- กวิ๊-อำนวย นิยมไพรเวศน์ เกษตรกรปกาเกอะญอ บ้านหนองเต่า ที่เชื่อมั่นในการต่อสู้ด้วยข้อมูล ใช้บทธา (บทกวีในภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า ชาวปกาเกอะญอใช้เป็นเครื่องมือสอนวิถีการใช้ชีวิตให้ลูกหลาน) เป็น soft power สร้างความเข้มแข็งจากภายในชุมชน
- กวิ๊ ไม่เคยหยุดอยู่กับที่ทดลองทำเกษตรหลายด้านด้วยความความหลงใหล ทั้งการหมักเหล้าบ๊วย ทำพิซซ่าโฮมเมด และพัฒนาเมล็ดพันธุ์กาแฟ
- “แล้วการมาซื้อกาแฟของผม คุณไม่ได้แต่จะมาซื้อกาแฟ เราจะเป็นพี่น้องกัน คุณมีอะไรดีเยอะแยะ องค์ความรู้ที่คุณมีก็มาแบ่งปันกัน เราไม่ได้คิดแค่เรื่องธุรกิจ แต่เราคิดว่าเราจะเป็นเพื่อนหรือเป็นพี่น้องกันยาวนานได้อย่างไร” นี่คือมุมมองและไอเดียวิธีคิดของกวิ๊ต่อการทำการตลาดเกษตรแบบคนรุ่นใหม่
“หาอะไรแถวนี้มาทำพิซซ่าได้นะ”
ประโยคเรียบๆ แทรกวงสนทนาของผู้มาเยือนที่กำลังตาหยีอยู่กับรสเปรี้ยวของเสาวรสสด กวิ๊-อำนวย นิยมไพรเวศน์ เกษตรกรปกาเกอะญอรุ่นใหม่เดินเข้ามาด้วยท่าทีสบายๆ โพกผ้าบนศีรษะคล้ายเชฟญี่ปุ่น เขาเอ่ยชวนให้เก็บผักพื้นถิ่นและหาวัตถุดิบสนุกๆ รอบบ้านสำหรับมื้อเย็นที่กำลังใกล้เข้ามา เรานัดแนะกันไว้แล้วว่าจะอบพิซซ่าเตาถ่านกินกันที่บ้านของเขา
แดดบ่ายอุ่นตามความสูงของภูเขา อุ่นเหมือนเอามืออังข้าวหุงสุกใหม่ๆ สายลมผสมความเขียวของแปลงผักและธรรมชาติรอบๆ เราเพิ่งทอดทิ้งความร้อนอ้าวในตัวเมืองเชียงใหม่อย่างไม่ไยดีเพื่อมาหาอากาศดีแบบไม่ประนีประนอมที่หมู่บ้านหนองเต่า ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง หนึ่งในชุมชนปกาเกอะญอที่มีทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และวิถียั่งยืนตามปรัชญาดั้งเดิมและร่วมสมัยของสองกาลเวลา
“บ้านกวิ๊นี่มันฮิปสเตอร์จริงๆ”
ชาวแก๊งจากเมืองใหญ่แซวกันว่านี่คือความ slow life แบบไม่เกรงใจนิตยสาร Kinfolk ในขณะที่กำลังม่วนใจอยู่กับกาแฟดริปที่คนแปรรูปยืนห่างออกไปแค่ราว 20 เมตร เราสังเกตเห็นว่าบ้านกวิ๊มีเตาอบทรงเห็ด ดริปเปอร์ที่ทำจากดินภูเขาไฟ เขาออกแบบครัวไม้ไผ่เล็กๆ สไตล์ญี่ปุ่น ชั้นบนเป็นเหล้าบ๊วยโฮมเมดรสละมุน เดินออกไปไม่ถึง 10 ก้าวก็เจอศาลาริมน้ำที่เดินไปหย่อนใจได้อย่างสงบ
เขายิ้มบางๆ รับคำแซวและสายตาค้อนอ่อนๆ จากผู้มาเยือนโดยดีทุกรอบ
บ้านหนองเต่า บ้านที่เขาชอบ ชอบมากจนไม่อยากจากไปไหนไกลตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่ส่งไปเรียนหนังสือที่สันป่าตองตอนประถม 3 ได้ไม่นานก็ขอกลับมาเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน มัธยมต้นพยายามอีกครั้งที่จะออกไปไกลจากชุมชน มัธยม 3 ลองไปเรียนไกลถึงลำพูนได้แค่เดือนเดียว แต่ความพยายามกลายเป็นศูนย์เพราะเขากลับมาเรียนที่บ้านอีกจนได้ ด้วยเหตุผลเดิมๆ ที่ว่า “ผมชอบอยู่บ้าน”
“พอเรียน ม.ปลายปุ๊บ ผมก็คิดว่าต้องมีรายได้ ผมเรียนไปด้วย ทำงานเก็บเงินไปด้วย ไปทำงานวัดซึ่งเขาจะให้ปั้นปูนเป็นซุ้มดอกไม้ ซุ้มประตูรูปดอกบัว มีญาติพี่น้องชวนผมไปทำเป็นรายวัน ยุคนั้นชุมชนก็เข้มข้นเรื่องกิจกรรมในชุมชน ปัญหาทรัพยากรและกฎหมายทับที่นะ ผมก็ไปๆ มาๆ อยู่กับกลุ่มหนุ่มสาวและเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) เพื่อร่วมกิจกรรมแล้วกลับมาทำงาน เก็บเงินซื้อรถมอเตอร์ไซค์ได้บ้าง
“ผมปั้นปูนตามวัดอยู่ทุกวัน ทั้งวัน ตั้งแต่ 8 โมงถึง 5 โมง เลยคิดตามว่าถ้าอยู่บ้านแล้วทำงานตั้งแต่ 8 โมง-5 โมงเย็น งานที่บ้านน่าจะสำเร็จได้ดีเลย ถ้าเราทำแบบนี้เต็มๆ 1 ปี มันจะเหลือให้เรากินเยอะแยะมากมาย ทำไมเราไม่ทำ”
กวิ๊คิดถึงบ้านแบบไม่ดราม่า ไม่มีน้ำตา มีแต่แรงของวัยเยาว์และแพชชั่นที่อยากเห็นการเกษตรยั่งยืนเติบโตขึ้นในชุมชน เพราะปัญหาทรัพยากรขาดแคลนเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และโลกไม่มานั่ง slow life กับคนที่หมุนตามมันไม่ทัน
เขาเติบโตมาจากการเห็นประเพณีดั้งเดิมของปกาเกอะญอมีสีสัน เกิดมาในวันที่ทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์เพราะทุกคนจัดสรรกันได้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน วันนี้การรู้เท่าทันธรรมชาติและตัวเองน้อยลง พื้นที่ทำกินและวิธีการทำกินของพี่น้องปกาเกอะญอเริ่มน่าเป็นห่วง
ยุคสมัยและวิถีที่เปลี่ยนไปส่งผลให้เกษตรกรถูกบีบให้ทำการเกษตรเชิงเดี่ยว บางบ้านใช้สารเคมีเข้มข้น แต่สภาพความเป็นอยู่กลับล้นไปด้วยหนี้สินเพราะปลูกตามพืชเศรษฐกิจที่ได้รับการส่งเสริม พันธุ์นี้ไม่สำเร็จก็ส่งเสริมพันธุ์ใหม่ เกษตรพันธสัญญาเริ่มสร้างเงื่อนไขที่ห่างไกลจากความยุติธรรมที่เกษตรกรพึงได้รับ
เมื่อปัญหาเริ่มมาเคาะประตูว่าคนรุ่นใหม่ที่หนองเต่าเริ่มไม่อยู่บ้าน การเกษตรยั่งยืนเริ่มยืนยาก กิจกรรมในชุมชนและพิธีกรรมเริ่มซีดจางไปเพราะไม่มีพลังเยาวชนสานต่อ ในปี 2547 ก่อนที่จะกลับบ้านจริงๆ จังๆ กวิ๊ทำงานอยู่ที่ อบต.แม่วิน ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เขียนแผนแม่บทและลงไปช่วยตามหมู่บ้านต่างๆ ยาวนานอยู่ 3 ปี จะได้มีเวลากลับบ้านก็แค่วันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น
เขาจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาที่ต้องกลับสักที
แต่การกลับบ้านก็ไม่ใช่งานง่าย เขาไม่มีอำนาจอะไรที่จะสั่งให้ใครเชื่อจากปากเปล่าได้ว่าเกษตรอินทรีย์คือคำตอบ
กลับบ้านมาทำกาแฟ แต่ตอนนั้นยังชงกาแฟดริปไม่เป็นเลย
“มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย…” เขาหยุดคิด
“ในฐานะที่เราเรียนหลักสูตรสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยชีวิต (สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (สพช.) ในปัจจุบัน) มาแล้ว การกลับมาไม่ใช่แค่ชุมชนยอมรับ ปัญหาใหญ่คือตัวเองและครอบครัว ตัวเองจะทำอะไร คิดอะไร แล้วครอบครัวเป็นยังไง ผมบอกเลยว่ากว่าครอบครัวจะเข้าใจเรื่องเกษตรอินทรีย์ต้องใช้เวลา กว่าเขาจะเห็นและปรับตัวได้ มันกลายเป็นว่าเราเองก็ผ่านอะไรมาขนาดนี้ แล้วคนอื่นล่ะ”
อาสาสมัครเพื่อสังคมสู่ชุมชนบ้านเกิด รุ่นที่ 1 เล่าว่า เขาเข้าร่วมกลุ่มหนุ่มสาวของชุมชนตั้งแต่อายุ 15 ปี เฝ้ามองเหตุการณ์ที่เครือข่ายลุ่มน้ำวางกับเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือร่วมกันต่อสู้คัดค้านประกาศเพิ่มพื้นที่ป่าอุทยานทับที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน และป่าชุมชนเมื่อปี 2537
กวิ๊เชื่อในการต่อสู้ด้วยข้อมูล ใช้บทธา (ธา ในภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า บทกวี ชาวปกาเกอะญอใช้เป็นเครื่องมือสอนวิถีการใช้ชีวิตให้ลูกหลาน) เป็น soft power สร้างความเข้มแข็งจากภายในชุมชนเพื่อมาคัดค้านกับระบบ
“ชาวบ้านถูกส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาว ต้องสร้างโรงเรือน ใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน จะออกมาก่อนก็ไม่ได้เพราะเป็นเกษตรพันธสัญญา”
2 ปีก่อนพี่น้องชาวปกาเกอะญอเริ่มมีการปล่อยพื้นที่ทำกินให้เช่า ซึ่งชาวบ้านต่างถิ่นมาเช่ากันหนาตาเพื่อปลูกสตรอเบอร์รี แต่เพราะว่าพื้นที่ที่นี่ไม่เหมาะทั้งสภาพดินและภูมิอากาศ พืชบางชนิดจึงติดเทรนด์อยู่ปีสองปีแล้วไม่ได้รับการปลูกต่อเนื่อง แต่ปัญหาคือเมื่อผู้เช่าย้ายออกไป พื้นที่ของชาวบ้านก็เสียหาย ดินเสื่อม เคมีและขยะเต็มพื้นที่
“เราส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การทำไร่หมุนเวียน แต่มันทำเป็นรายได้เป็นกอบเป็นกำได้ยาก พอมองว่าพืชตัวไหนที่ทำรายได้ได้เยอะก็จะเป็นพืชที่ถูกส่งเสริมให้ปลูก แต่เขาชี้แจงมาเลยว่าถ้าจะทำอินทรีย์ต้องปลูกแบบนี้ๆๆ ไม่ได้บอกว่าเกษตรกรต้องตัดแต่งหรือแปรรูปอย่างไร ดังนั้นองค์ความรู้เหล่านั้นเกษตรกรไม่มี และพืชที่ส่งเสริมไม่ใช่พืชดั้งเดิมของเกษตรกร เขาจะเป็นคนทำตลาดให้ พอขายไม่ได้ก็นำพืชตัวใหม่มาให้ปลูก
“ตอนผมมีไอเดียเรื่องการพัฒนากาแฟ ผมกลับมาคุยใหม่กับชาวบ้านอีกรอบหนึ่ง แต่ชาวบ้านบอกผมว่า ถ้าจะให้ทำตามอีกเนี่ยไม่เอาแล้วนะ เพราะมันไม่ประสบความสำเร็จ เราเลยบอกว่าการทำกาแฟสมัยใหม่มันมีเครื่องช่วย หรือไม่ใช้เครื่องก็ได้ มีวิธีแบบ dry process (การแปรรูปแบบแห้ง) เก็บมาตาก แต่เกษตรกรเคยชินกับการถูกส่งเสริมและเก็บขายอย่างนั้นไปแล้ว
“ผมเคยเก็บขายนะ เขาก็ให้เก็บไปเล่ยไปเท่ยน่ะ จะเก็บยังไงก็ขายได้ไง ไม่ใช่ว่าเก็บวันนี้แล้วไปขายเลยนะ ทิ้งไว้จนเน่าน่ะ ถ้าเราเก็บกาแฟไว้ในกระสอบปุ๊บมันจะมีสีดำ แดง เขียว ใส่กระสอบสักสองคืน มันจะกลายเป็นสีเดียวกันหมด เขาไม่ได้เอื้อให้เราพัฒนากาแฟที่มีคุณภาพ หรือสอนว่าอายุของต้นกาแฟจะยั่งยืนได้ยังไง”
เรานึกถึงรสชาติกาแฟดริปที่เขาชงให้ดื่มอย่างตั้งใจเมื่อบ่าย กวิ๊และโอชิ จ่อวาลู ลูกพี่ลูกน้องนักสู้ที่โตมาด้วยกันนั่งหมุนเครื่องคั่วเมล็ดกาแฟจนกลิ่นหอมไหม้ปลายฟุ้งไปทั่ว
“ผมตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องมาทำเรื่องกาแฟ ผมทำกาแฟมา 10 ปีนะ บ๊วยอีก 7 ปี คำว่ากาแฟเนี่ย ผมไม่ได้คิดแต่เรื่องธุรกิจอย่างเดียว กาแฟอยู่ใต้ร่มไม้ได้ในสวนของคนนั้นคนนี้ แล้วพอเราปลูกไปปุ๊บ มันอยู่เป็น 100 ปี ยังมีต้นกาแฟที่พ่อแม่ปลูกให้หลงเหลืออยู่ ซึ่งตอนแรกผมก็ยังไม่รู้ว่าจะไปขายที่ไหนนะ เพราะยังไม่มีตลาด ตอนนั้นกาแฟอะเมซอน สตาร์บัคส์ก็เกิดขึ้นแล้ว ลองมาดูเรื่องตลาดอินทรีย์ ปรากฏว่าก็ยังไม่คึกคักนะ ยังไม่มีใครพูดถึงกันเลย แต่ช่วงนั้นมีตลาดปลอดภัยของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เขาเปิด เลยลองเอากาแฟเข้าไปขาย ลองชงแบบ moka pot (เครื่องชงกาแฟบนเตา) เพราะเขาไม่ให้ใช้ไฟฟ้า แล้วเราเองก็เน้นเรื่องการรักษาทรัพยากรด้วย”
10 ปีที่แล้วอุปกรณ์ดริปกาแฟในเมืองไทยยังหาไม่ได้ง่าย กวิ๊จึงอาศัยอาจารย์ชาวญี่ปุ่นที่มาดูงานที่หมู่บ้านหนองเต่านำเข้ามาให้ เขาเอ่ยติดตลกว่าแรกๆ ยังดริปกันไม่เป็นเลย กาแฟจืดชืด แต่ปรากฏว่ามีคนมามุงดูกันเยอะมาก
“ตอนแรกก็งงว่าเขาจะมาซื้อกาแฟกันหมดเลยเหรอ ไม่ใช่ เขามาถาม มาคุยว่ากาแฟทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ แล้วหาอุปกรณ์พวกนี้ได้ที่ไหน กาดริปอะไรพวกนี้ เรียนที่ไหน แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เข้ามาถาม ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่เข้มข้นเรื่องกาแฟร้อนเพราะคนไทยกินกาแฟเย็นกันหมด เราก็ทำไปเรื่อยๆ จนคนที่กินกาแฟชอบ”
จากผู้บริโภคที่ดื่มกาแฟเป็นแก้วๆ ตลาดก็เริ่มกว้างขึ้นจนมีคนมาซื้อเมล็ดเป็น 200 กิโลกรัม เทรนด์เติบโตจนกวิ๊คิดไอเดียเรื่องระบบสมาชิก และคิดว่าจะกระจายกล้าออกไปทั้งตำบลแม่วิน แต่ปรากฏว่าชาวบ้านก็ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟอีก แจกกล้าเป็น 200,000 ต้น และประวัติศาสตร์ของการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวก็ซ้ำรอยเดิมๆ
เมื่อเราทำการเกษตรเชิงปริมาณปุ๊บ ทรัพยากรถูกทำลายมากที่สุด เราพูดถึงการที่ต้นน้ำถูกทำลาย มีการแย่งชิงน้ำ แล้วก็มีการบุกรุกพื้นที่เพิ่ม ชาวบ้านนิยมปลูกผักระยะสั้น 20 วันก็ตัดขาย อย่างเรื่องกาแฟ ปีหนึ่งเก็บได้แค่รอบเดียวก็จริง แต่ลองคิดดูถ้าเราทำไร่หมุนเวียนไปด้วย เดือนมีนาคม เมษายน ผมแปรรูปบ๊วย เดือนพฤษภา มิถุนา กรกฎา ปลูกข้าว เดือนสิงหา กันยา ข้าวก็กำลังออกรวงเขียวเลยนะ รวมทั้งพลับกับอโวคาโดด้วย เดือนกันยา ตุลา เกี่ยวข้าวนะ ส่วนเดือนพฤศจิกาและธันวา ก็ทำกาแฟ แล้วนี่ผมพูดถึงแต่ไม้ผลนะ ยังไม่ได้พูดถึงผัก และเรื่องการทำตลาด
