- การสร้าง Growth Mindset เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของโรงเรียนที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ห้องเรียน’ ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอันดับหนึ่งต่อการเปลี่ยน mindset ของเด็กๆ นอกจากการเตรียมห้องเรียนข้างต้น ครูต้องมีแผนการสอนที่ดี จัดกิจกรรมให้เข้ากับลักษณะการเรียนรู้ และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ คิดเอง
- สำหรับการสร้างแผนการสอนของครู จะแบ่งการสอนเป็น 2 ส่วน หนึ่ง-ครูต้องเชื่อว่าเราทุกคนพัฒนาตัวเองได้ สอง-ทำความเข้าใจอะไรคือ Growth Mindset และ Fixed Mindset
- นอกจากนั้นครอบครัวก็มีส่วนในการสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิด Growth Mindset ด้วยอีกทาง เช่น ลดความต่างระหว่างห้องเรียนกับบ้าน โดยการรับรู้ข้อมูลแผนการสอนของครูที่โรงเรียน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความพยายามและพัฒนาการจากการฝึกฝนทักษะของลูกๆ
Growth Mindset หรือ กรอบคิดแบบเติบโต หรือการคิดเชิงบวก เป็นวิธีคิดที่เชื่อว่าเราทุกคนพัฒนาได้
งานวิจัยหนึ่งของ David Paunesku ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัย PERTS (The Project for Education Research That Scales) และทีมแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา พบว่าการให้นักเรียนฝึก Growth Mindset ในห้องเรียนเป็นเวลา 45 นาทีสามารถเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านการเรียนให้ดีขึ้นได้
ที่ว่าดีขึ้น อย่างแรกคือนักเรียนมี Sense of Purpose เข้าใจว่าเรียนไปเพื่ออะไร มีหมุดหมายในอนาคตชัดเจน อย่างที่สองคือเมื่อคิดด้วย Growth Mindset นักเรียนเข้าใจว่ามนุษย์ทุกคน ทุกช่วงวัย ต่างกำลังพัฒนาทักษะที่แต่ละคนมีอย่างหลากหลาย ในทางใดทางหนึ่งอยู่ อุปสรรคหรือความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ไม่ใช่ความอ่อนด้อยทางปัญญา และผลลัพธ์อีกตัวที่ชี้วัดพัฒนาการซึ่งดีขึ้นอย่างชัดเจนคือผลการเรียน ซึ่งก่อนได้รับการฝึกที่เคยเกือบตกเกณฑ์กลับกระเตื้องขึ้นมาก
นอกจาก Growth Mindset จะถูกให้เครดิตในงานวิจัยต่างๆ ว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์ก้าวข้ามอุปสรรคปัญหาและเกิดการพัฒนาตนเอง ข้อสรุปจากงานด้านนี้ยังลบล้างความเชื่อผิดๆ ที่ว่าศักยภาพการเรียนรู้ของบุคคลขึ้นอยู่กับเพศหรือเชื้อชาติอีกด้วย
เพราะตราบใดที่มี Growth Mindset มนุษย์ทุกคนไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ในทุกทาง
เพื่อให้ครูสามารถหยิบจับความรู้ไปใช้ได้ง่ายขึ้น บทความนี้จึงเสนอแผนการสอนที่จะช่วยเปลี่ยน mindset อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจากหนังสือThe Growth Mindset Coach โดย Annie Brock และ Heather Hundley ที่มีลำดับการสร้างความเข้าใจในหลักการพื้นฐานของ Growth Mindset ให้กับเด็กๆ ในห้องเรียน พร้อมกับวิธีเตรียมชั้นเรียนให้เหมาะกับการเรียนรู้ ไปจนถึงการสื่อสารไปยังพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่บ้านว่าจะสามารถช่วยส่งเสริม Growth Mindset ขึ้นอีกแรงได้อย่างไร
Annie Brock และ Heather Hundley ผู้เขียน The Growth Mindset Coach กล่าวไว้ว่า
การสร้าง Growth Mindset เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลาและสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมของโรงเรียนที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ห้องเรียน’ ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอันดับหนึ่งต่อการเปลี่ยน mindset ของเด็กๆ นอกจากการเตรียมห้องเรียนข้างต้น ครูต้องมีแผนการสอนที่ดี จัดกิจกรรมให้เข้ากับลักษณะการเรียนรู้ และออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กๆ คิดเอง
สำหรับแผนการเรียนรู้ จะแบ่งการสอนเป็น 2 part หรือสองครั้ง และมีรายละเอียดการสอนแต่ละครั้ง ดังนี้
Part 1: เราทุกคนพัฒนาตนเองได้
Step 1: ให้นักเรียนขบคิดว่าทุกทักษะที่กว่าเราจะมีได้เช่นในปัจจุบัน ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้อะไรบ้าง
- ถามนักเรียนว่าเมื่อต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ เช่น ต้มแกงจืดหนึ่งหม้อ (หรือกิจกรรมอื่น) เราต้องเรียนรู้อะไรบ้างจึงจะทำได้
- เวลาทำสิ่งใดไม่สำเร็จ นักเรียนรู้สึกอย่างไรและทำอะไรหลังจากนั้น
Step 2: ดูวีดิทัศน์และเสวนา
เปิดวีดิทัศน์ที่แสดงถึงความพยายามในการฝึกฝนก่อนจะทำบางอย่างสำเร็จว่าต้องผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ต่างๆ มากมาย เช่น คนที่สูญเสียแขนขาแต่สามารถปรับตัวเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตในท่วงท่าใหม่ (มีตัวอย่างคลิป ‘You can Learn Anything’ จาก Youtube ซึ่งเผยแพร่โดย Khan Academy อธิบายว่าครั้งหนึ่งเชคสเปียร์ก็ต้องหัดเขียนอ่าน ABC มาก่อน หรือแม้แต่ไอน์สไตน์เองก็เคยนับเลขได้ไม่ถึงสิบ) หลังดูจบให้นักเรียนแลกเปลี่ยนความคิดกันว่าผู้ที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจากความล้มเหลวหรือสูญเสียแขนขา หรือคนที่ประสบความสำเร็จ ต้องเรียนรู้อะไรมาก่อนจึงจะประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้
Step 3: ทำความเข้าใจ
ให้นักเรียนแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ละกลุ่มขึ้น T-Chart (ดังภาพ) ฝั่งซ้ายเขียนถึงทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งและฝั่งขวาเขียนสิ่งที่ต้องเรียนรู้ก่อนจะทำสิ่งนั้นได้
Step 4: เชื่อมโยงคำถามสำคัญเข้ากับความเข้าใจ
ชี้ให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการว่า “เราเรียนรู้ที่จะทำสิ่งใหม่ได้อย่างไร” โดยอธิบายว่าทุกคนต่างก็ต้องพัฒนาตนเองจากความไม่รู้และค่อยๆ พัฒนาทีละเล็กละน้อยกันทั้งนั้น จากคนขับรถไม่เป็นจนสามารถขับออกถนนได้ ทุกทักษะในชีวิตไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด ก็ล้วนต้องทุ่มเททั้งความพยายามและเวลาฝึกฝนมัน หรือแก้ไขจุดบกพร่องให้น้อยลงจนสามารถทำได้ลื่นไหล
Step 5: ครูแชร์ประสบการณ์ของตนเอง
ครูเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ที่จะต้องทำบางอย่างผ่านความยากลำบากจนทำได้สำเร็จ โดยโฟกัสไปที่
- ความมานะพยายามที่ต้องฟันฝ่าอุปสรรค
- ใช้วิธีใดในการแก้ปัญหาบ้าง
- ขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือจากใครบ้าง
Step 6: ทำกิจกรรม ขบคิด-จับคู่-เล่าเรื่อง (Think-Pair-Share)
Think: ให้นักเรียนแต่ละคนคิดถึงช่วงเวลาที่เรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ยากมาก
Pair: หลังจากนั้นให้จับคู่กับเพื่อน
Share: ผลัดกันเล่าประสบการณ์ว่าแต่ละคนมีวิธีจัดการกับอุปสรรคที่ขัดขวางการเรียนรู้อย่างไร และผลลัพธ์ของแต่ละวิธีเป็นอย่างไรบ้าง มีเวลาแลกเปลี่ยนกับคู่ 1 นาที หลังจากนั้นให้เปลี่ยนไปแลกเปลี่ยนกับเพื่อนคนอื่นๆ
Part 2: Growth Mindset และ Fixed Mindset
Step 1: ให้นักเรียนประเมินตัวเองว่ามีแนวโน้มเป็นแบบไหน เห็นด้วยกับข้อใดในความคิด 10 ข้อนี้
- ถ้าต้องพยายามมากกว่าคนอื่น แสดงว่าฉันเองที่โง่
- ฉันชอบทำอะไรที่มันยากๆ ท้าทายความสามารถ
- ทำพลาดหรือผิดทีไร ฉันรู้สึกอับอายทุกที
- ฉันชอบให้คนชมว่าฉันฉลาด
- ถ้าเจออะไรที่มันยากหรือเครียดเกินไป ฉันไม่เอา
- ฉันไม่ค่อยสนเวลาทำผิด ต่อไปจะได้รู้
- ไม่มีทางที่ฉันจะเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้หรอก
- เราเรียนรู้เรื่องอะไรก็ได้ถ้าใช้ความพยายามกับมัน
- คนเราเกิดมาไม่โง่ก็ฉลาด หรือบางคนพอใช้ เราเปลี่ยนแปลงไม่ได้
- เมื่อได้พยายามถึงที่สุดแล้ว แม้ผลลัพธ์มันอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ฉันก็ภูมิใจ
นักเรียนเห็นด้วยกับข้อ 1,3,5,7,9 กี่ข้อ (Fixed Mindset) และเห็นด้วยกับข้อ 2,4,6,8,10 กี่ข้อ (Growth Mindset) ถามนักเรียนว่าพวกเขามีแนวโน้มเป็นแบบ Growth Mindset หรือ Fixed Mindset มากกว่ากัน เมื่อฟังคำตอบของนักเรียนแล้ว จากนั้นครูชี้ให้ทุกคนเห็นว่า ไม่ว่าความคิดของพวกเขาจะค่อนไปทางใดทางหนึ่ง หรือสัดส่วนอยู่ตรงกลางเท่ากัน เป็นธรรมดาที่ทุกคนล้วนมีความคิดทั้งสองแบบอยู่ในตัว อยู่ที่จะเลือกคิดแบบใด
Step 2: ทบทวนความหมายของ Growth Mindset และ Fixed Mindset อีกครั้ง
- Growth Mindset คือ ความเชื่อว่าคนเราพัฒนาศักยภาพได้ทุกอย่าง ถ้าพยายามและฝึกฝน
- Fixed Mindset คือ ความเชื่อด้านตรงข้ามที่มองศักยภาพเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด เท่าไหร่ก็เท่านั้น พัฒนาไม่ได้
ให้นักเรียนแต่ละคนบอกแนวโน้มของตนจากการสำรวจ ครูชี้ให้เห็นว่าทุกคนต่างก็มีความคิดทั้งสองแบบอยู่ในตัวเอง แต่การเรียนรู้ที่จะสัมฤทธิ์ผลได้ต้องใช้ Growth Mindset เป็นสำคัญ ดังนั้นทุกคนในชั้นต้องตรวจตราความคิดของตนเองและของเพื่อน แยกแยะให้เป็นว่าเมื่อไหร่คิดแบบ Growth Mindset เมื่อไหร่คิดแบบ Fixed Mindset และทั้งสองทางส่งผลอย่างไรต่อการเรียนรู้ของพวกเขา
