Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
23 October 2023

‘ปูม้าที่หายไป’ โจทย์การเรียนรู้บริบทชุมชนที่เด็กออกแบบเอง: โรงเรียนบ้านแหลมไทร จังหวัดตรัง

เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • เมื่อจำนวนประชากร ‘ปูม้า’ ที่เป็นของดีของชุมชนแหลมไทรลดลง ซึ่งจะมีผลกับสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวเด็กๆ โรงเรียนบ้านแหลมไทรด้วย จึงกลายมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงห้องเรียนกับชุมชนที่น่าสนใจ
  • ทำอย่างไรให้ทรัพยากรปูม้าเพิ่มมากขึ้น? คือวัตถุประสงค์หลักๆ ที่ ครูภณิดา ชูช่วยสุวรรณ ตั้งต้นในการเรียนรู้นี้ โดยใช้การจัดการเรียนรู้ Active Learning ในรูปแบบของ ‘หลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก (Phenomenal Based Learning: IP2)’ 6 ขั้นตอน
  • ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กอย่างเห็นได้ชัดคือ เด็กสนุกกับการเรียนรู้ มีความอยากเรียนรู้ และจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น

เพราะโลกใหญ่กว่าห้องเรียน การพาเด็กๆ ไปเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัตินอกห้องเรียน โดยเฉพาะในชุมชนที่พวกเขาเติบโตมา จึงเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ไม่เพียงเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ยังทำให้เด็กเกิดสำนึกรักในท้องถิ่น และสามารถจัดการกับปัญหาในชุมชนของตนเองได้

The Potential ชวนเปิดห้องเรียน ครูภณิดา ชูช่วยสุวรรณ ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษาชั้นป.4 โรงเรียนบ้านแหลมไทร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กับหน่วยการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมกายภาพในจังหวัด ที่ชวนเด็กๆ มาเรียนรู้ของดีในชุมชน สร้างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ไปจนถึงปั้นนวัตกรตัวน้อยๆ ที่สร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาปากท้องในชุมชน 

ครูภณิดา ชูช่วยสุวรรณ ครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษาชั้นป.4 และเด็กๆ นักเรียนโรงเรียนบ้านแหลมไทร

ห้องเรียนของครูภณิดาเป็นการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนด้วย ‘หลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก (Phenomenal Based Learning: IP2)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรของโครงการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้ครูที่เข้าอบรมสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับ ประยุกต์ และต่อยอด เพื่อใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียน จุดเริ่มต้นจึงเกิดจากการที่ได้ไปอบรมในหลักสูตรของโครงการที่ว่านี้ 

“พอนำมาใช้กับโรงเรียนจริงๆ เราก็ปรับกระบวนการให้มันเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนเรา และยังคงเป็นการศึกษาภูมิศาสตร์ เพราะเราเป็นครูสังคมฯ ภูมิศาสตร์ของแหลมไทรเป็นชายฝั่งทะเล แล้วก็มีทรัพยากรทางทะเล ทีนี้พอเราลงสำรวจปัญหา พานักเรียนลงพื้นที่ ปัญหาที่พบของเราหลักๆ เลยคือปูม้าที่เป็นของดีของแหลมไทร ตอนนี้มีจำนวนลดลง ซึ่งทรัพยากรทางทะเลถ้ามันลดลงก็จะมีผลกับสภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวเขา”

สำหรับวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักเรียนที่ครูภณิดาตั้งไว้นั้น เน้นไปที่การให้เด็กรู้จักสภาพแวดล้อมในชุมชน มองเห็นปัญหา และรู้จักคิดหาทางแก้ปัญหา รวมไปถึงตระหนักถึงการอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อความเป็นอยู่ในอนาคต 

“เนื่องจากเป็นโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก ประสบการณ์โลกของเด็กที่นี่ก็คือ ปัญหาที่เขาพบและเลือกมาแล้วว่าอยากแก้ก็คือ ปูม้าที่ลดลง ดังนั้นวัตถุประสงค์หลักๆ เลยคือ ทำยังไงให้ทรัพยากรปูม้ามีเพิ่มมากขึ้น”

6 ขั้นตอนการเรียนรู้เชื่อมโยงกับชุมชน

หัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้ในหน่วยนี้ของแหลมไทรก็คือ ให้เด็กแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และสร้างนวัตกรรมได้ด้วยกระบวนการ Phenomenon based learning การเรียนรู้โดยใช้ปรากฏการณ์เป็นฐาน และ Problem-based Learning การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน นอกจากนี้ยังผสมผสานกับ Project Approach หรือการทำโครงงานด้วย โดยครูภณิดาออกแบบการเรียนรู้ใน 6 ขั้นตอน ดังนี้ 

ขั้นแรก ‘แหลมไทรอะไรดี?’ ครูหย่อนโจทย์ให้เด็กระดมสมอง เพื่อกำหนดสถานการณ์ปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่จะนำมาใช้ในการเรียนรู้ และเป็นการประเมินระดับความคิด 

ขั้นที่สอง ‘ตามมาจะพาไปล่องทะเล’ เป็นการคิดประเด็นสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้เด็กมองเห็นภาพที่ชัดขึ้น ครูจึงพาลงสำรวจพื้นที่ชุมชนบ้านแหลมไทร ทำหน้าที่เป็นโค้ช เพราะว่าการเรียนรู้จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อทำให้ผู้เรียนอยากจะเรียนรู้ และอยากหาคำตอบในสิ่งที่อยากรู้ นอกจากนี้ต้องอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เช่น ปราชญ์ชาวบ้าน 

“เพราะความรู้มันไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องเรียน เขาเอาปัญหาจากชุมชน แล้วบางทีการแก้ปัญหาคนที่รู้ดีมากกว่าคุณครูก็คือคนในชุมชน ดังนั้นเราต้องเป็นทั้งโค้ช ทั้งผู้อำนวยความสะดวกให้เขา แล้วก็เป็นผู้ที่จุดประกายให้เขาได้คิด บางทีต้อง เอ๊ะ! ไปเรื่อยๆ ให้เขาได้สงสัย”

“ตอนเราไปลงพื้นที่เราต้องชวนเด็กมองในสิ่งที่เขาอาจจะมองข้าม เช่น ป่าชายเลนมีต้นพังกางอกออกมา ซึ่งเขาอาจจะมองไม่เห็นหรือเขาเห็นทุกวันจนไม่ได้สังเกต เราต้องเอ๊ะ! นี่อะไรนะ แล้วตรงนี้แค่มีต้นไม้แค่ต้นเดียวมีสัตว์อะไรอยู่บ้าง เราต้องชี้ เราต้องแนะเขานิดนึงให้เขาได้เห็น ได้สังเกต ถ้าเขาได้เห็นอะไรจากพื้นที่จริงๆ ทำให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์มากขึ้น”

ในขั้นที่สาม ‘หนูน้อยนักอนุรักษ์ พิทักษ์พันธุ์ปูม้า’ กลับเข้ามาสู่ห้องเรียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าแต่ละคนมองเห็นอะไรที่เป็นจุดเด่นของชุมชน และอะไรที่เป็นปัญหาที่เจอ เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาตนเองร่วมกัน โดยใช้เครื่องมือ FILA Map ในการจัดระบบความคิดที่กระจัดกระจายให้เป็นกลุ่มก้อน วิเคราะห์ข้อมูลที่มี และนำเสนอ ซึ่ง FILA ย่อมาจาก 

F = Fact ข้อเท็จจริง เป็นที่มาของปัญหา ในที่นี้สิ่งที่เด็กๆ วิเคราะห์กันก็คือ ทรัพยากรปูม้าลดลง

I = Innovative Ideas นวัตกรรม หรือวิธีการที่จะทำให้ปัญหาหายไป ก็คือนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มจำนวนปูม้า 

L = Learning Issue ความรู้และทักษะที่ต้องใช้สร้างนวัตกรรม 

A = Action Plan การวางแผนการทำงาน 

ตัวอย่าง FILA Map ของเด็กๆ

ขั้นที่สี่ ‘คิดไม่ OUT เราทำได้’ เป็นการจัดการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ บูรณาการรายวิชาสังคมฯ วิทยาศาสตร์ และการงานอาชีพ เพื่อนำไปใช้ในการประดิษฐ์นวัตกรรม

“ทีนี้พอประเด็นปัญหาได้แล้วนักเรียนก็แบ่งกลุ่มกันทำกิจกรรมได้ 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเขาก็จะทำ ‘ชุดอนุบาลปูม้า พลังงานแสงอาทิตย์’ ซึ่งจริงๆ แล้วชุดอนุบาลปูม้า การอนุบาลปูม้าก็มีอยู่ในชุมชนนะคะ แต่กลุ่มนี้เขาคิดเพิ่มขึ้นมาเขาอยากนำพลังงานสะอาดมาใช้ ก็คือการใช้โซลาเซลล์ค่ะ กลุ่มที่สองเขาคิดแค่เขาอยากลงไปช่วยในชุมชนเป็น ‘อาสาช่วยดูแลธนาคารปูม้าในชุมชน’ กลุ่มที่สามเขาอยากสร้างชุดอนุบาลแบบของเขา โดยทำ ‘ภาชนะอนุบาลปูม้าจากระป๋อง’ ส่วนกลุ่มสุดท้ายเป็นการ ‘ทำสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยอนุรักษ์ปูม้า’ รณรงค์ในการอนุบาล ก็จะเป็นรูปแบบที่ต่างกันของแต่ละกลุ่มในการที่จะช่วยอนุรักษ์ปูม้าของเขา กลุ่มไหนคิดยังไงเราก็ให้เขาได้ลงมือทำในสิ่งที่เขาคิด ไม่ได้ปิดกรอบความคิดของเขานะคะ แต่ละกลุ่มความสำเร็จก็จะแตกต่างกัน”

ขั้นที่ห้า ‘ถอดบทเรียน เปลี่ยนชีวิต’ หลังจากผ่านการคิดและลงมือทำกันแล้ว ให้เรียนประเมินตนเอง โดยใช้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs 

“การพัฒนาที่ยั่งยืนมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย เป็นความรู้ที่นักเรียนจะต้องมาวิเคราะห์ตามใบงานว่าสิ่งที่นักเรียนทำอย่างกลุ่มที่สร้างนวัตกรรมอนุบาลปูม้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถตอบโจทย์ SDGs ใดได้บ้าง เช่น ตรงกับเป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน ถ้ามีปูม้าเพิ่มขึ้นรายได้ของผู้ปกครองก็จะเพิ่มขึ้น, เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย ถ้ามีปูม้าเพิ่มขึ้นแหล่งอาหารในชุมชนก็จะเพิ่มขึ้น, เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดและจ่ายได้ เพราะว่าเราทำโซลาเซลล์โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานสะอาดที่เราสามารถนำใช้ได้ และเป้าหมายที่ 14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร ชุมชนของเราอยู่ติดชายฝั่งทะเล อาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นอาชีพประมงก็เลยต้องอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า เพื่อให้ปูม้ามีในอนาคต”

สุดท้ายขั้นที่ 6 ‘สู่ชุมชน อุดมสุข’ คือต่อยอดองค์ความรู้ และเผยแพร่ความรู้ที่ได้กลับคืนสู่ชุมชนนั่นเอง

เด็กๆ ลงพื้นที่กับผู้นำชุมชน

ผลลัพธ์การเรียนรู้คือจิตสำนึกและสมรรถนะ

ครูภณิดาเล่าว่าการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ใช้ปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้ ผลที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กอย่างเห็นได้ชัดคือ เด็กสนุกกับการเรียนรู้ มีความอยากเรียนรู้ และจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น

“จริงๆ วิชาสังคมฯ ถ้าเกิดว่าเราสอนปกติมันอาจจะทำให้เด็กเบื่อ จำไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยจดจ่อ ถามสภาพภูมิประเทศเป็นยังไงก็จะบอกว่าอากาศร้อน คือมันจำไม่ได้ในเนื้อหา มันเป็นการท่องจำถ้าแบบเดิมๆ แต่ถ้าเกิดเราทำแบบนี้ ไปลงพื้นที่จริงๆ เห็นชัดเจน เขาจำเนื้อหาอะไรได้แม่นกว่า”

ในด้านทักษะที่ได้นั้น ครูภณิดาเล่าต่อว่าเกิดทักษะขึ้นตามมาหลายตัว ที่ไม่ใช่แค่การได้ความรู้ในรายวิชาสังคมฯ วิทยาศาสตร์ หรือการงานอาชีพ แต่สิ่งที่เด็กได้ด้วยคือสมรรถนะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต

“การเรียนที่ตอบโจทย์คือการฝึกเขาให้เป็นคนที่มีสมรรถนะที่พร้อมในอนาคตข้างหน้า นั่นคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับเขามากกว่าการเอาความรู้ที่เหมือนกับเป็นแบบแผนเดียวกันมาทั้งหมด” 

นอกจากทักษะต่างๆ แล้ว สิ่งที่ครูภณิดามองว่าจำเป็นและเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ครั้งนี้คือ จิตสำนึก 

“ตอนนี้เขาก็รักและหวงแหนในทรัพยากรและบ้านเกิดของเขา มันไม่ใช่แค่เกิดในห้องเรียน เพราะว่าพอเขาเริ่มทำ คนในโรงเรียนคนอื่นเห็น ชาวบ้านเห็น แล้วทุกคนถ้าเข้ามาช่วย มันก็จะเกิดการสะท้อนให้เห็นในภาพใหญ่ว่า เราต้องมาช่วยกันดูแลชุมชนของเราแล้ว ทำให้เห็นกว้างกว่าในห้องเรียน 

เพราะนี่คือบ้านของเขา ถ้าระยะราวทรัพยามันอยู่กับเขาก็จะเป็นผลกับครอบครัวกับลูกหลานในชุมชนของเขา ดังนั้นถ้าเราปลูกตรงนี้ได้ สร้างได้ มันก็จะเป็นผลระยะยาวกับครอบครัวของเขาเอง”

Tags:

FILA MapActive Learningหลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก (Phenomenal Based Learning: IP2)ปูม้าโรงเรียนบ้านแหลมไทร

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Related Posts

  • Education trend
    สังคมการเรียนรู้ คือสังคมแห่งคำถาม: ปุจฉา 5 ข้อ จาก ‘ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช’ ทบทวนความเข้าใจ(ผิด)ทางการศึกษา

    เรื่อง The Potential

  • Creative learning
    ถักทอการเรียนรู้บนฐานทุนชีวิต เชื่อมห้องเรียนกับชุมชนแบบไร้รอยต่อ: โรงเรียนบ้านขุนแปะ เชียงใหม่

    เรื่อง The Potential ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ‘บอร์ดเกม’ เปลี่ยนห้องเรียนแสนน่าเบื่อให้กลายเป็นสนามสนุกคิด: โรงเรียนวัดวังเรือน จังหวัดพิจิตร

    เรื่อง The Potential

  • Transformative learningLearning Theory
    เปลี่ยนวิกฤตการเรียนรู้ถดถอย เป็นโอกาสปฏิรูปการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน : ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • ห้องเรียน ‘บาริสต้าน้อย’ โรงเรียนสินแร่สยาม : ทักษะและการเรียนรู้ที่เด็กๆ ร่วมกันออกแบบ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel