ต้นตอความเครียดที่ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต มาจากเทรนด์โลกที่เรียกว่า Neoliberalism หรือเสรีนิยมใหม่ซึ่งให้อภิสิทธิ์สูงสุดกับคนที่ประสบความสำเร็จซึ่งวัดได้จากการมีเงินเท่านั้น
Neoliberalism จุดกำเนิดของแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนี้อยู่ที่ชาติมหาอำนาจในห้วงเวลาเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคใหม่ เมื่ออังกฤษโดยนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นำแนวคิดนี้มาเพื่อกระตุ้นให้เกิดกลไกตลาด และลดบทบาทของรัฐสวัสดิการที่เกิดปัญหารัฐแทรกแซงตลาดมากเกินไปจนเศรษฐกิจไม่เติบโตในยุค 70
ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวได้สร้างโครงสร้างทางสังคมที่ ‘เงิน’ เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในชีวิตมนุษย์
เพื่อให้ได้เงิน คนจึงต้องแข่งขัน และแข่งขันกันตั้งแต่เด็กๆ
ไม้บรรทัดที่สังคมใช้กับเด็กคือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย (ต้องจบจากสถาบันรัฐ-เอกชนที่มีชื่อเสียง) สาขาอาชีพที่เรียน (จบไปแล้วมีค่าตอบแทนสูงและมั่นคง) อีกทั้งยังมีแรงคาดหวังจากพ่อแม่ผู้ปกครอง การเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง การไหลบ่าของโซเชียลมีเดียที่ส่งเมสเสจย้ำๆ ว่า “ใครๆ ก็ประสบความสำเร็จ และดูดีกันทั้งนั้น”
เด็กๆ ถูกเปรียบเทียบ จัดประเภท จัดอันดับอยู่ตลอดเวลา หากถูกจัดให้อยู่ในอันดับล่างหรืออยู่ในเกณฑ์ ‘อ่อน’ จะหมายความทันทีว่าไม่มีค่าและเป็นจุดบกพร่องของสังคมนั้น
เมื่อถนนทุกสายมุ่งไปที่ความสมบูรณ์แบบเป็นเส้นชัย จึงไม่แปลกที่เด็กวัยรุ่นยุคนี้ต้องแบกรับความกดดันให้ตนเอง ‘ดีที่สุด’ ยิ่งไปกว่านั้น เด็กเหล่านั้นยังมีพื้นที่ในโซเชียลเป็นกระจกสะท้อนความสำเร็จจากมุมมองที่คนอื่นมีต่อตัวเอง กระหายที่จะต้องมีข้อพิสูจน์มารับรองว่าตนบรรลุเป้าหมายแล้ว เช่น สอบติดมหาวิทยาลัย ได้เกรดเฉลี่ยสูง ได้รางวัล หรือคำชื่นชม (หรือ คอมเมนต์ต่างๆ ยอดไลค์ ยอดแชร์ และยอดติดตาม หรือ followers)
ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความกดดันภายในของวัยรุ่นที่ต้องเป็น ‘มนุษย์เป๊ะเว่อร์’ ตลอดเวลา อาจพ่วงมากับอาการทางจิตอื่นๆ เช่น โรคกลัวอ้วนจนมีพฤติกรรมกินผิดปกติ โรควิตกกังวลเกินไป ซึมเศร้า และมีความคิดฆ่าตัวตาย
รักในสิ่งที่ตัวเองเป็นคือทางออก
ในเมื่อเด็กและเยาวชนไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดและความกดดันจากสังคมที่เป็นอยู่นี้ได้อยู่แล้ว พ่อแม่และโรงเรียนควรต้องช่วยกันติดตั้งภูมิคุ้มกันให้พวกเขาหาจุดยืนในการเป็นตัวของตัวเองในสังคมได้โดยไม่ต้องเปรียบเทียบ ปลูกฝังหนึ่งในสัจธรรมของความเป็นมนุษย์ คือความไม่สมบูรณ์แบบ ความแตกต่าง ความหลากหลายในสังคม
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยให้สัมภาษณ์ในบทความ 14 คำถามความรักกับ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เอาไว้ว่า ความหลากหลายคือความแข็งแกร่ง
“หลักข้อหนึ่งของการเลี้ยงลูกคือ ‘รักเขาแบบที่เขาเป็น’ ดังนั้นเขาจะเป็นเกย์ ทอม ดี้ ชาย หญิง transsexual หรือกะเทย เขาจะเป็นเด็กพิเศษ สมาธิสั้น ปัญญาบกพร่อง แอลดี ออทิสติก พิการ เรารักเขาแบบที่เขาเป็น วันใดที่ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่รักเขาแบบที่เขาเป็น เขาจะพุ่งไปข้างหน้าได้เสมอไม่ว่าจะเกิดมาเป็นตัวอะไรก็ตาม” นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
ดังนั้น พื้นฐานแรกสุดคือพวกเขาต้องรู้จักยอมรับ และรักในสิ่งที่ตัวเองเป็น
ถ้าให้พูดถึงแนวทางปฏิบัติที่ผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็กจะทำได้ อาจไม่ตายตัวนักในครอบครัวและบริบทที่แตกต่างกัน จำเป็นอย่างยิ่งคือ พ่อแม่และครูต้องหมั่นเข้าไปสำรวจโลกของพวกเขาบ้างว่า กำลังสนใจหรือหมกมุ่นกับอะไรเป็นพิเศษ เสพวงดนตรี ศิลปิน หนังสือ ภาพยนตร์หรือเกมประเภทไหน คร่ำเคร่งกับเป้าหมายมากเกินไปรึเปล่า และมีแนวโน้มที่จะตัดสินเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในทางลบหรือไม่
นอกจากต้องหูไวตาไวกับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของความเครียดภายใน พ่อแม่และครู ต้องนับตัวเองเป็นเพื่อนคนหนึ่ง เรียนรู้ที่จะสวมหมวกเพื่อนที่ปรึกษา เป็นพวกเดียวกับเขาโดยไม่ตัดสิน เปรียบเทียบ หรือคาดหวังใดๆ
อ่านรายละเอียดได้มากกว่านี้ที่ PERFECTIONISM อย่าหวดวัยรุ่นด้วยความสมบูรณ์แบบอีกเลย