- ข้อกังวลหลักของผู้ปกครองในยุคนี้น่าจะเป็นความไม่คุ้นชินที่ต้องออกไปในพื้นที่ธรรมชาติ อาจเป็นเพราะผู้ปกครองผ่านวัยเด็กมาแบบไม่เคยย่างกรายออกนอกพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งก็ต้องนับถือน้ำใจอันหาญกล้าที่ตัดสินใจปล่อย ‘ไข่’ มาอยู่ในมือผม ที่ผมอาจจะทำให้บอบช้ำก็ได้
- การเรียนเรื่องธรรมชาติมีความจำเป็นต้องออกไปในพื้นที่จริง ไปดู ไปเห็น ไปได้ยิน ไปดม ไปสัมผัส การเรียนผ่านการใช้โสตสัมผัสต่างๆ ของร่างกายเราเป็นการเรียนที่เห็นผลมากที่สุด ซึ่งเด็กๆ ควรจะได้รับการฝึกฝน โดยเฉพาะกับเด็กช่วงสี่ขวบขึ้นไปควรจะได้พัฒนาทักษะพวกนี้อย่างมาก
- เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ครูสอนธรรมชาติศึกษา ที่สอนเรื่องเล็กๆในธรรมชาติ หวังให้เด็กๆ ได้เติบโตไปพร้อมๆ กับความเข้าใจเรื่องธรรมชาติมากยิ่งขึ้น และเชื่อว่าห้องเรียนที่ดีที่สุดของเด็กปฐมวัยก็คือ “ห้องเรียนธรรมชาติ”
ผมหลงใหลธรรมชาติมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น บอกไม่ถูกเหมือนกันว่ามีอะไรดลใจให้ผมติดหนึบอยู่กับโลกใบนี้ ทั้งๆ ที่ในช่วงวัยรุ่น ผมมีทางเลือกมากมายที่จะหลุดเข้าไปในอุโมงค์อันหลากหลาย แต่ผมก็ไม่ได้เลือก ผมกลับเลือกกล้องถ่ายภาพตัวหนึ่ง หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊กของนักเขียนบางคน แล้วก็เปิดประตูโลกธรรมชาติ ก้าวเท้าเดินหน้าเข้าไป นับตั้งแต่อายุ 20 เป็นต้นมา ผมไม่เคยถอยหลังออกมาจากโลกใบนี้
กล้องถ่ายภาพ
หนังสือ
และธรรมชาติ
ผมใช้ชีวิตกับ ‘สามสิ่ง’ นี้มาเกือบสี่สิบปี ผมไม่ได้รู้สึกว่านานหรือโลกหมุนช้าไปเลยแม้แต่นาทีเดียว แม้กระทั่งอาชีพที่หล่อเลี้ยงชีวิตมายาวนานก็มาจาก “สามสิ่ง” ที่ว่านี้ หมุนเวียนหน้าที่ไปตามภารกิจของแต่ละช่วงแต่ละยุคสมัย
จนล่าสุด เมื่อสิบปีที่แล้ว ผมเริ่มเปลี่ยนจากเขียนหนังสือมาเป็นการ ‘พูด’ เพื่อสื่อสารแทน แน่นอนว่าการสื่อสารของผมยังคงเป็นเรื่องเดิม ‘ธรรมชาติ’ เป็นการเอาประสบการณ์ด้านธรรมชาติในช่วงแสวงหาที่ผ่านมาของผมมาถ่ายทอดต่อผ่านคำพูด โดยมีสื่อการสอนเป็นทั้งภาพถ่ายและวิดีโอที่ผมเก็บเกี่ยวมาด้วยตัวเอง
มักมีคนถามผมอยู่บ่อยๆ ว่าผมสอนอะไรในวิชาธรรมชาติ ถ้าจะตอบสั้นๆ เข้าใจง่าย และไม่มีเวลาอธิบายยาวๆ ก็น่าจะเป็น ‘ชีววิทยา’ ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าไหร่นัก ความเป็นจริงเนื้อหาที่อยู่ในใจผมทั้งหมดก็คือ ‘ความสัมพันธ์กันในธรรมชาติ’ หรือพูดให้สวยหน่อยก็ประมาณ ‘นิเวศวิทยา’
ไม่ว่าเราจะเรียนรู้เรื่องอะไรในธรรมชาติ ท้ายที่สุดแล้วถ้า ‘ไม่ได้เชื่อมโยง’ ให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่โยงใยกันอยู่ในธรรมชาติก็ยากที่จะเข้าใจและมองเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้ในเรื่องนี้ ไม่ต่างจากการเรียนวิทยาศาสตร์จากภาพประกอบในหนังสือเพียงเพื่อทำข้อสอบให้ผ่านเท่านั้นเอง
ธรรมชาติ เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง ‘ธรรม + ชาติ’ มันคือความจริงของชีวิตที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ ทุกเรื่องในธรรมชาติสอนเราได้หมด ขึ้นอยู่กับเราจะเป็นนักเรียนแบบไหน ตั้งใจ เข้าใจ และมองเห็นเรื่องราวในธรรมชาติได้มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการมองของเราเอง
ธรรมชาติสอนเราทั้งเรื่องชีววิทยา เรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ เรื่องการพึ่งพาอาศัย เรื่องของสังคม เรื่องการเปลี่ยนแปลง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่ล้วนเป็นสัจธรรม และทุกเรื่องที่เราเรียนจากธรรมชาติก็คือความเป็นชีวิตจริง ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติเราจะมองโลกมองสังคมเป็นอีกแบบหนึ่ง เราจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในธรรมชาติล้วนแต่มีเหตุ มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดผุดขึ้นมา เกิดขึ้นมา แบบโดดๆ หาความเป็นมาไม่ได้ ไม่มี
ธรรมชาติสัมพันธ์กับชีวิตเราทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติในอีกซีกโลกหนึ่งก็ตาม เมื่อเข้าใจธรรมชาติ เราก็เข้าใจความจริงของชีวิต ศาสตร์ทุกศาสตร์ที่เราเรียนรู้บนโลกนี้ก็เช่นกัน ต่างเชื่อมโยงถึงเสี้ยวส่วนของธรรมชาติทั้งสิ้น
นี่เป็นเรื่องที่ผมนำมาถ่ายทอด นำมาสื่อสารต่อไปยังเด็กๆ รุ่นใหม่ ผมไม่รู้หรอกว่าลึกๆ แล้วในความคิด ในมุมมองของผู้ปกครองที่ส่งลูกๆ มาเรียนกับผมคาดหวังอะไร แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่ง อย่างน้อยผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็คงมองเห็นว่า ‘เรื่องราวของธรรมชาติ’ ไม่ได้มีพิษภัยที่ต้องควรระมัดระวัง รู้ไว้ก็ไม่เสียหลาย อะไรทำนองนั้น
ข้อกังวลหลักของผู้ปกครองในยุคนี้ น่าจะเป็นความไม่คุ้นชินที่ต้องออกไปในพื้นที่ธรรมชาติ อาจเป็นเพราะผู้ปกครองผ่านวัยเด็กมาแบบไม่เคยย่างกรายออกนอกพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งก็ต้องนับถือน้ำใจอันหาญกล้าที่ตัดสินใจปล่อย ‘ไข่’ มาอยู่ในมือผม ที่ผมอาจจะทำให้บอบช้ำก็ได้
การเรียนเรื่องธรรมชาติมีความจำเป็นต้องออกไปในพื้นที่จริง ไปดู ไปเห็น ไปได้ยิน ไปดม ไปสัมผัส การเรียนผ่านการใช้โสตสัมผัสต่างๆ ของร่างกายเราเป็นการเรียนที่เห็นผลมากที่สุด ซึ่งเด็กๆ ควรจะได้รับการฝึกฝน โดยเฉพาะกับเด็กช่วงสี่ขวบขึ้นไปควรจะได้พัฒนาทักษะพวกนี้อย่างมาก ปัจจุบันเราส่งลูกไปโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล บางโรงเรียนเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะอันนี้ ได้แต่ตั้งหน้าตั้งตาฝึกการเขียน ฝึกการอ่าน เพียงอย่างเดียว
การฝึกทักษะเรื่องสัมผัสต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประสาทส่วนต่างๆ เหล่านี้ได้ทำงานบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการดมกลิ่น การฟัง การเห็น การสัมผัสร้อน อุ่น เย็น ของผิวหนังส่วนต่างๆ สามารถฝึกได้ที่บ้าน ไม่ต้องรอโรงเรียน
แต่ถ้าเราได้เข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติ เข้าไปในที่ที่เราไม่คุ้นเคย เราจะตื่นตัวกับการใช้ประสาทสัมผัสเหล่านี้โดยอัตโนมัติ เป็นการกระตุ้นทางอ้อม เมื่อเด็กๆ ได้ใช้บ่อยๆ ระบบการทำงานประสาทพวกนี้ก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เรื่องการทรงตัว ยืน เดิน วิ่ง ก็สำคัญ กล้ามเนื้อเท้า ข้อเท้า น่อง ต้นขา เอว ก็จะถูกกระตุ้นให้พัฒนาขึ้นเมื่อเด็กๆ ได้ไปเดินในสภาพพื้นที่ไม่เรียบ มีสูงต่ำ สภาพที่ไม่ปกติจากชีวิตประจำวัน จากเด็กที่เดินแล้วล้มบ่อย หรือวิ่งทีไรก็สะดุดเท้าตัวเองทุกที ก็จะค่อยๆ ดีขึ้น
ผมว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญของเด็กในช่วงปฐมวัยที่ควรถูกพัฒนาก่อนที่จะโตเกินไป
ถามว่า ไม่ไปในพื้นที่ธรรมชาติ เราฝึกเรื่องเหล่านี้ได้มั้ย? ฝึกได้ครับ แต่เรามักหลงลืมที่จะทำเท่านั้นเอง จนกว่าหมอจะแนะนำให้เราทำนั่นแหละจึงจะเริ่มต้น
ที่สำคัญเด็กบางครอบครัวอาจจะต้องอยู่ในภาวะ ‘ปลอดสายตา’ ของพ่อแม่บ้าง เปิดโอกาสให้ครูได้ใช้ขบวนการต่างๆ ฝึกทักษะให้กับเด็ก หรือพ่อแม่ต้องหักห้ามใจตัวเองไม่ให้กล่าว
“อย่านะลูก เดี๋ยว…”
อย่านะลูก เดี๋ยวล้ม…
อย่านะลูก เดี๋ยวโดนกัด…
อย่านะลูก เดี๋ยวเจ็บ…
อย่านะลูก เดี๋ยวไม่สบาย..
คำเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะหักห้ามใจไม่ให้พูดสำหรับพ่อแม่บางคน
การเรียนเรื่องธรรมชาติและการออกไปสัมผัสกับธรรมชาติโดยตรง เป็นการทำงานไปพร้อมๆ ทั้งทางร่างกายและทางสมอง การเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ละคนมีความชอบแตกต่างกัน (ที่อาจจะมาจากยีน มาจากพัฒนาการของร่างกาย มาจากระดับอายุ และปัจจัยอื่นๆ) เมื่อมาเรียนเรื่องธรรมชาติด้วยวิธีการเรียนการสอนผ่านการเล่น การสัมผัสจริง เปิดโอกาสให้เด็กๆ ใช้ศักยภาพของตนเองในทางที่ถนัดมากขึ้น เช่น บางคนชอบดู ชอบสัมผัส ชอบทดสอบ บางคนชอบบันทึกโดยการเขียน ลากเส้น วาดภาพ บางคนบันทึกโดยการจำ ซึ่งถ้าเปิดโอกาสให้ทำตามที่ถนัด เด็กก็สามารถเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่แพ้กัน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้สอนก็มีส่วนสำคัญในการขบวนการเรียนการสอน ถ้ายังใช้รูปแบบเดิมๆ ที่เป็นรูปแบบเดียวกันกับห้องเรียนตามปกติ ขบวนการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติก็อาจจะไม่ได้ให้ผลดีต่อศักยภาพของเด็กตามที่ควรจะเป็น ผู้สอนก็ควรมีความยืดหยุ่นไปตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน ซึ่งอันนี้จะเป็นเรื่องยากของครูที่สอนอยู่ในชั้นเรียนแบบปกติทั่วไป
และไม่ว่าเด็กจะมีศักยภาพแบบไหน ในพื้นที่ธรรมชาติก็เป็นสนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่ของการผจญภัย เป็นโลกมหัศจรรย์ที่น่าเล่นสนุกสำหรับเด็กเกือบจะร้อยทั้งร้อยอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะพาเด็กๆ เรียนรู้เรื่องอะไร เมื่อเด็กเบื่อจากเรื่องหนึ่ง เด็กก็สามารถเปลี่ยนไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ไม่ยาก และการเรียนรู้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ระหว่างการเล่นสนุกของเด็กๆ นั่นเอง
ผมจึงคิดว่า ธรรมชาติ คือ ครู ที่สุดยอดของพวกเด็กๆ ทุกคน