- วิชาเสรี หรือ FE (Free Elective) เป็นวิชาเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นตามความสนใจของนักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยการเรียนการสอนคล้ายกับวิชาพื้นฐาน มีสอบ มีตัดเกรดจริงจัง บางรายวิชาก็เน้นปฏิบัติให้นักเรียนทดลองทำจริง
- แม้จะเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนเอง แต่ในยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีโทรศัพท์ เด็กๆ ใช้แทบเล็ต ครูจะทำอย่างไร ให้วิชาที่ตัวเองสอนไม่น่าเบื่อ ไม่ใช่เดินเข้ามาก็ Talk and Chalk พูดๆๆ แล้วก็เขียนกระดาน แต่ต้องดีไซน์การสอนให้ดึงดูดนักเรียนได้
- ข้อมูลสถิติช่วยยืนยันว่า การมีวิชาเลือกเสรี ทำให้นักเรียนสอบตกลดลง และเด็กๆ ส่วนใหญ่เกรดเฉลี่ยดีขึ้น เพราะเขาได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
วิชาภาษาอังกฤษจากภาพยนตร์ Netflix
วิชาการแสดงขั้นพื้นฐาน
วิชาอาหารจานเดียว
วิชาอาหารนานาชาติ
หรือวิชาการเขียนบทภาพยนตร์เบื้องต้น
นี่คือรายชื่อวิชาเลือกเสรีบางส่วนของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ที่เผยแพร่ครั้งแรกในช่องทางทวิตเตอร์ของผู้ใช้รายหนึ่ง
ปรากฏการณ์นี้ทำให้ชาวทวิตเตอร์จำนวนมากแสดงความเห็นไปในทางเห็นด้วย หลายคนมองว่า “นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโรงเรียนมัธยม” เพราะวิชาเสรีที่ถูกระบุอยู่ในตารางต่างเป็นวิชาที่มีประโยชน์ ดูแล้วช่วยเสริมสร้างทักษะของเด็ก ตอบโจทย์ความชอบและความสนใจของนักเรียนได้อย่างแท้จริง และที่สำคัญวิชาเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้เด็กๆ ค้นพบตัวเองได้
ความหลากหลายของรายวิชาดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า วิชาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและทำไมต้องมี
The Potential ไปหาคำตอบกับสามหัวเรือใหญ่ ผู้ทำงานขับเคลื่อนให้เกิดตลาดวิชาเสรีขึ้นจริงในโรงเรียนชายล้วนแห่งนี้
คนแรก ครูโกสุม รุ่งลักษมีศรี ผู้คิดและริเริ่มคิดทำตลาดวิชาเลือกเสรีเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ครั้งยังเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการมัธยมศึกษา ปัจจุบันเป็นหัวหน้าฝ่ายโครงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน (English Immersion Program; EIP)
คนที่สอง ครูสุดฤทัย สัจติประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายวิชาการมัธยมศึกษา เป็นผู้ริเริ่มคิดระบบ Track* เมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยยังยึดแนวทางตลาดวิชาที่ยังเหลือร่องรอยอยู่บ้าง และเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายโครงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน
คนที่สาม ครูวศวิศว์ ปุณณะสุขขีรมณ์ หัวหน้างานนักเรียนความสามารถพิเศษด้านวิชาการ เริ่มทำงานตลาดวิชาเสรีกับครูโกสุมตั้งแต่แรก และปัจจุบันก็ยังทำอยู่ร่วมกับการจัดการระบบ Track ด้วย ซึ่งระบบการเรียนแบบ Track นี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า BCC Next
วิชาเสรีในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
ครูโกสุม: วิชาเสรีเริ่มต้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ขอเล่าคร่าวๆ ก่อนว่า คนที่ดูแลเรื่องวิชาเสรี จะแบ่งเป็น 2 ยุค ช่วงแรกคือครูโกสุม ช่วงต่อมาคือครูสุดฤทัย โดยจุดเริ่มต้นของการเปิดตลาดวิชาเสรีในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เริ่มจากสองจุดใหญ่ๆ คือ 1.นโยบายของโรงเรียนที่ต้องการผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีส่วนในการพัฒนานักเรียนตามศักยภาพ ตามความถนัด และความสนใจ 2.ความเชื่อส่วนตัว โดยส่วนตัวครูมียูโทเปียในโลกการศึกษาที่เชื่อว่าเด็กควรจะได้เรียนในสิ่งที่พวกเขาอยากเรียน
แล้ววันหนึ่งเราก็ปิ๊งไอเดียว่าอยากปรับเปลี่ยน ไม่อยากทำวิทย์-คณิตแล้ว เราไม่อยากสร้างตะกร้า 2 ตะกร้า แล้วจับเด็กโยนใส่ลงไป
จึงคิดต่อว่า ในเมื่อเรามี 41 หน่วยกิตที่เป็นเกณฑ์บังคับของโรงเรียนอยู่แล้ว อีก 36 หน่วยกิตที่เหลือ พอจะเป็นช่องทางที่เราสามารถผลักให้เด็กเรียนอยากเรียนได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘วิชาเลือกเสรี’
เหตุอีกอย่างที่ทำให้วิชาเสรีเกิดขึ้นจริงในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย คือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ข้อดีของโรงเรียนนี้ คือ ผู้บริหารรับฟังคนทำงาน โดยที่ยึดประโยชน์ของนักเรียนเป็นหลัก อะไรที่เห็นว่าเด็กจะได้รับผลประโยชน์ เขาจะ say yes กลับมาตลอด
ก่อนจะปิ๊งไอเดีย ได้ฟังเสียงของเด็กๆ ก่อนไหมว่าเขาอยากเรียนอะไร
ครูโกสุม: เราคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ ก็จะมีเสียงบ่นๆ ให้ได้ยินมาบ้าง เช่น เด็กที่อยากเข้าเรียนด้านสถาปัตย์ เขาไม่อยากเรียนวิชาชีววิทยา ซึ่งเราเป็นครู ก็ต้องคิดอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรให้การเรียนไปสนองความต้องการของเด็ก ให้เขานำไปใช้ได้มากที่สุด บางอย่างที่กำหนดให้เรียนแต่เด็กไม่ได้นำไปใช้ เรามองว่ามันเป็นการสูญเสียโดยใช่เหตุ พอได้คุยกับครูในทีมผู้ที่มีความเชื่อเหมือนกัน เราก็ช่วยกันคิดว่าจะสร้างระบบขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างได้อย่างไร
อะไรที่ทำให้ครูเชื่อเหมือนกัน
ครูโกสุม: จริงๆ แล้วครูที่นี่ มีความคิด ความเชื่อ แบบเดียวกันเยอะนะ บวกกับผู้บริหารไม่ว่าจะยุคไหน ก็ไม่เคยชี้บังคับว่าครูต้องทำนู่น ทำนี่ ถ้าครูคนไหนมีไอเดียจะทำอะไรใหม่ๆ และมีเหตุผลที่ดี ก็สนับสนุนเต็มที่ ขอแค่ครูคิดเพื่อเด็ก
ครูวศวิศว์: โรงเรียนมีกรอบครับ แต่ว่ามันเป็นกรอบที่หลวม ไม่ได้แน่นจนครูขยับตัวไม่ได้ มีข้อมูลให้ค้นคว้า มีการจัดอบรมบุคลากรทั้งภายในภายนอก รวมถึงต่างประเทศ ครูในโรงเรียนก็มีโอกาสได้เปิดโลกมากขึ้น
ย้อนถามเมื่อ 8 ที่แล้ว ที่เป็นก้าวแรกของการเปิดตลาดวิชาเสรี มีความยากหรืออุปสรรคอะไรบ้าง
