- ในช่วงที่การออกออกจากบ้านไม่ปลอดภัย แต่ในกลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจเดินออกจากบ้าน เพื่อไปช่วยเหลือคนหาเช้ากินค่ำ ช่วยเหลือชุมชนและคนที่เดือดร้อนในสภาวะโควิด-19 แม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่ก็ตาม พวกเขาคือ ‘กลุ่มคลองเตยดีจัง’
- “จริงๆ แล้วคนไทยเห็นนะว่าที่คลองเตยมีปัญหา แต่ ณ วันนั้นสถานการณ์มันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คนก็กลัวและไม่รู้ว่าจะส่งความช่วยเหลือมายังไง รวมถึงการแพร่ภาพว่าชุมชนแออัดเป็นแหล่งติดเชื้อโรคง่าย มันก็ทำให้คนที่อยากจะช่วยเกิดความกลัว ดังนั้นเราคิดว่าการที่เราลุกขึ้นมาเป็น Hub หรือเป็นสถานที่ส่งต่อ เป็นตัวกลางในการช่วยกรองสิ่งของ เราคิดว่ามันน่าจะดี มันก็ช่วยลดความกลัวของคนที่จะให้ แล้วก็คนที่จะรับด้วย” โบว์ – พรเพ็ญ เธียรไพศาล
ภาพ: ทีมคลองเตยดีจัง
อย่างที่เราทราบกันดีว่าสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทำให้เราจำเป็นต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ ในวันที่รัฐไม่อยากให้เราออกจากบ้าน รวมไปถึงข่าวสารต่างๆ ที่ทำให้เราหวาดหวั่นในความปลอดภัยของตัวเอง แต่ในสถานการณ์แบบนี้ กลับมีคนกลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งใจเดินออกจากบ้านเพื่อไปช่วยเหลือคนหาเช้ากินค่ำ ช่วยเหลือชุมชนและคนที่เดือดร้อน แม้ว่าจะไม่ใช่หน้าที่ก็ตาม
หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อของกลุ่ม “คลองเตยดีจัง” กลุ่มที่ออกมาระดมความช่วยเหลือเพื่อชาวคลองเตย ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย และได้รับผลกระทบเต็มๆ จากมาตรการรัฐ
ด้วยรูปแบบการทำงานที่เป็นระบบ และการลงพื้นที่กระจายความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องของอาสาสมัคร เพื่อ 13 ชุมชนในเขตคลองเตย ที่มีผู้อาศัยรวมกว่า 25,000 คน วันนี้เรามาคุยกับ โบว์ – พรเพ็ญ เธียรไพศาล ผู้จัดการโครงการมูลนิธิวายไอวาย (Why I Why) และผู้ประสานงานโครงการคลองเตยดีจังว่า อะไรที่ทำให้พวกเขากล้าที่จะออกไปช่วยผู้อื่น อะไรที่ทำให้พวกเขาเดินออกจากบ้านในวันที่ทั้งสังคมถูกปกคลุมไปด้วยความกลัว
ไม่ใช่แค่ช่วย แต่ต้องช่วยอย่างเป็นระบบ
ต้องเท้าความตั้งแต่เริ่มต้นก่อนว่า ทีมคลองเตยดีจัง กับมูลนิธิวายไอวาย (Why I Why) ซึ่งปกติจะทำงานในเชิงพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนอยู่ในพื้นที่คลองเตยอยู่แล้ว โดยออกแบบกระบวนการและติดตามผลต่างๆ แต่พอเกิดโควิด-19 ทีมคลองเตยดีจังเห็นว่าผู้ปกครองเด็กมีความเดือดร้อน มีความต้องการเรื่องอาหารการกินและความเป็นอยู่มากขึ้น ดังนั้น ถ้าเรายังทำงานแบบเดิม เด็กๆ และเยาวชนก็จะอยู่ไม่ได้ แล้วครอบครัวเด็กก็เดือดร้อนแน่ๆ
