- นวัตกรรมบ้านปลาดาว ทั้ง 3 วิธี – 3R ที่เน้นให้เด็กอ่านออกเขียน 3 วิชาหลัก ผ่านกิจกรรมแบบ Active Learning, Project/Problem Based Learning และ Makerspace
- Makerspace หรือห้องนักสร้าง หนึ่งในนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทั่วโลกและโรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง แต่กับโรงเรียนรัฐบาลในประเทศไทย ยังไม่ค่อยเห็นโรงเรียนแห่งไหนเริ่มทำเท่าไรนัก ทั้งที่การเป็น ‘นักสร้าง’ คือหนึ่งในวิธีสร้างการเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะชีวิตได้อย่างเห็นภาพวิธีหนึ่ง
- โรงเรียนบ้านปลาดาว จ.เชียงใหม่ โรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาสงเคราะห์ กันพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์สำหรับเด็กชาติพันธ์ และทุกคนต้องเรียนฟรี คือหนึ่งในโรงเรียนไม่กี่แห่งที่จัด Makerspace เด็กๆ จะถูกถาม, จินตนาการ, วางแผน, สร้างสรรค์ และคิดสะท้อนเพื่อออกแบบใหม่ เด็กในบ้านปลาดาวแทบทุกคนคุ้นกับการทำ design thinking
ในหนังสือ Lifelong Kindergarten: อนุบาลตลอดชีวิต กล่าวถึงการปฏิวัติการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ทุกช่วงวัยให้มีจิตวิญญาณอนุบาล หนังสือที่เล่าผ่านงานวิจัยและปัจจัยความสำเร็จขององค์กรยุคใหม่ บอกว่า ‘การเล่น’ คือจิตวิญญาณอนุบาล เป็นอาวุธชั้นดีแห่งจินตนาการ จินตนาการที่เป็นกุญแจสำคัญขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโลกทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในยุคที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนง่ายและเร็วด้วยเทคโนโลยี
ถอดรหัสจากการเล่น เอาดีจากการเล่น หนังสือเล่มนี้บอกว่ากระบวนการขี้เล่น นัยหนึ่งคือการเป็น ‘นักสร้าง’
Makerspace – ห้องนักสร้าง กำลังถูกจุดติดขึ้นในหลายโรงเรียนทั่วโลก ไม่ใช่เพื่อเร่งพัฒนาคนให้เปลี่ยนเป็นนวัตกร (ตัวน้อย) แต่ถูกบอกว่าทักษะ ‘นักสร้าง’ คือกระบวนการเดียวกับการติดเครื่องมือการเรียนรู้ ตั้งแต่การเปลี่ยนจินตนาการเป็นแผนงาน กลายเป็นโปรเจ็คต์ย่อมหรือใหญ่ รวมผู้คนมาอยู่ด้วยกันและทำงานร่วม สุดท้าย ลงมือสร้างมัน ซึ่งภายในกระบวนการสร้างเรียกร้องการได้รับฟีดแบคเพื่อต่อยอดพัฒนา
ไม่อาจเถียงได้ คนเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านการลงมือทำ ยิ่งผิดพลาดแล้วลงมือแก้ไขมากเท่าไร เราก็ยิ่งเติบโต ยิ่งพัฒนา
