- เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยา เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา เปิด ‘ห้องเรียนครอบครัว’ และ ‘การเล่น’ คือบทเรียนสำคัญที่ใช้ทั้งสอนและบำบัด
- เพราะการเล่นบำบัด ช่วยเยียวยา บรรเทา ส่งเสริมพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจ ที่สำคัญเด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อเขาได้เล่น
- นี่คือพื้นที่ปลอดภัยทางใจ ไม่มีการชี้นำใดๆ เพราะเด็กถูกห้าม สั่งสอนมามากพอแล้ว เขาสามารถระบายทุกความรู้สึกและบรรเทาทุกอย่างผ่านการเล่น
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล/ห้องเรียนครอบครัว
“การเล่น เป็นมากกว่าความสนุกสาน และการเล่นมีหลายระดับ ซึ่งการเล่นบำบัด (Play Therapy) สามารถช่วยเยียวยา บรรเทา และส่งเสริมพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็กในทุกๆ ด้าน”
คือคำอธิบายเบื้องต้นของ การเล่นบำบัด (Play Therapy) ที่ ‘เม’ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาเด็กและครอบครัวเจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา ซึ่งได้เรียนต่อเฉพาะทางด้านนี้มาจากสถาบัน Academy of Play and Child Psychotherapy (APAC) ภายใต้การดูแลควบคุมของ Play Therapy United Kingdom (PTUK) ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันเมกำลังอยู่ในช่วงเก็บชั่วโมงการเล่นบำบัด 100 ชั่วโมง ที่โรงเรียนอนุบาลทางเลือกแห่งหนึ่ง
ระหว่างการเรียนและฝึกงาน เมก่อตั้ง ‘ห้องเรียนครอบครัว’ พื้นที่เล็กๆ ร่วม กับ ‘มาร์ค’ สิริสักก์ เจริญรวิภักดิ์ นักกิจกรรมบำบัด เพื่อให้การบำบัดเชิงกระตุ้น ส่งเสริมพัฒนาการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและให้ความรู้ครอบครัวด้วยจิตวิทยาเชิงบวกกับพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ที่มาเรียนด้วย
ห้องเรียนแห่งนี้ใช้การสอนผ่านการเล่น และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ตามธรรมชาติของพวกเขา เพราะ “เด็กเรียนรู้ได้ที่สุดเมื่อเขาได้เล่น”
ทุกวันนี้เด็กถูกสั่งสอนมามากพอแล้ว
อย่างไรก็ตามความสนุกสนานและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงผลพลอยได้ แต่เป้าหมายหลัก คือ “การปลูกฝังการรักการเรียนรู้ การรักตัวเอง และการควบคุมตัวเองเพื่อการพัฒนาเด็กๆ และครอบครัวอย่างยั่งยืน” แม้จะไม่ได้มาเรียนที่นี่แล้วเด็กก็สามารถเติบโตต่อไป และพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กๆ อย่างมีความสุข
