้คือความสนุกและทักษะการคิด เด็กต้องเรียนรู้การ์ด 5 ใบที่อยู่ในมือ ทุกคนจะได้คีมสำหรับปลดชนวน เด็กต้องวางแผนว่าจะใช้คีมตอนไหน ต้องคอยตั้งใจ มีสมาธิอยู่กับกองการ์ดเลย เพราะตอนที่สับการ์ด คนเล่นไพ่เขาจะมีทริคในการซ่อนไพ่ เพื่อนคนไหนจะโดน เราจะวางแผนอย่างไรให้เป็นผู้ชนะ ตรงนี้สอดแทรกทักษะการคิดและการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ เขาจะได้ไปโดยอัตโนมัติ และด้วยเกมมีแค่กล่องการ์ดซึ่งพกพาได้ง่าย ทำให้เกมนี้ท็อปฮิตที่สุด
“เกมนี้เป็นเกมที่ออกแบบง่าย เด็กเรียนรู้จบภายใน 1 ชั่วโมง และเด็กสามารถสะท้อนความคิดออกมาได้เลยว่า เศรษฐกิจพอเพียงต้องมีอะไรบ้าง เขารู้โดยที่ไม่ต้องไปบอกว่าทำอย่างไรถึงจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง อยู่ในการ์ดหมดเลย ตั้งแต่ทำเกมมาประทับใจเกมนี้มากที่สุด เพราะเด็กเรียนรู้ไวและสะท้อนได้”
สำหรับรูปแบบของการนำบอร์ดเกมมาใช้ในการเรียนการสอน ครูดำรงฤทธิ์ บอกว่า ไม่ได้นำมาใช้สอนทุกชั่วโมง แต่จะเลือกใช้ในโอกาสที่เหมาะสม
ครูดำรงฤทธิ์ เล่าว่า บางช่วงก็สอนบรรยายตามปกติ แต่จะใช้กลไกให้เด็กเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ยิ่งเราเป็นครูวิทยาศาสตร์ก็จะไม่ได้ใช้แค่เกม ต้องสอนการทดลอง การทำโครงงาน ที่สำคัญเด็กเล่นเกมทุกชั่วโมงก็อาจเบื่อได้ เราอยากให้เขารอว่า ครั้งหน้าครูจะมาด้วยเกมอะไร แล้วครูจะสอนอีกเมื่อไหร่
“ช่วงหลังๆ มา ทุกครั้งที่เล่นเกม ผมจะถามเด็กว่าเราจะมี Feed up, Feedback และ Feed Forword อย่างไร Feed up คือ เด็กได้เรียนรู้อะไร Feedback คือ เขาอยากเพิ่มเติมอะไรลงไป สุดท้าย Feed Forword คือครั้งหน้าอยากทำอะไรต่ออีก มีเกมอื่นไหม หรืออยากเรียนรู้อะไร”
บอร์ดเกมทลายข้อจำกัด พัฒนาทักษะสื่อสารและการคิดขั้นสูง
ผลจากการนำบอร์ดเกมมาใช้จัดการเรียนรู้เชิงรุกในปีแรก พบว่าเด็กสนุกกับการเรียนรู้และมีทักษะสื่อสารที่ดีมากขึ้น
ครูดำรงฤทธิ์ เล่าว่า มีเคสหนึ่งที่ประทับใจ คือ น้องนักเรียนชั้นป. 6 เดิมเขาเป็นเด็กที่ไม่พูดเลย ไม่เข้าสังคม เรียนเก่ง แต่เจตคติยังไม่ค่อยดี เพราะเวลาเขาไม่พอใจ เขาจะเดินกลับบ้านเลย ผู้ปกครองก็จะโทรมาบ่นครูทันที แต่ทุกวันนี้เขาเป็นนักเรียนคนเดียวในชั้น ป. 6 ที่ไปหาเกมมาเล่นกับเพื่อน มาแชร์กับเพื่อน เราก็ดีใจที่เขาเลือกเกมการศึกษาในการเข้าสังคม เอาเกมมาแชร์ มาสอนเพื่อน จากที่ไม่ได้สนใจใครเลย ก็เริ่มแบ่งปันและช่วยเหลือเพื่อน ก็เป็นความสุขที่เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของเด็กจากการที่เราใช้บอร์ดเกมในการจัดการเรียนรู้
