- สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจในอนาคตได้แน่นอนคือ There still be tomorrow without us วันพรุ่งนี้จะมาไม่ว่าเราจะอยู่หรือเราจะไป แล้วโลกอนาคตจึงฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น
- ความหวังอยู่ที่คนรุ่นใหม่ ความหลากหลายคือพลัง แล้วการสร้างเครือข่ายคือคำตอบ
- โรงเรียนอนาคตเกิดขึ้นแล้วจะไม่จบแค่ 2 อาทิตย์ แต่มันจะดำเนินไปต่อ เครือข่ายของนักศึกษาจะดำเนินไปต่อ รู้จักกัน และร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมต่อไป
‘โลกอนาคตจะเป็นอย่างไร หน้าตาอย่างไร’ สองคำถามนี้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และน้อยคนนักที่จะตอบคำถามนี้ได้ สิ่งที่ตามมาคือเมื่อเราไม่รู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร แล้วเราจะอยู่ในโลกอนาคตได้อย่างไรถ้าเราไม่เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้
แล้วเหตุใด ‘อนาคต’ ถึงสำคัญ รองศาตราจารย์ดอกเตอร์ พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงอนาคตไว้ว่า
“อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอนสูง คำถามคือเมื่อไม่รู้ว่าโลกอนาคตเป็นอย่างไร แล้วจะเตรียมคนเพื่อให้ไปสู่โลกอนาคตนั้นได้อย่างไร มีเพียงสิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจได้แน่นอนคือ There still be tomorrow without us วันพรุ่งนี้จะมาไม่ว่าเราจะอยู่หรือเราจะไป โลกอนาคตจึงฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ทั้งสิ้น”
จากความไม่แน่นอนของอนาคต นำไปสู่การจัดตั้งโรงเรียนอนาคต โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด
ภาคีทั้ง 5 ร่วมกันทำโรงเรียนอนาคตขึ้น ชวนนักเรียนนักศึกษาจากทั่วประเทศตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึงรั้วมหาวิทยาลัยทั้งหมด 30 คน เข้าร่วมเรียนด้วยกัน 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 8-22 กรกฎาคม ให้นักศึกษากิน นอน เรียนอยู่ด้วยกัน ผ่านกระบวนการเรียนรู้หลากหลายเพื่อสร้างความรู้และทักษะที่จะใช้ชีวิตในโลกอนาคต
รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมไทยและสังคมโลกได้ และเหมาะสมกับการเป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21
ผู้นำรุ่นใหม่ของ รศ.เกศินี ต้องมีคำว่า GREAT อยู่ใน DNA ซึ่ง GREAT ที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 นี้ไม่ได้หมายความสั้นๆ ว่า ยอดเยี่ยม แต่ไปไกลกว่านั้น คือ
G – Global mindset ในการอยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถอยู่ได้ ปรับตัวเข้าได้ มีความรู้ความเข้าใจและเชื่อมโยงได้
R – Responsibility เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ
E – Eloquent มีสุนทรียในจิตใจ
A – Aesthetic appreciation สามารถสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง
T – Team leader เป็นผู้นำทีม ในโลกยุคนี้ต้องทำงานเป็นทีม ช่วยกันคิดช่วยกันทำ และพร้อมที่จะเป็นผู้นำ
เป้าหมายสำคัญอีกประการของโรงเรียนอนาคต คือ ต้องการให้เยาวชนเกิดการตระหนักรู้ ตั้งคำถาม ที่สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต เราต้องการเยาวชนที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ ออกนอกกรอบ และสร้างสังคมที่เกิดความสมานฉันท์ขึ้น
สตีเนอ คลัพเพอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย กล่าวด้วยความหวังที่ว่า
“แม้ว่าอนาคตจะยังดูไม่ค่อยสดใสในสังคมโลกปัจจุบัน แต่อยากให้ทุกคนมีความคิดว่าเราจะพัฒนาสังคม และโลกใบนี้ไปได้ เพราะอนาคตจะเป็นสิ่งที่เราสร้างและกำหนดรูปแบบได้ด้วยตัวเราเอง และหวังว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะร่วมกำหนดอนาคตไปด้วยกัน”
เมื่อโรงเรียนมีเป้าหมาย แต่โรงเรียนจะดำเนินต่อไปไม่ได้หากปราศจากฐานความเชื่อที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนการเรียนการสอนของโรงเรียนอนาคต ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดถึงฐานความเชื่อสามประการของโรงเรียน คือ
