- คุยกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ที่เป็นโค้ชทีมฟุตบอล ว่าเราควร/ไม่ควรทำอะไร เพื่อดูแลจิตใจของทีมหมูป่า รวมถึงเด็กๆ ทุกคนที่ผ่านเรื่องเลวร้ายมากๆ มา ให้อยู่ต่อไปได้อย่างปลอดภัย
- สิ่งที่ควรทำคือ ปล่อยพวกเขาไป เพราะความเป็นห่วงแบบผิดๆ คือ การไล่ให้กลับไปอยู่กับความทุกข์ในถ้ำ
- ท่องเอาไว้ พวกเขาไม่ใช่เหยื่อ ไม่ใช่ฮีโร่ แต่คือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ
ระหว่างฝุ่นของเรื่องเล่า ข่าววิทยาศาสตร์-ไสยศาสตร์ยังตลบอยู่หน้าถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และ ‘ทีมหมูป่า’ ยังคงใช้ชีวิตอยู่ข้างใน หนึ่งในเรื่องใหญ่ที่ตอนนี้หลายคนพูดถึงและเตรียมแผนรองรับ คือ ชีวิตและจิตใจนอกถ้ำของทั้ง 13 คน
ทีมข่าว The Potential จึงสนทนาข้ามทวีปเพื่อขอความรู้จาก นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ หรือ หมอแนต จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกรมสุขภาพจิต ที่ตอนนี้กำลังศึกษาปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยเคนท์ ประเทศอังกฤษ
ทำไมต้องเป็นหมอแนต? เพราะหมวกอีกใบของหมอแนตคือ โค้ชทีมฟุตบอล ‘Thanet Galaxy PDFC’ ทีมนักฟุตบอลผู้พิการในมณฑลเคนท์ ที่ประกอบด้วย ผู้มีปัญหาทางสมอง ทางสติปัญญา ทางพฤติกรรม และทางอารมณ์ ในฐานะโค้ช หมอแนตยังเป็นเจ้าของ 2 ใบอนุญาต (license) คือ AFC ‘C’ coaching license (สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย) และ Level 2 FA coaching licence (สมาคมฟุตบอลอังกฤษ)
ในฐานะจิตแพทย์เด็ก-วัยรุ่น ที่เป็นโค้ชทีมฟุตบอลด้วย หมอแนตแนะแนวทางปฏิบัติเอาไว้ว่า
“จงปล่อยให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างปกติและสงบสุข แล้วความเข้มแข็งทางจิตใจที่เกิดขึ้น จะทำให้พวกเขากลายเป็นโค้ชที่ดีในอนาคต”
ต่อไปนี้คือการทำความเข้าใจเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน กรณีนี้หมอแนตอธิบายว่าสามารถใช้ได้ทั้งกรณีทีมหมูป่าและเด็กๆ ทุกคนที่เคยผ่านเรื่องเลวร้ายเข้าขั้นวิกฤติมา ผู้ใหญ่อ่านแล้วจะได้รู้ว่าควรคิดและทำตัวอย่างไร
1. ผลกระทบจากการวนเวียนอยู่กับความหิว ความกลัว ความสิ้นหวัง โดยไม่รู้สถานการณ์ภายนอกก่อความเครียดได้มหาศาล ต้องติดตามภาวะ ‘โรคเครียดภายหลังภยันตราย หรือ PTSD’
ผลกระทบทางร่างกายคงมีชัดเจนทุกคน เพราะไม่ได้รับประทานอาหารยาวนานถึง 9 วัน ย่อมมีภาวะขาดสารอาหาร สมดุลของเกลือแร่และน้ำในร่างกายอาจมีปัญหา แสดงออกมาชัดเจนด้วยอาการอ่อนเพลีย ส่วนภาวะการติดเชื้อต่างๆ อาจต้องมาตรวจอย่างละเอียดรายบุคคลอีกครั้ง
ผลกระทบทางจิตใจอาจไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก แม้จากภาพที่บันทึกออกมาจากในถ้ำเด็กๆ จะดูยิ้มแย้ม แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญพูดคุยและประเมินด้านจิตใจอย่างละเอียด เพราะการถูกขังในสถานที่มืดและแคบเป็นระยะเวลานาน เด็กและโค้ชต้องวนเวียนอยู่กับความหิว ความกลัว ความเศร้า ความสิ้นหวัง ตลอดเวลาที่ไม่ได้รับรู้สถานการณ์โลกภายนอกเป็นอะไรที่ก่อความเครียดได้มหาศาล ผู้ประสบภัยบางคนอาจรับมือกับความเครียดได้ดี สามารถจัดการกับสิ่งรบกวนทางจิตใจได้อย่างรวดเร็วก็อาจไม่เกิดปัญหาสุขภาพจิต แต่บางคนที่ไม่สามารถรับมือกับความเครียดได้ ในระยะสั้นอาจเกิดภาวะการปรับตัวผิดปกติ มีพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในระยะยาวต้องติดตามภาวะโรคเครียดภายหลังภยันตราย หรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder) ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน
2. ไม่โทษตัวเอง ไม่โทษคนอื่น ไม่คิดวกวนกับความโชคร้ายของตัวเอง เก็บเอาแต่สิ่งดีๆ ออกมา เช่น อดทนต่อความยากลำบาก เอาชนะความกลัว มีหวังอยู่เสมอ เขาจะเติบโตด้วย ‘ความเข้มแข็งถาวร’
คนเราอาจไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขเหตุการณ์อดีตอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ แต่เราสามารถแก้ไขวิธีการเชื่อมต่อระหว่างความคิดของเรากับเหตุการณ์นั้นได้ ถ้าเราเชื่อมต่อกับเหตุการณ์นั้นด้วยการโทษตัวเอง โทษคนอื่น คิดวกวนกับความโชคร้ายของตนเอง อดีตที่เราไม่มีวันแก้ไขได้ก็จะคอยทำร้ายเราเรื่อยๆ ในอนาคต แต่ถ้าเราสามารถดึงแต่สิ่งดีๆ ออกมาจากเหตุการณ์นั้น เช่น ความอดทนต่อความยากลำบาก การเอาชนะความกลัว การมีความหวังอยู่เสมอ เห็นคุณค่าของชีวิต และได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ก็จะทำให้การประสบภัยครั้งนั้นเปลี่ยนเป็นตัวช่วยเสริมชีวิตในอนาคต โดยนำความเข้มแข็งที่เกิดตอนประสบภัยมาต่อยอดเป็นความเข้มแข็งที่ถาวร
3. สิ่งที่เกิดขึ้นคือภัยธรรมชาติ ไม่ควรหาผู้รับผิดชอบ จังหวะที่ทุกสื่อรุมทำข่าวเดียวตลอดทั้งวัน เป็นโอกาสที่ทำให้เห็นว่าสำนักใดมีการพัฒนาตัวเอง ไม่ดูถูกผู้เสพ และเป็นสื่อที่มีคุณค่า
สื่อควรระมัดระวังในการสัมภาษณ์ครอบครัวของเด็กๆ เพราะการถามซ้ำๆ ย่อมไปตอกย้ำความกังวลใจที่มี แม้จะพบว่าเด็กยังปลอดภัยดี แต่ต้องอย่าลืมว่าเด็กๆ ยังไม่ได้ออกมาจากถ้ำ เมื่อผ่านไปสักระยะความดีใจที่ได้ทราบข่าวดีเมื่อพบเด็กจะวนกลับมาเป็นความกังวลใจในการช่วยเหลือแทน สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นสื่อควรรายงานเหตุการณ์นี้ในลักษณะภัยทางธรรมชาติ ไม่ควรกล่าวโทษใคร หรือหาผู้ที่ต้องมารับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้
ประชาชนควรเสพข่าวแต่พอดี ประเมินตัวเองก่อนว่าสามารถรับความเครียดจากข่าวได้มากน้อยเพียงใด และประเมินสื่อว่าสื่อนั้นมีคุณภาพพอให้ตนเองเสพหรือเปล่า ผมมองว่าช่วงที่สื่อทุกสื่อรุมทำข่าวเดียวกันตลอดทั้งวัน เป็นโอกาสที่ดีของคนไทยมากๆ ที่เราจะได้เห็นว่าสื่อสำนักใดมีการพัฒนาตัวเอง ไม่ดูถูกผู้เสพสื่อ และเป็นสื่อที่มีคุณค่าพอต่อสังคมไทยในอนาคต