Step 3: กิจกรรมจำแนก Mindset
อ่านประโยคความคิดให้นักเรียนช่วยกันคิดว่าเป็น Fixed หรือ Growth Mindset เช่น
“ฉันเล่นบาสไม่เก่ง ลงแข่งไปมีแต่จะทำทีมแพ้”
“ฉันจะพยายามลดความงี่เง่าของตัวเองให้ความสัมพันธ์กับแฟนดีขึ้น”
“เขามันอัจฉริยะ ฉันจะไปทำอย่างเขาได้ยังไง”
“ตอนนี้ยังทำอาหารไม่ค่อยเก่ง แต่รอก่อนเถอะ”
“ตอนตอบผิด อายมาก คราวต่อไปไม่ตอบดีกว่า”
“คนนั้นโง่จะตายไป ทำยังไงก็ไม่มีทางฉลาด”
“คำวิจารณ์ของเพื่อนทำให้ฉันเห็นทางแก้ไขให้ดีขึ้น”
ให้นักเรียนช่วยกันคิด ทั้ง Growth Mindset และ Fixed Mindset ที่เกิดขึ้นจริงกับตนเองในสถานการณ์ต่างๆ ครูอธิบายว่าการคิดด้วย Growth Mindset คือการรับมือกับปัญหาด้วยมุมมองบวกและมองหาความเป็นไปได้จากการแก้ปัญหาเหล่านั้น ไม่ว่าการเรียน ความสัมพันธ์ กิจกรรมกีฬา หรือหน้าที่การงาน ความพยายามที่จะพัฒนาปรับปรุงนี้สามารถนำไปใช้กับทุกด้านของชีวิต
Step 4: เปลี่ยน Fixed Mindset เป็น Growth Mindset
จาก Fixed Mindset ที่ช่วยกันคิดไว้ในขั้นตอนที่แล้ว ให้นักเรียนช่วยกันเปลี่ยนความคิดเหล่านั้นเป็น Growth Mindset เช่น
“ฉันเล่นบาสไม่เก่ง ลงแข่งไปมีแต่จะทำทีมแพ้” เป็น “ฉันต้องซ้อมให้หนักทุกเย็น โดยเฉพาะการรับส่งลูกที่ยังไม่แม่น”
“เขามันอัจฉริยะ ฉันจะไปทำอย่างเขาได้ยังไง” เป็น “ฉันต้องขอเทคนิคจากเขาดูซักหน่อย” “ฉันจะไปเทรนเพิ่ม”
ครูเน้นย้ำให้เห็นว่า
การมานะพยายามคือหัวใจสำคัญของการเติบโต และผลลัพธ์ที่เป็นการเรียนรู้สำคัญกว่าความสมบูรณ์แบบที่ไม่จีรัง
Step 5: จดบันทึกความพยายาม
ให้นักเรียนตั้งเป้าหมายทุกสัปดาห์และจดบันทึกอุปสรรคที่เจอระหว่างการพิชิตเป้าหมายว่ามีอะไรบ้างและใช้วิธีใดจึงจะทำสำเร็จ เช่น ตั้งเป้าหมายจะเล่นเปียโนเพลงที่เล่นค้างอยู่ให้จบสัปดาห์นี้ มีบางท่อนที่ยังจำโน้ตไม่ได้ และบางทีจำสลับกัน คิดว่าจะใช้วิธีไฮไลท์โน้ตที่จำสลับด้วยปากกาคนละสีทำสัญลักษณ์ให้จำง่าย และจะเพิ่มเวลาฝึกช่วงเช้าอีกครึ่งชั่วโมง
ให้นักเรียนทุกคนผลัดกันแลกเปลี่ยนบันทึกความพยายามกันทุกสัปดาห์ รวมทั้งครูเองก็แลกเปลี่ยนความพยายามในการพิชิตเป้าหมายประจำสัปดาห์กับนักเรียนด้วย
Step 6: สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นว่าห้องเรียนที่เปิดให้พวกเขาเรียนรู้โดยไม่มีการตัดสินถูกผิด และเห็นความสำคัญของความพยายามอย่างนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร นักเรียนคิดว่าตนเองจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างทั้งด้านการเรียน การเข้าสังคมกับเพื่อนๆ ในชั้นหรือกับคุณครู หรือมีมุมมองความคิดใดที่แตกต่างไปจากเดิม
Step 7: สร้างวัฒนธรรม การมี Growth Mindset ในห้องเรียน
ช่วยกันระดมความคิด (brainstorm) ว่าห้องเรียนควรมีกฎระเบียบหรือมาตรการใดๆ ที่จะช่วยให้ทุกคนกล้าคิด กล้าพูด และใช้ Growth Mindset อย่างเต็มที่บนพื้นฐานของความเอื้อเฟื้อ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เช่น