เราเลยทำ “โมเดลคลองเตยรอรัฐ” ขึ้นมา ซึ่งทำงานกับองค์กรภาคสังคมในพื้นที่ คือ กลุ่มคลองเตยดีจัง มูลนิธิดวงประทีป และมูลนิธิวายไอวาย (Why I Why) มี 3 แผนหลัก คือ แผนปันกันอิ่ม (แจกถุงยังชีพ ระบบคูปองร้านค้า), แผนควบคุมโรค (เก็บข้อมูลคัดกรอง ตรวจโควิด) และแผนสร้างรายได้ (หางานที่เหมาะสมให้กับคนในชุมชน) ซึ่งโมเดลนี้ เราก็อยากให้พัฒนาเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือพื้นที่อื่นๆ ในอนาคตด้วย
โครงการไม่ได้ทำด้วยทุนพวกเราเองคนเดียว แต่จากทุนของการบริจาค หลักๆ ก็เริ่มต้นมาจาก taejai.com (เทใจ) , Tigerplast และผู้สนับสนุนท่านอื่นๆ ที่ระดมเงินมาเรื่อยๆ
ความหิวมันรอไม่ได้
สิ่งทำให้ทีมเราออกมาช่วยเหลือ คือการที่เราเห็นความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ คือ ณ ตอนนั้นมันไม่มีใครเลยที่ได้เห็นว่าคนในชุมชนเขาเดือดร้อนกันยังไง เดือดร้อนกันแบบไหน เดือดร้อนขนาดที่ว่าข้าว 1 มื้อ ยังต้องพยายามเดินไปถึงวัดสะพานเพื่อรับข้าว เพราะช่วงนั้นวัดสะพานตั้งตัวเป็น Hub หรือ ศูนย์ประสานงานสำหรับการแจกข้าวและสิ่งของต่างๆ ชาวบ้านต้องเดินกัน 2-3 กม. ถึง 5-6 กม. เพื่อไปรับข้าวที่นั่น
ทีนี้ เราและทีมเห็นว่ามันเป็นความเดือดร้อนที่รอไม่ได้ จะรอให้โควิดซาแล้วช่วยก็ไม่ได้ เรารอให้ความกลัวทำงานกับพวกเราแล้วไม่ทำสิ่งนี้ เรารอไม่ได้จริงๆ มันเลยเป็นที่มาของการคุยกันในเชิงลับๆ ว่าใครไม่กลัวโควิดมาช่วยงานหน่อย
จริงๆ ตอนที่รัฐประกาศให้ทุกคนอยู่บ้าน มันไม่สามารถทำได้ทุกคนเพราะมันมีความละเอียดอ่อนในเชิงความจำเป็น อาชีพ และการหยุดพักกระทันหันโดยที่ไม่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า มันปุปปัปมาก ทั้งยังมีการบูลลี่คนที่ออกนอกบ้าน ทั้งที่ในความเป็นจริง คือ คนที่ออกนอกบ้านเขามีความจำเป็น ต้องกินต้องใช้ การที่เขาออกนอกบ้าน ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากออกไปติดเชื้อ
ความกล้าในความกลัว
ความจริงเราก็กลัวโควิดนะ แต่ไม่ได้กลัวแบบแตกตื่น ทำงานไปก็ระวังตัวเองไป พกเจลแอลกอฮอล์ ใส่หน้ากาก ล้างมือ อาบน้ำ คือปฏิบัติตัวกันดี ซึ่งผลตรวจตอนนี้ (ที่ตรวจพร้อมชาวบ้าน) ทีมก็ไม่มีคนติดเชื้อด้วย การที่ผลตรวจบอกว่าไม่มีเชื้อ มันก็พิสูจน์ประมาณนึงว่า เราก็ปลอดภัยนะ
