- คุยกับ หมอมิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา และที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการให้กับบทละครเรื่อง วัยแสบสาแหรกขาด
- ถอดบทเรียน 5 ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กจากละครเรื่อง ‘วัยแสบสาแหรกขาด’ 1. เด็กกรี๊ด ร้องอาละวาดเอาแต่ใจ (temper tantrum) 2. ความหลากหลายเพศ (gender creative) 3. วัยรุ่นที่มีภาวะออทิซึม (autism) 4. วัยรุ่นที่มีลักษณะยึดติดความสมบูรณ์แบบและยอมรับความผิดพลาดไม่ได้ มีความกดดันจากการเรียน (perfectionism) 5. วัยรุ่นติดเกม (gaming addiction)
- ทั้ง 5 ปัญหาในละครช่วยสะท้อนสังคมได้ดี แต่พบว่ายังมีอีก 3 โรคทางจิตเวชที่เด็กเป็นมากที่สุดคือ โรควิตกกังวล โรคสมาธิสั้น และ Conduct disorder หรือพฤติกรรมผิดกฎเกณฑ์ เบียดเบียนทำให้คนอื่นเดือดร้อน
- ทางออกของปัญหาของผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ภูมิคุ้มกันสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ปกป้องลูกได้คือ ‘การให้เวลา’
เริ่มตั้งแต่การติดตามดูละคร วัยแสบสาแหรกขาด ในภาคแรก แล้วนำเหตุการณ์มาเขียนเป็นบทความสั้นๆ ย่อยออกมา เล่าให้เข้าใจง่าย เผยแพร่ลงพื้นที่เพจของตัวเอง จนมีคนตามอ่าน ตามแชร์
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ พญ.เบญจพร ตันตสูติ หรือ หมอมิน ผู้ที่ทำงานเป็นจิตแพทย์และวัยรุ่น มานานถึง 10 ปี กลายมาเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการให้กับบทละครเรื่อง วัยแสบสาแหรกขาด ซีซั่น 2
ในบทละครวัยแสบสาแหรกขาด ซีซั่น 2 คุณหมอทำงานมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง
จริงๆ ไม่ได้เป็นทางการนักมีโอกาสได้ไปเจอผู้จัดละคร คุณเอิร์น นิธิภัทร และทีมงาน ตามงานเสวนา คุณเอิร์นชื่นชอบที่จะทำละครแนวครอบครัวอยู่แล้ว หลังจากนั้นได้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ในละครเรื่อง ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวหัวใจฟรุ้งฟริ้ง’ จนมาถึงละครเรื่อง ‘วัยแสบสาแหรกขาดภาค 2’ มีเรื่องเคสเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชในละคร เช่น เด็กเอาแต่ใจตัวเอง ชอบกรี๊ดโวยวาย ที่เกิดจากการตามใจ การเลี้ยงดูที่ขัดกันระหว่างผู้เลี้ยงดู เด็กที่ถูกพ่อแม่กดดันเรื่องการเรียน เด็กเหล่านี้จะเกิดปัญหาสุขภาพจิตแบบไหนและมีที่มาที่ไปจากอะไรบ้าง ก็ได้คุยกับทีมงานเขียนบทละครบ้าง แต่ไม่ได้ช่วยตรวจบทอย่างละเอียด ละครเรื่องนี้มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษามากมาย หมอเป็นเพียงหนึ่งในนั้น
หมอรู้สึกชื่นชมและดีใจ ที่มีผู้จัดละครที่อยากจะทำละครเกี่ยวกับปัญหาเด็ก วัยรุ่น ครอบครัว เพราะเท่าที่ผ่านมา เรายังไม่ค่อยเห็นหรือเห็นละครที่ทำประเด็นแบบนี้ค่อนข้างน้อย ยิ่งละครที่ลงลึกในประเด็นปัญหาเด็กและวัยรุ่นในเชิงลึกด้วย ที่ผ่านมาอาจจะมีอยู่บ้าง เช่น ซีรีส์ Project H จาก GDH ที่เคยพูดเรื่องวัยรุ่นที่เป็นซึมเศร้า วัยรุ่นที่เป็นออทิซึม และซีรีส์ฮอร์โมน ที่พูดถึงประเด็นปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น เช่น ปัญหาการใช้ยาเสพติด พฤติกรรมทางเพศ เป็นต้น
ในฐานะที่เคยดูละคร วัยแสบสาแหรกขาด มาทั้งสองซีซั่น มีจุดเหมือนกัน ต่างกัน ตรงไหนบ้าง
ที่หมอเห็นและรู้สึก ภาคแรกจะมีการนำเสนอในประเด็นกว้างๆ เกี่ยวกับเด็ก วัยรุ่นและครอบครัว แต่ยังไม่ลงลึกไปถึงปัญหาสุขภาพจิตหรือโรคทางจิตเวชของเด็ก นำเสนอเป็นปัญหาของเด็กทั่วๆ ไป ยังไม่ถึงกับการเจ็บป่วยเป็นโรค
แต่พอมาในภาค 2 หมอว่ามีการลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น มีการนำเสนอเรื่องของโรคที่เป็นโรคเฉพาะมากขึ้น เช่น วัยรุ่นที่มีภาวะออทิซึม, วัยรุ่นที่มีความกดดันจากการเรียนจนมีอาการทางกาย จนเป็นไฮเปอร์เวนติเลชั่น (hyperventilation syndrome) อาการแพนิค วิตกกังวล รวมถึงประเด็นที่ลงลึกและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่างวัยรุ่นที่ไม่ชอบในเพศตัวเอง อยากและรู้สึกอยากเป็นเพศตรงข้าม
