ตอนที่คุณแม่อ่านนิทานให้ลูกฟัง เด็กมองรูปมากกว่ามองอักขระ แต่แล้ววันหนึ่งคุณแม่ทุกบ้านก็จะเห็นลูกเดินไปหยิบหนังสือมานั่งอ่านเอง เขายังคงมองไปที่อักขระแล้ว ‘พูด’ นิทานที่ได้ฟังทุกคืนมาหลายเที่ยว
ช้างเที่ยวแรก และช้างเที่ยวต่อๆมา มิใช่ช้างตัวเดียวกัน เหตุเพราะเซลล์สมองและวงจรประสาทของเด็กเปลี่ยนแปลงทุกวันตามการอ่าน การอ่านนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ จึงมิใช่เรื่องน่าห่วง หากเราสนุกที่จะอ่าน เขาสนุกที่จะฟัง สมองของเขาพัฒนาทุกวัน
เด็กบางคนเริ่มสังเกตอักขระบนป้ายตามถนน และอักขระใต้ภาพในหนังสือนิทานก่อนนอน กระบวนการอ่านหนังสือด้วยตนเองบัดนี้ได้เริ่มต้นแล้ว กระบวนการนี้ไม่เหมือนการมองรูปภาพ มีความจำเพาะ (specific) กว่ากันมากมาย ลำแสงที่พุ่งจากตัวอักษรพุ่งเข้าสู่ตามีความเฉียบคมและยิงเป้าเดียวอย่างแม่นยำซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เมื่อเด็กเปิดหนังสือเพื่อที่จะพยายามอ่าน แสงที่กระทบตัวหนังสือพุ่งเข้าใส่ตาดำ ตาดำที่เราเห็นนั้นคือรูม่านตา (pupils) โฟตอน (photon) ที่หลุดรอดม่านตา (iris) เข้าไปในรูได้จะพุ่งตรงต่อไปถึงข้างในสุดของลูกตา
ที่ข้างในสุดของลูกตา ตรงผนังด้านหลังนั้นเองคือจอตาที่เรียกว่าเรติน่า (retina) แต่มิใช่ว่าทุกส่วนของเรติน่าจะเกี่ยวข้องกับการอ่าน แท้จริงแล้วมีเพียงบริเวณวงกลมเล็กๆ บนเรติน่าที่เรียกว่าโฟเวีย (fovea) ทำหน้าที่รับสัญญาณจากตัวหนังสือ โฟเวียนี้รับแสงด้วยมุมกว้างประมาณ 15 องศาของลานสายตา (visual fields) และหากมีการทำลายโฟเวียนี้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง เราจะอ่านหนังสือไม่ได้เลยแม้ว่าส่วนอื่นของเรติน่าจะยังเป็นปกติ
เมื่อคนเราอ่านหนังสือ เรากลอกลูกตาไล่ไปตามตัวหนังสือ คือการเล็งโฟเวียไปที่ตัวอักษรที่ต้องการเพื่อให้แสงจากตัวอักษรกระทบโฟเวียอย่างแม่นยำ การกลอกลูกตาของคนเราก็มิได้เคลื่อนที่ไปอย่างราบเรียบต่อเนื่อง ที่แท้แล้วเรากลอกลูกตาไปด้วยอาการกระตุกเป็นจังหวะประมาณ 4-5ครั้งต่อวินาที เรียกว่าการเคลื่อนที่แบบแซ็คคาดิก (saccadic movement)
บริเวณที่โฟเวียจับภาพนั้นจะมีความคมชัดแล้วเบลอออกไปโดยรอบ เราอ่านหนังสือทั้งหน้าก็จริง เห็นหนังสือทั้งหน้าก็จริง อ่านสามก๊กจบสองเล่มก็จริง แต่ที่แท้แล้วในแต่ละขณะเราเห็นแค่กลุ่มตัวอักษรที่อนุภาคโฟตอนตกกระทบโฟเวียแล้วไม่เห็นส่วนอื่นของหน้าหนังสือเลย
หากจะให้ระบุอย่างเจาะจงแล้ว เราเห็นตัวอักษรเพียง 3-4 ตัวที่ผ่านมาและอีก 7-8 ตัวที่กำลังจะอ่านถึง สำหรับการอ่านจากซ้ายไปขวา
แปลกไปกว่านั้นคือเราจะเห็นจำนวนตัวอักษรคงที่คือประมาณไม่เกิน 12 ตัวไม่ว่าขนาดของตัวอักษรจะเป็นเท่าไรก็ตาม อย่าลืมว่าเรากำลังอ่าน เรามิได้กำลังทอดสายตา