ส่วน ‘การเล่นบำบัด (Play Therapy)’ เมื่อเราต้องการจะใช้แนวทางการบำบัดนี้กับเด็กๆ สิ่งสำคัญอันดับแรก คือ นักเล่นบำบัดต้องสร้างพื้นที่พิเศษสำหรับเด็กๆ เสียก่อน
ถ้าในเชิงกายภาพ พื้นที่นั้น คือ ‘ห้องเล่น (play room)’ ที่แห่งนี้จะเต็มไปด้วยของเล่นมากมายหลายประเภท เช่น ถาดทราย(sand tray) ตัวหุ่นจำลองต่างๆ (figurines) ตุ๊กตา หุ่นมือ เครื่องดนตรี ดินเหนียว ดินน้ำมัน รวมทั้งอุปกรณ์สร้างสรรค์งานศิลปะต่างๆ รอให้เด็กเข้ามาหยิบจับตามความต้องการของพวกเขา
แต่ถ้าพูดถึงห้องนี้ในเชิงนามธรรม ห้องพิเศษ หรือ ห้องเล่น (play room) คือ พื้นที่ที่ปลอดการสอนสั่ง เพราะนักเล่นบำบัดเชื่อว่า พื้นที่ที่ปลอดภัยทางใจต้องไม่มีการชี้นำใดๆ เพื่อเด็กสามารถระบายทุกความรู้สึก และบรรเทาผ่านการสื่อสารออกมาในภาษาที่เรียกว่า ‘การเล่น’
เพราะทุกวันนี้เด็กได้รับการสั่งสอนมามากพอแล้ว เขาถูกสั่งให้นั่งนิ่งๆ อยู่เฉยๆ อย่าซน อย่าถาม หยุด เงียบ อย่าโวยวายฯลฯ เมื่อเข้ามาในห้อง เขาไม่ควรโดนสั่งอะไรอีกแล้ว ในทางกลับกันที่แห่งนี้เขาจะได้เป็นคนนำ และนักเล่นบำบัดจะเป็นผู้ตามเอง
การเล่นบำบัดจึงมีหลักการคล้ายกับ ‘จิตวิทยาการปรึกษา’ ในผู้ใหญ่ แต่เด็กคงไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวภายในใจได้เทียบเท่าผู้ใหญ่ เเต่ถ้าหากผ่านการเล่นแล้ว พวกเขาสามารถสื่อสารออกมาได้ง่ายกว่ามาก
ในทางปฏิบัติ ถ้าเป็นที่ต่างประเทศนักเล่นบำบัดจะแทนตัวเองด้วยชื่อเล่นเลย เช่น ‘เม’ ไม่มีการใส่คำนำหน้าใดๆ เช่น ‘ครูเม’ เพื่อให้เด็กรู็สึกว่า “เราเท่าเทียมกัน” เขาไม่ต้องกลัวที่จะเป็นตัวเอง แล้วสั่งให้เราทำอะไรก็ได้
“แต่ในประเทศไทย ในที่ที่เมไปฝึกงาน จะใช้คำว่า ‘พี่เม’ แทน ‘ครู’ เพราะเราไม่ใช่ครู เราไม่สอนเด็ก เราไม่บอกว่า อะไรถูกหรือผิด มีเพียงกติกาเดียวที่นักเล่นบำบัดต้องยึดตาม คือ “สิ่งที่อยู่ในห้องเล่น จะอยู่ในห้องนี้ทั้งเรื่องราว ชิ้นงาน ทุกๆ อย่างที่เด็กๆ ทำ พวกเขาจะมีกล่องเก็บผลงานของเขา หากเขาทำผลงานใดๆ ไว้ รอวันสุดท้ายที่มาบำบัด เราจะถามเขาว่า เขาอยากจะทำอะไรกับผลงานของเขา ถ้าเขาอยากเอากลับก็ได้ หรืออยากทิ้งก็ได้เช่นกัน”
และ “ทำให้แน่ใจว่าเด็กปลอดภัยทั้งทางกายและใจ” เมื่อเด็กทำอะไรอันตรายต่อตนเอง หรือมีอะไรเป็นอันตรายต่อเด็ก เช่นเด็กมาบอกเราว่า เขาโดนผู้ใหญ่ทำร้าย อันนี้นักเล่นบำบัดสามารถดำเนินการตามหลักการได้เลย เช่น ติดต่อนักสังคมสงเคราะห์ หรือผู้ที่สามารถดูแลความปลอดภัยของเด็กได้ตามกฎหมาย