สิ่งที่หมอให้คำปรึกษากับทีมผู้จัด หมอไม่ได้อ่านบททั้งหมด แต่มีการคุยกันกับทางทีมผู้เขียนบทว่าเขาอยากนำเสนอเคสเด็กและวัยรุ่น ทั้ง 5 เคส นั่นคือ 1. เด็กกรี๊ด ร้องอาละวาดเอาแต่ใจ (temper tantrum) 2. ความหลากหลายเพศ (gender creative) 3. วัยรุ่นที่มีภาวะออทิซึม (autism) 4. วัยรุ่นที่มีลักษณะยึดติดความสมบูรณ์แบบและยอมรับความผิดพลาดไม่ได้ มีความกดดันจากการเรียน (perfectionism) 5. วัยรุ่นติดเกม (gaming addiction) คำถามต่อมาคือเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหาประมาณนี้ เขาจะมีลักษณะแบบไหน และปัจจัยที่นำมาสู่ปัญหา สิ่งแวดล้อม อาจเติบโตมาจากครอบครัว พ่อแม่ หรือผู้ปกครองแบบไหนได้บ้าง หมอจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาโดยใช้ข้อมูลทางวิชาการรวมถึงประสบการณ์ที่คุณหมอเคยเจอ
เคสเด็กและวัยรุ่นทั้ง 5 สาเหตุที่ทำให้เกิดและทางออกคืออะไร
เคสแรก: ‘ลูกพีท’ เด็กที่มีลักษณะเอาแต่ใจ กรี๊ดโวยวายอาละวาด หรือทางการแพทย์เรียกว่า temper tantrum
จริงๆ ปัญหาเด็กกรี๊ด โวยวายอาละวาด เป็นเรื่องที่พบได้ตามปกติในเด็กเล็กๆ เพราะเด็กเล็กจะมีลักษณะการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หากผู้ปกครองเข้าใจและจัดการได้ดีอาการเหล่านี้ควรค่อยๆ น้อยลงไปและดีขึ้นเมื่อเด็กเข้าชั้นประถม ช่วงอายุประมาณ 6 ขวบ เพราะเป็นช่วงวัยที่เด็กจะเริ่มเข้าใจเหตุผลมากขึ้น แต่ในกรณีลูกพีทมีอาการต่อเนื่องจนโตและอาการรุนแรงมาก เมื่อถูกขัดใจจะร้องโวยวายอย่างหนัก และทำลายข้าวของด้วย
ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการที่เป็นเรื่องการเลี้ยงดู นั่นคือ ลูกพีทโตมากับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องทำงานหนักหาเลี้ยงครอบครัวจนไม่มีเวลา คุณตาคุณยายจึงเป็นผู้เลี้ยงลูกพีทแทน ซึ่งคุณตาคุณยายเลี้ยงหลานอย่างตามใจ ขาดการฝึกระเบียบ ไม่ได้สอนให้เด็กรู้จักอดทนรอคอย อยากได้อะไรก็ได้ และอุปนิสัยคุณแม่เป็นคนอารมณ์ร้อน หงุดหงิด และมักใช้อารมณ์ ตะโกน โวยวาย เวลาไม่พอใจอยู่เสมอ อาจทำให้ลูกพีทซึมซับและเกิดการเลียนแบบ
เมื่อถูกตามใจตลอด ไม่เคยถูกขัดใจ แถมพอกรี๊ดโวยวายก็มีคนตามใจมากขึ้น สุดท้ายเขาเรียนรู้ว่าจะมีคนตอบสนองในสิ่งที่ต้องการเมื่อกรี๊ด เด็กก็จะใช้วิธีนี้ต่อไป เมื่อไปอยู่โรงเรียนเวลาไม่พอใจก็กรี๊ดใส่เพื่อน ใส่ครู เพื่อให้ทุกคนทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการ
เคสที่สอง: ‘วีหนึ่ง’ เด็กวัยรุ่นหญิง ชั้น ม.6 คุณแม่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเหมือนกัน การเลิกกันของพ่อแม่ไม่ดีเท่าไหร่ คือฝ่ายพ่อนอกใจไปมีครอบครัวใหม่ จึงทำให้แม่ไม่พอใจมาก แม่มีปมในใจเรื่องพ่อนอกใจเกิดเป็นความต้องการที่จะเลี้ยงลูกของตัวเองให้ดีกว่าลูกของพ่อกับครอบครัวใหม่ ทำทุกทางให้ลูกตัวเองต้องดีกว่า เก่งกว่า สอบเข้าแพทย์ให้ได้ แม้วีหนึ่งจะเป็นเด็กเก่งมาก แต่ถึงแม้จะเก่งอย่างไร วีหนึ่งก็ยังเป็นเด็กธรรมดาที่ต้องการความเข้าใจ คล้ายๆ กับว่าเขาถูกกดดัน ถูกทำให้รู้สึกว่าจะต้องเรียนให้เก่งตลอดเวลา ถึงจะเป็นที่พอใจของแม่
เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ความรู้สึกกดดันมันเหมือนลูกโป่งที่ถูกอัดลมแน่นจนแตก เมื่อมาถึงช่วงที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย เธอถูกคาดหวังให้สอบติดแพทย์ให้ได้ โดยที่ลึกๆ ก็ไม่มีใครรู้ว่าวีหนึ่งอยากเป็นหมอหรือเปล่า ที่สำคัญวีหนึ่งไม่กล้าพูดความรู้สึกในใจกับใคร ไม่ยอมรับ แต่ยิ่งปฏิเสธความกดดันก็กลายเป็นความเครียด ทำให้เกิดกลไกที่จิตใจพยายามหาทางออก กลายเป็นอาการทางกายอย่างที่เราเห็นในละคร นั่นคือ อาการมือสั่น ตัวสั่น หายใจเร็ว มือจีบเกร็ง เป็นลม คล้ายๆ กับอาการของ hyperventilation syndrome และ อาการแพนิค
