- ‘มะม่วง’ ตัวอย่างงานแสดงที่ผู้ปกครองสามารถนำลูกหลานมาเข้าร่วมได้ สถานที่จัดคือโรงแรมเพนนินซูล่า โดย วิศุทธิ์ พรนิมิตร ศิลปินนักวาดการ์ตูน ที่มีผลงานดังเป็นพลุแตกกับคาแรคเตอร์น้องมะม่วงในญี่ปุ่น และในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ครั้งนี้ มีน้องมะม่วงให้ชมในหลายๆ ฟอร์แมต ทั้งแอนิเมชั่น และในโปสเตอร์
- ศิลปะไม่ใช่สิ่งที่สูงส่ง ไกลตัว หรือเรื่องเข้าใจยาก แต่ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
- เด็กมีทักษะและมีความสามารถในการรับรู้งานศิลปะมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กไม่ต้องมานั่งคิดว่างานชิ้นนี้คืออะไร และเด็กไม่ได้มาตามหาความหมาย เขามาเพื่อซึมซับความรู้สึก
ภาพ: ศุภจิต สิงหพงษ์/ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สังเกตไหมว่าช่วงนี้กรุงเทพฯ มีอะไรแปลกๆ ?!?
ใครชอบเดินห้างสรรพสินค้าแถบใจกลางเมือง เช่น สยามดิสคัฟเวอรี สยามพารากอน เซ็นทรัลเอ็มบาสซี และเซ็นทรัลเวิลด์ จะเห็นงานศิลปะจัดวางหน้าตาแปลกๆ ตั้งเรียกร้องความสนใจอยู่ท่ามกลางผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา แม้กระทั่งใครไปวัดสำคัญๆ ก็ยังได้เจองานศิลปะแทรกอยู่ตามพื้นที่ภายในวัด เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์, วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร และวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
นอกจากจุดแปลกตาที่ไม่น่าจะเข้ากับงานศิลปะอย่างที่ว่ามาแล้ว สถานที่คุ้นชินกับงานศิลปะอย่างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ก็เป็นจุดสำคัญที่พลาดไม่ได้เลย รวมทั้งอีกหลายชิ้นงานที่กระจายอยู่ตามสถานที่หลายหลากใจกลางกรุงเทพฯ เช่น โรงแรมเพนนินซูล่า, อาคารอีสต์ เอเชียติก และอื่นๆ รวม 20 แห่ง
ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale 2018) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ไปจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562
ถึงตรงนี้หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ คืออะไร?
บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เป็นงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่ประวัติความเป็นมาของเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่นั้นมีอายุยาวนานนับร้อยปี
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ คอลัมนิสต์ นักเขียน และโอตาคุด้านงานศิลปะ ที่สนใจการผสมผสานศิลปะหลากแขนงเข้าด้วยกัน ทั้งศิลปะแบบเพียวๆ งานดีไซน์ วัฒนธรรมร่วมสมัย และเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ก็เพื่อสลายพรมแดนระหว่างศิลปะแต่ละประเภท เล่าถึงที่มาที่ไปของ ‘เบียนนาเล่’ (Biennale) ว่า เป็นเทศกาลศิลปะที่มีต้นกำเนิดจากเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี มีชื่อเรียกภาษาอิตาเลียนว่า La Biennale di Venezia หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘เวนิสเบียนนาเล่’ (Venice Biennale) คำว่า ‘Biennale’ ในภาษาอิตาเลียน แปลว่า ‘ทุก ๆ สองปี’ ชื่องานนี้จึงสื่อสารถึงความถี่ของการจัดงานที่จะจัดขึ้นทุกสองปี เบียนนาเล่ถือว่าเป็นมหกรรมศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ด้วยรูปแบบการจัดงานที่มีเสน่ห์และมีมนต์ขลัง เวนิสเบียนนาเล่จึงเป็นความใฝ่ฝันของศิลปินทั่วโลกว่าจะมีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมจัดแสดงงานที่นั่นสักครั้งในชีวิต
เวนิสเบียนนาเล่เริ่มก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1895 ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการอภิเษกสมรสของกษัตริย์อุมแบร์โตที่หนึ่ง (Umberto I) และสมเด็จพระราชินีมาร์เกอริตาแห่งซาวอย (Margherita of Savoy) รากฐานเดิมของเบียนนาเล่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นปกครอง มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและหนุนเศรษฐกิจของเมืองเวนิสที่ในขณะนั้นกำลังซบเซาจนถึงขีดสุด โดยใช้งานเทศกาลศิลปะเป็นตัวดึงดูดผู้คน
ความเก่าแก่นับร้อยปี ทำให้โมเดลการจัดเทศกาลศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในวงการศิลปะ จากที่เคยนำเสนอแค่งานศิลปะแบบโมเดิร์นอาร์ตจากศิลปินในประเทศ ปัจจุบันเบียนนาเล่เป็นเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ที่ไม่ใช่แค่พื้นที่นำเสนอผลงานศิลปะของศิลปินชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นพื้นที่ให้ศิลปินจากวงการศิลปะทั่วโลกมานำเสนอผลงานของตัวเอง สิ่งสำคัญที่เห็นได้อย่างชัดเจนซึ่งถือเป็นจุดเด่นของเบียนนาเล่ คือ การผนึกศิลปะเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีของผู้คน งานศิลปะรูปแบบต่างๆ ไม่ได้แสดงอยู่แค่ในหอศิลป์ แกลเลอรี หรือพิพิธภัณฑ์ แต่ถูกติดตั้งและจัดแสดงอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วมุมเมือง
“ถ้ามองดีๆ ศิลปะอยู่ในชีวิตของเราอยู่แล้ว ต่อให้ไม่มีงานเบียนนาเล่ อนุสาวรีย์ที่เราขับรถผ่าน ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เห็นเวลาไปวัดก็เป็นงานศิลปะ แต่ยุคหนึ่งศิลปะที่ได้รับความสนใจและมีความสำคัญ ถูกนำไปบรรจุไว้แค่ในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ ทำให้ศิลปะค่อยๆ อยู่ห่างไกลผู้คน”
ภาณุบอกว่า นี่เป็นการจัดงานงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งแรกที่ประเทศไทย มีทั้งศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีชื่อเสียงมาร่วมงานกว่า 75 คน จาก 33 ประเทศ นำผลงานศิลปะร่วมสมัยกว่า 200 ผลงานมาร่วมแสดง ภายใต้แนวคิด ‘สุขสะพรั่งพลังอาร์ต’ หรือ Beyond Bliss ไม่ว่าจะเป็น มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramovic) ศิลปินศิลปะร่วมสมัยผู้มีผลงานทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก, โยชิโตะโมะ นาระ (Yoshitomo Nara) เจ้าของคาแรคเตอร์เด็กผู้หญิงตาโต ร้ายๆ กวนๆ แววตาเฉยชา แต่มองไปมองมากลับดูน่ารัก และ ยาโยอิ คุซามะ (YAYOI KUSAMA) ศิลปินชาวญี่ปุ่น วัย 81 ปี เจ้าของฉายา ‘คุณป้าลายจุด’ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยถึงศิลปะ หลายคนยังรู้สึกว่าเป็นเรื่องเข้าถึงยาก เหมาะสำหรับคนที่มีความสนใจจริงๆ ถ้าอย่างนั้นคนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากเทศกาลศิลปะครั้งใหญ่ครั้งนี้?