ครูโกสุม: ณ จุดนั้น เราไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่โต ของเดิมเราจัดเด็กเลือกลงตะกร้าที่มีแค่วิทย์คณิตและศิลป์ แต่ของใหม่เราให้เด็กหาของลงตะกร้าด้วยตัวเอง ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่เพียงแค่ต้องปรับ และเชื่อว่าเราทำได้
ปัญหาที่เราพบ คือ ช่วงปีแรกที่เราเริ่มเปิดตลาดวิชาเสรี โดยเริ่มกับนักเรียนชั้น ม.4 ก่อน ถ้าปัจจุบันนักเรียนรุ่นนี้ก็น่าจะเพิ่งรับปริญญาไป โดยในตอนนั้นเราใช้วิธีแจกเอกสารให้นักเรียน ‘ติ๊ก’ เนื้อหาที่ตัวเองสนใจและอยากเรียนลงในกระดาษ เอกสารนั้นระบุ FE ทั้งหมดประมาณ 8 คาบ ซึ่งให้เด็กระบุต่อว่าในคาบเสรีของเขาอยากจะเรียนวิชาอะไรบ้าง
อย่างที่บอก กระทรวงฯ มีเกณฑ์กำหนดมา 2 แบบ นั่นคือโรงเรียนต้องมีวิชาบังคับและวิชาเลือก ดังนั้นความสำคัญอันดับแรกที่ทางโรงเรียนทำ คือการจัดวิชาบังคับตามหลักสูตรกระทรวงฯ ใส่ลงในตารางเรียนเป็นอันดับแรก
จากนั้นก็จะสลายพวกวิชาเพิ่มเติมออก เช่น วิชาภาษาอังกฤษ1 วิชาคณิตศาตร์เพิ่มเติม วิชาอังกฤษเพิ่มเติม และปรับเป็นคาบ FE ลงไปในตารางเรียนแทน โดยมีการให้เด็กๆ แชร์ไอเดียเข้ามาว่าแต่ละคาบใน FE ของพวกเขา เขาจะดีไซน์วิชาอะไรขึ้นมา โดยเราจะยึดตามที่พวกเขาอยากรู้และอยากเรียน
ซึ่งเราตั้งโจทย์และพยายามกระตุ้นให้ครูหัวหน้ากลุ่มสาระลงไปคุยกับเด็กโดยตรง ถามเลยว่า ‘ถ้าไม่ใช่วิชา ภาษาอังกฤษ1 คณิตศาตร์เพิ่มเติม อังกฤษเพิ่มเติม ฯลฯ เขาอยากจะเรียนวิชาอะไรได้บ้าง?’
จุดประสงค์ตอนนั้น ครูต้องการเพียงให้เด็กๆ เขาค้นพบความชอบของตัวเอง ให้ชัดเจนว่าตัวเองจะเดินไปทางไหนเมื่อจบ ม.6 ไป เมื่อพบคำตอบว่าเด็กๆ อยากเรียนวิศวะ เรียนสถาปัตย์ เรียนการแสดง ฯลฯ จึงก่อให้เกิดรายวิชา FE ที่เกี่ยวโลจิสติกส์ การแสดงเบื้องต้น ขึ้นมา
และสิ่งสำคัญที่ทำให้ FE มันขับเคลื่อนไปได้ เป็นเพราะเรามีพี่ๆ ศิษย์เก่าที่มีความรู้หลากหลายได้เข้ามาเป็นกำลังสำคัญที่คอยช่วยเหลือ
แสดงว่า การมีวิชา FE ขึ้นมา คือการเปิดให้เด็กดีไซน์การเรียนของตัวเองเต็มที่?
ครูโกสุม: ส่วนหนึ่ง เพราะเด็กๆ สามารถหยิบวิชาที่ตัวเองสนใจใส่ในตะกร้าของตัวเองได้ ยกเว้นวิชาหลักที่ต้องยึดอยู่ ซึ่งเราต้องเดินตามหลักสูตร และตัวชี้วัดอยู่แล้ว ในช่วงแรกที่เปลี่ยนแปลงครูที่ทำงานหรือคนในทีมมีความเครียดมาก เพราะไม่อยากให้เกิดความผิดพลาด ไม่อยากให้เด็กเรียนไปถึง ม.6 แล้วสุดท้ายพบว่าเรียนไม่ครบหน่วยกิต โรงเรียนจึงมีความระวังตรงนี้อย่างมาก ดังนั้นอะไรที่ต้องมีพื้นฐานเราจัดให้เด็กหมดอยู่แล้ว แต่เราเข้าใจโรงเรียน เราเข้าใจงาน เพราะปัญหาหนึ่งที่เราพบหลังจากทำ FE คือ ปัญหาเกี่ยวกับบุคลากรครูผู้สอน
ในช่วงแรกที่เปิดตลาดวิชาเสรี ยังไม่มีระบบออนไลน์ที่แข็งแรง ครูยกตัวอย่างวิชาหนึ่งชื่อว่า ‘อาหารจานเดียว’ ที่เปิดสอนเกี่ยวกับการทำอาหารที่เป็นอาหารจานเดียว เช่น ซาลาเปา เค้ก พาย เบเกอรี เป็นวิชาที่เด็กๆ สนใจและลงเรียนเยอะมาก จนทำให้ครูผู้สอนมีจำนวนไม่พอกับความต้องการ
เวลาจะเริ่มเปิดวิชาเสรี (FE) ตั้งต้นจากบุคลากรครูที่มีหรือความต้องการของเด็ก
ครูโกสุม: ต้องมองทั้งสองอย่างพร้อมๆ กันนะ ถ้ามันมีความต้องการของเด็กเข้ามา แล้วไปตรงกับครู ศิษย์เก่า หรือผู้ปกครอง ที่พอช่วยเหลือ ก็ทำได้
ครูวศวิศว์: เรามีการทำสำรวจ แล้วนำผลนั้นมานั่งคุยกันในทีมวิชาการว่าเด็กอยากเรียกแบบนี้ หมวดนี้เปิดได้ไหม ถ้าเปิดเองได้ไม่ได้เราหาผู้สอนคนนอก
ครูโกสุม: อีกหนึ่งสิ่งที่เรานำมาพิจารณาร่วมด้วยคือเราต้องดูว่า อะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของเด็กๆ ในโลกที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ต้องดูว่าเทรนด์อะไรกำลังจะมา อะไรจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตเขา บางอย่างที่เราเห็นว่ามันสำคัญมาก แต่เราไม่มีบุคลากร เราก็ต้องพยายามหาคนนอกมาสอนให้ได้ เช่น วิชาโลจิสติกส์ใน 8 ปีที่แล้ว ก็ยังไม่ได้บูมมาก แต่มาแรงและได้รับความนิยมในยุคนี้ รวมถึงวิชาคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์และวิชาการแสดงขั้นพื้นฐานด้วย
ความแตกต่างระหว่างตลาดวิชาเสรีช่วงแรกกับตอนนี้ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม
ครูโกสุม: ก่อนจะไปถึงตรงนี้ เด็กเคยผ่านการเลือกวิชาอย่างสะเปะสะปะมาก่อน เพราะเนื่องจากเราไม่มีระบบแน่นอน ต้องกรอกเอกสารจากมือ ไม่มีระบบออนไลน์ ทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณนักเรียนที่ลงเรียนในแต่ละวิชาได้ เราจึงคุยกันว่ามันควรจะมีครูแนะแนวที่เขามาช่วยกรองขั้นต้น เพื่อช่วยแนะเด็กในการค้นหาความชอบ ตัวตน ของนักเรียนจริงๆ
ส่วนเราจะรู้ได้อย่างไรว่าวิชาไหนที่เด็กชอบที่สุด เราวัดจากการลงทะเบียน เราจะรู้ได้เลยว่าวิชาไหนเด็กอยากเรียนมาก เด็กแย่งกันลง หรือได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ ส่วนวิชาไหนที่เด็กลงน้อยๆ 1-2 คน ก็จะค่อยๆ ตายลงไปเอง
นอกจากนั้นเมื่อเปรียบเทียบก่อน-หลัง ที่มีวิชา FE ขึ้นมา ข้อมูลหนึ่งช่วยให้เห็นชัดเจนว่า สถิตินักเรียนสอบตกมีจำนวนลดลง และเด็กๆ ส่วนใหญ่เกรดเฉลี่ยดีขึ้น เพราะเขาได้ลงเรียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเรียน
ในฐานะที่ครูโกสุมเคยสอนวิชา FE ในวิชาเบเกอรี ในคาบเรียนครูต้องทำอะไรบ้าง
ครูโกสุม: เราต้องทำตามโครงสร้างอยู่แล้ว โรงเรียนจะมีข้อกำหนดบอกว่าเก็บคะแนนครั้งที่ 1 เมื่อไร เก็บสัดส่วนเท่าไร เรายังอยู่ในกรอบ
ตอนที่เราเปิดแรกๆ ครูผู้สอนในวิชานี้ไม่ได้มีใครจบเชฟ แต่เป็นคนที่ชอบทำ ชอบกิน บวกกับเรามีใบ certificate teacher ที่ระบุว่าสามารถสอนได้ตั้งระดับ ม.1-6 จึงตัดสินใจเปิดสอน โดยที่ไม่ผิดกฎกระทรวงฯ
แต่พอสิ่งที่เกิดขึ้นจากจุดนั้น มันมาไกลมาก นักเรียนให้ความสนใจวิชานี้อย่างถล่มทลาย ซึ่งตัวเลขพวกนี้ก็จะบอกเราเองว่าเราควรจะจัดการอย่างไรต่อ เมื่อตัวเลขความต้องการของนักเรียนเยอะขึ้น สเต็ปต่อมาคือการพัฒนาการเรียนการสอน โดยมีการสร้างห้องโภชนาการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้ดีขึ้นอีกด้วย
แล้วบรรยากาศในห้องเรียนเป็นอย่างไร
ครูโกสุม: ส่วนบทบาทของครูผู้สอนหรือบรรรยากาศในห้องเรียน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคอร์สอะไร อย่างเช่น ในรายวิชาประกอบอาหารเบื้องต้น เราจะกำหนดเมนูขึ้นมาให้นักเรียนแต่ละสัปดาห์ ตอนนั้นได้ เชฟอาร์ท จากรายการ Iron Chef ที่เคยเป็นศิษย์เก่าก็มาช่วยสอน โดยเริ่มทำความรู้จักอุปกรณ์ในครัวก่อน เช่น การใช้มีด การใช้มีดขณะเคลื่อนไหว การใช้มีดขณะยืนอยู่กับที่ หรือเรียนแม้กระทั่งการเทนม เทของเหลวลงภาชนะอย่างไรโดยไม่กระเด็นและเลอะเทอะ ต้องเทมุมไหน ใช้องศาไหน รวมถึงการดูแลอุปกรณ์ล้างถ้วยล้างจาน
นอกจากอาหาร มีวิชาเปิดใหม่อะไรอีกบ้างไหม
ครูโกสุม: สำหรับวิชาที่เปิดใหม่ ที่เราคิดว่ามันน่าจะเป็นของใหม่ ณ เวลานั้น เริ่มต้นตั้งแต่วิชาการแสดงเบื้องต้น การเขียนโปรแกรม กราฟิกดีไซน์ การออกแบบ Infographic ภาษาอังกฤษจากภาพยนตร์ วัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมญี่ปุ่น
ต่อมามันก็ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จากเรียนภาษาอังกฤษผ่านภาพยนตร์ก็มาเรียนผ่าน Netflix หรือวัฒนธรรมจีนที่ตอนนี้พัฒนามาเรียนลึกเป็นวิชาบทบาทจีนกับประชาคมโลกแล้ว
ส่วนครูผู้สอนก็จะหาจากบุคลากรครูในโรงเรียนที่นี่ก่อน เพราะครูหลายๆ คนก็ผ่านการอบรมมา ไฟแรง มีความรู้ สามารถสอนได้ เช่น วิชาด้านคอมพิวเตอร์ทั้งหลาย แต่วิชาไหนที่เฉพาะทางมากๆ เราก็จะอาศัยผู้สอนที่หามาจากข้างนอก แต่เราต้องพยายามใช้ครูข้างในก่อน
ช่วยเล่าการเรียนการสอนให้ห้องเรียน Netflix ว่าทำอะไรบ้างและมันมีประโยชน์อย่างไร
ครูสุดฤทัย: อย่างที่บอกว่าคุณครูของเรามีความทันสมัย ครูเขาก็รู้จัก Netflix อยู่แล้ว และมองเห็นว่า นี่มันน่าจะสร้างประโยชน์อะไรให้เด็กได้นะ แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะใช้เครื่องมือนี้เข้ามาสอนเด็กในห้องเรียน ซึ่งมันเป็นไปได้ เพราะ Netflix เป็นคำทันสมัยที่เด็กรุ่นนี้เขารู้จักดีอยู่แล้ว แค่เขาเห็นรายชื่อวิชาก็เพิ่มความอยากเรียนรู้มากขึ้นไปอีก
ครูวศวิศว์: วัตถุประสงค์ของวิชานี้ แบ่งเป็น 3 อย่างคือ
- ต้องการให้นักเรียนได้เรียนรู้ในบทเรียนวิชาภาษาอังกฤษทั่วๆ ไป
- ให้นักเรียนฝึกการฟัง ได้รู้ว่า การสนทนาภาษาอังกฤษมันอาจจะไม่เหมือนกับการเรียนแกรมม่านะ
- อยากจะให้นักเรียนเห็นวัฒนธรรม สภาพความเป็นอยู่ของชาวต่างชาติผ่านหนัง Netflix จากนั้นอาจจะต่อยอดโดยการให้เปรียบเทียบหรือหาข้อแตกต่างกับประเทศไทย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญของ global awareness ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายๆ ทักษะที่จำเป็นสำหรับทักษะสำคัญในการเรียนเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st-Century Skill) นี่คือโจทย์ของการตั้งวิชานี้ขึ้นมาในคาบ FE
ครูสุดฤทัย: เวลาคุณครูแต่ละท่านจะตั้งรายวิชาใน FE ขึ้นมา มันไม่ได้อยู่ในกติกาในหลักสูตร เพราะนี่คือวิชาเพิ่มเติมที่เป็นตัวเลือก ดังนั้นกรอบปลายทางหรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง คือการที่คุณครูกำหนดขึ้นมาเองว่าอยากจะให้เด็กเรียนรู้อะไรบ้าง เพื่อเวลาออกแบบการสอนจะได้เป็นไปตามนั้น แต่เรามีการประเมิน มีการตัดเกรด ในบางวิชามีการสอบวัดผล แต่อาจจะไม่ใช่การสอบแบบเปเปอร์
แล้วการพัฒนาตลาดวิชาตอนนี้เป็นไงบ้าง
ครูสุดฤทัย: ตอนนี้ครูทุกคนตระหนักขึ้นแล้วว่า วิชาไหนที่เด็กชอบและเด็กสนใจ อีกอย่างครูทุกคนมีตัวตน และต้องการให้วิชาที่ตัวเองสอนเกิดประโยชน์กับเด็กมากที่สุด ดังนั้นโจทย์ต่อไปคือ เหล่าบรรดาครูๆ ต้องสรรหาว่าวิชาอะไรที่จะตอบโจทย์เด็กตรงนี้ได้
แต่ก็อย่างที่ทราบ ถึงแม้จะเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียนเองก็ตาม ในยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีโทรศัพท์ มีแทบเล็ต ครูจะทำอย่างไร ให้วิชาที่ตนเองสอน ไม่น่าเบื่อ ไม่ใช่เดินเข้ามาก็ Talk and Chalk พูดๆๆ แล้วก็เขียนกระดาน แต่ต้องดีไซน์การสอนให้ดึงดูดนักเรียนได้
แม้กระทั่งวิชาภาษาไทยเองก็ตาม ทางโรงเรียนมีการปรับเปลี่ยนเป็นให้เป็นวิชาภาษาไทยในโลก IT โดยที่เราจะลงไปเจาะดูว่าในโลกออนไลน์เขาพูดเรื่องอะไรกัน เขาใช้ภาษาอะไรกัน แล้วดึงเนื้อหาเหล่านั้นมาใช้สอน
แสดงว่าครูแต่ละทุกคนนอกจากสอนวิชาพื้นฐานของตัวเองแล้วยังต้องสอนวิชา FE เพิ่มขึ้นอีกใช่ไหม
ครูสุดฤทัย: ในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีครูทั้งสิ้นเกือบๆ 400 คน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมจนถึงมัธยมปลาย ในการสอนวิชาเพิ่มเสรี แน่นอนว่าครูทุกคนจำเป็นต้องดูรากฐานของวิชาที่ตัวเองสอนอยู่แล้ว อย่างที่ยกตัวอย่าง วิชาภาษาไทยในโลก IT แทนที่คุณครูภาษาไทยจะสอนวิชาวรรณคดีไทยเพียวๆ อย่างเดียว อาจจะทำให้เด็กยุคใหม่เขาสนใจน้อย แต่ถ้ามีอะไรที่ดึงดูดเขาไป พาวิชาภาษาไทยไปอยู่ในสิ่งรอบตัว ในสิ่งที่เขาสนใจให้ได้ ก็น่าจะดีกว่า
ทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้แปลว่าพอเป็นวิชาเสรี เป็นคาบ FE แล้วเด็กจะได้เรียนแต่วิชาที่ทันสมัยอย่างเดียว ในวิชาพื้นฐานก็จะต้องปรับตัวและทำให้วิชาตัวเองตามทันเด็กด้วย
อีกอย่างในโรงเรียนนี้ตัวคุณครูเอง แทบจะได้ไม่จับชอล์กเขียนกระดาษแบบเดิม ทุกห้องเรียนใช้วิทยาการและอุปกรณ์ใหม่ๆ เป็นตัวช่วยในการสอน
นอกจากอุปกรณ์ที่ทันสมัย ในห้องเรียนมีอะไรต้องปรับตัวอีกบ้าง
ครูสุดฤทัย: รูปแบบการสอนเป็นสิ่งสำคัญ เราสามารถปรับวิธีการสอนได้ แต่เนื้อหาอย่างที่บอก เราต้องยึดตามหลักโครงของหลักสูตรแกนกลาง วิชาอะไรก็ตามที่เป็นพื้นฐานของกระทรวงเราจะไปแตะต้องหรือเขย่ามันไม่ได้สักเท่าไร อย่าลืมว่าเด็กยังต้องสอบโอเน็ตหรือข้อสอบอื่นๆ ที่เป็นหลักพื้นฐานอยู่ ดังนั้นสิ่งที่ปรับได้ คือ การออกแบบการเรียนการสอนของครูที่ต้องเป็นไปตามความสนใจและเท่าทันยุคสมัย
โรงเรียนนับว่าเป็นสถาบันที่ปลูกฝังมิติต่างๆ ให้เด็ก ปัจจุบันโรงเรียนยังทำหน้าที่แบบนั้นอยู่หรือเปล่า
ครูสุดฤทัย: จริงๆ แล้วสังคมโรงเรียนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน สำหรับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยเรานำวิชาการและกิจกรรมให้มาควบคู่กัน บางครั้งหลายๆ คนอาจจะบอกว่าสัดส่วนของกิจกรรมมากกว่าด้วยซ้ำ แต่รู้ไหมว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน ช่วยสอนทักษะหลายๆ อย่างให้เด็ก ช่วยสอนให้เขาเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมความเป็นจริงได้ ถ้าเกิดคุณมีแต่การเรียน แต่ไม่สามารถนำความรู้เหล่านั้นไปปรับประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิตได้ ก็เท่านั้น
ฉะนั้นในปีๆ หนึ่ง เด็กจะมีกิจกรรมทำเยอะมาก เช่น งานวันฉลองการก่อตั้งโรงเรียน ที่เป็นกิจกรรมประจำปีทุกปี เด็กๆ ทำงานเอง โดยพี่ ม.6 จะทำหน้าที่เป็นประธานสภา ทำงานเหมือนกับสภาจริงๆ เลย มีการแบ่งฝ่ายทำงานทั้งสิ้น 21 ฝ่าย ทุกครั้งที่มีการประชุม ถึงแม้จะมีครูที่ปรึกษา แต่การตัดสินใจทั้งหมดจะเป็นของนักเรียน เขาจะต้องเรียนรู้การหาสปอนเซอร์ หรือแม้กระทั่งงานจตุรมิตรของนักเรียน ม.5 ที่ต้องเรียนรู้การวางแผนงาน จะซ้อมเมื่อไร จะทำอย่างไร เรียนรู้การสื่อสารภายในทีม
ครูวศวิศว์: เราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การสอน แต่มุ่งเน้นให้นักเรียนได้ซึมซับการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมหลากหลาย เราไม่ได้ไปใส่หัวว่า คุณจะต้องเรียนให้ได้แบบนี้ๆ หรือจะต้องเข้ามหาวิทยาลัยนั้นให้ได้ ทั้งหมดทั้งมวลจะเกิดขึ้นได้เพราะการเรียนรู้ของเขา เราเป็นได้แค่เมนเทอร์ ช่วยตบๆ ให้มันเข้าทาง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวโรงเรียนมีเยอะมาก ฉะนั้นก็จะเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้นอกห้องเรียน
ครูในยุคปัจจุบันก็ต้องพยายามหาแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้เหมือนเด็กๆ เช่น วิชาสังคม เมื่อพูดเรื่องกฎหมาย ก็พาเด็กๆ ออกไปรู้พร้อมกันในศาลจริงๆ เลย มันหมดยุคของการมานั่งเปิดตำราเล่าให้ฟังแล้ว
ระบบ Track คือแผนการของนักเรียนชั้นมัธยมปลายของนักเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โดยปัจจุบันมีทั้งสิ้น 14 Tracks ได้แก่ Track แพทยศาสตร์ และกลุ่มสาธารณสุขศาสตร์ Track วิศวกรรมชีวการแพทย์ Track วิศวกรรมศาสตร์ (ทั่วไป) Track วิศวกรรมการบินและอวกาศยาน Track วิศวกรรมหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์ Track สถาปัตยกรรมศาสตร์ Track บริหารธุรกิจ บัญชี เศรษฐศาสตร์ Track สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ Track ศิลปกรรมศาสตร์ Track อักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์ Track นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อดิจิทัล Track ศิลปะการประกอบอาหาร Track วิทยาศาสตร์การกีฬา Track ดนตรี-นิเทศศิลป์ |