เคสที่สาม: ‘บุ๊ค’ เด็กชายวัยรุ่นที่โตมาในครอบครัวพ่อแม่ที่เลิกกัน แม่ไปทำงานที่ร้านอาหารในต่างประเทศเพื่อส่งเงินให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนดีๆ ส่วนพ่อทำงานกะดึก ไม่ค่อยได้ใช้เวลากับลูกมากเท่าไรนัก
บุ๊คจึงไม่ค่อยสนิทสนมกับทั้งพ่อและแม่ มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน และลึกๆ เป็นเด็กขี้เหงา โดดเดี่ยว ไม่ค่อยมีเพื่อน จึงหาทางออกโดยการเล่นเกมออนไลน์ ได้เจอเพื่อนในเกม ทำให้บุ๊ครู้สึกตัวเองเป็นที่ยอมรับ มีคนสนใจ ความรู้สึกเติมเต็มมากขึ้น บุ๊คใช้เวลาเล่นเกมอย่างหนัก ไม่นอน ไม่กินข้าว จนทำให้มีปัญหาตามมา
ปัญหาเด็กติดเกมนั้น นอกจากเราจะมองที่ตัวของเกมเองแล้ว เราต้องมองไปถึงสาเหตุว่า ทำไมเขาถึงติดเกม? เด็กติดเกมที่หมอเจอหลายคน มักมีปัญหาความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือเพื่อนที่ไม่ค่อยดีนัก รวมถึงขาดการให้ระเบียบวินัยในบ้าน พ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ให้เด็กเล่นเกมหรือเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามใจชอบโดยขาดการควบคุมด้วย
เคสที่สี่: ‘ไออุ่น’ วัยรุ่นผู้หญิงที่ไม่ชอบที่ตัวเองเป็นผู้หญิง รังเกียจลักษณะความเป็นผู้หญิง เช่น ไม่อยากมีหน้าอก พยายามเอาผ้ามารัดหน้าอกของตัวเอง ไม่ชอบใส่กระโปรง ไม่ชอบแต่งหน้าทาปาก หรือทำอะไรแบบผู้หญิง
พ่อแม่ของไออุ่นเลิกกัน ไออุ่นอาศัยอยู่กับแม่ ซึ่งพ่อของไออุ่นมักแสดงพฤติกรรมตำหนิ ดูถูก พูดจาไม่ดีถึงความเป็นผู้หญิงของแม่เสมอๆ พ่อมีฐานะค่อนข้างดี ส่วนแม่ทำธุรกิจแล้วล้มเหลวหลายครั้ง แม่มักให้ไออุ่นไปขอเงินพ่อมาให้แม่ ตรงนี้อาจทำให้อุ่นรู้สึกลึกๆ ว่าแม่อ่อนแอ ไม่เก่ง ส่งผลให้มีความไม่ภูมิใจและไม่พึงใจในเพศหญิงของตัวเอง โดยเฉพาะเวลาที่คนอื่นมาย้ำ หรือมาจี้ว่าจะเป็นเหมือนแม่ยิ่งไม่ชอบ
แต่ก็ต้องเน้นว่าการที่เด็กมีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเด็กชายอยากเป็นหญิง หรือเด็กหญิงอยากเป็นชายนั้นอาจไม่ได้เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เพราะพ่อแม่มักมาถามหมอว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกผิดหรือเปล่า จริงๆ ยังไม่มีการศึกษาวิจัยชัดเจนว่าเกิดจากปัจจัยการเลี้ยงดู แต่ปัจจัยร่วมมักเป็นเรื่องของพันธุกรรม พื้นอารมณ์ หรือปัจจัยทางชีวภาพที่เกี่ยวข้อง
เคสที่ห้า: ‘ใบพัด’ วัยรุ่นชายที่เป็นออทิซึมแบบไฮฟังก์ชั่น พ่อแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และคุณอารับมาอยู่ด้วย มีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูที่ตอนแรกอาไม่เข้าใจพฤติกรรมออทิซึมของใบพัด คือสื่อสารได้ มีระดับสติปัญญาดี แต่ปัญหาหลักของออทิซึมคือ ปัญหาการเข้าสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ปัญหาพฤติกรรมยึดติดและซ้ำซากบางอย่างที่ดูแปลก ทำให้มีปัญหากับเพื่อนในโรงเรียน ถูกเพื่อนแกล้ง และต้องใช้เวลาในการปรับตัวมากในการอยู่ในสังคม
เมื่อเรารู้สาเหตุ ลักษณะอาการ จาก 5 เคสนี้ เราควรทำอย่างไรกับเขาต่อ
หมอคิดว่าเด็กที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตและจิตเวช วิธีดูแลรักษาอาจจะต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ตัวเด็ก ครอบครัว และ โรงเรียน รวมถึงสังคมรอบข้าง
ตัวเด็กเอง ดูว่าเขามีความผิดปกติในลักษณะไหน หากป่วยเป็นโรคที่จำเป็นต้องใช้ยารักษา ก็ต้องใช้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัดในกรณีจำเป็น
ส่วนต่อมาคือครอบครัว ถ้าเราดูละครเรื่องนี้จะเห็นว่าครอบครัวมีความสำคัญมาก เป็นส่วนที่จะช่วยทำความเข้าใจ หรือบางครั้งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ก็ได้ ดังนั้นครอบครัวควรเข้าใจไม่ใช่แค่ปัญหา แต่ต้องเข้าใจถึงที่มาที่ไปของปัญหาด้วย ซึ่งบางทีผู้ใหญ่ในครอบครัวเองอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็มีความสามารถที่จะช่วยให้เด็กพ้นปัญหาได้อีกด้วย โดยเฉพาะ ถ้าผู้ใหญ่มีปัญหาส่วนตัว ก็ต้องดูแลเยียวยาพ่อแม่ด้วย เช่น พ่อแม่อาจเครียด ซึมเศร้า ถ้าไม่ช่วยพ่อแม่ เด็กก็อาจจะไม่ดีขึ้น เพราะเด็กต้องไปอยู่กับครอบครัว
คุณหมอช่วยยกตัวอย่างการดูแลแก้ไข จากปัญหาเด็กในละครวัยแสบฯ
ทางออกของปัญหาของผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวช เด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป มีหลักการกว้างๆ ในทางปฏิบัติเราต้องสังเกตว่าแต่ละคน แต่ละเคส ใครเหมาะสมกับวิธีการแบบไหนและอย่างไร
อย่างเช่น ปัญหาเด็กติดเกม หากพ่อแม่มีความเข้าใจ มีเวลา ทำกิจกรรม ทำให้ลูกรู้สึกว่าเรารักเขา ไม่ได้ทอดทิ้ง มีกฎระเบียบอย่างสมดุลในการเข้าถึงเกม ก็จะช่วยลดปัญหาไปได้มากขึ้น
เช่นเดียวกับกรณีของความหลากหลายทางเพศ พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจในตัวลูก พ่อแม่ทุกคนย่อมหวังดี คิดว่าการที่ลูกมีเพศที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดจะทำให้ลูกใช้ชีวิตลำบาก จึงมีความพยายามและความเป็นห่วง ที่จะทำให้ลูกเป็นไปตามสังคม แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่ลูกต้องการมากที่สุด คือ การยอมรับและเข้าใจของคนใกล้ชิด โดยเฉพาะพ่อแม่ คนสำคัญที่มีผลต่อจิตใจเขา ถ้าคนสำคัญเข้าใจและยอมรับ แม้จะเจอปัญหาจากคนอื่นๆ เขาจะมีกำลังใจในการเผชิญหน้ากับอุปสรรคได้มากกว่า
และในความเป็นจริง ไม่มีใครยืนยันด้วยว่า เป็นเพศไหนถึงจะมีความสุขกว่ากัน แต่ที่สำคัญคือ ความรู้สึกชอบตัวเองได้ ยอมรับและเข้าใจตัวตน ไม่ต้องปิดบังเสแสร้ง ซึ่งความรู้สึกชอบตัวเองจะมาจากผู้ใหญ่ใกล้ชิดยอมรับและมองเห็นคุณค่าอย่างที่เขาเป็น
เมื่อดูละครแล้วควรตกตะกอนกับมันอย่างไร
มีคุณแม่คนหนึ่งบอกกับหมอว่า เขาดูละครเรื่องนี้กับลูก ลูกบอกว่าตรงนี้ๆ เหมือนที่เขารู้สึกอยู่เลย ทำให้แม่เข้าใจในตัวลูกเขามากขึ้น ละครไม่ได้มุ่งเฉพาะปัญหาของเด็กแต่ละคน แต่ทำให้เห็นว่าผู้ใหญ่ พ่อแม่ ตายาย ครู นักจิตวิทยา ต่างมีปัญหาเป็นของตัวเอง สิ่งที่ทุกคนต้องการคือความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน การช่วยเหลือไม่ได้มุ่งแค่ตัวเด็ก แต่ต้องคำนึงถึงการช่วยพ่อแม่ ช่วยครู คนรอบๆ ตัวเด็ก เพราะทุกคนมีผลและเป็นปัจจัยต่อการช่วยเด็กอีกทีหนึ่ง
หมอว่าละครพาเราไปถึงจุดที่บอกว่าทุกคนมีปัญหา คนดูไม่ว่าจะเป็นครู หรือพ่อแม่ อย่าลืมดูแลตัวเองด้วย อย่าละเลยตัวเอง อย่าลืมไปว่าตัวเองก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องได้รับการดูแล ถ้าเรายังไม่พร้อม ก็ไม่สามารถช่วยเหลือเด็กได้
เคสในละครมากกว่าครึ่ง มักมีครอบครัวที่พ่อแม่เลิกกัน การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรืออยู่กับคุณตาคุณยาย สภาพเหล่านี้มีผลทำให้เด็กมีปัญหาด้วยหรือเปล่า
จริงๆ แล้วโดยทั่วไปเด็กที่มีปัญหาสุขภาพจิตแล้วมาหาหมอ ไม่ได้มาจากครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือพ่อแม่เลิกกัน ส่วนใหญ่พ่อแม่ก็ยังอยู่ด้วยกันนี่แหละ หมอคิดว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับบรรยากาศของบ้านมากกว่า
ถ้าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อเลี้ยงเดี่ยว แต่สามารถจัดบรรยากาศในบ้านได้ดี ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น มีเวลาให้เด็กเพียงพอ เด็กก็คงไม่มีปัญหา ในทางกลับกัน พ่อแม่ที่อยู่ด้วยกันแต่ทะเลาะกันทุกวัน มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน ไม่มีเวลา เลี้ยงเด็กด้วยทีวี แทบเล็ต มือถือ ก็อาจจะเกิดปัญหาได้แม้ว่าจะไม่ได้เลิกกันก็ตาม
ดังนั้น ลูกจะมีปัญหาหรือไม่ คงไม่ได้เกิดจากการที่มีแม่เลี้ยงเดี่ยว-พ่อเลี้ยงเดี่ยว มันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น
5 เคสนี้ ในละคร สะท้อนปัญหาของเด็กไทยได้จริงๆ หรือเปล่า
จริงๆ 5 ปัญหาที่ละครยกขึ้นมาก็ทำได้ดีและช่วยสะท้อนสังคมได้ แต่จริงๆ แล้วมีปัญหาอีกหลายอย่าง ที่อยากให้ละครเรื่องอื่นๆ ช่วยนำเสนอ ยกตัวอย่างการสำรวจในเด็กมัธยมประมาณ 3,000 คนเมื่อประมาณปี 2559 ที่ตีพิมพ์ในวารสารกรมสุขภาพจิต พบว่าโรคที่เจอในเด็กไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ โรควิตกกังวล โรคสมาธิสั้น และ Conduct disorderหรือ เด็กมีพฤติกรรมผิดกฎเกณฑ์ เบียดเบียนทำให้คนอื่นเดือดร้อน
แล้วสาเหตุโรคเหล่านี้คือจากอะไร
ปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตเวชในเด็กและวัยรุ่น เกิดได้จากสาเหตุหลากหลาย เป็นเรื่องของ biological ปัจจัยจากชีวภาพ สมองบางส่วน หรือพันธุกรรมผิดปกติบางอย่าง และ psychosocial เรื่องของจิตสังคม ได้แก่ การเลี้ยงดูจากครอบครัว เหตุการณ์ในชีวิต สิ่งแวดล้อมต่างๆ
การดูแลให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต สำหรับเด็กแต่ละคนต้องใช้เวลาติดตามอย่างยาวนาน คุณหมอต้องทำงานกับพ่อแม่ เด็ก หรือครอบครัว มากกว่ากัน
หมอจะเฉลี่ยและให้ความสำคัญเท่าๆ กัน เพราะเรารู้สึกว่าทั้งสองส่วนมีความสำคัญ ต้องดูไปแต่ละเคส แต่ละปัญหาว่าควรจะทำงานกับใครมากกว่า บางเคสเราอาจต้องทำงานกับพ่อแม่และครอบครัวมาก เช่น เด็กเล็กที่ดื้อเพราะการเลี้ยงดูที่ตามใจไม่เหมาะสม ก็ต้องทำงานกับพ่อแม่และครอบครัวเด็กมากกว่า ส่วนเด็กที่โตหน่อยมีปัญหาซึมเศร้า มีปัจจัยเกี่ยวข้องคือมีความคิดแง่ลบค่อนข้างมาก เราก็ต้องทำงานกับตัวเด็กมากหน่อย ทำจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
ปัจจุบันมีเด็กวัยรุ่นที่มีแนวโน้มจะซึมเศร้า เข้ามาเดินเข้ามาปรึกษาเยอะขึ้นไหม
มีเข้ามามากขึ้น ในลักษณะที่เด็กเองขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองพามาหาหมอ เพราะเขารู้สึกเครียด ซึมเศร้า ซึ่งเราได้คุยกับเพื่อนๆ จิตแพทย์ด้วยกันพบว่าก็เป็นเหมือนกัน
หมอว่าที่เป็นอย่างนี้ เพราะเด็กมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ที่วัยรุ่นเข้าถึงได้มากขึ้น เขาสามารถเสิร์ชหาข้อมูลด้วยตัวเอง อีกทั้งก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น ความกดดันตามยุคสมัย การแข่งขัน ความคาดหวัง สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ
สำหรับเด็กที่กำลังรู้สึกซึมเศร้า คุณหมอมีคำแนะนำเบื้องต้นอย่างไรบ้าง
เราจะคุยกับเด็กก่อนเพื่อประเมินว่าถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าหรือยัง บางอาการอาจจะเป็นความเครียดที่จัดการไม่ได้ หมอก็จะช่วยรับฟังและแก้ไขหาทางออก ถ้าเป็นโรคซึมเศร้าอาจต้องรับประทานยาควบคู่ คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับคนที่ซึมเศร้าไม่มาก พยายามดึงตัวเองออกจากความรู้สึกความเครียดและเรื่องแย่ๆ พยายามหาอะไรทำ มีศัพท์ทางจิตบำบัด คือ behavioral activation หมายถึงการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ออกกำลังกาย งานอดิเรก แต่เป็นสิ่งที่ไม่ทำให้ตัวเองเป็นอันตรายหรือเดือดร้อน อาจจะต้องฝืนตัวเอง พยายามเท่าที่ได้ แต่การไปจมอยู่กับความซึมเศร้าตรงนั้นโดยไม่ทำอะไรจะทำให้ยิ่งแย่
แต่ถ้าความซึมเศร้าไม่ดีขึ้น คุยกับใครที่ไว้ใจ ทำอะไรไม่ได้ เสียการงาน การเรียน บางครั้งรู้สึกแย่มากถึงขนาดไม่อยากอยู่ อยากทำร้ายตัวเอง ควรรีบมาพบจิตแพทย์
นี่จึงเป็นความตั้งใจของคุณหมอ ทำให้ตัดสินใจเปิดเพจขึ้นมา?