“ครั้งหนึ่งแพรไปโรงเรียน เห็นเด็กกำลังเป่าลูกโปงฟองสบู่อยู่ เลยถามว่าเขาใช้อุปกรณ์อะไรมาทำ เขาบอกว่าเขาใช้เคเบิลมาถักเป็นพวงๆ บอกว่าอยากเป่าออกมาให้ฟองสบู่เป็นพวงองุ่น เลยถักสายเคเบิลต่อกันเป็นพวงเพื่อเป่าทีเดียวจะได้ฟองออกมาเป็นแถบ แพรถามเขาต่อว่าเคยเห็นแบบที่มันใหญ่กว่านี้ไหม? แล้วเปิดรูปเปิดคลิปให้เขาดู พอเขาดูเสร็จแล้วก็นั่งคิดกันต่อว่า ‘ในคลิปเขาใช้อะไรทำนะ’ ‘เขาใช้เชือกแบบไหน’ ‘แล้วต้องใช้สบู่อะไรถึงเป็นได้ขนาดนั้น’ เนี่ย… คุยกันแป๊บเดียว เด็กสองคนนั้นก็วิ่งกลับไปในห้อง ไปทำใหม่ นี่คือหัวใจสำคัญเลยนะคะ การต่อยอดพัฒนา”
ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร (แพร) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น เล่าให้ฟังถึงกระบวนการเกิดห้องนักสร้าง หรือ Makerspace ที่ โรงเรียนบ้านปลาดาว ภายใต้มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ตั้งอยู่อำเภอแม่แตง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 50 กิโลเมตร โรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาสงเคราะห์ ในแง่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียน จะถูกกันไว้สำหรับเด็กชาติพันธ์ุ (หรือไร้สัญชาติ) ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ผู้ปกครองอยู่ในคุก ยากจน หรืออยู่ในสถานการณ์เปราะบางไม่มีใครดูแล อีก 20 เปอร์เซ็นต์จึงค่อยเป็นเด็กๆ รอบชุมชน และแน่นอนว่าทุกคนเรียนฟรี
นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่โรงเรียนบ้านปลาดาวได้รับความสนใจจากคนทำงานภาคประชาสังคมและการศึกษา ไม่ใช่แค่เหตุผลเรื่อง ‘โรงเรียนเอกชนที่จัดการศึกษาสงเคราะห์’ ที่ต้องการแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ แต่รวมถึง นวัตกรรมบ้านปลาดาว ทั้ง 3 วิธี ที่ถูกออกแบบตามพัฒนาการ ตามช่วงวัย ตามทฤษฎีการศึกษาสมัยใหม่เพื่อพัฒนาคนอย่างสอดรับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุค disruption …ก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน
“การทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ (กลุ่มชาติพันธ์ุ) อยากให้ลองจินตนาการถึงเด็กอายุ 3 ขวบที่ไม่พูดภาษาไทย มาจากบ้านที่ยายหรือใครที่ไม่ใช่พ่อแม่จริงๆ ของเขาเลี้ยง ใช้ห้องน้ำไม่เป็น นั่งโต๊ะกินข้าวเองไม่ได้ ใช้ช้อนส้อมไม่เป็น มาจากครอบครัวที่ยากลำบาก และเขาก็พูดบอกปัญหาของเขากับใครไม่ได้เลย มากขนาดที่… คือตอนที่เราต้องลงพื้นที่บ้านเด็กๆ และทำ family tree เจอความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของปัญหา เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เฮ้ย ชีวิตเด็กมันต้องขนาดนี้เลยเหรอ’ แล้วอะไรที่จะทำให้เด็กคนนี้รู้สึกว่าโรงเรียนไม่แย่? นั่นแปลว่าเขาจะต้องได้ทำสิ่งที่ชอบ สนุก และอยากทำ เขาคงอยากออกไปเล่น ไปคุยกับเพื่อน หรือทำอะไรที่เขาภาคภูมิใจ แต่ถ้าให้เด็กคนนี้มานั่งในห้องแล้วยังต้องมานั่งท่อง ก-ฮ อันนี้น่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เด็กคนนี้ต้องการ
“การทำงานของเราตั้งต้นจากการคิดว่าจะทำยังไงให้เขามี fulfillment ในชีวิต คิดว่าความสุขของเขามันเกิดจากอะไรบ้าง? ทำให้เราตั้งคำถามกับการจัดการศึกษาว่าถ้าเราเอาความสุขของเขาไปผูกกับวัตถุหรือสิ่งของที่คนอื่นซื้อหามาให้ ทั้งชีวิตเขาจะเป็นยังไงนะ? สุดท้ายเราบอกว่าเราต้องทำยังไงก็ได้ให้เด็กนั่งมองต้นไม้เฉยๆ แล้วมีความสุขและรู้ว่าเรียนรู้จากมันได้ ให้เขาเห็นแล้วรู้สึกว่าชีวิตมันดีนะ ฉะนั้นการจัดการศึกษาของบ้านปลาดาวจะตั้งต้นจากสิ่งรอบตัว อย่าเพิ่งไปคิดว่าเขาต้องเรียนรู้เรื่องอะไรที่มันยากๆ แต่ตั้งต้นจากเรื่องที่มันอยู่รอบตัวเขา”
คุณแพรเล่าให้ฟังถึงที่มาของวิธีคิดการจัดนวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียน บอกว่าขณะนั้นเธอดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนโดยมี ดร.ริชาร์ด พี ฮ็อกแลนด์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ร่วมกันออกแบบการเรียนการสอนโดยตั้งต้นจากธรรมชาติการเรียนรู้ปฐมวัย จนนำมาสู่การต่อยอดเป็นนวัตกรรมบ้านปลาดาวในที่สุด
นวัตกรรมบ้านปลาดาวเริ่มต้นจากโจทย์ง่ายๆ ว่าจะจัดการเรียนรู้อย่างไรให้เด็กชาติพันธ์ุเข้าถึงการศึกษาและต้องมีคุณภาพ อ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น ติดเครื่องมือการเรียนรู้อย่างไม่ใช่แค่พอเอาตัวรอดได้ แต่มีทักษะชีวิตและติดเครื่องมือการเรียนรู้ในเนื้อตัว ถึงวันนี้ วิธีการของโรงเรียนบ้านปลาดาวขยายกว้างและกลายเป็นที่ดูงานด้านนวัตกรรมการศึกษาหลายแห่ง
Makerspace เป็นเพียงหนึ่งในนวัตกรรมบ้านปลาดาว ที่เมื่อรวมกับนวัตกรรมที่ใช้ในโรงเรียนอีกสองตัวแล้ว หลายคนที่ได้ฟังหรือเข้าไปเห็นวิธีการเรียน ตั้งคำถามกันบ่อยๆ ว่า ทำไมเราไม่เคยได้เรียนอะไรแบบนี้?
นวัตกรรมบ้านปลาดาว: การเรียนรู้ที่เด็กนั่งมองต้นไม้เฉยๆ แล้วรู้ว่าเรียนรู้จากมันได้
เป็นเรื่องที่ต้องเล่ากันอย่างใช้เวลาและจำนวนตัวอักษรสักเล็กน้อยเพื่อเล่าจบและเห็นภาพว่าโรงเรียนจัดการศึกษา (อย่างสนุกสุดมัน) ด้วยวิธีอะไรบ้าง แต่อย่างรวบรัด คุณแพรเล่าว่าโรงเรียนบ้านปลาดาวจะใช้นวัตกรรม…
