- ลูกคนแรกปักธงเป็นนักดนตรีคลาสสิก แต่คนที่สองรักการผจญภัยและเคยเลี้ยงด้วงจนเกือบเป็นพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่ ‘แม่บี’ ทำ คือสั่งลุย ไม่ใช่เพราะตัวเองชอบ แต่เพราะขีดเส้นชัด ‘ตัวตนเป็นของลูก ไม่ใช่ของแม่’
- มิชชั่นของพ่อแม่คือเป็น ‘นักสืบ’ ช่วยลูกค้นหาตัวตน แต่ต้อง ‘ระแคะระคาย’ ให้เป็น
- หลักสูตรบ้านเรียน ‘แกงโฮะ’ เน้นสร้างพื้นที่ ตัวตน เปิดโอกาสให้ลูกทดลองและประเมินความเสี่ยงด้วยสายตาตัวเอง ปีนต้นไม้ได้ ใช้มีดเป็น อนุญาตให้ร้องไห้ โดยมีทีมพ่อแม่อยู่ข้างๆ ช่วยกันก้าวข้ามทุกความรู้สึก
- “เราไม่ได้สร้างลูก แต่สร้างพื้นที่ สร้างสเปซให้คนในครอบครัว เป็นพื้นที่ให้คนที่มีตัวตนไม่เหมือนกันอยู่ร่วมกันได้”
“หนึ่งในงานที่ทำคือ Transformation Game เป็นกระบวนการที่พาคนสำรวจและพัฒนาพื้นที่ภายในตัวเอง ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาเห็นชัดเลยว่ามีคนใช้ชีวิตเพื่อแม่ เพื่อพ่อ และมีความทุกข์เพราะไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต ไม่ได้เป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ จนทุกข์ และหาทางออกไม่ได้ บางคนซึมเศร้า บางคนเบื่อโลก บางคนไม่รู้คุณค่าของตัวเอง ไม่มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต เราแก้ปัญหาเรื่องนี้ในคนที่โตแล้วเยอะมาก ในฐานะคนทำกระบวนการ พอเห็นแบบนี้มากเข้า เราถามตัวเองว่า ทำยังไงเรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นกับลูกของเรา”
คือคำตอบข้างต้นของ มิรา ชัยมหาวงศ์ หรือ ‘แม่บี’ – นักวิจัยอิสระด้านการศึกษาทางเลือก ผู้มีประสบการณ์ด้านการเรียนรู้กว่า 20 ปี โดยเริ่มทำงานที่สถาบันอาศรมศิลป์ในฐานะนักวิจัย คุณแม่และครูเต็มเวลาของลูกๆ สองคนในบ้านเรียน ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมัชชาพ่อแม่-เครือข่ายแม่พ่อไม่รอระบบ
ลองตั้งคำถามกับตัวเอง ตัวตนของคุณในวันนี้ อะไรที่เหมือนกับพ่อแม่และอะไรที่ต่าง หลายครั้งต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ บางทีเฉยๆ ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงก็ทำ (ทำๆ ไป) เพียงเพราะมันเป็นความคาดหวังต้องการของพ่อแม่บ้างไหม? หรือถามจี้ไปให้สุดขั้ว เคยไหมที่บางครั้งเราขัดใจในนิสัยบางอย่างของพ่อแม่เหลือเกิน แต่โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หลายครั้งเรากลับทำสิ่งนั้นเสียเอง
ถ้าไม่ได้ติดใจ ไม่รู้สึกเป็นปัญหา ไม่ได้ทุกข์ร้อนจากความคาดหวังกดดันจากพ่อแม่ การเข้าใจว่าตัวตนของเราย่อมเป็นสิ่งตกทอดจากพวกท่านอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่โต และหากมองตัวเองอย่างเข้าใจ สามารถขีดเส้นให้ชัดได้ว่า ‘นี่เรา’ ‘นี่เขา’ ก็อาจเป็นเรื่องทำได้ในวันหนึ่งที่โตพอ แต่ถ้าเป็นเงื่อนไขที่กลับข้าง ความทุกข์หลายระดับคงถมทับยากดิ้นหลุด
ขมวดประเด็นให้ชัด สิ่งที่เราอยากชวน ‘แม่มิรา’ พูดคุยวันนี้คือ…
มุมมองการเลี้ยงลูกของคุณแม่มิรา ในฐานะนักวิจัยด้านการศึกษาทางเลือก และคุณแม่ที่ทำบ้านเรียนหรือโฮมสคูลให้ลูก ผู้พยายามขีดเส้นใต้ (ในใจตัวเอง) ให้ชัดว่า…
“ความคาดหวังของแม่ คือของแม่ ความคาดหวัง ความต้องการ ความสุข ความทุกข์ ความผิดพลาดของลูก คือของลูก”
ทั้งหมดนี้เพียงเพื่ออนุญาตให้ลูกไม่กลัวในสิ่งที่แม่กลัว ให้ลูกไม่ชอบในสิ่งที่แม่ชอบ อนุญาตให้เขาได้มีพื้นที่และสิทธิเสียงเลือก ‘ตัวตน’ ของตัวเอง
“แน่นอนว่าพ่อแม่เป็นจุดเริ่มต้น เขามีตัวตนของเขาเองอยู่แล้ว แต่ด้วยความใกล้ชิดจากการเลี้ยงดู เขาได้รับอิทธิพลจากความเป็นเรา บางทีความชอบและความต้องการของเรากับของลูกมันนัวเนียกันเนียนมาก เนียนขนาดที่ว่า เอ๊ะ… นี่มันความต้องการของแม่หรือของลูกกันนะ? แต่ถึงพ่อแม่จะมีอิทธิพลกับลูกขนาดไหน ก็ต้องระลึกให้ได้ว่าเรากับลูกเป็นคนละคนกัน”
“การสร้างครอบครัว เราไม่ได้แค่สร้างลูก แต่สร้างพื้นที่ สร้างสเปซให้คนในครอบครัว เป็นพื้นที่ให้คนที่มีตัวตนไม่เหมือนกันอยู่ร่วมกันได้”
แม่บีย้ำตลอดบทสนทนาว่า วิธีคิดจาก ‘ทีม’ ของเธอ -ใช่ เธอนิยามเธอและสามีว่าคือ ทีม- ไม่ใช่สิ่งถูกหรือผิด แต่ละบ้านมีวิธีสร้างพื้นที่ครอบครัวหลากหลาย เพียงแต่จากประสบการณ์ทำงานด้านการเรียนรู้เกือบยี่สิบปี ทั้งความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์สมอง แนวคิดการพัฒนาตัวเองภายใน จิตวิทยา การศึกษาทางเลือกต่างๆ และบทบาทล่าสุดคือการสร้างเครือข่ายสมัชชาพ่อแม่ ทำให้หลักสูตรบ้านเรียน ‘แกงโฮะ’ ของเธอเน้นไปที่การสร้างพื้นที่ สร้างตัวตน และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทดลองและประเมินความเสี่ยงด้วยสายตาตัวเอง โดยมีทีมพ่อแม่อยู่ข้างๆ
เกริ่นคร่าวๆ ว่าหลักสูตร ‘แกงโฮะ’ ของบ้านเรียนดิน หิน ไม้ น้ำ มีหัวใจหลัก 5 ข้อด้วยกันคือ
- แยกตัวตนของพ่อแม่ออกจากลูก: ขีดเส้นใต้ให้ชัด นี่คือความต้องการของแม่หรือของลูก
- ให้ความสำคัญกับตระกูล self: เช่น self-organize บริหารจัดการตัวเอง, self-regulating การกำกับตัวเอง โดยมีปลายทางคือ self-evaluation หรือ การประเมินตนเอง และโลกด้วยสายตาและประสบการณ์ตัวเอง (ไม่ใช่ประสบการณ์ของผู้ใหญ่)
- อนุญาตให้ ‘ผิดพลาด’ และ ‘ทุกข์’: ความหมายตรงตัว เพิ่มเติมคือ ไม่ใช่สอนลูกให้มีความสุขอย่างเดียว แต่ต้องเขาให้เผชิญกับความทุกข์ด้วยการมีประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ปิดกั้น และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยังมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ เพื่อที่จะได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขและผ่านมันไปด้วยกันได้
- ให้รู้จัก ‘อารมณ์ (ทั้งบวกและลบ): เจ็บ โกรธ อิจฉา หงุดหงิด ไม่พอใจ และอื่นๆ คลี่ออกมาให้หมดและชี้แจงว่าอารมณ์ที่แตกต่างมีชื่อว่าอะไร แล้วจึงช่วยกันหาวิธีระบายออก หรือแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสม
- อยู่ข้างๆ เสมอ: อยู่เพื่อให้เขามั่นใจว่าโลกนี้ปลอดภัย และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะได้รับความรักจากพ่อกับแม่เสมอ และความรักนั้นไม่มีวันเปลี่ยนแปลง สำคัญคือ อยู่ข้างๆ ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย แต่อยู่เพื่ออธิบายและช่วยเขาก้าวข้ามความรู้สึกผิดพลาดนั้น
หลักสูตร ‘แกงโฮะ’
บ้านเรียนดิน หิน ไม้ น้ำ
จุดเริ่มต้น… ฉันต้องไม่เป็นแม่แบบในโฆษณาทีวี!
ในฐานะนักวิจัยอิสระด้านการศึกษาทางเลือกที่ผันตัวเองจากแวดวงธุรกิจสู่การเรียนรู้กว่ายี่สิบปี เคยมีจินตนาการก่อนเป็น ‘คุณแม่’ ไหมว่า ถ้าเป็น จะเป็นคุณแม่แบบไหน?
“คำตอบอาจสวนทางกับคำถาม แต่เราเป็นแม่ที่พยายามจะเอาภาพ ‘คุณแม่ในทีวี’ ออกไป เราเติบโตมากับยุคที่โฆษณา ภาพในทีวีฝังหัวเราว่าครอบครัวประกอบไปด้วย บ้านหลังสีขาว มีสวนเล็กๆ หน้าบ้าน คุณพ่อไปทำงาน คุณแม่เป็นแม่บ้าน มีหมาหนึ่งตัว ลูกๆ รักการเรียนรู้ เวลาที่อยู่ร่วมกันทุกคนจะยิ้มแย้ม พูดคุยกันสนุกสนาน แม้แต่หมายังยิ้มเลย เรามี stereotype แบบนี้ในหัวซึ่งเราไม่รู้ตัวเลยนะ
“เราไม่ได้คาดหวังแค่กับตัวเอง แต่เราอยากให้ครอบครัวเป็นแบบนั้น มีสามีแบบภาพนั้น อยากมีลูกน่ารักๆ เชื่อฟังเราแบบในภาพนั้น แต่พอมันไม่ตรงกับความจริงซึ่งอยู่ตรงหน้า มันก็ทุกข์น่ะสิ”
แม้ตั้งใจจะทลายภาพจำ ‘คุณแม่ในอุดมคติ’ แบบนั้น แต่ #แม่ก็คือแม่ และเป็นคุณแม่ที่มีความรู้ทางวิชาการเต็มสิบ อะไรที่คิดว่าดี เธอทำทั้งนั้น
โดยเฉพาะในช่วงแรกของการมีลูก ความคาดหวังมีร้อยแปดอย่าง ทั้งด้านโภชนาการ ด้านอารมณ์ เป็นแม่ห้ามโมโห เป็นแม่ต้องจัดการได้ ควบคุมสถานการณ์ได้ ยิ้มเสมอ และอีกมากมายที่พยายามกดดันตัวเอง และข่มตัวตนของตัวเองไว้ เพื่อให้เป็น ‘แม่ที่ดี’ โดยเฉพาะ การเลือกตัดสินใจว่าจะเป็นคุณแม่เต็มเวลา หรือเป็นคุณแม่ที่ทำงานไปด้วย?
“ตอนที่เลี้ยงลูกเองแรกๆ ลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูกเลย เพราะภาพจำอีกแล้ว ภาพที่บอกว่าการเป็นแม่ต้องโฟกัสที่ลูก ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนชอบทำงานมาก บ้างานเลยแหละ แต่มันมีความคิดว่า ‘ถ้าฉันทำงานแล้วไม่โฟกัสลูก ไม่ได้นะ ฉันจะไม่เป็นแม่แบบนั้น’ พอลาออกมาก็กลายเป็นว่า เอาลูกมาเป็นงาน ความคาดหวังในชีวิตของเราทั้งหมดทุ่มไปอยู่ที่ลูก แต่พอถึงจุดหนึ่งมันเห็นตัวเอง มันเห็นว่า เอ๊ะ… นี่ไม่ใช่ฉันละ ฉันทำอะไรอยู่เนี่ย เพี้ยนละๆ แบบนี้ไม่ได้ แย่แล้ว แย่แล้ว เปลี่ยนๆๆ”
ทั้งหมดนี้เป็นจุด ‘เอ๊ะ’ ครั้งแรกๆ ที่ทำให้เธอเข้าใจภาพ ‘ความคาดหวัง’ ที่เริ่มก่อเกิดในตัวเอง เดาได้ไม่ยากว่าวงจรสุดท้ายของความคาดหวังจะไปจบที่ใครและอาจให้ผลลัพธ์อะไรแก่คนเป็นลูก โดยเฉพาะเมื่องานส่วนหนึ่งของเธอคืองานด้านกระบวนการภายใน หลายครั้งที่เรื่องเล่าของคนที่ทำงานร่วมกับเธอ บอกเล่าว่าทุกข์สุขสะสมเรื้อรังส่วนหนึ่งมาจากการใช้ชีวิตเพื่อคนในครอบครัว
เพื่อตัดวงจร เธอและสามีจึงมีคำขวัญประจำตัว 5 อย่าง เพื่อสร้างพื้นที่ให้ลูก พัฒนาตัวตนของตัวเองโดยมีความคาดหวังของพ่อแม่น้อยที่สุด
หลักสูตร ‘แกงโฮะ’: แยกตัวตนของพ่อแม่ออกจากลูก
“ลูกสองคนไม่เหมือนกันเลย คนแรกอายุ 8 ขวบ และเขาปักธงว่าอยากเป็นนักดนตรีคลาสสิก ซึ่งเรารู้สึกว่าปักธงเร็วมาก แต่เขาก็ปักแล้ว จะให้เราแบบ… ‘มันไม่ใช่หรอกลูก’ ก็ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือสนับสนุน ขณะที่คนเล็กเขาสนใจธรรมชาติ เคยเลี้ยงด้วงที่บ้าน มีหนอนด้วงเกือบสองร้อยตัว ซึ่งพี่ไม่ชอบเลยนะ ด้วงสองร้อยตัวอยู่ในบ้าน แล้วมันกระดึ๊บๆ (ทำเสียงสยอง) แต่เช่นกัน มันคือความชอบของเขา เป็นพื้นที่ของเขา ไม่ใช่ของแม่
“สิ่งที่เรากับสามีคุยกันตลอดหลังจากที่ลูกคนโตปักธงว่าจะเป็นนักดนตรีคลาสสิกคือ ถ้าลูกเดินมาบอกว่า ไม่เอาแล้ว จะเลิกแล้ว ต้องได้ เขาต้องเลิกได้ และเราต้องไม่เป็นอะไร”
ในจุด ‘เรา’ หรือพ่อแม่ต้องไม่เป็นอะไรนี่แหละ คือคีย์เวิร์ดที่มิราเห็นว่า มันคือการแยกตัวตน แยกความคาดหวังของพ่อแม่ ออกจากลูก
“ที่บอกว่า ‘ต้องไม่เป็นอะไร’ คือเป็นการบอกกับความคาดหวังข้างในตัวเราเองในฐานะพ่อแม่ เพราะจริงๆ เราคงเสียใจแหละ เราทุ่มทรัพยากร และเวลา จ่ายค่าเรียนตั้งแพง คอยรับคอยส่ง และเอาเข้าจริง แม้เราบอกว่าเราไม่คาดหวัง แต่ลึกๆ เราจะจินตนาการ มโนไปถึงเส้นทางอาชีพของลูกไปแล้ว แล้วอยู่มาวันหนึ่งจะบอกว่าไม่เอาแล้ว เราคงเสียใจ แต่เราตั้งใจบอกกับตัวเองตั้งแต่แรกเลยว่า ถ้าลูกตัดสินใจจะเลิกจริงๆ หรือเปลี่ยนเส้นทาง เขาต้องได้โอกาสนั้น เพราะนั่นเป็นชีวิตของเขา และนั่นไม่ใช่การเสียเปล่า เพราะการเรียนรู้และการฝึกฝนมันย่อมส่งผลให้เกิดบางสิ่งในตัวเขา
“การเรียนดนตรี การลงทุนกับเขาด้านดนตรี ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องได้ดนตรี แต่การลงทุนของเราคือการให้ลูกได้มีโอกาสฝึกตัวเองเป็นนักดนตรี ซึ่งเขาจะเป็นรึเปล่า ให้เขาตัดสินใจ และมันอาจจะนำมาซึ่งคุณลักษณะบางอย่าง เช่น ‘การกัดไม่ปล่อย’ และถ้ามันบ่มเพาะนิสัยนั้นได้ เราถือว่าคุ้ม”
เธอขยายความต่ออีกว่า ไม่ใช่แค่กับเรื่องดนตรี แต่คือวิธีมอง ‘การเรียนรู้’ การเรียนเลขไม่ใช่เพื่อให้บวก ลบ คูณ หารได้ แต่เรียนรู้การแก้ปัญหา เรียนศิลปะไม่ใช่การวาดรูปสวย แต่คือการเป็นผู้สรรสร้าง รู้จักเอาสิ่งต่างๆ มาผสมกันแล้วสร้างเป็นสิ่งใหม่ และถ้ามองการเรียนรู้เช่นนี้ ไม่ว่าคุณลักษณะที่เกิดในตัวลูกคืออะไร เธอถือว่า ‘คุ้ม’
อย่างไรก็ตาม คำถามที่ควรต้องถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่านี่คือตัวตนของลูก เพราะตัวตนของลูกจะมาจากไหน ถ้าไม่ได้ปลูกฝังมาจากคนเป็นพ่อและแม่?
“จะบอกว่าเราไม่บิลด์เลย อยู่ดีๆ เขาเกิดความชอบนี้ขึ้นมาเองมันก็ไม่ใช่ซะทีเดียว พ่อแม่ทำหน้าที่คล้ายๆ นักสืบ หาจุด ‘ระแคะระคาย’ และมันสำคัญมากที่ต้อง ‘ระแคะระคาย’ ให้เป็น เช่น ลูกคนโต เขาชอบฟังเพลง และเขาเป็นคน emotional สุดๆ คือฟังเพลงแล้วน้ำตาไหล ซึ้งไปกับบทเพลง ใช้หูเยอะ เวลาเขาฟังเพลง แป๊ปเดียวเท่านั้นเขาก็จำเนื้อร้องได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งเด็กจะคอยส่งสัญญาณให้เราเห็น เรามีหน้าที่ค่อยๆ แกะรอย จากจุดนั้นมันจะมีจุดให้เราสังเกตไปเรื่อยๆ บางทีก็ชวน ‘ไปฟังคอนเสิร์ตกันมั้ย?’ ไปฟัง ไปดูซิว่าชอบเพลงแบบไหน ชอบเครื่องดนตรีอะไรมั้ย เสียงนั้นแปลก เสียงนี้เพราะ พาเขาไปมีประสบการณ์ใหม่ๆ แล้วก็คอยแกะรอยต่อไปอีก
“ช่วงแรกเรายังไม่ให้เขาเรียน แต่ที่บ้านจะมีเปียโนเก่าๆ ของแม่อยู่หลังหนึ่ง ทุกวันเขาจะไปนั่งบรรเลงเพลงซึ่งไม่รู้ว่าคือเพลงอะไรของเขาไปตามเรื่อง เป็นเพลงที่เขาแต่งขึ้นมาเองตามอารมณ์ของเขา ทำแบบนี้ทุกวัน จนวันหนึ่งถามเขาว่า อยากเรียนเปียโนมั้ย? ก็เริ่มพาเขาไปเรียนเปียโน ซึ่งตอนที่พาไป เราก็บอกกับเขาว่าถ้าไม่ชอบเลิกได้นะ ทุกวันนี้เขาซ้อมแล้วเครียด หรือบางทีไปแข่งแล้วกดดัน เราก็ยังย้ำคำเดิม ว่าไม่ชอบเลิกได้นะ แต่ถ้ายังชอบ ยังมุ่งมั่น เต็มที่เลยลูก เราก็สนับสนุนเขาให้สุดด้วยเช่นกัน ซ้อมด้วยกัน หาครูที่ดี แล้วพอเจอครูที่ใช่ วันหนึ่งเขาเดินมาบอกว่า ‘แม่ หนูอยากเป็นนักดนตรี’
เธอเล่าต่อไปว่า ขณะที่ลูกคนเล็กในวัย 5 ปี ชอบกิจกรรมผจญภัยนอกบ้าน โดยเฉพาะการอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งแม้ว่านั่นจะไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ของมิราเลย แต่เช่นเคย เธอก็… ลุย
“ขณะที่คนที่สอง เราเห็นว่าเขาไม่เคยอยู่ในบ้านเลย ออกนอกบ้านตลอด เวลาเดินอยู่ในสวนก็ชอบไปแคะ ขุด หาอะไรในดิน เราก็เอ๊ะ เขาน่าจะชอบอะไรแบบนี้นะ ก็เลยเริ่มพาเขาเข้าป่า เท่านั้นแหละ โอ้โห… เด็กสี่ขวบเดินป่าสามชั่วโมง สนุกสนาน เห็นไม้ผุก็เอามือล้วงเข้าไปแล้วได้หนอนด้วงออกมา ขณะที่แม่แบบ… โอย ไม่ไหวแล้ว เหนื่อยแล้วนะ”
เรื่องท้าทายจากความ ‘เอ๊ะ’ ในการเป็นคุณแม่ ‘เจ๊ดัน’ ผลักดันลูกให้มีโอกาสได้ลองค้นหาตัวตนของตัวเอง คือการค้นพบว่า สิ่งที่ลูกชอบ อาจไม่ใช่สิ่งที่แม่ชอบ หรือไม่ใช่ตัวตนของแม่เลย ข้อสังเกตนี้เธอตอบชัดว่า…
“เพราะถ้าเราแยกชัดว่า ‘เขา’ กับ ‘เรา’ ตั้งแต่แรก เราจะได้มีโอกาสเห็นว่าเวลาที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ สนใจด้วยตัวเอง การเรียนรู้มันจะเหมือนระเบิด ประกายตาสนใจใคร่รู้ของเขา ความพยายามหาว่าทำยังไงถึงจะรู้เรื่องที่เขาสนใจได้ คำถามของเขา การรบเร้าให้เราพาไปเข้าป่า หรือการให้เราอ่านหนังสือเรื่องเดิมให้ฟังซ้ำๆ มันทำให้เราสงสัยว่า เด็กสี่ห้าขวบ ทำอะไรได้มากขนาดนี้เลยเหรอ”
เรื่องของเด็กสี่ห้าขวบที่ไม่ถูกสกัดการเรียนรู้จนเหมือนระเบิดที่มิราว่า เธอยกตัวอย่างการเดินทางด้านการเรียนรู้ของลูกคนเล็ก ที่แม้ไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกับตัวเธอไว้ว่า การเรียนรู้ด้านธรรมชาติของลูกคนเล็กเริ่มต้นที่การเพาะเลี้ยงหนอนด้วงจำนวนสองร้อยตัวที่บ้าน จากนั้นพลิกไปสู่ความสนใจเรื่องงู เปลี่ยนเป็นการตกปลา ปัจจุบันดำเนินมาที่สามก๊ก
“นี่คืออีกบทเรียนที่ให้แม่ได้ซ้อมว่า ถ้าวันหนึ่งลูกเปลี่ยนความสนใจไปเลย มันจะไม่เป็นไร เพราะอย่างตอนลูกเลี้ยงด้วงแรกๆ ในหัวเรามันจะจินตนาการถึงอาชีพแบบอัตโนมัติ ‘อุ้ย… เขาต้องเป็นนักชีววิทยา นักกีฏวิทยาแน่ๆ’ คือคิดไปถึงขนาดนั้น เวอร์ไปถึงขนาดนั้น แต่พอเขาเปลี่ยนความสนใจไปที่งู ในหัวเราเริ่มปลอบใจตัวเองละ ‘เอาน่า ยังอยู่ในข่ายของสิ่งมีชีวิต’ จากนั้นไปเป็นปลา แต่เขาไม่ได้สนใจปลาแบบชีววิทยา เขาต้องการเป็นผู้ล่า อยากจะเย่อ อยากจะใช้แรง (หัวเราะ) แล้วตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นสามก๊ก ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับ ด้วง งู ปลา เลยสักนิดเดียว นักกีฏวิทยาหายไปแล้ว และแม่ก็ได้รู้จักความมโนของตัวเอง แต่เขาก็ยังคงชอบธรรมชาติ เดินในสวนก็หาด้วง แต่หาด้วงไปด้วยถือทวนฟันดาบไปด้วย
“คือถ้าไม่บอกตัวเองไว้ตั้งแต่แรกว่า ลูกมีโอกาสเปลี่ยนได้ มันคงแย่ เพราะ passion เปลี่ยนได้ มนุษย์เราเปลี่ยนตลอดเวลา และลูกก็ยังเด็ก มีโอกาสจะเปลี่ยนความสนใจอีกมาก ตรงนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่ตัวตนของเขาจะก่อรูปก่อร่าง พ่อแม่ ก็ระแคะระคาย สนับสนุน แล้วก็คอยดูว่าเขาจะไปทางไหนนะ เอ๊ะๆ มันเปลี่ยนอีกแล้ว สนุกไปกับการเป็นผู้เฝ้ามองชีวิตลูกเติบโต”
แต่เธอยังกระซิบ “เอาจริงๆ มันสนุกมาก เหมือนเล่นเป็นนักสืบเลย คุยกันกับสามีตลอดว่า ดูๆ แล้วเดี๋ยวเขาจะไปทางไหนอีก วันหนึ่งลูกอาจจะสร้างสิ่งใหม่ เป็นนักอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีก็ได้”
หลักสูตร ‘แกงโฮะ’: ตระกูล Self
‘self’ ที่แปลว่า ‘ตัวเอง’ และเมื่อไปรวมกับคำนามคำไหน จะให้ความหมายว่า ‘ด้วยตัวเอง’ คำศัพท์ภาษาอังกฤษตระกูล ‘self’ ในความหมายของแม่มิรา หมายถึงกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ ที่ลงท้ายด้วย ‘ด้วยตัวเอง’ เช่น self-organize บริหารจัดการตัวเอง, self-regulating การกำกับตัวเอง
แต่ไม่ว่าจะ ‘self’ แบบไหน ปลายทางขอให้ไปจบที่คำว่า ‘self-evaluation’ หรือ การประเมินด้วยตัวเอง
“เช่น การปีนต้นไม้ ถ้าประเมินจากเราในฐานะผู้ใหญ่ ด้วยน้ำหนักเรา ประสบการณ์ของเราที่เราอาจเคยได้ยินเรื่องเสี่ยงๆ หรือเคยถูกห้าม เคยตกต้นไม้ เราจะคิดไปเองว่าปีนขึ้นไปคือหักแน่ ในหัวเราประเมินแล้วว่าการปีนต้นไม้เท่ากับอุบัติเหตุ ขณะที่เด็กไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาไม่ได้มีข้อมูลชุดนั้นในหัว
“ไม่ได้บอกว่า พ่อแม่ทุกคนจงเอาลูกไปปีนต้นไม้กันเถอะ แต่เปิดโอกาสและหาโอกาสให้เขาได้ประเมินตัวเอง เขาปีนได้แค่ไหน จะขึ้นสูงแค่ไหน กิ่งตรงนี้เหยียบได้มั้ย กิ่งนี้อ่อนไปรึเปล่า เขาหนักไปมั้ยสำหรับกิ่งนี้ นี่คือการเปิดโอกาสให้ประเมินด้วยตัวเอง แต่ถ้าเราเอาแต่พูดว่า ‘อย่านะมันอันตราย’ ใครประเมิน? ผู้ใหญ่ประเมิน วันนึงเขาจะไม่รู้ว่า ความสามารถเขาอยู่ตรงไหน เขาทำอะไรได้หรือไม่ได้ เขาต้องปรับปรุงอะไรเพิ่ม หรือเขาทำอะไรได้ดี เขาจะทำไม่เป็น เพราะต้องคอยถามพ่อแม่ว่า เขาทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นตัวตนจะเกิดได้ยังไง
“ที่บ้านเราไม่มีแก้วหรือจานพลาสติกเพราะลูกต้องหัดใช้ เขาจะทำแตก แต่ทุกครั้งที่ทำแตกเขาจะเสียใจ แต่ครั้งต่อไปจะระวังขึ้น เพราะเขาจะประเมินเป็น ที่ผ่านมาถืออย่างนี้ ทำให้หล่นแตก ครั้งหน้าต้องระวังอย่างไร เขาจะรู้เอง อย่างการใช้มีดเหมือนกัน เราให้เขาใช้มีดเหลาไม้ตั้งแต่เล็กๆ มีดบาดแน่นอน แต่ครั้งต่อไปจะระวังขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ระวังเลย ปล่อยให้ลูกใช้จนนิ้วขาดก็ไม่ใช่ แม่ก็ต้องอยู่ตรงนั้นด้วยเพราะเขายังเด็ก”
นอกจากข้อนี้จะเชื่อมกับข้อแรก คือการแยกประสบการณ์แม่ ออกจากประสบการณ์ลูกแล้วให้เขาประเมินเหตุการณ์จากมุมมองของตัวเอง ยังเชื่อมโยงกับข้อถัดไปคือ ‘ให้รู้จักทุกข์’ และ ‘ความผิดพลาด’
หลักสูตร ‘แกงโฮะ’: อนุญาตให้ ‘ผิดพลาด’ และ ‘ทุกข์’
ในหลักสูตรข้อนี้เธอเน้นย้ำเป็นพิเศษ นอกจากให้เผชิญความทุกข์และข้อผิดพลาดด้วยตัวเอง สำคัญที่สุดคือการเห็นทุกข์ในขณะที่เด็กๆ ยังมีพ่อแม่อยู่ใกล้ๆ ในแง่นี้หมายความว่า เมื่อวันที่ลูกเพิ่งรู้จักและจำแนกความรู้สึกเป็นครั้งแรกๆ และยังอยู่ในวัยที่โลกทั้งใบคือพ่อแม่ สำคัญมากที่เขาจะมีใครไว้แอบอิงพิงหลังและปลอดภัยพอจะระบายความทุกข์เศร้าออกมาได้อย่างซื่อตรงและปลอดภัย
“เป็นข้อที่ทำได้ยากมากที่สุด ในฐานะที่เรามีสัญชาตญาณความเป็นแม่ แม่ไม่อยากให้ลูกทุกข์ ไม่อยากให้ลูกผิดพลาด เราจะรู้สึกว่าลูกเจ็บไม่ได้ ทุกข์ไม่ได้ ลูกอยู่กับเรา เรามีหน้าที่ทำให้เขามีความสุข เรียนรู้ที่จะมีความสุขบนโลกใบนี้ นั่นเป็นหน้าที่หนึ่งของพ่อแม่ แต่อีกหน้าที่หนึ่งคือการพาเขาเผชิญความทุกข์ เพราะความทุกข์เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เราจะปกป้องเขาไม่ให้เผชิญทุกข์เลยตลอดชีวิต เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือ อยู่ด้วยกันกับเขาในเวลาที่เขาต้องใช้ความพยายามในการยอมรับความทุกข์ และแก้ไขความผิดพลาดด้วยความรู้สึกเป็นปกติ ไม่ได้มองเห็นความผิดพลาดเป็นความทุกข์
“ลองนึกภาพวันหนึ่งที่ไม่มีเรา หรือวันที่เขาไม่กล้ามาหาเรา วันที่เขาเป็นวัยรุ่นซึ่งเขาอาจจะไม่เคยชินในการบอกเรื่องความผิดพลาดหรือความทุกข์ของเขากับพ่อแม่ วันที่เขาเห็นความผิดพลาดเป็นความทุกข์ใหญ่ ผิดไม่ได้ พลาดไม่ได้ ตอนนั้นมันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่และยากมาก แต่ถ้าเราทำตั้งแต่ตอนนี้ ผิดพลาดล้มเหลวไปด้วยกันแล้วบอกเขาว่า ‘ผิดแล้วแก้ได้นะ’ เราอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในครอบครัวแล้วก็พยายามกับมันมากๆ ด้วย เรียกว่าเป็นการละวางความเป็นแม่หรือสัญชาตญาณความเป็นแม่ที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูกไปเลย”
แต่การจะอธิบายข้อนี้ จำเป็นต้องอธิบายคู่ไปกับหลักสูตร 2 ข้อถัดไปคือ ‘การรู้จักกับอารมณ์’ และ ‘พ่อแม่จะอยู่ข้างๆ เสมอ’
หลักสูตรแกงโฮะ: ให้ลูกรู้จักกับ ‘อารมณ์’
ในความเห็นของมิรา เราจะเข้าใจความทุกข์หรือเรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดไม่ได้ ถ้ายังไม่เข้าใจ ยอมรับ และแบ่งแยกความแตกต่างของอารมณ์ที่เกิดได้
“คำต้องห้ามที่เรากับสามีคุยกันเลยว่าห้ามพูดเด็ดขาด คือ เวลาลูกหกล้ม เราจะไม่พูดคำว่า ‘ไม่เจ็บ’ ‘ลูกผู้ชายต้องไม่ร้องไห้’ ‘เก่งมากเลย ไม่ร้องไห้’ เราจะไม่พูดเลย เพราะอะไรรู้มั้ย? เพราะความจริงคือมันเจ็บไง เลือดไหลขนาดนี้ มันต้องเจ็บใช่มั้ย แล้วทำไมแม่พูดว่าไม่เจ็บ?
“จริงๆ แล้ว คำพูดที่เราบอกเด็กว่า ไม่เจ็บ เราบอกใคร มันอาจเป็นความรู้สึกตื่นตระหนกของเราเอง เพราะถ้าลูกร้องไห้ฉันก็ทำอะไรไม่ถูกแล้ว ฉันก็ตกใจเหมือนกันที่เข่าเขาเลือดไหล
เวลาที่เราบอกออกไปว่า ‘ไม่เป็นไรลูก ไม่เจ็บเลยเนอะ’ ลูกจะงง เพราะความรู้สึกเจ็บของเขา กับคำพูดของแม่มันสวนทางกัน กลายเป็นอีกหน่อยเขาจะไม่รู้ว่าความรู้สึกนี้เรียกว่าอะไร เวลาเจ็บตัว ต้องเก็บไว้ใช่ไหม แล้วต้องจัดการยังไง ระบายออกก็ไม่ได้ เพราะการไม่ร้องไห้นั้นเก่งมาก แล้วยังไงต่อ?
มันจะฟอร์มเขาให้โตขึ้นมาเป็นผู้ชายที่บอกว่าตัวเองร้องไห้ไม่ได้ ซึ่งการร้องไห้ไม่ได้นี่โคตรทรมาน (เน้นเสียง) เลยนะเพราะมันเป็นวิธีการระบายออกของมนุษย์”
นี่เป็นแค่จุดเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่มหาศาลที่เด็กคนหนึ่งจะรับรู้ความรู้สึกของตัวเองและรู้จักพื้นที่ปลอดภัยที่จะสามารถอธิบายความรู้สึกออกมาได้ แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ เมื่อเด็กๆ เริ่มโตขึ้นและเริ่มรู้จักกับความอิจฉา โกรธ ไม่พอใจ โมโห อึดอัด สำคัญที่สุดคือต้องรู้จักว่าอารมณ์นั้นคืออารมณ์ไหน และต้องรู้จักวิธีจัดการหรือแสดงอารมณ์ ซึ่งสองอย่างนี้ มิราย้ำว่านั่นไม่เหมือนกัน
“หรืออย่างอารมณ์ลบๆ เช่น ความอิจฉา เป็นเรื่องปกติของบ้านที่มีลูกสองคนแล้วเด็กจะอิจฉากัน เป็นเรื่องปกติมาก แต่ที่บ้านเราความอิจฉานั้นปรากฏตัวขึ้นได้ พูดมันออกมาได้ เรียนรู้ได้ วันที่อารมณ์นั้นปรากฏขึ้นมา เราจะคุย จะไม่ฆ่ามันทิ้ง ไม่บอกลูกว่า ‘อิจฉาไม่ได้ อิจฉาไม่ดีนะ’ เราเอาเลย คุยเลยว่า ‘ความรู้สึกแบบนี้มันคือยังไงนะ มันขุ่นเคืองเหรอ มันแสบๆ คันๆ หมั่นไส้ หรือบางทีมือไม้มันจะอยากออกเหรอ ความรู้สึกมันมาจากไหนนะ กลัวแม่รักน้องมากกว่าเหรอ แล้วหนูคิดยังไง หนูว่าแม่รักน้องมากกว่าหนูจริงมั้ย? เวลาคิดอย่างนั้นแล้วรู้สึกยังไง’ เราก็จะคุย พาเขาระบุความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่านี่หงุดหงิด อิจฉา โกรธ ทำให้เห็นว่าแต่ละอารมณ์ไม่เหมือนกันนะ
“อารมณ์ลบมันคู่กับมนุษย์น่ะ และถ้ามันปรากฏขึ้นที่บ้าน เราดีใจนะ ดีกว่าไปเกิดขึ้นในที่ที่เราไม่เห็น เพราะในเวลาที่เราอยู่ด้วย เรามีโอกาสบอกเขา พาเขาไปรู้จักมัน สอนเขา ทำให้เห็นว่า เราดูแลได้ ให้อภัยกันได้และแก้ไขทัน”
นอกจากจำแนกแจกแจงว่าอารมณ์ที่ปะทุขึ้นมันคืออะไร ขั้นต่อไปคือช่วยลูกๆ ‘เอาออก’
“โกรธได้ ไม่ผิด แต่เราเลือกวิธีแสดงออกซึ่งความโกรธได้ และสองอย่างนี้เป็นคนละเรื่องกัน คือคุณ ‘รู้สึก’ โกรธได้ เราไม่อั้น แต่ถ้าควบคุมไม่ได้แล้วทำร้ายคนอื่น อันนี้ต้องคุย การระบายออกต้องมีขอบเขต อยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำร้ายคนอื่น แต่จะอั้นไว้ก็ไม่ได้ ต้องหาวิธีระบายออก อันนี้สำคัญที่แม่ต้องอยู่ด้วยเพราะเขายังเล็ก เขายังไม่รู้ได้ว่าต้องทำยังไง และการไล่ให้เขาไปอยู่ในห้อง หรือ time out แล้วจัดการกับความโกรธคนเดียว มันทำไม่ได้ ทำยังไง? (เสียงสูง)
“เราก็ไปอยู่กับเขา โกรธใช่มั้ย? ไหนเล่าให้ฟังซิ เล่าไม่ได้เหรอ? เล่าไม่ได้งั้นเขียน เขียนไม่ได้ลองขีดเส้น ระบายออกมา ตีหมอน แล้วพออารมณ์เขาเย็นลง เราค่อยชวนคุยต่อเรื่องการแสดงออก”
ยัง… ยังไม่หมดเท่านั้น ขั้นตอนนี้ยังต้องอธิบายต่อในข้อถัดไป เพราะเมื่อผิดพลาด เรียนรู้จักอารมณ์แล้ว เด็กๆ ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ และ ‘แม่จะอยู่ข้างๆ เสมอๆ’
หลักสูตรแกงโฮะ: แม่จะอยู่ข้างๆ เสมอ
มิราย้ำหนักแน่น การอยู่ข้างๆ ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย ให้ท้าย หรือปกป้องว่าลูกไม่ผิด แต่เป็น ‘เพื่อน’ เป็นฟูกนิ่มๆ ที่ให้ลูกทิ้งตัวลงนอนและปลอดภัยพอจะเล่าได้ว่า วันนี้รู้สึกอย่างไร หรือทำผิดพลาดเรื่องอะไรมา
“ข้ออื่นๆ เหมือนเป็นทฤษฎีเนอะ แต่ข้อสุดท้ายนี้เป็นเรื่อง ‘ใจๆ’ เป็นสิ่งที่พยายามบอกและทำให้เห็น คือ
ไม่ว่าลูกจะทำอะไร เราจะอยู่ข้างๆ เสมอ เช่น สมมุติว่าลูกไปทำของบ้านคนอื่นแตกแล้วเขาต้องเดินไปขอโทษ เราจะไม่ปล่อยให้เขาไปคนเดียว