“ได้ดูงานศิลปะไง” ภาณุเอ่ยขึ้นสั้นๆ ก่อนขยายความต่อว่า
ศิลปะไม่ใช่สิ่งที่สูงส่ง ไกลตัว หรือเข้าใจยากอย่างที่หลายคนวาดกำแพงขึ้นมากั้นตัวเองไว้ แต่ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน งานหลายชิ้นสะท้อนถึงสภาพสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต เสื้อผ้าการแต่งกาย แม้กระทั่งปัญหาสังคม
ภาณุ เปรียบเทียบว่าในยุโรปการเดินพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์เปรียบได้เหมือนการเดินห้างที่ให้ความบันเทิงและผ่อนคลาย การเสพศิลปะจึงไม่จำเป็นต้องเรียนหรือมีความรู้เฉพาะทางเสมอไป
“ศิลปะไม่ใช่แค่ความรู้หรือทักษะที่ต้องเป็นคนเรียนศิลปะเท่านั้นถึงจะเข้าใจ เพราะฉะนั้นการไปดูงานศิลปะไม่จำเป็นต้องคาดหวังเรื่องความเข้าใจเสมอไป เราสามารถไปดูงานศิลปะเพื่อความบันเทิงได้เหมือนกัน แล้วหน้าที่อย่างหนึ่งของศิลปะ คือการเป็นตัวบันทึกประวัติศาสตร์ คิดง่ายๆ อีกมุมหนึ่งการดูงานศิลปะก็เหมือนการศึกษาประวัติศาสตร์ เราไปเพื่อเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องทุกอย่างไปก่อน”
ภาณุกล่าวว่า มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่จัดแสดงงานไปตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ ช่วยเปิดมุมมองการเสพงานศิลป์ของคนไทย อีกทั้งยังเป็นโอกาสดีที่ผู้ปกครองจะได้พาเด็กๆ ไปดูงานศิลปะ รวมไปถึงเยาวชน นักเรียนและนักศึกษาจะได้มีส่วนร่วมเรียนรู้ไปด้วย
เขาย้ำว่า สิ่งที่สังคมไทยต้องสร้าง คือ วัฒนธรรมการเสพงานศิลปะ การทำให้คนไทยรู้สึกว่าการดูงานศิลป์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องยาก และเป็นความรู้ได้
“วัฒนธรรม หมายถึงสิ่งที่สืบทอดมาเป็นเวลายาวนาน ในประเทศตะวันตกมีวัฒนธรรมนี้ ถึงประเทศไทยยังไม่มีก็ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ งานศิลปะถ้าคุณไม่คิดอะไรกับมันมาก คุณอาจเข้าใจมันได้มากกว่า งานบางชิ้นไม่ได้สร้างขึ้นมาให้คนเข้าใจ ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นศิลปินหรือคนทั่วไป ยกตัวอย่างศิลปะนามธรรม (Abstract Art) หลายคนสงสัยว่าทำไมดูไม่รู้เรื่อง ถ้าถามศิลปินเขาจะตอบว่าก็เพราะคุณพยายามดูให้รู้เรื่องไงเลยดูไม่รู้เรื่อง เพราะชิ้นงานไม่ได้เล่าเรื่อง เขาไม่ได้ทำออกมาให้ดูรู้เรื่อง แต่พยายามสื่อสารความรู้สึกหรืออารมณ์ของสีสัน จังหวะองค์ประกอบที่ลงตัว ความสวยงามมันอยู่ตรงนั้น
เหมือนเราเห็นดอกไม้สวยๆ เราอาจไม่รู้หรอกว่าคือดอกอะไร เห็นคนแต่งตัวสวยเราก็รู้สึกดี รู้สึกชอบ ความสวยงามอยู่ตรงที่เราซึมซับความรู้สึก งานหลายชิ้นให้ความสุขในการดู งานบางชิ้นทำให้มีสมาธิจิตใจสงบ งานบางชิ้นทำให้ตื่นเต้นสนุกสนาน บางชิ้นกลับน่ากลัว ศิลปะแต่ละชิ้นสื่อความหมายและความรู้สึกไม่เหมือนกัน การดูงานศิลปะไม่ใช่เรื่องแปลกเลย มันก็เหมือนการดูหนังฟังเพลง เราไม่ได้ดูหนังทุกเรื่องแล้วรู้สึกสนุก แต่เราก็ต้องลองดูก่อนถึงจะรู้ จริงมั้ย แต่ในขณะเดียวกัน งานศิลปะบางประเภทก็กระตุ้นให้เราใช้ความคิดและตั้งคำถาม กับทั้งตัวงานเองไปจนถึงสิ่งรอบตัว สังคม การเมือง หรือแม้แต่กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองได้เหมือนกัน”
ศิลปะจับต้องได้
“จับฉันสิ เหยียบฉันก็ได้” หากชิ้นงานศิลปะส่งเสียงได้ งานหลายชิ้นในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ คงเอ่ยคำเชิญชวนออกมาเสียงดังแบบนี้
ในฐานะคุณพ่อลูกสอง ภาณุบอกว่า เขาพาลูกๆ ไปเที่ยวชมงานโดยไม่รู้สึกกังวล เพราะงานศิลปะในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ปล่อยให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมกับชิ้นงาน แสดงให้เห็นถึงการออกแบบงานศิลปะให้ใกล้ชิดกับคน และให้คนเข้าถึงงานศิลปะได้ง่าย
“งานหลายชิ้นเราสามารถเดินเข้าไปเหยียบได้เลยนะ บางชิ้นทำเป็นอุโมงค์ให้เด็กเข้าไปเล่นได้ หรือเปิดให้เด็กเข้าไปนั่งวาดรูปด้วย นี่เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะที่เปิดโอกาสให้คนดูเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งกับงาน ไม่ใช่แค่ไปดูภาพวาดราคาแพงใส่กรอบไว้จับต้องไม่ได้ งานแบบนี้ผมพาลูกไปก็ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะไปทำงานเสียหาย เพราะฉะนั้นเวลาไปดูงานศิลปะพ่อแม่ก็แค่ดูก่อนว่างานชิ้นไหนให้คนเข้าไปร่วมได้ งานชิ้นไหนมีราคาแพงต้องระวัง เราก็ไม่พาลูกเข้าไปก็แค่นั้นเอง”
ยกตัวอย่างเช่น ชิ้นงาน ‘เทป แบงคอค’ (Tape Bangkok) โดยศิลปินกลุ่มนูเมน ฟอร์ ยูส คอลเลคทีฟ ดีไซน์ (Numen for Use Collective Design) ตั้งอยู่ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พวกเขาทำประติมากรรมขนาดใหญ่จากเทป ติดจากผนังจรดพื้นขึงเป็นลักษณะคล้ายหยากไย่ งานชิ้นนี้ให้ผู้ชมงานเดินเข้าไปในถ้ำคล้ายรังไหม กระตุ้นด้วยแสง เสียง สัมผัส และกลิ่น สื่อสารถึงประสบการณ์ของการเดินทางค้นหาตัวตนและการเกิดใหม่
ภาณุบอกว่า ศิลปะจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น หากมีการปรับมุมมองความคิดใหม่เกี่ยวกับศิลปะให้เป็นมากกว่าแค่การวาดๆ เขียนๆ ในห้องเรียน ซึ่งแบบนั้นเป็นการฝึกฝนงานฝีมือมากกว่าพัฒนาให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
“ศิลปะคือความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ตามอารมณ์ ความรู้สึกและความคิด งานศิลปะจะบ่งบอกและสะท้อนบุคลิก ความคิดหรือความเป็นตัวตนที่เป็นเอกลักษณ์ของคนคนนั้นผ่านชิ้นงาน การวาดรูปดอกไม้ตามแบบ หรือการระบายสีลงในช่อง ไม่ใช่งานศิลปะ ผมเรียกว่าเป็นงานฝีมือมากกว่า เพราะศิลปะไม่ใช่การทำงานตามสั่งหรือตามโจทย์แล้วครูเป็นคนให้คะแนน แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้คิดและสร้างผลงานตามที่ตัวเองอยากทำ งานศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิด ไม่มีสอบตกหรือสอบได้ ยิ่งทำผิดทำไม่ได้คนก็ยิ่งกลัวเข้าไปอีก”
ชวนลูกมาซึมซับ ไม่ได้มาหาความรู้
ถ้าอยากเห็นคนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์และมีพัฒนาการที่ดี ภาณุบอกว่า ต้องปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เข้าใจศิลปะตั้งแต่ในระบบการศึกษา รวมทั้งจากครอบครัว
“อย่างที่บอกว่าศิลปะมีอยู่ทุกที่ ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องเดินเข้าหาศิลปะแล้ว เพราะศิลปะจะเดินเข้าหาเราเองอยู่ที่เราจะมองเห็นหรือเปล่า ที่มองไม่เห็นเพราะอาจมัวแต่ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์จนไม่ได้สังเกตอะไรเลย เวลาผมเดินผ่านงานกราฟฟิตี้ตามกำแพงข้างทาง ผมจะชวนลูกดูแล้วชวนลูกคุยตลอด…ลูกดูซิมีอะไรอยู่ที่กำแพง พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องอธิบายเยอะ แค่ดูว่าลูกชอบมั้ย แค่นั้นเอง
เด็กมีทักษะและมีความสามารถในการรับรู้งานศิลปะมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กไม่ต้องมานั่งคิดว่างานชิ้นนี้คืออะไร มีความหมายอย่างไร ผู้ปกครองต้องไม่ลืมว่า เด็กไม่มีกรอบ ผู้ใหญ่นี่แหละที่ไปสร้างกรอบ และเด็กไม่ได้มาตามหาความหมาย เขามาเพื่อซึมซับความรู้สึก”ภาณุกล่าวทิ้งท้าย