- การเรียนรู้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติ หรือ Outdoor Learning ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ 8 ด้าน คือ สมาธิ เครียดน้อยลง มีวินัยในตัวเอง กระฉับกระเฉง แข็งแรง กระตือรือร้น สนุกจะเรียนรู้ และมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน
- ลองนึกภาพเด็กๆ ที่ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว สังเกต สงสัย และพบเห็นสิ่งน่าสนใจใหม่ๆ ในบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ สิ่งเหล่านั้นยังช่วยให้นักเรียนอยากมีส่วนร่วม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และกล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างจากบรรยากาศเดิมในห้องเรียน
เว็บไซต์ Frontiers in Psychology – ฐานข้อมูลที่รวบรวมวารสารว่าด้วยจิตวิทยาทุกแขนงเอาไว้ด้วยกัน เผยแพร่ผลงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนแนวทางการสอนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงเป็นครั้งแรกของการรวบรวมหลักฐานที่สนับสนุนแนวทางการสอนดังกล่าวไว้ด้วยกันทั้งหมด แต่ยังแสดงให้เห็นว่าจำเป็นเพียงไร ที่โรงเรียนต้องตระหนักถึงความสำคัญอันใหญ่หลวงในการปลูกฝังเยาวชนที่กำลังจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตให้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
ในขณะที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมและสภาวะอากาศแปรปรวนเช่นทุกวันนี้ จำเป็นหรือยังที่เด็กควรได้รับการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล (cause and effect) กับธรรมชาติที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งและอาศัยพึ่งพิง
นอกจากการสอบและความสำเร็จของผลคะแนน ครูต้องสอนให้พวกเขามองธรรมชาติว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและใส่ใจที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไว้ให้คงอยู่ต่อไปด้วยเช่นกัน
ดร.หมิง คูโอะ (Ming Kuo) อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งมหาวิทยาลัยอิลินอยส์ สหรัฐอเมริกา และทีมวิจัย ซึ่งศึกษาค้นคว้าหัวข้อการเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือที่เรียกว่า Outdoor Learning ตั้งเป้าหมายที่จะลบล้างการยึดถือแนวการสอนในห้องเรียนแบบเดิมๆ ของพ่อแม่และโรงเรียนที่กวดขันให้อาจารย์อัดความรู้ในชั้นเรียนและบีบให้นักเรียนทุ่มเทพลังทั้งหมดไปกับการเตรียมสอบ
อาจารย์คูโอะมองว่าแนวคิดนี้มีแต่จะสร้างผลเสียจากการที่เด็กเครียด หงุดหงิด และขาดแรงจูงใจในการรับเนื้อหาความรู้จนเรียนไม่รู้เรื่อง ในขณะที่งานวิจัยจำนวนมากบ่งชี้ว่าการพานักเรียนออกไปเปิดประสบการณ์ท่องธรรมชาตินอกห้องเรียน หรือสอนในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เช่น การพาไปทัศนาจรในป่า พาชมพืชพรรณต้นไม้ในสวนของโรงเรียน หรือดูการเจริญเติบโตของกบในบึง ช่วยกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยด้านการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทีมวิจัยของอาจารย์คูโอะพบว่าการเรียนรู้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาตินอกห้องเรียนนั้นช่วยกระตุ้นพัฒนาการนักเรียนถึง 8 ด้านด้วยกันคือ
- มีสมาธิจดจ่อดีขึ้น
- เครียดน้อยลง
- รู้จักวินัยต่อตัวเอง
- การเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉงมากขึ้น
- สมรรถภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น
- กระตือรือร้นในการเรียนรู้
- มีความสุขและสนุกที่จะเรียนรู้
- มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ผลการวิจัยที่เชื่อถือได้จากงานศึกษานับร้อยชิ้นถูกเผยแพร่ออกมาหักล้างแนวทางการเรียนแบบดั้งเดิมอย่างชัดเจนว่า เด็กที่ผ่านกระบวนการสอนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ (nature-based instruction) ทำคะแนนสอบได้สูงกว่าและมีอัตราการสำเร็จการศึกษามากกว่าเด็กที่ถูกสอนแต่ในห้องเรียน
อาจารย์คูโอะพบว่าปัญหาน่าหนักใจยิ่งกว่าผลเสียจากความเคร่งเครียดในห้องเรียนที่ครูสอนเพื่อให้ไปสอบแบบเดิมๆ ก็คือ การที่พ่อแม่ผู้ปกครองและตัวนักเรียนกลับยึดติดกับคะแนนสอบมากจนเกินไปเสียเอง
ผลบวกจากการเรียนรู้นอกห้องเรียนไม่เพียงกระตุ้นให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น
ลองนึกภาพเด็กๆ ที่ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว สังเกต สงสัย และพบเห็นสิ่งน่าสนใจใหม่ๆ ในบรรยากาศที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ สิ่งเหล่านั้นยังช่วยให้นักเรียน อยากมีส่วนร่วม มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และกล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างจากบรรยากาศเดิมในห้องเรียน
ดังนั้น เด็กที่เรียนรู้นอกห้องเรียนจึงมีโอกาสพัฒนาทักษะการดำเนินชีวิตในสังคมควบคู่ไปด้วยเช่นกัน แคทเธอรีน จอร์แดน (Catherine Jordan) อาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำวิจัยร่วมกับอาจารย์คูโอะอธิบายเสริมว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยและนักสังเกตการณ์ในการศึกษาของเธอจำนวนไม่น้อยรายงานว่า กระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนช่วยสร้างความอดทน ทักษะการคิดแก้ปัญหา การคิดอย่างมีวิจารณญาณ ความเป็นผู้นำ ทีมเวิร์ค และความยืดหยุ่นให้พวกเขาอีกด้วย เหล่านี้เป็นทักษะและคุณลักษณะสำคัญในการเรียนรู้เพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพในศตวรรษที่ 21
อย่างนี้แล้ว โรงเรียนและนักการศึกษาควรหันมาทบทวนแนวทางการสอนและจัดกระบวนการเรียนรู้โดยให้เพิ่มกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ออกไปเรียนรู้และอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติในสัดส่วนที่มากขึ้น สร้างพื้นที่สีเขียวในรั้วโรงเรียนด้วยการปลูกต้นไม้ หรือสวนธรรมชาติ และสอดแทรกการเรียนการสอนที่ใช้ธรรมชาตินอกห้องเรียนเป็นพื้นที่เรียนรู้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุด แค่ลองพานักเรียนออกมานั่งสมาธิก่อนเข้าเรียนทุกเช้าในสวนร่มรื่น ก็สร้างความแตกต่างขึ้นได้แล้ว