- ชวนดูวิธีรับมือของพ่อแม่เมื่อลูกเป็นกลุ่มคนเพศหลากหลายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ผ่านซีรีส์ Queer as Folk
- ประโยคหนึ่งที่เราชอบตอนแม่ๆ คุยกัน เป็นฉากที่เด็บบี้กับเจนนิเฟอร์นั่งปรับทุกข์ในบาร์ ขณะที่เจนนิเฟอร์กำลังเครียดอย่างหนัก เพราะเจออาการต่อต้านของจัสตินที่แม้ว่าเธอจะพยายามใช้ไม้อ่อนเข้าหาลูก แต่ดูเหมือนจะผลักเขาให้ยิ่งห่างออกไป เด็บบี้เลยพูดว่า ‘พวกเขาอาจจะพูดจาใหญ่โต ทำตัวแข็งแกร่ง แต่ความจริงคือสิ่งที่พวกเขากลัวมากที่สุด มากกว่าเรื่องที่พ่อจะรู้และอัดเขาซะน่วม คือ คุณจะเลิกรักเขา’ เจนนิเฟอร์ตอบว่า ‘ฉันไม่มีวันทำแบบนั้น’ เด็บบี้ตอบกลับ ‘งั้นคุณก็ต้องทำให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้เสียคุณไป’
ภาพประกอบจาก Showtime
เพศ เซ็กส์ เพื่อน ครอบครัว และสังคม
คือวัตถุดิบที่ใช้ปรุงแต่งอาหารที่ชื่อว่า Queer as Folk
Queer as folk ซีรีส์สัญชาติอเมริกัน สร้างขึ้นในปี 2000 รีเมคจากซีรีส์ชื่อเดียวกันสัญชาติอังกฤษ ตัวซีรีส์นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนเพศหลากหลายที่อาศัยอยู่ในเมืองพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ผ่าน 4 ตัวละครหลัก คือ ไบรอัน คินนีย์ (Brian Kinney) ไมเคิล โนวอตนีย์ (Michael Novotny) เอ็มเม็ต ฮันนี่คัท (Emmett Honeycutt) และ เท็ด ชมิดต์ (Ted Schmidt) พวกเขาทั้ง 4 คนไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ทั้งรูปร่างหน้าตา รสนิยม หรือนิสัย มีเพียงสิ่งเดียวที่เหมือนกัน คือ เป็นเกย์…
และการเข้ามาของ จัสติน เทย์เลอร์ (Justin Taylor) เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ที่กำลังสับสนในตัวเอง เขาเดินทางมาเที่ยวแถวย่านบาร์เกย์ จนเจอเข้ากับไบรอัน และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด
อ่านพล็อตคร่าวๆ ทุกคนอาจจะรู้สึกว่า มันโดดเด่นตรงไหน? ปัจจุบันมีซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มเพศหลากหลายเยอะมาก แต่เราอยากให้ทุกคนลองนึกภาพเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่สังคมยังไม่เปิดกว้างกับความหลากหลายทางเพศ พร้อมกับมีความเชื่อผิดๆ เช่น เป็นเกย์ = ติดเชื้อ HIV หรือถ้าใครเปิดเผยว่าเป็นกลุ่มเพศหลากหลายอาจถูกฆาตกรรมได้ อย่างเช่นในปี 2002 Gwen Araujo วัย 17 ปี ชาวอเมริกัน-ลาติน ถูกวัยรุ่นชาย 4 คนรุมทำร้ายจนเสียชีวิตเพราะรู้ว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ (Transgender woman) ซึ่งเหตุการณ์ทำร้ายกลุ่มเพศหลากหลายมีมาอย่างยาวนาน อย่างเคสฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk) นักการเมืองชาวอเมริกันคนแรกในยุค 70 ที่ถูกยิงจนเสียชีวิต ด้วยบริบทสังคมที่ไม่เปิดรับแต่กลับมีคนกล้าหยิบเรื่องนี้มาทำ แถมนักแสดงนำเกือบทุกคนก็เป็นกลุ่มคนเพศหลากหลาย
บวกกับเนื้อเรื่องที่เล่าถึงความสัมพันธ์ ชีวิตการทำงาน และประเด็นทางสังคมที่โดนใจใครหลายๆ คน เราว่านั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมซีรีส์เรื่องนี้ที่ผ่านมา 20 ปีแล้ว ยังมีคนพูดถึงอยู่ และเราไม่รู้สึกว่ามันเก่าเลย เช่น การเหยียดเพศจนไปถึงขั้นทำร้ายร่างกาย การเลือกปฎิบัติในที่ทำงาน การแต่งงานอย่างถูกกฎหมายของกลุ่มเพศหลากหลาย (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับบริบทบ้านเราในปัจจุบัน ก็ยังมีเหตุการณ์พวกนี้อยู่)
เพื่อให้เข้ากับกลุ่มคนอ่าน The Potential พาร์ทที่เราอยากหยิบมาเล่า คือ ครอบครัว การมีลูกเป็นกลุ่มคนเพศหลากหลาย เราอยากชวนทุกคนไปเคาะประตูดูแต่ละบ้านว่าเขารับมือกับมันอย่างไร
1.
