- เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ฮิตเล่นบอร์ดเกม แถมเป็นที่สนับสนุนโดยนักการศึกษาและคนทำงานทางสังคม ทำไม?!
- เพื่อจำลองความขัดแย้งและเปิดช่องให้สื่อสารโดยไม่ต้องมีใครเสียเลือดเนื้อหรือล่มจม เพราะต่อให้ในเกมจะมีการโกง เกทับ ข่มขู่ แต่ทุกความขัดแย้งจบลงในเกม ไม่มีต้นทุน และยังเปิดพื้นที่ให้พูดคุยเจรจาเพื่อความเข้าใจ
- “เวลาที่พูดถึงสันดานดิบ ที่สุดคือการเรียนรู้ผ่านข้อผิดพลาด แต่เป็นข้อผิดพลาดที่จำลองขึ้นโดยไม่มีต้นทุนในชีวิตจริง แต่เขาเข้าใจ รู้ว่าถ้าปล่อยสันดานดิบบางอย่างโดยไม่ระวังผลกระทบที่เกิดขึ้น เขาจะได้รับผลเหมือนอย่างที่ได้รับในเกม”
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
พูดถึงคำว่า ‘เกม’ คุณพ่อคุณแม่เป็นต้องทำหน้านิ่วขมวดคิ้วรอ เกมคือการใช้เวลาว่างโดยเปล่าประโยชน์ ที่สำคัญเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กๆ หมกมุ่นจนไม่เป็นอันเรียนอันนอน
…นั่นอาจจะหมายถึงเกมออนไลน์ แต่เรากำลังพูดถึง ‘บอร์ดเกม’
ขณะนี้บอร์ดเกมถูกพูดถึงในวงการศึกษา โดยเฉพาะประเด็นเคลื่อนไหวเชิงสังคม จุดประสงค์ไม่ใช่เพื่อเกทับหรือห้ำหั่นกัน (อาจจะมีบ้างเพื่อความสนุกตามธรรมชาติ) แต่เพื่อจำลองความขัดแย้ง ปัญหา และเปิดช่องให้สื่อสารโดยไม่ต้องมีใครเสียเลือดเนื้อหรือล่มจม จริงๆ
“เวลาที่พูดถึงสันดานดิบ(ที่ออกมาระหว่างเล่นบอร์ดเกม) ที่สุดคือการเรียนรู้ผ่านข้อผิดพลาด แต่เป็นข้อผิดพลาดที่จำลองขึ้นโดยไม่มีต้นทุนในชีวิตจริง แต่เขาเข้าใจ รู้ว่าถ้าปล่อยสันดานดิบบางอย่างโดยไม่ระวังผลกระทบที่เกิดขึ้น เขาจะได้รับผลเหมือนอย่างที่ได้รับในเกม”
คือคำอธิบายโดยดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อีกหนึ่งบทบาทคือ สมาชิกกลุ่มเถื่อนเกม นักวิชาการที่ชวนทั้งลูกตัวเอง – แดนไท สุขกำเนิด และลูกศิษย์เล่นและพัฒนาบอร์ดเกมอย่างจริงจัง เขาใช้บอร์ดเกมทั้งในและนอกห้องเรียน และการบรรยายนอกสถานที่
คงไม่ผิดหากบอกว่าอ.เดชรัตคือ คอเกม แต่ทำไมนักวิชาการอย่างเขาจึงติดและนำไปให้นิสิต นักศึกษา และชาวบ้านเล่นกันจนติดงอมแงมขนาดนี้ มันมีดีอะไร เป็นเครื่องมือทางการเรียนรู้สมัยใหม่ที่สำคัญอย่างไร และทำไมเขาจึงชวนเชิญให้ครูหลายท่าน หันมาใช้บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือแห่งการเรียนรู้
บอร์ดเกมคืออะไร ทำไมในวงการศึกษาจึงฮิตเล่นบอร์ดเกมกันมาก
บอร์ดเกมอาจจะไม่เหมือนเกมทั่วๆ ไป อย่างน้อยก็สองลักษณะใหญ่ๆ ประเด็นแรกคือ มันต้องการการมีส่วนร่วมระหว่างกัน (interaction) ซึ่งมันเห็นได้ชัดว่าจริงๆ บอร์ดเกมสร้าง interaction ระหว่างกันได้มากกว่ากิจกรรมอื่นๆ ยกตัวอย่าง เรานั่งดูทีวีด้วยกัน เราอาจจะแทบไม่ได้คุยกัน หรือเราอาจจะพูดถึงกันบ้าง แต่ interaction ระดับลึกลงไป เช่น คุณคิดยังไง คุณจะแก้ปัญหานี้ยังไง ในบอร์ดเกมจะมีเยอะกว่า
