- การใช้สมองเพียงข้างใดข้างหนึ่งเหมือนกับการว่ายน้ำด้วยมือและแขนข้างเดียวที่อาจช่วยพยุงตัวไปได้ แต่การใช้มือและแขนทั้งสองข้างว่ายพาตัวเองไปจนถึงเส้นชัยย่อมง่ายกว่าและสำเร็จได้มากกว่า-การเรียนรู้ก็เช่นกัน
- การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้ดีกว่า หากกระบวนการเรียนรู้นั้นไม่เน้นหนักไปที่การทำงานของสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ให้ทั้งสองส่วนทำงานร่วมกันอย่างสมดุล
- การเปิดประตู ‘ความรู้สึก’ เป็นเสมือนการเปิดประตูการเรียนรู้ ที่ช่วยกระตุ้นผัสสะต่างๆ ให้ตื่นตัว ซึ่งจะแสดงออกให้เห็นผ่านความรู้สึกอยากเรียนอยากรู้ ตื่นเต้นไปกับการเรียน ไม่ใช่แค่มาเรียนไปวันๆ
เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ เรื่องที่มักถูกหยิบยกมาอธิบายควบคู่ไปด้วยอยู่บ่อยครั้ง คือ เรื่องการทำงานของสมอง โดยเฉพาะการทำงานของสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวาที่แสดงให้เห็นบทบาทหลักของสมองแต่ละส่วน
โรเจอร์ สเปอร์รี (Roger Sperry) นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา (Neurobiologist) เจ้าของรางวัลโนเบล ได้ศึกษาระบบโครงสร้างการทำงานของสมอง อธิบายถึงการทำงานที่แตกต่างกันของสมองทั้งสองซีกไว้ว่า สมองซีกซ้ายทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องการตัดสินใจ การใช้เหตุผล การคิดวิเคราะห์ (เรื่องใดเรื่องหนึ่ง) ทักษะการคิดคำนวณ ทักษะด้านวิทยาศาตร์ รวมไปถึงเรื่องการใช้ภาษา การเขียน การอ่าน การพูด และการควบคุมการทำงานของมือขวา
ส่วนสมองซีกขวามักถูกเปรียบเทียบถึงการทำงานเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ การคิดสังเคราะห์ (สร้างสิ่งใหม่) การคิดหลายๆ เรื่องพร้อมๆ กันโดยแต่ละเรื่องอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย การเห็นในเชิงสามมิติ (กว้าง ยาว ลึก) ในภาพรวมการทำงานของสมองส่วนนี้เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก เช่น ความรัก ความเมตตา สัญชาตญาณ ลางสังหรณ์ต่างๆ รวมถึงความรู้สึกดื่มด่ำกับศิลปะ ความมีสุนทรียะด้านดนตรี เพลง การใช้จินตนาการในการดำเนินชีวิต และควบคุมการทำงานของมือซ้าย
อย่างไรก็ตาม แม้นักวิทยาศาสตร์สามารถจำแนกการทำงานของสมองทั้งสองส่วนได้ แต่ในความเป็นจริงนั้นกระบวนการคิดของสมองทั้งสองซีกจะทำงานเชื่อมโยงประสานกัน ด้วยเครือข่ายที่สลับซับซ้อน เรียกว่า คอร์ปัส คอลโลซัม (Corpus Collosum) ความเข้าใจที่ว่าสมองทั้งสองส่วนทำหน้าที่แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงจึงเป็นความเข้าใจผิด
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือ การใช้สมองเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็เหมือนกับการว่ายน้ำด้วยมือและแขนข้างเดียวที่อาจช่วยพยุงตัวไปได้ แต่การใช้มือและแขนทั้งสองข้างว่ายพาตัวเองไปจนถึงเส้นชัยย่อมง่ายกว่าและประสบความสำเร็จได้มากกว่า