กับครอบครัว เราก็อาจจะโดนเพ่งเล็งนิดหน่อย แต่ก็พยายามสื่อสารกับที่บ้าน เคยมีช่วงที่แอบไปทำด้วย แล้วปรากฏว่าเขาเห็นเราในภาพข่าว ก็เลยโดนที่บ้านถามเรื่องนี้ แต่โดยรวมแล้วก็โอเคค่ะ พอสื่อสารกันเข้าใจปุ๊บมันก็ไม่เกิดประเด็นอะไรเยอะ
ทำดี ไม่ใช่ไม่มีอุปสรรค
ปัญหาอุปสรรคอันนึงคือ หลายชุมชนที่อยู่ในเขตคลองเตยเป็นที่สนใจของคนที่จะเอาของมาบริจาค มันก็มีปัญหาเรื่องของการติดต่อมาแล้วก็หาย หรือ ติดต่อมาแล้วจะเอาวันนี้ ลงวันนี้ ซึ่งมันก็มีผลเพราะตอนนี้การจะแจกข้าว ต้องทำหนังสือไปถึงสำนักงานเขตเพื่อให้เขาทราบข้อมูล มันก็จะรวนกันนิดหน่อย แต่เราก็พยายามแก้ปัญหากันไป
เราแค่เป็นตัวกลาง ไม่ใช่แม่พระ
จริงๆ แล้วการลุกขึ้นมาช่วยเขา มันไม่ได้ทำให้เรามองว่าตัวเราสูงส่ง หรือว่าเราเป็นผู้ให้ หรือเป็นแม่พระอะไรขนาดนั้น เรามองว่า เราเป็นเหมือนตัวกลางในการส่งต่อ ในการเชื่อมมากกว่า เราคิดว่ามันสำคัญนะ เพราะว่าจริงๆ แล้วคนไทยเห็นนะว่าที่คลองเตยมีปัญหา
แต่ ณ วันนั้นสถานการณ์มันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คนก็กลัวและก็ไม่รู้ว่าจะส่งความช่วยเหลือมายังไง รวมถึงการแพร่ภาพว่าชุมชนแออัดเป็นแหล่งติดเชื้อโรคง่าย มันก็ทำให้คนที่อยากจะช่วยเกิดความกลัว ดังนั้นเราคิดว่าการที่เราลุกขึ้นมาเป็น Hub หรือเป็นสถานที่ส่งต่อ เป็นตัวกลางในการช่วยกรองสิ่งของ เราคิดว่ามันน่าจะดี มันก็ช่วยลดความกลัวของคนที่จะให้ แล้วก็คนที่จะรับด้วย
ทุกคนช่วยได้ในแบบของตัวเอง
เราไม่ได้อยาก force หรือบีบบังคับว่าทุกคนควรจะลุกขึ้นมาทำแบบนี้ ทุกคนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจ เราคิดว่าจริงๆ แล้วคนที่ไม่ได้ลุกขึ้นมา action เยอะๆ เขาก็กำลังพยายามหาทางช่วยอยู่เหมือนกัน เช่น การบริจาคเงิน การพยายามเย็บหน้ากากส่งมา หรือการซื้อของส่งมา เราคิดว่ามันไม่น่าจะไป force ว่าใครควรลุกขึ้นมาทำมากกว่าใคร น่าจะเป็นเรื่องของการมองเห็นว่า คนเหล่านั้นก็กำลังทำอยู่ ในรูปแบบหรือวิธีการที่เขาสามารถทำได้ เราคิดแบบนี้ เราต้องไม่กล่าวโทษคนที่ไม่ได้ออกมาว่าการทำแบบนี้เท่ากับเป็นคนไม่ดี เพราะเรารู้สึกว่าต่างคนต่างวาระ เขาก็มีวิธีการช่วยเหลือของเขาได้ ดังนั้นก็อย่าไปว่าเขา มันคือการทำความเข้าใจ
ไม่ใช่แค่ให้ของ ต้องให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วย
คือทีมงานแต่ละคนก็มีหน้างานประจำของเขา แต่เมื่อมีวิกฤต เขาก็ปรับตัวและมาช่วย ที่เราชอบที่สุดคือทีมเราไม่ได้มองว่าการเป็นผู้ให้แล้วสูงส่ง เรามองว่าการให้ของเรามันคือ การเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าๆ กัน ผู้รับเขามีสิทธิ์ที่จะรู้สึก เขามีสิทธิ์ที่จะเดือดร้อน เขามีสิทธิ์ที่จะโวยวายว่าเขาไม่ได้ แต่ว่าทีมก็ต้องทำงานไปบนความเดือดร้อนนี้เช่นกัน ถามว่าบ่นกันไหม ก็บ่น แต่ทีมไม่เคยรู้สึกว่าจะหยุดทำแม้แต่วินาทีเดียว
คนในชุมชนบางทีก็ดีบ้าง บางทีเราก็โดนด่าบ้าง แต่ว่ามันเป็นธรรมดาของมนุษย์ มันก็มีคนที่ไม่ได้รู้สึกโอเคกับทีมพวกเรา มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่ไม่ว่าเขาจะโอเคหรือไม่โอเคกับเรา เราก็ต้องทำให้เขาเท่ากัน ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะว่าความซับซ้อนของมนุษย์มันมีเยอะ แต่การดูแลเรื่องความเดือดร้อนมันต้องมาก่อน ต่อให้เขาด่า เราก็เชื่อว่าเขาก็เดือดร้อน เขาอาจจะมีแรงผลักดันว่าเขามองเห็นอะไรบางอย่าง เขาเคยเจออะไรมา เขาก็เลยเลือกที่จะด่า แต่เขาก็เดือดร้อนไม่ต่างกัน
ส่วนในกลุ่มอาสาสมัคร เราเห็นเลยว่าวันที่ชวนอาสามาลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลชาวบ้าน หรือเก็บข้อมูลโควิด ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญลงมา ถามว่าเขากลัวไหม เขากลัว แต่เขาตั้งใจทำกับเรามากๆ ประทับใจตรงนี้
ไม่ได้อยากทำแทนรัฐ แต่ต้องทำเพราะจำเป็น
เรารู้สึกว่า รัฐไม่เคยเห็นคนเป็นคนเลย เราไม่เคยเห็นรัฐลงพื้นที่ เพื่อสำรวจความเดือดร้อนอะไรอย่างนี้เลย เอาแต่อยู่บนหอคอย บอกชาวบ้านว่า ถ้าอยากได้เงิน 5,000 ก็ลงทะเบียนนะ ในความเป็นจริงคือ เขาเห็นไหมว่า พื้นที่เขาไม่ได้สามารถลงทะเบียนได้ขนาดนั้น หรือการเข้าถึงสิทธิ์ กระทั่งการให้ถุงยังชีพ รัฐก็ใช้วิธีการคุยกับผู้นำชุมชนแล้วก็แจก ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมีบ้านเลขที่ที่เร้นลับ บ้านที่ไม่มีบ้านเลขที่ หรือกระทั่งคนเดือดร้อนที่เป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเขาเหล่านั้นไม่เคยได้รับการช่วยเหลือเลย ทั้งที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือในช่วงโควิดแบบนี้ เรารู้สึกว่ารัฐไร้รัก ไร้ความรัก ไร้ความมองเห็นคนเป็นคน
ถ้ารัฐไม่รัก ก็ไม่ต้องรอ
เราคิดว่าเราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในที่อื่นเห็นว่า การรอรัฐมันก็อาจจะช้า แต่ว่าถ้าเราช่วยกัน หรือมีองค์ความรู้แล้วลุกขึ้นมาทำ มันน่าจะช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนคนได้เยอะมากๆ เรามองว่าคนตัวเล็กสำคัญ ยิ่งคนในพื้นที่ก็ยิ่งสำคัญ เพราะพอชาวบ้านเห็นเราทำ เขาก็ทำกับเรา ลุกขึ้นมาทำ ลุกขึ้นมาช่วยแพ็คของ หรือเดินไปกับเรา มันก็ไม่อ้างว้างไม่ทำให้เรารู้สึกว่าเราทำงานคนเดีย
ถึงไม่ใช่หน้าที่ แต่ก็หยุดไม่ได้
จริงๆ ก็จะโดนดราม่าบ่อยๆ จากคนที่เขาห่วงใยเราว่าทำงานคลองเตย ทำไปทำไม เพราะเขารู้สึกว่าในช่วงโควิด มันไม่ควรจะทำอะไรเลย ควรจะอยู่บ้านเพื่อระมัดระวังตัวเองจากเชื้อ เราเข้าใจความเป็นห่วงเขานะ แต่เราก็บอกเขาว่า “เฮ้ย เราหยุดทำไม่ได้จริงๆ”
เตรียมตัวและหัวใจ การทำอาสาในช่วงวิกฤต
ถ้าจะให้แนะนำ คนที่อยากทำอาสาในช่วงนี้ คือ
- หนึ่ง ต้องเช็คสภาวะตัวเราก่อน ว่าเราพร้อมที่จะไปทำ ออกไปนอกพื้นที่ไหม มีความกลัวมีความระแวงหรือเปล่า
- สอง คือ ดูแลตัวเอง กินอาหาร นอนพักให้เป็นเวลา ใส่หน้ากาก ล้างมือพกเจลแอลกอฮอล์ แล้วก็อาบน้ำเมื่อมาถึงที่บ้าน แยกชุดแยกของ
- สาม คือ ดูพื้นที่ตรงนั้นว่ามีใครทำอะไรบ้างแล้ว แล้วเราจะเข้าไปทำกับเขาได้ยังไงบ้าง ลองประเมินความสามารถของเรา
- สี่ อย่ามองว่าการที่เราออกไปช่วยเหลือคน มันเท่ากับว่าเราสูงส่งกว่าพวกเขา หรือว่าเราต้องเป็นผู้ให้ แล้วจะต้องมีภาพลักษณ์ที่ดูดีตลอดเวลา มันมีทั้งแรงกระแทกที่ได้รับมาในช่วงความเดือดร้อน ยิ่งเดือดร้อนเท่าไหร่ คนก็จะยิ่งกระแทกเยอะ เพราะมันเป็นความต้องการข้างใน ดังนั้นก็อย่ามองว่าเราต้องได้ภาพที่ดีตลอด
สิ่งที่ต้องเตรียมตัวรับมือก็คือความวุ่นวาย เพราะคนอยู่หน้างานมันไม่สามารถถ่ายทอดงานทีเดียวได้จบ แต่ว่าสิ่งสำคัญ คือ ต้องปรับตัว ยืดหยุ่นและลื่นไหล เพราะสิ่งที่เจอหน้างาน คือสภาพพื้นที่ สภาพคนในชุมชนหรือความเดือดร้อนที่แต่ละครอบครัวต้องการไม่เท่ากัน คือต้องอธิบายเขาแล้วก็ปรับตัว ถ้าให้ได้ก็ให้
สุดท้ายนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่อยากจะทำอาสาทุกคน ผ่านพ้นทุกอุปสรรคในการทำงานไปได้ด้วยดีนะ
สิ่งที่กลุ่มคลองเตยได้บอกเล่าในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่าสิ่งสำคัญในการทำงานช่วยเหลือผู้อื่น คือ การมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวทุกคนอย่างเท่าเทียม เพราะเมื่อเรามองเห็น เราก็จะเข้าใจความเจ็บปวดของเพื่อนร่วมสังคม และยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในสิ่งที่พอจะทำได้
อาจไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แค่ความหวังดีเล็กๆ หรือความเห็นอกเห็นใจเล็กๆ ที่ถูกเปลี่ยนเป็นการกระทำ เพื่อประคับประคองกันและกันในวันที่โหดร้าย เชื่อว่าเราทั้งสังคมจะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน