- 7 เรื่องในโลกของการศึกษา ตลอดปี 2018 ที่รวบรวมโดยเว็บไซต์ Edutopia
- งานวิจัยที่น่าสนใจของปีนี้มีทั้งเรื่องเทคโนโลยี แนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของเด็ก และยังมีงานศึกษาที่เกี่ยวกับครูอีกด้วย
- หลายๆ เรื่องสามารถประยุกต์ใช้ได้ในห้องเรียน เช่นการตกแต่งห้องเรียน วิธีที่ทำให้นักเรียนจำได้ง่ายขึ้น เป็นต้น
เว็บไซต์ Edutopia ได้รวบรวมงานวิจัยด้านการศึกษาที่น่าสนใจและกระตุกความคิดที่ผ่านมาในปี 2018 โดยครอบคลุมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาระหว่างสีผิว การกลับไปสำรวจแนวคิดยอดนิยมอย่าง รูปแบบการเรียนรู้ แบบทดสอบมาร์ชเมลโลว์ และวิธีคิดแบบเติบโต เช่นเดียวกับการวิจัยในโลกฝั่งครูที่ชี้ให้เห็นว่า การเน้นด้านวิชาการอย่างเดียวไม่เพียงพอเท่ากับการคิดถึงความเป็นอยู่ของนักเรียนและครูด้วย
มาดูกันว่า ปี 2018 นี้มีอะไรในโลกของการศึกษาบ้าง
1. Back to basic ไอเดียห้องเรียนง่ายๆ แต่ได้ประสิทธิภาพ
แค่เปลี่ยนแปลงห้องเรียนเล็กน้อยกลับให้ประโยชน์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ มีผลการศึกษาพบว่า การต้อนรับนักเรียนตั้งแต่ประตูห้องเรียนส่งผลดีทั้งด้านจิตใจและวิชาการ ทำให้เด็กๆ เข้าเรียนเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ แถมพฤติกรรมก่อกวนในห้องยังลดลงอีก 9 เปอร์เซ็นต์
อีกการศึกษาหนึ่งยังพบว่า ห้องเรียนที่ตกแต่งผนังแบบจัดเต็มจะทำให้นักเรียนสนใจและจดจำได้น้อยลง ส่วนห้องเรียนที่ผสมผสานสื่อการเรียนการสอน โปสเตอร์สร้างแรงบันดาลใจ และผลงานของนักเรียนจะสร้างความรู้สึกอบอุ่นและมีชีวิตชีวามากขึ้น
2. เทคโนโลยีแอบดูสมองนักเรียน
นักวิจัยให้ใช้เทคโนโลยีตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ทำให้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของเด็กขณะเรียนได้ผ่านเครื่อง fMRI (functional Magnetic Resonance Imaging)
fMRI เป็นการใช้เทคโนโลยี MRI วัดระดับการทำงานและการเปลี่ยนแปลงของสมอง เพื่อพิสูจน์ว่ายิ่งทักษะการอ่านแข็งแรง พื้นที่ต่างๆ ในสมองจะปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และสามารถพัฒนาทักษะได้จากการอ่านออกเสียง หรือฟังคนอื่นอ่านขณะมองดูตัวอักษรบนหน้าหนังสือ
นอกจากนี้ ยังใช้ MRI ศึกษาเครือข่ายสมอง (brain networks) ที่เกี่ยวข้องกับบันทึกการประมวลผลในเด็กก่อนวัยเรียนขณะที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง ทั้งหนังสือที่มีและไม่มีภาพประกอบ รวมถึงให้เด็กๆ ดูวิดีโอแอนิเมชั่น ก่อนดูความเชื่อมโยงของเครือข่ายสมอง ผลคือหนังสือภาพชนะขาดลอย
3. ตั้งคำถามกับงานวิจัยยอดนิยม
นักวิจัยหลายคนเริ่มกลับไปตั้งคำถามกับผลการศึกษาสุดฮิตอย่าง รูปแบบการเรียนรู้ (learning styles) กรอบความคิดแบบเติบโต (growth mindset) และแบบทดสอบมาร์ชเมลโลว์
สำหรับเรื่องรูปแบบการเรียนรู้ นักวิจัยไม่พบประโยชน์ใดจากการจับคู่รูปแบบการเรียนตามความรับรู้ของเด็กๆ ครูจึงควรหันมาใช้วิธีที่เชื่อถือได้จริงและได้รับการพิสูจน์ชัดเจนแล้ว เช่น การผสมผสานเนื้อหากับภาพ ซึ่งได้ผลดีกว่าการใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
มีผลการศึกษากว่า 150 ชิ้นที่ตั้งคำถามกับแนวคิดของ แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) เรื่องวิธีคิดแบบเติบโต (growth mindset) ที่อธิบายว่าสติปัญญาของนักเรียน สามารถกำหนดความสำเร็จในอนาคตได้ ปีนี้นักวิจัยพบว่า วิธีคิดแบบเติบโตกลับมีผลต่อความสำเร็จของนักเรียนแค่เล็กน้อย แม้ระดับรายได้และผลด้านวิชาการจะบอกถึงการพัฒนา แต่แนวทางนี้อาจช่วยคนได้ไม่กี่กลุ่มเท่านั้น
