Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Family Psychology
1 November 2019

กลับมาเป็นพ่อแม่ที่มีหัวใจ ฟังเสียงข้างในที่ลูกไม่ได้พูด

เรื่องและภาพ วิรตี ทะพิงค์แก

  • บทความนี้ชวนพ่อแม่กลับมาทบทวนตัวเอง กลับมาเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังลูกอย่างลึกซึ้ง ฟังทั้งตัวและหัวใจเพื่อรับรู้ความรู้สึกทั้งมวล โดยไม่ถาม ไม่พูดแทรก ไม่ตัดสิน ไม่สั่งสอน หรือไม่คิดหาทางเสนอแนะ นอกจากพ่อจะได้ยินถ้อยคำที่ลูกเปล่งออกมาแล้ว หากยังทำให้ได้ยิน ‘เสียงที่ลูกไม่ได้พูดออกมา’ อีกด้วย 
  • การฟังแบบ SERACH MODEL คือการฟังลูกอยู่ในรูปแบบการโค้ช (coaching) ไม่เน้นสั่งสอน แต่เน้นการนำพาไปสู่เป้าหมายข้างหน้า โดยพ่อแม่ฟังลูกโดยใช้สัมผัสรับรู้เพื่อเข้าอกเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เห็นอกเห็นใจร่วมรู้สึกรู้สาเหมือนกับนั่งอยู่ในใจของลูกฟังเพื่อกลับมาเข้าใจตนเองว่าต้องการอะไรอย่างแท้จริง ฟังเพื่อให้เกิดการยกระดับทางความคิดและนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบใหม่และหาทางออก ฯลฯ

เป็นเราหรือเปล่าที่ฟังคนข้างๆ แต่ไม่เคยได้ยิน

เป็นเราหรือเปล่าที่มองคนตรงหน้า แต่ไม่เคยเห็นอย่างลึกซึ้ง

เป็นเราหรือเปล่าที่สัมผัสคนใกล้ชิด แต่ไม่เคยรับรู้ความรู้สึกภายในอย่างแท้จริง

บางทีคนเราก็หลงลืมไปว่า ก่อนเราจะเป็นพ่อแม่ที่แบกความคาดหวังทั้งต่อตัวเองและต่อลูก เราเองก็เคยเป็นคนธรรมดามาก่อน คนที่มีโอกาสผิดพลาด หลงทาง ไม่สมบูรณ์แบบ ค้นหาตัวเองมาก่อนด้วยกันแทบทั้งสิ้น เราอาจผ่านเหตุการณ์จนลืมห้วงเวลานั้นไปแล้ว หรือเป็นเพราะเรากดข่มความรู้สึกนั้นไว้ภายใน จนคาดหวังให้ใครสักคนมาทำให้มันสำเร็จ เป็นการทดแทน หากเราเป็นพ่อแม่ที่ไม่รู้ตัว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความคาดหวังของตัวเองไม่ใช่จากความต้องการของลูก หรือ สัมพันธ์กับผู้คนตรงหน้าจากมุมมองของตนเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ลองมาช้าลงสักนิดเพื่อเป็นพ่อแม่ที่มีหัวใจเป็นสุขต่อตัวเองและลูกๆ ดีไหม

Flock.co คือกลุ่มคนที่เชื่อว่าการเรียนรู้ของเด็กนั้นเป็นไปได้ในขอบเขตกว้างไกลกว่าโรงเรียนและเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอดชีวิต ได้จัดกิจกรรมเวิร์คช็อป “เติมความเป็นโค้ชให้พ่อแม่” เพื่อรวมพลังสร้างทักษะสำหรับผู้ปกครองทั้งในกรุงเทพฯและอีกสี่เมืองทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง และภูเก็ต โดยมี ครูฝน-ภัทรภร เกิดจังหวัด ครูร่ม-ฉัตรวรุณ เล้าแสงชัยวัฒน์ และ แม่บี-มิรา ชัยมหาวงศ์ ทีมวิทยากรจาก Flock.co โดยชวนพ่อแม่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคิดถึงคำถามสำคัญที่ว่า หากในศตวรรษ21ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป พ่อแม่จะมีบทบาทอย่างไรเพื่อช่วยให้ลูกปรับตัวและเผชิญความเปลี่ยนแปลงได้ ทำอย่างไรจึงช่วยให้ลูกมีแรงจูงใจในการขับเคลื่อนชีวิตของตัวเองอย่างมีความสุข หรือแม้แต่พ่อแม่จะช่วยลูกอย่างไรให้เป็นผู้เรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต

กลับมาเป็นพ่อแม่ที่มีหัวใจ

แค่วิทยากรตั้งคำถามแรกเพียงคำถามเดียว “โค้ชคืออะไร” ก็ทำให้พ่อแม่หลายคนเริ่มระลึกได้แล้วว่า เรา (อาจ) กำลังใช้ชีวิตของลูกมากกว่าที่ลูกใช้ชีวิตตัวเองเสียอีก เพราะโค้ชคือผู้เฝ้ามอง ชี้ชวนให้เกิดการตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้ตอบกลับไปสืบค้นเรื่องราวและมองเห็นปัญหารวมถึงทางออกด้วยตัวเอง แต่โค้ชไม่ใช่ผู้ให้ความเห็นหรือผู้ชี้แนะ ซึ่งเรา-พ่อแม่ทั้งหลายมักสวมบทบาทนี้บ่อยครั้งอย่างไม่รู้ตัว

“เด็กทุกคนต้องการความอดทน เวลา และความรัก” ครูฝนกล่าวสั้นๆ บอกพวกเราในตอนเริ่มต้น หากพ่อแม่ต้องการเป็นโค้ชที่ดี จำเป็นต้องฝึกฝนทักษะการโค้ชผ่านเครื่องมือเบื้องต้นอันสำคัญสองประการ คือ การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสื่อสารด้วยคำถามอันทรงพลัง

มนุษย์เรามีเครื่องรับสำคัญที่ติดตัวอยู่แล้ว คือ sensing ซึ่งไม่เพียงหมายถึงการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ขั้นพื้นฐาน หากยังรวมการรับรู้ที่มีพลังสูงสุดคือ “การรับรู้ที่มีหัวใจ” การรับรู้เช่นนี้จะทำให้เราช้าลง ละเอียดขึ้น จนสามารถฟังแล้วได้ยิน มองแล้วเห็น สัมผัสแล้วรับรู้ ทั้งหมดนั้นใช้ความเป็นมนุษย์ที่อยู่กับคนที่รักตรงหน้าอย่างเต็มเปี่ยมทั้งตัวและหัวใจ

โปรดฟัง (กัน) อย่างลึกซึ้ง

การที่เราจะสามารถรับรู้หรือโอบรับความรู้สึกใดๆ ของคนตรงหน้าได้อย่างแท้จริงนั้นเราต้องมีการฟังที่ดี เรียกว่ามีทักษะ ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ หัวใจสำคัญของการฟังแบบนี้คือ ฟังและอยู่ทั้งตัวและหัวใจเพื่อรับรู้ความรู้สึกทั้งมวลอย่างเต็มที่ โดยไม่ถาม ไม่พูดแทรก ไม่ตัดสิน ไม่สั่งสอน หรือไม่คิดหาทางเสนอแนะ (ในใจ) การฟังเช่นนี้ไม่เพียงทำให้เราได้ยินถ้อยคำที่เขาเปล่งออกมาเท่านั้น หากยังทำให้เราได้ยิน ‘เสียงที่ไม่ได้พูดออกมา’ ด้วย 

ตอนที่เราทดลองฝึกฝนทำกิจกรรมนี้ ฉันได้จับคู่กับพี่ท่านหนึ่ง เธอเป็นคนใจเย็นเมื่อประกอบกับการตั้งใจฝึกฟังอย่างเต็มเปี่ยม ฉันรู้สึกได้ถึงการโอบรับความรู้สึกทั้งมวล รู้สึกถึงการเป็นพื้นที่ปลอดภัย เหมือนเด็กน้อยที่ได้รับการโอบกอดอยู่ในอ้อมแขนของแม่ โดยรู้ในใจชัดเจนว่าเราจะไม่ถูกตัดสินจากคนคนนี้แน่นอน

เมื่อผู้ฟังรับฟังเสร็จ เป็นขั้นตอนของการฝึกสะท้อน (reflecting) สิ่งที่ได้ยินกลับไปให้ผู้พูดฟัง พี่สาวท่านนั้นสะท้อนบางสิ่งที่เป็นความอัดอั้นตันใจเบื้องลึกที่อยู่ภายใต้คำพูดของฉัน (ที่ฉันไม่ได้พูด) เธอสะท้อนออกมาอย่างเข้าใจราวกับว่ารู้สึกรู้สาไปด้วยกัน ทำเอาฉันน้ำตารื้นและประจักษ์ชัดว่าการที่มีใครสักคนรับฟังเราอย่างแท้จริง สามารถได้ยินสิ่งที่อยู่ในใจอย่างแจ่มชัดนั้น ช่างเป็นความรู้สึกอันวิเศษเหลือเกิน การฟังอย่างลึกซึ้งจึงไม่ใช่แค่การฟัง (ด้วยหู) อย่างที่เรามักปฏิบัติต่อกันในชีวิต แต่เป็นการฟังด้วยหัวใจ และสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือ คุณภาพของการรับฟังนั่นเอง 

แล้วทุกวันนี้เราพ่อแม่ได้เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของลูก (หรือคู่ชีวิต) แล้วหรือยัง?

ไว้วางใจได้เพราะไร้การตัดสิน

ตอนที่วิทยากรให้จับคู่ทำกิจกรรม ‘คุณคือใคร’ นั้น สำหรับฉันเป็นกิจกรรมเรียบง่ายอันทรงพลังมาก กติกานั้นง่ายดายคือผู้ถามถามคำถามสั้นๆ แค่ว่า “คุณคือใคร” โดยที่ผู้ตอบจะเลือกตอบสิ่งที่ผุดโผล่ในใจด้วยวลีสั้นๆ และผู้ถามถามคำถามนั้นไปเรื่อยๆ ไม่น่าเชื่อว่าแค่คำถามธรรมดากลับสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เรากลับมามองเห็นตัวเองอย่างแท้จริง เห็นความอ่อนไหวภายในโดยไม่ตัดสินตนเอง และได้เรียนรู้ว่ามนุษย์เราทุกคนต่างเป็นเสี้ยวส่วนที่เปราะบาง เราเป็นอย่างหนึ่งในสถานการณ์หนึ่ง และเราก็อาจเป็นอีกอย่างหนึ่งได้เมื่อบริบทเปลี่ยนไป 

เมื่อได้มองอย่างเข้าใจเช่นนี้ ทำให้ตระหนักว่าเราไม่ควรตัดสินใครว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะบางทีเราอาจเห็นเพียง ‘บางเสี้ยวส่วน’ ที่เขาแสดงออกมา เช่นเดียวกับที่เราก็มีส่วนเสี้ยวที่ประกอบขึ้นมาและเลือกใช้ต่างสถานการณ์เช่นเดียวกัน ความรู้สึกเหล่านี้ช่วยให้เรากลับมามีความเป็นมนุษย์ที่แท้ (ที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้ดีไปกว่าคนอื่นและเราไม่ควรตัดสินใครทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นลูกหรือคู่ชีวิต) นำมาซึ่งความรู้สึกไว้วางใจต่อกันในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียม ความไว้วางใจคือสิ่งสำคัญสูงสุดที่มนุษย์จะเปิดประตูหัวใจเข้าหากันและกัน เป็นด่านแรกของการสานความสัมพันธ์อันงดงามที่เราต้องข้ามผ่านให้ได้

สื่อสารด้วยคำถามอันทรงพลัง

‘คำถามที่ดีมีชัยเหนือทุกสิ่ง’ สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างเราและคนที่เรารักก็เช่นกัน คำถามเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความสุขหรือทุกข์ทรมานได้ทั้งสิ้น การโค้ชที่ดีจึงไม่ใช่การสั่งสอน ตัดสิน หรือชี้แนะแนวทางจากความคิด มุมมองของเราเอง แต่เป็นการสะท้อน (reflect) บางสิ่งที่ผู้พูด (อันหมายถึงลูกของเราหรือคู่ชีวิตก็ตาม) พูดออกมา เพื่อตั้งคำถามให้เขาพบคำตอบด้วยตัวของเขาเอง จากมุมมอง ความคิด ความต้องการของเขาเอง

ความวางใจคือสะพานอันสำคัญ เมื่อผู้ตั้งคำถามและผู้ตอบคำถามไว้วางใจต่อกัน กระบวนการที่เหลือมักจะเป็นไปอย่างราบรื่นง่ายดาย ในระหว่างการทดลองการฝึกโค้ชนั้น เราได้เรียนรู้ว่า จังหวะเวลาอันสอดประสาน (harmony) คือหนึ่งในสิ่งสำคัญของการโค้ช (สนทนา) เปรียบได้ดั่งการเต้นรำที่แต่ละฝ่ายควรคำนึงถึงอีกคนด้วยว่าเขากำลังอยู่ในความรู้สึกแบบไหน พร้อมแค่ไหน แล้วเคลื่อนไหวไปด้วยท่วงทำนองเดียวกัน

หลายครั้งที่คำถามของโค้ชนำพาให้ผู้ตอบคำถามดำดิ่งลึกลงไปภายใน จนรู้สึกบีบคั้น สั่นไหวและมีน้ำตา ผู้ถามมีหน้าที่เพียงรับรู้ อยู่ตรงนั้นเพื่อเขาอย่างแท้จริง เปิดใจเพื่อรับรู้ถึง ‘สิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมา’ และสัมผัสถึงความรู้สึกเบื้องลึก ด้วยหลัก CURE ได้แก่ C-Connect เชื่อมโยงคือการอยู่กับคนตรงหน้าทั้งตัวและหัวใจ U-Understand เข้าใจ R-Reframe เปลี่ยนกรอบการรับรู้ใหม่หากสิ่งนั้นเป็นอุปสรรคทำให้เขาไปไม่ถึงเป้าหมาย E-Empathy มีความเห็นอกเห็นใจ รู้สึกรู้สาไปกับสถานการณ์ที่เขาเผชิญอยู่

น้องสาวคนหนึ่งกล่าวให้ฟีดแบคว่า เธอรู้สึกโชคดีมากที่ได้โค้ชกับฉัน เพราะฉันได้ใช้คำถามเรียบง่ายที่นำพาให้เธอดำดิ่งลงไปค้นหาทางเลือกของตัวเองได้อย่างจริงจังเสียที หลังจากผัดผ่อนเรื่องการดูแลสุขภาพตัวเองมาตลอดเวลา เพราะการทำงานอย่างหักโหม กินอาหารไม่ดี พักผ่อนไม่พอ และไม่เคยออกกำลังกายเลย จนร่างกายประท้วงด้วยอาการป่วยกระเสาะกระแสะ ทั้งที่ลูกก็ยังเล็กและมีแม่สูงอายุที่ต้องดูแลอีกคน คำถามที่เธอรู้สึกสั่นสะเทือนที่สุดคือการที่ฉันถามว่า “ถ้าสมมุติว่าตอนนี้เรามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีอย่างที่ต้องการแล้ว เราจะรู้สึกอย่างไรบ้าง” นั่นเป็นคำถามที่เธอบอกว่าปลดล็อคทุกสิ่ง มันทำให้เธอ ‘ตัดสินใจด้วยตัวเอง’ ที่จะ ‘เลือก’ ว่านับจากนี้เธอจะจัดการตารางเวลาชีวิตเสียใหม่ เพื่อให้ความรู้สึกในจินตนาการนั้นเกิดขึ้นได้ในชีวิตของเธอเสียที

มุ่งสู่เป้าหมายด้วยกันอย่างเป็นสุข

นับเป็นการเรียนรู้ที่ดีมากเมื่อเราได้มีประสบการณ์ตรงที่ว่า การโค้ช (coaching) นั้น แตกต่างจากการให้คำแนะนำ (couselling) อย่างสิ้นเชิง เพราะการให้คำแนะนำผูกพันอยู่กับสถานการณ์ที่ผ่านมาแล้ว เน้นการ (สั่ง) สอนที่มาจากคนอื่นหรือภายนอกตัวเอง ขณะที่การโค้ชนั้น เน้นการนำพาไปสู่เป้าหมายข้างหน้า เน้นการถามเพื่อให้ผู้ตอบ ตอบคำถามจากภายในได้ด้วยตัวเอง คำตอบที่ได้จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของแต่ละคนจริงๆ  การเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นได้จากการตัดสินใจและเลือกของตัวเอง สิ่งนั้นมักเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและแก้ปัญหาได้ในที่สุด

แม่บี-มิรา ชัยมหาวงศ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Flock.co สรุปการเรียนรู้เกี่ยวกับการฝึกฝนเรื่องการโค้ชในช่วงท้ายให้เราฟังผ่าน SEARCH MODEL ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

S-Sensing การใช้สัมผัสรับรู้เพื่อเข้าอกเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

E-Empathy ความเห็นอกเห็นใจร่วมรู้สึกรู้สาในเงื่อนไขสถานการณ์ของเขา เหมือนกับนั่งอยู่ในใจของเขาอย่างแท้จริง

A-Aspiration การตั้งเป้าหมาย การกลับมาเข้าใจตนเองว่าต้องการอะไรอย่างแท้จริง

R-Reconstruct หรือ Reframe การกลับไปมองสถานการณ์เดิมด้วยมุมมองหรือกรอบคิดใหม่ เพื่อให้เกิดการยกระดับทางความคิดและนำไปสู่การแก้ปัญหาแบบใหม่และหาทางออกได้จริง

C-Choice/Chance การสร้างทางเลือกให้แก่ตัวเองและการสร้างโอกาสใหม่ในการลงมือทำบางอย่างเพื่อเข้าใกล้เป้าหมายที่ต้องการมากขึ้น

H-Hearten การเสริมแรงให้เขาแสวงหาทางเลือกเพื่อทำให้ตัวเองไปถึงเป้าหมายและเลือกเป้าหมายเพื่อทำจนสำเร็จด้วยตัวเอง

กล่าวโดยสรุปคือผู้ทำหน้าที่โค้ชจำเป็นต้องฝึกฝนคุณลักษณะของการเป็นผู้รับฟังที่เปิดกว้างไม่ตัดสิน มีความรัก เห็นอกเห็นใจ เข้าใจมากเพียงพอ เช่นเดียวกับที่สามารถยกระดับความคิดให้ผู้รับการโค้ชมองเห็นปัญหา และค้นพบจุดพลิกผันเปลี่ยนแปลงปัญหานั้นได้จากพลังความสามารถของตัวเอง สร้างทางเลือกของความเป็นไปได้ในการกำหนดเป้าหมายเพื่อให้เกิดการตัดสินใจลงมือทำจนสำเร็จด้วยตัวเขาเอง

แม่บีย้ำว่า ความยากที่สุดของการถาม (หรือการสนทนากับลูก) คือ เรามักมีสมุติฐานเอาไว้ก่อนแล้ว พูดง่ายๆ ว่าเรามักตัดสินไปแล้วตั้งแต่ยังไม่เริ่มถาม นั่นเป็นจุดที่ทำให้ความสัมพันธ์เกิดรอยร้าว ความไม่ไว้วางใจและห่างเหิน การที่พ่อแม่สักคนสามารถสร้างความรู้สึกไว้วางใจ การเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่โอบรับทุกสิ่งโดยไม่ตัดสินไปก่อน จึงมีคุณค่าความหมายสำหรับลูกอย่างมาก ความยากนี้ฝึกฝนได้ด้วยการรู้เท่าทันตนเอง ทันทีที่นึกขึ้นได้ว่า ‘นี่เรากำลังตัดสินลูกอีกแล้วนะ’ ให้รีบวางไว้ก่อน เปรียบเหมือนนำรถเข้าช่องจอด (parking lot) เพื่อไม่ให้สิ่งที่เราคิดรู้สึก (ในฐานะพ่อแม่) ไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการพูดคุยกับลูก

ในโลกที่หมุนติ้วอย่างรวดเร็ว (VUCA World) ผันผวน (volatility) ไม่แน่นอน (uncertainty) สลับซับซ้อน (complexity) และคลุมเครือ (ambiguity) ชนิดที่อาจไม่มีใครสามารถคาดการณ์อนาคตได้ ลูกต้องเรียนรู้มากกว่าอะไรเป็นอะไร แต่ต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยน ยืดหยุ่นกับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ในเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ตัวเองมี การที่พ่อแม่เปิดพื้นที่ของการคิด (ผ่านการโค้ช) ด้วยการรับฟัง ตั้งคำถามอันสำคัญเพื่อให้ลูกใคร่ครวญ ทบทวน เรียนรู้ และค้นพบทางออกด้วยตัวเอง จึงเป็นการติดอาวุธสำหรับลูกอย่างดีที่สุด