- ไม่หัวเราะเพื่อนเมื่อตอบผิดหรือทำบางอย่างผิดพลาด แต่ให้ร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหาหรือข้อเสนอแนะ
- การเรียนรู้คือการแบ่งปัน เราสามารถแนะนำเพื่อนได้ หรือในทางกลับกันเป็นฝ่ายถามเพื่อนและครูได้เมื่อไม่เข้าใจ
นอกจากแนวทางสอนสร้าง Growth Mindset ที่ยกตัวอย่างมา ยังมีรูปแบบอื่นที่น่าสนใจและเหมาะกับช่วงวัยลูกศิษย์อีกมากมายในเว็บไซต์ ไม่จำเป็นที่ครูจะต้องทำตามตัวอย่างเป๊ะๆ แต่สิ่งที่ต้องทบทวนทุกครั้งเมื่อการเรียนการสอนจบลงคือ
- ในชั่วโมงที่ผ่านมา มีตรงไหนที่คิดว่าดีอยู่แล้ว
- ควรปรับปรุงการสอนตรงจุดไหนบ้าง หรือ ทำอย่างไรให้นักเรียนเข้าใจเรื่องนั้นได้ง่ายขึ้น
- การสอนครั้งต่อไปควรโฟกัสไปที่เรื่องใดและเตรียมตัวอย่างไร
- เป้าหมายในการสร้าง Growth Mindset ให้เด็กๆ ในระยะยาวคืออะไร และเราอยู่ในจุดไหนของเป้าหมาย
ครอบครัวต้องช่วยสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิด Growth Mindset ด้วยอีกทาง
การสร้าง Growth Mindset ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่เพียงพอถ้าเด็กๆ กลับไปบ้านแล้วเจอกับสภาพแวดล้อมที่สวนทางกับสิ่งที่โรงเรียนกำลังพยายามทำ ดังนั้น ในการสร้าง Growth Mindset จึงจำเป็นต้องทำควบคู่ไปทั้งที่โรงเรียนและชักชวนให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่บ้านมีส่วนร่วมไปด้วย
Carol Dweck อาจารย์ด้านจิตวิทยาแห่ง Stanford University และผู้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success กล่าวว่า “ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากกดมันสมองหรือความสามารถลูกตัวเองหรอก มีแต่คิดว่าฉันจะทำยังไงให้ลูกประสบความสำเร็จให้จงได้” แต่บางทีพวกเขาอาจเลือกใช้คำชมที่ผิดเหมือนตัวอย่างในตอนต้น คือแทนที่จะสนับสนุนความคิดฝั่ง Growth Mindset แต่กลับไปสร้างแนวคิดแบบ Fixed Mindset ให้ลูกโดยไม่รู้ตัวแทน เช่น “ฉลาดได้แม่จริงๆ” “หนูเก่งมาก” “หนูนี่หัวดีทางเลขนะ แต่ภาษาอังกฤษไม่เอาไหนเลยตั้งแต่เด็ก”
วิธีหนึ่งที่สามารถลดความต่างระหว่างห้องเรียนกับที่บ้านคือ การส่งข้อมูลเกี่ยวกับ Growth Mindset และแผนการสอนของครูที่โรงเรียนให้ที่บ้านรับรู้ และแนะแนวทางให้ที่บ้านเห็นคุณค่าของความพยายามและพัฒนาการจากการฝึกฝนทักษะของลูกๆ ในงานที่ได้รับมอบหมาย กิจกรรม การกีฬาต่างๆ ที่นอกเหนือไปจากความถนัดส่วนตัว และสำคัญคือไม่วัดคุณค่าความพยายามและความตั้งใจของเขาด้วยผลคะแนนเพียงอย่างเดียว
จดหมายไกด์ไลน์ ให้เด็กๆ เข้าใกล้ Growth Mindset
ตัวอย่างจดหมายที่ครูใช้เป็นไกด์ไลน์ในการแนะนำรูปแบบการสอนและขอความร่วมมือให้ครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันลูกๆ ให้เข้าใกล้ Growth Mindset มากยิ่งขึ้น
เรียนผู้ปกครองของ______