“พื้นที่นี้จะเริ่มต้นด้วยการสร้างความสัมพันธ์ หากปราศจากความสัมพันธ์อันดีแล้ว ไม่มีทางที่การบำบัดจะนำเราไปสู่สิ่งอื่นใดได้นอกจากการวนอยู่ในอ่าง”
ให้ความสนใจคอยเยียวยา
ในการเล่น เด็กจะนำ นักเล่นบำบัดจะเป็นผู้ตาม หากเขาอยากทำอะไร นักเล่นบำบัดจะมีหน้าที่สังเกตการณ์ ให้ความสนใจเเต่เด็กเพียงผู้เดียว
“เรียกง่ายๆ ว่า ‘ชั่วโมงนี้ สายตาเรามีไว้เพื่อเขา’ ความสนใจที่เด็กได้รับนั้น ทำให้เขาได้รับการเห็นคุณค่า เป็นการเยียวยาไปในตัว เด็กบางคนมาด้วยปัญหามีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ หลักการแก้นั้น ก็คือ การได้รับความสนใจอย่างเพียงพอนั่นเอง
“Every child does not want a therapist, he or she needs attention and relationship.” Virginia Axline (1987)
“เด็กๆ ไม่ได้ต้องการนักบำบัดหรอก พวกเขาต้องการความสนใจอย่างเพียงพอ และความสัมพันธ์ที่ดีต่างหาก”
อย่าเพิ่งเข้าใจผิด นักเล่นบำบัดไม่ได้มีหน้าที่เอาใจเด็กๆ ไม่ได้ต้องทำอะไรเพื่อให้เด็กๆ สนุกหรือพึงพอใจ แต่นักเล่นบำบัดมีหน้าที่ตอบสนองเมื่อเด็กๆ ต้องการให้เราทำอะไร (ยกเว้นสิ่งนั้นเป็นอันตรายต่อตัวเขาหรือเรา เราจะไม่ทำ) และมีหน้าที่สังเกตความรู้สึก ตามอารมณ์ จับให้ไว (detect) และสะท้อนกลับสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เด็กมองเห็นตัวเอง และปัญหาได้ชัดเจนขึ้น
สิ่งสำคัญเพื่อให้เขาได้รู้ว่า “เขาเป็นผู้ตัดสินใจ และควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ใครอื่น เขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำของตน”
ยกตัวอย่าง
ถ้าเด็กเล่นทราย แล้วเขาเล่นแรงมากจนทรายสาดกระเด็นออกมาจากกล่อง แทนที่นักเล่นบำบัดจะบอกเด็กว่า “อย่าทำทรายหกเลอะ” แต่จะพูดว่า “ทรายอยู่ในกล่อง” แม้จุดประสงค์คือ การให้เด็กเล่นทรายไม่ให้เลอะเทอะออกมานอกกล่องเหมือนกันแต่ประโยคแรก นักบำบัดเป็นผู้ควบคุมเด็ก ไม่ใช่เด็กควบคุมตัวเอง ต่างจากประโยคที่สองเด็กต้องเป็นผู้ควบคุมตัวเอง นักบำบัดแค่บอกว่า กรอบของการเล่นทรายคืออะไร และเมื่อเด็กไม่สามารถเล่นทรายในกล่องได้ นักบำบัดจะพูดเตือนสองครั้ง
“ครั้งที่สามเราจะพูดว่า ‘วันนี้หนูไม่พร้อมเล่นทรายเนอะ เพราะหนูเลือกที่จะเล่นทรายนอกกล่อง เราไปเล่นอย่างอื่นนะคะ’ ซึ่งทำให้เด็กรู้ว่า เขาไม่พร้อมควบคุมตัวเอง เขาเลยต้องไปเล่นอย่างอื่น ตัวเขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ไม่ใช่เรา”
เมื่อเด็กโดนตอบสนองเช่นนี้เรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ไม่รู้จักเล่นอย่างระวัง เล่นแรงๆ ไม่สนใจใคร เราเห็นได้ชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อผู้ใหญ่เปลี่ยนวิธีการพูด เป็นการมอบความรับผิดชอบให้กับเขา แทนการบ่นและว่าเขาเมื่อเขาทำไม่ดีเด็กเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองมากขึ้นจากแต่ก่อน
พื้นที่ปลอดการสอน
ถ้าเด็กบอกว่า “ช้างตัวนี้เป็นหมา” เราจะไม่ไปแก้คำให้เด็ก เช่น “ไม่ใช่นะคะ อันนี้เป็นช้าง หนูผิดแล้วลูก” เราจะไม่ทำเช่นนี้เด็ดขาด การเล่นบำบัดไม่เป็นไปเพื่อให้ความรู้ หรือสอนเด็กว่าอะไรผิดหรือถูก แต่เพื่อให้เด็กได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ และพัฒนาด้านดีของตนให้แข็งแกร่ง จนสามารถเยียวยาส่วนที่ต้องการเติมเต็มและเรียนรู้ตัวเองในห้องแห่งนี้
ถ้าเด็กบอกเราว่า sit down หรือ on your knees เป็นม้าให้ฉัน เราก็ต้องเป็นม้า
การทำเช่นนี้เหมือนเด็กได้ฉายภาพในใจที่อาจจะเป็นความทรงจำของเขาที่ติดค้างผ่านการเล่นกับนักเล่นบำบัด ในความทรงจำเขาอาจจะเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ในการเล่น เขาได้เปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นผู้กระทำ ทางการเล่นบำบัดเราเรียกว่า“Reframing – Placing something in a new frame” แม้เขาจะเปลี่ยนอดีตที่กลายเป็นความทรงจำที่เลวร้ายไม่ได้ แต่วันนี้เขาเปลี่ยนมันในจินตนาการ แม้จะเป็นเพียงการจำลอง แต่นั่นอาจจะช่วยเยียวยาจิตใจของเขาได้
เปิดโอกาสให้สื่อสารกันอย่างที่มนุษย์ทุกๆ คนพึงกระทำ
“ไม่ใช่ว่าเขาเด็กกว่า เราแก่กว่า แต่เพราะทั้งเราและเขาเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่า หากเราให้เกียรติเขา เราจะได้รับการให้เกียรตินั้นกลับมา”
แม้ว่า “นักเล่นบำบัดจะไม่สอนหรือชี้นำใดๆ” แต่มีข้อยกเว้นหนึ่ง คือ เราสามารถสะท้อนความรู้สึกที่มีต่อการกระทำของเด็กได้เช่นกัน เพื่อให้เด็กได้รู้ว่า ผู้อื่นคิดอย่างไรกับเขาเมื่อเขาทำเช่นนั้นออกไป
นักเล่นบำบัดก็คือปุถุชน บางครั้งถ้าเรารู้สึกไม่ดี เราจะสะท้อนเช่นกันว่า “หนูทำแบบนี้ ทำให้เรารู้สึกไม่ชอบเลย” เขาจะเข้าใจว่าเวลาอยู่ข้างนอกเขาไม่พอใจ โกรธตลอดเวลา เพราะคนอื่นไม่ทำตามที่เขาบอก จะสะท้อนให้เขารู้ตัวไปเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กตวาดเราว่า “ทำไมไม่หยิบมาให้ซะที” นักเล่นบำบัดจะสะท้อนกลับว่า “หนูไม่พอใจที่คนอื่นไม่สามารถทำตามที่หนูบอกได้” บ่อยครั้งที่เด็กจะเงียบลงทันที เพราะปกตินักเล่นบำบัดแทบจะทำตามทุกอย่างที่เขาขอ
ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเด็กเรียกว่า “เหมือนเพื่อนต่างวัย” ดังนั้นเมื่อเราพูดอะไร “เสียงของเราจะดังก้องในหัวของเขามากกว่าเสียงของผู้ใหญ่หลายๆ คนที่อาจจะบ่นเขาอยู่ตลอดเวลา”
เด็กจะใคร่ครวญในสิ่งที่เราบอก เพราะเราไม่ใช่ศัตรูของเขา เขามีความสัมพันธ์อันดีกับเรา อีกทั้งเรารับฟังเขาเสมอทำให้เขารับฟังเราเต็มหัวใจเช่นกัน
‘การเล่น’ บำบัดได้อย่างไร
ถ้าเป็นเรื่องเด็กก็จะเป็นการปรับพฤติกรรม แต่ถ้าเด็กที่โตแล้วเราจะใช้ปรับความคิดเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (CBT: Cognitive Behavioral Therapy) การปรับพฤติกรรมจะช่วยแก้ปัญหาแต่ไม่ได้เยียวยาจิตใจโดยตรงในเด็กบางคนที่เจอเรื่องที่กระทบใจอย่างหนักหนาสาหัส เช่น โดนทอดทิ้ง การถูกคุกคามทางเพศ เจออะไรที่ดราม่าหนักๆ การปรับพฤติกรรมอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ บางทีเขามีพฤติกรรมอาละวาดหนัก ร้องไห้ฟูมฟายเอาแต่ใจมากๆ เพราะพ่อแม่เพิ่งเสียชีวิต การอาละวาดของเขาเกิดจากการที่เขาไม่สามารถยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เราจะไปปรับพฤติกรรมเขาก็อาจจะทำให้จิตใจของเด็กแย่ลง
ดังนั้น Play Therapy จึงเหมาะกับเด็กตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพราะเด็กไม่ได้ใช้คำพูดสื่อสารเหมือนผู้ใหญ่ แต่เขาใช้การเล่นเป็นสัญลักษณ์แทนภาษา บางคนโดนล่วงละเมิดทางเพศมา เขาบอกไม่ได้หรอก เด็กสามขวบจะบอกยังไงว่าผู้ชายคนนี้ทำอะไรกับหนูตรงไหนบ้าง แต่เขาจะหยิบตุ๊กตาตัวหนึ่งมาทำอะไรกับตุ๊กตาอีกตัวหนึ่ง เราค่อยๆ ดูก็รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น ขนาดหน้าอก อวัยวะเพศเขายังไม่รู้จักชื่อเลย แล้วจะให้เขาบอกเราได้อย่างไรว่าโดนทำอะไรมา
เด็กชอบเล่นซ่อนหา เพราะเขาอยากให้หาเจอ
หรือเด็กบางคนไม่รู้ตัวนะว่าเขาต้องการเป็นที่รัก และเขาก็ปฏิเสธทุกคนด้วยการทำตัวอาละวาด ทำตัวแข็งๆ ข้างนอก แต่ข้างในเปราะบางมาก เรารู้ได้ยังไง เพราะในคาบเขาอยากเล่นซ่อนหากับเรา เขาบอกว่าเล่นซ่อนหาได้ไหม เวลา therapy เราจะถามเด็กเสมอว่าอยากให้เล่นแบบไหน
หรือเด็กบางคนไม่รู้ตัวนะว่าเขาต้องการเป็นที่รัก และเขาก็ปฏิเสธทุกคนด้วยการทำตัวอาละวาด ทำตัวแข็งๆ ข้างนอก แต่ข้างในเปราะบางมาก เรารู้ได้ยังไง เพราะในคาบเขาอยากเล่นซ่อนหากับเรา เขาบอกว่าเล่นซ่อนหาได้ไหม เวลา therapy เราจะถามเด็กเสมอว่าอยากให้เล่นแบบไหน
เล่นซ่อนหามันมีนัยยะสำคัญอีกอย่างคือ คนที่ซ่อนต้องการให้คนอื่นเจอเขา เด็กที่ชอบเล่นซ่อนหาเป็นวัยที่ต้องการความสนใจ ทำไมเด็กถึงชอบมาก เพราะเขาได้เป็นคนสำคัญ มีคนตามหาเขา หรือซ่อนของ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งว่าเขาต้องการให้คนเจอ เวลาไม่เจอเขาก็บอกว่า นี่ไง แอบดูสิ พื้นตรงนี้ๆ บางทีเราไม่ต้องไปถามเขาหรอก เขาจะบอกเอง ซึ่งถึงเขาจะบอก ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแบบนั้นเสมอ เราใช้การสังเกตเอาว่าเด็กคนนี้ขาดอะไรและต้องการอะไร
ฟัง สังเกต จับความรู้สึก สะท้อนกลับ เพื่อทำให้เขามองเห็น และเติมเต็ม เยียวยาบรรเทา
ทักษะที่สำคัญมากๆ ของนักจิตวิทยา นอกจากการฟัง คือการสังเกตและจับความรู้สึกให้ได้
หรือว่าเขาอยากให้เราเล่นแบบไหน เช่น อยากเล่นเป่ายิ้งฉุบ เราก็จะถามเลยว่า อยากให้เราแพ้หรือชนะ การเล่นบำบัด เราจะให้สิทธิเขาในการเล่น คุมเราทุกอย่างเพื่อที่จะตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ เด็กบางคนเป็นขี้แพ้นอกห้อง เป็นใครสักกคนที่ไม่มีใครเห็นค่า แต่พออยู่ในห้องนี้เขาได้กุมอำนาจขึ้นมา เขาอยากเป็นคนชนะบ้าง เป็นคนที่มีคนเจอเขาบ้าง เราก็จะเป็นคนที่ตอบสนองเขา
เมื่อเด็กได้รับเต็มที่แล้วเขาก็จะรู้สึกได้รับการเติมเต็มความต้องการบางอย่าง จากนั้นเขาจะก้าวไปสู่ขั้นต่อไปได้
การเล่นบำบัดจึงเติมเต็มและเยียวยาในสิ่งที่เด็กขาด เช่น อยู่ข้างนอก เด็กบางคนกลัวเลอะเทอะมาก แต่มาเล่นในห้องนี้ก็สาดสีสาดทราย เด็กก็บอกว่าคุณแม่ไม่ให้เล่นที่บ้านแบบนี้ หนูเล่นแบบนี้ได้ที่เดียวคือที่นี่ แล้วก็พูดว่าที่บ้านหนูของเล่นเยอะมากเลยนะ ที่นี่น้อยมากเลย แต่หนูชอบเล่นที่นี่เพราะมีพี่เมเล่นด้วย
เขาต้องการคนรับฟัง ต้องการคนที่รับรู้ว่าเขามีตัวตนนะ ดังนั้น การเล่นบำบัดจึงเป็นการเยียวยา ปรับสภาพจิตใจเขา เมื่อเขาพร้อมแล้ว กลับมาสู่ปกติแล้ว พร้อมที่จะรับอะไรใหม่ๆ สอนได้แล้วก็ค่อยไปปรับพฤติกรรมหรือเรียนอย่างอื่นเพิ่ม
เทของเสียออกจากใจ
หรือเด็กบางคนชอบเทน้ำใส่กระบะทรายจนแบบท่วมเลย เอารถมาลอย แล้วก็บอกว่าคลื่นยักษ์ เล่นอย่างนี้สิบกว่าครั้ง เราก็งง อาจารย์บอกว่าถ้าเขาเล่นอะไรซ้ำๆ แสดงว่าเขาติดค้างอะไรอยู่ ช่วยเขาด้วย
อาจารย์พูดว่า “You must establish a feeling of permissiveness for the child so that he feels free to express his feelings completely.” คือ เราต้องเอื้อให้เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวเขาเอง ทั้งความรู้สึก และสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อสารออกมา โดยปล่อยให้เขาได้ทำในสิ่งที่ใจต้องการ และมีเราดูแลอย่างใกล้ชิด คอยสะท้อนทุกการกระทำและความรู้สึก
