- บทความจากการสังเกตการณ์วงคุยของเหล่าครู ใช้นวัตกรรมจิตศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาปัญญาภายใน และ ออกแบบการเรียนรู้บูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน PBL (Problem Based Learning)
- เมื่อทำกระบวนการนี้ไปใช้ในคาบเรียน ครูเห็นการเปลี่ยนแปลง และสัมผัสได้ถึงผลลัพท์ที่เกิดการกระทำกับภายในของตัวครูเอง
- หน้าที่ของจิตศึกษาจึงคือการจำลองสถานการณ์ที่เกี่ยวกับ ‘จริยธรรม’ อย่างชัดเจนที่สุดเพื่อให้ผู้เรียนได้ผ่านประสบการณ์ (จำลองทางความคิดและความรู้สึกนั้น) ได้ใคร่ครวญ ได้เข้าใจ และเคารพเรื่องราวการตัดสินทางจริยธรรมผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น… ได้อย่างเบาที่สุด เจ็บปวดเองน้อยที่สุด
1.
ครูหลายท่านอาจคุ้นหูกับคำว่า ‘จิตศึกษา’ แต่กับฉัน – อดีตนักเรียนตามวิถีครูเขียนหนังสือหน้ากระดานและฉันมีหน้าที่ตามสิ่งที่ครูเขียนให้ทัน จดตาม และยกมือตอบ (บ้าง ไม่ยกบ้าง) เพื่อให้ได้คะแนนตอบในห้องอย่างเพียงพอจะขยับเกรดตอนท้ายเทอมนั้น ไม่เข้าใจหรอกว่ามันคืออะไร
ตรงหน้าฉันขณะนี้คือครูในเครือข่ายโรงเรียนนำร่องของขบวนการทดลองปฏิรูปการศึกษาในชื่อ ‘พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา’* ของจังหวัดศรีสะเกษร่วมร้อยคน ตัวแทนของโรงเรียน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสและขนาดเล็ก) จำนวน 8 แห่ง พวกเขามารวมตัวกันที่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อตระเตรียมออกแบบการเรียนรู้ในภาคการศึกษาใหม่ (ใช่แล้ว… ขณะที่นักเรียนปิดเทอม คุณครูก็ใช้เวลาเหล่านี้พักผ่อนสบายๆ ไปกับการเค้นความคิด เตรียมแผนการสอน)
ซึ่งเป็นการออกแบบการเรียนรู้ที่นำโดยการใช้ จิตศึกษา ใช้นวัตกรรมจิตศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาปัญญาภายใน และ ออกแบบการเรียนรู้บูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน PBL (Problem Based Learning) และ เรียนรู้ผ่านชุมชนการเรียนรู้ของครู (Professional Learning Community) หรือ PLC อันเป็นวงคุยของครูเพื่อทบทวน วิเคราะห์ และพัฒนาการออกแบบการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ในฐานะโรงเรียนพี่เลี้ยงในการปรับการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนเครือข่าย (โรงเรียนที่มีก้อนหินใหญ่ยักษ์หน้าประตูโรงเรียน บนนั้นปรากฏอักษรประดิษฐ์วางเรียงเขียนข้อความว่า – ไม่มีหินก้อนใดโง่ โรงเรียนนอกกะลา – และนี่อาจอธิบายเหตุผลได้ว่าทำไมครูเครือข่ายโรงเรียนนำร่องในโครงการพื้นที่นวัตกรรม จึงมารวมตัวกันที่นี่)
อีกครั้ง… ครูหลายท่านอาจคุ้นหูกับคำว่า ‘จิตศึกษา’ แต่กับฉัน ซึ่งไม่รู้และไม่เคยมีจินตนาการว่ามีการเรียนการสอนแบบนี้อยู่จริงบนโลก เมื่อต้องมาเห็นเบื้องหลังวิธีคิด เบื้องหลังการออกแบบการทำจิตศึกษา ได้ลองนั่งทำจิตศึกษากับกลุ่มครูตลอดสามวันของการเวิร์คช็อป และได้ฟังคุณครูหลายท่านสะท้อนว่าเมื่อนำการเรียนการสอนแบบนี้ไปใช้ในคาบเรียน เห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็รู้สึก ‘ทึ่ง’ กับการเรียนรู้เชิงลึกที่เข้าไปกระทำกับภายในของผู้คน จนอยากเขียนถ่ายทอดถึง
2.