“โอเค เรายอมรับว่าชาวปกาเกอะญออาจไม่ถนัดเรื่องการตลาด แต่บ้านเรามีเครือข่ายเกษตรฯ เยอะแยะ สมมุติว่าผมมีสมาชิกอยู่ 5 คน แต่ละคนปลูกกาแฟในพื้นที่ไม่เหมือนกัน การดูแลไม่เหมือนกัน การจะแปรรูปก็ไม่เหมือนกัน ก็หาพ่อค้ามา 5 คน ชอบกาแฟของเกษตรกรคนไหนก็ซื้อของคนนั้น”
“แล้วการมาซื้อกาแฟของผม คุณไม่ได้แต่จะมาซื้อกาแฟ เราจะเป็นพี่น้องกัน คุณมีอะไรดีเยอะแยะ องค์ความรู้ที่คุณมีก็มาแบ่งปันกัน เราไม่ได้คิดแค่เรื่องธุรกิจ แต่เราคิดว่าเราจะเป็นเพื่อนหรือเป็นพี่น้องกันยาวนานได้อย่างไร”
ห้องครัวสำหรับทุกคน
พิซซ่าจำนวน 4 ถาดปะปนกันอยู่ในท้อง โฮมเมดและกรอบอร่อยด้วยวัตถุดิบสดๆ หลายชิ้นจากบ้านหนองเต่า อบในเตาฮิปสเตอร์ทรงเห็ดด้านนอกบ้าน ถาดแล้วถาดเล่า เรานั่งมองเขาจุดเตาถ่านอย่างเป็นธรรมชาติ
‘เมอล่อ’ ภาษาปะกาเกอะญอแปลว่า ห้องครัว ครัวกะทัดรัดของหนุ่มชาวปกาเกอะญอมีดีไซน์น่าสนใจ โต๊ะประกอบอาหารตั้งตรงกลาง ด้านบนมีโครงไม้ไผ่ไว้แขวนอุปกรณ์ครัวที่ห้อยลงมาแล้วดูอาร์ตบอกไม่ถูก เขยิบไปด้านหลังอีกหน่อยเป็นที่ล้างจาน ด้านบนมีกองทัพโหลเหล้าบ๊วยที่คนเมืองได้แต่มองแล้วกะพริบตาปริบๆ และที่น่าสนใจคือเตาย่างมินิมอลที่ดูยังไงๆ ก็เหมือนอยู่ในชุมชนชนบทของญี่ปุ่น
‘เมอล่อ’ ภาษาปะกาเกอะญอแปลว่า ห้องครัว ครัวกะทัดรัดของหนุ่มชาวปกาเกอะญอมีดีไซน์น่าสนใจ โต๊ะประกอบอาหารตั้งตรงกลาง ด้านบนมีโครงไม้ไผ่ไว้แขวนอุปกรณ์ครัวที่ห้อยลงมาแล้วดูอาร์ตบอกไม่ถูก เขยิบไปด้านหลังอีกหน่อยเป็นที่ล้างจาน ด้านบนมีกองทัพโหลเหล้าบ๊วยที่คนเมืองได้แต่มองแล้วกะพริบตาปริบๆ และที่น่าสนใจคือเตาย่างมินิมอลที่ดูยังไงๆ ก็เหมือนอยู่ในชุมชนชนบทของญี่ปุ่น
“ทุกคนมาเห็นเตาไฟนี้แล้วบอกว่าเหมือนของญี่ปุ่น แต่ผมปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ แค่เพราะครัวปกาเกอะญอไม่เคยเผยแพร่ออกไป ทุกคนก็เลยไม่เห็น เราแค่เอาตัวห้อยมาประยุกต์ ญี่ปุ่นเขาจะมีที่ห้อยขึ้นๆ ลงๆ ไว้ห้อยหม้อ ส่วนด้านบนตรงนี้เป็นที่เก็บเมล็ดพันธุ์ของปกาเกอะญอ เรียกว่า ‘เส่อกิเตอ’ จะมีสองชั้นหรือสามชั้นก็แล้วแต่”
เชฟกวิ๊เล่าเรียบๆ ขณะที่เสียบหมูหมักโรสแมรีและปิ้งเสิร์ฟให้เราเป็นพักๆ
“ผมบอกเลยว่าห้องครัวนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ผมชอบทำอาหาร แต่ว่าเกิดจากการที่ผมมองว่าเราจะต้องสร้างพื้นที่ พืชเมืองหนาวไม่ใช่พืชดั้งเดิม ผมเลยกินไม่เป็น ผมเลยคิดว่าเขาส่งเสริมให้เราปลูกขายแล้วเรากินไม่เป็นปุ๊บ เราก็จะมีแต่ใส่ยาให้มันสวย เราเองก็ไม่ได้มีองค์ความรู้เรื่องอาหารหรือเรื่องผัก อาจจะไปเรียนกับเชฟ หรือเชิญเชฟจากที่ต่างๆ ให้มาสอนเราที่นี่ก็ได้ และการที่เขาจะมาสอนที่นี่อาจจะต้องมีพื้นที่แลกเปลี่ยน ครัวเราจะไม่ใช่แค่ครัวใหม่ๆ มีความเป็นครัวเก่าดั้งเดิมบ้าง เปลี่ยนแปลงนิดหน่อย ส่วนความเป็นสมัยใหม่ก็คือเตาแก๊ส คอนกรีต ไม่ใช่ว่าสร้างแต่ครัวดั้งเดิมปกาเกอะญอ ครัวไม่ได้มีแค่ไม้ไผ่ แต่มีไม้ ดิน ปูน ไม้ฝาเชอร่า ผสมผสานอยู่ในนี้”
เชฟชี้ให้ดูแต่ละจุดที่เขาตั้งใจดีไซน์ให้ห้องครัวเล็กๆ เป็นมากกว่าพื้นที่แห่งการประกอบอาหาร
อยากชักจูงหนุ่มสาวกลับบ้าน ต้องไปหาความรู้ข้างนอกเพิ่มเติม
ความกังวลของเขาฉายชัดตั้งแต่ตอนที่เล่าเรื่องปัญหาทรัพยากร การเกษตรเชิงเดี่ยวที่เริ่มเติบโตแทนที่วิถีเกษตรอินทรีย์ ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมกลับบ้านมาพัฒนาพื้นที่ของพ่อแม่ บ้างตัดสินใจขายที่ บ้างก็ประกอบอาชีพอื่นๆ ในเมืองตามค่านิยมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นพลวัต หรือบ้างก็เลือกทางเดินเคมีเข้มข้น
แน่นอนว่าถ้าวัดจากบทสนทนาที่พูดคุยกันมายาวนาน ไอเดียอุดมคติคืออยากให้น้องๆ กลับมาทำการเกษตรวิถียั่งยืนที่บ้าน แต่กวิ๊ก็เข้าใจเช่นกันว่าคอนเซ็ปท์ของความยั่งยืนสามารถปรับใช้กับใครก็ได้ที่สนใจจะทำมันจริงๆ
