- อย่าเพิ่งตีโพยตีพายว่าลูกจะเสียการเรียนเพราะมีความรัก ไปทำเขาท้อง หรือเป็นฝ่ายท้องไม่พร้อม ทำความเข้าใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์กันดีกว่าว่า เขากำลังเจอกับการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และถูกสั่งการจากสมองอย่างไรบ้าง
- บทแรกว่าด้วยการทำงานของสมอง บทที่สองอธิบายว่า เมื่อลูกๆ มีความรัก พ่อแม่จะรับมืออย่างไร ด้วยความรู้ และกลยุทธ์แบบไหน
- ไม่ใช่การบอกให้ลูก ‘หยุดเป็นวัยรุ่น’ แต่คือการคุยให้ชัดเรื่องการควบคุมกำกับตัวเอง เพราะไม่ได้ป้องกันแค่เรื่องเซ็กส์ แต่รวมปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่นได้เกือบทุกเรื่อง
- แหม… พวกคุณก็เคยผ่านมา โลกจะเป็นสีชมพู จริงใจ และรักอย่างไม่มีเงื่อนไข (โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ) ที่สุดก็วัยนี้ และเราจะเป็นวัยรุ่นได้กี่ปีกัน ^^
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
เก็บตัวเงียบในห้อง ติ๊ก
บิลค่าโทรศัพท์เริ่มมีหลายหลัก ติ๊ก
ผมก็จะซอยหน่อยๆ หน้าม้าก็จะมีนิดๆ ปกเสื้อก็เริ่มจะเห็นแนวเหลืองเพราะแป้งและเครื่องสำอาง ติ๊ก
และอีกหลากพฤติกรรมที่คุณรู้สึกว่า มันต้องมีความผิดปกติอะไรสักอย่าง และคุณเริ่มจะสงสัยแล้วว่า มันต้องเป็น ‘สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก’ ชัวร์ๆ
เมื่อถึงเวลานี้ เป็นธรรมดาที่มนุษย์พ่อและแม่ทั้งหลายจะเกิดความรู้สึกว่างโหวงในใจ คุณรู้แล้วว่าเด็กตัวน้อยๆ คนนั้นกำลังเติบโตและก้าวขาออกจากวงจรของคุณไปช้าๆ แต่หลังจากความน้อยใจได้ผ่านพ้น คุณจะเริ่ม ‘เขม่น’ ให้กับดวงตาวิบวับสีชมพูนั้น เริ่มไม่เข้าใจและถึงขั้นมีน้ำโหให้กับพฤติกรรม ‘วัยรุ่นๆ’ ที่เริ่มทยอยแสดงออกมาจากบุตรธิดา
ความหงุดหงิดไม่ (อยากจะ) เข้าใจค่อยๆ สะสมบ่มเพาะ จนอาจนำไปสู่การปะทะรุนแรง
เนื่องในวันวาเลนไทน์ โอกาสดีที่เราจะชวนคุณผู้อ่านมาทำความเข้าใจโลกของวัยรุ่นอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ในประเด็น ‘พ่อแม่ต้องรู้อะไรและต้องทำอะไรบ้างเมื่อลูกเริ่มมีความรัก’ กับ รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
เพื่อไขข้อข้องใจและปลอบใจคุณพ่อคุณแม่ว่า “นี่มันเรื่องธรรมชาตินะ ปล่อยๆ ไปบ้างก็ได้”
เพราะเขาคือวัยรักที่จะ ‘รัก’
ทำความเข้าใจ สมองวัยรุ่น
อ.นวลจันทร์อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงสมองวัยรุ่นมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญและจำเป็นต้องเข้าใจอยู่ 3 ประการ คือ
- เปลือกสมองวัยรุ่นจะค่อยๆ บางลงจนกระทั่งเท่ากับความหนาของเปลือกสมองผู้ใหญ่
- การปรับรูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายเส้นใยประสาทระหว่างฮับ (hub) ในสมอง
- สมองส่วนที่แสวงหาความสุขความพึงพอใจทำงานมากกว่าปกติจากฮอร์โมนเพศที่สูงปรี๊ดในช่วงวัยรุ่น
หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงบริเวณเปลือกสมองของวัยรุ่น
คือเปลือกสมองจะค่อยบางลงจนกระทั่งเท่ากับความหนาของเปลือกสมองในผู้ใหญ่ จากเดิมที่เซลล์ประสาทเคยมีแขนงประสาทหนาแน่นในตอนเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นก็จะมีการจัดโครงสร้างของสมองใหม่ คือมีการตัดเอากิ่งเส้นใยประสาทที่ไม่ได้ใช้งานออกไป เพื่อให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างที่ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกว่า กระบวนการ Pruning
เมื่อกระบวนการตัดแต่งกิ่งใยประสาทเสร็จสิ้นลง จะเริ่มมีกระบวนการสร้างเยื่อไขมันที่เรียกว่า Myelin มาหุ้มเส้นใยประสาท ทำให้วงจรประสาททำงานได้ว่องไวขึ้น รับส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้น การดึงข้อมูลที่เก็บอยู่ในความจำมาใช้เพื่อคิดตัดสินใจก็จะทำได้เร็วขึ้น
กระบวนการนี้ทำให้เปลือกสมองบางลง แต่ความซับซ้อนซึ่งเป็นคำตอบของทุกพฤติกรรมวัยรุ่นก็คือ สมองแต่ละส่วนบางลงช้าเร็วแตกต่างกัน ไม่ได้เกิดพร้อมกันทั่วทุกบริเวณ!