4. สื่อและคนไทยไม่ได้มีหน้าที่บำบัดรักษา ไม่ควรถามคำถามใดๆ เลย ปล่อยให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างปกติและสงบสุข บางคำถามอาจทำให้ภาพความยากลำบากฝังแน่นอยู่ในความคิดและถูกกระตุ้นขึ้นมาทำร้ายพวกเขาเป็นช่วงๆ
สื่อและคนไทยทุกคนที่ไม่ได้มีหน้าที่ในการบำบัดรักษา ไม่ควรถามคำถามใดๆ เลยกับเด็กและโค้ชจนกว่าจะมีการประเมินว่าพวกเขาพร้อมสำหรับการตอบคำถามเหล่านั้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการอธิบายแนวทางในการซักถามมาบ้างแล้ว แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาผมยังไม่เชื่อว่าเราสามารถควบคุมได้จริงๆ และการควบคุมไม่ได้นั้นอาจส่งผลกระทบทางจิตใจต่อเด็ก โค้ช และครอบครัวของพวกเขาอย่างรุนแรง บางคำถามอาจก่อให้เกิดความรู้สึกผิดฝังใจตลอดชีวิต หรืออาจทำให้ภาพความยากลำบากฝังแน่นอยู่ในความคิดและถูกกระตุ้นขึ้นมาทำร้ายพวกเขาเป็นช่วงๆ
สิ่งที่สื่อและคนรอบข้างควรทำ คือ ปล่อยให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างปกติและสงบสุข ปฏิบัติทุกอย่างต่อพวกเขาเหมือนเดิมก่อนที่พวกเขาจะเดินเข้าไปในถ้ำ การพูดคุยเน้นไปที่การชื่นชม ให้กำลังใจ แสดงออกถึงความรักและความอบอุ่น เปิดช่องให้พวกเขามาปรึกษาได้ตลอดเวลาหากพบสิ่งที่ผิดปกติในตัวเอง
5. ถ้าอยากรู้ หรือต้องแถลงข่าวจริงๆ ควรใช้ระบบ pooled interview หรือการสัมภาษณ์ร่วมกัน คำถามจากสื่อควรถูกส่งมารวมๆ กัน ให้ผู้เชี่ยวชาญคัดกรองคำถามที่ไม่ก่อประโยชน์และอาจเกิดความเสี่ยงออกไป และมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้สัมภาษณ์แทน
ถ้าหากมีความจำเป็นต้องแถลงข่าวจริงๆ ควรใช้ระบบ pooled interview หรือการสัมภาษณ์ร่วมกัน โดยมีการตรวจวิเคราะห์โดยละเอียดจากจิตแพทย์ก่อนว่าทีมหมูป่ามีความพร้อมในการเล่าเรื่องหรือไม่ หากไม่พร้อมก็ไม่ควรมีการสัมภาษณ์เกิดขึ้น คำถามจากสื่อควรถูกส่งมารวมๆ กัน ให้ผู้เชี่ยวชาญคัดกรองคำถามที่ไม่ก่อประโยชน์และอาจเกิดความเสี่ยงออกไป และมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้สัมภาษณ์แทน
สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นจริงๆ คือ การไปเน้นนำเสนอทีมงานที่มาช่วยเหลือทีมหมูป่ามากกว่า ว่าหลังจากช่วยเด็กออกมาแล้วพวกเขารู้สึกอย่างไร ความยากลำบากในการทำงาน ความภาคภูมิใจของคนรอบข้างต่อการเสียสละของพวกเขา ความเป็นมาเป็นไปของแต่ละอาชีพ ผมว่าสิ่งเหล่านี้น่าสนใจกว่ามากๆ แถมเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนคนอื่นๆ อย่างมากด้วย เพราะมันคือวิชาแนะแนวที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติเลยทีเดียว
6. ในฐานะโค้ชทีมฟุตบอล โค้ชทีมหมูป่าน่าเป็นห่วงที่สุด ถ้ายังรู้สึกผิดติดค้างต่อเด็ก จะไม่สามารถควบคุมหรือสร้างระเบียบวินัยในการเล่นกีฬาให้กับเด็ก สำหรับเด็ก เมื่อโตขึ้น ผลัดเปลี่ยนออกไปจากทีม ไม่มีการเชื่อมต่อเรื่องติดถ้ำ ความเข้มแข็งทางใจที่เกิดขึ้น จะทำให้เขากลายเป็นโค้ชที่ดีในอนาคต
ในฐานะจิตแพทย์คงบอกอะไรไม่ได้ชัดเจนจนกว่าจะได้ประเมินพวกเขาด้วยตัวผมเอง แต่เชื่อได้ว่าเหตุการณ์ประสบภัยครั้งนี้ส่งผลต่อแต่ละคนไม่เหมือนกัน
คนที่สามารถต่อยอดความเข้มแข็งทางจิตใจในถ้ำออกมาสู่ชีวิตจริงและชีวิตกีฬาย่อมมีผลดีอย่างมหาศาล เพราะฟุตบอลยุคใหม่ถูกพัฒนาไปมากกว่าแค่เรื่องเทคนิคและแทคติก เรื่องจิตวิทยากลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถชี้ได้เลยว่าคนไหนจะกลายเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ
ในฐานะโค้ชฟุตบอล ผมกลับเป็นห่วงโค้ชทีมหมูป่ามากกว่า ผมไม่อยากให้เขาโทษตัวเอง อยากให้เขาชื่นชมตัวเองด้วยซ้ำว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กๆ ในทีมรอดมีชีวิตจนถึงวันนี้ ตัวเขาอาจไม่เห็นแต่ทุกคนเห็น ผลกระทบระยะสั้นน่าจะมี หากโค้ชยังมีความรู้สึกผิดต่อเด็กอยู่ในขณะที่ต้องสอนฟุตบอลไปด้วย ความรู้สึกติดค้างต่อนักกีฬาจะทำให้ไม่สามารถควบคุมหรือสร้างระเบียบวินัยในการเล่นกีฬาให้เด็กๆ ได้อย่างเหมาะสม การเชื่อมต่อระหว่างโค้ชกับผู้ปกครองก็อาจทำได้ลำบาก
แต่ทั้งนี้ในระยะยาวแล้ว เมื่อเด็กๆ กลุ่มนี้ผลัดเปลี่ยนออกไปจากทีม ไม่มีการเชื่อมต่อเรื่องภัยอันตรายที่เจอระหว่างเด็กกับโค้ชแล้ว ผมเชื่อว่าความเข้มแข็งทางจิตใจที่เกิดขึ้น จะทำให้เขากลายเป็นโค้ชที่ดีในอนาคตและถ่ายทอดความเข้มแข็งนั้นไปสู่ทีมหมูป่ารุ่นถัดๆ ไปได้
7. หลักการเยียวยาสากล เน้นให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติแบบเดิมเร็วที่สุด
แต่ละประเทศมีความคล้ายคลึงกันคือ เน้นให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติแบบเดิมเร็วที่สุด จำกัดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติซ้ำ หรือเกิดความทุกข์ทรมานจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับตนในอดีต มีการติดตามด้านสุขภาพจิตและด้านสังคมเป็นระยะ เปิดช่องทางให้สามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉินหากพบว่ามีความผิดปกติไปของตนเอง เท่าที่ติดตามข่าวสาร ประเทศไทยก็ใช้แนวปฏิบัติสากลเหล่านี้เช่นเดียวกัน อาจต้องเพิ่มเรื่องการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือกันปฏิบัติตามครับ
8. พวกเขาไม่ใช่เหยื่อ ไม่ใช่ฮีโร่ แต่คือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ
พวกเขาไม่ใช่เหยื่อ ไม่ใช่ฮีโร่ แต่คือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติครับ เรียกแบบยาวๆ ว่า ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติที่มีจิตใจเข้มแข็งและได้รับกำลังใจจากคนทั่วโลกครับ