- หากมอง ‘ภาวะผู้นำ’ ลึกลงไปในแง่ลักษณะเฉพาะ หรือ อุปนิสัย (trait) การมีภาวะผู้นำหมายถึง ข้างในคุณต้องเป็นคนที่รู้จักตัวเอง, เคารพตัวเอง, มีมิตรไมตรี, มุ่งมั่น, สนใจใคร่รู้, ปรับตัวยืดหยุ่น, มีความฉลาดทางอารมณ์, ยุติธรรม สำคัญที่สุด มีพลังงานบางอย่างทำให้คนอยู่ใกล้มอบความเคารพไว้วางใจให้
- 1 วิธีสร้างความเป็นผู้นำ และตีความกลับไปว่า วิธีดังกล่าวนี้ สร้างอุปนิสัยภายในอะไรให้พวกเขา
‘ภาวะความเป็นผู้นำ’ หรือ Leadership 1 ใน 16 ทักษะในศตวรรษที่ 21 (21st century skills) หมวด Character Qualities –กลุ่มทักษะด้านคุณสมบัติ, คุณลักษณะ หรือ นิสัย ที่คนคนหนึ่งจะมีเพื่อแก้ปัญหาในโลกอนาคตที่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
ทำไม ‘ภาวะความเป็นผู้นำ’ จึงสำคัญในศตวรรษที่ 21
คำอธิบายทั่วไปจากสภาเศรษฐกิจโลก หรือ world economic forum อธิบายว่า เพราะโลกในอนาคต (อันที่จริงต้องบอกว่าคือโลกในปัจจุบัน!) เชื่อมโยงถึงกัน เส้นพรมแดนประเทศพร่าเลือน เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว กระทั่งความรู้ก็มีอายุสั้นลงเรื่อยๆ
ในภาวะการณ์เช่นนี้ ระดับทั่วไป – มนุษย์จำเป็นต้องยืดหยุ่น อดทนต่อความขึ้งเครียดกดดันจากการทำงาน ยอมรับความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรม เฉพาะหมวดการทำงาน – ซึ่งไม่มีใครรู้ว่างานในอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบไหน ทักษะผู้นำจะเข้ามารับใช้เรื่องความสัมพันธ์กับผู้คน
ไม่เท่านั้น โลกต้องการผู้นำที่มาพร้อมกับไอเดียใหม่ๆ พร้อมจะยอมเสี่ยง พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมจะหากลยุทธ์ใหม่ในโลกเพื่อท้าทายการทำงานที่เปลี่ยนเร็ว ขนาดใหญ่ และซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
ที่อยากชวนพูดคุยไม่ใช่แค่การ ‘สร้าง’ ภาวะผู้นำ แต่ลึกลงไปในระดับภายใน คนที่เป็นผู้นำมักมีสายตาแบบไหน นิสัยเล็กๆ น้อยๆ อะไรที่ทำให้คนเรามีภาวะผู้นำ
Psychology Today นิตยสารด้านจิตวิทยาอธิบายภาวะผู้นำในแง่ cognitive science – วิทยาศาสตร์พุทธิปัญญา หรือกล่าวได้ว่าเป็นการศึกษาวิทยาศาสตร์ในแง่สหวิทยา ตั้งแต่ด้านภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยา จิตวิทยา รวมทั้งวิทยาศาสตร์สมอง ว่า…
หากมอง ‘ภาวะผู้นำ’ ลึกลงไปในแง่ลักษณะเฉพาะ หรือ อุปนิสัย (trait) การมีภาวะผู้นำหมายถึง ข้างในคุณต้องเป็นคนที่รู้จักตัวเอง, เคารพตัวเอง, มีมิตรไมตรี, มุ่งมั่น, สนใจใคร่รู้, ปรับตัวยืดหยุ่น, มีความฉลาดทางอารมณ์, ยุติธรรม สำคัญที่สุด มีพลังงานบางอย่างทำให้คนอยู่ใกล้มอบความเคารพไว้วางใจให้
ซึ่งทั้งหมดนี้ท้าทายว่า เราจะสร้าง ‘คาแรคเตอร์’ ‘อุปนิสัย’ หรือ ‘ลักษณะเฉพาะ’ ภายในของคนให้มีและเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร? ยีนหรือพันธุกรรมกำหนดคาแรคเตอร์ส่วนตัวจริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าสภาพแวดล้อม พื้นที่ที่เราเติบโต เอื้อและสร้างให้เรามีภาวะผู้นำ… อย่างไรมากกว่า
11 วิธีสร้างภาวะผู้นำให้เด็กๆ
ท่ามกลางบทความแนะนำฉบับ ‘How to’ นับพันจากสื่อมวลชนทุกแขนง คาริน เฮิร์ท (Karin Hurt) และ เดวิด ดาย (David Dye) นักพูดและเทรนเนอร์ระดับโลกเรื่องภาวะผู้นำ และเจ้าของหนังสือรางวัล Winning Well : A Manager’s Guide to Getting Results Without Losing Your Soul แนะนำ 11 วิธีสร้างภาวะผู้นำให้เด็กๆ แบบเข้าใจง่าย สร้างสรรค์ และน่าหยิบยืมทดลองไปใช้
คาริน และ ดาย อาจไม่ได้ตีความไปถึงอุปนิสัยภายใน แต่ผู้เขียนอยากลองตีความลึกลงไปว่า แต่ละวิธีจะกลับไปสร้างคุณลักษณะภายในอย่างไร
1. สร้างสภาพแวดล้อม สร้างบทบาทให้เด็กได้เป็น ‘ผู้ให้’: สร้างสถานการณ์ให้เค้าได้แบ่งปันสิ่งของ แต่จะไม่ได้ให้บทบาทอย่างเดียว แต่ชวนคิดด้วยว่าพวกเค้าคิดอย่างไรกับการให้แบบนี้ เวลาที่แบ่งสิ่งของ ให้ตั้งคำถามว่า ทำไมเค้าถึงให้ บทบาทการให้จึงจะนำไปสู่ทำให้เด็ก sense เรื่อง การเห็นอกเห็นใจผู้คนที่มีสถานการณ์ไม่เหมือนตัวเอง
2. พูดกับเขาเหมือนพูดกับผู้ใหญ่: เด็กๆ ฉลาดกว่าที่คุณเห็น คุยกับเขาได้เลยเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ชวนเขาคุยถึงคนที่มีบทบาทแตกต่างจากพวกเขา วิธีนี้จะพัฒนาทักษะการฟังและเคารพมุมมองของผู้อื่น
3. ให้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมตัดสินใจปัญหาครอบครัว: เลือกปัญหาหรือสถานการณ์บางอย่างที่ต้องการการตัดสินใจ ชวนให้เด็กๆ ได้ร่วมลงความเห็น ระหว่างพูดคุย พ่อแม่มอนิเตอร์วงคุยทำให้ทุกคนรับฟังกันจริงๆ เพื่อตัดสินใจร่วมกันได้
เช่นกัน วิธีนี้สร้างคาแรคเตอร์ของการ ‘ฟังอย่างลึกซึ้ง’ (deep listening) ลองคิดดูว่าจะดีแค่ไหนถ้าผู้นำของคุณมีคุณสมบัติการเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างตั้งใจ นอกจากทำให้คุณรู้สึกว่าได้รับความเคารพไม่ตัดสินแล้ว ความเห็นทั้งหมดของเรายังถูกนำไปพัฒนาต่อยอดได้
4. สร้างบรรยากาศการอ่าน: ไม่ใช่แค่อ่าน แต่ชวนเด็กๆ คุยเรื่องคาแรคเตอร์และความสัมพันธ์ของผู้คนในหนังสือ ข้อนี้คล้ายกับข้อ 2 นั่นคือความเข้าใจบทบาทและมุมมองของผู้คนหลากหลาย หากตีความเรื่อง trait การอ่านมอบสายตาแห่งความ ‘เข้าอกเข้าใจ’ (empathy) ให้กับผู้นั้นได้เสมอ
5. พาเด็กๆ ไปทำงานกับคุณ ให้บทบาทเขาทำงานจริง: พาเขาไปทำงานจริงกับคุณได้เลย และมอบหมายงานที่เป็นรูปธรรมให้เขาบริหารจัดการจริง ที่ทั้งคู่แนะนำคือพ่อแม่ต้องอธิบายกระบวนการให้พวกเขาฟังอย่างชัดเจนแล้วจึงถามความเห็นเพื่อให้เขาอธิบายวิธีคิดต่อรูปแบบที่พวกเขาเลือกทำ
ชัดเจนว่าวิธีนี้สร้างความมุ่งมั่นและการปรับตัวยืดหยุ่น เพราะทุกการทำงานไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหน การยืดหยุ่นเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงอุปสรรคย่อมเกิดขึ้นเสมอ และนี่ตรงกับพื้นฐาน 3 อย่างของ EF (working memory, inhibit, shift) ในเรื่อง shift การปรับตัวยืดหยุ่น
6. ยอมรับเวลาคุณทำผิด: ชวนคุยเวลาคุณทำอะไรผิดพลาด เด็กๆ ต้องรู้ว่าผู้ใหญ่ทำผิดกันแบบไหน ให้เขารู้ว่าไม่มีใครเพอร์เฟ็คท์ แต่ทุกคนที่พลาดจะมีบทเรียนเพื่อเรียนรู้ หนึ่งในวิธีสร้างคาแรคเตอร์การเป็นผู้นำที่ดีให้เด็ก คือให้เห็นว่าคุณเองก็ยังเรียนรู้เพื่อเติบโตอยู่ทุกวันด้วย
ข้อนี้ผู้เขียนตีความว่าเด็กๆ จะเคารพตัวเองและมีสายตาแห่งความยุติธรรม เพราะเมื่อเด็กๆ ไม่มีทัศนคติลบต่อความผิดพลาด ในเวลาที่เขาทำผิด เขาจะกล้ายอมรับอย่างตรงไปตรงมา
7. แวดล้อมด้วยคนที่มีภาวะผู้นำ: เพราะเด็กๆ ไม่เรียนจากการสั่งสอน แต่เขาจะเป็นในสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็น เป็นอย่างสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ การแวดล้อมเด็กๆ ด้วยผู้คนที่มีวิสัยทัศน์แบบผู้นำเป็นวิธีการเรียนรู้เรื่องนี้ที่แยบยลอีกทางหนึ่ง
8. ให้เป็นผู้กล่าวต้อนรับเวลามีงานที่บ้าน: ในวันรวมญาติ งานปาร์ตี้ที่จะมีคนมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันเยอะๆ ให้เด็กได้เป็นผู้กล่าวต้อนรับหรือเปิดวงอาหาร หรือการคิดบทพูดว่าพวกเขาดีใจแค่ไหนที่ทุกคนมารวมกันในที่แห่งนี้
เฮิร์ทและดายไม่ได้อธิบายว่าวิธีการนี้ดีอย่างไร แต่ผู้เขียนทึกทักเอาเองว่า วิธีการนี้ทำให้เด็กๆ ต้องรู้จักผู้ที่มาร่วมงานทุกคน กำกับตัวเองและบทบาทว่าจะต้องร่างสุนทรพจน์สั้นๆ อย่างไร ไม่ใช่แค่มิตรไมตรีและความสนใจใคร่รู้ในตัวแขกที่จะเกิดกับเด็กๆ แต่ความมั่นใจในความคิดและการแสดงออกย่อมเกิดขึ้น
9. สร้างเครือข่าย: การทำให้เด็กๆ เห็นความสำคัญของเครือข่ายไม่ใช่แค่รู้จักคนมาก แต่มาพร้อมกับความสัมพันธ์เรื่องความซื่อสัตย์ต่อกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากต่อการทำงานเป็นทีม
10. ช่วยเด็กหาอัตลักษณ์ของตัวเอง: ต้องไม่ลืมช่วยเด็กๆ ค้นหาความหลงใหลของพวกเขา วิธีการง่ายๆ คือชวนเขาคุยหรือเขียนถึงสิ่งที่ตัวเองชอบ เฮิร์ทและดายไม่ได้กล่าวไว้อีกเช่นกัน แต่ข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่า มันไม่สำคัญเลยว่าเด็กๆ จะชอบหรือมี passion ต่อสิ่งที่เขาบอกว่าชอบในวันนี้มากหรือยาวนานแค่ไหน สำคัญคือ เด็กๆ รู้ว่าเขาจะพูดในสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่ตัวเองรู้สึกชอบและหลงใหลได้ในปัจจุบัน ถ้ากลับไปเรื่อง trait ที่อธิบายข้างต้น นี่คือเรื่องเดียวกับการรู้จักตัวเอง
11. คำถามที่เฉียบคม: ‘ถ้าไม่ทำวิธีนี้ ทำวิธีอื่นได้ไหม?’ ‘ทำไมวิธีนี้ถึงเวิร์คล่ะ เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม?’ คำถามเหล่านี้ไม่ชี้นำ แต่ชวนคุ้ยตะกอนความคิดของเด็กๆ ให้ฟุ้งขึ้น คำถามที่ชาญฉลาดและเอื้อให้เด็กๆ ได้คิด จะช่วยร่างกรอบความคิดให้ชัดเจนขึ้น และเด็กๆ เองจะได้วิธีการเหล่านี้-ถามให้คิด ไม่ชี้นำ ทักษะของผู้นำส่วนใหญ่ ไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย
กล่าวอีกครั้ง เราจะสร้าง ‘คาแรคเตอร์’ ‘อุปนิสัย’ หรือ ‘ลักษณะเฉพาะ’ ของคนให้มีและเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร? ยีนหรือพันธุกรรมกำหนดคาแรคเตอร์ส่วนตัวจริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าสภาพแวดล้อม พื้นที่ที่เราเติบโต เอื้อและสร้างให้เรามีภาวะผู้นำอย่างไร… นี่เป็นตัวแปรที่สำคัญมากกว่า
กล่าวอีกครั้ง เราจะสร้าง ‘คาแรคเตอร์’ ‘อุปนิสัย’ หรือ ‘ลักษณะเฉพาะ’ ของคนให้มีและเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร? ยีนหรือพันธุกรรมกำหนดคาแรคเตอร์ส่วนตัวจริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าสภาพแวดล้อม พื้นที่ที่เราเติบโต เอื้อและสร้างให้เรามีภาวะผู้นำอย่างไร… นี่เป็นตัวแปรที่สำคัญมากกว่า