และหากเป็นอักษรจีนจากบนลงล่าง ที่ซึ่งเส้นสายแต่ละเส้นขีดเขียนไปมาเพื่อประกอบเป็นคำหนึ่งคำตัดกันหรือพาดไปพาดมา ลูกตาจะกลอกจากบนลงล่างด้วยการเคลื่อนที่แบบแซคคาดิคที่กระชั้นมากๆ และองศาที่รับภาพของโฟเวียน้อยกว่า 15 องศา
การเคลื่อนที่แบบแซคคาดิคนี้เองที่ทำให้การเห็นตัวอักษรแล้ว ‘อ่าน’ ได้ต้องการเวลาอย่างน้อยที่สุดชั่วขณะหนึ่ง โฟเวียสามารถรับภาพได้ในเวลาเพียง 1/20 วินาที การเคลื่อนที่แบบกระตุกแต่ละครั้งกินเวลา 3/10 วินาที แต่กว่าจะอ่านได้นั้นต้องใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวินาที เวลาที่คนเราใช้อ่านนั้นจะเร็วมากที่สุดก็ไม่น่าจะเกิน 400-500 คำต่อนาที และที่ว่าอ่านได้เร็วนั้นที่แท้แล้วเกิดจากความสามารถที่จะข้าม (skip) มากกว่าความสามารถที่จะอ่าน
ปัจจัยหนึ่งที่กระทบความเร็วในการอ่านคือการออกแบบตัวอักษร การอ่านตัวเขียนและตัวพิมพ์นั้นต่างกัน การอ่านตัวพิมพ์ในฟอนต์ต่างๆ ตัวหนา และตัวเอียง เหล่านี้มีความแตกต่างกัน
การอ่านหนังสือพิมพ์บ่อยๆ มักช่วยให้คนเราถอดรหัสตัวอักษรได้เร็วขึ้น เพราะหน้าหนังสือพิมพ์มักเต็มไปด้วยตัวอักษรหลายฟอนต์และหลายขนาดให้ฝึกปรืออยู่เสมอ ส่วนที่ยากเสมอคือการอ่านตัวเขียนซึ่งมักจะมีความแตกต่างกันไปในลายมือของแต่ละบุคคล
วิวัฒนาการการอ่านของมนุษย์ทำให้คนเราไม่จำเป็นต้องถอดรหัสทีละเส้นของตัวอักษร แต่สมองของคนพัฒนามาหลายพันปี เราเรียนรู้ที่จะจดจำหน่วยคำ หน่วยเขียน หรือหน่วยเสียง
คือ morphemes, graphemes และ phonemes ตามลำดับ
เช่น คำว่า “วิวัฒนาการ” สมองจะจดจำหน่วยคำ ได้แก่ วิ ,วัฒนา, การ จดจำหน่วยเขียนและหน่วยเสียง ได้แก่ ว แทนเสียง วอ ,า แทนเสียง อา , น แทนเสียง นอ , ก แทนเสียง กอ
เมื่ออ่านมากจะมีหน่วยคำมาก มีหน่วยเขียนและหน่วยเสียงมาก ทำให้การถอดรหัสเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ
ทารกได้ยินเสียงคุณแม่พูดด้วยตั้งแต่เกิด สมองของทารกจะจำแนกหน่วยเสียงก่อน ต่อมาคุณแม่เริ่มอ่านนิทานก่อนนอน ทารกเริ่มจำแนกหน่วยคำเพราะภาษาหนังสือมักจะมีหน่วยคำที่ชัดเจนและเป็นแบบแผนมากกว่าภาษาพูด เมื่อเวลาผ่านไปเด็กเริ่มมองตัวอักษรที่ปรากฏบนหน้านิทาน มองเห็นป้ายขนาดใหญ่ตามท้องถนน มองเห็นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์หรือปกหนังสือที่มักมีคำไม่กี่คำ สมองเด็กเริ่มจำแนกหน่วยเขียนและหน่วยเสียงทีละเล็กละน้อยไปเรื่อยๆ
เราเห็นภาพลูกที่นั่งได้ เปิดหน้าหนังสือได้ และเริ่มใช้นิ้วชี้ไปที่ตัวอักษรทีละตัว เหล่านี้เป็นความพยายามของโฟเวียและสมองที่จะถอดรหัสลายเส้นสีดำที่เห็นซ้ำๆ อย่างเป็นระบบ
เราสามารถจัดสิ่งแวดล้อมหรืออำนวยความสะดวกให้ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดในบ้าน ศูนย์เด็กเล็ก หรือโรงเรียนอนุบาลตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องสอนแต่อย่างใด