การที่เด็กสักคนหนึ่งได้คิด ย้อนคิด เปลี่ยนแปลง ทำให้เขาได้รู้จักตัวเอง มีอำนาจในการตัดสินเลือกในชีวิตตัวเอง เป็นพื้นฐานของการเสริมพลังแห่งการนับถือตัวเองอย่างแข็งแกร่ง การได้เลือกทำด้วยตัวเอง ได้ยืนยันด้วยตัวเอง ยิ่งทำให้เขาเกิดทักษะการตัดสินใจในชีวิตได้ดีขึ้นเรื่อยๆ  

คำถามที่ทรงพลัง (ของพ่อแม่) จึงนำมาซึ่งคำตอบที่ทรงพลัง (ของลูก) เสมอ ขอเพียงแต่เราจงฝึกฝนการเป็นพ่อแม่ที่รู้ตัว (awareness/mindfulness) อีกนิด ใจกว้าง (open-mind) อีกหน่อย ระลึกรู้และหมั่นสังเกตตนเองเสมอว่าเราถามคำถามนี้เพื่อใคร คำตอบแบบใดที่เราต้องการ เรากำลังทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อลูกกันแน่ คำถามที่ดีต้องนำไปสู่การยกระดับทั้งทางความคิดและความรู้สึกทางจิตใจ คำถามที่ดีต้องนำพาให้เราเกิดมุมมองใหม่ และเห็นความไปได้ใหม่ๆ ในสิ่งที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน   

ทุกอย่างดูเหมือนเป็นเรื่องยากเย็นเสมอ เมื่อเริ่มต้นเดินจากก้าวแรก หากจงเป็นพ่อแม่ที่ฝึกฝน (ทักษะการฟังและถาม) พร้อมๆ กับฝึกฝืน (ความเคยชินเดิมๆของตัวเอง) เพื่อยกระดับตัวเองและยกระดับลูกไปพร้อมๆ กัน การได้กลับมาเป็นพ่อแม่ที่มีหัวใจก็เท่ากับเราได้ทำหน้าที่บ่มเพาะมนุษย์ตัวน้อยๆ ให้เป็นคนที่มี ‘หัวใจงดงามของความเป็นมนุษย์’ ด้วยเช่นเดียวกัน

และนั่นอาจเป็นคำตอบของคำถามที่ว่า เราจะแตกต่างจากหุ่นยนต์อย่างไรนับจากวันนี้

หมายเหตุ : ติดตามกิจกรรมอื่นๆ จาก Flock.co ได้ที่ https://www.facebook.com/Flocklearning/

Tags:

พ่อแม่จิตวิทยาการฟังและตั้งคำถามFlock LearningSEARCH MODEL

Author & Photographer:

illustrator

วิรตี ทะพิงค์แก

นักเขียน นักเล่าเรื่อง และบรรณาธิการอิสระ ที่ยังคงมีความสุขกับการเดินทางภายนอกเพื่อเรียนรู้โลกภายในของตัวเอง เจ้าของผลงานนิทานชุดดอยสุเทพเรื่อง ‘ป่าดอยบ้านของเรา’ หนังสือเรื่อง ‘เตรียมหนูให้พร้อมก่อนเข้าอนุบาล’ และ ‘ของขวัญจากวัยเยาว์’ คู่มือสังเกตความถนัดของลูกช่วงปฐมวัย เคยทำนิทานร่วมกับลูกชายเมื่อครั้งอายุ 6 ปี เรื่อง ‘รถถังนักปลูกต้นไม้’

Related Posts

  • Family Psychology
    พ่อแม่ห้ามด้วยความเป็นห่วงแต่ลูกตีความว่าถูกตำหนิ และอีกหลายความขัดแย้งในบ้าน อ่านวิธีคลี่คลายที่นี่

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่นEducation trend
    สอนให้ลูกเป็นสุนัขจิ้งจอก: ทำได้หลายแบบ คิดได้หลายโหมด และไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Family Psychology
    ‘ตอนนี้’ และ ‘โตขึ้น’ อยากเป็นอะไร พ่อแม่ช่วยลูกค้นหาได้ด้วย 9 วิธีนี้

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    มิรา ชัยมหาวงศ์: ขีดเส้นใต้การเป็นแม่ ‘ตัวตนเป็นของลูก ไม่ใช่ของแม่’

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • How to get along with teenagerAdolescent Brain
    สมองวัยรุ่น เมื่อต้องรับมือกับความผิดหวัง อกหัก!

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel