- ไม่เพียงสภาวะปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันกระทุ้งให้เราต้องทบทวนการตระเตรียมเยาวชนให้เติบโตอย่างมีสำนึกต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ก็กำลังหันไปสู่นวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อโลก
- นับแต่ปี 2012 จำนวน Nature Preschool ก็พุ่งทะยานขึ้นกว่า 66 เปอร์เซ็นต์ ทุกปี ตัวเลขล่าสุดในปี 2018 มีโรงเรียนเตรียมพัฒนาการและอนุบาลแนวนี้มากกว่า 250 แห่งแล้ว
- ‘โรคขาดธรรมชาติ’ (nature deficit disorder) คือ เด็กที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไม่มีกิจกรรมนอกบ้านหรือห้องเรียนให้ได้สัมผัสจับต้องกับธรรชาติอย่าง ต้นไม้ ดินหญ้า ลำธารหรือสวนสาธารณะใดๆ เลย มักใช้เวลาอยู่แต่กับการเล่นมือถือ เกม คอมพิวเตอร์ หรือเรียนพิเศษจนหมดวัน เด็กเหล่านี้จะกลายเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับตนเอง ไม่คิดสร้างสรรค์ สมาธิสั้น มีปัญหาในการจัดการอารมณ์และพฤติกรรมบางอย่าง เป็นโรคอ้วน ที่สำคัญคือบกพร่องเรื่องความเห็นอกเห็นใจและความละเอียดอ่อน
รายงานความเสี่ยงโลกปี 2019 (Global Risks Perception Survey 2019 14th Edition, World Economic Forum) โดย World Economic Forum สำรวจความเห็นจากคนในแวดวงธุรกิจ นักวิชาการ นักกำหนดนโยบาย องค์กรไม่แสวงหากำไร สถาบันระดับนานาชาติ และหน่วยงานอื่นๆ จัดอันดับประเด็นหรือสภาวะการณ์เลวร้ายที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยให้เลือกและให้คะแนนประเด็นที่พวกเขาเห็นว่า ‘มีแนวโน้มจะเกิด’ และถ้าเกิดแล้วจะ ‘มีผลกระทบมากที่สุด’
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากหลากอาชีพทั่วโลก และแม้ไม่ได้ทำงานในสายงานด้านสิ่งแวดล้อมต่างชี้ว่า ปัญหาด้านแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ แม้แต่คนในแวดวงธุรกิจ ก็ยกให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นแท่นเป็นประเด็นความเสี่ยง เพราะท้ายที่สุดแล้วความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างผันผวนรุนแรง ย่อมส่งผลต่อภาคธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้
ประเด็นที่มีแนวโน้มจะเกิด (likelihood)
- อันดับ 1 – ความผันผวนรุนแรงของสภาพอากาศ (extreme weather events)
- อันดับ 2 – ความล้มเหลวในการบรรเทาปัญหาและการปรับตัวกับสภาพอากาศ (failure of climate-change mitigation and adaptation)
- อันดับ 3 – ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (natural disasters)
- อันดับ 4 – จารกรรมและการปลอมแปลงข้อมูล (data fraud of theft)
- อันดับ 5 – โจรกรรมไซเบอร์ (cyber-attacks)
ประเด็นที่หากเกิดแล้วจะส่งผลกระทบมากที่สุด (impact)
- อันดับ 1 – อาวุธทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction)
- อันดับ 2 – ความล้มเหลวในการบรรเทาปัญหาและการปรับตัวกับสภาพอากาศ (failure of climate-change mitigation and adaptation)
- อันดับ 3 – ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (natural disasters)
- อันดับ 4 – วิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำ (water crises)
- อันดับ 5 – ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (biodiversity loss and ecosystem collapse)
นี่คือช่วงเวลาที่เราต้องกระตือรือร้นที่จะพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้กลับมาสู่มนุษยชาติ ควบคู่ไปกับการลงมือปลูกฝังลูกหลานให้มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นกับความจำเป็นในการปฏิรูปวิถีชีวิตของมนุษย์ให้อ่อนโยนกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด นอกเหนือจากความรู้ทั่วไปด้านวิชาการหรือทักษะความสามารถต่างๆ ในโรงเรียน สิ่งที่การศึกษาต้องสนใจและติดตั้งให้เด็กในเจเนอเรชั่นนี้อย่างเร่งด่วนคือ จิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และมันสมองที่จะเป็นกำลังไปสู่ทางสร้างสรรค์เพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากรบนโลกไปพร้อมๆ กับเยียวยาปัญหาที่มีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น
“We have to wake up to the fierce urgency of the now”
“เราต้องเปิดหูเปิดตาต่อปัญหาอันเร่งด่วนรุนแรงเดี๋ยวนี้”
คือความเห็นโดย จิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก จาก 15 quotes on climate change by world leaders (WEFORUM.ORG)
ว่าด้วยจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม
ใน Skilled by Nature: Why we need to nurture ecological intelligence for 21st Century Learning โดย พอล แชพแมน (Paul Chapman) ผู้อำนวยการก่อตั้ง Inverness Associates องค์กรที่ปรึกษาด้านการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อมในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และครูผู้เชี่ยวชาญการออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างเสริมทักษะความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ย้ำความสำคัญที่ว่า…
โรงเรียนต้องสอนความฉลาดด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ (Ecological Intelligence) แก่เด็กๆ ในห้วงวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมนี้ นี่จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Literacy) ให้เกิดขึ้นตามมาได้
ก่อนจะเข้าเรื่องว่าโรงเรียนจะสอนความฉลาดด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติที่แชพแมนพูดถึงได้อย่างไร ขอท้าวความกลับไปถึงทฤษฎีพหุปัญญา หรือ Theory of Multiple Intelligences ของนักจิตวิทยาชื่อดังแห่งฮาร์วาร์ด โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1983 กันก่อน
ทฤษฎีนี้เรียกทักษะความสามารถแต่ละด้านว่า ‘ความฉลาด’ โดยที่เด็กแต่ละคนนั้นมีความฉลาดได้หลายด้านในระดับสูงต่ำแตกต่างกันไป สถาบันการศึกษาต่างๆ ยึดทฤษฎีนี้เป็นแนวทางพัฒนาทักษะนักเรียนกันอย่างกว้างขวาง โดยแบ่งความฉลาดออกเป็น 8 ด้านคือ
- ด้านภาษา (verbal-linguistic intelligence)
- ด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ (mathematical-quantitative intelligence)
- ด้านมิติสัมพันธ์ (visual-spatial intelligence)
- ด้านดนตรี (musical intelligence)
- ด้านมนุษยสัมพันธ์ (interpersonal intelligence)
- ความเข้าใจตนเอง (intrapersonal intelligence)
- ด้านร่างกาย (bodily-kinesthetic)
- ด้านธรรมชาติ (naturalist intelligence)
ในขณะนั้น การ์ดเนอร์นิยามความฉลาดด้านธรรมชาติว่า การมีความรอบรู้ด้านพืชพรรณหรือสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตต่างๆ และถิ่นที่พบ รวมถึงสามารถในการดำรงชีวิตแบบวิถีธรรมชาติได้เป็นอย่างดี แต่จะเห็นได้ว่านิยามความฉลาดด้านธรรมชาติของการ์ดเนอร์ไม่ได้กล่าวถึงความสามารถด้านอนุรักษ์หรือจิตสำนึก
ต่อมาปี 2009 แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักจิตวิทยาผู้ให้กำเนิดคำว่า emotional intelligence (ความฉลาดทางอารมณ์) ได้หยิบยก naturalist intelligence จากทฤษฎีของการ์ดเนอร์ มาเกลาใหม่ต่อยอดให้ชัดเจนร่วมสมัยกว่าเดิมอีกครั้ง โดยเรียกเป็น ecological intelligence (ความฉลาดด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ) ดังที่แชพแมนกล่าวไว้ หมายความว่า การมีความรู้ความสามารถในอันจะปฏิบัติตนหรือกระทำสิ่งใดอันเป็นการลดผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ต่อระบบนิเวศเพื่อบรรเทาปัญหาและรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน
การศึกษาบนทางคู่ขนานกับเทรนด์โลกสีเขียว
ในปัจจุบัน อเมริกาพยายามนำกระบวนการสร้างจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการเรียนการสอนเป็นเรื่องเป็นราวแล้วถึง 30 รัฐ และที่กำลังออกแบบปรับปรุงหลักสูตรอยู่อีก 18 รัฐ อีกทั้งหน่วยงานสิ่งแวดล้อมจากหลายภาคส่วนเช่น The Green Schools National Network หรือ The U.S. Green Building Council ต่างจับมือกับสถาบันการศึกษาทั้งรัฐและเอกชนออกแบบและผลักดันหลักสูตรความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและขั้นตอนรักษ์โลกอย่างยั่งยืนให้ออกมาเป็นรูปธรรมกันอย่างเต็มที่
นับเป็นการแผ้วถางความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคลให้มีความทักษะความรู้ไปรองรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่จะเปลี่ยนไปใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดมากขึ้น คาดว่าภายในปี 2030 ภาคอุตสาหกรรมทั้งหลายจะกลายเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวที่ล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพึ่งพานวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งแน่นอนว่าบุคลากรที่มีทักษะด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติหรือผ่านการอบรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจะกลายเป็นที่ต้องการด้วยเช่นกัน
เรื่องนี้ยืนยันโดย ไอรินา จอร์จีวา โบโควา (Irina Georgieva Bokova) สุภาพสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์และการศึกษาแห่งองค์กรสหประชาชาติปี 2009 ซึ่งเผยว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังเติบโตเป็นอย่างมาก ในบังคลาเทศอุตสาหกรรมสีเขียวว่าจ้างบุคลากรที่มีความรู้ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติจำนวน 3.5 ล้านคน บราซิล 1.4 ล้านคน และเยอรมัน 2 ล้านคน แนวโน้มความต้องการกำลังคนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี
เฉพาะแค่ปี 2020 นี้ โลกอาจขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้ถึง 40 ล้านคน หมายความว่าในอนาคตอันใกล้ คนที่ขาดทักษะความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมก็มีสิทธิตกงานในสภาวะการเติบโตของอุตสาหกรรมสีเขียวด้วยเช่นกัน
สรุปคือ ไม่เพียงเพราะสภาวะปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันกำลังกระทุ้งให้เราต้องทบทวนการตระเตรียมประชากรเยาวชนให้เติบโตอย่างมีสามัญสำนึกต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สภาพเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ก็กำลังหันไปสู่นวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อโลก
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ดังนั้น โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกระดับต้องตื่นตัวในการติดตั้งองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้นักเรียนมีศักยภาพไปเยียวยาแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่อาจรุนแรงมากขึ้นในอนาคต
ปลูกฝังหัวใจสีเขียวให้เด็กๆ
ทีนี้กลับมาที่คุณครู ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาทักษะที่ว่าให้กับนักเรียนได้?
แชพแมนยืนยันว่า การสร้างความฉลาดด้านธรรมชาติหรือ Ecological Intelligence นั้น นอกจากเด็กๆ ต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองโดยตรง โรงเรียนต้องจัดการการเรียนรู้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้านให้เขาทั้งในห้องเรียน การทดลองและพาออกไปเรียนรู้สัมผัสของจริงข้างนอกด้วย การจะปลูกฝังหัวใจสีเขียวให้กับเด็กๆ นั้น ประเด็นหลักที่โรงเรียนต้องสอนคือ
1. ระบบนิเวศและวัฏจักรการพึ่งพากันตามธรรมชาติเป็นอย่างไร เด็กๆ ต้องเข้าใจว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการพึ่งพาธรรมชาติในโลกนี้เช่นกัน การกระทำใดๆ ในชีวิตประจำวันเช่น การใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน การอุปโภคบริโภคน้ำหรือไฟฟ้า ส่งผลต่อระบบนิเวศเป็นห่วงโซ่
2. นักเรียนต้องมองเห็นและเข้าใจสภาวะสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นปัญหาได้ พวกเขาต้องได้รับโอกาสให้ใคร่ครวญ ตั้งคำถาม หรือสมมุติฐานเกี่ยวกับสภาวะรอบตัว ขวนขวายหาข้อมูลเพื่อหาคำตอบโดยการคิดอย่างเป็นระบบ
3. การมีใจอนุรักษ์ สำนึกรักในท้องถิ่น ประเทศชาติ รวมไปถึงโลกใบนี้ ตระหนักว่าการใช้ทุกๆ ทรัพยากรหรือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับระบบนิเวศใดๆ ต้องผ่านความคิดพิจารณาและกระบวนการตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนเสียก่อน
4. ความรับผิดชอบของตนเองและหน้าที่พลเมือง เลือกหนทางดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและฟื้นคืนธรรมชาติให้กลับมาแข็งแรงโดยดูจากความเป็นจริง สอนให้พวกเขาคิดอย่างมีวิจารณญาณ และใส่ใจขนบประเพณีชุมชนที่อาจส่งผลถึงธรรมชาติ เช่น ประเพณีลอยกระทงที่ส่งผลโดยตรงต่อแม่น้ำลำคลอง พวกเขาสามารถสืบสานประเพณีนี้โดยไม่รบกวนแหล่งน้ำให้เน่าเสียได้อย่างไร สามารถปรับเปลี่ยนธรรมเนียมการเผากระดาษเงินกระดาษทองหรือกงเต็กเพื่ออุทิศบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับเพื่อลดการสร้างมลพิษได้มากน้อยอย่างไร
อย่างไรก็ตาม จำนวนโรงเรียนที่ชูการพัฒนาจิตสำนึกสิ่งแวดล้อมเพิ่งจะเพิ่มจำนวนขึ้นในระยะหลังมานี้ ผลสำรวจจาก Inverness Associates ปี 2012 ชี้ว่าโรงเรียนเอกชนในอเมริกาจากจำนวนทั้งสิ้นเกือบ 2,000 แห่งมีไม่ถึง 200 แห่งที่บรรจุเป้าหมายพัฒนาความฉลาดด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลงไปในหลักสูตร และแม้ฝ่ายบริหารการศึกษาโรงเรียนเหล่านั้นจะตระหนักดีว่านักเรียนจำเป็นต้องมีกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนโดยตรงบ้าง แต่กลับไม่สามารถเพิ่มเนื้อหาและเวลามาโฟกัสเรื่องนี้ได้มากเท่าไร
ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ จึงเกิดโรงเรียนเตรียมพัฒนาเด็กที่เรียกว่า Nature Preschool ขึ้นในอเมริกามากมาย โรงเรียนประเภทนี้เน้นให้เด็กเรียนรู้นอกห้องเรียนถึง 3 ใน 4 ส่วนของการเรียนการสอน เช่น การออกไปเรียนรู้ในทุ่งนาของชุมชน หรือสวนพฤกษชาติ นับตั้งแต่ปี 2012 จำนวน Nature Preschool ก็พุ่งทะยานขึ้นกว่า 66 เปอร์เซ็นต์ทุกปี โดยตัวเลขล่าสุดในปี 2018 มีโรงเรียนเตรียมพัฒนาการและอนุบาลแนวนี้มากกว่า 250 แห่งแล้ว
สาเหตุใหญ่อีกประการที่ทำให้โรงเรียนแนวนี้ป็อปปูลาร์ขึ้นแบบพลุแตก ก็เพราะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาพูดถึงภาวะ ‘โรคขาดธรรมชาติ’ (nature deficit disorder) ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือ ‘Last Child in the Woods’ ของ ริชาร์ด โลฟ (Richard Louv) ว่า
เด็กที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไม่มีกิจกรรมนอกบ้านหรือห้องเรียนให้ได้สัมผัสจับต้องกับธรรมชาติอย่าง ต้นไม้ ดินหญ้า ลำธารหรือสวนสาธารณะใดๆ เลย โดยใช้เวลาอยู่แต่กับการเล่นมือถือ เกม คอมพิวเตอร์ หรือเรียนพิเศษจนหมดวัน จะกลายเป็นคนที่หมกมุ่นอยู่กับตนเอง คิดสร้างสรรค์ไม่เป็น สมาธิสั้น มีปัญหาในการจัดการอารมณ์และพฤติกรรมบางอย่าง เป็นโรคอ้วน ที่สำคัญคือบกพร่องเรื่องความเห็นอกเห็นใจและความละเอียดอ่อน
แม้จุดประสงค์หลักของโรงเรียนที่ชูการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นไปในทางส่งเสริมพัฒนาการสมอง การเข้าสังคม อารมณ์และจิตใจของเด็กนักเรียนเป็นหลัก เป็นระบบซึ่งออกแบบมาเพื่อชดเชยให้ผู้ปกครองที่เบื่อหน่ายกับระบบการศึกษาแบบบังคับลูกหลานให้เรียนหนักมากกว่าจะเน้นประเด็นความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อม แต่ในแง่หนึ่ง การเรียนรู้แบบใกล้ชิดธรรมชาตินี้ก็เป็นแนวทางน่าสนใจแนวทางหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้พวกเขามองเห็นภาพรวมของความเกี่ยวพันซึ่งกันและกันในระบบนิเวศและตั้งคำถามถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้อย่างแน่นอน
เปลี่ยนวิธีที่เรามอง ‘สิ่งแวดล้อม’
เฟิร์น วิคสัน (Fern Wickson) หัวหน้านักวิจัยระดับอาวุโสแห่ง Responsible and Sustainable Biotechnoscience ในนอร์เวย์ ซึ่งดูแลธรรมาภิบาลการใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพและนาโนกับสิ่งแวดล้อมและศึกษาวิจัยประเด็นทั้งทางนิเวศวิทยาและจริยธรรม แสดงมุมมองเรื่องการสร้างจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจว่า ส่วนมากเรามักกล่าวถึง มนุษย์และสิ่งแวดล้อมในทำนองปัจเจก กล่าวคือ สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่แยกขาดจากตัวเรา แม้เราจะอาศัยอยู่ในนั้น แต่วิธีที่เราคิดและดำรงชีวิตเราเหมือนเราแยกขาดเป็นเอกเทศจากธรรมชาติ จะยุ่งเกี่ยวหรือไม่ยุ่งเกี่ยวกับมันก็ได้
ให้ลองจินตนาการว่า มนุษย์ต้องหายใจเพื่อนำออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย เราขาดออกซิเจนไม่ได้ ต้นไม้พืชพรรณทั้งหลายเป็นผู้ผลิตออกซิเจนเหล่านั้น นี่เท่ากับว่าทุกลมหายใจของเราขึ้นอยู่กับต้นไม้ทั้งหลายบนโลกนี้ ในขณะเดียวกันต้นไม้ก็ต้องอาศัยแสงแดด น้ำ แร่ธาตุในดิน นกและแมลงในการดำรงชีวิตอยู่เช่นกัน ลองนึกแตกยอดไปอีกที่น้ำ ดิน นก แมลง และสรรพสิ่ง ทุกอย่างล้วนพึ่งพาอาศัยโยงใยเป็นทอดๆ ต่อไปอีกไม่มีที่สิ้นสุด
หากเราตั้งใจจะสร้างจิตสำนึกทางจริยธรรมแบบอัตโนมัติให้เด็กๆ รักและปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมอย่างทะนุถนอม โดยไม่ใช่เพราะรู้สึกเป็นหน้าที่ รู้สึกผิดชอบชั่วดี หรือถูกบังคับ จุดที่ครูควรทบทวนมี 2 ประเด็นคือ ทัศนคติที่พวกเขามองว่ามนุษย์กับสิ่งแวดล้อมเป็นปัจเจก กับ การที่พวกเขาคิดว่าสิ่งแวดล้อมคือภาระหน้าที่ที่ต้องปกป้อง
จุดเปลี่ยนสำคัญคือครูต้องให้ลูกศิษย์เรียนรู้ที่จะสร้างตัวตนแห่งธรรมชาติ (ecological self) ควบคู่ไปกับการสร้างตัวตน (self) ของพวกเขา ผ่านกระบวนการเรียนรู้ ค้นหาตัวตน การเข้าสังคม และอภิปรัชญาทั้งหลายทั้งปวงในโรงเรียน ตัวตนแห่งธรรมชาติที่ว่า คือความตระหนักรู้ภายในว่าธรรมชาติและตัวเราผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีพรมแดนกั้นความเป็นมนุษย์กับธรรมชาติจากกันได้ การอนุรักษ์ไม่ใช่หน้าที่หรือเป็นแค่เทรนด์ฮิตของโลก แต่เรากำลังรักและปกป้องธรรมชาติเหมือนอย่างที่เรารักและกระทำเช่นเดียวกันเพื่อตัวเอง
สู่โรงเรียนสีเขียว
การที่ครูตั้งเป้าหมายหลักสูตรการสอนในประเด็นสิ่งแวดล้อม 4 ข้อดังที่แชพแมนกล่าวไว้ข้างต้นเป็นเข็มทิศที่จะนำพาการเรียนการสอนให้อยู่บนบรรยากาศแห่งการกระตุ้นส่งเสริมจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนได้ ในขณะเดียวกัน ครูแต่ละฝ่ายควรร่วมกันวางแผนสอดแทรกคอนเซ็ปต์การรักษาสิ่งแวดล้อมลงไปในรายวิชาที่สอนด้วยเช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ภาษา หรือศิลปะ
ที่โรงเรียน Head-Royce แคลิฟอร์เนีย อเมริกาซึ่งเป็นต้นแบบโรงเรียนสีเขียวแห่งแรกๆ ที่ริเริ่มการปรับปรุงหลักสูตรการสอนโดยยึดหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาจิตสำนึกในเรื่องนี้ให้กับนักเรียนเป็นหัวใจสำคัญ ชั้นเรียนจริยธรรมของครูคาเรน แบรดลีย์ (Karen Bradley) พานักเรียนไปชมโรงจัดการขยะขนาดใหญ่ในพื้นที่เพื่อให้นักเรียนได้เห็นภูเขากองขยะมหึมาจากการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนของพวกเขาด้วยตาตนเอง มีการแชร์ไอเดียกันว่า นักเรียนจะงด ละ/เลิกพฤติกรรมใดได้บ้างเพื่อลดปริมาณขยะในชีวิตประจำวันลง ครูคาเรนเล่าวิธีของเธอให้เด็กๆ ฟังเป็นตัวอย่างว่า เธอชาเลนจ์กับตัวเองไว้ว่าจะไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่เลยเป็นเวลาหนึ่งปี
สำหรับครูเดบรา ฮาร์เปอร์ (Debra Harper) ในชั่วโมงวิทยาศาตร์ที่เธอกำลังสอนภูมิประเทศของชายหาดเป็นทรายและหิน เธอให้นักเรียนสำรวจโมเดลชายหาดทั้งสองก่อนจะราดน้ำมันลงไปเพื่อจำลองสถานการณ์คราบน้ำมันที่ไหลปนเปื้อนสู่ทะเลจากการขุดเจาะหรือลำเลียงน้ำมัน นอกจากพวกเขาจะได้เรียนรู้ปฏิกิริยาของน้ำมันกับน้ำทะเลแล้วยังเห็นด้วยว่าการทำความสะอาดคราบน้ำมันนั้นเป็นไปได้ยากแค่ไหน มีวิธีทางวิทยาศาสตร์ใดที่จะช่วยขจัดหรือบรรเทาคราบน้ำมันเหล่านั้น จากนั้นเธอให้นักเรียนระดมสมองช่วยกันคิดวิธีการลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในชีวิตประจำวันที่พวกเขาสามารถทำได้
ส่วนชั่วโมงศิลปะของครูนีนา นาธาน (Nina Nathan) เด็กในชั้นได้รับมอบหมายให้ทำประติมากรรมจากวัสดุเหลือทิ้งจากงานก่อสร้าง และมีการร่วมมือกันนอกชั้นเรียนสร้างงานจิตรกรรมฝาผนังเพื่อสร้างรายได้เข้าช่วยเหลือพื้นที่ด้านตะวันออกของโอ๊คแลนด์ที่ประชากรในชุมชนรายได้ต่ำ โดยการนำขยะจากถังในบริเวณโรงเรียนมาแปรรูปเป็นไม้ นอกจากนั้นยังมีงานฝีมือที่ทำจากกระดาษรีไซเคิลต่างๆ อีกด้วย
สรุปแล้ว การให้นักเรียนได้สัมผัสธรรมชาติจริงๆ นอกห้องเรียนและเห็นสภาพปัญหาในชุมชน รวมทั้งได้แชร์ผลกระทบที่ได้รับจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและแนวทางการแก้ปัญหาระหว่างกันน่าจะเป็นการกระตุ้นความฉลาดด้านอนุรักษ์ธรรมชาติแบบเร่งรัดได้ อย่างน้อยให้พวกเขามองเห็นว่าตนเองก็เป็น ‘ส่วนประกอบหนึ่ง’ ในระบบนิเวศอันใหญ่โตและป่วยไข้นี้เช่นเดียวกับนกบนท้องฟ้าที่เคลือบเขม่า ปลาในท้องทะเลที่ปนเปื้อนขยะพิษ หรือช้างในป่าใหญ่ที่แห้งแล้ง
แท้จริงแล้ว การปลูกฝังจิตสำนึกต่อธรรมชาติอาจไม่ได้อยู่ที่คำถามว่าพวกเขาจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อธรรมชาติหรือจะแก้ปัญหาอย่างไรต่อไปดี แต่เป็นเราจะสนับสนุนให้พวกเขาค้นเจอรากเหง้าของมนุษย์ซึ่งก็คือตัวตนด้านธรรมชาติที่ไม่แบ่งแยกตัวเองออกจากทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ได้อย่างไรต่างหาก
ที่มา:
The Global Risks Report 2019 14th Edition by World Economic Forum
WEFORUM.ORG
15 quotes on climate change by world leaders