การเวิร์คช็อปครูวันแรกเปิดห้องด้วยการที่ ‘ครูใหญ่’ วิเชียร ไชยบัง แห่งโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ยกตัวอย่างแผนการเรียนรู้จิตศึกษาของคุณครู ที่มีคีย์เวิร์ดว่าครูต้องออกแบบกระบวนการด้วยวิธี ‘ชง เชื่อม ใช้’ และ 3 คำนี้ มันแตะไปที่การนั่งสมาธิ (ในแง่การนั่งนิ่งๆ หลับตาและเฝ้าดูลมหายใจ) น้อยมาก – แต่ก็ใช่ว่าจะไม่แตะเลย และอยู่ที่ว่าเรานิยามคำว่า สมาธิ ไว้แบบไหน?
แต่จิตศึกษาที่ว่าหมายถึง การนั่งจับกลุ่มเป็นวงกลม ครูไม่ได้นั่งสูงกว่า นักเรียนไม่ได้นั่งต่ำกว่า แต่เป็นวงล้อมรอบที่ทุกคนนั่งเสมอกัน และพูดคุยแสดงความคิดเห็นในประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างเคารพว่านี่คือ ‘ความคิดของเขา’ ไม่ตัดสิน ไม่เยาะเย้ย ไม่ดูแคลน ไม่ใช่แค่ให้ออกความเห็นอย่างเสมอภาค แต่จิตศึกษาออกแบบกระบวนการเพื่อให้ผู้เรียนแตกยอดความคิดด้วยตัวเอง ด้วยกระบวนการดังนี้…
เริ่มแรก ด้วยกิจกรรม ‘Brain Gym’ หรือ กิจกรรมบริหารสมอง แต่ลดรูปให้เหลือเพียงการจัดท่าทางร่างกายที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อจึงจะทำได้ เช่น กำหนดให้มือข้างซ้ายชูนิ้วชี้และนิ้วก้อย มือข้างขวากำหลวมๆ จากนั้นจึงสลับมาชูนิ้วชี้และนิ้วก้อยด้วยมือข้างขวา ขณะที่ข้างซ้ายเปลี่ยนมากำหลวมๆ แทน สลับกันไปอย่างนี้จำนวน 20 ครั้ง หรือ ออกแบบการเคลื่อนไหวสลับข้างอื่นๆ เพื่อบริหารการทำงานของสมองซีกซ้ายและขวา
กิจกรรม Brain Gym จะช่วยปรับสภาพจิต อารมณ์ เตรียมสมาชิกในห้องให้กลับมามีสติที่ตัวเอง เพราะลองจินตนาการว่าก่อนเข้าเรียน เข้าประชุม เราทุกคนต่างมาด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ปัญหาส่วนตัว และพลังงานส่วนตัวที่สั่นไหวเสมอ ความสั่นไหวแบบนั้นคือตัวแปรว่าผู้เรียนมีความพร้อมเริ่มต้นการเรียนรู้แค่ไหน
พูดในอีกทาง Brain Gym ก็คือการกลับมามีสมาธิ ทำใจให้นิ่ง พร้อมวางทุกความกังวล เตรียมตัวเองให้พร้อมกลับเข้ามาสู่ปฏิสัมพันธ์ที่กำลังจะเกิดในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า
เมื่อเห็นว่าบรรยากาศในห้องเริ่มนิ่งพอพร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ได้แล้ว คราวนี้ก็เป็นบทบาทของครูที่จะเริ่มกระบวนการ ‘ชง เชื่อม ใช้’ ในคลาสจิตศึกษาต่อไป
ชง: ขั้นชงคือขั้นที่ครูเป็นผู้เปิดประเด็นว่าวันนี้จะมา ‘พูดคุยกันในประเด็นไหน’ ส่วนใหญ่ครูเปิดวงด้วยการให้ผู้เรียนดูคลิปวิดีโอ หรือ เล่าสถานการณ์ และคำถามในขั้นชงนี้ จะเป็นคำถามที่แค่ย้ำกับนักเรียนเพื่อทวนข้อมูลว่าผู้เรียนเข้าใจข้อมูลตรงกันหรือไม่ เช่น ผู้เรียน ‘สังเกตเห็น’ อะไรบ้าง ในเรื่องนี้มีตัวละครกี่ตัว ใครบ้าง หรือคำถามอื่นในเชิง ‘การสังเกต’