พ่อแม่น้องใหม่
เริ่มที่ครอบครัวของจัสติน เครก เทย์เลอร์ (Craig Taylor) และ เจนนิเฟอร์ เทย์เลอร์ (Jennifer Taylor) สองสามี-ภรรยา เป็นสมาชิกน้องใหม่ของกลุ่มผู้ปกครองที่ลูกเพิ่งค้นพบตัวตนที่เขาอยากเป็น ภาพครอบครัวเทย์เลอร์เป็นไปตามสูตรครอบครัวที่สมบูรณ์แบบของสังคม พ่อออกไปทำงานนอกบ้าน เปิดกิจการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนแม่เป็นแม่บ้านดูแลลูก 2 คน คือจัสตินและน้องสาว มอลลี่ เทย์เลอร์ (Molly Taylor)
ซีรีส์ฉายให้เราเห็นว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัว ลูกๆ จะสนิทกับแม่มากกว่า เพราะพ่อต้องออกไปทำงานข้างนอกบวกกับนิสัยที่ชอบบงการและอารมณ์ร้อน ต่างจากแม่ที่ใจเย็นและรับฟังพวกเขาเสมอ พวกเขากล้าที่จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้แม่ฟัง ตัวเจนนิเฟอร์เองก็มั่นใจว่ารู้จักลูกดี แต่บางทีเธอก็ลืมไปว่าเรื่องบางเรื่องก็ต้องมีเส้นกั้น
พักหลังๆ เจนนิเฟอร์สังเกตเห็นจัสตินเปลี่ยนไป แอบไปข้างนอกช่วงดึกๆ แถมมีเสื้อผ้าของผู้ชายคนอื่นอยู่ในห้องเขา แม้จะเริ่มสงสัยแต่เจนนิเฟอร์ก็ยังไม่เล่าให้ใครฟัง เพราะเธออยากแน่ใจกับเรื่องนี้และคุยกับลูกก่อน
วันหนึ่งด้วยจังหวะที่เป็นใจ เจนนิเฟอร์ตัดสินใจลองคุยกับจัสตินด้วยการถามว่า เสื้อผู้ชายที่อยู่ในห้องเขาเป็นของใคร? เขากำลังคบกับผู้ชายคนนั้นเหรอ? แน่นอนว่าปฏิกิริยาตอบกลับของจัสติน คือ โวยวายและคิดว่าแม่ล้ำเส้นชีวิตเขา นั่นเป็นฉากหน้า เพราะจริงๆ แล้วจัสตินกำลังกลัว เขาวิ่งหนีไปตั้งหลักที่บ้านเพื่อน
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแย่กว่าที่เจนนิเฟอร์คิด เธอตัดสินใจคุยกับสามี แล้วบู้ม! เหมือนระเบิดเวลา เครกรับไม่ได้ที่ลูกเป็นเกย์ เขาต่อว่าเจนนิเฟอร์ที่ไม่ดูแลลูกให้ดี แล้วใช้ไม้แข็งจัดการบังคับให้จัสตินเปลี่ยน แน่นอนจัสตินไม่มีวันทำตามเพราะเขาเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองเลือกและเป็น เขาตัดสินใจเดินออกจากบ้าน และนั่นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจัสตินและครอบครัวพังลง
ส่วนเจนนิเฟอร์ เธอไม่ได้โกรธหรือรังเกียจจัสติน ตรงกันข้ามเธอไม่รู้ว่าต้องรับมือยังไง นี่เป็นเรื่องใหม่สำหรับเธอ ทำให้เจนนิเฟอร์พยายามเข้าไปใกล้ชิดกับลูกเหมือนเดิม พยายามรักษาความสัมพันธ์ไม่ให้เธอเสียลูกไป โชคดีของเจนนิเฟอร์ที่ได้กุนซือคอยให้คำแนะนำเธออย่าง เด็บบี้ แม่ของไมเคิล (เราจะเล่าเรื่องเธอต่อไป)
เด็บบี้เข้าใจเจนนิเฟอร์เพราะเธอเคยเผชิญกับมันมาก่อน คำแนะนำแรกที่เธอให้เจนนิเฟอร์ คือ “อย่าถามลูกว่า ‘เธอเป็นใช่ไหม?’ เพราะเราจะไม่มีวันได้คำตอบ แค่พูดว่า ‘ฉันรู้’ ก็พอแล้ว” เด็บบี้เป็นทั้งคนให้คำแนะนำ เป็นพี่เลี้ยงพาเจนนิเฟอร์มารู้จักกับโลกของลูกพวกเขา และเป็นบ้านให้จัสตินอาศัยอยู่