เด็กชายนรเศรษฐ์ บุญเกิด นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดวังเรือน กล่าวว่า ชอบและสนุกที่ได้เล่นบอร์ดเกมในวิชาวิทยาศาสตร์ แล้วก็ได้ความรู้ไปด้วย เช่น เกม Racing Animal ก็ได้ความรู้เรื่องการออมเงิน ได้ฝึกการคิดเลข สมมติเราทอยลูกเต๋าได้ 1 แล้วเดินไปตกที่ช่องลด 10 คะแนน เราก็ต้องเสีย 2 เหรียญๆ เหรียญละ 5 คะแนน เป็นการฝึกการบวก-ลบคะแนน
“นอกจากนี้ก็มีเกมประทัดระเบิด สมมติเราเล่น 4 คน จะมีการ์ดประทัด 3 ลูก ก็ต้องสุ่มไปเรื่อยๆ แล้วเราจะมีชนวนระเบิดคนละอัน ถ้าเพื่อนคนหนึ่งได้ระเบิด อีกคนหนึ่งมีชนวนกดระเบิด เขาก็จะใช้ชนวนกดระเบิดประทัดก็จะทำให้รอด แล้วก็ยังมีการ์ดทุ่งนา ต้องจับคู่ที่เหมือนกัน แล้วก็อ่านว่ามีความสามารถอะไร จับคู่ได้แล้วก็โจมตีคนอื่น ก็คือเอาการ์ดไปวางข้างหน้าเขา และหยิบการ์ดเขามาหนึ่งใบมาเป็นของเรา ทำให้เรามีการ์ดเพิ่มขึ้น ถ้าใครหยิบการ์ดบ้านจะสามารถเลื่อนตาได้ ไม่ต้องจั่วการ์ดในกอง เราก็จะใช้การ์ดเวลาที่รู้ว่ามีการ์ดระเบิดอยู่ด้านบน ใครที่โดนระเบิดหรือการ์ดหมดก่อนก็จะแพ้ คนที่เหลือการ์ดคนสุดท้ายจะชนะ ก็ต้องมีการคิดวางแผนในการเล่นด้วย
เวลาเล่นเกมเสร็จ ครูจะชวนแลกเปลี่ยนว่าเกมนี้ได้อะไรบ้าง ซึ่งเราก็ได้ทั้งความสนุก ความรู้ และการวางแผน เล่นบ่อยๆ คิดเลขเร็วขึ้นด้วย ที่สำคัญคือได้ฝึกการสังเกต ต้องมีสมาธิ คอยดูว่าการ์ดระเบิดมาหรือยัง จะตื่นเต้นต้องคอยลุ้นว่าจะได้ระเบิดตอนไหน เพื่อนๆ ก็ชอบ ได้คุยกันมากขึ้น”
อย่างไรก็ดี การนำบอร์ดเกมมาใช้พัฒนาเด็กให้มีสมรรถนะเท่าทันโลกสมัยใหม่ สามารถนำความรู้ไปใช้งานจริงได้ ต้องอาศัยการบูรณาการหลากหลายเครื่องมือและศาสตร์ความรู้เข้าด้วยกัน
“ผมบอกเด็กเสมอว่า เราไม่จำเป็นต้องมีเกมก็เรียนอย่างมีความสุขได้ แต่เกมคือสื่อที่ทำให้เราเข้าถึงนักเรียนได้ไวและตรงจุด
เพราะเทรนด์การศึกษาในตอนนี้จะเป็นเกมหมด ดังนั้นจะดีไหมถ้าเราทำเกมให้อยู่ในห้องเรียนดีกว่าอยู่ในมือถือ ฉะนั้นจุดประสงค์คือทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนอยู่ในสายตาของเรา และได้ความรู้ที่ควรได้รับ
สิ่งสำคัญของเกมการศึกษาคือเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้พร้อมกับครูผ่านเกม แต่ทั้งนี้บอร์ดเกมก็เป็นเพียงทักษะหนึ่งที่ยังต้องอาศัยการบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้ง เพื่อให้เด็กมีสมรรถนะการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์โลกศตวรรษที่ 21” ครูดำรงฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย