- แม้จะไม่ใช่โรงเรียนที่มุ่งเน้นในด้านวิทยาศาสตร์ แต่นักเรียนของกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยสามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่อง
- เบื้องหลังความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากการเคี่ยวกรำทางด้านวิชาการ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานตามความสนใจด้วยความสมัครใจ
- โครงงานวิทยาศาสตร์นี้ไม่มีการตัดเกรด ไม่มีคะแนนพิเศษ มีเพียงการเรียนรู้ร่วมกันของครูและนักเรียน โดยครูทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยตั้งคำถามให้นักเรียนได้ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกรายการ Regeneron ISEF 2023 ที่เมืองดัลลัส สหรัฐอเมริกา ก่อนคว้ารางวัลที่ใหญ่ที่สุดของงานอย่าง ‘รางวัลสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์’ (Regeneron Young Scientist Award) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับรางวัลนี้
ท่ามกลางเสียงชื่นชมยินดี สิ่งที่น่าสนใจคือแบล็คกราวด์ของกลุ่มนักเรียนที่ไปคว้ารางวัลสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์นั้นไม่ได้มาจากโรงเรียนที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านวิชาการ แต่เป็นโรงเรียนเอกชนที่มุ่งมั่นสู่การเป็น ‘โรงเรียนแห่งความสุข’
The Potential ชวน ครูชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ ครูประจำวิชาชีววิทยาและหนึ่งในครูที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มาพูดคุยถึงแนวทางการออกแบบการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนกล้าที่จะนำเสนอโครงงานตามความสนใจของตัวเองและลงมือทำด้วยความกระตือรือร้น จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้องๆ ในการตามฝันบนเส้นทางนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา
โจทย์ที่ 1 เปลี่ยนความกลัววิทยาศาสตร์เป็นการเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา
เมื่อพูดถึง ‘วิชาวิทยาศาสตร์’ เชื่อว่าหลายๆ คนอาจนึกขยาดราวกับเป็นยาขม ซึ่งครูชนันท์ก็ไม่ปฏิเสธ แต่ขออธิบายต้นสายปลายเหตุว่า
“ยากครับ ไม่ใช่แค่เด็ก ครูเองก็ยังลำบากเลย ต้องบอกก่อนว่าปลายทางการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันยังไม่เปลี่ยนและยังไม่หลุดจากกรอบคำว่า Content (เนื้อหา) ซึ่งไม่ผิดนะ เพราะคุณต้องมีพื้นฐานเอาไว้ใช้ในการตัดสินใจหรือเป็นตัวกำหนดกรอบบางอย่าง เพียงแต่ว่าเราดันยึด Content บางอย่างมากเกินไป พอยึดมากเกินไปกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่กระบวนการคิดให้เป็นเหตุเป็นผลที่ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญที่สุดมันก็ลำบากไปด้วย”
ครูชนันท์มองว่าสิ่งเหล่านี้คือความท้าทายของเขาในฐานะผู้สอน เพราะเนื้อหาที่กระทรวงศึกษาธิการออกแบบมานั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาที่เยอะและยากกว่าสมัยที่เขายังเป็นนักเรียน
“จำได้ว่าสมัยที่ครูเรียนหนังสือ ม.ต้น เขาสอนเรื่องระบบร่างกาย ระบบสืบพันธุ์ ระบบย่อยอาหาร ซึ่งเนื้อหามันกำลังน่ารักใช่ไหมครับ แต่ทุกวันนี้ตัดเรื่องอาหารทิ้งกลายเป็นเด็กม.2 ต้องเรียนระบบประสาทซึ่งครูก็ไม่รู้ว่าเขาอยากให้เด็กรู้อะไร ทำไมถึงเขียนหลักสูตรแบบนี้ คือเนื้อหายากจนไม่รู้จะยากไปไหน ทั้งที่วัยอย่างนั้นเราควรเรียนรู้ว่าเราควรกินอะไร เติบโตยังไง ระบบสืบพันธุ์เป็นยังไง เราจะได้ดูแลตัวเองถูก ครูว่าหลักสูตรแบบนี้กำลังน่ารัก แต่ไปแก้จนเป็นแบบทุกวันนี้ อันนี้พูดในฐานะของเด็กและฐานะของครูว่าเราเองก็ถูกภาวะกดดันเหมือนกัน ครูอยากให้ชอบวิชาวิทยาศาสตร์แต่ทิ้งเนื้อหาไม่ได้ เพราะปลายทางสำคัญคือเด็กต้องใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย
ยิ่งสมัยนี้พอเด็กม.ต้นไปกวดวิชาเขาจะเอาเนื้อหาม.ปลายมาสอน พอครูในโรงเรียนสอนเท่าหลักสูตรก็กลายเป็นครูบกพร่อง หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เอาเนื้อหายากๆ บางอันเกินหลักสูตรมาออกข้อสอบ แล้วถ้าเราไม่สามารถทำเนื้อหาให้เท่ากันก็กลายเป็นว่าเราสอนไม่ดีเด็กถึงเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ พอเราสอนยากขึ้น เด็กบางคนที่ไปกับเราไม่ได้ก็เริ่มไม่ชอบวิทยาศาสตร์”
เมื่อแนวโน้มของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เป็นไปในทิศทางนี้ เด็กหลายคนจึงคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่ชอบวิทยาศาสตร์ ทั้งที่จริงๆ แล้ว วิทยาศาสตร์คือกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล
“ครูคิดว่าคุณลักษณะสำคัญที่สุดของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์คือการมีกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นขั้นเป็นตอนตามระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพียงแต่การทำความเข้าใจและการฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระเบียบระบบขั้นตอนเนี่ยจะทำยังไงให้เด็กไปถึงเพื่อเข้าใจการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาในเชิงของเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ให้ได้ ทุกวันนี้ก็พยายามให้เด็กทดลอง พยายามให้เด็กออกไปสำรวจ แต่ด้วยการสอนปกติก็ลำบากอยู่ดีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจนั้นๆ
ฉะนั้นสิ่งที่พยายามตอนนี้และเป็นจุดสำคัญที่สุดคือ ‘การตั้งคำถาม’ เพราะตั้งแต่สอนมาไม่ว่าทฤษฎีการศึกษาอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือครูจะขับเคลื่อนไปได้ต่อเมื่อมีการตั้งคำถามให้เด็กได้คิด
เด็กจะคิดได้มากน้อยแค่ไหนไม่รู้ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นการคิดที่อยู่บนเนื้อหานั้นๆ ว่าทำไม 1 ถึงเกิด 2 ทำไม 2 ถึงเกิด 3 แต่เราไม่สามารถทำตามทฤษฎีได้ทุกอย่างที่จะถามเด็กรายบุคคล อย่างน้อยที่สุดเบื้องต้นที่ทำได้คือการสุ่มถามทั้งห้องพร้อมกัน หรือการให้ประเด็นชวนคิดว่าจาก 1 ไป 2 จาก 2 ไป 3 มันจะเป็นไปได้ยังไง อันนี้ก็ท้าทายตรงที่เนื้อหามันลึก จะทำยังไงให้เกิดรูปแบบการตั้งคำถามที่ดี เวลาที่จำกัดจะทำยังไงให้การตั้งคำถามสามารถกระตุ้นความคิดของนักเรียนให้ทั่วถึงทุกคน”
โจทย์ที่ 2 เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์
แม้หลักสูตรจากภาครัฐจะทำให้ครูชนันท์ไม่สามารถเป็น ‘ครูวิทยาศาสตร์’ ในแบบที่เขาใฝ่ฝันได้เต็มร้อย แต่เนื่องจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้ประกาศตัวเป็นโรงเรียนแห่งความสุข โดยพยายามลดวิชาหรือเนื้อหาที่เด็กไม่ชอบแล้วเสริมด้วยวิชาเลือกเพิ่มเติมเพื่อให้บรรยากาศความตึงเครียดในการเรียนลดลง แถมยังเปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เช่น นิเทศ ดนตรี กีฬา การประกอบอาหาร สถาปัตย์ แพทย์ ไปจนถึงสเปซโปรแกรม ฯลฯ ทำให้การเรียนรู้นอกตำราและนอกเวลาเรียนได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่
“ครูรู้สึกว่าโรงเรียนมาถูกทางที่เปิดโอกาสให้เด็กค้นหาตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะกิจกรรมตอนเย็นหลังเลิกเรียนที่เด็กแต่ละคนสามารถไปเรียนสิ่งที่ตัวเองสนใจ ถ้าคุณอยากเรียนลึกตอนเย็นเราจัดติวฟรีให้ คุณมาติวได้เลยเพื่อใช้ไปสอบ แต่ไม่ใช่การมาบังคับให้ทุกคนอยู่ในกรอบเดียวกันว่าต้องยากต้องโหด พอเด็กได้เรียนได้ทำสิ่งที่ชอบ เขาก็มีใจที่จะอยู่แม้ยากแค่ไหนเขาก็จะสู้”
เมื่อบรรยากาศการเรียนการสอนผ่อนคลายขึ้น ประกอบกับการที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจหลังเลิกเรียนทำให้ครูชนันท์ได้พบเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นกลุ่มนักเรียนที่บุกเบิกเส้นทางการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน
“เด็กมาบอกว่าเขาประหลาดใจที่ต้นกาบหอยแครงสามารถงับและย่อยแมลงได้ ซึ่งมันก็ธรรมดามากสำหรับเราในฐานะครูชีววิทยา”
แต่แทนที่ครูชนันท์จะ ‘ช็อตฟีล’ นักเรียนด้วยการบอกว่า “เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้” “ทำไมต้องตื่นเต้น” หรือไม่ก็ “เอาเวลาไปอ่านหนังสือดีกว่าไหม” เขากลับมองลึกเข้าไปในดวงตาที่เปล่งประกายของนักเรียนคนนั้น ก่อนตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดและกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม
“ไม่นานเขากลับมาหาใหม่แล้วบอกว่าครูครับผมเจอความพิเศษอย่างหนึ่งคือวันที่ฝนตกมันจะหุบ ซึ่งในฐานะครูชีววิทยา เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ก็ถามเด็กว่าคุณไปรู้มาได้ยังไง เขาบอกว่าผมนั่งดูนั่งสังเกตมันทั้งวันเพราะอยากศึกษาเรื่องนี้ ก็บอกเด็กไปว่าแทนที่คุณจะศึกษาเปล่าๆ ลองทำเป็นงานเพื่อประกวดไหม คือแค่รู้สึกว่ามันเป็นหัวข้อเล็กๆ ที่ไม่ได้ยากแต่ในฐานะของครูมันคือการจุดประกายความน่าสนใจว่าทำไมเรื่องนี้ไม่มีใครเห็น มันคือการที่เด็กเห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เห็นคำตอบได้ด้วยตัวเอง”
หลังจากตกลงทำโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับต้นกาบหอยแครงด้วยกันโดยเริ่มต้นจากความสนใจของเด็กเอง หรือในความหมายว่า ‘เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้’ ครูชนันท์ก็สลัดภาพลักษณ์ของการเป็นครูในห้องเรียนมาเป็น ‘โค้ช’ ทำหน้าที่ตั้งคำถาม แนะนำ และเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กกลุ่มนี้
“ครูบอกกับเด็กๆ ว่าการทำโครงงานอันนี้เราคือทีมเดียวกันนะ แล้วโครงงานมันคือการที่เราศึกษาหาสิ่งใหม่ ฉะนั้นสิ่งใหม่คือสิ่งที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน เมื่อไม่มีใครรู้ ครูก็ไม่รู้ แต่หน้าที่ของครูคือครูมีประสบการณ์ที่จะตั้งคำถามคุณว่าในทางวิทยาศาสตร์มันต้องทำยังไง
เช่น เรื่องต้นกาบหอยแครง ครูก็ตั้งคำถามว่าถ้าความชื้นเปลี่ยนไปมันจะหุบจะอ้าเหมือนกันหรือเปล่า พอถามเสร็จเด็กก็ไปผลิตเครื่องกำเนิดหมอกขึ้นมาเอง หรือตอนที่เด็กบอกว่าถ้าจิ้มเบาๆ ต้นกาบหอยแครงจะไม่หุบ ครูก็จะถามต่อว่าแล้วจิ้มเบาๆ นี่เบาเท่าไหร่ จะวัดแรงยังไงว่าเบาเพราะเบาของคุณกับเราไม่เหมือนกัน เขาก็ได้คิดและนำหลักการคานมาใช้ จนสุดท้ายมีเด็กคนหนึ่งในทีมหนึ่งที่ชอบหุ่นยนต์ก็บอกคุณครู ผมเห็นมันแล้วจินตนาการถึงมือก็เลยพัฒนาเป็นมือกลอย่างง่ายขึ้นมา จากนั้นก็ไปประกวดได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งระดับโลก”
และแล้วโครงงานวิทยาศาสตร์หลังเลิกเรียนเรื่อง ‘ปัจจัยที่มีผลต่อการตอบสนองของกาบหอยแครง’ จากประเทศไทยก็สามารถคว้ารางวัลอันดับ 4 ของโลกในสาขาวิทยาศาสตร์พืช ในรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง ‘ISEF 2013’ มาครอง แต่สำคัญกว่านั้นคือรางวัลนี้ได้จุดประกายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์อีกหลายคนให้กล้าออกมาแสดงศักยภาพของตัวเอง
โดยในการดูแลสนับสนุนเด็กๆ เหล่านี้ นอกจากครูชนันท์แล้ว ยังมีครูวนิดา ภู่เอี่ยม ครูวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมต้น ร่วมเป็นทีมครูที่ปรึกษาด้วย ซึ่งครูวนิดากล่าวถึงความพิเศษของการทำโครงงานของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยว่าเป็นกิจกรรมนอกเวลาเรียนที่ไม่ได้บังคับให้เด็กทุกคนต้องทำ ดังนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะไม่มีเกรดหรือการให้คะแนนใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้โครงงานทั้งหมดเกิดจากความตั้งใจของเด็กที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์จริงๆ
“เราไม่เคยคัดเกรดเด็กหรือถามเด็กว่าได้เกรดเท่าไหร่ถึงจะให้ทำโครงงาน ดังนั้นจึงเป็นข้อดีที่พอมีเด็กไปแข่งแล้วได้รางวัลมาเรื่อยๆ พวกน้องๆ หรือเพื่อนก็เห็นว่า อุ๊ย! เขาไม่ได้เรียนเก่งแต่ทำไมถึงได้รางวัลล่ะ ทีนี้หลายคนก็อยากเข้ามาลองทำดู ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นข้อดีของการไม่คัดเกรด เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า อ๋อ! ที่เพื่อนได้เพราะเขาเรียนห้องเก่ง กลับกันเขาก็จะเห็นว่าที่เพื่อนได้รางวัลเป็นเพราะเพื่อนตั้งใจและทุ่มเท”
ครูวนิดากล่าวต่อว่าผลจากการที่ได้เด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์จริงๆ ทำให้เด็กมีแพสชันในการทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างสุดความสามารถจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศทุกเวทีในประเทศไทย ทั้งยังคว้ารางวัลระดับโลกมาแทบทุกรายการ
“ปกติการแข่งขันมันจะเหมือนแกรนด์สแลม อย่าง ISEF เป็นเหมือนเวทีใหญ่สุด ซึ่งล่าสุดโรงเรียนคว้ารางวัลที่ 1 ของโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ส่วนรายการแกรนด์สแลมอีกเวทีคือ ISWEEP เราก็เป็นเหรียญทองแรกและเหรียญทองเดียวของประเทศไทย และรายการ GENIUS OLYMPIAD เราส่งไปสามปี ทุกปีที่ส่งก็ได้เหรียญทองทั้งหมด
ในการทำโครงงานครูจะบอกเด็กเสมอว่าถ้าเธอไม่ทิ้งครู ครูก็ไม่ทิ้งเธอ คือพอทำงานเป็นทีม ต่อให้เลิกดึกแค่ไหน จะต้องมีครูอยู่กับเด็กเสมอ ดังนั้นไม่ว่าจะสุขจะทุกข์เด็กก็จะไว้ใจเรา อย่างถ้าวันไหนเด็กเครียดก็จะชวนกันไปกินส้มตำแล้วค่อยกลับมาทำกันต่อ
ส่วนเรื่องรางวัลถามว่ากดดันไหม ครูไม่กดดันแต่เด็กกดดัน อย่างถ้าเวทีไหนไม่ได้รางวัล เราจะไม่เคยตำหนิเด็ก คือจะบอกเด็กตลอดว่าก่อนแข่งเครียดได้นะ แต่ถ้าไม่ได้มาก็ให้รู้ว่าเราทำเต็มที่แล้ว ฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เต็มที่แล้วไม่ได้ก็ไม่เป็นไร จากนั้นจะให้เขาตัดสินใจเองว่าจะแข่งรายการอื่นต่อหรือพอแค่นี้ แต่ส่วนใหญ่เขาจะขอกลับไปพัฒนาจุดด้อยของงานเพื่อเพิ่มให้มันเต็มกว่าเดิม”
โจทย์ที่ 3 เปลี่ยนตัวชี้วัดความสำเร็จจากเกรดเป็นทักษะชีวิตและความสุข
แม้รางวัลจะเป็นความภูมิใจของทั้งนักเรียนและคุณครู แต่นั่นไม่ใช่ความคาดหวังในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน เพราะสิ่งที่จะติดตัวเด็กไปตลอด นอกเหนือจากความรู้แล้วคือทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร
“ทุกวันนี้เด็กสามารถค้นหา Content และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้เยอะแยะไปหมด แต่เขาจะต้องเอาความรู้มาเรียงเป็นระเบียบระบบตามหลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ ผมคิดว่ามันเป็น Active Learning ที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบทีเดียวที่ครูและนักเรียนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
แล้วเกิดการตั้งคำถาม ลงมือหาข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล วิเคราะห์ ทดลอง สรุปผล ผิดพลาดก็ทดลองซ้ำ จนเมื่อคุณเข้าใจแล้ว คุณก็ต้องสื่อสารในเชิงวิทยาศาสตร์ถึงสิ่งที่คุณเข้าใจเพื่อให้คนอื่นเข้าใจด้วย
ในการทำโครงงาน ทุกคนจะต้องแบ่งงานกันทำ บางคนตัดต่อคลิปวิดีโอ บางคนทำตัวเล่มกับผังโครงงาน บางคนรับหน้าที่เลี้ยงพืชหรือสัตว์ที่เลือกมาทำโครงงาน แต่ถ้าเด็กบอกครูว่าอยากได้อะไร เช่น ตอนนี้อยากได้แบคทีเรียจากหน่วยงานราชการ เด็กก็ต้องโทรไปเองครูจะไม่ช่วยโทรให้เพราะมันคือชีวิตจริง ถ้าคุณอยากได้คุณก็ต้องหา ฉะนั้นพักกลางวัน เด็กก็จะโทรไปติดต่อหน่วยงานราชการ เด็กก็จะมาบอกครูครับ…โทรไปแล้วเขาไม่รับสาย ครูครับ…โทรไปแล้วเขาโอนสายไปสิบที่แล้วก็ยังไม่ได้คำตอบ ครูก็บอกว่าโอเคจะได้รู้ไงว่านี่คือชีวิตจริงที่คุณกำลังฝึกแก้ปัญหาอยู่ว่าคุณจะทำยังไงเมื่อไม่มี จะลองหาแบคทีเรียตัวใหม่มาแทนหรือคุณจะลองเลี้ยงเองไหม ถ้าเลี้ยงเองคุณต้องประเมินระยะเวลาว่าจะเลี้ยงทันไหม ถ้าไม่ทันก็ต้องหาใหม่ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเลยซึ่งเด็กก็จะเรียนรู้สิ่งนี้ไปเรื่อยๆ จากการทำงาน”
มากไปกว่าทักษะที่ได้รับจากการทำโครงงาน การเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กก็เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่ครูชนันท์ได้รับจากเสียงสะท้อนของผู้ปกครองซึ่งถือเป็นพลังใจสำคัญในการพานักเรียนไปให้ถึงฝั่งฝัน
“หลังจากที่เด็กผ่านกระบวนการทั้งหมด สิ่งที่ได้รับคือคำชื่นชมจากผู้ปกครองว่าลูกของเขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ไม่นึกว่าลูกจะโตขึ้นขนาดนี้ เพราะลูกมีการจัดระเบียบระบบความคิดที่ดี ซึ่งการจัดระเบียบระบบความคิดมันไม่ได้ใช้แค่โครงงาน แต่หมายถึงเขาต้องเอาไปใช้ในชีวิตของเขาว่าจะทำยังไง เมื่อตกเย็น…การบ้านก็ต้องทำ เรียนพิเศษก็ต้องเรียน จะจัดสรรเวลายังไงให้โครงงานเพื่อหางานวิจัยมาคุยกันวันถัดไป เพราะถ้าเด็กไม่หางานวิจัยมาวันนี้ตกเย็นเท่ากับเลิก ฉะนั้นเด็กเองก็จะรู้จักการจัดสรรเวลา”
สำหรับครูชนันท์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กคือภาพสะท้อนว่าเด็กเก่งขึ้น ในความหมายที่ไม่ได้ผูกความสำเร็จไว้กับผลการเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะเด็กแต่ละคนมีความชอบและเก่งในแบบที่ต่างกัน เกรดหรือคะแนนในห้องเรียนไม่ได้เป็นตัวชี้วัดสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความสุข’
“พอเด็กแต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน ก็แปลว่าคนที่เรียนไม่เก่งเขาอาจจะแค่ไม่ชอบการเรียนในห้อง ฉะนั้นหน้าที่ของครูคือการทำให้เด็กหาศักยภาพตัวเองเจอ หาทางให้เขาเจอจุดที่เขาสนใจด้วยตัวเอง
เพราะเจ้าตัวอาจไม่รู้ตัวหรอกว่าเขามีศักยภาพตรงนี้ที่เป็นจุดเด่น ถ้าเราทำให้เขาเห็นว่าพอเขามายืนตรงนี้ ไฟแห่งศักยภาพของเขาสามารถฉายส่องมาให้เห็นว่าฉันเก่งนะ พอเขารู้ตัวว่าเขาเก่งมันก็เกิดแรงจูงใจของเขาเอง มันเหมือนภูมิใจแล้วอยากจะทำอยากจะปรับปรุงแก้ไขยังไงให้ศักยภาพนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ”
นอกจากนี้ จุดที่น่าสนใจคือครูชนันท์ในฐานะครูที่ปรึกษา ไม่ได้ใช้การตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปถึงการเรียนรู้ในเรื่องทัศนคติที่ครูหลายคนอาจไม่ได้สอนในห้องเรียน
“ปกติเด็กส่วนใหญ่จะติดเกม แต่พอมาทำโครงงานกับเรากลายเป็นว่างานหนักจนไม่มีเวลาเล่นเกม ก็พยายามบอกเด็กว่ามันคือความสุขเหมือนกัน แต่คือความสุขที่นำไปสู่ความสำเร็จของการทำงานกับความสุขที่ได้เล่นเกม
ฉะนั้นถ้ามันมีความสุขเหมือนกัน เลือกความสุขที่นำไปสู่ความสำเร็จดีกว่าไหม เพราะเป็นความสุขของคุณอีกแบบหนึ่ง เพียงแค่เหนื่อยหน่อย แต่เอาตรงๆ เล่นเกมนานๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน มันไม่มีอะไรไม่เหนื่อย แต่ความสำเร็จที่ได้มันไม่เท่ากัน ไหนๆ คุณจะลงทุนทั้งเวลาทั้งทรัพยากรแล้ว คุณก็ลงทุนในสิ่งที่เราเห็นความสำเร็จร่วมกันจริงๆ ดีกว่า”
ถึงตรงนี้ครูชนันท์เน้นย้ำว่า หัวใจสำคัญของความสำเร็จในแบบกรุงเทพคริสเตียนฯ คือการทำให้เด็กมีความสุขจากการลงมือทำ เพราะเด็กแต่ละคนต่างยืนอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย ดังนั้นหน้าที่ของเขาในฐานะครูจึงไม่ใช่การผลิตเด็กให้ออกมาเป็นบล็อกเดียวกัน แต่สนับสนุนให้เด็กได้เปล่งประกายในแบบที่เขาเป็น
“ความสำเร็จของเด็กจะต้องเกิดจากความสุขของแรงบันดาลใจที่เขาอยากลงมือทำ เพราะถ้าเขามีแรงบันดาลใจของตัวเองที่จะลงมือทำให้สำเร็จแล้ว มันจะเป็นกำลังใจที่เข้มแข็งที่เขาจะได้รู้ว่าทิศทางชีวิตของฉันควรจะไปทางไหน
ฉะนั้นคุณลักษณะที่ต้องการทั้งหมดมันเกิดขึ้นได้ ถ้าให้เด็กรู้จักการลงมือทำ แค่ให้เขาชอบอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเขาได้ลงมือทำมันจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงงานก็ได้ ขอแค่สิ่งเหล่านั้นเป็นการลงมือทำจริงๆ โดยเกิดจากความสนใจและแรงปรารถนาภายใน แต่ขอให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความจริงจัง ครูเชื่อว่าเมื่อเขาเจอปัญหาเขาก็จะสู้และมุ่งมั่นสู่สิ่งที่เขาปรารถนาได้ในที่สุด”