ขีดเส้นใต้ไว้ว่าประเด็นที่เลือกควรเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับจริยธรรม (จะขอถกกันถึงความหมายของจริยธรรมในช่วงถัดไป) เช่น ครูอยากชวนนักเรียนคุยเพื่อให้นักเรียน ‘สงสาร’ หรือ ‘เห็นอกเห็นใจ’ อยากให้นักเรียน ‘ยอมรับ’ ในสิ่งที่เกิด หรือ ‘เคารพ’ ในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยให้ครูเลือกคลิปหรือสถานการณ์ที่จะนำพานักเรียนไปพูดคุยโดยครูออกแบบคำถามในช่วงชงและใช้ให้ไปถึงจุดนั้น
ความสำคัญของขั้น ‘ชง’ ที่ครูใหญ่วิเชียรเน้นย้ำกับครูและให้น้ำหนักมากในคลาสเวิร์คช็อปนี้คือ ครูต้องเข้าใจว่าอยากให้เรื่องเล่า หรือ คลิปวิดีโอที่เปิดนั้นทำหน้าที่รับใช้ความคิดอะไร หรือ กำลังจะนำให้นักเรียนพูดคุยในประเด็นใด และในขั้นนี้เองที่ ชง จะไปเชื่อมกับขั้น ‘เชื่อม’ ต่อไป
เชื่อม: คือการ ‘เซ็ตคำถาม’ จากครู ว่าเรื่องเล่าหรือคลิปวิดีโอสั้นที่นักเรียนได้ดูนั้น ‘เกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างไร’ รู้สึก กับตัวละครนั้นอย่างไร กล่าวคือ เป็นคำถามที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเล่าแต่เคลื่อนสถานการณ์นั้นมาที่ตัวผู้เรียน
เช่น หากในเรื่องมีตัวละคร 3 ตัวที่เกี่ยวเนื่องกัน ครูอาจถามว่า ผู้เรียนเห็นใจตัวละครไหนที่สุด หรือ ชอบตัวละครไหนที่สุด ชอบหรือเห็นใจเพราะอะไร
ใช้: ในขั้น ‘ใช้’ คือการถามคำถามประเภท ‘จำลองสถานการณ์’ หากผู้เรียนต้องตกอยู่ในสถานการณ์นั้น ผู้เรียน (หรือเรา) จะทำอย่างไร
เช่น หากนักเรียนเป็นตัวละคร A (อาจเป็นตัวที่ผู้เรียนชอบหรือไม่ชอบก็ได้) และต้องอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น นักเรียนจะทำอย่างไร เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ในชีวิตจริงไหม ถ้ามี เราจะจัดการอย่างไร?
ในระหว่างเวิร์คช็อป ครูใหญ่วิเชียรไม่ได้แค่อธิบายว่าแต่ละขั้นของ ชง-เชื่อม-ใช้ สำคัญอย่างไร แต่ถกกัน (หนัก) เรื่องความชัดเจนของขั้น ‘ชง’ ที่ครูเลือกหยิบเป็นวัตถุดิบให้นักเรียนครุ่นคิด และ (ขยี้) หนักขึ้นไปอีกในแง่ ‘คำถาม’ ที่ครูเลือกใช้ ยิ่งคำถามที่ชัดเจนและเชื่อมเข้ามาให้ใกล้ตัวผู้เรียนเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ผู้เรียนเข้าใจง่ายขึ้น เช่น ลองเปลี่ยนคำถามจาก ‘เรื่องนี้สะท้อนสังคมอย่างไร’ เป็น ‘นักเรียนเคยเจอเหตุการณ์คล้ายกันนี้ในชีวิตจริงหรือไม่?’ สังเกตว่าแม้คำถามจะมีเจตนาเดียวกันคือการเซ็ตให้ผู้เรียนเชื่อมสถานการณ์นั้นกับสังคม แต่คำถามที่สอง เป็นคำถามที่กำหนดขอบเขต หรือทำให้ประเด็นนั้นใกล้ตัวผู้เรียนมากขึ้น
