- มิวเซียมสยามไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่เชิญชวนเดินดูสิ่งโบราณ แต่เป็นพิพิธภัณฑ์แนว narrative เน้นการเล่าเรื่อง จับเอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง โดยนำเสนอผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีร่วมสมัย เช่น บอร์ดเกม, วิดีโอเกมในระบบ QR code ผ่านงานนิทรรศการหลัก รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เช่น งานเสวนา, การฉายหนัง, การจัด workshop
- “การมาพิพิธภัณฑ์ไทยคือการมาพิพิธภัณฑ์ แต่คนไปพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) คือการท่องเที่ยว” คุยกับ ‘กอล์ฟ-กบ’ ในฐานะผู้ดูแลและภัณฑารักษ์ มองว่าส่วนหนึ่งที่คนไทยไม่รู้สึกสนุกกับการไปพิพิธภัณฑ์ เป็นเพราะไม่มีวัฒนธรรมการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่มากพอ
- “เพราะเมื่อไรก็ตามที่คนเริ่มรู้สึกปกติกับการไปพิพิธภัณฑ์ รู้สึกเหมือนว่าไปเที่ยว เมื่อนั้นประเทศเราก็จะมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ขึ้น”
เมื่อมีอาการหนักอึ้งและรู้สึกเหนื่อยล้าหลังจากผจญภัยกับการเรียนและชีวิตการทำงานอย่างหนักหน่วง สัญญาณอันตรายนี้กำลังเรียกร้องให้ร่างกายเร่งตักตวงเวลาพักผ่อนในวันหยุดเพื่อคลี่คลายสมองและโยนความตึงเครียดทิ้งไปไกลๆ บางคนจึงเลือกใช้เวลาในวันเสาร์-อาทิตย์ไปกับการทำกิจกรรมหย่อนใจต่างๆ ตามใจตัวเอง หรือเลือกที่จะพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่อยากไป
ไม่ต่างจากผู้คนที่เดินชมนิทรรศการอยู่ที่มิวเซียมสยาม
พวกเขาเลือกใช้เวลาในวันหยุด ปล่อยตัวปล่อยใจดื่มด่ำกับข้อมูลตรงหน้า
ปัจจุบันมิวเซียมสยามกำลังจัดแสดงนิทรรศการภายใต้ หัวข้อ ‘ถอดรหัสไทย’ นำเสนอผ่าน 14 เรื่องราว ทั้งเรื่องอาหาร การแต่งกาย ประวัติศาสตร์ ประเพณี สถาปัตยกรรม โดยใช้เทคนิคการนำเสนอผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีร่วมสมัย และมีกิจกรรม interactive ที่เรียกร้องให้เราในฐานะผู้รับสารโต้ตอบและสร้างปฏิสัมพันธ์ เช่น ชวนเรียนรู้เรื่องประเพณีและวัฒนธรรมไทยผ่านบอร์ดเกม หรือ เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านวิดีโอเกมในระบบ QR code
มิวเซียมสยามค่อยๆ ฉีกทลายภาพจำเดิม การไปพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป
The Potential ชวน ‘กอล์ฟ-ซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี’ ผู้อำนวยการฝ่ายมิวเซียมสยาม ในฐานะผู้จัดการและดูแลพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ และ ‘กบ-พาฉัตร ทิพทัส’ ภัณฑารักษ์และนักจัดการความรู้ ในฐานะผู้สร้างสรรค์เนื้อหานิทรรศการ ถึงวิธีการทำงาน ความคิด ความเชื่อ นำไปสู่กระบวนการหยิบจับวัตถุดิบต่างๆ เพื่อออกแบบความรู้
ภารกิจหลักของมิวเซียมสยามคืออะไร
กอล์ฟ: มิวเซียมสยามเป็นหนึ่งในความดูแลของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เน้นการสร้างประสบการณ์ใหม่ในการชมพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่ทำให้ที่นี่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่นๆ คือการไม่ได้เน้นการโชว์ของโบราณ แต่เป็นพิพิธภัณฑ์แนว narrative (เน้นการเล่าเรื่อง) โดยจับเอาคอนเทนต์ (เนื้อหา) เป็นตัวตั้ง แล้วตีโจทย์ต่อว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องนี้ โดยมีการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ
- นิทรรศการถาวร
- นิทรรศการหมุนเวียน
- กิจกรรมสร้างสรรค์
การเรียนรู้ 3 รูปแบบ ต่างกันอย่างไร
กบ: นิทรรศการถาวรจะมีอายุจัดแสดงนานที่สุด อยู่ประมาณ 5-10 ปี แต่จะไม่นานกว่านี้เป็น 20-30 ปี เพื่อป้องกันความล้าหลังของข้อมูล ปัจจุบันอยู่ในธีม ‘ถอดรหัสไทย’ มีทั้งสิ้น 14 ห้อง 14 เรื่องราว เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ อาหาร การแต่งกาย ส่วนนิทรรศการหมุนเวียน เนื้อหาจะเปลี่ยนไปทุกๆ 4 เดือน และด้วยความที่อายุจัดแสดงอยู่ไม่นาน ทำให้คิดและสร้างเนื้อหาที่มีความหวือหวากว่าได้ สามารถจะเพิ่มลูกเล่นในคอนเทนต์ได้ ส่วนอย่างสุดท้ายคือกิจกรรมสร้างสรรค์จะถูกจัดขึ้นเป็นวาระ จุดประสงค์เพื่อขยายความเข้าใจของนิทรรศการถาวร/หมุนเวียน เช่น กิจกรรมงานเสวนา งาน workshop หรือการฉายหนัง
ที่บอกว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เน้นเอาข้อมูลเป็นตัวตั้ง ทำอย่างไรบ้าง ช่วยยกตัวอย่างได้ไหม
กอล์ฟ: เช่น ห้องไทยโอนลี่ (หนึ่งในห้องนิทรรศการถาวร) โจทย์คือจะทำยังไงให้คนเห็นภาพของคนไทยแบบชัดๆ เราจึงเลือกเล่าผ่านสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่มีเฉพาะในไทย เช่น รองเท้าแตะช้างดาว
กบ: เราจะแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ที่อื่น อย่างกรมศิลป์จะเป็นพิพิธภัณฑ์อีกแนว เขามีทรัพย์สมบัติที่มีค่า เขาจึงต้องชูประเด็นเรื่อง ‘สิ่งของ’ เป็นหลัก อาจจะโชว์ความงามและนำเสนอประวัติ ส่วนของเราเน้นการจับ topic ในการเล่าเรื่อง โดย topic นั้นอาจจะถูกอธิบายผ่านสิ่งของ เกม บทสัมภาษณ์ คอมพิวเตอร์กราฟิกก็ได้ หรือมีเทคนิคอื่นๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นมิวเซียมสยามจึงมีความวาไรตี้มาก
วิธีการเลือก Topic มีวิธีการคิดและเลือกอย่างไร?
กอล์ฟ: จริงๆ มันเป็นหัวข้อมาจากนักวิชาการรุ่นใหญ่ แต่หัวใจหลักคือมิวเซียมสยามจะไม่ทำประวัติศาสตร์ระยะไกล เช่น ย้อนไปสุโขทัย-อยุธยา เพราะมีคนทำไปแล้ว เราคิดว่าคนที่มามิวเซียมสยามไม่ได้อยากรู้ประวัติศาสตร์ที่ไกลตัวขนาดนั้น และเราก็อยากทำให้คนรู้สึกว่าการเข้าพิพิธภัณฑ์ได้ตกตะกอน message อะไรบางอย่าง หรือได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จึงเลือกทำประวัติศาสตร์ระยะใกล้ เช่น เรื่องวิกฤติต้มยำกุ้ง มันเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เคยได้ยิน แต่อาจจะไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราจะหยิบเอาเรื่องแบบนี้มานำเสนอมากกว่า
มิวเซียมสยามเหมาะกับใคร – ใครคือผู้มาใช้บริการ
กอล์ฟ: เราต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าอยากให้ใครมาดูกันแน่ เนื้อหาของเรามักเป็นเรื่องทันสมัย ดังนั้นเราก็พยายามเซ็ตตัวเองว่าเราเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับคนรุ่นใหม่ แล้วคนรุ่นใหม่คือใคร – ก็เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มครอบครัว (รุ่นใหม่) ที่ไม่ใช่รุ่นพ่อแม่เรา มิวเซียมสยามจะเป็นสถานที่ที่มีความรู้ใหม่ๆ ให้เด็กๆ ได้เพลิดเพลินด้วย
ซึ่งสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลได้ตรงตามที่เราเซ็ตจริงๆ ถ้าถามว่ายอดคนเพิ่มขึ้นไหม ยอดคนที่มามิวเซียมสยามหรือยอดคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมแต่ละปีมันไม่ได้โตมาก เดือนหนึ่งอยู่ที่ประมาณหมื่นกว่าคน เฉลี่ยแล้วต่อปีมีผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ประมาณ 2 แสนคน ถามว่าทำไมลดลง มิวเซียมสยามประสิทธิภาพด้อยลงหรือเปล่า – ไม่ใช่
มันเป็นเพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคาแรคเตอร์ใกล้เคียงกับเราเปิดขึ้นเยอะ ภาษาการตลาดเขาเรียกมี market share มากขึ้น เมื่อมีตัวเลือกเยอะขึ้น หากยอดคนมาเที่ยวจะน้อยลงจากเมื่อสิบปีที่แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้ไม่เที่ยวแล้วนะ แต่เขามีทางเลือกที่อื่น
สิ่งที่น่าดีใจจากผลสำรวจที่เราทำ พบว่า ตัวเลขหมื่นกว่าคนนั้นเป็นคนที่เพิ่งเคยมามิวเซียมเป็นครั้งแรก ซึ่งหมายความว่ามีคนรู้จักเราเพิ่มขึ้น นี่ถือว่าประสบความสำเร็จนะ แสดงว่าคนเหล่านี้รู้จักเรา เขาไม่ใช่กลุ่มแฟนพันธุ์แท้ที่มาบ่อยๆ ด้วยซ้ำ
ทำไมมิวเซียมสยามเริ่มเขย่าผู้รับสารใหม่
กบ: เราทำตั้งแต่แรกเลยนะ จริงๆ เราโฟกัสที่เด็ก ม.ปลาย นักศึกษา เป็นวัยที่เขาจะโฟกัสเรื่องเรียน กำลังจะเลือกอาชีพ เด็กๆ พวกนี้เขามีความคิดเป็นของตัวเอง เขามีภาพจำว่าพิพิธภัณฑ์แบบเดิมๆ คือสิ่งไม่สนุก ไม่มีแอร์เย็น มีของเก่า คร่ำครึ พอเราเริ่มทำเนื้อหาเพื่อคนรุ่นใหม่ ก็คิดว่าเขาน่าจะชอบและน่าจะมาหาเรามากขึ้น
เมื่อมีกลุ่มเป้าหมายชัดแล้ว นำไปสู่การสร้างเนื้อหาของมิวเซียมอย่างไร
กบ: ถ้าเป็นนิทรรศการทั่วไปของมิวเซียมสยามต้องเริ่มจากหัวข้อนี่แหละ เราตีโจทย์ว่าผู้ชมควรรู้เรื่องอะไรบ้าง เช่น ตอนนี้ประเด็นอะไรกำลังมา เทรนด์อะไรกำลังมา ประเด็นอะไรที่ร่วมสมัย และยึดผู้ชมเป็นศูนย์กลาง learning ที่ดี ต้องมี learner เป็น center เราเป็นเหมือนครู จะปรับคอนเทนต์อย่างไรให้เข้ากับเขา
เราก็ต้องทำรีเสิร์ชหนัก ท่ามกลางดงข้อมูลคอนเทนต์ที่กองเต็มโต๊ะ เราต้องเลือก บางอันมันอาจจะไม่จำเป็นกับผู้ชมเท่าไหร่ แต่ในเชิงวิชาการเราคิดว่าเขาควรจะรู้ ผ่านการสังเคราะห์ข้อมูลของทีม ซึ่งโหดร้ายมาก ต้องผ่านการ discuss กันแบบอ้วกแตกอ้วกแตน ช่วยกันหาประเด็นที่น่าสนใจ ประเด็นที่คนคิดว่ามัน twist กับเรื่องที่เขาเคยรู้มาก่อนได้ เช่น เราจะเล่นเรื่องความเชื่อผิดๆ เราต้องรีเสิร์ชข้อมูลอย่างรอบคอบ เพื่อทำเนื้อหาไปในเชิงท้าทายแนวความคิด