“เขาอาจจะเป็นข้าราชการที่ไม่มีเวลาด้วยซ้ำ ถ้าสมมุติเป็นครู เขาไม่ต้องทำเกษตรก็ได้ แต่ส่งต่อความรู้สู่นักเรียนได้ นักเรียน 10 คนอาจจะเกิดไอเดียสัก 5 คนก็ได้ ตอนนี้พืชหลายตัวก็ยังถูกส่งเสริมอยู่ เกษตรกรก็ยังเป็นหนี้อยู่ จ่ายหนี้ไม่หมดซะทีแม้ว่าจะมีกองทุนหมู่บ้าน เขาต้องมองว่ารายได้ของเขาพอไหม ปีหนึ่งต้องจ่ายเท่าไหร่ ตอนนี้ถ้าเฉลี่ยทุกหมู่บ้านคือมีรายได้เข้ามา ถ้าพูดถึงตัวเลขมันเยอะมาก ทั้งจากอาชีพเกษตรกรรม รับจ้างหรือเป็นข้าราชการ แต่ว่าก็จ่ายออกไปเยอะมากเหมือนกัน”
นักศึกษาชาวญี่ปุ่นมาเรียนรู้เชิงปฏิบัติที่หมู่บ้านหนองเต่าทุกปีเพราะเป็นวิชาเลือกเสรีที่มหาวิทยาลัย กวิ๊เป็นพี่เลี้ยงและใช้บ้านเป็นฐานเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย เขาเกิดไอเดียว่าถ้าอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์และองค์ความรู้ที่จะชักจูงหนุ่มสาวปกาเกอะญอให้ทำเกษตรอินทรีย์ร่วมสมัย เขาจำเป็นต้องไปหาความรู้ข้างนอกมาเพิ่มเติมความแข็งแกร่ง
และ อบต.แม่วินก็ไม่ใช่จุดหมายอีกต่อไป เพราะครั้งนี้เขาไปเรียนรู้ไกลถึงญี่ปุ่น จากการคุยกับอาจารย์ชาวญี่ปุ่นเล่นๆ ว่าน้องๆ มาที่นี่ตั้งหลายครั้งแล้ว พี่เองก็อยากไปแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่นู่นบ้าง
“อาจารย์ก็เลยจัดให้เลย”
คล้ายฉากตัวเอกในการ์ตูนญี่ปุ่นตั้งปณิธานไว้แน่วแน่แล้วผูกผ้าคาดหัวเตรียมตัวออกเดินทาง กวิ๊ตีตั๋วไปเรียนคนเดียวในช่วงฤดูหนาว เมืองโอซาก้าและเกียวโตต้อนรับเขาด้วยความรู้เรื่องกาแฟและบ๊วยที่เจ้าตัวระบุไว้ว่าต้องการศึกษาเพื่อนำมาพัฒนาบ้านหนองเต่าและเครือข่าย
“เวลาที่คนญี่ปุ่นทำธุรกิจกาแฟ เขาคิดกันเป็นตันๆ แต่เราทำได้แค่ปีละ 500 กิโลกรัม เขาส่ายหัวเลยเพราะมันน้อยมาก ของเขานำเข้าปีหนึ่ง 20-30 กว่าตัน หรือ 1 ตู้คอนเทนเนอร์น่ะ แต่เราเข้าไปสำรวจไอเดียของเขา กาแฟของเขา 20 กว่าตันเมื่อมาถึง ถึงแม้จะเป็นกาแฟอินทรีย์ก็ต้องฆ่าเชื้อ ในโรงงานมีกระสอบเต็มไปหมด หุ่นยนต์เต็มไปหมด มีแต่มือน่ะ หยิบนู่นหยิบนี่”
เสียงหัวเราะของเขาเศร้าระคนสดใส
“ผมไปดูเรื่องวิธีการทำบ๊วยของเขาด้วย ที่ญี่ปุ่นเขาตั้งเป็นสหกรณ์บ๊วยเลย ไปหมู่บ้านชุมชนที่ปลูกบ๊วยเยอะที่สุด ผมเอาเหล้าบ๊วยขวดเล็กๆ ที่ผมทำไปด้วยนะ ผมตั้งใจไว้เลยว่าไปแล้วต้องได้กิ่งบ๊วยพันธุ์นั้นพันธุ์นี้มา มีเม็ดสีเขียว แดง ชมพู ซึ่งก็ได้มานะ แต่มันออกคนละฤดู ออกคนละฤดูไม่พอ เม็ดสีชมพูนี่มันกินไม่ได้อีก (หัวเราะ) แต่ว่าผมได้ไปที่วัดบ๊วยที่เกียวโต มีนักศึกษาญี่ปุ่นไปขอให้สอบผ่านตามความเชื่อ แล้วบ๊วยที่วัดนั้นก็ตัดแต่งเป็นไม้ประดับยาวลงมาเหมือนไม่ใช่ต้นบ๊วยแล้วน่ะ ตัดแต่งเป็นทรงอย่างดี
“เราเลยคิดว่าบ๊วยเนี่ย ไม่ใช่เอาแค่ลูกมาอย่างเดียว พื้นที่ไหนที่ไม่ออกลูกอาจจะใช้เป็นไม้ประดับก็ได้ ดอกเขาก็เอามาทำเป็นชา บ๊วยลูกเล็กๆ ของญี่ปุ่น ลูกละ 100 บาท แต่สรรพคุณยอดเยี่ยม เราแลกเปลี่ยนกันชิมเหล้าบ๊วย ของเขานี่มีบ๊วยตั้งแต่ 1 ปี 2 ปี 15 ปี 20 ปี เก็บไว้ ผมเลยบอกว่าบางขวดพอทำที่เมืองไทยแล้วรสชาติไม่เหมือนกัน เขาเลยเอารสชาติต้นตำรับของญี่ปุ่นมาให้ลองชิม”
เขาเลยเริ่มจากทำกินเองก่อน ยาบ๊วย บ๊วยเค็ม บ๊วยหวาน น้ำบ๊วย มองถึงการปลูกไม้ผลระยะยาวและวิเคราะห์ออกมาว่าการทำเกษตรยั่งยืนน่าจะเหมาะสมกว่า คือปลูก 1 รอบแล้วก็ดูแลต่อโดยไม่ต้องพลิกหน้าดินหรือปลูกเพิ่มเยอะแยะมากมาย สายตาเราเหลือบมองขวดเหล้าบ๊วยที่เรียงรายอยู่บนชั้นด้านบน