ครูใหญ่อธิบายเพิ่มเติมว่า กระบวนทัศน์ของจิตศึกษาคือการ “งอกงามสู่ความไม่มี” จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสนามพลังบวก จิตวิทยาเชิงบวก และต้องมีกิจกรรมเพื่อฝึกฝน เพื่อให้เกิดผลกับผู้เรียน 3 ระดับคือ
- ระดับต้น (พื้นฐาน) คือการฝึกสติ การใคร่ครวญ การเคารพคุณค่าในตัวเองและคนอื่น และเห็นความเกี่ยวเนื่องกัน
- ระดับกลาง คือการทำให้เกิดวิจารณญาณเชิงจริยธรรม และนำตัวเองได้ (leading self)
- ระดับสูง ผู้ฝึกจะหลุดจากการตัดสิน รู้และเคารพในการ ‘เป็น’ อย่างนั้นของผู้อื่น
ซึ่งในระหว่างเวิร์คช็อปเรายังถกกันเรื่อง ‘จริยธรรม’ คืออะไร การเลือกตัดสินอย่างมีจริยธรรมคืออะไร เพราะพื้นฐานของวิชาจิตศึกษา ประเด็นส่วนใหญ่ที่หยิบยกมาคุยกันให้ชัดคือหมวด ‘จริยธรรม’ (ไม่ใช่ ‘คุณธรรม’) ความจำเป็นของการขยายความเรื่อง ‘จริยธรรม’ ก็เพื่อในที่สุดแล้วครูและนักเรียนเข้าใจว่า ทุกการเลือก ทุกความเห็น ย่อมขึ้นกับ ‘สภาวการณ์’ ที่ไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง และนี่คือเหตุผลอ้างอิงเบื้องหลังต่อความเชื่อของแต่ละคน
ส่วนจริยธรรมในมุมของครูใหญ่วิเชียร ให้นิยามว่า ‘คือแนวคิดที่ยืดหยุ่น’ และเป็นไปตามสภาวการณ์ ซึ่งสถานการณ์แต่ละครั้งที่ประเดประดังเข้ามาให้คนคนหนึ่งต้องตัดสินใจกับมัน อาจมีเหตุและปัจจัยไม่เหมือนกัน ต่างกับ คุณธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มคนยึดไว้ในใจและไม่ยืดหยุ่น
หน้าที่ของจิตศึกษาจึงคือการจำลองสถานการณ์ที่เกี่ยวกับ ‘จริยธรรม’ อย่างชัดเจนที่สุดเพื่อให้ผู้เรียนได้ผ่านประสบการณ์ (จำลองทางความคิดและความรู้สึกนั้น) ได้ใคร่ครวญ ได้เข้าใจ และเคารพเรื่องราวการตัดสินทางจริยธรรมผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น… ได้อย่างเบาที่สุด เจ็บปวดเองน้อยที่สุด
“สิ่งที่วัยรุ่นหรือพี่ๆ (พี่-สรรพนามกลางใช้เรียกบุคคลและสรรพสิ่งรอบตัวเพื่อสร้างความเคารพซึ่งกัน) เขาพูดความคิดออกมาผ่านกลุ่ม คือการประกาศกับตัวเอง เป็นข้อสัญญากับตัวเอง และเมื่อมีสถานการณ์คล้ายกับที่เขาเคยประกาศไว้ (ในคาบจิตศึกษา) เขาก็จะนึกถึงคำที่เคยพูดไว้ เขาอาจจะทำหรือไม่ทำอย่างที่พูดก็ไม่เป็นไรนะครับ แต่มันจะเกิดความรู้สึกผิดในใจ และสภาวะความละอายแบบนี้จะทำให้เขาเสียสมดุล เมื่อเสียสมดุลเขาจะหาทางแก้ไขมัน
“ทั้งหมดนี้ต่างกับการให้สัญญากับผู้อื่น หรือสัญญากับครู เพราะเมื่อสัญญากับครู ครูเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ถ้าเขาสัญญากับตัวเอง ตัวเขาเองรับผิดชอบ” ครูใหญ่วิเชียรกล่าว
3.