เช่นเดียวกับเรื่องของการเรียนรู้ที่มักถูกเชื่อมโยงให้นึกถึงการคิดและการใช้เหตุผลเพียงอย่างเดียว (สมองซีกซ้าย) ทั้งที่แท้จริงแล้ว การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้ดีกว่าหากกระบวนการเรียนรู้นั้นไม่เน้นหนักไปที่การทำงานของสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ให้ทั้งสองส่วนทำงานร่วมกันอย่างสมดุล องค์ประกอบของอารมณ์ความรู้สึก (สมองซีกขวา) จึงควรถูกหยิบยกเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการเรียนรู้ด้วย
ตัวอย่างผลงานของบุคคลในประวัติศาสตร์โลกที่เห็นได้อย่างชัดเจน ได้แก่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) และ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
ไอน์สไตน์ เป็นที่รู้จักในฐานะนักวิทยาศาสตร์และนักคิดจอมอัจฉริยะที่ดูเหมือนต้องใช้งานสมองซีกซ้ายอย่างหนักหน่วง แต่นอกจากการคิดวิเคราะห์ที่ปราดเปรื่องแล้ว ไอน์สไตน์ยังมีความสามารถด้านดนตรี (ไวโอลิน) ศิลปะ รวมถึงชอบคิดจินตนาการถึงเรื่องที่ยังไม่เคยมีอยู่จริง แล้วคิดต่อจนสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เช่น ทฤษฎีสัมพันธภาพ เป็นต้น
ส่วนดาวินชี ศิลปินชาวอิตาเลียนที่มีชื่อเสียงในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือ เรเนส์ซองส์ (Renaissance) เขาเป็นทั้งสถาปนิก นักกายวิภาคศาสตร์ วิศวกร นักวาดภาพ และนักดนตรี ภาพวาดของดาวินชีเป็นการผสมผสานทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน จากการสังเกตร่างกายมนุษย์และธรรมชาติ
อันโตนิโอ เปาลุชชี (Antonio Paoluci) หนึ่งในนักประวัติศาสตร์ศิลปะอิตาลีและของโลก เขียนคำอธิบายประกอบนิทรรศการเลโอนาร์โด โอเปรา ออมเนีย (Leonardo Opera Omnia) ที่ริเวอร์ซิตี แบงค็อค (River City Bangkok) เนื่องในโอกาสรำลึกถึง 500 ปีหลังการเสียชีวิตของ เลโอนาร์โด ดา วินชี ว่า
“แท้จริงแล้วสำหรับเลโอนาร์โด งานจิตรกรรมเป็นการศึกษากรรมวิธีมากกว่าการสิ้นสุดกระบวนการสร้าง การเขียนภาพเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่ความรู้ รวมถึงการศึกษาวิทยาศาสตร์ และการทดลองตามแนวทางอวองการ์ด
“ดังนั้นงานจิตรกรรมจึงเป็นกิจกรรมของผู้มีความรู้ที่สูงส่งที่มุ่งไปสู่การทำความเข้าใจผ่านการลอกเลียนแบบและตีความธรรมชาติ ซึ่งเป็นกลไกอันยิ่งใหญ่ของโลกใบนี้ เป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าใจผลงานของเลโอนาร์โดโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจว่าผลงานของเขาเกี่ยวข้องกับการสังเกตทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ การบินของนก กลไกของสิ่งต่างๆ การเคลื่อนไหวของสายน้ำ สายลมและทะเล”
ดังนั้น ความอัจฉริยะจึงไม่ใช่การทำงานของสมองซีกใดซีกหนึ่ง แต่เกิดจากการให้สมองทั้งสองซีกได้รับการฝึกฝน จนสามารถทำงานประสานและส่งเสริมกันได้อย่างยอดเยี่ยม
ความรู้สึกเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ได้อย่างไร?
