- เป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกที่ช่วยกระตุ้นการใช้ชีวิตในระยะยาว เป้าหมายมีความสัมพันธ์กับความต้องการที่ขาดไม่ได้ของคนทั่วไป มีที่มาจากความเชื่อที่ว่าโลกต้องการการพัฒนาและการปรับปรุงให้ดีขึ้น แล้วเราทุกคนมีส่วนช่วยโลกได้
- ความคิดเชิงบวกเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี หากพ่อแม่ปลูกฝังให้ลูกมองความยากเป็นเรื่องท้าทายที่แก้ไขได้ ความคิดนี้จะช่วยสร้างให้เด็กมีความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา
- หากพ่อแม่ถามลูกด้วยคำถามที่ดีพอ คำถามเหล่านั้นอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้พวกเขาคิดถึงเป้าหมายของตัวเองในอนาคต
‘เป้าหมาย’ เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเมื่อมีเป้าหมายแล้ว ‘ลงมือทำ’ นั่นนำไปสู่การทุ่มเทแรงกายแรงใจ พลังงาน และความคิดสร้างสรรค์ หมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้น วิลเลียม เดมอน (William Damon) ผู้อำนวยการศูนย์สแตนฟอร์ดเกี่ยวกับวัยรุ่น (Stanford Center on Adolescence) และ ผู้เขียนหนังสือ The Path to Purpose (เส้นทางไปสู่เป้าหมาย) บอกว่า
เป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกที่ช่วยกระตุ้นการใช้ชีวิตในระยะยาว แตกต่างจากความหลงใหล (passion) และ ความทะเยอทะยาน (ambition) ซึ่งโฟกัสไปที่ตัวบุคคลมากกว่า ส่วนเป้าหมายมีความสัมพันธ์กับความต้องการ (needs) ที่ขาดไม่ได้ของคนทั่วไป มีที่มาจากความเชื่อที่ว่าโลกต้องการการพัฒนาและการปรับปรุงให้ดีขึ้น แล้วเราทุกคนมีส่วนช่วยโลกได้
อย่างไรก็ตาม การค้นหาเป้าหมายในชีวิตเป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน เพราะความเชื่อและค่านิยมของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยทุ่มเททำงานด้วยความศรัทธา โดยมีเป้าหมาย เช่น เพื่อแต่งงานสร้างครอบครัว เพื่ออาชีพการงานที่มั่นคงในอนาคต ปัจจุบันค่านิยมเหล่านี้ค่อยๆ เลือนรางหายไปจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนถูกผลักให้กลายเป็นความคิดของคนยุคเก่า
ผลจากการศึกษาของเดมอน พบว่า มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่รู้เป้าหมายว่าตนเองเรียนไปเพื่ออะไร นอกจากนั้นเข้าข่าย มีแรงกระตุ้นแต่ขาดการวางแผน มีความตื่นตัวและกระตือรือร้นแต่ไม่รู้จะไปทางไหนดี หรือไม่ก็หัวก้าวหน้าเกินจนไปต่อไม่ถูก
ด้วยเหตุนี้ เดมอนจึงเสนอวิธีช่วยให้คนรุ่นใหม่ค้นหาเป้าหมายของตัวเองเจอ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ใหญ่ โดยผู้ปกครองสามารถสวมบทบาทเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กและเยาวชนได้ ด้วยเทคนิคและวิธีการต่อไปนี้
1. คุณไม่สามารถเขียนบทชีวิตให้กับลูกได้
‘ไม่ครอบงำแต่รั้งเบาๆ’ เป็นวิธีการแรกที่เดมอนแนะนำ เรื่องนี้อาจยากสำหรับผู้ปกครองที่อยู่ท่ามกลางสังคมแห่งการแข่งขัน คาดหวังในตัวลูกสูงและอยากประกาศความสำเร็จของลูกให้กับคนรอบตัวได้รับรู้
สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำเป็นอย่างแรก คือ การตั้งหลัก แล้วถอยหลังออกมาให้ลูกได้มีพื้นที่เป็นผู้นำตัวเอง
ความเข้มงวดและการบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการอาจได้ผลในระยะสั้น แต่ผลสะท้อนกลับในระยะยาวเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า ถ้าเด็กไม่หนีเตลิดก็อาจหมดความมั่นใจ จนคิดอะไรไม่เป็นไปเลยก็ได้ ดังนั้นหนทางที่ส่งผลดีทั้งต่อผู้ปกครองและเด็กในระยะยาว คือ การที่ผู้ปกครองสวมบทเป็นผู้สนับสนุนแทนที่จะเป็นผู้กำกับ
2. พูดคุยกับลูกว่างานสำคัญกับพ่อแม่อย่างไร
ไม่บ่อยนักที่พ่อแม่จะคุยเรื่องงานกับลูก อะไรเป็นแรงขับให้พ่อแม่ทำงานที่ทำอยู่ งานที่ทำมีส่วนช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมอย่างไร สะท้อนความเป็นตัวเองอย่างไร หรืองานสามารถดูแลครอบครัวได้อย่างไร การทำงานไม่ใช่แค่เพื่อค่าตอบแทนอย่างเดียวแต่ตอบสนองต่อเป้าหมายหลายอย่างในชีวิตได้
การถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ให้กับเด็กมีความสำคัญมากในช่วงเวลาที่เด็กยังไม่สามารถจินตนาการถึงการทำงานในชีวิตจริงได้ เดมอนบอกว่า ความไม่เข้าใจถึงความหมายที่ลึกซึ้งของการทำงาน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนรุ่นใหม่เฉยเมยและดูถูกงานที่ทำ
คำอธิบายของเดมอน สอดคล้องกับที่ ริช เฟอร์นานเดซ (Rich Fernandaz) ผู้ร่วมก่อตั้งวิสดอม แล็บ (Wisdom Lab) ที่มุ่งเน้นการนำวิทยาศาสตร์และข้อมูลมาส่งเสริมเรื่องสติปัญญา การพัฒนาศักยภาพ และการแสดงออกถึงการวางเป้าหมายในตัวบุคคล อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งด้านการบริหารการศึกษาและการพัฒนาความเป็นผู้นำ ในองค์กรชั้นนำอย่างกูเกิล (google) อีเบย์ (eBay) แบงค์ออฟอเมริกา (Bank of America) และ เจพี มอร์แกน เชส (JP Morgan Chase) พูดถึงการทำงานว่า งานที่ทำไม่ได้เป็นแค่สิ่งที่ ‘ต้องทำ’ เพื่อความอยู่รอดเท่านั้น แต่ควรป็นเครื่องสะท้อนตัวตนของแต่ละบุคคล
“เราควรทำในสิ่งที่เรามีความปรารถนาอยากจะเป็น” เฟอร์นานเดซ กล่าว
3. ถามคำถามอย่างระมัดระวังและรู้จักฟัง
เด็กและเยาวชนมักได้รับการสอนมากกว่าการตั้งคำถามถึงอนาคตของพวกเขา เดมอน บอกว่า หากพ่อแม่ถามลูกด้วยคำถามที่ดีพอ คำถามเหล่านั้นอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นให้พวกเขาคิดถึงเป้าหมายของตัวเองในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น สิ่งสำคัญในชีวิตของลูกคืออะไร? สำหรับลูกการเป็นคนดีหมายถึงอะไร? สิ่งไหนที่ลูกให้ความสำคัญและสนใจมากที่สุด? หรือ ลูกอยากถูกจดจำแบบไหน? เป็นต้น
การตั้งคำถาม เป็น 1 ใน 4 วิธีการ ที่เฟอร์นานเดซแนะนำเพื่อเป็นแนวทางให้คนคนหนึ่งเข้าใจความต้องการภายในของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การวางเป้าหมายเช่นกัน
เฟอร์นานเดซให้ชุดคำถามสำคัญที่นำไปสู่การหาคำตอบที่หลายคนตามหาว่า…อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต อะไรที่ทำให้เราเป็นตัวเราได้ดีที่สุด เช่น
- คุณอยากให้แต่ละวันของคุณเป็นแบบไหน?
- อะไรที่คุณอยากทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อทำมัน?
- อะไรที่คุณทำแล้วรู้สึกสนุก?
- อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกถึงความสมดุลในชีวิต?
- คุณอยากทำงานด้วยสภาวะจิตใจแบบไหน?
- มีอะไรอีกไหมในชีวิตที่คุณสนใจและอยากให้เวลากับมันมากขึ้น?
- ก่อนจะหายไปจากโลกใบนี้ คนแบบไหนที่คุณอยากจะเป็น?
ทั้งนี้และทั้งนั้น นอกจากการถามแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ลืมไม่ได้เป็นอันขาด คือ การตั้งใจฟังสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสารอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสินใจ
4. เปิดบทสนทนา
การตั้งคำถามเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การกระตุ้นให้เด็กคิดถึงเป้าหมายและมีความมุ่งมั่น ต้องอาศัยการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นจนเป็นนิสัย เดมอนบอกว่า พูดง่ายๆ คือ ผู้ปกครองและเด็กต้องพูดคุยกันจนการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องปกติ
ผู้ปกครองสวมบทเป็นผู้ฟังที่ดีอีกครั้ง ปล่อยให้ลูกเล่าและแสดงความคิดเห็นถึงสิ่งที่มีคุณค่าต่อพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่สามารถถามลูกว่า เขาคิดอย่างไรกับรายการทีวี โฆษณา หรือข่าวที่ดูด้วยกัน และ “ทำไม?” เป็นคำถามเติมเต็มที่ขาดไม่ได้ ยิ่งพูดคุยกันบ่อยเท่าไร พ่อแม่จะยิ่งเข้าใจว่าสิ่งไหนมีความสำคัญต่อลูก
5. เป็นผู้เล่นข้างเดียวกับลูก เดินร่วมทางกับสิ่งที่ลูกสนใจ
ผู้ปกครองไม่ควรวางตัวต่อต้านหรือขัดแย้งกับความสนใจของลูก แต่ให้โอกาส สนับสนุนและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เดมอนแนะนำว่า ถ้าจนมุมถึงขนาดตามไม่ทันจริงๆ การแนะนำให้ลูกรู้จักกับคนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น และเป็นคนที่วางใจได้ก็เป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง อย่างน้อยๆ ผู้ปกครองต้องอนุญาตให้ลูกกำกับทางเดินชีวิตตามความสนใจของตัวเองและเป็นทีมเดียวกับลูก แม้ว่าความสนใจของลูกจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอก็ตาม
6. คิดบวกและแบ่งปันความรู้
ความคิดเชิงบวกเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดี แทนที่จะโฟกัสถึงความยากลำบากและความล้มเหลวในชีวิต จนทำให้เด็กรับรู้และรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความโชคร้ายและเลวร้ายในชีวิต ในทางกลับกันปลูกฝังให้ลูกมองความยากเป็นเรื่องท้าทายที่แก้ไขได้ ความคิดนี้จะช่วยสร้างให้เด็กมีความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหา
เดมอนบอกว่า พ่อแม่สามารถให้คำแนะนำด้วยการยกตัวอย่างสถานการณ์จากประสบการณ์ของตัวเอง ทั้งเรื่องงานและความสัมพันธ์ เหตุการณ์ที่พ่อแม่ใช้ความคิดเชิงบวกรับมือกับปัญหาจนทำให้ปัญหาคลี่คลาย เพื่อกระตุ้นกระบวนการคิดของเด็กได้ แต่หลีกเลี่ยงการคิดและสั่งให้เด็กทำ
7. ใช้แบบทดสอบเพื่อค้นหาจุดแข็ง
บางครั้งแบบทดสอบเป็นตัวช่วยให้เด็กและเยาวชนค้นพบจุดแข็งของตัวเองได้ Clifton StrengthsFinder ที่คิดค้นโดย ดอน คลิฟตัน (Don Clifton) บิดาแห่งจิตวิทยาด้านจุดแข็ง คือ เครื่องมือหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แบบประเมินนี้เป็นผลลัพธ์จากการศึกษาวิจัยกว่า 50 ปี ซึ่งช่วยระบุจุดเด่นของบุคคล ผลการประเมินจะทำให้รู้จุดแข็ง 5 ใน 35 อย่างที่เด่นที่สุดของคนคนนั้น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ที่นี่
8. ปล่อยเด็กๆ แสดงฝีมือเองบ้าง
พ่อแม่ต้องวางตัวเองอยู่ในระยะห่างที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกแสดงความสามารถ เดมอน ย้ำว่า พ่อแม่ต้องไว้ใจให้ลูกคิดและลงมือทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ โดยพ่อแม่ทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ ดูว่าสิ่งไหนลูกทำได้ดี สิ่งไหนควรได้รับการส่งเสริม เชื่อมโยงไปสู่ข้อสามและข้อสี่ คือ หลังลูกทำงานที่ได้รับมอบหมายแล้ว พ่อแม่สามารถตั้งคำถามและชวนลูกคิดและพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากงานที่ทำได้
ด้านเฟอร์นานเดซ บอกว่า คำตอบจากการตั้งคำถามที่ดี จะเป็นแนวทางให้ไม่ต้องฝืนทนทำสิ่งที่ขัดแย้งกับความต้องการของตัวเอง โดยเฉพาะการค้นหาเป้าหมายในเรื่องการทำงาน จากประสบการณ์ เฟอร์นานเดซเรียนรู้ว่า อย่าให้การโหยหาความสำเร็จมาเป็นแรงจูงใจในการทำงาน แต่ให้เลือกทำงานที่มีคุณค่า และมีความหมายต่อการมีชีวิตอยู่ เขาจึงทุ่มเทความพยายามไปบนเส้นทางที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ซึ่งแรงบันดาลใจที่ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอตามเหตุการณ์และช่วงเวลา
9. ทำให้เด็กๆ เชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีความสำคัญ
เด็กและเยาวชนควรรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำส่งผลต่อคนอื่นไม่ทางบวกก็ทางลบ พ่อแม่สร้างความมั่นใจให้เด็กได้ ด้วยการมอบหมายงานที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวให้เด็กๆ รับผิดชอบ เทคนิคสำคัญที่เดมอนแนะนำคือ การสื่อสารให้เด็กรู้และเข้าใจว่า หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นสำคัญและส่งผลต่อครอบครัวอย่างไร นอกจากนี้ การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนทำงานจิตอาสาก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในตัวเอง
จากบทความ How Parents Can Help Kids Develop a Sense of Purpose (พ่อแม่สามารถช่วยลูกพัฒนาเป้าหมายของตัวเองอย่างไร) เดมอน ยกตัวอย่าง แจ็ค เบคอน (Jack Bacon) นักศึกษาวิทยาลัยบอสตัน ที่ผ่านช่วงเลวร้ายในวันที่ต้องเสียแม่เมื่ออายุ 16 ปี ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ต้องตัดสินใจว่าชีวิตควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร เขาบอกว่า การเลี้ยงดูของพ่อแม่ทำให้เขารู้ว่าการมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งสำคัญ เขาโฟกัสไปที่การเรียนและพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้ตัวเองอยู่เสมอ เป้าหมายของเขา คือ การเป็นคนที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน
“ทุกวันเป็นวันสำคัญสำหรับผม เพราะผมจะได้พัฒนาตัวเองในทุกๆ วัน” เบคอนกล่าว