“ผมไปที่ศาลากลางเพื่อปรึกษาเรื่องการทำบ๊วย บอกว่าผมมีวัตถุดิบแบบนี้ เป็นเกษตรกร แนะนำตัวว่ามีบ๊วยแล้วจะทำเป็นเหล้าบ๊วยได้ไหม เขาก็พูดออกมาเลยว่าไม่ได้ กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ทำ ผมก็บอกว่าไม่ได้เอาเหล้าเถื่อนที่ไหนมา เอาเหล้าที่ถูกกฎหมายมาใส่ เขาก็บอกว่าไม่ได้ คุยกันไปคุยกันมาจริงๆ เขาบอกว่าคุณต้องมีเงินทุน 500 ล้าน ผมคิดเลยว่านี่คือระบบที่เอื้อให้กับนายทุน เรานี่เกือบจะเอาเหล้าบ๊วยออกมาให้เขาแล้วนะ (หัวเราะ)
“ที่ผมมาทำเรื่องกาแฟด้วยนี่ผมไม่ได้มองแค่เรื่องทรัพยากร แต่มองถึงคนรุ่นใหม่ด้วย เขาอาจจะกลับมา คนรุ่นใหม่ที่ไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือกินกาแฟกับขนมปัง พ่อของเขามีก็มีสวน การที่เขาออกไปทำงานได้กินกาแฟแบบนั้น เขาจะมีใจกลับมาดูแลต้นกาแฟของเขาไหม ที่นี่ผมจะเป็นคนรับซื้อ แปรรูปให้ ถ้าคุณสนใจจะมาทำจริง คุณไม่ต้องไปขายที่ไหน มาเป็นสมาชิกกับผม ตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้วยกัน
“ทำไมเราถึงต้องทำเป็นวิสาหกิจ หรือห้างหุ้นส่วนฯ เพราะถ้าเราไม่เป็นวิสาหกิจชุมชน เราคุยกับ อบต. และเกษตรอำเภอยากมาก ห้างหุ้นส่วนสามารถส่งกาแฟไปญี่ปุ่น 50 กิโลกรัมได้ แต่ถ้าลูกค้าบอกว่าต้องการ 200 กิโลกรัม ห้างหุ้นส่วนจะส่งไม่ได้เพราะต้องเป็นบริษัท แต่เวลาทำธุรกิจ พื้นฐานของพวกเราไม่เคยพูดกันถึงเรื่องพวกนี้เลยไง คนรุ่นใหม่จึงต้องทำความเข้าใจองค์ความรู้ตรงนี้ด้วย”
หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มแปรรูปและผลิตกาแฟอินทรีย์เลพาทอ (Lapato) เล่าเรื่องเคล้ากับลมกลางคืน เตาถ่านข้างๆ ไฟมอดไปนานแล้ว
“เราอาจจะเริ่มต้นจากมุมเล็กๆ ในศาลาที่ผมใช้เป็นที่ทำรายงานเมื่อก่อนตอนเรียนหนังสือ มันไม่ใช่แค่ที่ของผม ทุกคนก็มาใช้ได้ สมมุติถ้าหลานผมมานั่งทำการบ้าน เขาจะพาเพื่อนมาด้วย แล้วจะกินน้ำผลไม้สักแก้วหนึ่งไหม นั่นคือเราจะไม่สอนเขาโดยตรง สอนแบบอ้อมๆ ว่าแก้วนี้เป็นน้ำเลมอนที่มาจากสวนของพ่อคุณนะ ต้นนั้นน่ะ เขากินแล้วเขาจะได้เห็นค่าของของที่อยู่ใกล้บ้านเขา จะแยกได้ว่ารสชาติของแท้กับไม่แท้มันแตกต่างกันอย่างไร
“ต่อไปเขาได้กินกาแฟสักแก้วหนึ่ง จะได้กลับมาปลูกกาแฟในพื้นที่ของตัวเอง แล้วเราจะไม่หยุดแค่เครื่องดื่ม เราต้องมีเครือข่ายที่แต่ละคนทำแตกต่างกัน”
ศาลาหลังนั้นอาจจะไม่ได้เป็นแค่ร้านกาแฟ แต่เป็นสภากาแฟ คนมาคุยมาแลกเปลี่ยน 5 คน คนอาจจะกินกาแฟ 3 คน อีก 2 คนไม่กิน แต่มีองค์ความรู้อื่นมาแลกเปลี่ยน
“ตรงนั้นอาจจะเป็นบาร์ เป็นโต๊ะกินกาแฟ ห้องกลางจะเป็นห้องเก็บอุปกรณ์หรือตัวโชว์กาแฟ ห้องถัดมาจะเป็นเครื่องคั่ว cupping (การชิมทดสอบกาแฟ) ว่ารสชาติเป็นอย่างไร นั่นก็คือเราอยากให้คนในชุมชนที่ไม่กินกาแฟ และไม่เป็นสมาชิกมาเรียนรู้ที่นี่ เขาจะได้กลับไปทำเอง จะขายก็ได้ ไม่ขายก็ได้ แต่ว่าเขาจะมีองค์ความรู้พวกนี้ติดตัว บางคนเกิดไอเดียอาจจะพัฒนาต่อได้อีก
“ทุกคนบอกว่าที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้เหรอ ผมบอกว่าศูนย์ไม่เอาแล้ว เอาหนึ่ง สอง สาม ผมว่ามันเป็นฐาน ฐานที่มั่นคง ต้องยืน ต้องยึดให้ได้ ผมไม่ได้รู้อะไรทั้งหมด ทุกคนสามารถมาแลกเปลี่ยนกันที่นี่ได้ เราจะไม่มองหน้ากันแล้วพูดถึงแต่สินค้า เราจะมองกัน เราจะคุยกัน เราจะพูดถึงเรื่องความเป็นพี่น้อง ความเป็นครอบครัวเดียวกัน”
เรามองหน้ากัน จากนั้นเขาก็โยนประเด็นที่น่าสนใจ
“ที่ญี่ปุ่น คนรุ่นใหม่ก็กลับไปอยู่บ้านน้อยเหมือนกันนะ”
หลังจากไปเจอนวัตกรรมหุ่นยนต์ในโรงงานกาแฟและอุตสาหกรรมบ๊วยขนาดใหญ่ที่ญี่ปุ่น เราสงสัยว่าเขาเอาแง่มุมอะไรมาปรับใช้ภายใต้สเกลที่แตกต่างกันอย่างมากของขนาดธุรกิจ
“ที่แตกต่างกันคือ ถึงแม้ที่ดินจะไม่ค่อยมี แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเขาส่งเสริมเกษตรกร หาตลาดให้ อุปกรณ์ก็มีให้ เมืองไทยมีที่ดิน ปลูกได้ แต่ตลาดไม่มี รัฐบาลไม่ส่งเสริม ผมไปแค่ไม่กี่วันก็รู้แล้วว่าต้องไปเรียนรู้เพิ่ม ผมจะต้องกลับไปดูเรื่องพลับที่ญี่ปุ่นต่อ เลยหาข้อมูลว่าพลับของญี่ปุ่นออกช่วงไหน ไปดูเรื่องการแปรรูปพลับของญี่ปุ่น เช่น อุณหภูมิการตากพลับแห้งต้องเท่าไหร่ หรือน้ำส้มพลับที่ใช้จากพลับฝาด ดีไม่ดีน้ำผลไม้พลับอาจจะเกิดขึ้นได้”
“ปรัชญาของปกาเกอะญอกับของญี่ปุ่นมีความคล้ายกัน เช่น คนญี่ปุ่นบอกว่ากินบ๊วยต้องได้รสชาติบ๊วย กินอะไรให้ได้รสชาตินั้น แล้วพื้นที่เขาน้อยเหมือนกับชนเผ่าปกาเกอะญอสมัยก่อน ต้นบ๊วยไม่ต้องเป็นไร่ คุณดูแลสามสี่ต้นที่มีให้ดี ถ้าคุณดูแลมันจริงๆ คุณแทบจะไม่มีเวลาให้กับตัวเองเลย ช่วงนี้เก็บ ช่วงนี้ดูแลให้น้ำ ช่วงนี้ตัดแต่ง ออกดอก วนเวียนอยู่นั่นแหละ”
นอกจากนี้กวิ๊ยังเล่าเรื่องการไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศจีนเพราะมีทุนให้คนรุ่นใหม่ได้ไปเป็นเวลา 1 เดือน กลุ่มคนไฟแรงจากพม่า จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียมารวมตัวกันถกเถียงกระแสของประเทศตัวเอง เขาไปสำรวจการสร้างพื้นที่ให้เกษตรกรรุ่นใหม่มาเรียนรู้แล้วพบว่าระบบสหกรณ์ของจีนยิ่งใหญ่มาก แม้ว่าจีนจะประชากรเยอะและทำเคมีเข้มข้นแต่ก็สามารถส่งออกผลผลิตที่ดีออกมาได้ หรือไปอินโดนีเซียด้วยเงินของตัวเองแล้วเรียนรู้การปลูกกาแฟพันธุ์ทริปิก้าในพื้นที่ที่ทำการเกษตรอย่างสร้างสรรค์ แต่พื้นที่ที่ทำการเกษตรเชิงปริมาณ เคมีก็สูงลิ่วไม่แพ้กัน
“มันไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหา ที่จีน ญี่ปุ่นเขาก็มีภัยพิบัติ มีปัญหาเหมือนกัน”
ออกไปข้างใน
เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า เขาไปญี่ปุ่นแค่ 10 กว่าวันแต่กลับมาเล่าได้เหมือนไปอยู่เป็นปี? เราเลยถามกลับว่า แล้วการออกไปข้างนอกจำเป็นขนาดนั้นหรือเปล่า
“อาจจะไม่ถึงขั้นจำเป็นแต่ว่าสำคัญ คุณไม่ต้องไปที่ประเทศพัฒนาก็ได้ ประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ๆ ก่อนก็ได้แล้วค่อยขยายไป คุณจะรักประเทศของคุณ ชุมชนของคุณเพิ่มขึ้น หรือคิดพัฒนาชุมชนได้เยอะ”
กวิ๊บอกว่าตอนที่เขาอยู่อินโดนีเซีย เกษตรกรที่นั่นก็เป็นชนเผ่าเหมือนกัน แต่พืชเศรษฐกิจเขายังไม่เข้าถึง ทำงานแค่ครึ่งวัน ตอนเช้าอยู่ที่แปลง ตอนบ่ายอยู่กับครอบครัว
“เราไปเรียนรู้เรื่องกาแฟแต่ไม่ค่อยได้คุยเรื่องกาแฟหรอก คุยกันเรื่องธรรมชาติ เรื่องวิถีชีวิต ภูมิปัญญา”
จึงเกิดคำถามสำคัญต่อว่าถ้ามีพี่น้องที่ทำการเกษตรในรูปแบบของตัวเองในท้องถิ่น และยึดวิถีดั้งเดิม เขาก็สามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ไหม
“การทำเกษตรมันเกี่ยวข้องกับทุกเรื่อง ทุกวันนี้มีงานวิจัยออกมาให้ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว แต่ว่าเกษตรกรลืมไปว่าโลกมันเปลี่ยนไปนะ มันหนาวน้อยลง อยู่ข้างนอกมันร้อนจะตาย แล้วในอนาคตข้างหน้า ธรรมชาติอาจจะลงโทษเรา ภัยพิบัติจะเกิดขึ้น คนที่จะอยู่รอดได้คือต้องมีความหลากหลาย ทุกคนเลยต้องมีสวนที่หลากหลาย
“เราเลยต้องกลับย้อนไปดูว่าไร่ของเรามีอะไรบ้าง พืชผักเมื่อก่อนมีอะไรบ้าง เขาทำ 1 ปี กิน 2 ปี หรืออาจจะเก็บเมล็ดพันธุ์อีกปีหนึ่งได้ เราต้องพูดถึงเรื่องการผลิตเมล็ดพันธุ์แล้ว ในดินในไร่มันมีอะไรบ้าง เขาก็ปลูกเผือกนี่ แล้วบนดินล่ะ ผักเยอะแยะ เราก็กินไม่ใช่เหรอ ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งก็มีผักอีก พืชเมืองหนาวจะอยู่ชั้น 3 แต่ถ้าเป็นกาแฟจะอยู่ชั้น 4 ชั้น 5 แล้วถามว่าแต่ละชั้นน่ะกินฤดูไหน กาแฟ ผลไม้เก็บช่วงพระจันทร์เต็มดวงเพราะสะสมธาตุอาหารดีที่สุด รสชาติดีที่สุด แล้วข้างแรมล่ะ ธาตุอาหารลงดิน พวกเผือก พืชที่มีหัว เหล่านี้คือภูมิปัญญาทั้งหมด แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะมีการเก็บรวบรวมไว้เป็นข้อมูลออกมา ซึ่งของปกาเกอะญอจะอยู่ในบทธา เราต้องเอามาปรับใช้ให้ได้”
แสดงว่าวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมก็สำคัญ?