“แต่ก่อนเราจะได้ยิน ‘เสียง’ ของพี่ๆ จากการถามตอบในห้อง แต่ตอนนี้เราได้ยิน ‘ความคิด’ ของพวกเขาชัดขึ้น บางครั้งเป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิดว่าเด็กคนนี้จะคิดแบบนี้แต่ก็ได้เห็น สำคัญกว่าคือเราเห็นเลยว่าพี่ๆ เข้ามาคุยกับเรามากขึ้น เป็นกันเองขึ้น มันคือพื้นที่ปลอดภัยนะ โดยเฉพาะกับเด็กพิเศษ (เรียนรู้ช้า) บรรยากาศในห้องที่สงบทำให้เขาช้าลง อยากเรียนมากขึ้น มีสมาธิเรียนกับเพื่อนมากขึ้น”
ครูเหมียว-บังอร ศรีผ่องใส ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองยาว หนึ่งในโรงเรียนนำร่องโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เล่าให้ฟังว่า หลังเปลี่ยนวิธีการสอนเป็นการใช้จิตศึกษา, PBL และ PLC เต็มรูปแบบ ด้วยแนวทางของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา แม้เป็นเวลาไม่ถึงปี แต่เธอเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง
ครูเหมียวเล่าว่า โรงเรียนบ้านหนองยาวเป็นโรงเรียนขยายโอกาสและขนาดเล็ก ห้องหนึ่งมีนักเรียนราว 12 คน ปัญหาก่อนหน้าเป็นปัญหาคล้ายโรงเรียนทั่วไปคือ มีนักเรียนที่ตั้งใจและนักเรียนที่ขาดเรียนด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ไม่สนใจเรียนเนื่องจากไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิต ปัญหาครอบครัว และอื่นๆ ครูเหมียวเล่าว่าเธอเองใช้ความพยายามเหมือนครูไทยหลายท่านที่ตามไปพบผู้ปกครองตามบ้านเพื่อปรึกษาปัญหาการขาดและไม่สนใจเรียน เมื่อพบผู้ปกครองก็เข้าใจความหนักใจของผู้ปกครอง และเห็นปัญหางูกินหางหลายอย่าง ก็เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนทำไม ออกมาทำงานช่วยครอบครัวเรื่องปากท้องจะดีกว่า และปัญหาอื่นๆ ที่เธอมองว่าไม่มีใครผิดหรือถูกทั้งนั้น แต่ทั้งหมดนี้ทำให้หน้าที่ของครูเป็นมากกว่าการสอนหนังสือ
“ตอนที่ได้ยินว่าจะเข้าโครงการพื้นที่นวัตกรรม ตอนนั้นงงนะ ไม่รู้หรอกว่าคืออะไร จิตศึกษาคืออะไร เคยได้ยินว่า PBL คืออะไรแต่ก็งงๆ ว่ามันจะใช้ได้จริงเหรอ ยังไม่ค่อยเชื่อ มาที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาครั้งแรกก็ยังไม่ค่อยเข้าใจแต่เราชอบแล้วล่ะ อยากลอง พอไปถ่ายทอดให้เพื่อนครูฟังและทุกคนเอาด้วย พอนำไปใช้จริง มันดีมาก รู้สึกเลยว่านักเรียนเปลี่ยน เขาสนใจเรียนมากขึ้น เราได้ฟังความคิดหลากหลาย เห็นเลยว่าพี่ๆ เขามีความคิดเป็นของตัวเอง และความคิดหลายอย่างของเขามันกระตุกใจเรานะ เราเองก็ได้เรียนรู้จากเขาหลายเรื่อง พอได้ฟังกันและกันมากขึ้น ความรู้สึกของเขาต่อเรา ความรู้สึกของเราต่อเขามันเปลี่ยนไปเลยนะ อธิบายไม่ถูก รู้แต่อยากใช้เวลากับเขามากขึ้น กินข้าวเสร็จก็อยากขึ้นไปนั่งกับเขาในห้อง ดูว่าเขาเล่นกันยังไง ใครเป็นยังไง (ยิ้ม)” ครูเหมียวเล่า
ครูเหมียวไม่ใช่ครูคนเดียวที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ เสียงสะท้อนในมุมอื่นยังมาจากครูในเครือข่ายโดยเฉพาะครูที่อายุ 50 ปีขึ้นไป พวกเขาเล่าให้ฉันฟังอย่างไม่เป็นทางการขณะเดินพักในสวน ระหว่างกินข้าว หรือระหว่างพักเข้าห้องน้ำเพียงสิบหรือสิบห้านาที (ก่อนจะเข้าไปเวิร์คช็อปอย่างเข้มแข็งใหม่) ว่าพวกเขาเสียดายที่ได้รู้จักและ ‘เป็นผู้อำนวยให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตัวเอง’ ช้าไป มีจุดหนึ่งครูหลายคนระวังมาก หากหลุดพูดคำว่า สอนหนังสือ พวกเขาจะขออภัยและแก้ใหม่เป็นคำว่า สนับสนุนให้พี่ๆ เรียนรู้
และไม่ใช่ว่าแต่ก่อนพวกเขาไม่ลองเปลี่ยนการสอนเพื่อสร้างสรรค์วิธีการเรียนให้สนุกขึ้น พวกเขาทำมาทั้งหมดและทำอย่างหนัก เพียงแต่วิธีการแบบนี้ การเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ ใคร่ครวญ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เกิดจริง มาวันนี้ แม้ฉันไม่เคยเห็นเวลาที่คุณครูใกล้เกษียณเหล่านี้ลงไปสอนจริง แต่จากสายตาขณะเวิร์คช็อป ขณะนำเสนอแผนการเรียนรู้ หรือเวลาที่พวกเขาเล่าถึงการสอนในห้องเรียน สายตาของพวกเขาไม่ต่างกับนักเรียนรุ่นเยาว์ที่รักและเปี่ยม ‘passion’ ในสิ่งที่กำลังทำเลยจริงๆ
4.
