- พ่อแม่อย่ามัวเสียเวลาไปจมอยู่กับข้อผิดพลาดของลูก จงมองหาจุดแข็งของเขาแล้วพัฒนาต่อ
- จุดแข็งของเด็กมี 2 ประเภทคือ ด้านพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ (talents) และ คุณลักษณะ (character) ซึ่งพ่อแม่ควรจะให้ความสำคัญทั้งสองสิ่งควบคู่กันไป
- ชื่นชม–จดบันทึก–จัดแผนผัง–ถามตรงๆ ด้วย 4 วิธี พ่อแม่ช่วยพัฒนาจุดแข็งของลูกได้
เลิกจู้จี้ขี้บ่น พ่อแม่สายสตรองยุคใหม่ต้องช่วยลูกสร้างและพัฒนาจุดแข็ง
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมพ่อแม่จึงมักมองเห็นพฤติกรรมที่น่าเป็นกังวลในตัวลูก มากกว่าพฤติกรรมที่ดีของลูก? ทำไมมันถึงยากนักที่จะเลิกวิจารณ์ จู้จี้ ขี้บ่น และเป็นกังวล?
ตอบได้ไม่ยาก เพราะสมองของเราถูกออกแบบมาให้ทำงานอย่างนั้น
สมองมนุษย์มักชี้ชวนให้มองเห็นข้อผิดพลาดมากกว่าข้อดี มองสิ่งที่ทำให้รู้สึกหัวเสียได้ไวกว่าสิ่งที่ทำให้จิตใจเบิกบาน ไม่ต่างจากเวลามองกระจก เรามักมองไปเจอคราบฝุ่นหรือสิ่งสกปรกเล็กๆ ที่เกาะติดอยู่ หากโฟกัสมองมันอย่างนั้นจะรู้สึกหงุดหงิดใจ ทั้งที่กระจกส่วนที่เหลือยังคงเปิดเผยให้เห็นวิวอีกด้านหนึ่งได้อย่างชัดเจน
พฤติกรรมตามธรรมชาตินี้ ส่งผลไปถึงการเลี้ยงลูก เป็นเรื่องไม่ง่ายที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะมองข้ามหรือหยุดตำหนิพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ถูกตาต้องใจของลูกบทสรุปจึงมักจบลงด้วยความโมโหแล้วมีปากเสียงกันในที่สุด
“ลูกโกรธ พ่อแม่อึดอัดใจ ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่า…ทำไมไม่มีใครเข้าใจฉันเลย”
ลีอา วอเตอร์ส (Lea Waters) นักจิตวิทยา ประธานสมาคมจิตวิทยาเชิงบวกนานาชาติ (International Positive Psychology Association) ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษา การอบรมเลี้ยงดูลูก และการจัดการองค์กรเชิงบวก
นอกจากนี้เธอยังเป็นนักพูด นักวิจัย และนักเขียน ผู้เขียนหนังสือ ‘The Strength Switch: How the New Science of Strength-Based Parenting Can Help Your Child and Your Teen to Flourish’ หนังสือที่พูดถึงวิทยาการการเลี้ยงดูลูกให้เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ด้วยการพัฒนาจุดแข็ง เรียกพฤติกรรมนี้ว่า ‘Dirty Window Syndrom’ หรือ ‘โรคหน้าต่างสกปรก’ กลไกการเอาตัวรอดของมนุษย์ที่มีติดตัวมาโดยธรรมชาติ สัญชาตญาณที่ทำให้เราเลือกมองปัญหาหรือภัยร้ายในสภาพแวดล้อมรอบตัว มากกว่าสถานการณ์ที่ดีหรือปกติ
เมื่อเป็นเรื่องธรรมชาติที่อาจสร้างปัญหา แล้วผู้ปกครองควรทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองกลายเป็นคนวิตกจริตและจู้จี้กับลูกจนเกินเหตุ?
ข่าวดีคือวิทยาการการเรียนรู้ได้ศึกษาพบว่า หากพ่อแม่ยกความสนใจไปให้ความสำคัญกับจุดแข็งของลูกแทนการโฟกัสไปที่พฤติกรรมบางอย่างที่ไม่ได้อย่างใจ (มองส่วนที่สะอาดของกระจกแทนการมองคราบหรือร่องรอยเปรอะเปื้อน) การเปลี่ยนมุมมองนี้จะช่วยลดความวิตกกังวลของพ่อแม่ แถมยังช่วยสร้างคุณลักษณะให้ลูกมีความยืดหยุ่นและเป็นคนมองโลกในแง่ดีได้ เพราะไม่ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากความขัดแย้งกับพ่อแม่
วอเตอร์ส ยกตัวอย่าง ความหงุดหงิดใจของพ่อแม่เมื่อเห็นลูกเล่นเกม โดยไม่จัดสรรเวลาไปทำอย่างอื่นไว้ในงานเขียนของเธอ แต่วิธีคิดด้วยการเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่สายสตรองช่วยแก้ปัญหานี้ได้
พลังจากการส่งเสริมจุดแข็ง
นักจิตวิทยา แบ่งจุดแข็งออกเป็น 2 ประเภท อย่างแรก คือ พรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ (talents) และ คุณลักษณะ (character)
พรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ (talents) เป็นเรื่องของการแสดงออกและความสามารถที่โดดเด่นในตัวบุคคล เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ คอมพิวเตอร์และความสามารถในการแก้ปัญหา ส่วนคุณลักษณะที่เป็นจุดแข็ง เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมมากกว่า แต่ก็เป็นส่วนประกอบจากภายในที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพและพฤติกรรมที่สื่อสารออกมา เช่น ความเพียร (grit) ความอยากรู้อยากเห็น (curiosity) ความกล้าหาญ (courage) อารมณ์ขัน (humor) ความเมตตา (kindness) และ ความคิดสร้างสรรค์ (creativity)
เท่าที่เห็นผู้ปกครองส่วนใหญ่มักโฟกัสไปที่การพัฒนาพรสวรรค์ด้านต่างๆ ให้ลูก เช่น การร้องเพลง การเต้น ศิลปะหรือกีฬา แต่นักจิตวิทยา บอกว่า ทางที่ดีที่สุดผู้ปกครองต้องช่วยลูกๆ สร้างจุดแข็งทั้งสองประเภทควบคู่กันไป
ความสามารถด้านดนตรีของวงเดอะบีเทิลส์ (The Beatles) คงไปไม่ถึงไหนหากขาดความคิดสร้างสรรค์ และ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) คงไปไม่ถึงดวงจันทร์ถ้าขาดความกล้า เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน
ผลการวิจัยของวอเตอร์สเอง ระบุว่า เด็กและเยาวชนในช่วงวัยรุ่นที่มีพ่อแม่คอยชี้แนะและสนับสนุนให้มองเห็นจุดแข็งของตัวเอง พวกเขาจะเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข มีภาวะทางอารมณ์เชิงบวก และควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี บุคลิกที่เห็นได้อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น เป็นคนมีความมุ่งมั่น มั่นใจในตัวเองและพอใจกับชีวิต นอกจากนี้ ยังทำให้พวกเขาเครียดน้อยลง สามารถจัดการกับปัญหาของตัวเองได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพื่อนหรือแม้กระทั่งการรับผิดชอบงานที่โรงเรียน ตลอดไปจนถึงการรักษาผลการเรียนที่อยู่ในระดับดี
เมื่อเด็กและเยาวชนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ปราศจากความกดดันดังที่กล่าวไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ตามมา และเห็นได้ชัด คือ การมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นกว่าเดิม (better behavior)
จากการศึกษาในปี 2010 ร่วมกับผู้ปกครอง หลังจากพ่อแม่ของเด็กก่อนวัยเรียนได้เรียนรู้เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วย การหาจุดเด่นหรือจุดแข็ง (strenght-based techniques) 1 โปรแกรม (10 เซสชั่น) พบว่า เด็กมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาลดลง
ไม่ใช่แค่เด็กและเยาวชนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่พ่อแม่สายสตรองก็ยังได้ประโยชน์ด้วย การศึกษาอีกครั้งหนึ่งแบ่งผู้ปกครองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้ผู้ปกครองเข้าเรียนรู้ในโปรแกรม เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถระบุและปลูกฝังความสามารถที่เป็นจุดแข็งและลักษณะเด่นของลูกได้ ส่วนกลุ่มที่สองไม่ผ่านการเรียนรู้ใดๆ ปล่อยให้เลี้ยงลูกได้ตามปกติ
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ปกครองกลุ่มแรกมีความสุขและมีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกมากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนได้รับการอบรม ส่วนกลุ่มที่สองไม่สามารถวัดผลความเปลี่ยนแปลงเรื่องความสุขหรือความมั่นใจได้เลย
แน่นอนว่าวิธีการเลี้ยงลูกด้วยการมองหาคุณสมบัติที่เป็นจุดแข็ง ไม่ใช่วิธีเดียวและไม่ใช่วิธีสุดท้ายในการเลี้ยงดูลูก แต่ก็เป็นวิธีการที่ช่วยได้เยอะ โดยเฉพาะช่วยให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดีและมองโลกในแง่บวก ลดความเครียดและภาวะซึมเศร้า แต่การศึกษาบอกว่าวิธีการนี้อาจไม่สามารถลดความกังวลลงได้ (anxiety)
พูดง่ายๆ คือ การเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่สายสตรองทำให้เด็กรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกแย่น้อยลง เพราะวิธีการเพิ่มความสุขกับวิธีการเยียวยาและบรรเทาความทุกข์ หรือการขจัดความรู้สึกไม่ดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งหรือความรู้สึกไม่ดีระหว่างผู้ปกครองกับเด็กเกิดขึ้น จนกลายเป็นความทุกข์ แล้วสะสมถึงขั้นมองหน้ากันไม่ติด สิ่งที่ผู้ปกครองควรโฟกัสตั้งแต่ต้น เพื่อแก้ปัญหานี้ คือ การให้ความสำคัญกับการสร้างความสุขและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกหลาน
แล้วพ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่า…อะไรเป็นจุดแข็งของลูก?
“โฟกัสไปที่สิ่งที่ลูกทำได้ดีแล้ว อย่ามัวเสียเวลาไปจมอยู่กับข้อผิดพลาดของลูก”
ผู้ปกครองต้องช่วยสนับสนุน ให้โอกาสโดยไม่ปิดกั้นและไม่ขัดขวาง กล่าวชื่นชม แสดงความคิดเห็น หรือให้ความสนใจกับสิ่งที่ลูกทำได้ดีแล้ว จุดนี้เองที่พ่อแม่ยื่นมือเข้ามาช่วยได้ ทำอย่างไรก็ได้ให้พวกเขาได้ลงมือทำสิ่งที่พวกเขาสนใจ เพื่อให้เขาได้แสดงความสามารถและเผยบุคลิกภาพของเขาออกมา แล้วเมื่อผู้ปกครองมองเห็น ผู้ปกครองสามารถช่วยให้คำแนะนำเด็กๆ ได้ว่า พวกเขาจะใช้จุดแข็งที่มีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและมองเห็นจุดอ่อนของตัวเองได้อย่างไร?
วอเตอร์สแนะนำวิธีการง่ายๆ 4 วิธี ดังต่อไปนี้
- หนึ่ง กล่าวถึงหรือกล่าวชื่นชมเมื่อเห็นจุดแข็งของลูก
“วันนี้ลูกทำได้ดีมากที่ตัดสินใจแพ็คกระเป๋าก่อน”
“ลูกทำให้แม่หัวเราะ แม่ชอบความขำขันของลูกจริงๆ”
หรือ “แม่รู้ว่าพี่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ แม่ภูมิใจในตัวลูกมากที่ลูกมองข้ามผ่านและให้อภัยได้”
การกล่าวถึงจุดแข็งให้ลูกๆ ได้ยินในลักษณะนี้ จะทำให้พวกเขาซึมซับและมองเห็นตัวเอง มองเห็นความสามารถด้านดี แทนการรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ได้เรื่องหรือใช้ไม่ได้เมื่อพ่อแม่ตำหนิข้อผิดพลาดของพวกเขา ผลที่เกิดขึ้นตามมา คือ พวกเขาจะรู้จักให้กำลังใจตัวเอง ยืนหยัดและพร้อมเรียนรู้ มากกว่าตัดพ้อตัวเองว่าเป็นคนไม่เอาไหน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ยากๆ ในชีวิต
- สอง ไดอารี่บันทึกจุดแข็ง
วิธีนี้เป็นการบ้านของพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเป็นนักสังเกต บันทึกจุดแข็งสามอย่างที่เห็นในตัวลูกแต่ละวัน แล้วสื่อสารให้ลูกรับรู้ถึงสิ่งที่มองเห็นนั้นในวันถัดไป นอกจากนี้ในทุกๆ สองอาทิตย์พ่อแม่จะเป็นผู้เขียนจดหมายถึงลูกๆ เพื่อบอกเล่าจุดแข็งของพวกเขาอีกครั้งเพื่อเป็นการยืนยันว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริง
- สาม แผนผังแสดงจุดแข็งของครอบครัว
นอกจากจุดแข็งส่วนตัวบุคคลที่ผู้ปกครองมีส่วนช่วยมองหา เพื่อให้ลูกมองเห็น การชี้ให้ลูกเห็นจุดแข็งของครอบครัวเป็นตัวอย่างที่ดีที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้พวกเขา ยกตัวอย่างเช่น แม่คนหนึ่ง บอกว่า เธอลิสต์จุดแข็งของครอบครัวติดไว้บนตู้เย็น เพื่อให้เด็กๆ ได้เห็นตัวอย่าง แล้วเปิดโอกาสให้พวกเขาใช้จุดแข็งเหล่านั้นกับคนในครอบครัว
“ฉันบอกให้ลูกๆ ดึงจุดเด่นของพวกเขาออกมาใช้ ใช้ความร่าเริง สนุกสนานต้อนรับแขกที่มาที่บ้าน ใช้ความเป็นผู้นำในการตัดสินใจ เด็กๆ มีส่วนร่วมและสนุกไปกับการนำจุดแข็งของตัวเองมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน”
- สี่ ตั้งคำถามตรงๆ กับลูกถึงจุดแข็งของตัวเอง
เมื่อลูกต้องรับผิดชอบทำหน้าที่สำคัญอะไรบางอย่าง อาจเป็นโปรเจ็คท์หรือกิจกรรมของโรงเรียนซึ่งเป็นงานใหญ่สำหรับเขา เด็กๆ จะรู้สึกประหม่า อาจรู้สึกกลัวจนขาดความมั่นใจ ผู้ปกครองสามารถตั้งคำถามตรงๆ กับลูก
ยกตัวอย่างเช่น “ลูกคิดว่าอะไรเป็นจุดแข็งในตัวลูกที่จะช่วยให้ทำงานนี้ผ่านไปได้?” หรือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท แทนที่จะกล่าวโทษและตำหนิ พ่อแม่สามารถชวนลูกตั้งคำถามให้คิด “ลูกคิดว่าอะไรคือจุดแข็งที่หายไปจนทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ แล้วอะไรที่ช่วยให้สถานการณ์นี้ดีขึ้น?”
การจะทำแบบนี้ได้ พ่อแม่เองต้องอาศัยการฝึกฝนตัวเองให้คิดและทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย ให้ตัวเองตั้งคำถามเชิงบวกแทนการบ่น การพูดจาถากถางและจู้จี้จนลูกหนีหน้าไปเพราะไม่อยากฟัง เมื่อมีเหตุการณ์ท้าทายเกิดขึ้นกับลูก พ่อแม่สามารถดึงจุดแข็งข้อใดข้อหนึ่งที่เห็นในตัวลูกขึ้นมาชี้แนะให้เขานำคุณลักษณะข้อนั้นเข้ารับมือและแก้ไขสถานการณ์
ยกตัวอย่างเช่น “ฉันบอกลูกถึงความใจดีและการมีจิตใจเมตตาของเธอ ให้เธอนำคุณลักษณะนี้มาควบคุมอารมณ์ ทำให้มีความอดทนต่อสิ่งต่างๆ”
วอเตอร์ส เล่าว่า เพื่อนร่วมงานของเธอคนหนึ่งกระตุ้นให้ลูกชายที่เป็นนักกีฬาของเขา นำความมุ่งมั่นเพื่อเอาชนะในการแข่งขันมาใช้เป็นแรงขับในการทำการบ้านให้เสร็จตรงตามเวลาแทนการผัดวันประกันพรุ่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่สายสตรองลืมไม่ได้เด็ดขาด คือ การมองทุกอย่างตามสภาพความเป็นจริง และไม่ชื่นชมลูกเกิดเหตุ จนทำให้เด็กกลายเป็นคนหลงตัวเอง หรือหลงอวดลูกจนออกหน้าออกตา
จุดแข็งหรือจุดเด่นสร้างความโดดเด่นให้ก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราพิเศษกว่าใครๆ เพราะทุกคนต่างมีจุดแข็งเป็นของตัวเอง นี่คือคีย์เวิร์ดที่ต้องใช้เตือนตัวเอง
กลับมาที่ความหงุดหงิดใจเมื่อพ่อแม่เห็นลูกติดเกม วิธีคิดแบบพ่อแม่สายสตรอง สร้างข้อค้นพบบางอย่างให้กับพ่อแม่
อย่างแรก เกมสร้างจุดแข็งที่จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต ได้แก่ ทักษะการควบคุมตนเอง (self-regulation) และ ทักษะการแก้ปัญหา (problem-solving) เกมสอนให้เด็กฝึกการตัดสินใจและต้องอาศัยความพยายามเพื่อสะสมคะแนนให้ได้มากขึ้น หากพ่อแม่ชี้ให้ลูกเห็นจุดแข็งเรื่องนี้ บอกให้ลูกรับรู้ถึงข้อดีจากการทำในสิ่งที่ลูกชอบ และแสดงให้เห็นการยอมรับจากพ่อแม่ เด็กจะยอมรับฟังพ่อแม่ แล้วประยุกต์ใช้จุดแข็งเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการแบ่งเวลาเล่นเกมและการทำการบ้านที่ต้องรับผิดชอบได้
และความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่สามารถควบคุมอารมณ์ ทำให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับสิ่งที่ลูกทำได้มากกว่าเก่า เมื่อพ่อแม่ไม่ตั้งแง่กับการเล่นเกมของลูก ยอมให้ลูกใช้เวลาเล่นเกม ลูกจะยอมรับเงื่อนไขของพ่อแม่ได้มากขึ้น ทั้งหมดนี้เพราะต่างฝ่ายต่างรับฟังซึ่งกันและกัน
การเข้าถึงจุดแข็งจะทำให้เรามองเห็นจุดอ่อน แล้วสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองต่อไป การมองเห็นข้อบกพร่องตามสัญชาตญาณอาจทำให้เราเอาตัวรอดและมีชีวิตอยู่ได้ แต่จุดแข็งจะทำให้เราเติบโต การทำให้เด็กๆ รับรู้ถึงจุดแข็งของตัวเอง แล้วสามารถควบคุมและใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งที่มีอยู่จะทำให้เขาโตขึ้นได้อย่างมีความสุข เป็นสูตรสำเร็จสำหรับการเลี้ยงดูลูกอย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุขของพ่อแม่สายสตรอง