3R: คือการมุ่งเน้นให้เด็กอ่านออกเขียน 3 วิชาหลัก โดยทุกวิชาจะจัดผ่านกิจกรรมแบบ active learning และใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่ ดร.ริชาร์ดคิดขึ้นเองด้วย คือ
- วิชาภาษาไทย เรียนด้วยการเรียนแบบเซ็ต (แบ่งพยัญชนะไทยเป็น 4 เซ็ตคือ เซ็ตสัตว์ เซ็ตสิ่งของ เซ็ตพยัญชนะที่ใช้ไม่บ่อย เซ็ตพยัญชนะที่แทบไม่ใช้เลย) และจะเรียนผ่านภาพ บัตรคำ และหนังสือเฉพาะสำหรับเรียนการอ่านในพยัญชนะเซ็ตนั้นๆ
- วิชาภาษาอังกฤษ โดยเรียกว่า ไทย-กริช คือการผสมการสะกดคำภาษาไทยและภาษาอังกฤษเข้าด้วยกัน เช่น คำว่า bat (ค้างคาว) จะเขียน/อ่านว่า แ-บ-t
- คณิตศาสตร์ คำนวณเลขพื้นฐานผ่านสัญลักษณ์มือและจำเป็นจุด
อยากเล่าให้ฟังด้วยว่าการบวกเลขโดยใช้สัญลักษณ์มือของเด็กๆ ตอนที่เราได้ฝึกทำเองแรกๆ งงหนักมากเพราะมันตีกับวิธีการบวกเลขเดิมของเรา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังต้องตั้งหลักหลายนาทีก่อนจะบวกลบเลขหลักน้อยๆ ได้ถูกเป๊ะ แต่ภาพตรงหน้าคือเด็กๆ ชั้นอนุบาล 3 ต่อแถว แยกเป็นสองทีมเท่าๆ กันในลักษณะการเล่น ‘แม่งูเอ๋ย’ คนหัวแถวของแต่ละทีมจะ ‘เป่ายิงฉุบ’ กันเร็วๆ ด้วยสัญลักษณ์ตัวเลขแบบมือแล้วให้บวกเลข ใครขานคำตอบก่อนคนนั้นเป็นผู้ชนะ ผู้แพ้ให้วนกลับไปต่อแถวใหม่ ฝ่ายไหนหมดคนก่อนถือเป็นฝ่ายแพ้ไป สิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าคือเด็กๆ บวกลบกันเร็วมาก! มากแบบเรา (ป้า) ยังมองไม่ทันเลยว่านี่คือสัญลักษณ์อะไร เด็กๆ สนุกตื่นเต้น ส่งเสียงวีดวิ้วกันจนห้องเต็มไปด้วยความสดใส และแน่นอน วิธีการเรียนเลขด้วยกิจกรรมเช่นนี้ คือหนึ่งในกิจกรรม active learning อย่างไม่ต้องสงสัย
Project/Problem Based Learning: ถ้าเป็นระดับชั้นอนุบาล เด็กๆ จะเรียนด้วย Project Based Learning หรือการเรียนรู้โดยใช้ ‘กิจกรรม’ หรือ ‘หัวข้อ’ เป็นฐาน แต่ในระดับชั้นประถมศึกษาขึ้นไปจะใช้ Problem Based Learning หรือ ‘ปัญหา’ เป็นฐาน
อย่างในชั้นอนุบาล รูปธรรมที่เห็นได้ชัดคือแต่ละห้องเรียนที่เดินเข้าไปจะให้บรรยากาศไม่เหมือนกันเลยสักห้อง! เช่น ในวันที่ผู้เขียนไปเยี่ยมชมชั้นอนุบาล 1 เด็กๆ กำลังเรียน PBL เรื่อง ‘ฤดูกาล’ ทั้งห้องประดับประดาไปด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับฤดู ไม่ว่าจะเป็นสายรุ้ง เมฆฝน พระอาทิตย์ และอื่นๆ และผู้ประดิษฐ์ของแต่งห้องทั้งหมดนี้ไม่ใช่ใครก็คือเด็กๆ เอง ปกติแล้วจะเรียน PBL เทอมละ 2 เรื่อง นั่นหมายความว่าบรรยากาศในห้องจะเปลี่ยนไปเทอมละ 2 ครั้ง!
ครูสุรีรัตน์ จิตนารินทร์ (ครูเมย์) หัวหน้าฝ่ายวิชาการเล่าให้ฟังว่า ปกติแล้ว PBL จะมี 6 ขั้นตอนคือ สำรวจ ระบุปัญหา สืบสวน สร้างสรรค์ สะท้อน และสร้างความแตกต่าง แต่ในชั้นอนุบาลจะลดรูปเหลือแค่ 3 ขั้นตอนแรก (แต่ในระดับประถมจะใช้กระบวนการ 6 ขั้นตอนเต็ม) และอย่างที่คุณแพรเคยเล่าเอาไว้ “อยากให้เด็กมองต้นไม้เฉยๆ ก็มีความสุขและเรียนรู้จากมันได้” กระบวนการ PBL ก็ถูกวางไว้เช่นนั้น คือ เริ่มแรกเด็กๆ จะได้ไปสำรวจพื้นที่ใกล้ตัวเช่น รอบโรงเรียน ชุมชน และอื่นๆ แล้วจึงกลับมาโหวตกันในห้องว่าเทอมนี้จะศึกษา ‘หัวข้อ’ ไหนกันดี
ครูเมย์บอกว่า เชื่อไหมว่าแต่ละเทอม แต่ละห้อง จะเรียนเรื่องไม่ซ้ำกันเลย เด็กๆ มีเรื่องที่อยากเรียนรู้และสนุกกับมันเต็มไปหมด ตั้งแต่ รองเท้า ไอศกรีม ต้นไม้ นก ฤดูกาล กบ และอื่นๆ หรืออย่าง PBL ในเด็กประถมที่จะเรียนด้วย ‘ปัญหา’ เป็นฐาน หัวข้อที่เขาสงสัยและแก้ปัญหาก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เองอาจคิดไม่ถึง เช่น “อยากทำเค้กแต่ไม่มีเตาอบจะทำอย่างไร” หรือ “มะเขือยาวที่โรงเรียนมีเยอะเกินไป จะทำอย่างไรกับมันได้บ้าง?”
คงไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่าการเรียนแบบ PBL นอกจากจะเป็นการเรียนที่บูรณาการทุกวิชาเข้าไว้ที่ ‘การแก้ปัญหา’ เดียว เพราะการแก้ปัญหาหนึ่งเรื่องย่อมต้องการความรู้จากหลายศาสตร์ แต่คุณูปการอย่างหนึ่งของ PBL ก็คือ เด็กๆ สนุกกันมาก และมันเรียกร้องทักษะหลายอย่างตั้งแต่การคิดแก้ปัญหา, การทำงานเป็นทีม, ทักษะการสื่อสาร, ความคิดสร้างสรรค์ และอื่นๆ ที่เรียกรวมๆ ว่าคือ soft skills หัวใจสำคัญของทักษะในศตวรรษที่ 21
Makerspace: อีกหนึ่งกิจกรรมที่เรียกว่าเป็นหัวใจของโรงเรียนเลยก็คือ ห้องนักสร้าง หรือ Makerspace ผ่านกระบวนการ STEAM DESIGN PROCESS (ถาม, จินตนาการ, วางแผน, สร้างสรรค์ และคิดสะท้อนเพื่อออกแบบใหม่) Makerspace ที่นี่มีอยู่ 6 ห้องคือ ห้อง studio, ห้องช่าง, ห้องอาหาร, ห้องศิลปะ, ห้องผ้า, ห้อง story telling
Makerspace: นักสร้างที่ถูกตั้งคำถามสร้างจินตนาการ จบท้ายด้วยการร้องหาฟีดแบคเพื่อพัฒนางานไม่รู้จบ
เด็กทุกคนไม่ว่าจะอนุบาลหรือประถมจะต้องเข้าห้อง Makerspace ตามที่ตัวเองสนใจอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ชั่วโมง ที่น่าสนใจมากๆ คือเด็กๆ ทำกันจริงจังเหลือเกิน อย่างเช่นห้องทำอาหาร เด็กๆ ตัวเล็กตัวน้อยจับมีดกันคล่องแคล่ว สับหมูเป็นสับหมู ตำเป็นตำ จี่ข้าวเหนียวเป็นจี่ สำคัญที่สุดคือสูตรและเมนูอาหารเขา ‘ล้ำ’ หน้าจริงๆ เช่น ข้าวเหนียวปิ้งไส้อโวคาโด ทาโกยากิไข่ล้วน คุ้กกี้มะเขือขาว
ความน่าสนใจคือ ไม่มีครูคนไหนห้ามนักเรียนใช้อุปกรณ์ที่ดูอันตรายเลย!