ใช่ค่ะ หมออยากสื่อสารสิ่งเหล่านี้
แล้วคุณหมอมีวิธีการสื่อสารข้อมูลอย่างไรให้ง่าย
หมอก็จะคิดว่าถ้าหมอเป็นคนอ่าน คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ เขาคงอยากอ่านอะไรที่เข้าใจ อ่านแล้วไม่เบื่อ เราจะไม่ใช้คำศัพท์ที่ยาก จะใช้คำที่ง่ายๆ อาจจะเขียนเหมือนเล่าอะไรให้ฟัง พยายามคิดว่าถ้าเราเป็นคนอ่านเราอยากจะอ่านแบบไหน
อีกอย่างหมอจะเขียนในสิ่งที่หมอรู้สึกชอบด้วย บางครั้งก็จะมีคนมาบอกให้หมอเขียนเรื่องโน้นเรื่องนี้ แต่ถ้าหมอไม่ถนัดหรือไม่อิน หมอก็จะไม่เขียน เพราะมันจะไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ เราจะเขียนในสิ่งที่เราเชื่อจริงๆ
เรื่องที่คุณหมอชอบส่วนใหญ่เป็นเรื่องแบบไหน
เรื่องที่หมอรู้สึกว่าเขียนได้เรื่อยๆ ทั้งเรื่องสุขภาพจิต หรือเรื่องครอบครัว การเลี้ยงลูก ก็จะอิงมาจากภาพยนตร์ ละครหรือหนังสือที่หมออ่าน
และอาจจะเขียนจากประสบการณ์ตรงที่เราเคยเจอจากเคสต่างๆ ที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาและอยากบอกคนอ่าน ว่าเราเจอแบบนี้เยอะนะ
ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหมคะ
ตอนเปิดเพจใหม่ๆ เป็นช่วงที่ซีรีส์ฮอร์โมนออกอากาศ เราก็จะเขียนประเด็นสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นคล้ายๆ กับเรื่องวัยแสบฯ มีหนังสือของหมอที่รวมบทความวิเคราะห์ตัวละครในฮอร์โมนออกมาด้วย
คนที่ติดตามเพจส่วนใหญ่เป็นใคร และมักจะปรึกษาปัญหาอะไรบ้าง
พ่อแม่เป็นส่วนใหญ่ ปัญหามักเป็นเรื่องการเลี้ยงลูก ปัญหาแบบนี้ควรทำแบบไหนอย่างไร ในขณะเดียวกันบางทีวัยรุ่นเองก็ส่งคำถามเข้ามา ว่าเขามีปัญหาแบบนี้ควรทำอย่างไรดี
ความตั้งใจหนึ่งของคุณหมอในการทำเพจ ก็เพื่อที่จะลดปริมาณคนที่เข้ามาปรึกษาด้วยใช่หรือเปล่า เพราะถ้าเขามีความรู้ก็จะสามารถช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือครอบครัวได้ก่อนที่จะมาหาจิตแพทย์ ประกอบกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยก็ขาดแคลนด้วย
ใช่ค่ะ ทำเพจตอนแรกมีแนวคิดว่าคนไข้เยอะแต่จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นยังมีน้อย ถ้าเราทำในเชิงส่งเสริมป้องกันก็น่าจะลดปริมาณคนไข้ไปได้บ้าง หรือว่าทำให้ความรุนแรงของปัญหาน้อยลงได้บ้าง
ทราบว่าการให้คำปรึกษาโดยเฉพาะกับเด็กจะรีบร้อนไม่ได้ต้องใช้เวลา แต่ละเคสใช้เวลานานแค่ไหน
ถ้าเป็นเคสใหม่ ปกติครั้งแรก เราจะให้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ซักประวัติตรวจประเมินต่างๆ ทางสุขภาพจิต วินิจฉัย ให้การดูแลรักษา และนัดติดตามแต่ละครั้งไปเรื่อยๆ
ที่เคสจิตเวชต้องใช้เวลานาน เพราะทุกปัญหามีที่มาที่ไป เป็นชีวิตที่ผ่านมาของเขา ปัญหาที่เด็กดื้อบางครั้งเราไม่ได้เห็นปัญหาแค่เฉพาะหน้า แต่เป็นปัญหาตั้งแต่เด็กเกิดมาแล้ว เป็นปัญหาเรื่องการเลี้ยงดู เกี่ยวข้องกับคนมากมาย ทั้งคุณพ่อคุณแม่ปู่ย่าตายาย โรงเรียน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องใช้เวลาเยอะ เพราะเราต้องวิเคราะห์รอบด้านแบบองค์รวม
ตอนเลือกเรียนมีปัญหาหรือข้อสงสัยอะไรบ้าง จนทำให้เลือกเรียนเป็นจิตแพทย์