- ความหวังอยู่ที่คนรุ่นใหม่: เพราะเขายังมีศักยภาพเติบโตไปได้อีกนาน ยิ่งเราให้โอกาสเขาเร็วเท่าไหร่ เขาจะพัฒนาศักยภาพแล้วดึงศักยภาพตัวเองออกมาเร็วเท่านั้น
- ความหลากหลายคือพลัง: โลกปัจจุบันความรู้เฉพาะด้านอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ความตั้งใจของหลักสูตรนี้คือเด็กสายนิเทศศาสตร์ที่อยากเติบโตไปเป็นสื่อ เขาควรจะมีความรู้ในเรื่องสังคม การเมือง เศรษฐกิจ กฎหมาย สิ่งแวดล้อม เด็กที่เรียนด้านรัฐศาสตร์ต้องรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ เด็กที่เรียนด้านศิลปะการแสดงจะได้มาเรียนเรื่องปรัชญา
- การสร้างเครือข่ายคือคำตอบ: ลำพังตัวคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ต่อให้คุณเก่งอย่างไรก็ตาม เราก็อยากให้คนเก่งๆ ในแต่ละสาขาได้มีโอกาสมาเจอกัน แล้วหลังจากเรียนจบออกไป เราอยากให้เขาสานต่อความสัมพันธ์ เป็น ages of change คือ ตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงที่จะขยายองค์ความรู้ และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนนี้ไปสู่สังคมในวงกว้าง
คำถามต่อมาคือแล้วผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะบรรลุไปสู่เป้าหมายของโรงเรียนได้อย่างไร ผ่านการเรียนการสอนแบบไหน ‘คุณครูใหญ่’ ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ดิวันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด และบรรณาธิการบริหารสื่อความรู้สร้างสรรค์ บริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด คุณครูใหญ่ปกป้องอธิบายว่า
กิจกรรมในแต่ละวันแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงเช้าเป็นคลาสพูดคุย ถกเถียงในเชิงวิชาการ ตั้งโจทย์จากประเด็น เช่น ความเป็นพลเมืองโลก ความยุติธรรม ความท้าทายต่อทุนนิยม ระเบียบโลกใหม่ ประเด็นเหล่านี้ต้องรวมหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้นักศึกษาเห็นว่าโลกเปลี่ยนอย่างไร เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในสารพัดมิติ
ช่วงบ่ายเป็นคลาสลงมือทำเพื่อฝึกทักษะ ในโลกของการศึกษายุคใหม่ แนวคิด 21st century skill ที่ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาเท่านั้น นักศึกษาต้องมีความสามารถตั้งคำถามวิพากษ์ เรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดเวลา ทักษะจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการทำงานเป็นทีม และการเป็นพลเมืองโลกด้วย
Dinner talk หลังมื้อค่ำ เพราะการเรียนรู้มาจากบทสนทนาในวงที่ไม่เป็นทางการด้วย คนที่น่าสนใจในแวดวงต่างๆ เน้นคนในวงปฏิบัติจึงถูกเชิญมาเป็นอาจารย์พิเศษ เช่น ซีอีโอธนาคารเกียรตินาคิน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ โดยให้นักศึกษาจะเป็นฝ่ายชวนคุยและตั้งคำถาม
ทุกวันเสาร์จะเดินทาง เช่นจะนำไปคุยกับทีมนักธุรกิจ start up ชวนนักศึกษาคุย ตั้งคำถามเกี่ยวกับธุรกิจในโลกยุคใหม่ เขาจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไรต่อโลกยุคใหม่ ไม่ใช่ให้เด็กๆ เข้าไปเป็นลูกจ้างอย่างเดียว แต่ให้คิดสร้างสรรค์ ทำอะไรที่เป็นของตัวเองได้ด้วย นอกจากนี้ยังชวนนักศึกษาให้รู้จักการเมืองไทยผ่านการเดินย่านสำคัญๆ อย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยนักศึกษาทุกคนต้องส่งผลงาน ทั้งรูปแบบงานกลุ่มและงานเดี่ยว ภายใต้โจทย์ว่า “คุณต้องทำเมืองไทยด้านไหนให้ดีขึ้น”
“เขาจะเอาความรู้ที่ได้จากการเรียน มานำเสนอในวันสุดท้ายของโรงเรียน จากนั้นคือ งานเดี่ยว ที่ต้องส่งงานสามเดือนหลังจากนั้น ภายใต้หัวข้อ ‘โรงเรียนอนาคตของเรา’ ในมิติใดก็ได้ และไม่จำกัดรูปแบบ”
“เราตั้งใจว่าโรงเรียนอนาคตเกิดขึ้นแล้วจะไม่จบแค่ 2 อาทิตย์ แต่มันจะดำเนินไปต่อ เครือข่ายของนักศึกษาจะดำเนินไปต่อ รู้จักกัน และร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมต่อไป” คุณครูใหญ่ปกป้องทิ้งท้าย