แม้แบบทดสอบมาร์ชเมลโลว์ของ วอลเตอร์ มิชเชล (Walter Mischel) ทดสอบความสามารถในการควบคุมตัวเอง (ที่จะไม่กินมาร์ชเมลโลว์ตรงหน้าของเด็กๆ) ซึ่งจะทำให้เห็นความสำคัญของทักษะด้านพฤติกรรม (non-cognitive skills) มากขึ้น แต่ผลวิจัยใหม่กลับพบช่องโหว่ในการทดลองนี้คือเด็กที่เข้าร่วมมักมาจากครอบครัวมีฐานะดี และที่ทนได้มากกว่าไม่ใช่เพราะการควบคุมตัวเองแต่รู้ที่บ้านมีมาร์ชเมลโลว์รออยู่เต็มโหล
4. บทลงโทษที่เหลื่อมล้ำระหว่างสีผิว
ผลการวิจัยในปีนี้พบว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของเด็กชายผิวดำที่เกิดในปี 1998-2000 และเข้าเรียนในหลายเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกาถูกพักการเรียนหรือไล่ออกตอนอายุ 9 ขวบ แต่เด็กชายผิวขาวที่ไม่มีเชื้อสายฮิสแปนิคหรือเชื้อสายอื่นกลับมีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การวิจัยยังพบว่า ความแตกต่างนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านระเบียบวิจัยของโรงเรียนและวิธีคิดของครูมากกว่าความประพฤติของนักเรียน และแนวคิดนี้เป็นส่วนหนึ่งจากอคติโดยนัย (implicit bias) โดยพฤติกรรมไม่ดีของเด็กชายผิวดำมักถูกมองว่าแย่กว่าเด็กชายผิวขาว
5. ยิ่งพลาดยิ่งเรียนรู้
เมื่อต้นปีได้มีการถกเถียงกันถึงการศึกษาที่กระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาจะช่วยให้เข้าใจหลักสูตรได้มากขึ้น โดยมีงานวิจัยพบว่า เมื่อให้นักเรียนเดาคำตอบและได้รู้ผลว่าใกล้เคียงคำตอบที่ถูกต้องแค่ไหนจะยิ่งทำให้จำได้ง่ายกว่าการพยายามจดจำข้อมูลแบบธรรมดา
เมื่อพยายามจำคำศัพท์แบบทั่วไป ผู้เข้าร่วมการวิจัยจำคำได้กว่าครึ่ง แต่เมื่อใช้การเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก เดาศัพท์ที่น่าจะเป็น ก่อนได้รับผลตอบรับ ผลคือพวกเขาจำได้มากถึง 8 จาก 10 คำ
6. ชีวิตครูดี ชีวิตเด็กก็ดีตาม
รายได้ต่ำกับนักเรียนล้นห้องกระทบสุขภาพและความพอใจในการทำงานของครูอย่างต่อเนื่อง ผลการศึกษาใหม่พบว่า ครูประถม 93 เปอร์เซ็นต์มีระดับความเครียดสูง ครูหลายคนบอกว่ารู้สึก “อ่อนเพลียทางอารมณ์” ที่ต้องจัดการความต้องการของนักเรียนและทำให้ผลการเรียนดีขึ้น
ปีนี้มีครูจากหลายรัฐในสหรัฐอเมริการ่วมประท้วงเพื่อเรียกร้องเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้น กว่า 20 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนครูลดลง 2.3 เปอร์เซ็นต์ (ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ) ขณะที่เงินเดือนของบัณฑิตจบใหม่เพิ่มขึ้น 10.2 เปอร์เซ็นต์ ถึงอย่างนั้นครูก็ยังต้องควักเนื้อ 479 ดอลลาร์จ่ายค่าอุปกรณ์ในห้องเรียน และส่วนใหญ่คิดว่าต้องหารายได้เสริม
7. เน้นพฤติกรรมมากกว่าคะแนนสอบ
จากผลการศึกษาขนาดใหญ่ที่มีนักเรียนชั้น ม.3 (เกรด 9) 574,000 คนเข้าร่วมแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมของนักเรียนสามารถใช้คาดการณ์ความสำเร็จในอนาคตได้มากกว่าคะแนนสอบ
เมื่อวัดจากหลายปัจจัยเช่น การเข้าเรียนและการพักการเรียนพบว่า ครูที่ช่วยนักเรียนพัฒนาความประพฤติจะทำให้ระดับการสำเร็จการศึกษาของนักเรียนและเกรดโดยเฉลี่ยมากกว่าครูที่เอาแต่สนคะแนนสอบเท่านั้นถึง 10 เท่า