ความรู้ความสามารถของเด็กทุกคนสามารถพัฒนาให้เติบโตและก้าวไปได้ไกลโดยไม่มีขีดจำกัด และในขณะนี้เด็กๆ ทุกคนในห้องเรียนกำลังได้รับการปลูกฝังให้เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองว่าพวกเขาสามารถพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ และสามารถประสบความสำเร็จในทุกด้านด้วยการฝึกฝนและความพยายาม
แนวทางการเสริมสร้างความเชื่อมั่นนี้ นักเรียนทุกคนจะถูกเคี่ยวเข็ญให้ทำแบบฝึกหัดหรือปฏิบัติงานยากๆ เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ทั้งดีและร้าย และได้ฝึกทักษะที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้ในเส้นทางการประกอบอาชีพในอนาคต ทั้งด้านวิชาการ การกล้าแสดงออกทางความคิด-การพูด รวมทั้งทักษะชีวิตเช่นความเป็นผู้นำ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
เหนืออื่นใด ความเก่ง พรสวรรค์หรือความสมบูรณ์แบบของผลคะแนนไม่สำคัญเท่ากับว่า พวกเขาได้พัฒนาตัวเองในด้านที่ไม่เคยรู้ว่าตนเองทำได้และทำมันด้วยความอุตสาหะพยายาม อุปสรรคและความล้มเหลวจะเป็นบทเรียนและคำแนะนำชั้นดีที่พวกเขาสามารถนำมาเรียนรู้แก้ไขเพื่อปรับปรุงตนเองได้ ห้องเรียนของเราอยากให้นักเรียนเติบโตไปด้วยความคิดเช่นนี้ว่าพวกเขาจะสามารถทำและเป็นทุกอย่างได้ถ้าเปิดใจเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และมีความมานะพยายาม
ดังนั้น ดิฉันจึงอยากขอความร่วมมือให้ที่บ้านเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นความคิดอ่านของเด็กๆ ให้เป็นนักพัฒนาตนเองและคิดบวกเมื่อเจออุปสรรคหรือความล้มเหลว แม้ผลการเรียนยังเป็นขั้นตอนประเมินความก้าวหน้าที่จำเป็นเช่นเดิม แต่อยากให้คุณพ่อคุณแม่เน้นไปที่พัฒนาการของพวกเขามากกว่า เช่น คะแนนเพิ่มจาก 55 เป็น 68 และในขณะเดียวกันลองสังเกตพัฒนาการทักษะด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจในตนเอง การวางเป้าหมายและวิธีคิดของเขาประกอบไปด้วยเป็นสำคัญ
ท้ายที่สุด ดิฉันใคร่ขอความร่วมมือดังนี้
- สนับสนุนให้เด็กๆ กล้าลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่อาจไม่ใช่ความถนัดของเขา เช่น เล่นดนตรีหรือกีฬาที่ไม่เคยเล่น อ่านหนังสือแนวที่ไม่เคยอ่าน ลองให้เขาทบทวนว่าได้อะไรจากการสัมผัสสิ่งใหม่เหล่านั้น
- ใช้คำชื่นชม หรือปลอบใจเมื่อล้มเหลว โดยเน้นความตั้งใจพยายาม เช่น “พยายามได้ดีมากเลยจ้ะ” “ล้มแล้วลุกใหม่ได้” “เมื่อกี๊ลูกพยายามได้น่าชื่นชมมาก” “ผิดเป็นครูนะจ๊ะ หนูได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง” “ไม่ได้ก็ลองใหม่ลูก เต็มที่กับมันซักตั้ง” “ผลงานชิ้นนี้แสดงความคิดสร้างสรรค์กับความตั้งใจของลูกได้ดีมาก” เหล่านี้ เด็กจะไม่กลัวผิดและมองเห็นโอกาสริเริ่มแก้ไขทุกครั้ง
- อย่าโฟกัสไปที่ผลคะแนนของลูกมากเกินไป ดูที่ความพยายาม ความตั้งใจของเขาเป็นสำคัญ
- ถ้ามีข้อเสนอเรื่องการมอบหมายงานให้เหมาะสมกับพัฒนาการของนักเรียน สามารถหารือร่วมกันได้ค่ะ
ขอบพระคุณอย่างสูงสำหรับความสนับสนุนในครั้งนี้ด้วยค่ะ
คุณครูของ______
เตรียมตัวสร้างห้องเรียนแบบ Growth Mindset จุดประสงค์การเรียนรู้ของเด็ก – นักเรียนต้องแยกแยะ Growth Mindset และ Fixed Mindset ได้ – ให้ตัวอย่างของ Growth และ Fixed Mindset ได้ – เข้าใจว่าทุกคนเกิดมาเพื่อเรียนรู้และต่างก็กำลังพัฒนาทักษะด้านต่างๆ อยู่ตลอดเวลา คำถามสำคัญที่ต้องอบอวลตลอดการสอน – เรามีกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ใหม่อย่างไร? – ทำไม Growth Mindset จึงจำเป็นต่อการเรียนรู้? – ความเข้าใจแบบ Growth Mindset และ Fixed Mindset ช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร? คติประจำชั้นเรียน คติประจำชั้นช่วยให้นักเรียนไม่หลุดคอนเซ็ปต์ของ Growth Mindset หรือส่งผลให้ทุกคนรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันที่จะร่วมสร้างบรรยากาศห้องเรียนให้เป็นไปตามนั้น เช่น – เราจะเรียนรู้ด้วยการคิดบวก – เราจะไม่หยุดเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง – เราจะแก้ปัญหาอย่างรักใคร่ปรองดองกัน การจัดห้องเรียนให้พร้อมเรียนรู้แบบเติบโต – จัดโต๊ะเก้าอี้เป็นกลุ่มเล็กๆ หรือล้อมวงเป็นกึ่งๆ ห้องเสวนาให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นโต้แย้งกันได้ ไม่มีเด็กหน้าห้องเด็กหลังห้องอีกต่อไป เพราะครูสามารถเดินเข้าถึงทุกคน – ตกแต่งบอร์ดหรือตั้งโชว์ผลงานนักเรียนที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบ ชิ้นงานเว้าแหว่ง ปะติดปะต่อด้วยรอยกาวเลอะเทอะ บนบอร์ดเขียนนิยามความเป็น Growth Mindset เช่น “ความรู้เติบโตได้ไม่สิ้นสุด” “ลิขิตฟ้าหรือจะสู้มานะตน” “Impossible is Nothing” “Done is Better than Perfect” “Just Do it! – เน้นการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของเด็กอย่างทั่วถึง ไม่เน้นว่าคำตอบต้องถูกต้องเสมอไป หรือผลงานต้องสมบูรณ์แบบ แต่เด็กต้องได้ผ่านกระบวนการคิดเพื่อทำความเข้าใจ กิจกรรมและแบบฝึกหัด – ฝึกให้นักเรียนแยกแยะ Growth Mindset และ Fixed Mindset เป็น – เสวนากันถึงปัจจัยที่จำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ความคิดของเด็กๆ อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น การรับมือแก้ปัญหาที่เป็นไปได้และข้อเสนอแนะ อุปกรณ์ – แลปท็อปและจอโปรเจ็คเตอร์ (สำคัญมากในการสืบค้นนอกเหนือตำราเรียน) – กระดานดำ/ไวท์บอร์ด/กระดาษแผ่นใหญ่ – ดินสอสี, Post it, มาร์คเกอร์ |
สำหรับครูที่กำลังมองหาตัวช่วยวางแผนการสอนหรือเฟ้นหากิจกรรมรูปแบบต่างๆ หนึ่งในแหล่งข้อมูลที่อยากนำเสนอคือ www.mindsetkit.org ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง PERTS กับ Khan Academy เว็บไซต์ชื่อดังที่มีการรวบรวมเทคนิคการสอนและสื่อการสอนออนไลน์ รวมถึงกิจกรรมสร้างเสริม Growth Mindset ต่างๆ ให้ครูสามารถนำไปใช้ในห้องเรียนไว้ครบครัน โดยแผนการสอนที่บทความนี้จะนำเสนอก็พัฒนามาจากเว็บไซต์นี้ด้วยเช่นกัน
ที่มา:
Hundley, A. B. (2016). Everyone Can Learn!. In The Growth Mindset Coach (pp. 27-49). CA: Ulysses Press.