หลังจบเวิร์คช็อป ไม่รู้ว่าเป็นเพราะบรรยากาศสีเขียวของโรงเรียน อากาศใสปราศจากฝุ่นควันจิ๋ว อาหารจากวัตถุดิบสดใหม่ หรือเพราะอยู่ในวงคุยที่ไร้การหาคนผิดแต่ช่วยกันปรับแผนการเรียนรู้เพื่อให้ออกมาใช้ประโยชน์ง่ายและเห็นภาพที่สุด และบรรยากาศการเรียนรู้วิธีการทำงานของครูตลอด 3 วัน ที่ทำให้ฉันรู้สึก ‘มีความหวัง’ กับปัญหาการศึกษาที่หลายคนส่ายหัวและบอกว่ารากมันลึกเกินกว่าจะเยียวยาได้ภายในระยะสั้น
แต่หาก ‘การเรียนรู้’ แบบใหม่ที่ให้นักเรียนได้มีช่วงเวลาใคร่ครวญ วิเคราะห์ และศึกษาประสบการณ์ของผู้อื่น แม้จะเป็นเพียงการจำลองสถานการณ์ทางความรู้สึกก็ตามที – ซึ่งนี่ไม่รวมการเรียนรู้แบบ PBL ที่ฉันไม่ได้กล่าวในบทความนี้ – แต่อย่างน้อยจุดเริ่มต้นเรื่อง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ในห้องเรียนที่หลายคนพูดถึง มันกำลังถูกทำให้เกิดจริง
แน่นอนว่าไม่มีวิธีการไหนดีพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ จิตศึกษาอาจเหมาะหรือไม่เหมาะกับบริบทพื้นที่อื่น หรือชัดเจนว่าไม่อาจใช้แนวทางนี้ได้โดยปราศจากกระบวนการเรียนรู้อื่น แต่สำหรับฉัน – นักเรียนตามขนบที่เพิ่งมาได้ดีเบตกับเพื่อนจนไฟลุกในวงจิตศึกษา (และในช่วงแรกๆ เป็นการดีเบตแบบแถและใช้อารมณ์) ก็เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยไปแล้ว มันน่าเสียดายไม่ใช่เหรอหากในช่วงเวลาที่เราจะเป็นตัวเองที่สุด อยู่ในช่วงวัยที่พร้อมจะเรียนรู้ที่สุด จะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการท่องจำหนังสือด้วยความเครียดขึ้งเพื่อจะลืมว่าเรียนอะไรไป และเกลียดการเรียนรู้แบบนั้นในเวลาต่อมา
ไม่มีใครบอกได้ว่าพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในเร็ววันหรือไม่และจะเปลี่ยนได้จริงไหม แต่เท่าที่เห็นเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนที่จะพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ และแนวทางของจิตศึกษา ก็เห็นว่าการเรียนการสอนในบ้านเราก็ขยับเปลี่ยนอย่างพอเห็นรูปธรรมบ้าง และมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ครูปรับบทบาทมารับฟัง ‘ความคิด’ ของพวกเขาเยอะขึ้น และเขาเองก็ได้ฝึกเคารพตัวเองและคนอื่นด้วยเช่นกัน
วิชาสอน Empathy ที่กำลังนิยมทำกันทั่วโลก เราว่านี่คือรูปธรรมในเมืองไทย
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โครงการนำร่องเพื่อปฏิรูปการศึกษาที่จะให้โรงเรียนเป็นอิสระ บริหารจัดการตัวเอง มีการร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายและชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมกันออกแบบการศึกษาเพื่อผลิตคนคุณภาพที่ตอบโจทย์พื้นที่เอง นำร่องใน 6 จังหวัด ครอบคลุมจากเหนือสู่ใต้ ได้แก่ สตูล ศรีสะเกษ ระยอง เชียงใหม่ กาญจนบุรี และ จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) |