ประโยคหนึ่งที่เราชอบตอนแม่ๆ คุยกัน เป็นฉากที่เด็บบี้กับเจนนิเฟอร์นั่งปรับทุกข์ในบาร์ ขณะที่เจนนิเฟอร์กำลังเครียดอย่างหนัก เพราะเจออาการต่อต้านของจัสตินที่แม้ว่าเธอจะพยายามใช้ไม้อ่อนเข้าหาลูก แต่ดูเหมือนจะผลักเขาให้ยิ่งห่างออกไป เด็บบี้เลยพูดว่า
‘พวกเขาอาจจะพูดจาใหญ่โต ทำตัวแข็งแกร่ง แต่ความจริงคือสิ่งที่พวกเขากลัวมากที่สุด มากกว่าเรื่องที่พ่อจะรู้และอัดเขาซะน่วม คือ คุณจะเลิกรักเขา’
‘ฉันไม่มีวันทำแบบนั้น’
‘งั้นคุณก็ต้องทำให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้เสียคุณไป’
เราในฐานะลูก เข้าใจความรู้สึกของจัสติน เขากลัวว่าถ้าตัวเองเปลี่ยนไปพ่อแม่จะไม่รักเขาเหมือนเดิม แล้วมันก็เป็นเรื่องจริง พ่อโกรธแถมไล่เขาออกจากบ้าน ส่วนแม่เองก็ไม่รู้ว่าจะปล่อยมือเขาเมื่อไร จัสตินตัดสินใจว่าเขาต้องใช้ชีวิตให้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร เพราะเขาจะได้ไม่ถูกทิ้งอีก นั่นกลายเป็นการผลักไสแม่ออกไป งานยากของเจนนิเฟอร์ที่ต้องทำให้ลูกกลับมาเชื่อเธออีกครั้ง
เราว่าพ่อและแม่จัสตินเหมือนยืนอยู่บนทางแยกว่าจะจับมือไปกับจัสตินหรือทิ้งเขา เครกเลือกที่จะปล่อยมือและเดินไปอีกทาง เพราะไม่สามารถยอมรับลูกได้ ส่วนเจนนิเฟอร์ เธอไม่ได้สนว่าลูกจะเป็นอะไร แค่เหตุผลว่ารักและไม่อยากเสียเขาไป ทำให้เธอตัดสินใจเดินไปทางเดียวกับลูก
2.
คุณแม่ในฝัน
เด็บบี้ โนวอตนีย์ (Debbie Novotny) เธอเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงไมเคิลมากับพี่ชายของเธอ ตอนดูซีรีส์ เรารู้สึกว่าเด็บบี้ถือเป็นแม่ในฝันที่ลูกๆ อยากได้ เธอทั้งสดใสร่าเริง (บางทีก็มากเกินไปจนทำให้ไมเคิลปวดหัว) กล้าคิดกล้าพูด และยอมรับสิ่งที่ลูกเป็น (ถือเป็นคุณสมบัติแรร์ไอเทมเลยนะ)
เมื่อรู้ว่าลูกเป็นเกย์ สิ่งที่เด็บบี้ทำคือ เธอไม่ตั้งคำถาม ไม่ต่อว่า แค่ยอมรับสิ่งที่ลูกเป็น (เด็บบี้บอกเจนนิเฟอร์ว่า เธอไม่บังคับให้ไมเคิลพูดว่าเขาเป็นอะไร เธอบอกแค่ว่า ‘ฉันรู้’ เพื่อลดความเจ็บปวดและความกังวลของไมเคิล) ไม่ใช่แค่พูดด้วยนะ ทั้งทำงานในร้านอาหารย่านเกย์ เข้าร่วมกลุ่ม PFLAG (ย่อมาจาก Parents and Friends of Lesbians and Gays) เข้าร่วมกลุ่มต่อสู้เพื่อให้กลุ่มเพศหลากหลายได้สิทธิ์ต่างๆ เด็บบี้พยายามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโลกของไมเคิล
นอกจากเป็นพี่เลี้ยงให้เจนนิเฟอร์แล้ว เด็บบี้ก็เป็นแม่อีกคนของจัสติน เธอรู้ว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญมันหนัก ทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน สิ่งที่เด็บบี้ทำคือ พยายามให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ช่วยชี้ทางให้จัสตินเดินต่อไปได้
มีเหตุการณ์หนึ่งที่จัสตินถูกเพื่อนล้อ เขาบอกกับครู แต่ครูไม่ทำอะไรเลย นั่นทำให้จัสตินโมโหจนเผลอใช้คำพูดรุนแรงกับครู ทำให้เขาถูกพักการเรียน เด็บบี้ที่เห็นว่าจัสตินกำลังเศร้า เธอถือจานคุกกี้และนมมาปลอบใจเขา พร้อมกับเล่าเรื่องของไมเคิลให้ฟังว่า
‘มีคนหลายคนพอรู้ว่าไมเคิลเป็นเกย์ เขาพูดและทำสิ่งที่ใจร้ายกับเขา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ญาติฉันเองที่พอรู้ว่าไมเคิลเป็นอะไรก็ไม่ยอมให้ลูกมาเล่นด้วย คนทั่วไปมักจะเป็นอย่างนั้นเพราะไม่รู้เรื่องและกลัว และไม่มีอะไรที่เธอจะให้พวกเขาได้นอกจากให้การศึกษาหรือยิงพวกเขาทิ้ง สำหรับฉันเลือกเข้าร่วมกลุ่ม พี-เฟล็ก (PFLAG) เพราะมันดีกว่าไปยิงพวกเขา’
เรากดไลค์ให้กับประโยคนี้เลย เพราะมันจริงมากๆ ตัวเราเองเคยไม่เข้าใจเรื่องเพศ (ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเพศหลากหลายนะ แต่เรื่องเพศทั้งหมด) ทำให้บางทีแสดงออกแบบผิดๆ เช่น ล้อผู้ชายว่า ‘ไปนุ่งกระโปรงไป๊!’ แต่พอเรามีโอกาสทำความเข้าใจกับมันมากขึ้น เราถึงเปลี่ยนตัวเองได้ บางทีเวลาเห็นคนที่ทัศนคติไม่ดี ชอบเหยียด มันอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตมา หล่อหลอมให้เขาเป็นแบบนี้ สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้ แต่ถ้าทำแล้วเขายังเป็นแบบเดิมก็คงต้องปล่อยวาง
อีกฉากที่เราชอบอยู่ตอนที่ 4 ซีซั่น 2 พูดเรื่อง Pride Month (เดือนมิถุนายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นเดือนของกลุ่มเพศหลากหลาย พวกเขาจะออกมาทำกิจกรรมต่างๆ) ความฝันของเด็บบี้ คือ การได้เดินขบวนร่วมกับลูก แต่ไมเคิลไม่ยอมทำตามที่เธอขอ เพราะเขาต้องปิดบังความลับเรื่องที่เป็นเกย์ (สมัยนั้นการเปิดเผยว่าเป็นกลุ่มคนเพศหลากหลายไม่ได้รับการยอมรับ ทำให้มีการเลือกปฏิบัติ เช่น ถ้าที่ทำงานรู้อาจโดนให้ออก)
ไมเคิลบอกว่า ‘มันง่ายสำหรับแม่ที่จะโบกผ้าและเดินขบวน เพราะแม่ไม่มีอะไรต้องเสีย พระเจ้า! แม่ไม่ได้เป็นเกย์ด้วยซ้ำ’ แต่เด็บบี้ตอกกลับว่า เธออาจจะไม่ได้เป็นเกย์ แต่เธอก็ภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ สุดท้ายไมเคิลยอมเดินขบวนกับแม่ โดยแต่งเป็น Drag queen (การแต่งกายเป็นเพศหญิง)
แต่เด็บบี้ก็ไม่ใช่แม่ที่สมบูรณ์แบบตลอด เธอเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ทำผิดได้ เช่น บังคับให้ไมเคิลเลิกกับแฟนหลังจากรู้ว่าเขาเป็น HIV แต่คุณสมบัติหนึ่งที่เธอมี (และเราอยากให้ผู้ปกครองทุกคนมีจัง) คือ การยอมรับ ถ้าตอนที่เด็บบี้รู้ว่าไมเคิลเป็นเกย์ เธอเลือกไม่ยอมรับหรือพยายามเปลี่ยนเขา เราว่าเรื่องคงไม่แฮปปี้แบบนี้
3.