จนกระทั่งครั้งสุดท้ายเหมือนเขาได้พูดแล้วหลุดออกมา รู้ไหมว่าตอนเด็กๆ พ่อเคยจับโยนลงไปในสระน้ำ แล้วให้เขาว่ายน้ำพ่อไม่รู้หรอกว่าเขากลัวมาก ตั้งแต่เขาพูดคำนี้ ตั้งแต่นั้นเด็กคนนี้ไม่เล่นอย่างนั้นอีกเลย เหมือนเขาปลดล็อคอะไรที่ติดค้างในใจได้ (Completed Unfinished Business)
ดังนั้นหน้าที่ของการเล่นบำบัด คือ การเอาปมในใจ หรือ เทของเสียออกมาก่อน เหมือนเราใส่ของเสียไว้เต็มแก้ว ต่อให้เราเทน้ำเปล่าสะอาดๆ ใส่ยังไงมันก็สกปรก ดังนั้นเราต้องเทของเสียออกก่อน แล้วค่อยเทน้ำสะอาดใส่เข้าไปใหม่ เราเลยคิดว่าเด็กบางคนเขาเจออะไรมาเยอะมาก เราไม่สามารถสอนอะไรเขาได้ เราต้องรับฟังเขาก่อน เทเขาออกมาก่อนแล้วค่อยสอนสิ่งใหม่เข้าไป
บางอย่างเราเห็นว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่มันเป็น trauma ของเขา หรือผู้ใหญ่เอง ถ้าเราลองนึกภาพกลับไป เรากลัวอะไรบางอย่าง ส่วนใหญ่มาจากวัยเด็กซึ่งตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจ
‘Trauma’ ยิ่งเจอเร็ว ยิ่งดี
trauma แปลว่า ‘บาดแผล’ ซึ่ง ‘Psychological Trauma’ คือ บาดแผลทางใจ ที่เกิดจากการได้รับการกระทบทางใจอย่างแสนสาหัส เช่น การถูกทอดทิ้ง บุคคลอันเป็นที่รักเสียชีวิต การเจอเหตุการณ์ที่น่ากลัว เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนอาจจะเกิด trauma กับสิ่งเดียวกันหรือต่างสิ่งก็ได้ เพราะภูมิคุ้มกันทางใจของเเต่ละคนมีไม่เท่ากัน
ถ้าถามว่า เราควรรับรู้ให้เร็วหรือไม่เมื่อเด็กมีบาดแผลทางใจ แน่นอนว่า “ถ้าเพิ่งเป็นแผล เราใส่ยาเร็ว และรักษาอย่างถูกวิธีแผลอาจจะหายเร็ว และเเผลเป็นอาจจะเกิดได้น้อยกว่า การเป็นแผลแล้วทิ้งเอาไว้เนิ่นนาน ไม่ทำอะไรกับมันจนกลายเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่”
เช่นเดียวกับบาดแผลทางใจ ถ้าเราไม่ทิ้งเอาไว้นาน อาการบาดเจ็บก็จะไม่เกาะกินใจเขานาน ไม่ติดเป็นบาดแผลทางใจทั้งชีวิต ทำให้เขาสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดีกว่า
ถ้าเด็กที่เหมือนมีอะไรในใจตลอดเวลา เขาคงกังวล อารมณ์เหมือนเรามีความกังวลในใจ เราจะทำอะไรไม่ค่อยได้ดี ทำไม่สุด ดังนั้น ยิ่งเราตรวจจับ (detect) ได้เร็ว ยิ่งดี
หนึ่งวันของเด็กอาจจะยาวนานมาก ในความรู้สึกมันยาวนานเป็นปี แต่ในผู้ใหญ่หนึ่งวันมันแค่นิดเดียว พ่อแม่บอกว่าทำโทษลูกโดยให้ลูกอยู่ในห้องคนเดียวสิบนาที แต่ลูกอาจจะมีบาดแผลทางใจไปทั้งชีวิต เพราะสิบนาทีของเขามันยาวนานมาก
ก่อนมาหานักจิตวิทยา พ่อแม่จะช่วยลูกก่อนได้อย่างไร
ปัญหาก็มีทั้งทางกาย สภาพแวดล้อม สำหรับทางกาย ถ้าลูกเรามีปัญหาทางกายในเชิงพัฒนาการล่าช้า มันก็ส่งผลต่อพฤติกรรม เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าจะมีพฤติกรรมบางอย่าง เพราะเขาไม่รู้วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ถ้ามีปัญหาด้านพัฒนาการ เช่น ลูกไม่สามารถเดินได้ตามวัย หรือลูกไม่พูดทั้งๆ ที่เกินเกณฑ์แล้วเราก็ควรเข้าไปหาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์พัฒนาการเด็ก คือไปเร็วดีกว่าไม่ไป อย่าสงสัยนาน อย่าถามคนรอบข้าง อย่า search google จนเครียดไปเอง อย่าใช้การเดาหรือหรือเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ถามผู้เชี่ยวชาญดีที่สุด
สุดท้ายไม่เป็นอะไรก็ดีแล้ว แค่ตัดข้อสงสัย เราก็สบายใจด้วย แล้วเราก็ได้รู้แนวทางว่าที่เขาช้าเพราะอะไร เราจะพัฒนาเขาได้อย่างไร
ข้อสอง สภาพแวดล้อม ถ้าสภาพแวดล้อมไม่โอเคเช่น พ่อแม่ทะเลาะกันตลอดเวลา หรือมีปัญหากับปู่ย่าตายายเราต้องคิดแล้วว่าถ้าเราเอาลูกออกมาจากตรงนั้นไม่ได้ เราจะทำยังไงเพื่อที่จะเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดให้ลูก แม่อาจจะเป็นคนเดียวที่ทำเพื่อลูก คนอื่นอาจจะไม่โอเคเลย ตรงนี้เราก็ต้องดูว่าใจเราไหวไหม สุขภาพกายใจเราพร้อมไหม ถ้าเราพร้อม เราก็ทำของเราให้ดีที่สุดตามหลักพัฒนาการลูก
แต่ถ้าแม่ไม่ไหว แม่หาตัวช่วยได้ เช่น ไปพบนักจิตวิทยา แล้วก็หาแนวทางระบายออก ไม่เก็บไว้คนเดียว ให้มองว่านักจิตวิทยาเป็นเพื่อน มีคนช่วยคิดดีกว่าเราคิดคนเดียว เครียดอยู่คนเดียว และเราก็โตพอที่จะทำอะไรเพื่อเราและลูกได้แล้ว ถ้าพ่อแม่ไม่ปกป้องลูกก็คงไม่มีใครทำได้
ข้อสาม คือ ปัญหาเชิงพฤติกรรมที่เราไม่เข้าใจว่าทำไมอยู่ดีๆ ลูกเราถึงลงไปเอาหัวโขกกำแพง หรือมีพฤติกรรมแปลกๆ ที่เด็กคนอื่นไม่ทำ ทางที่ดีคือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ บางทีเราไม่รู้หรอกว่าพฤติกรรมอันนี้มันเกิดจากอะไรแต่ถ้าเรารู้ปุ๊บเราก็จะป้องกันได้ หรือรับมือกับมันได้แบบมีสติมากขึ้น อย่างน้อยก็เบาใจ ดีกว่าทำอะไรไม่ได้เลย
ดังนั้น การพบนักจิตวิทยา จิตแพทย์ เป็นเรื่องธรรมดา พ่อแม่ทุกคนไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลเมื่อต้องนัดพบผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้
อ่านบทความ SAND TRAY THERAPY: ปลดล็อคเรื่องเศร้าที่เล่ายากด้วยการบำบัดในถาดทราย ได้ ที่นี่