โดยส่วนตัวก็ไม่ได้มีปัญหาหรือสงสัยอะไร แต่ก็รู้สึกว่าเพื่อนๆ หรือเด็กที่เราเคยเจอตอนเราเรียนมีปัญหาที่เกี่ยวกับครอบครัวค่อนข้างเยอะ
ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าถ้าเราได้ช่วยเด็กคนหนึ่งก่อนเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันก็อาจจะไม่สายเกินไปที่เราจะช่วยเขาให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่ดีและมีความสุข
คุณหมออยากเรียนหมอตั้งแต่แรกเลยหรือเปล่า
ตอนมัธยมยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร เคยอยากเรียนอักษรศาสตร์ เพราะชอบอ่านหนังสือ สนใจประวัติศาสตร์ แต่อาจจะเป็นเพราะพ่อแม่ซึ่งก็ไม่ได้คาดหวังหรือมาบังคับอะไร แต่บางทีก็แนะนำว่าเรียนแบบนี้ก็ดีนะ เราก็ลังเล ประกอบกับเคยดูงานที่โรงพยาบาลก็เห็นว่าการเป็นหมอก็น่าจะโอเคเหมือนกันนะ ได้ช่วยคน เราน่าจะชอบ ก็เลยเลือก
คุณหมอเคยผ่านการสอบไม่ติด เคยเป็นคนแพ้ ผิดหวัง เลยอยากชวนคุณหมอคุยเรื่องการศึกษาในระบบแพ้คัดออกที่เวทีมีแต่ผู้ชนะ ตรงนี้สร้างผลกระทบหรือก่อปัญหาในตัวเด็กมากน้อยแค่ไหน
ใช่ค่ะ หมอก็เคยสอบไม่ติด ตอนนั้นไปสอบเตรียมอุดมฯ เข้า ม.4 แต่สอบไม่ได้ ตอนนั้นก็เสียใจเหมือนกัน คุณพ่อก็ให้กำลังใจพาไปดูหนังที่โรงหนังสกาล่า จำได้เลย จำได้ว่ารู้สึกเสียใจแต่ไม่นานคงเพราะพ่อแม่ไม่ได้กดดันและให้กำลังใจ
เรารู้สึกว่าในระบบการศึกษาการสอบก็ยังมีบทบาทอยู่ แต่หมอคิดว่าก็ต้องดูความพร้อมของเด็กแต่ละคนด้วยถ้าเป็นเด็กโตก็ค่อนข้างโอเค แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก เด็กอนุบาลที่ต้องสอบเข้า ป.1 แล้วต้องไปสอบแนววิชาการมากๆ คิดว่าเด็กเล็กยังไม่เหมาะสำหรับการแข่งขันและไม่จำเป็นต้องผ่านการสอบแบบนี้ ควรมีเกณฑ์คัดเลือกแบบอื่นมากกว่า
โอเคอาจจะมีเด็กเล็กบางคนทำวิชาการได้เพราะพัฒนาการเร็ว แต่เด็กที่ทำไม่ได้ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เก่งหรือไม่ฉลาด บางครั้งเขาไม่พร้อม ระบบการสอบเข้าแบบนี้อาจทำให้เด็กมีความเครียด ยิ่งพ่อแม่หลายคนเครียดกว่าเด็กที่สอบอีก ซึ่งทำให้เด็กเครียดไปด้วย
ถ้าเด็กโตอาจมีความพร้อมกว่า แต่ไม่ว่าเด็กเล็กหรือวัยรุ่น สิ่งที่ทำให้เด็กผ่านความกดดันทางการเรียนไปได้คือความเข้าใจของพ่อแม่ การที่ลูกผิดพลาดพ่อแม่ไม่ได้ซ้ำเติม ไม่ต้องซีเรียสกับผลลัพธ์ที่เป็นคะแนนสอบมาก เน้นความพยายามตั้งใจดีกว่า สำหรับพ่อแม่หมอ ตอนหมอสอบไม่ติด เขาก็ผิดหวัง แต่หมอรับรู้ได้ว่าเขาเข้าใจและแบ่งปันความรู้สึกกับเราได้
นอกจากพาไปดูหนัง คุณพ่อปลอบใจว่าอะไร
จำไม่ได้เป็นคำพูด คุณพ่อไม่ใช่คนที่พูดเก่ง แต่หมอรับรู้ได้ แล้วการพาไปดูหนังกันสองคน ทั้งที่ตามปกติเราไม่เคยไปดูหนังกันสองคนมาก่อน สิ่งนี้ทำให้เรารู้ว่าเขาให้ความสำคัญกับเรา เขาเข้าใจเราในตอนนั้น
เคยย้อนกลับไปถามตัวเองไหมว่าตอนนั้นคุณหมอเสียใจเพราะอะไร เพราะสอบไม่ติดหรือเพราะทำให้พ่อแม่เสียใจ
คงเสียใจที่เพื่อนๆ กลุ่มเดียวกันกับเราส่วนใหญ่สอบเข้าไปกันเกือบหมด จะเป็นแบบนี้มากกว่า สำหรับพ่อแม่ ตอนนั้นพ่อแม่หมอก็ไม่ได้เป็นคนกดดันหมอเรื่องการเรียนอยู่แล้ว เลยไม่ได้รู้สึกว่าจะทำให้พ่อแม่เสียใจหรือผิดหวังมากมาย