ตัวอย่างที่ชัดมากที่เราพยายาม twist ประเด็น คือ นิทรรศการเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว เรื่อง ‘กินของเน่า-เห่อของนอก’ คนไทยมักพูดว่าประเทศไทยเป็นครัวของโลก อาหารไทยอร่อยมาก แต่ตัวนิทรรศการทำให้เห็นว่าอาหารไทยคือของเน่า ของเน่าที่ว่าคือสิ่งที่เรากินประจำแค่ผ่านกระบวนการถนอมอาหารนั่นเอง หรือนิทรรศการเรื่อง ‘ส้วม’ ที่เราไม่ได้พูดถึงวัฒนธรรมไทยในเชิงสวยงาม แต่เอาประเด็นเรื่องการขี้มาพูด รวมถึงเรื่อง ‘ไฉไลไปไหน’ ที่พูดเรื่องความงามที่ต้องแลกกับการทรมานร่างกาย เราสวยเพราะใส่ส้นสูง ใส่ corset รัดเอว หรือการอดอาหารเพื่อผอม ชวนคนมาหาคำตอบของความสวยเหล่านั้น
กว่านิทรรศการแต่ละเรื่องจะเกิดขึ้น หลังฉากต้องผ่านกระบวนการทางวิชาการและการคิดสื่อสาร เราจะย่อยออกมาให้สนุกได้อย่างไร
กบ: เวลาจะทำนิทรรศการขึ้นสักอัน จะต้องมีฝ่ายรีเสิร์ชที่ทำข้อมูลผลลัพธ์ออกมาเป็นตัวหนังสืออยู่แล้ว แต่เรามีหน้าที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจข้อมูลนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะมาอยากนั่งอ่านหนังสือหรืออยากรู้ข้อมูลอะไรมากมาย หน้าที่ของเราก็คือการย่อยเพื่อให้คนเสพได้ง่าย เราต้องย่อยบุ๊คเหล่านั้นให้เป็นคอนเทนต์ อยู่ในรูปของกายภาพให้ได้
กอล์ฟ: และเราก็เน้นการทำงานร่วมกัน หน้าที่ของพี่กบคือการสร้างนิทรรศการ ก่อนจะเป็นนิทรรศการ ก็ต้องมีคอนเทนต์ ซึ่งมีข้อมูลเต็มไปหมดเลย บางครั้งเราเองในฐานะคนดูแลกิจกรรมอาจจะดึงข้อมูลตรงนี้ออกมาต่อยอดเป็นกิจกรรมเสริม
ยกตัวอย่างชัดๆ ได้ไหม
กอล์ฟ: สมมุตืมีนิทรรศการ 1 เรื่อง เกี่ยวกับ LGBT ภายในนิทรรศการก็จะมีกิจกรรมต่างๆ แตกหน่อออกไป เช่น เป็นเสวนา มีการฉายหนัง มีคอนเสิร์ต ฯลฯ
ที่บอกว่ามิวเซียมสยามไม่ได้เป็น Museum for Everyone แล้วเป็น Public Space for Everyone ไหม?
กอล์ฟ: จริงๆ เป็นได้ แต่การจับเนื้อหาของผู้รับสารแต่ละช่วงวัยก็ไม่เหมือนกัน เครื่องมือการเรียนรู้บางอย่างในมิวเซียมสยามเหมาะกับเด็กวัยรุ่นแต่อาจจะไม่สะดวกต่อผู้สูงวัย
แต่ละช่วงวัยก็มีความสนใจต่างกัน เราอาจจะตั้งโจทย์เลือกว่าอยากนำเสนอให้ใคร อย่างไรเสียทุกอย่างมันก็จะเชื่อมโยงกันหมด ตั้งแต่การคิด คอนเทนต์ การดีไซน์กิจกรรม เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงการประชาสัมพันธ์ไปให้ถึงกลุ่มเป้าหมายเช่น นิทรรศการนี้เหมาะกับเด็กรุ่นใหม่ เราก็จะใช้ Facebook เป็นช่องทางชักชวนให้เขาเข้ามาหาเรา
จริงๆ แล้วคนที่มามิวเซียมสยามหลายๆ คนอาจจะไม่ได้ตั้งใจมานิทรรศการก็ได้ เขาอาจจะมาเพราะมีกิจกรรมหรือ event ที่มันไปกระทบเขา สำหรับเราแค่ดึงให้เขาเข้ามาใช้พื้นที่แล้วเกิดประโยชน์ก็โอเคแล้ว
กบ: ปฏิเสธไม่ได้ว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของมิวเซียมคือการมีภาพลักษณ์ที่ดี ทำให้ครอบครัวมักพาลูกมา เพราะมันเป็นสถานที่ที่เก๋ ดูมีความรู้ เด็กที่เป็นแฟนจีบกันใหม่ๆ มักจะพากันมาเที่ยวมาเดทกันที่นี่ ซึ่งเสน่ห์นี้ใช้บอกสเตตัสและสไตล์ของคนได้ คนก็เลยมา
อย่างน้อยก็ดึงเขาออกมาจากบ้าน ไม่ไปเดินห้าง คู่แข่งเราไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่อื่นเลยนะ แต่เป็นห้างสรรพสินค้า วันหยุดเสาร์อาทิตย์จะทำอย่างไรให้เขามาหาเราล่ะ
แล้วจะทำอย่างไรให้คนไทยรู้สึกอยากลุกออกจากบ้านแล้วมามิวเซียม ไม่ไปห้าง
กบ: ในฐานะคนทำงาน เราต้องยอมรับว่ายังต้องพัฒนาเรื่องนี้ บางทีติดกับงานที่ต้องมีเนื้อมากเกินไป จนมันเริ่มไม่สนุก มันยากนะ การที่จะทำให้คนรู้สึกบันเทิงเริงรมณ์ให้พอดีกับเปอร์เซ็นต์ของเนื้อหา คงต้องใช้วิธีให้ข้อมูลหรือการนำเสนอให้เขาอินและรู้สึกว่าเอาใปใช้ในชีวิตประจำวันได้
ในฐานะผู้ที่ทำงานกับการสร้างสรรค์เนื้อหาและพื้นที่ มีความยากอะไรบ้าง และมีวิธีการดึงให้คนออกมาอย่างไร
กอล์ฟ: สำหรับเรามองว่าการทำงานกับพื้นที่มันมี ‘ข้อดี’ ลองเทียบพิพิธภัณฑ์ที่อยู่บนตึกสูงกับพิพิธภัณฑ์ที่มี space มันทำให้เราทำอะไรได้หลากหลายขึ้น มันดึงดูด มันทำให้เราเลือกทำอะไรได้เยอะ เรามองว่ามันเป็นข้อดีมากๆ
เมื่อมิวเซียมมีข้อดีเป็นของตัวเอง แล้วจะทำอย่างไรให้คนเข้ามาหาข้อดีของเรา
กอล์ฟ: ‘อยู่ที่คอนเทนต์ล้วนๆ’ เราจะทำของเหล่านั้นให้เตะตา ดึงดูดใจได้มากน้อยแค่ไหน ความยากมันเลยไปอยู่ที่หัวข้อหรือประเด็น ต่อให้คุณมี space ที่ดี แต่เนื้อเรื่องคุณไม่น่าสนใจ ทำอะไรที่คนอื่นเขาทำไปแล้ว คนก็ไม่มาหรอก ทุกอย่างมัน base on content เป็นหลัก
กบ: ดังนั้นพอบอกว่าทุกอย่างจะต้องเชื่อข้อมูล เราพบว่าคนไทยไม่ได้มีพฤติกรรมที่ base on content เลย แม้แต่ในห้องเรียน เด็กๆ ก็ไม่ได้ถูกสอนให้คิดได้ด้วยตัวเอง ทุกอย่างเป็น passive ครูสั่งจากบนลงล่าง ครูสอนหน้าห้อง นักเรียนมีหน้าที่จด ใครท่องได้ดีกว่ากันคนนั้นก็ได้คะแนนไป เด็กเก่งคือเด็กที่จำเก่ง เราไม่ได้ปลูกฝังเรื่อง critical thinking หรือการคิดพัฒนาต่อยอด กลับเน้นท่องจำและเป็น passive
ทักษะการเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีผลอย่างไรต่อความรู้สึกอยากมามิวเซียม
กบ: ประเทศเราไม่มีการเสริมเด็กให้เรียนรู้ในเชิงหาข้อมูลด้วยตัวเอง ไม่มีการเรียนรู้ตามอัธยาศัย การเรียนรู้นอกห้องเรียนก็มีน้อย มิวเซียมมันขึ้นอยู่กับเด็กอยู่แล้ว เมื่อเด็กอยากจะค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง เขาจะมาเอง ไม่ต่างจากการค้นอินเทอร์เน็ต เล่นยูทูบ ตอนนี้เรากำลังคาดหวังกับการเปลี่ยนพฤติกรรมคน เปลี่ยนในระดับ behavior มันไม่ใช่ง่ายๆ มันยาก ต้องปลูกฝังใหม่
เรื่องนี้ควรเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ในห้องเรียน รวมถึงครอบครัวด้วย มันไม่ได้เปลี่ยนได้ใน 10 ปี มันต้องเปลี่ยนทั้ง generation เราอาจหวังกับพ่อแม่ที่พาเด็กมาดูมิวเซียมสยามตอนนี้ก็ได้ เพราะอย่างน้อยพวกเขาก็มีวัฒนธรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้ลูกเขา