ประเด็นที่สอง บอร์ดเกมตามมาด้วยสิ่งที่เรียกว่า คอนเทนต์ ภาษาบอร์ดเกม หรือจะเรียกว่าธีมก็ได้ ธีมที่มีอยู่ในบอร์ดเกม เช่น ถ้าเราเล่นเกมเรื่อง CO2 ก็จะเป็นเกมที่ให้ข้อมูล ให้ความคิด และวิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Yellow Card เกมจับปลาที่แดนไทย (ลูกชาย) พัฒนาขึ้นมาก็จะเป็นตัวอย่างที่บอกว่าถ้าเราจับปลากันเยอะเกินไป มันก็จะทำให้ทรัพยากรประมงหายไป เหมือนที่ประเทศเราโดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในเรื่องประมง เลยเป็นที่มาชื่อเกมว่า Yellow Card อย่างนี้เป็นต้น
เพราะฉะนั้น บอร์ดเกมมันจะมีธีมซึ่งให้สาระอยู่ บางทีการชวนพูดชวนคุยมันก็อาจจะนึกภาพไม่ได้ว่าตกลงมันคืออะไร ชาวประมงจับปลาเกินปริมาณที่ควรจะเป็นคืออะไร? เราอาจฟังเฉยๆ แต่จำลองสถานการณ์เข้ามาอยู่ในตัวเราไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่ชวนลูกเล่นบอร์ดเกมในธีมต่างๆ มันก็จะเข้าไปสู่ขั้นที่สามที่เราวางไว้ที่เรียกว่า empathy หรือ ความเข้าอกเข้าใจคนอื่นในบทบาทหรือในสถานการณ์ที่แตกต่างจากเรามากขึ้น
เพราะฉะนั้นในตัวบอร์ดเกมจึงมีสามองค์ประกอบที่สำคัญ คือ สร้าง interaction สอง ได้เรียนรู้คอนเทนต์เนื้อหา สาม เกิดความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้เล่นกับผู้เล่นเพียงอย่างเดียว แต่เข้าใจบทบาทที่เรารับมาด้วย
เข้าใจอย่างไร
ความเข้าอกเข้าใจมันจะอยู่ในสิ่งที่เราเรียกว่าธีมหรือคอนเทนต์ของเรื่อง นักออกแบบบอร์ดเกมก็จะบอกว่า เราต้องคิดก่อนว่าสิ่งที่ต้องการจะสื่อในเกมนั้นคืออะไร อย่าง Yellow Card หรือเกมจับปลา สิ่งที่เราต้องการจะสื่อคือทรัพยากรประมง เป็น Open access หรือการที่ทุกคนเข้าถึงทรัพยากรได้โดยเสรี แล้วไปจับออกมามันจนเกินขีดความสามารถที่ทรัพยากรประมงจะผลิตขึ้นมาใหม่ได้ มันก็เลยเสื่อมโทรมลงไป
นักออกแบบเกมก็จะเอาประเด็นเหล่านั้นมาคิดว่า แล้วกลไกในเกมอะไรที่จะเป็นกลไกง่ายๆ แต่ถูกต้องครบถ้วน คือถ้าจับเยอะ ทรัพยากรก็จะน้อยลง จะเพิ่มทรัพยากรประมงได้ก็ต้องอาศัยการบริจาคของแต่ละคน แต่สุดท้ายแล้วจะเกิดภาวะที่เรียกว่า ‘การต้องตัดสินใจระหว่างคุณค่าส่วนตัวกับคุณค่าส่วนรวม’ ตรงนี้จะเกิดการเจราการหารือต่อรองกันว่าเราจะตัดสินใจอย่างไร
ขณะเดียวกันตัวเกมก็ซ่อนกลไว้อีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าคุณจับได้เยอะ ทุกคนจับได้เยอะ จนทรัพยากรเสื่อมสลาย วงทั้งวงจะต้องแพ้ การซ่อนกลอยู่สองชั้นนี่แหละครับคือปมขัดแย้งภายในเกม แต่ละคนต้องหาจุดสมดุลกันว่าจะเป็นยังไง คนชนะก็จะมีแนวโน้มเป็นผู้มีวิธีการร่วมมือกับคนอื่น ขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากการจับของตนเองด้วย
สิ่งที่น่าสนใจของเกมนี้คือ พอเล่นเสร็จ เราจะมีการพูดคุยกัน ไม่ได้เป็นการให้ความรู้สึกว่าฉันเป็นผู้ชนะ แต่จะให้ความรู้สึกว่า เข้าใจแล้วว่าการอยู่ร่วมกันมันต้องมีการเจรจา ต่อรอง ต้องมีกลไกเข้ามาควบคุม กำกับกันได้อย่างไร มิฉะนั้นอาจจะแพ้ทั้งวง
ดังนั้นแล้วจุดพีคของเกม คือความรู้สึกของผู้เล่นตอนจบเกม และการถอดบทเรียนเพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่การแพ้ชนะ?
การจะไปสู่ข้อสรุปเช่นนั้นได้ เราต้องรู้ว่าจุดพีคต้องเกิดในเกม คราวนี้เราต้องไปสร้างกลไกเกมให้มันเกิดจุดพีค เกมมันเลยต่างจากละครนิดหน่อย ในละคร เราสามารถคิดอย่างดีที่สุดว่ามันจะเกิดอย่างนี้ขึ้น พระเอกนางเอกซ้อมกันเล่นกันจนเกิดอย่างนี้ อย่างน้อยที่สุดก็คอนโทลได้มาก
แต่ในเกมมันไม่รู้ไงว่าผู้เล่นจะเล่นอย่างไร อาจจะเกิดอาการเแป้ก แทนที่เขาจะโลภแล้วจับปลาได้เยอะเขากลับไม่โลภ อะไรแบบนี้ เราก็ต้องสร้างกลไกให้เป็นไปตามนั้น ในละครจะเล่นตามบท แต่นี่เป็นสิ่งที่ฉันเลือกเองแล้วมันก็เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมาจริงๆ ด้วยตัวฉันเอง ด้วยมือฉันเอง เราก็ต้องหาทางแก้ไขด้วยตัวเราเอง
เพราะฉะนั้นนักออกแบบเกมจึงต้องดูคอนเทนต์ก่อนอันดับแรก และก็เอาคอนเทนต์ที่ว่ามาแปลงเป็นกลไกเพื่อที่จะไปถึงจุดพีค พอถึงจุดพีคเราก็เอาจุดพีคมาพูดคุยโยงไปถึงจุดคอนเทนต์ที่เป็นจุดเริ่มต้น แต่คราวนี้การโยงมันไม่ใช่เป็นการเล่าแล้ว มันเป็นการโยงลักษณะที่ว่าตอนนั้นคุณคิดอย่างไรเหรอ เมื่อทำไปแล้วไม่เกิดผลอย่างที่ว่า ความรู้สึกคุณเป็นอย่างไร แล้วเราคิดว่าในชีวิตจริงเราจะปรับสิ่งต่างๆ เหล่านี้เข้ามาร่วมกันได้อย่างไร
เพราะอะไรอาจารย์จึงใช้บอร์ดเกมเป็นเครื่องมือการเรียนรู้แทบจะทุกคลาส
เสน่ห์ของมันคือ หนึ่ง เขาได้ทดลองเอง เราพบว่าคนรุ่นใหม่อยากจะมีโอกาส มีประสบการณ์ตรง อย่างคำที่เขาชอบพูดกันมากตอนนี้คือ Experience learning แต่ประสบการณ์อย่างนั้นไม่สามารถอยู่ได้ในทุกที่ บอร์ดเกมคือการจำลองสถานการณ์ขึ้นมา แล้วเข้าไปอยู่ในประสบการณ์ของคนที่อยู่ตรงหน้า
เราจะได้เห็นว่าเขามีเงื่อนไขในชีวิตอย่างไร เห็นความพยายามขวนขวายเอาชนะ เอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้น แต่การขวนขวายเอาตัวรอดนั้นนำมาสู่ความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นว่า ที่ไม่รอด หรือรอดเป็นเพราะอะไร
ในบอร์ดเกม ความเข้าอกเข้าใจไม่ได้อยู่ที่ตัวเราอย่างเดียว อยู่ที่คนอื่นด้วยว่าเขาจะมีท่าทีหรือตอบสนองต่อสิ่งที่เราทำหรือไม่อย่างไร ทั้งหมดนี้จะค่อยๆ เรียนรู้และค่อยเกิดขึ้นเป็นความเข้าใจและนำไปสู่ความมั่นใจในลำดับต่อไป
อาจารย์ไม่ได้ใช้บอร์ดเกมแค่กับนักศึกษา แต่ใช้ในการบรรยายนอกสถานที่ด้วย
บอร์ดเกมทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกวง ไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียน เราเคยไปใช้เรื่องของการนำวางแผนพลังงานในภาคใต้ เพื่อทำให้พี่น้องในภาคใต้เห็นว่าเวลาวางแผนพลังงาน มันต้องคิดเรื่องอะไรบ้าง ถ้าไฟฟ้าเราเพิ่มขึ้น ก็ต้องไปหาแหล่งไฟฟ้ามา ไฟฟ้าแต่ละแหล่งที่ไปหามามันมีผลประโยชน์ในแต่ละด้านไม่เหมือนกัน แล้วอีกที่หนึ่ง อีกกลุ่มหนึ่งเขาทำอย่างไร จะแข่งกันยังไงเพื่อให้ระบบไฟฟ้าของเราดีที่สุด ซึ่งในตอนสรุปเขาก็จะพูดในเชิง “เข้าใจแล้ว มันมีความยาก แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้นะ” เป็นสิ่งที่ต้องเข้าไปร่วมทำเพื่อบอกว่าเราต้องการให้เกิดผลอะไร
พูดได้ว่า นำเกมไปเล่นเพื่อให้เห็นความขัดแย้งจริง จำลองความขัดแย้งเข้มงวด เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยสร้างความเข้าใจ และลดความขัดแย้ง?
Conflict จะถูกแก้ ต้องดูว่านอกจากความแตกต่าง คุณจะอยู่ร่วมกันอย่างไร แต่ในโลกของความเป็นจริงเราไม่มีโจทย์ว่าเราอยู่ร่วมอย่างไรนอกจากภาพกว้างๆ ว่าคุณเป็นคนไทยเหมือนกันนะ แต่อย่างอื่นกลับไกลตัวหมด แม้กระทั่งไฟดับก็อาจจะยังไกลออกไปเพราะมันยังไม่ได้ดับปีนี้นะ การตัดสินใจเรื่องโรงไฟฟ้าทั้งหลายมันอาจจะดับหรือไม่ดับในอีกไม่รู้กี่ปีข้างหน้า แต่ในเกมมันจะดับในรอบถัดไปเลย คุณจะทำอย่างไร ก็ทำให้ทุกคนเอาสถานการณ์หรือประสบการณ์ที่อาจเกิดในอนาคต จำลอง.ให้เกิดในปัจจุบัน
สิ่งสำคัญสำหรับเกม คือเกิดข้อผิดพลาดได้มากมาย แต่ข้อผิดพลาดทั้งหมดจะต้องทำให้เกิดความรู้สึกว่า “ฉันพลาดนะ” ไม่ว่าจะอินแค่ไหนและเพียงใด ในความเป็นจริงต้นทุนยังเป็นศูนย์ มันยังไม่มีต้นทุนในชีวิตจริง แต่เขาจำได้นะเวลาเล่นประมง เวลาคนที่โดนใบแดงก็จะบอก โอ้โห… เขาแพ้ เขาโดนใบแดง แต่เขาไม่ได้เสียหายอะไร เพราะฉะนั้นในห้องเรียน มันก็ไม่ค่อยมีโอกาสที่เราจะปล่อยให้นักเรียนได้ทำผิดพลาด ในเกมก็จะเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการผิดพลาดของเราเอง
เรียกว่าพานักเรียนออกจากห้องเรียน เข้าสู่สถานการณ์ที่เข้มงวดมากๆ ด้วยเกม
และให้ทุกคนได้ผ่านความผิดพลาด บางคนอาจพูดว่าบอร์ดเกมปล่อยสันดานดิบออกมา จริงๆ แล้วมันก็ต้องตั้งคำถามก่อนว่า ในห้องเรียน เรากันสันดานดิบแบบไหนไม่ให้เกิดขึ้นหรือเปล่า ในห้องเรียนแบบไทย เราอาจจะต้องการให้ทุกอย่างอยู่ในกรอบจารีตที่ควรเป็น เพราะฉะนั้นสันดานดิบแต่ละคนอาจมี ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ มันมีอยู่แต่ไม่รู้ว่าจะออกมาตรงไหน
หลายๆ ครั้ง มันไปออกนอกห้องเรียน แล้วพอออกนอกห้องเรียนหลายครั้ง ห้องเรียนก็บอกว่าถ้าคุณทำถึงขนาดนี้ก็ออกไปจากระบบโรงเรียน เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วถ้าเรามองในมุมกลับ สันดานที่ถูกใช้ในเกมซึ่งต้นทุนความผิดพลาดเป็นศูนย์ แต่เราเปิดให้เขาแสดงออกมา บางเกมก็มีลักษณะของการเกทับ ข่มกัน หรือโกงกันบ้าง แต่ผลสุดท้าย นักสร้างเกมที่ดีต้องให้ฟีดแบคกลับมาว่า ถ้าคุณโกงเพื่อน ผลสุดท้ายจะเป็นยังไง ในที่สุดครูได้เอาสันดานดิบมาพูดในแง่มุมที่มีคนได้ลองใช้จริง ไม่งั้นเราจะพูดกันว่า คนนั้นเขาเคยทำแล้วมันเกิดปัญหาแบบนี้แบบนั้น แต่ผู้เรียนอาจไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่ครูพยายามจะสอน
เวลาที่พูดถึงสันดานดิบ ที่สุดคือการเรียนรู้ผ่านข้อผิดพลาด แต่เป็นข้อผิดพลาดที่จำลองขึ้นโดยไม่มีต้นทุนในชีวิตจริง แต่เขาเข้าใจ รู้ว่าถ้าปล่อยสันดานดิบบางอย่างโดยไม่ระวังผลกระทบที่เกิดขึ้น เขาจะได้รับผลเหมือนอย่างที่ได้รับในเกม
ครูบางคนอาจอยากใช้ยาแรงและเร็ว สั่งและปราบให้นักเรียนทำตาม ไม่ต้องรู้สึกหรือตั้งคำถามอะไร
ผมเข้าใจได้นะครับ ชีวิตจริง ถ้าผมเป็นครูที่บอกให้ทุกคนจงแสดงสันดานดิบออกมาแต่ไม่ได้มีกลไกทำให้ผลลัพธ์ของสันดานดิบอยู่ในขอบเขตที่นำไปสู่การเรียนรู้ แต่บอร์ดเกมมันช่วย ช่วยทำให้การแสดงออกอยู่ในขอบเขตของการเรียนรู้โดยที่ไม่ได้มีต้นทุนมากมายในชีวิต ตรงนี้น่าจะมาช่วยเติมเต็มสิ่งที่คุณครูกังวลได้ เพียงแต่มันพูดยาก ต้องลองสัมผัสแล้วจะรู้ว่ามันมีโอกาสพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของเด็กๆ ที่ผ่านมาเราแทบไม่มีโอกาสจะพูดเลยนอกจากเรื่องเล่า แต่อันนี้เขาได้ตัดสินใจเอง ได้เห็นผลของมันเอง
ถ้าเรากำลังพูดถึงข้อเสนอเรื่องการใช้บอร์ดเกม ในฐานะสื่อการสอนอย่างจริงจังในโรงเรียน ต้องมีบอร์ดเกมเยอะแค่ไหน และเล่นอย่างไร
อย่างแรกคือ บอร์ดเกมที่เราเคยเล่นได้มากที่สุดพร้อมกันคือประมาณ 3,500 คน ถามว่าเป็นเกมที่เหมือนเรานั่งเล่นกันหกคนไหม คำตอบคือ ไม่เหมือนกัน ต้องเข้าใจว่าโรงเรียนจำเป็นจะต้องมีการให้ชุดประสบการณ์หลายแบบ
ทำบอร์ดเกมให้มีผู้เล่นจำนวนมากๆ ก็ทำได้ แต่จะเป็นบอร์ดเกมที่ยากขึ้นหน่อยและขณะเดียวกัน ชีวิตจริงเราไม่ได้เจอคน 50 คนเพื่อทำทุกอย่างพร้อมกันเสมอไป อันนี้ก็ต้องตั้งคำถามทางโรงเรียนกลับว่า ประสบการณ์แบบไหนที่เราจะเจอกัน 50 คนตลอดเวลา ไม่อยากให้บอกว่าบอร์ดเกมคือการนั่งกันหกคน เราก็พยายามพัฒนาเกมตั้งแต่นั่งกันหกคน ยี่สิบคน ห้าสิบคน จนถึงเกินร้อยคนขึ้นไป เราก็พัฒนาขึ้นมาให้เหมาะกับทุกรูปแบบ
ครูจะเห็นอะไร จากการเล่นบอร์ดเกม
ถ้าเราถอดหัวโขนออกมันก็จะได้เห็นเด็กในอีกมุมหนึ่ง ซึ่งเราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นความสำคัญที่ไม่ได้เอาตัวเราเป็นที่ตั้ง เช่น เวลาเราคอนเมนท์งานนิสิต เหมือนอาจารย์เป็นตัวตั้ง นิสิตเป็นผู้รับคอมเมนท์ว่าจะผ่านไม่ผ่าน แต่เวลาทำเกมโดยเฉพาะเวลาออกแบบบอร์ดเกม คนที่เป็นตัวตั้งจริงๆ คือผู้เล่น ถ้าพูดภาษาธุรกิจคือ User หรือผู้ใช้งาน ทั้งเราทั้งเขาต่างช่วยกันมองว่า User สนุกหรือไม่สนุก ไม่ว่าเราจะยืนยันในความคิดของเราเพียงใด แต่สุดท้ายเล่นแล้วไม่สนุก ไม่หัวเราะ ในขณะที่น้องๆ ใช้กลไกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราอาจคิดว่าว่าวิธีนั้นน่าจะประสบความสำเร็จน้อยกว่า แต่ปรากฏว่าผู้เล่นสนุก ได้เรียนรู้มากกว่า อินมากกว่า
คำว่า Power ในภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยได้สองคำ ด้านหนึ่งเราอาจเคยคิดว่า เพื่อที่จะทำให้ห้องเรียนวิ่งไปข้างหน้าได้ เราต้องใช้ Power ที่แปลว่าอำนาจคอยบอกว่ามันต้องไปทางนี้ทางนั้นนะ ขณะเดียวกัน เมื่อเล่นเกมไประดับหนึ่งเราจะพบว่ามันมีคำว่า Power อีกคำหนึ่ง คือคำว่า capacity ความสามารถที่จะทำให้เกิดพลัง ไม่ใช่อำนาจที่ไปอยู่ในสภาวะต่ำกว่า แต่เคียงข้างไปกับผู้เรียน
capacity เกิด power ได้มากกว่าการที่เราอยู่ข้างบนเขา เพราะเวลาที่อยู่ข้างบน เหมือนกับเราเดินข้างหน้า เขาเห็นแต่หลังของเรา ลำดับแรกเราก็บังคับทิศทางเขาแล้ว แต่เวลาเราไปเดินอยู่หลังเขา ลำดับแรกไม่มีใครบังเขา เขาจะไปทางไหนก็ไปในทิศทางของเขา ลำดับต่อมา เรายังช่วยระวังหลังให้ ถ้าเกิดเขาผิดพลาดขึ้นมา เราจะช่วยป้องกันให้ ถ้าเขาล้มเราก็เห็นเขาก่อน เราอาจจะเห็นเราช่วยเขาไม่ทันแต่เราจะเห็นทันที โดยไม่จำเป็นต้องใช้บอร์ดเกมอย่างเดียวจะใช้วิธีอื่นก็ได้
การเลี้ยงลูกก็เหมือนกัน ถ้าเกิดเราอยู่ข้างหลังเราก็จะเห็นความคิดของเขาเยอะแยะเลย ระหว่างซ้ายกับขวาไปทางไหน ถ้าเราบอกเขามันก็จะจบ เขาก็อาจจะเดินตามเราโดยที่ใจจริงเขาไม่ได้อยากจะเดิน