“ไม่มีการห้ามเลยค่ะ ลุย! (หัวเราะ)” จิตรลดา มะโนระ ครูประจำ Makerspace ห้องอาหารเล่าและบอกว่า “เป็นธรรมดาที่ผู้ใหญ่มักจะกลัวว่าเด็กๆ จะบาดเจ็บจากอุปกรณ์ที่ดูอันตราย แต่นี่มันคือเครื่องมือของเขา ทักษะของเขา ถ้าไม่ให้เรียนรู้ก็จะไม่มีทางทำได้เลย ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใหญ่จะห้าม เพียงแต่จะตั้งกติกากันตั้งแต่แรก เช่น การใช้มีดควรถือแบบไหน ไม่เอามาขู่เพื่อนนะ ไม่ชี้มีดไปทางเพื่อนนะ สำคัญมากๆ คือครูต้องไม่ห้าม ไม่อย่างนั้นเด็กๆ ไม่สนุกเลยนะ แต่เราตั้งกติกาการใช้อุปกรณ์ และครูก็คอยดูเรื่องความปลอดภัย เท่านี้ก็พอค่ะ เด็กๆ เขาทำกันได้นะ” ครูจิตรลดาบอกพร้อมรอยยิ้ม
ไม่ต้องพูดก็บอกได้ว่าเด็กสนุกกับห้องเหล่านี้อย่างไร เพราะต่างคนต่างง่วนอยู่กับสิ่งตรงหน้าอย่างมีสมาธิ ในห้องอาหารไม่มีใครอยู่เฉยๆ ลงมือปรุงอาหารกันอย่างหอมหวน ในห้องผ้า เด็กๆ บ้างจับกลุ่มกันออกแบบชุด บ้างใช้กรรไกรตัดผ้าและเย็บอย่างมีสมาธิ บางทีก็เงยหน้าขึ้นตอบคำถามของผู้เยี่ยมชมบ้างอย่างไม่เคอะเขินและกลับไปง่วนกับงานของตัวเองใหม่อย่างจดจ่อ ถ้าเป็นเด็กเล็ก ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่จะได้ฝึกตัวไปพร้อมๆ กับจินตนาการที่ลอยฟุ้งแค่ไหน
คุณมุกดา คำวินิจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปลาดาว เล่าให้ฟังว่า หัวใจของ Makerspace นอกจากจะเปิดให้เด็กมีจินตนาการอย่างไม่รู้เบื่อ แต่ยังช่วยประเมินด้วยว่าเด็กคนไหนมีความชอบส่วนตัวอะไร มักจะอยู่ในห้องไหนนานและบ่อยที่สุด ตรงนี้ใช้เก็บเป็นข้อมูลเพื่อทำงานกับผู้ปกครองต่อได้ด้วยว่าเด็กสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ช่วยสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าลูกไม่จำเป็นต้องชอบวิชาการก็ได้นะ ความสามารถด้านนี้ของเขาก็สำคัญและโดดเด่นเหมือนกัน
“หลายคนสงสัยว่า Makerspace นี่คืออะไร มันคือห้องรีไซเคิลขยะรึเปล่า (หัวเราะ) ไม่ใช่นะคะ และมันไม่ใช่แค่การได้เล่นด้วย แต่คือการสร้าง คิด และพัฒนาสิ่งหนึ่งขึ้นมาเลย
“ครั้งหนึ่งแพรไปโรงเรียน เห็นเด็กกำลังเป่าลูกโปงฟองสบู่อยู่ เลยถามว่าเขาใช้อุปกรณ์อะไรมาทำ เขาบอกว่าเขาใช้เคเบิลมาถักเป็นพวงๆ บอกว่าอยากเป่าออกมาให้ฟองสบู่เป็นพวงองุ่น เลยถักสายเคเบิลต่อกันเป็นพวงเพื่อเป่าทีเดียวจะได้ฟองออกมาเป็นแถบ แพรถามเขาต่อว่าเคยเห็นแบบที่มันใหญ่กว่านี้ไหม? แล้วเปิดรูปเปิดคลิปให้เขาดู พอเขาดูเสร็จแล้วก็นั่งคิดกันต่อว่า ‘ในคลิปเขาใช้อะไรทำนะ’ ‘เขาใช้เชือกแบบไหน’ ‘แล้วต้องใช้สบู่อะไรถึงเป็นได้ขนาดนั้น’ เนี่ย… คุยกันแป๊บเดียว เด็กสองคนนั้นก็วิ่งกลับไปในห้อง ไปทำใหม่ นี่คือหัวใจสำคัญนะคะ การต่อยอดพัฒนา
“ครูคนเดิมแต่เปลี่ยนวิธีการ สิ่งที่เด็กได้ต่างกันมาก ครูทิ้งโจทย์ว่าถ้าเด็กอยากทำอะไรสักอย่างโดยที่ครูไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นกระดาษอะไรสีอะไร ตัดยังไง แต่ให้เด็กเข้ากระบวนการ STEAM design process ถามคำถามเขา ให้เขาจินตนาการว่าของเล่นจะออกมาเป็นยังไง วางแผนว่าตัวเองจะใช้อะไรบ้าง ลงมือทำแล้วและต้อง reflect ผลงานเพื่อดูว่า ‘ฉันจะทำให้มันดีกว่านี้ได้แบบไหน?’ โดยไม่ได้มองเรื่องของความสวยไม่สวย
คุณแพรขยายความให้ฟังถึงทักษะที่การเป็น ‘นักสร้าง’ จะบอกให้ว่า “เด็กจะถูกฝึกว่าเขาต้องเริ่มจากคำถาม ทั้งครูและเด็กจะต้องตั้งคำถาม ครูเองต้องมีวิธีถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ ซึ่งจุดนี้จะยากมากและตอนแรกครูเราก็ struggle กับมันพอสมควร คือถามยังไงไม่ให้ชี้นำ ไม่บอกโพล่งไปเลย หรือไม่ใช่แค่บอกกับเด็กว่า ‘คิดสิคะ คิด’ แต่ถามยังไงให้เหมือน ควักความคิดและกระบวนการออกมาจากเด็กให้ได้
“ถามเสร็จแล้วจะมีช่วงของจินตนาการ ฝันไปเลย เพราะถ้าไม่มีภาพฝันมันไม่รู้จะเอาอะไรมาคิด จากนั้นเอาความฝันมาแพลนว่าจะทำสิ่งที่ตัวเองฝันให้เป็นจริงอย่างไร เขาก็ต้องเริ่มวางแผนขั้นตอน ดูอุปกรณ์ที่ต้องใช้ หาคนที่เขาต้องไปคุยด้วย ทำเสร็จแล้วก็ถามอีก เราจะบอกเด็กว่าลอง reflect ดูนะ การ reflect ก็คือ redesign สะท้อนแล้วทำใหม่ อันนี้เป็นหัวใจ มันเป็นกระบวนการที่บอกเด็กว่าทุกอย่างที่เขาทำมันจะดีกว่านี้ได้อีก เขาสามารถพัฒนางานของเขาได้ โดยอัตโนมัติ… เด็กสามขวบจะถูกฝึกให้เป็นคนรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นและไม่โกรธและจะกล้าให้ความคิดเห็นคนอื่นด้วย
“สิ่งที่ต้องคุยกับเด็กคือการให้ฟีดแบคเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งแม้แต่เราเองก็ไม่เคยถูกฝึกนะคะ เคยแต่ถูกบอกว่าทำให้ดี ทำให้ดีที่สุด และพอไม่ดีเราก็ไม่มีโอกาสแก้ไข เราจะให้ mindset นี้กับเขาไปเลยว่าเราทำเพื่อที่จะพัฒนานะ ทำเพื่อให้มันดีกว่านี้ มันจะกลายเป็นธรรมชาติของเขาเลย อย่างพอเข้าสู่กระบวนการที่ 5 เขาก็จะคาดหวังแล้วว่าต้องได้คอมเมนต์จากครูและเพื่อน กระบวนการนี้อยู่บ้านก็ทำได้ ฝึกให้เขา reflect บ่อยๆ โดยที่ไม่ตัดสินว่ามันแย่มากเลย แต่เราเข้าไปตั้งคำถามว่า ‘ถ้ามีเวลามากกว่านี้ มีทรัพยากรมากกว่านี้ จะเพิ่มอะไร’ ”
สิ่งที่คุณแพรเล่าไม่ใช่แค่การเป็นนักสร้างในห้อง Makerspace แต่กระบวนการได้คิด วิเคราะห์ feedback เพื่อต่อยอดพัฒนา และทำทั้งหมดนี้จากความสงสัยและปัญหาของตัวเอง ถือว่ากระบวนการเหล่านี้ก็แฝงฝังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็น PBL หรือ Makerspace เช่นกัน
โรงเรียนบ้านปลาดาวไม่ใช่ที่แรกที่จัดห้องเรียนนักสร้าง มีห้องเรียนเช่นนี้เกิดขึ้นหลายโรงเรียนในประเทศไทยและหลายพื้นที่ทั่วโลก ความพร้อมและจริงจังของอุปกรณ์ในห้องก็เพิ่มระดับขึ้นตามช่วงวัยผู้เรียน พูดให้อิจฉาและใกล้ตัว ประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้มากและสร้างมันจริงในหลายโรงเรียน
“Makerspace มีหลายที่เลยในไทยและทั่วโลก อย่างสิงคโปร์เขาบอกเลยว่าเด็กทุกคนต้องทำ design thinking ได้ แพรคิดว่า Makerspace เป็นกระบวนการที่เข้าใจง่าย ปรับใช้ในพื้นที่โรงเรียนได้ง่าย คือเริ่มง่ายกว่าถ้าเทียบกับ PBL โจทย์คือเราอยากให้คุณครูเห็นภาพและปรับนำไปใช้นะ เลยคุยกันว่างั้นเราลองเปิดศูนย์สาธิต 4 ที่ (โรงเรียนบ้านปลาดาว ที่เชียงใหม่ เชียงราย และสมุทรสาคร) ให้โรงเรียนใกล้เคียงและครูพาเด็กมาใช้งาน ให้เขาเห็นภาพ ให้ลองทำ แต่คุยกันในทีมว่าจะทำแค่ปีเดียวนะเพราะศูนย์สาธิตไม่ควรอยู่ตลอดไป วัตถุประสงค์คือให้เขามาเห็น เรา empower เขาให้ไปทำต่อในโรงเรียนของตัวเอง
“ปัจจุบันเรามีศูนย์สาธิตอยู่ในโรงเรียนอื่นๆ 8 ที่และมีโครงการ Starfish Maker ที่ทำกับโรงเรียนอื่นอีก 60 แห่ง เป็นจุดที่ทำให้เราเข้าใจว่าเราต้องเริ่มออกไปหาคนอื่น เพราะถ้าเราต้องการขยายอิมแพคในการทำงานของเรา เราต้องสร้างเครือข่าย ต้องไปขายไอเดียว่าถ้าโรงเรียนต้องการจะพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 นี่คือ solution ที่เขาต้องการนะ และเราช่วยได้ เราไม่ได้ให้เงิน แต่เราจะให้องค์ความรู้ ให้ความเป็นเพื่อน ให้ทักษะเขาไปจัดการอะไรแบบนี้” คุณแพรกล่าว
เดินออกจากโรงเรียนและหลังจบบทสนทนากับคุณแพร อีกครั้ง, เราคิดถึงหนังสือ Lifelong Kindergarten: อนุบาลตลอดชีวิต วิถีชีวิตของการเป็นคนขี้เล่น ไม่ใช่แค่กับเด็กแต่คือของผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน
เกือบทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ เราเห็นมันใน Makerspace