การเปิดประตู ‘ความรู้สึก’ เป็นเสมือนการเปิดประตูการเรียนรู้ ที่ช่วยกระตุ้นผัสสะ (sense) ต่างๆ ให้ตื่นตัว ไม่ว่าจะเป็น ตา หู จมูก ปาก ซึ่งจะแสดงออกให้เห็นผ่านความรู้สึกอยากเรียนอยากรู้ สนใจ สนุก ตื่นเต้นไปกับการเรียน พร้อมที่จะเรียนรู้จนทำให้อยากมาโรงเรียนทุกวัน ไม่ใช่แค่มาเรียนไปวันๆ
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้รับผิดชอบโครงการ Active Citizen หรือ พลังพลเมืองพลังเยาวชน ทั้งหมด 9 จังหวัด โครงการที่ชวนคนในพื้นที่ชุมชนมาจัดและออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ และในฐานะนักออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้กว่า 15 ปี กล่าวถึง ‘การสร้างการเรียนรู้’ ในโลกสมัยใหม่ว่า การศึกษาในศตวรรษที่ 21 เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดและตรงไปตรงมาที่สุด คือการเรียนรู้จาก ‘ประสบการณ์’ ที่ต้องอาศัยการเปิดรับสัมผัส หรือ sensing
“ตาสำคัญมาก เรามองเห็นอย่างตรงไปตรงมาก็จริง แต่เวลาที่ตาไม่เปิด ประสบการณ์คนเราจะไม่เปิด หรือไม่ก็จะเห็นแต่สิ่งที่ตาเห็นหรือสิ่งที่อยากเห็นเท่านั้น เช่น ถ้าเราตั้งประเด็นเรื่องขยะ เราลงพื้นที่ปากบารา จังหวัดสตูล เราเห็นแต่ขยะ แต่ถ้าเราเปิดสัมผัสกว้างๆ เราจะเห็นหลายอย่าง เราอาจเห็นคนคนหนึ่งเดินมา ในมือเขาถือลูกชิ้นปิ้ง เขากินอย่างเอร็ดอร่อย เสร็จแล้วเอาถุงนั้นทิ้งข้างทาง ถ้าเราเปิดผัสสะทั้งหมดเราจะไม่เห็นแต่ตัวขยะแต่จะเห็นสายพานของมัน เห็น ‘คน’ ที่ทิ้งมัน กระบวนการคิดที่มาจากการเปิดรับสัมผัสทำให้เราเกิดกระบวนการคิดแบบรื่นรมย์ คิดแบบกว้างๆ และคิดแบบเชื่อมโยงด้วยซ้ำว่าผลลัพธ์ของสิ่งหนึ่งมันมาจากอะไรและทำให้ภาพรวมในพื้นที่ นำไปสู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้
การมองเห็น การได้กลิ่น การสัมผัสจริง ทั้งหมดจะเกิดเป็นประสบการณ์บางอย่างเข้ามาทำงานสองส่วนคือ ใจ กับ สมอง ร่างกายของเราจะเลือกได้เองว่าเรากระทบใจเรื่องอะไร เป็นประเด็นที่เราเกิดความเชื่อมโยงระหว่างโลกภายนอก โลกภายใน ความทรงจำวัยเด็ก ซึ่งสามารถนำไปสู่การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่ใช้หัวคิดแต่ใช้ใจสัมผัส แล้วเกิดความรู้สึกร่วมด้วย”
การเกิดขึ้นของ play passion และ purpose นี้ จะทำให้เกิดการเรียนรู้แบบกัดไม่ปล่อยโดยไม่ต้องมีใครบังคับให้ทำ เรียกว่า ยอมทุ่มเท ล้มลุกคลุกคลานไปกับมันได้ ห้ามเท่าไรก็ไม่หยุด
จากคำอธิบายนี้ขยายภาพให้เห็นว่า ความอินหรือการเกิดความรู้สึกร่วมกับเรื่องๆ หนึ่งจากการลงมือทำ (play) ทำให้ความรู้สึกเข้าไปซ่อนตัวกลมกลืนกับประสบการณ์ที่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง จนเกิดความอยากเข้าไปค้นคว้าต่อด้วยความสงสัย แรงขับที่เกิดขึ้นนี้เป็นความหลงใหล (passion) ที่มีเป้าหมาย (purpose) ชัดเจนว่า เราต้องการทำสิ่งนี้เพื่ออะไร
ใน ‘ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์’ หรือ Experiential Learning Theory (ELT) (อ่านบทความเรื่อง ELT คลิก) โดย ดร.เดวิด เอ. โคล์บ (Dr.David A. Kolb) นักทฤษฎีการศึกษาการเรียนรู้จากประสบการณ์ (Experiential Education) ก็ได้กล่าวถึง ความรู้สึกในการเรียนรู้ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการแรกในวงจรการเรียนรู้ (learning cycle) ที่เรียกว่า Concrete Experience หรือ ประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม
โคล์บบอกว่า คนเราเชื่อมต่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วย ‘ความรู้สึก’ เมื่อเทียบกับการเรียนรู้ ขั้นตอนนี้เริ่มต้นจากการที่ผู้เรียนได้มีส่วมร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ภาคปฏิบัติและเป็นการทำความรู้จักกับข้อมูลหรือความรู้ใหม่ แล้วเกิดความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรก การสร้างให้เกิดความรู้สึกประทับใจครั้งแรกนี้เองเป็นกุญแจของการเรียนรู้
โดยโคล์บบอกว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้ได้ คือ การสร้างการเรียนรู้ด้วย STEAM – Science, Technology, Engineering, Arts และ Mathematics ที่ผนวกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ และคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเรียนรู้ STEAM โดยขาดการนำศิลปะเข้ามาบูรณาการควบคู่ไปด้วย เหตุผลอาจเป็นเพราะเราตีความศิลปะเพียงผิวเผิน โดยมองศิลปะเป็นแค่วิธีการ เช่น การวาดเขียน การระบายสี หรือสิ่งที่เรียนในวิชาศิลปะ ทั้งที่กระบวนการทำงานของศิลปะมีความหมายและมีความลึกซึ้งมากกว่านั้น
ศิลปะเปิดสัมผัสการเรียนรู้
เมื่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพสัมพันธ์กับความรู้สึก การเรียนรู้ผ่าน ‘ศิลปะ’ จึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะพาผู้เรียนไปสัมผัสกับความรู้สึกของตัวเอง และกระตุ้นความรู้สึกบางอย่างที่หลับใหลอยู่ได้
เราเห็นตัวอย่างการนำศิลปะมาใช้ในการเรียนการสอน อย่างชัดเจนในแนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf) ริเริ่มโดยรูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) นักปรัชญาผู้บุกเบิกการศึกษาชาวออสเตรีย สไตเนอร์กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ตั้งแต่ราวร้อยปีมาแล้ว
การสอนแบบวอลดอร์ฟเน้นการพัฒนาจินตนาการผ่านการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์และศิลปะ สไตเนอร์ให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นในการลงมือทำ (will) และ ความรู้สึก (feeling) ก่อน แล้วประสบการณ์จะค่อยๆ เปลี่ยนรูปกลายเป็นความคิด (thinking) ที่สามารถแตกแขนงออกไปได้อย่างหลากหลายในที่สุด ขณะที่การศึกษากระแสหลักมุ่งเน้นไปที่การฝึกให้คิดและจำ แต่กลับไม่สามารถพลิกแพลงความรู้ได้
มีงานวิจัยด้านสมองที่น่าสนใจ ผลการศึกษาจากการใช้เครื่องกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า* (Transcranial Magnetic Stimulation: TMS) แสดงให้เห็นการทำงานของสมองมนุษย์ขณะดูงานศิลปะ ปรากฏว่าสมองมนุษย์ทำงานตอบสนองต่องานศิลปะที่มองเห็น แล้วสามารถสื่อสารออกมาผ่านพฤติกรรมหรือลักษณะทางกายภาพบางอย่าง
การศึกษาหนึ่งทดลองโดยให้ผู้ทดสอบดูภาพ ‘The Creation of Adam’ ที่วาดบนเพดานโบสถ์ซิสตีน (Sistine Chapel) ของ ไมเคิล แองเจโล (Michelangelo) ณ นครรัฐวาติกัน