นอกจากความเข้าใจของพ่อแม่ที่ทำให้เด็กฟื้นตัวเร็ว แล้วในวัยรุ่นที่กำลังเสียใจกับความผิดพลาดเรื่องเรียน อยู่แต่กับตัวเอง จะมีวิธีการดึงตัวเองหรือฟื้นกลับมาสู้ยังไงได้บ้าง
วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ร่างกายเติบโตเกือบเท่าผู้ใหญ่ แต่ยังขาดประสบการณ์ชีวิต แถมบางคนไม่เคยได้ผิดหวังอะไร พอทำผิดพลาดหรือผิดหวังสักครั้งอาจเกิดความกระทบกระเทือนมาก
หมออยากจะบอกว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมชาติ ความเสียใจเป็นเรื่องธรรมดา แต่มันก็จะผ่านไป ยอมรับความรู้สึกที่เกิด คุยกับคนที่ไว้ใจ ตั้งเป้าหมายใหม่ หาอะไรทำ
ประสบการณ์ความผิดพลาดครั้งนี้ อาจทำให้เราเข้มแข็งได้เร็วเวลามีครั้งหน้า ถ้าผ่านไปได้มันก็เป็นเหมือนวัคซีนสร้างภูมิต้านทาน ส่วนใหญ่ในชีวิตข้างหน้าการทำงานเรายังต้องเจออะไรที่ยากและผิดพลาดมากกว่าตอนที่เรายังเป็นนักเรียน
ความแตกต่างระหว่าง ‘โรคซึมเศร้า’ และ ‘โรคอยากซึมเศร้า หรือแค่เศร้า’ เราจะดูและตรวจสอบตัวเองได้อย่างไร โดยเฉพาะวัยรุ่น
หมอไม่อยากให้ใช้คำว่า ‘โรคอยากซึมเศร้า’ เพราะบางครั้งมันเป็นเหมือนการตีตราว่า “เฮ้ยเธอไม่ได้เศร้า แต่เธออยากเศร้า อยากจะเรียกร้องความสนใจหรือเปล่า” ไม่มีใครอยากเศร้าหรอก ทุกคนอยากมีความสุข
เรามักพบว่าในโลกโซเชียลหรือสังคมจริงๆ เด็กที่บอกว่าตัวเองซึมเศร้า อยากไปพบจิตแพทย์ อาจจะมีคนมาบอกว่า “ไม่ได้เป็นหรอก คิดไปเอง เธอแค่อ่อนแอ แค่เรียกร้องความสนใจ” หมอไม่อยากให้เป็นแบบนั้น
บางครั้งคนที่ซึมเศร้าไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เป็นมันคืออะไร แต่มันเป็นความรู้สึกแย่ ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นการที่เด็กมาบอก มีความรู้สึกว่าอยากจะไปปรึกษาจิตแพทย์ หมายถึงเขาขอความช่วยเหลือ มันเป็นสิ่งที่โอเคกว่าเขาไม่บอกใคร และไปหาทางออกที่ผิด
สำหรับการแยกโรคซึมเศร้ากับอารมณ์เศร้าเฉยๆ ถ้าเป็นโรคก็อาจจะมีความผิดปกติในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเรียนอย่างรุนแรง มีความคิดไม่อยากอยู่ อยากตาย แต่ถ้าเศร้าธรรมดา ก็อาจยังทำงานได้ เรียนได้ ยังทำอะไรที่ฉันชอบอยู่ได้ ไม่ถึงกับมีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง คือถ้ามันเลยจุดและมีผลต่อการใช้ชีวิตของเรา ก็อาจจะต้องเฝ้าระวังว่ามันเป็นภาวะหรือโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ไม่แน่ใจก็พบจิตแพทย์ดีกว่า
คำว่าจิตวิทยาและเด็กมีความสัมพันธ์กันอย่างไร และช่วยอธิบายกันและกันได้อย่างไร
บางครั้งผู้ใหญ่ชอบคิดว่าเด็กไม่น่าจะมีปัญหาสุขภาพจิตหรือโรคจิตเวชหรอก เพราะเด็กอายุแค่นี้เอง น่าจะมีความสุขสนุกสนาน แต่จริงๆ เด็กและวัยรุ่นก็มีปัญหาทางสุขภาพจิต เด็กก็เครียดเป็น ดังนั้นเรื่องของจิตวิทยาและจิตเวชในเด็กก็ยังมีความสำคัญที่เราจะต้องทำความเข้าใจ
มีการศึกษาที่บอกว่า ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพจิตที่ดีได้ มักผ่านช่วงเวลาการเป็นเด็กที่มีสุขภาพจิตดีมาก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องจิตวิทยาเด็กจึงมีความสำคัญ