“เขาไม่จำเป็นต้องเผชิญความรู้สึกผิดคนเดียวจนไม่ชอบมัน และไม่กล้ายอมรับความผิด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาทำถูก ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยกับการกระทำของเขา แต่ทำให้เห็นว่าเขาจะมีพื้นที่ให้เริ่มใหม่ได้เสมอ เขาสามารถก้าวข้ามความรู้สึกผิดของตัวเองได้ด้วยการขอโทษ และการแก้ไขให้ถูกต้อง ทำให้เห็นว่า การผิดพลาด และการแก้ไขเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ และถ้ามันยาก แม่ก็อยู่ข้างๆ เป็นเพื่อน เหมือนเพื่อนที่ไปไหนไปกัน และความรักของพ่อกับแม่จะยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแม้ว่าลูกจะทำของบ้านใครแตก”
และอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องผิดพลาดหรือการจัดการความรู้สึกด้านลบ แม้แต่เรื่องธรรมดาอย่างการซ้อมดนตรี หรือการอยู่ข้างๆ ในวันที่ลูกเพาะพันธุ์ด้วงซึ่งอาจไม่ใช่ความหลงใหลของเธอ แม้ไม่เห็นด้วย แต่นี่ก็เข้าข่าย ‘แม่จะอยู่ข้างๆ เสมอ’ เช่นกัน
ประเมินหลักสูตร
สุดท้ายนี้ ถ้าให้ต้องสรุปหลักสูตร ‘แกงโฮะ’ หรือคำขวัญประจำบ้านเรียนดิน หิน ไม้ น้ำว่าคืออะไร ทำทุกอย่างทั้งหมดนี้ อยากเห็นลูกๆ ของเธอเติบโตขึ้นมาเพื่อมีคุณลักษณะแบบไหน เธอนิ่งคิดไปนาน ก่อนจะตอบว่า
“ไม่รู้ว่าจะตอบได้ไหมนะ คิดไม่สุดเหมือนกัน แต่พูดบ่อยๆ ว่าพ่อแม่เป็นเบ้าหลอมตัวตนของลูก ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ลูกจะเป็นอย่างที่เราเป็น ทั้งหมดที่พูดมานั้นวันนี้เรายังทำได้ไม่หมด และกำลังฝึก ผิดพลาด แก้ไข ปรับเปลี่ยน และเรียนรู้ไปพร้อมกับลูก
เวลาเราทำอะไรไม่ถูกกับลูก เราก็ขอโทษ ทำให้เขาเห็นว่า เรายอมรับความผิดพลาด ที่จะบอกคือ ทั้งหมดนั้นจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าพ่อแม่ไม่เป็นก่อน พ่อแม่จะพาลูกยอมรับอารมณ์ได้ ก็ต้องรู้จักยอมรับอารมณ์ของตัวเอง ลูกจะเรียนรู้เป็น เมื่อพ่อแม่เรียนรู้เป็น ลูกจะรู้จักตัวตนของตัวเองได้ เมื่อพ่อแม่รู้จักตัวตนของตัวเอง
“ตัวตนเริ่มต้นที่บ้านไม่ใช่โรงเรียน เริ่มตั้งแต่วันที่เขามีโอกาสได้เลือกอาหารที่ชอบ มันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่สะสมมาในชีวิตเล็กๆ ของเขา เป็นเรื่องเล็กๆ ที่จะบอกเขาว่าเขามีโอกาสได้เลือกตัวตนของตัวเองบนโลกใบนี้ไหม โดยมีพ่อแม่อยู่ข้างๆ ถ้าเราฝากความหวังไว้กับโรงเรียน กับระบบการศึกษา ในห้องเรียนอย่างน้อยที่สุด คือครูหนึ่งคนต่อเด็ก 40 คน อย่างมากคือครูหนึ่งคนต่อเด็ก 60 คน เขาจะเห็นได้อย่างไรว่าเด็กคนนี้เป็นใคร ชอบอะไร มีวิธีคิดอย่างไร รู้สึกอะไร ไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องมาโฮมสคูล หรือโฮมสคูลดีที่สุด แต่จะดีกว่าไหมถ้าโรงเรียนให้การศึกษา และพ่อแม่ก็มีหน้าที่ช่วยสังเกตตัวตน ช่วยบ่มเพาะตัวตน ช่วย ‘ระแคะระคาย’ ทำให้เขารู้จักตัวเอง ถ้าร่วมมือกันแบบนี้ได้ เด็กรอดเลยนะ”
สารภาพตามตรง ฟังมาถึงตรงนี้แล้วทำให้คิด ‘การเป็นพ่อแม่จะยากเย็นอะไรขนาดนี้’ แน่นอนว่าความเบื่อหน่ายและทุกข์ใจเกิดขึ้นหลายขณะ แต่อะไรที่ทำให้แม่คนนี้ยังสนุก และดวงตาเป็นประกายขณะเล่าวีรกรรมสุดซ่าของลูกๆ และเอ่ยปากตลอดการสนทนาหลายครั้งว่า ‘เฮ้ย มันสนุกนะ’
ชอบอะไรในการเป็นแม่ที่สุด – เราถาม?
“ชอบโมเมนต์ฟินๆ ดวงตาเป็นประกายเวลาที่เขาวิ่งมาบอกเราว่าเขาทำอะไรสักอย่างสำเร็จ โดยเฉพาะการทำโฮมสคูลยิ่งเป็นโอกาสที่ทำให้เราต้องเป็นประจักษ์พยานในความสำเร็จของลูก ถ้าให้นึกเร็วๆ จะนึกถึง ตอนที่ลูกสาวฝึกดนตรีเพลงหนึ่งซึ่งมันยากมาก ซ้อมเท่าไรก็ไม่ได้ เขาพยายามอยู่กับมันนานมาก เราก็นั่งอยู่ข้างๆ เขา เห็นว่าเขากำลังเผชิญความยาก แล้วพอทำได้ เขาหันมาขอไฮไฟว์กับเรา ตอนเขาหันมาสบตากับเรา เรารู้สึกเลยว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จเขา เขานับรวมเราเข้าไปอยู่ในชีวิตเขา”
แม่บี มิรา ปิดท้ายและดวงตายังเป็นประกายอยู่