ในภาพข้อมือของอดัมโค้งงอผิดรูป นักวิจัยค้นพบว่าภาพดังกล่าวนอกจากส่งผลให้เกิดความรู้สึกอึดอัดเมื่อมองภาพแล้ว ยังพบปฏิกิริยาในสมองที่ส่งผลโดยตรงต่อการควบคุมการทำงานของข้อมือของผู้ที่มองภาพแต่ละคนด้วย
ส่วนผลที่เกิดขึ้นขณะลงมือวาดภาพ ระบายสี หรือทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเต้น การร้อง การเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ การทำขนมและการทำอาหาร ด้วยตัวเอง คือ ความรู้สึกสนุก ความรื่นรมย์ และความสุข
เดวิด เอ. โซซา (David A.Sousa) ที่ปรึกษาด้านการศึกษาระหว่างประเทศ เจ้าของหนังสือ ‘How the Brain Learns’ และบทความ ‘How the Arts Develop the Young Brain’ กล่าวว่า
การศึกษาที่ได้ผลดีมักเกิดขึ้นในโรงเรียนที่นำศิลปะเข้ามาผสมผสานเข้ากับหลักสูตรแกนกลาง ผลลัพธ์ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ นักเรียนมีความรู้สึกร่วมกับการเรียนในห้องเรียน มีความขยันหมั่นเพียร รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ครูสอนดนตรีและศิลปะที่เป็นวิชารอง กลับมีบทบาทสำคัญในแทบทุกวิชา เพราะดนตรีหรือศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในทุกวิชาเรียน
นอกจากนี้ เพื่อเปิดสัมผัสและความรู้สึกแห่งการเรียนรู้ให้มีความเชื่อมโยงกับตัวผู้เรียนมากขึ้น โรงเรียนสามารถเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม แล้วเปิดโอกาสให้ครูแต่ละชั้นเรียนทำงานร่วมกัน
หากต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตที่ด่ำดิ่งไปกับอารมณ์มากเกินไปจนเพ้อฝัน และไม่อยากจมปลักอยู่กับชีวิตที่แห้งแล้ง จืดชืดไร้วิญญาณเพราะมัวแต่เครียดจนเกินพอดี เมื่อได้ทำความเข้าใจกับวิธีการทำงานของสมองแล้ว เชื่อว่าทุกคนคงเห็นความสำคัญของการพัฒนาสมองทั้งสองซีกอย่างสมดุล ไม่หมกมุ่นหรือเดินต่อบนวิถีชีวิตที่มุ่งเน้นการใช้สมองซีกขวาหรือซีกซ้ายอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว
เพราะหากเป็นอย่างนั้นสมองคงไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เราควรหันมาสร้างสมดุลของวิถีการเรียนรู้ที่นำมาสู่สมดุลชีวิต ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก ท้าทายและชวนค้นหา อนุญาตให้ชีวิตได้สัมผัสกับเรื่องราวที่ต้องใช้ทั้งเหตุผลและอารมณ์คละเคล้ากันไปในทุกๆ วัน…
ตามแนวคิดมนุษยปรัชญา ความมุ่งมั่นในการลงมือทำ (will) ในที่นี้เชื่อมโยงกับมือ (hands) ส่วนความรู้สึก (feeling) เชื่อมโยงกับใจ (heart) และ ความคิด (thinking) เชื่อมโยงกับสมอง/หัว (head) |
หมายเหตุ1 : ตามแนวคิดมนุษยปรัชญา ความมุ่งมั่นในการลงมือทำ (will) ในที่นี้เชื่อมโยงกับมือ (hands) ส่วนความรู้สึก (feeling) เชื่อมโยงกับใจ (heart) และ ความคิด (thinking) เชื่อมโยงกับสมอง/หัว (head)
หมายเหตุ2: เครื่องกระตุ้นสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial Magnetic Stimulation: TMS) ทำงานคล้ายกับเครื่อง MRI สามารถทะลุเข้าผ่านอวัยวะต่างๆ เข้าไปได้ลึกประมาณ 1-3 เซนติเมตร เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ โดยไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