“ผมคิดว่าการคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเป็นเรื่องที่ยาก แต่ชาวปกาเกอะญอจะมีคำว่าน้ำบ่อหน้า น้ำบ่อหลัง คือเราจะไม่มีแต่อะไรใหม่ๆ ในขณะเดียวกันเราก็จะไม่มีแต่อะไรเก่าๆ สองอย่างนี้เราจะผสมมันอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
“ทำไมผมถึงชูเรื่องเกษตร มองเรื่องการจัดการทรัพยากร ซึ่งตอนแรกก็ยังไม่ได้มองเรื่องการศึกษานะ แต่ว่าพอทำแล้วมันเกี่ยวข้องกันหมด เช่น ถ้าเรายังใช้ชีวิตอยู่ที่นี่แล้วทรัพยากรไม่ดี รอบโรงเรียนมีแต่เคมี นักเรียนก็ไม่มีความสุข ยังไม่พอ อย่างเรื่องอาหารกลางวันเด็กก็ยังไม่ปลอดภัยเลย พ่อแม่ถูกส่งเสริมให้ใส่เคมีเต็มที่ลงไปในผักเพื่อขายที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ครูก็เอาผักพวกนี้มาให้เด็กกิน ทำไมมันไม่ส่งจากบ้านไปโรงเรียน แล้วเคมีมันหายไปจากกลางทางเหรอ (หัวเราะ)
“ผมว่ามันเกี่ยวข้องกัน เขาบอกว่าการศึกษาเดี๋ยวนี้ต้องรู้เท่าทัน เรียนรู้ให้เยอะ เรียนอะไร? การเกษตร ธรรมชาติและการศึกษามันเชื่อมโยงกัน ถ้าคนรุ่นใหม่แต่งงานมีลูก ต้องส่งลูกไปโรงเรียน ต้องมีค่าใช้จ่าย คนรุ่นใหม่ก็ต้องรู้ว่าจะจัดการศึกษาของลูกอย่างไร รูปแบบไหน ถ้าลูกคุณไปเรียนหนังสือ คุณจะวางแผนชีวิตให้ลูกยังไง การศึกษาทางเลือกไหม แล้วคุณคิดว่าอนาคตของลูกคุณไม่เกิดขึ้นในโรงเรียนได้ไหม พ่อแม่เป็นคนสอนเองได้ไหม พื้นที่ที่ลูกจะได้วิ่งเล่นมีไหม ทุกวันนี้วิ่งไปเล่ยไปเท่ยไม่ได้นะ ยาฆ่าหญ้านะ ต้องใส่รองเท้าบูทอย่างดีนะ (หัวเราะ)”
เราคุยกันจนมืดค่ำ รอบกายเงียบสงบและอากาศบริสุทธิ์ ปกาเกอะญอหนุ่มบอกว่าวิถีเกษตรยั่งยืนมันสุนทรียะ การสู้กับตัวเองที่จะใช้ชีวิตแบบนี้และสู้เพื่อคนอื่นด้วยก็ถือเป็นสุนทรียะเช่นเดียวกัน เขาไม่ได้อยู่ในโลกเพียงลำพัง
แม้ครั้งหนึ่งคนในชุมชนจะมองว่าเขาเป็นคนบ้าที่ลุกขึ้นมาทำการเกษตรและวางคอนเซ็ปท์ที่ไม่คุ้นเคย แต่กวิ๊ก็ผ่านช่วงเวลาของการเดินทางกลับบ้านมาพิสูจน์ให้ครอบครัวเชื่อใจ ผ่านความวูบไหวของการดริปกาแฟไม่เป็นเมื่อ 10 ปีก่อน มาจนถึงตอนนี้ที่เขาก็ยังคิดหาทางแปรรูปพลับที่ออกผลอยู่เต็มสวนแต่ไม่ค่อยมีใครทำอะไรกับมันมากนัก หวังให้คนรุ่นใหม่หรือรุ่นใดก็ตามลองมากินกาแฟ หรือชนจอกเหล้าบ๊วยด้วยกันบ้าง
“ถึงแม้ว่าผมจะทำกาแฟ แต่วันหนึ่งก็กินแค่แก้วเดียวล่ะมั้ง (หัวเราะ) เมื่อก่อนผมคาดหวังกับชุมชน กับคนนั้นคนนี้สูงเกินไป โดยที่ผมไม่รู้ว่าผมเองก็ทำไม่ได้ ผมเลยใช้คำว่าถอยหลังไปข้างหน้า ทุกวันนี้เส้นที่เราจะเดินมันมีเยอะมาก แล้วทุกคนก็เดินหน้าจนไม่คิดจะหยุด ไม่คิดจะถอยไปตั้งหลัก เราอาจจะถอยไปตั้งหลักบ้างแล้วก็ไปต่อ ผมจะต้องทำตัวเองเป็นฐาน เป็นพื้นที่ที่ทำให้เขาเห็น
“กาแฟที่นี่ผมเปิดให้กินตลอด บางวันผมบอกว่าอย่ามาชิมแต่ฝีมือผมสิ คุณลองมาดริปเองก็ได้ แล้ววันหลังผมจะขอไปกินดริปของคุณที่บ้านคุณบ้าง”