ถ้าพูดถึง Public Space มันหนีโครงสร้างรัฐไม่ได้ ในฐานะคนทำงานมิวเซียม รัฐควรจะหนุนเสริมเรื่องอะไรบ้าง
กบ: สำหรับตัวองค์กรมันได้ภารกิจว่าต้องชวนให้คนมาเที่ยวมิวเซียมอยู่แล้ว แต่ตราบใดที่ policy ที่มันไม่เอื้อ คนก็ไม่มา ให้เห็นภาพง่ายๆ การที่มีคนมามิวเซียมเยอะ มันจะเกิดการหมุนเวียน เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเกิดการพัฒนาตัวเองตามมา แต่เมื่อมันไม่มี policy เราก็ได้แต่นั่งรอ…รอคนเข้ามา อย่างที่เคยบอกไว้ว่าให้เด็กเลิกเรียนบ่าย 2 จากนั้นให้ไปเรียนรู้ตามอัธยาศัย แต่ความเป็นจริงเด็กก็ไม่ได้เลือกมามิวเซียม เลยมองว่าเรื่องนี้มันต้องอยู่ระดับ policy ทั้งในโรงเรียนเองด้วย เราต้องไปด้วยกันเพื่อสร้างพฤติกรรมให้มันเป็นวัฒนธรรม
เพราะทุกวันนี้คนไทยยังคิดว่า การมาพิพิธภัณฑ์ไทย คือการมาพิพิธภัณฑ์ แต่คนไปพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) คือการท่องเที่ยว policy อาจจะช่วยเปลี่ยนภาพจำ เพราะเมื่อไรก็ตามที่คนเริ่มรู้สึกปกติกับการไปพิพิธภัณฑ์ รู้สึกเหมือนว่าไปเที่ยว เมื่อนั้นประเทศเราก็จะมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ขึ้น
มิวเซียมสยามมีการคำนึงถึงการจัดสรรปันส่วนเรื่องพื้นที่หรือเปล่า เช่น ครอบครัวมีทั้งพ่อ แม่ ลูก เมื่อเข้ามาที่มิวเซียมจะต้องมีกิจกรรมที่หลากหลายรองรับ
กอล์ฟ: พยายามจะมี activity ที่หลากหลาย แต่เราไม่ลืมกลุ่มเป้าหมาย ไม่อยากสะเปะสะปะ ในทางกลับกันเราพยายามที่จะทำให้พื้นที่มีประโยชน์มากที่สุด สมมุติในช่วงที่มีพื้นที่ว่างไม่ได้จัดงานก็จะเปิดให้คนเข้ามาเช่า ซึ่งเขาอาจจะไม่ใช่ target ของเราเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยก็ให้คนเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ เราพยายามทำให้มิวเซียมสยามกลายเป็นพื้นที่เปิดสำหรับทุกคน เพื่อให้เขาเข้ามารู้จักมิวเซียมของเรา โดยบางครั้งอาจจะผ่านคนอื่นก็ไม่เป็นไร
กบ: จริงๆ คนไทยโหยหางาน social event นะ เสาร์อาทิตย์เขาจะไปไหนล่ะ จะให้เขาไปเดินสวนสาธารณะเมืองไทยก็เป็นเมืองร้อน งานแฟร์หรืออีเวนท์ต่างๆ มันน้อย ทางเลือกมันน้อย
ในอนาคตอยากจะหยิบจับคอนเทนต์อะไรขึ้นมาทำอีกบ้าง
กอล์ฟ: ทุกวันนี้สิ่งที่เราทำคือการทดลองมากๆ มันทำให้เราได้กลับมานั่งทบทวนใหม่เสมอ เราจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ ในวันข้างหน้า เราเรียนรู้จากประสบการณ์เดิมจากสิ่งที่เราเคยทำมาว่าคนเขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร เราพยายามพัฒนาตัวเอง เพื่อในอนาคตมันจะได้ไม่เฟล จับทางในสิ่งที่เคยทำมาแล้วมาเป็นอนาคตนี่คืออนาคตของเรา
กบ: เรามักมีโมเดลจากฝรั่ง แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องทำให้ตอบสนองกับเราเอง ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์แบบไทยๆ มันอาจจะสะท้อนอารมณ์ขันออกมา ข้อมูลไม่ต้องลึกมาก ไม่ต้องดูแล้วกินใจร้องไห้ แต่มันจะไปได้ดีแบบไทย เป็นไทยสไตล์ ทั้งหมดทั้งมวลมันได้จากสิ่งที่เราทำมาแล้ว