พ่อแม่ที่ให้กำเนิด
ครอบครัวสุดท้าย แจ็ค คินนีย์ (Jack Kinney)และโจแอน คินนีย์ (Joanl Kinney) พ่อแม่ไบรอัน ก่อนอื่นขอบอกว่าตัวละครไบรอัน คือ ตัวละครที่เราชอบที่สุด ติด Top 10 อันดับตัวละครในดวงใจ เพราะเราชอบบุคลิกที่ซับซ้อนของไบรอันเหมือนสายโทรศัพท์บ้านเรา ไบรอันเป็นคนที่โดนด่ามากที่สุดในเรื่อง เพราะเขาเห็นแก่ตัว นึกถึงแต่ตัวเอง ไม่เคยแคร์คนอื่น (จริงๆ สิ่งที่ไบรอันแคร์มีแค่เงินและเซ็กส์) แต่บุคลิกพวกนี้ก็มาจากสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตมา
ไบรอันวัยเด็กโตมากับพ่อที่ชอบดื่มเหล้าและใช้ความรุนแรง ส่วนแม่ก็ไม่เคยสนใจลูกเอาแต่เข้าโบสถ์ ทำให้เขาโตมาแบบขาดความรัก เขาไม่เชื่อหรือศรัทธาในทุกความสัมพันธ์ พยายามไม่ผูกมัดกับใคร เข้าหาคนอื่นเพื่อความสุขชั่วคราว แถมเกลียดคำว่าครอบครัว
คนในครอบครัวไบรอันไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นเกย์ จนวันหนึ่งพ่อที่ไม่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีมาหาเขา และบอกว่าตัวเองกำลังจะตายเพราะมะเร็ง ภายนอกไบรอันทำว่าไม่แคร์ ถามพ่อกลับว่า ‘แล้วมาบอกเขาทำไม?’ แต่เมื่อลองคำนวณเวลาที่เหลืออยู่ของพ่อ ไบรอันตัดสินใจบอกความจริง อย่างน้อยให้พ่อได้รู้ตัวตนที่แท้จริงของเขา และปฎิกิริยาของพ่อก็เป็นแบบที่ไบรอันคิดไว้ เขารับไม่ได้ และด่าว่าคนที่ควรตายไปไม่ใช่เขาแต่เป็นไบรอัน
แต่สุดท้ายแจ็คเดินกลับมาหาไบรอัน เขาไม่ได้พูดถึงเรื่องนั้นอีก แค่เอารูปถ่ายเขากับไบรอันสมัยที่ไบรอันยังเด็กมาให้ ซึ่งเราคิดว่าแจ็คคงอยู่ในจุดที่ไม่ได้สนว่ารับได้หรือรับไม่ได้ เขาแค่อยากใช้เวลาที่เหลือสร้างความทรงจำที่ดีกับลูก
ส่วนแม่ไบรอัน โจแอน เธอก็เหมือนกับแจ็คหลังจากที่รู้ความจริง เธอรับไม่ได้อย่างรุนแรง เพราะการที่ไบรอันเป็นเกย์มันขัดกับสิ่งที่เธอศรัทธา (โจแอนนับถือศาสนาคริสต์) เธอบอกว่า ไบรอันจะต้องตกนรกแน่นอน ลามไปถึงสั่งห้ามไม่ให้น้องสาวไบรอันไปยุ่งเกี่ยวกับเขาอีก พร้อมกับตอกย้ำว่า ‘การผิดเพศ’ เป็นสิ่งที่เลวร้าย
ความสัมพันธ์ของไบรอันกับแม่อาจไม่ได้ดำเนินตามสูตรสำเร็จของซีรีส์ ที่สุดท้ายพวกเขาปรับความเข้าใจกันได้ในที่สุด เพราะขนาดไบรอันป่วยหนักกำลังจะตาย โจแอนยังโทษว่าเป็นเพราะไบรอันเป็นเกย์ พระเจ้าเลยลงโทษเขา เราว่าโจแอนไม่ผิดที่เธอไม่สามารถยอมรับลูกได้ เธอแค่เห็นว่าความเชื่อ ความศรัทธามันสำคัญเกินกว่าที่จะทิ้ง หรือทิ้งลูกอาจจะง่ายกว่า
เราว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ ที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ ทำผิดพลาดได้ มีความเชื่อ ความคิด หรือทัศนคติของตัวเอง แต่จะเป็นไปได้ไหมที่พ่อแม่จะมองข้ามสิ่งพวกนั้น มองให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของลูก พวกเขาไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดตัวเอง แค่อย่าเอามาเป็นตัวผลักไสลูก สิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุดคงเป็นการได้รับการยอมรับจากคนที่เขาเรียกว่า ‘ครอบครัว’