“การ Pruning จะเกิดช้าที่สุดในช่วงสมองส่วนหน้าสุดบริเวณหน้าผาก” ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นศูนย์บัญชาการที่ควบคุมการทำหน้าที่ในการบริหารจัดการของสมอง หรือ EF (Executive Functions) ซึ่งมีความสำคัญในการทำให้เราคิดถึงผลดีผลเสียของสิ่งที่ทำ ผลของการกระทำที่จะเกิดตามมา โดยประมวลผลจากข้อมูลในอดีต ปัจจุบัน และคาดการณ์ไปยังอนาคต ยอมอดใจไม่ทำบางอย่างที่อาจเกิดผลเสียตามมา แต่เลือกทำสิ่งที่จะส่งผลดีกว่าในระยะยาว คือคิดไตร่ตรองก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไปนั่นเอง
สอง การเชื่อมต่อระหว่างฮับ หรือจุดรวบรวมสัญญาณข้อมูลเครือข่าย (Network)
การเชื่อมต่อระหว่างฮับ หรือจุดรวบรวมสัญญาณข้อมูลเครือข่าย (network) ในสมองของวัยรุ่นแตกต่างจากสมองของผู้ใหญ่ แล้วมันแตกต่างกันอย่างไร?
วัยรุ่นในช่วงอายุ 12-15 ปี การเชื่อมโยงเครือข่ายเน็ตเวิร์คระหว่างฮับ ส่วนใหญ่จะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างเปลือกสมองใหญ่กับบริเวณที่อยู่ใต้เปลือกสมอง (Cortical-Subcortical) และ บริเวณใต้เปลือกสมองเชื่อมโยงกันเอง (Subcortical-Subcortical) สมองส่วน Subcortical นี้จะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ ความพึงพอใจ เด็กวัยนี้จึงแสดงออกตามอารมณ์ ชอบแสวงหาความแปลกใหม่และความรู้สึกที่ตื่นเต้นเร้าใจ
พอถึงวัยรุ่นช่วงอายุ 15-19 ปี การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างฮับใน subcortical จะลดลง แต่จะเริ่มมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างเปลือกสมองส่วนหน้าสุดกับเปลือกสมองใหญ่บริเวณต่างๆ (Cortical-Cortical) เพิ่มขึ้น กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้สมองส่วนหน้าสุดกลายเป็นจุดศูนย์กลางในการประมวลข้อมูลจากเปลือกสมองส่วนอื่นๆ เรียกกระบวนการนี้ว่า Frontalization ซึ่งเป็นกระบวนการที่เป็นไปอย่างช้าๆ ในช่วงวัยรุ่นที่กำลังจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ถึงตอนนี้เขาจะรู้จัก ‘คิดก่อนทำ’
หมายความว่า ไม่ต้องแปลกใจเลยที่เราจะเวียนหัวให้กับความเอาแต่ใจของเด็กๆ ก็เพราะสมองส่วนอารมณ์ของเขาทำงานแยกส่วนกับสมองส่วนคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ
และลืมไม่ได้เช่นกันว่า ช่วงวัย 12-15 วัยที่สมองส่วนหน้าก็ยังพัฒนาไม่เต็มที่ สมองส่วนซับคอร์ติเคิล (Subcortical) ในเรื่องอารมณ์ ความต้องการ และความหุนหันพลันแล่น ก็มีเครือข่ายเชื่อมโยงอย่างแข็งขัน ยิ่งไปกว่านั้น วัยนี้ยังเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเพศอย่าง เทสโทสเตอโรน และ เอสโตรเจน เพิ่มสูงมาก
สาม สมองส่วนที่แสวงหาความสุข ถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศที่พุ่งสูงปรี๊ด
“ช่วง 12-15 ปี เป็นช่วงที่ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะพุ่งปรี๊ดเลย ยิ่งเทสโทสเตอโรนสูง ก็ยิ่งทำให้ความไวของสมองส่วนที่แสวงหาความสุข หรือ Limbic reward system มีการตอบสนองมากกว่าปกติ เมื่อสองตัวนี้มารวมกันแล้วก็ยิ่งดับเบิลเลย เหมือนมีแรงผลักให้เด็กวัยนี้มีความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น อยากทำอะไรใหม่ๆ แสวงหาสิ่งแปลกใหม่และความตื่นเต้นเร้าใจเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุขความพึงพอใจ”
Limbic Reward System ที่ อ.นวลจันทร์พูดถึง คือระบบประสาทที่ทำให้มนุษย์รู้สึกมีความสุขความพึงพอใจเหมือนได้รับรางวัล ที่ในช่วงวัยรุ่นมันถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างเต็มพิกัด เป็นระบบที่อยู่ในสมองส่วนลิมบิก ศูนย์กลางการทำงานเรื่องอารมณ์และความรู้สึก การที่เด็กวัยรุ่นมีความต้องการออกไปแสวงหาความรู้สึกแปลกใหม่ตื่นเต้นเร้าใจ อ.นวลจันทร์ใช้คำว่า ‘sensation seeking’ คือพฤติกรรมหรือความต้องการทำให้ตัวเองมีความสุขความพึงพอใจ ซึ่งเกิดจากการหลั่งสารสื่อประสาทโดพามีนเพิ่มขึ้นในสมองส่วน reward system นั่นเอง
หรือเขียนเป็นสมการพฤติกรรมแสวงหาความรู้สึกที่ทำให้ตื่นเต้นเร้าใจ (sensation seeking) ได้ว่า
sensation seeking = Limbic Reward System X ฮอร์โมนเพศ (ที่พุ่งสูงในวัยรุ่น)
ดังนั้น จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เด็กๆ ไม่อาจต้านทานความรัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นรักแบบหนุ่มสาว แต่เป็นความหลงรักหลงใหลในอะไรบางอย่าง เช่น มิตรภาพระหว่างเพื่อน บ้าพลังในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อย่าง ‘ไม่คิดมาก’ เรียกว่าเป็นพลังรักบริสุทธิ์อย่างที่ผู้ใหญ่ขี้หงุดหงิดหลายคนชอบเรียกว่าไม่คิดหน้าคิดหลัง
แต่เพราะมันไปเชื่อมกับความอยากลองสิ่งใหม่ๆ อาจรวมถึงบุหรี่ สุรา ยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ หรืออะไรก็ตามที่อาจทำให้ชีวิตพวกเขาเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
“การคิดตัดสินใจด้วยสมองส่วนหน้าสุดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กประคับประคองความรักนี้ไปจนถึงวันที่เขาจะตกลงใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องใช้สมองส่วนหน้าอย่างมาก ไม่อย่างนั้นเขาอาจจะด่วนตัดสินใจทำอะไรไปก่อน เพราะเวลาที่เราตัดสินใจพลาด นั่นคือส่วนสมองส่วนซับคอร์ติเคิลทำงานมากกว่าปกติ และสมองส่วนหน้าสุดที่ทำหน้าที่ช่วยคิดตัดสินใจทำงานน้อยกว่าปกติ คือไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการคิดไตร่ตรอง ก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไปตามอารมณ์ ความต้องการในตอนนั้น”
อ.นวลจันทร์ทิ้งท้ายไว้เช่นนั้น ก่อนจะเข้าสู่บทสนทนาในหัวข้อสำคัญ … เมื่อเวลาลูกๆ รู้สึก ‘รัก’ เป็นแล้ว พ่อๆ แม่ๆ จะทำอย่างไรกันดี?
เมื่อลูกมีความรัก
พ่อแม่จะทำอย่างไรดี?
เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมช่วงวัยรุ่นที่เห็นเด่นชัด มาจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสมองทั้งนั้นเลย
จะเห็นว่าช่วงวัยรุ่น มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นในสมองเขา อย่างเรื่อง ‘เปลือกสมองใหญ่ที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่’ ถ้าไม่มีเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก ความรัก เข้ามาเกี่ยวข้อง เขาจะคิดและตัดสินใจได้ดีเกือบเท่าผู้ใหญ่ เช่นการมีสมาธิจดจ่อ การคิดเป็นเหตุเป็นผล มีความรับผิดชอบ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร แต่หากเมื่อไหร่มีเรื่องอารมณ์ ความต้องการ ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเพื่อน คนรัก แฟน อกหัก ฯลฯ มันทำให้การตัดสินใจของวัยรุ่นย้อนกลับไปเป็นแบบที่ตัดสินใจด้วยอารมณ์
สมองของเด็กวัยรุ่นยังต้องมีการพัฒนาไปต่ออีกนิด คือการเชื่อมข้อมูลจากเปลือกสมองใหญ่กลีบหน้าสุดที่ลงมาควบคุมอารมณ์ ความต้องการ ความรู้สึก ความพึงพอใจ ซึ่งตรงนี้อาจต้องใช้เวลาในการพัฒนา แต่เขาจะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อผ่านวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่
แม้ว่าเด็กคนนั้นจะถูกฝึกให้สมองส่วนหน้าทำงานดี มี EF ดีก็ตาม?
ใช่ค่ะ ถึงจะดียังไง แต่เด็กทุกคนก็จะต้องเจอการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ มันเป็นธรรมชาติ เพียงแต่ถ้าเด็กคนนั้นได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่ฝึกให้คิดตัดสินใจบนเหตุผล การเปลี่ยนแปลงตรงนี้จะไม่รุ่นแรง ไม่ค่อยเกิดปัญหาในครอบครัวมากนัก เพราะจริงๆ มันไม่ใช่แค่ตัวเด็กอย่างเดียว แต่จากครอบครัวก็มีส่วน เช่นวิธีการคิดของพ่อแม่ พอลูกเข้าวัยรุ่น บางทีก็เปลี่ยนไปเนื่องจากความรักความเป็นห่วงลูก
กลับมาเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ถ้าลูกวัยรุ่นเริ่มมีความรัก พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจอะไรบ้าง
ความรู้สึกตอนมีความรักมันจะเหมือนกับเวลาที่เราถูกรางวัล เวลาวัยรุ่นเขามีความรัก พอได้คุย สัมผัส จับมือโอบกอด ก็ทำให้ออกซิโทซิน (ฮอร์โมนแห่งความรัก) หลั่งออกมาคู่กับสารสื่อประสาทโดพามีน (ฮอร์โมนแห่งความสุขความพึงพอใจ) โดพามีนในสมองส่วนสมองส่วนที่ทำให้พึงพอใจเหมือนได้รางวัล (reward system) นี้ เมื่อหลั่งออกมาเยอะจะทำให้เขายิ่งมีความสุข พึงพอใจ อยากจะเจอหน้า อยากพูดคุยด้วย อยากจะออกเดทกับคนรัก ก็จะวนเวียนอยู่กับเรื่องพวกนี้เพราะมันทำให้เขามีความสุข
แต่เรื่องการมีความรักแบบโรแมนติก กับการมีเพศสัมพันธ์ เป็นสมองคนละส่วนกัน ความรู้สึกรักเป็นการแสวงหาความรู้สึกแปลกใหม่ที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเร้าใจ เช่น ความสุขจากการได้เจอหน้า ได้พูดคุย ได้ออกไปเที่ยวไปดูหนังด้วยกัน แต่จุดที่จะทำให้ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์จะเป็นอีกเรื่อง สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือช่วยและดูแลให้เขากำกับควบคุมตัวเองให้ดีในขณะที่มีความรัก ทำอย่างไรไม่ให้ไปถึงจุดนั้นเมื่อยังไม่ถึงเวลา
ความรู้สึกรัก กับ การมีเพศสัมพันธ์ ใช้สมองคนละส่วนกันจริงๆ ใช่มั้ย ทำไมหลายคนพูดว่ามีเซ็กส์เพราะเรารักกัน?
คือใช้สมองคนละบริเวณกัน แต่ความรักอาจนำมาซึ่งสิ่งนั้น เมื่อคนที่รักกันถูกเนื้อต้องตัวกัน จนเกิดความรู้สึกทางเพศ สมองหลายส่วนจะถูกกระตุ้นเช่น สมองส่วน anterior cingulate cortex (ACC), anterior insula cortex, putamens และ hypothalamus ซึ่งสมองส่วนเหล่านี้โดยเฉพาะ hypothalamus จะไปกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาของระบบสืบพันธุ์ ให้พร้อมที่จะมีเพศสัมพันธ์กัน หากปล่อยให้เลยมาจนถึงจุดนี้ไม่มีการคิดถึงเหตุผลแล้ว สมองส่วนคิดไตร่ตรองไม่ทำงาน
เหมือนที่บอกว่า ‘อารมณ์พาไป’
ใช่ คล้ายๆ แบบนั้น
ช่วงเวลาที่ ‘อารมณ์พาไป’ การยับยั้งชั่งใจของวัยรุ่นตอนปลาย จะมีมากกว่าวัยรุ่นตอนต้นหรือเปล่า
ใช่ค่ะ เวลาที่วัยรุ่นอยู่คนเดียว หรือช่วงเวลาที่ไม่มีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง เขาจะคิดหรือตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ดีทีเดียว คือเป็นการใช้ Cool EF แต่เมื่อวัยรุ่นอยู่กับเพื่อน มีอารมณ์ ความต้องการ ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง การตัดสินใจตอนนี้ต้องใช้ Hot EF ซึ่งเด็กวัยรุ่นยังทำได้ไม่ค่อยดีนัก ก็จะตัดสินใจด้วยอารมณ์และทำผิดพลาดได้ อาการแบบนี้เมื่อถึงวัยรุ่นตอนปลายก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
เวลาที่วัยรุ่นอยู่กับเพื่อน (peer) ความหุนหันพลันแล่น (impulsive) การตัดสินใจแบบกล้าเสี่ยงก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เช่น หากเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์การเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ระหว่างวัยรุ่นที่ขับรถไปคนเดียว กับการขับรถโดยมีเพื่อนนั่งไปด้วย พบว่าเมื่ออยู่กับเพื่อน สมองบริเวณซับคอร์ติเคิลจะทำงานเพิ่มขึ้น ความหุนหันพลันแล่น การแสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจจะมากกว่าปกติ เปอร์เซ็นต์การเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่ในผู้ใหญ่ การขับรถโดยมีเพื่อนนั่งไปด้วยไม่ได้ทำให้การตัดสินใจแตกต่างจากการขับคนเดียวเลย
คือถ้าเรารู้ว่าช่วง 13-16 ปี เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวัยรุ่นที่ต้องการอิสระ ต้องการออกไปเรียนรู้จากโลกภายนอก ในขณะที่การคิดการตัดสินใจเขายังทำได้ไม่เต็มที่แบบผู้ใหญ่ พ่อแม่ยังคงต้องดูแลเอาใจใส่ลูก แต่ก็ต้องรักษาระยะให้ดีให้เขาเป็นมีความเป็นส่วนตัวด้วย พ่อแม่ควรใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูกให้เขากล้าพูดคุยกับเรา กล้าปรึกษาเราเมื่อมีปัญหา ทำให้ครอบครัวมีความสุข อบอุ่นปลอดภัย นอกจากนั้นควรเปิดโอกาสให้ลูกได้คิดตัดสินใจวางแผนจัดการเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ของตัวเอง สอนให้ลูกหาความสุขได้จากภายในตนเอง
การออกไปผจญภัยเรียนรู้จากโลกภายนอกเป็นเพียงกลไกตามธรรมชาติของเขาที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ใหญ่ แต่เมื่อใดที่เขากลับเข้ามาที่บ้านเขาจะรู้สึกถึงความอบอุ่นปลอดภัย มีคนที่รักและเข้าใจเขา มันก็จะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ช่วงวัยรุ่นเป็นไปอย่างราบรื่น พอเข้าสู่วัย 17-19 กลไกทางสมองเรื่องความต้องการออกไปแสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจ (sensation seeking) หรือการหุนหันพลันแล่น (impulsive) ก็จะลดลง
แต่เอาจริงแล้ว วัยรุ่นไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่
แน่นอนค่ะ ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องเพื่อน เขาจะไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่หรอก เราก็ชวนคุยเรื่องอื่นไปเลย ชวนลูกทำกิจกรรม อยากไปเที่ยวไหน สนใจอะไร ถ้าเราเลือกเรื่องคุยได้ถูกต้องถูกเวลา เขาก็จะคุย แต่บางครอบครัวเขาก็คุยกันนะ ลูกพูดเรื่องส่วนตัวกับพ่อแม่เลย อาจจะขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของแต่ละบ้าน
ทำไมวัยรุ่นถึงอยากมีพื้นที่ส่วนตัว อยากอยู่กับเพื่อนมากกว่า
เพราะว่าเขากำลังเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ จากการเปลี่ยนแปลงในสมองด้วย ฮอร์โมนด้วย อารมณ์เปลี่ยนต้องการคิดตัดสินใจด้วยตัวเอง ต้องการเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์และเป็นที่ยอมรับจากคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว โดยเฉพาะเพื่อน
สิ่งแวดล้อมในบ้านคงไม่พอ ไม่ท้าทาย มันจึงเป็นแรงผลักตามธรรมชาติที่เด็กต้องการออกไปเรียนรู้โลกภายนอก ต้องการจะเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบตัวเองได้
วางแผนชีวิตให้ตัวเอง และแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ มีเพื่อนฝูง มีวงสังคมของตัวเอง มันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่บางทีพ่อแม่ก็ปรับตัวไม่ทัน เคยใกล้ชิดลูกมาตลอด แล้วอยู่ดีๆ เขาก็ไม่อยากให้เราไปยุ่งกับเขา แต่มันจะค่อยเป็นค่อยไป ช่วง 11-12 นี่ยังเบาๆ แต่พอ 13-15 ก็เริ่มจะติดเพื่อนมากขึ้น
ดังนั้นพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ จริงๆ แล้วลูกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากอนุบาลไปประถมก็รอบหนึ่ง จากประถมไปมัธยมก็อีกรอบหนึ่ง เพียงแต่ช่วงวัยรุ่นนี่ ความเสี่ยงมันเยอะ ดังนั้นหากเราปูพื้นฐานมาดี สิ่งที่พ่อแม่ควรทำในตอนนี้คือระวังอย่าให้ความวิตกกังวลและความห่วงใย กลายเป็นความระแวงมากเกิน มันจะทำให้เกิดการปะทะในครอบครัว ยิ่งทำให้เขาไม่ไว้ใจเรา ไม่กล้าปรึกษาเรา พ่อแม่จึงควรคลายความวิตกกังวลลง ทำตัวตามสบายและแสดงให้เห็นว่าเราไว้ใจและเชื่อมั่นในตัวลูก
แต่ไม่มีครอบครัวไหนหรอกที่มีลูกวัยรุ่นแล้วไม่เจอปัญหาเลย ต้องเจอมากบ้างน้อยบ้าง ถ้าพ่อแม่ไม่จู้จี้กับลูกมากเกิน รักษาระยะให้พอดี สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ทั้งเราและลูกก็จะผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ อาจารย์มองว่าปัญหาส่วนหนึ่งอยู่ที่ผู้ใหญ่ ความไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับ ความขัดแย้ง จะยิ่งทำให้เกิดปัญหาบานปลายขึ้น แต่ถ้าหากผู้ใหญ่ยอมรับและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น มองว่ามันเป็นเพียงช่วงเวลาไม่กี่ปี ช่วยกันประคับประคองให้ลูกผ่านช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปได้ เดี๋ยวทุกอย่างมันก็จะค่อยๆ ดีขึ้น (ยิ้ม)
ถ้าไม่ใช่ประเด็นคอขาดบาดตาย พ่อแม่ก็ปล่อยไปบ้าง มองข้ามไปบ้างก็ได้
ช่วงวาเลนไทน์ สำหรับผู้ปกครองที่รู้ว่าลูกมีความรัก มีแฟน แต่ไม่อยากให้มีเพราะเป็นห่วง เราจะบอกกับเขาอย่างไรดี
คิดว่าที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ห่วงก็คือเรื่องการเรียน กลัวเด็กๆ เสียการเรียน แต่ต้องทำความเข้าใจว่า เขาสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับอีกคนหนึ่งได้ มันเป็นทักษะทางสังคมที่สำคัญอันนึง เราห้ามเขาไม่ได้เรื่องความรัก แต่เราสอนเขาได้ว่าถ้าหากมีความรักแล้วจะแบ่งเวลาอย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้เสียการเรียน อารมณ์ความรู้สึกเวลามีความรักมันจะเป็นอย่างไร จะควบคุมมันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียตามมา ทำอย่างไรจึงจะถนอมความรักไว้ให้นานๆ คืออาจต้องสอนแบบนี้
ให้มองความรักในแง่บวก ใช้ความรักมาช่วยพัฒนาตัวลูก ให้รู้จักคิดก่อนทำ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เห็นอกเห็นใจผู้อื่น อย่ามองว่าความรักเป็นสิ่งที่ไม่ดี อาจเล่าเรื่องความรักกุกกิ๊กสมัยพ่อแม่เป็นหนุ่มสาวให้ลูกฟังว่ามันเริ่มยังไง ดำเนินอย่างไร เจอปัญหาอะไรบ้าง เช่นเวลาพ่อแม่งอนกัน ทะเลาะกัน แก้ปัญหาอย่างไร และอื่นๆ การพูดคุยกับลูกอย่างเป็นกันเองจะทำให้ลูกวางใจว่าพ่อแม่มีประสบการณ์มาก่อนนะ เวลาลูกมีเรื่องอะไรมาปรึกษาพ่อแม่ได้นะ
อีกหนึ่งปัญหาคือ สังคมไทยเขินอาย พ่อแม่ไม่รู้จะเริ่มพูดเรื่องเพศกับลูกอย่างไร การศึกษาเรื่องเพศในห้องเรียนก็มีปัญหา
สังคมไทยมักไม่พูดเรื่องเพศตรงๆ เช่น ลูกเคยฝันเปียกไหม ก็ไม่กล้าถาม แต่ถ้าจะพูดตรงๆ ก็ลำบากใจทั้งเราและลูก แต่เราพูดทางอ้อมได้นะโดยผ่านเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต เช่น เวลาที่มีข่าวหรือดูหนังแล้วมีเรื่องแบบนี้ก็พูดคุยแทรกไปให้เป็นธรรมชาติ
พ่อแม่ต้องชัดเจนว่ากังวลเรื่องอะไร จึงจะทราบว่าควรจะให้ข้อมูลแบบไหน ที่เขาจะได้ฝึกคิดฝึกตัดสินใจด้วยตัวเอง ให้เขารู้ผลที่จะตามมา เช่น ถ้ากังวลเรื่องเสียการเรียน เราก็จะพูดคุยกับเขาอย่างหนึ่ง ถ้ากังวลเรื่องมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เราก็ต้องพูดอีกอย่างหนึ่ง แต่คิดว่าสิ่งสำคัญที่จะป้องกันปัญหาทั้งหมดได้ คือการสอนให้ลูกควบคุมตนเองได้ กำกับตนเองได้ อดทนรอคอยได้ มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับเซ็กส์โดยตรง แต่สำคัญเพราะมันจะช่วยป้องกันปัญหาพฤติกรรมของวัยรุ่นได้เกือบทุกเรื่อง เด็กที่ทำสิ่งเหล่านี้ได้ การมีความรักจะไม่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเลย
วิธีการคุยกับลูก ถ้าเราพูดตรงทั้งๆ ที่ปัญหายังไม่เกิด มันเหมือนเรากังวลไปล่วงหน้า เวลาที่เราคุยกับเขา ควรให้มันเป็นลักษณะผ่อนคลาย สบาย สร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เขาได้แสดงความคิดเห็น กล้าพูด กล้าปรึกษาเรา และเราสามารถป้อนข้อมูลที่สำคัญกับเขาได้ พ่อแม่อาจสมมุติตัวอย่างเหตุการณ์ของคนอื่นขึ้นมาคุยกับลูกก็ได้
เช่น ถ้าลูกรู้ว่าเพื่อนกำลังนอกใจแฟน แถมแฟนของเพื่อนก็ยังเป็นเพื่อนของลูกด้วย ลูกจะทำอย่างไรดี เปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็น คำถามประเภทนี้ดึงดูดให้วัยรุ่นยอมพูดคุยกับพ่อแม่ การพูดคุยแบบนี้เป็นการสอนให้เขาสร้างกรอบความคิดของตัวเองในการจัดการกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนบนพื้นฐานของคุณธรรมจริยธรรม เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องพูดคุยกับเด็ก
หมดยุคแล้วที่จะสอนแต่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การใช้ถุงยางอนามัย นั่นมันปลายเหตุ มนุษย์เรามีศักยภาพที่จะทำได้มากกว่านั้น โดยเฉพาะความสามารถในการคิดการตัดสินใจ การกำกับควบคุมตัวเองไม่ให้ไปถึงจุดนั้น
วัยรุ่นมักจะเดาได้เสมอว่าพ่อแม่กังวลอะไร อยากจะสื่อสารอะไรกับเขา แต่บางทีพวกเขาก็ไม่อยากให้พ่อแม่เป็นห่วง จึงเลือกจะปิดบัง
เป็นธรรมดาที่ลูกวัยรุ่นเขาจะไม่ค่อยพูดกับพ่อแม่หรอก ไม่เชิงปิดบังแต่เขาคิดว่าไม่จำเป็นต้องบอก และจริงๆ แล้วก็ไม่จำเป็นที่พ่อแม่จะไปต้องรู้ทุกเรื่องของลูก ถ้าพ่อแม่สามารถทำให้เขาไว้ใจได้ เวลามีปัญหาเขาอยากคุยกับเราเอง ตรงนี้ล่ะ… เป็นโอกาสดีเลย เวลาลูกโทรหา หรือเดินเข้ามาขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือ พ่อแม่ควรให้ความสำคัญ รับฟังและช่วยเขาคลี่คลายปัญหา เมื่อไรชีวิตเขาเจอปัญหาอุปสรรคที่เขารู้สึกว่ายากไปนิด ต้องการให้ใครสักคนช่วย แล้วเขานึกถึงพ่อแม่ แค่นี้ก็อุ่นใจแล้ว อาจารย์มองว่าพอแล้ว
การอธิบายตรงๆ ชัดๆ ทุกเรื่องเขาไม่ฟังหรอก เขาจะมองว่าเป็นการจับผิด หรือไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของเขา การสอนทางอ้อมน่าจะดีกว่า ใช้เวลาด้วยกันอย่างมีคุณภาพ พูดคุยกับเขาในเหตุการณ์ประจำวันทั่วๆ ไป แอบสอนได้หมดค่ะ เช่นเวลาไปเที่ยว ดูทีวี ดูหนัง แทรกได้หมด แต่ถ้าจับมานั่งคุยตรงหน้า เขาคงไม่ฟัง เขาจะฟังเพื่อน
เวลาวัยรุ่นมีความรัก โลกของเขาจะเป็นสีชมพูมากกว่าวัยอื่นหรือเปล่า
จริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น ความรักของวัยรุ่นไม่ต้องใช้เหตุผล ไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่ต้องมีปัจจัยโน่นนี่นั่นมาประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับความรักเยอะ (หัวเราะ) เป็น puppy love ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสมองเขาเลย เพราะโดพามีน (ฮอร์โมนแห่งความพึงพอใจ) ก็เยอะ ออกซิโทซิน (ฮอร์โมนแห่งความรัก) ก็เยอะ เขาก็จะโฟกัสแต่คนที่เขารัก ย้ำคิดย้ำทำ อยากเจอ อยากคุย อยากอยู่ด้วย อยากใกล้ชิดตลอดเวลา
รักอย่าง ‘น้ำเชี่ยวอย่าเอาเรือมาขวาง’ อย่าได้มีอะไรมาขวางทางเลย
เออ ยากเหมือนกันเนอะ เคยผ่านกันมาหรือเปล่าคะ (หัวเราะ)
ถ้าอย่างนั้นเราควรสนับสนุนไหมคะ เพราะนี่คือช่วงที่จะมีความรักอย่างน่ารัก และจริงใจที่สุดแล้ว
ในขณะที่ลูกมีความรัก เป็น puppy love แบบนี้ก็ควรให้พอดี ไม่ใช่ปล่อยให้เขาวนเวียนอยู่กับเรื่องความรักจนไม่เป็นอันทำอะไร เช่นดึงให้เขาออกมาทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง ชวนทำกิจกรรมที่เขาชอบ ดูหนัง ฟังดนตรี กีฬา ทำกิจกรรมกับคนในครอบครัวบ้าง มีสังคมกับคนกลุ่มอื่นบ้าง จิตอาสาช่วยเหลือสังคมก็ยังได้ เอาแฟนมาทำกิจกรรมด้วยยิ่งดี ให้ความรักตรงนี้กระจายไปกับสิ่งดีๆ อย่างอื่นด้วย เขาจะมองโลกกว้างขึ้น
พ่อแม่ควรทำตัวให้เป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องห้าม แต่ควรเตือนลูกว่าสิ่งสำคัญนอกเหนือจากความรัก มันมีอย่างอื่นอีกด้วยนะ เตือนให้เขาจัดการชีวิตในด้านอื่นๆ ให้เห็นว่ามีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบอย่าให้เสียเพราะความรัก
สิ่งที่มักได้ยินตลอดเวลาเด็กๆ อยู่ด้วยกันคือ ‘งามหน้ามั้ยล่ะ ไปอยู่กันสองคน คนอื่นจะมองว่าอย่างไร’ คล้ายว่าพ่อแม่กลัวว่า จะถูกเพื่อน หรือคนในสังคมมองว่าตัวเองไม่ดี ที่ปล่อยให้ลูกตัวเองมีแฟน
การที่ลูกไปอยู่กับใครสองคนตามลำพัง อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องสอนลูกนะ สถานการณ์แบบไหนที่อาจทำให้ใครมองไม่ดี เราคุยกับเขาก่อนเลย พ่อแม่ควรคุยกับลูกให้ชัดเจนว่าอะไรทำได้ อะไรต้องขออนุญาตพ่อแม่ก่อน อะไรห้ามทำเด็ดขาด การตั้งกฎเกณฑ์ชัดเจนและคุยให้เข้าใจตรงกันเป็นเรื่องที่ต้องทำ มันจะทำให้ลูกยั้งคิดนิดหนึ่ง
เด็กที่มีความรักโดยไม่เสียการเรียนก็มีเยอะ สมองส่วนคิดตัดสินใจและกำกับควบคุมตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาผ่านจุดนี้ไปได้ ถ้าพื้นฐานการเลี้ยงดูในวัยเด็กปูมาไม่ดีก็จะไปอีกทาง อาจเกิดเหตุที่เราไม่อยากให้เกิด ซึ่งปัจจัยสำคัญคือครอบครัวและการเลี้ยงดู ถ้าครอบครัวนั้นเป็นครอบครัวที่แตกแยก ไม่มีความสุข เด็กขาดความรักความอบอุ่น เจอแต่สิ่งแวดล้อมที่มีความเครียด หาความสุขจากที่บ้านไม่ได้ เขาก็จะหันไปหาความสุขจากคนนอกบ้านแทน ถ้าพื้นฐานที่บ้านดี พ่อแม่เข้าใจ สนับสนุนให้กำลังใจลูกปัญหาก็จะน้อย
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยให้สัมภาษณ์กับ The Potential ว่า ให้พ่อแม่อดทนช่วงที่ลูกกำลังเปลี่ยนไป เดี๋ยวเขาจะกลับมาเอง คำถามคือ เมื่อไรเขาจะกลับมาและจะกลับมาเพราะอะไร
ช่วงวัยรุ่นตอนปลายจะเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 19-20 ปีขึ้นไปก็จะเริ่มนิ่งแล้วค่ะ ช่วงมัธยมดูแลอยู่ห่างๆ นิดนึง อย่าเพิ่งปล่อยไปเลย สร้างสัมพันธภาพกับลูกให้ดี พอถึงวัยเข้ามหาวิทยาลัยเขาก็จะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รับผิดชอบตัวเองดูแลตัวเองได้
คำถามสุดท้ายแล้วค่ะ มีอะไรจะฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกๆ กำลังตกอยู่ในห้วงรักไหมคะ
วัยรุ่นเป็นวัยมีพลัง เขาเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนในระยะยาว ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการดูแลเด็กให้ผ่านช่วงวัยที่สำคัญนี้ไปได้อย่างราบรื่น หากจะมองความรักในแง่บวก ก็อาจมองได้ว่าความรักทำให้เขาได้เรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอีกคน รู้จักถนอมความสัมพันธ์นั้นให้ยืนยาว เห็นอกเห็นใจ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ รวมไปถึงร่วมมือกันทำสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้ตนเอง ครอบครัว และสังคมดีขึ้น จึงนับเป็นการเพิ่มทุนทางสังคมอย่างหนึ่ง