- ทารกแม้จะยังพูดไม่ได้ แต่มีความพยายามในการสื่อสารกับพ่อแม่และต้องการการตอบสนอง แม่ที่ทำสีหน้าเรียบเฉยใส่ลูกชั่วขณะหนึ่ง ส่งผลให้เด็กรู้สึกขาดการสื่อสารเชื่อมโยงกับแม่ เด็กจะแสดงความเครียดและร้องไห้ออกมา
- และแม้ว่าแม่ที่กำลังส่งเสียงหยอกล้อ แต่ไม่ตรงกับอากัปกิริยาที่ลูกสื่อสาร ผลก็ออกมาเช่นเดียวกับการทดลองสีหน้าไร้อารมณ์
- ความรู้สึกว่าพ่อแม่ ‘มองเห็น’ คือฐานอิฐอันมั่นคง ส่งให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตขึ้นมาอย่างตระหนักถึงคุณค่าในตนเองซึ่งพัฒนาตั้งต้นมาจากความเข้าใจในตัวเอง
สมองเป็นอวัยวะที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างและตอบสนองแรงกระตุ้นในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนโดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นและตอบสนองการเรียกร้องที่ส่งมาด้วยในคราวเดียวกัน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นจิตใจซึ่งอยู่ภายใต้การทำงานอันซับซ้อนของสมอง
นับตั้งแต่แรกเกิด จิตใจจะค่อยๆ พัฒนาการรับรู้ตัวตน (sense of self) ขึ้น ผ่านการเรียกร้องและการตอบสนองจากการมีปฏิสัมพันธ์ในสภาวะแวดล้อมที่เขาได้รับการฟูมฟักจากพ่อแม่
ศาสตราจารย์โคลวิน เทรวาร์เธน (Colwyn Trevarthen) แห่ง มหาวิทยาลัยเอดินเบอระห์ (University of Edinburgh) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปฐมวัยของโลกหยิบงานวิจัย ‘Still-Face Experiment’ หรือการทดลองสีหน้าไร้อารมณ์อันโด่งดังของ ดร.เอดเวิร์ด โทรนิค (Dr.Edward Tronick) แห่ง มหาวิทยาลัยแมสซาชูเสตส์ (University of Massachusetts) มาสานต่อ จากเดิมที่งานนี้เคยพิสูจน์ว่าเด็กทารกแม้จะยังพูดไม่ได้ แต่มีความพยายามในการสื่อสารกับพ่อแม่และต้องการการตอบสนอง แม่ที่ทำสีหน้าเรียบเฉยใส่ลูกชั่วขณะหนึ่งยังผลให้เด็กรู้สึกขาดการสื่อสารเชื่อมโยงกับแม่ แสดงความเครียดและร้องไห้ออกมา
ในการทดลองของศาสตราจารย์เทรวาร์เธน ให้แม่กับลูกสื่อสารกันผ่านหน้าจอมอนิเตอร์โดยแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกเป็นการสื่อสารแบบ interactive คือลูกกับแม่สื่อสารและตอบสนองกันในคราวเดียวกัน ต่อมาใช้การรันเทปใบหน้าแม่บนหน้าจอไม่ใช่การโต้ตอบจริง เมื่อภาพแม่ที่กำลังส่งเสียงหยอกล้อไม่ตรงกับอากัปกิริยาที่ลูกสื่อสาร ผลก็ออกมาเช่นเดียวกับการทดลองสีหน้าไร้อารมณ์ คือเด็กน้อยเกิดความรู้สึกเครียดและร้องไห้เช่นเดียวกัน
สาเหตุที่ศาสตราจารย์เทรวาร์เธนทำการศึกษา เพราะต้องการอธิบายให้ลึกซึ้งขึ้นว่าที่จริงแล้วทารกไม่ได้ต้องการเพียงแค่สื่อสารความปรารถนาเพื่อถูกเติมเต็มเพียงอย่างเดียว สิ่งที่เขารอคอยที่จะได้รับกลับมาพร้อมกันด้วยคือการตอบสนองที่สะท้อนถึงการมีตัวตนของเขา (sense of self) ซึ่งยึดโยงคุณค่าความสำคัญที่เขามีเข้ากับบริบทสังคมรอบตัว และสิ่งนี้จะถูกเติมเต็มได้ก็ต่อเมื่อส่งสัญญาณบางอย่างออกไป แล้วได้รับการตอบสนองที่สื่อว่าพ่อแม่ ‘มองเห็น’ ความต้องการของเขาและรับรู้ถึงความรู้สึกที่ถ่ายทอดไปอย่างเข้าอกเข้าใจกลับมา
ตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเฉพาะหน้าและสอดคล้อง
นายแพทย์เดเนียล เจ. ซีเกล (Daniel J. Siegel) และอาจารย์แมรี ฮาร์ทเซลล์ (Mary Hartzell) ผู้เขียน Parenting from the Inside Out อธิบายหลักการสื่อสารที่สะท้อนการมีตัวตนและตอบสนองความต้องการของลูกด้วยคำว่า contingency and coherence หรือ สื่อสารอย่างไรให้ ‘ตอบสนองได้อย่างเฉพาะหน้าและสอดคล้องกับความรู้สึกของลูกที่เกิดขึ้นในชั่วขณะนั้น’
คำว่าเฉพาะหน้า (contingency) หมายถึงการตอบสนองต่อสัญญาณที่ลูกส่งมาให้ในขณะนั้นได้อย่าง ‘ตรงจังหวะพอดี’ อย่างในการทดลองช่วงแรกของศาสตราจารย์เทรวาร์เธน ที่แม่และลูกโต้ตอบรับส่งกันแบบทันที หรือเช่น เวลาลูกชี้มือไปที่ต้นไม้อย่างสงสัยแล้วพ่อแม่ตอบสนองอากัปกิริยานั้นด้วยการหันไปตามที่เขาชี้แล้วเอ่ยถามว่า “มีอะไรเหรอลูก”
แต่การสื่อสารที่ตอบสนองอย่างเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่อาจทำให้การรับรู้ตัวตนพัฒนาไปสู่การเข้าใจคุณค่าความหมายในตนเองได้ หากการตอบสนองนั้นไม่ได้สอดคล้อง (coherence) กับความต้องการที่แท้จริง
เช่นในสถานการณ์ทารกร้องไห้เพราะผ้าอ้อมเปียกชื้นไม่สบายตัว พ่อแม่ที่ได้ยินเสียงร้องและใช้เวลาตรวจตราหาสาเหตุว่าลูกร้องเพราะอะไร เมื่อเข้าใจและเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ เขาก็จะได้รับการตอบสนองเฉพาะหน้าและสอดคล้องกับความต้องการด้วย
ประสบการณ์ที่หนูน้อยเรียนรู้คือ 1) ต้องการความช่วยเหลือเพราะรู้สึกไม่สบายตัว 2) พ่อแม่ปลอบโยนและเข้าใจความต้องการ 3) ปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่เชื่อมโยงสอดคล้องกับการรับรู้
ในทางกลับกัน หากไม่เข้าใจว่าลูกร้องทำไมแล้วตอบสนองเฉพาะหน้าโดยการพยายามหยอกล้อ ป้อนนมหรือกล่อมนอน สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือ 1) ต้องการความช่วยเหลือเพราะไม่สบายตัว 2) พ่อแม่ไม่เข้าใจและตอบสนองไปคนละทางกับความต้องการ 3) ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นไม่เชื่อมโยงสอดคล้องกับสิ่งที่ตนรับรู้ รูปการณ์นี้หากดำเนินต่อเนื่องนานๆ เข้า เด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าเขาไว้ใจและคาดหวังความเข้าใจจากการสื่อสารกับพ่อแม่ไม่ได้
แม้บางสถานการณ์ลูกอาจไม่ต้องการมากไปกว่าการที่พ่อแม่ตอบสนองเขาอย่างเฉพาะหน้า เช่น พยักหน้าเวลาเขาเล่า สบตาเขาเพื่อสื่อว่ากำลังฟังอยู่นะ ไม่เล่นมือถือไปด้วยพูดกับเขาไปด้วย แต่ขอให้ระวังว่าในสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อน เช่น ตอนเขากำลังผิดหวังเสียใจ หรือโมโห การสื่อสารเฉพาะหน้าโดยไม่เข้าใจว่าในตอนนั้น จริงๆ แล้วลูกกำลังรู้สึกอย่างไร แล้วตอบสนองไปโดยไม่ได้สอดคล้องกับความรู้สึกเขา ก็อาจกลับกลายเป็นการทำร้ายจิตใจได้เช่นกัน
ในงานเขียนหรือบทความแนว Parenting ทุกชิ้นไม่มีชิ้นไหนไม่กล่าวถึงการสร้างสายสัมพันธ์หรือความผูกพัน (connection) ให้เกิดขึ้นในครอบครัว และใจความสำคัญอันดับหนึ่งคือไม่มีทฤษฎีหรือหลักการสร้างคนใดจะทัดเทียมเท่าความรักความผูกพันอันเป็นสายสัมพันธ์ในครอบครัวไปได้เลย
พึงระลึกอยู่เสมอว่าความผูกพันที่ลูกจะมีกับพ่อแม่และครอบครัวได้ ก่อนอื่นเขาต้องรับรู้ว่าผู้ใหญ่ในบ้านเข้าใจและใช้เวลากับเขาอย่างมีคุณภาพเพียงพอ สร้างพื้นที่ที่เขารู้สึกสบายใจและให้เรียนรู้ธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันซึ่งอาจมีกระทบกระทั่ง ไม่ลงรอยกันบ้าง พร้อมกับเปิดโอกาสให้เขาแสดงความรู้สึกและรับฟังอย่างจริงใจ
สายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในใจเด็กที่ได้รับความรักความเข้าใจเต็มเปี่ยม เป็นพื้นฐานอันมั่นคงของการตระหนักถึงคุณค่าในตนเองซึ่งพัฒนาตั้งต้นมาจากความเข้าใจในตัวเอง (self-knowledge) และการเลี้ยงดูของพ่อแม่ว่าฟูมฟักเขามาในบริบทใด หากพ่อแม่ไม่ใกล้ชิดลูกเพียงพอจะสร้างความผูกพัน หรือสื่อสารแค่เฉพาะหน้าแต่กลับไม่เคยเข้าใจและตอบสนองความต้องการที่แท้จริงเลย การเรียนรู้ตัวตนของเขาย่อมเป็นไปโดยไม่สามารถเชื่อมโยงต่อติดกับพ่อแม่ได้
เปลี่ยนจากปฏิเสธเป็นตอบสนองอย่างเกื้อกูล สอดคล้องกับความรู้สึกลูก
คุณพ่อคุณแม่ที่อ่านอยู่คงจะคิดว่า ทุกวันนี้ลำพังพูดกับลูกให้จบประโยคยังยาก เรื่องการจะสื่อสาร ‘ตอบสนองอย่างสอดคล้อง’ น่าจะเป็นเรื่องท้าทายมากพอดู บ่อยครั้ง พ่อแม่อดไม่ได้ที่จะใช้สายตาและประสบการณ์ของผู้ใหญ่เข้าไปห้ามปราม หรือตัดสินสิ่งที่เขาคิด
ยกตัวอย่าง อาการ ‘อกหัก’ ของวัยรุ่นวุ่นรัก เห็นลูกกินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่เป็นอาทิตย์ ข้าวปลาไม่กิน ครั้นพอลูกบอกว่า “ผมรักเขา” พ่อแม่ฟังแล้วหัวเราะใส่ยังไม่พอ ยังปฏิเสธเขาอีกว่า “โธ่เอ๊ย! นี่ไม่ใช่ความรัก นี่เรียกว่าหลง! ลูกแค่หลงเขาแบบเด็กๆ” ประโยคทำนองนี้ฟังดูคุ้นๆ ใช่ไหม
หรือบางครั้งใช้การปฏิเสธความรู้สึกลูกเพียงเพื่อปลอบโยนหรือเบี่ยงเบนความสนใจ อย่างเช่น เวลาลูกหกล้มร้องไห้ก็ปลอบว่า “ไม่เจ็บนะๆ ไม่ต้องร้อง” หรือเมื่อเขางอแงชี้ไปที่ของเล่นที่อยากได้แล้วเราบอกว่า “ไม่เอานะ หนูมีอันนี้แล้ว หนูไม่อยากได้อีกหรอก”
นายแพทย์ซีเกล และอาจารย์ฮาร์ทเซลล์ กล่าวว่า ความรู้สึกต้องการที่พึ่งของลูกมักถูกตีกลับด้วยการปฏิเสธความสำคัญ เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่คิดว่าตนเองอาบน้ำร้อนมาก่อนจึงมองความไร้เดียงสาของเขาว่าไร้สาระ หรือการปฏิเสธว่าความรู้สึกของเขานั้น ‘ไม่จริง’ โดยหารู้ไม่ว่าเป็นการสุมไฟอารมณ์โมโหให้ลุกโชนขึ้น บางคนอาจเรียกร้องความสนใจโดยการทำเรื่องเลวร้ายหรือบางคนเรียนรู้ที่จะปิดใจไม่เล่าปัญหาหรือความรู้สึกให้พ่อแม่ที่ ‘ไม่เข้าใจ’ เขาฟังอีกต่อไป
ทางที่ดีที่สุดที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลูกบอกความรู้สึกหรือความต้องการคือ ใช้ การสื่อสารแบบเกื้อกูล (Pathway to Collaboration) คือ
1) รับฟังความต้องการของลูกอย่างตั้งใจ (explore) ให้ความสำคัญแม้กับปัญหาที่เราอาจไม่อินด้วย ไม่ฟังไปแกนๆ และทำอย่างอื่นไปด้วย
2) พยายามเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่แท้จริงของลูก (understand) ปากบอกว่าโอเค แล้วสีหน้าแววตาท่าทางโอเคจริงรึเปล่า อย่าละเลยภาษากายที่บ่งบอกว่าเขากำลังเป็นทุกข์
3) เป็นพวกเดียวกับเขา (join) โดยการรับฟังและเข้าใจความรู้สึกจากในมุมของเขาโดยไม่หักหาญน้ำใจ ตัดสินชี้นำ หรือตั้งแง่ปฏิเสธ
ลองเปลี่ยนคำปฏิเสธเป็นการตอบสนองที่เกื้อกูลและสอดคล้องกับความรู้สึกลูก สื่อสารอย่างไรให้เขาก้าวผ่านและเติบโตจากมัน เมื่อเขาอกหักปลอบเขาใหม่ว่า “อกหักเป็นเรื่องธรรมชาติ! ลองให้เวลาตัวเองทบทวนดูว่าความเสียใจครั้งนี้เปลี่ยนความคิดและตัวตนของลูกยังไง แล้วถ้าอยากเล่า พ่อเองก็อยากฟังนะว่าลูกเรียนรู้อะไรจากมันบ้าง” หรือปลอบโยนลูกที่หกล้มว่า “เมื่อกี้หนูสะดุดขาโต๊ะตัวนี้เข้าน่ะ เลยล้มเข่ากระแทกพื้น คงตกใจสินะ ตอนนี้เจ็บเข่าใช่ไหมจ๊ะ” และในสถานการณ์ของเล่นชิ้นใหม่ซึ่งเหมือนชิ้นที่มีอยู่แล้ว แทนที่จะปฏิเสธ ลองถามเขาดูก่อน “ของเล่นชิ้นนี้หน้าตาคล้ายที่บ้านจัง สงสัยหนูคงชอบมันมาก บอกแม่หน่อยสิจ๊ะว่าหนูชอบมันตรงไหน” (แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำบันทึกของขวัญที่อยากได้เอาไว้ และให้สิทธิเขาเลือกชิ้นใดชิ้นหนึ่งที่อยากได้มากที่สุดในวันสำคัญและในงบที่เหมาะสม)
ถ้าตอบสนองด้วยความเข้าใจ ให้เด็กกล้าที่จะรู้สึกและเปิดเผยสิ่งที่ตนคิดฝันหรือต้องการจริงๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตำหนิ ตัดสินหรือปฏิเสธตั้งแง่ และพ่อแม่ก็มีลิมิตเพียงพอว่าจะไม่ลงเอยที่สปอยล์ตามใจ ครอบครัวจะสร้างสมดุลในความสัมพันธ์ขึ้นได้เพราะลูกจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่ได้เล่าความจริง และอุ่นใจว่าอย่างน้อยแม้ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการเสมอทุกครั้งไปก็ตาม ผู้ใหญ่ในบ้านก็พร้อมที่จะรับฟังเขาอย่างเปิดใจเสมอ
อย่าโกหกสมองซีกขวา
เราอาจผ่านตาเรื่องการทำงานของสมองทั้งสองซีกมาบ้างว่าฝั่งซ้ายดูแลการคิด ใช้เหตุผลตรรกะ และฝั่งขวาดูแลส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกเป็นหลัก การสื่อสารเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงานของสมองทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะอากัปกิริยาหรือภาษากายซึ่งเป็นการสื่อสารในระดับจิตใต้สำนึกสามารถสร้าง impact ต่อความรู้สึกได้มากกว่าคำพูด
สมมุติลูกเห็นแม่ที่กำลังร้องไห้แล้วถามว่า “แม่เป็นอะไรคะ ร้องไห้ทำไม” แต่แม่กลับฝืนยิ้มตอบลูกทั้งน้ำตาว่า “ไม่เป็นไรเลยจ้ะ ทุกอย่างเรียบร้อยดี” อากัปกิริยาสวนทางกับคำพูดแบบนี้อาจไม่เพียงสร้างความสับสน คับข้องใจ เพราะน้ำตาของแม่โกหกสมองซีกขวาไม่ได้ มันรับรู้ได้ทันทีว่าแม่กำลังทุกข์หนัก ด้วยวิธีสื่อสารแบบไม่ตรงไปตรงมานี้ มันคล้ายจะบอกว่าแม่ไม่ต้องการบอกเรื่องสำคัญบางอย่างกับเขาเพราะเขาไม่มีค่าพอ
ภาษากายหรืออากัปกิริยาคือรหัสภาษาที่ถูกตีความโดยสมองซีกขวาซึ่งเชื่อมต่อกับลิมบิกหรือพื้นที่รับความรู้สึกโดยตรง สมองของเราจึงสามารถแปลความรู้สึกของอีกฝ่ายจากกิริยาท่าทางได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้คำพูดอธิบาย ในขณะที่คำพูดคือรหัสสัญญาณที่ถูกส่งและตีความโดยสมองซีกซ้าย ถ้าคำพูดและอากัปกิริยาถูกส่งมาอย่างสอดคล้องกัน สมองทั้งสองซีกก็จะเข้าใจและตีความสัญญาณนั้นว่าปกติ แต่ถ้ามาแบบขัดแย้งกันอย่างข้างต้น สมองก็จะทักท้วงทันทีว่ามีบางอย่างไม่โอเค
การปิดบังความรู้สึกแย่ๆ ด้วยคำพูดตรงกันข้ามรังแต่จะสร้างกำแพงที่มองไม่เห็น หากอยากสร้างความรู้สึกผูกพันไว้เนื้อเชื่อใจกับลูก ไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าพ่อแม่เปิดเผยความรู้สึกอย่างซื่อตรงจริงใจ ให้เขามีส่วนร่วมทั้งความรู้สึกด้านบวกเมื่อตื่นเต้น ภูมิใจ ดีใจ เวลารู้สึกโกรธ เสียใจ กลัวหรือผิดหวังก็แบ่งปันความรู้สึก และเล่าที่มาที่ไปให้เขารับรู้ไปตามตรงอย่างจริงใจด้วยจะดีกว่า คุณค่าในตนเองของเขาจะเบ่งบานขึ้นได้จากการถูกยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
Our sense of ‘I’ is profoundly influenced by how we belong to a ‘we’
ตัวตนของความเป็น ‘ฉัน’ คือผลลัพธ์อันลึกซึ้งจากการเป็นส่วนหนึ่งของการเป็น ‘เรา’
นายแพทย์ซีเกล ชี้ว่าในเด็กเล็กสมองซีกขวาจะยิ่งไวต่อการสื่อสารด้านอารมณ์และมีพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิด การสื่อสารด้วยท่าทางและอากัปกิริยาจึงมีผลต่ออารมณ์และจิตใจตั้งแต่ยังแบเบาะ สมองของเขาสามารถรับรู้การสัมผัส สายตา เสียงหัวเราะของพ่อและแม่ได้ทันที
ทั้งนี้ขอสรุปพัฒนาการในช่วงปฐมวัยอันน่าสนใจของสมองฝั่งนี้ให้พ่อแม่หรือคุณครูที่ดูแลเด็กช่วงปฐมวัยได้ทราบดังนี้
- ขวบปีแรกและปีที่สอง ทารกจะใช้งานและมีพัฒนาการของสมองซีกขวาเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการสื่อสารที่ควรเน้นหนักคือการ ‘แสดงออกถึงท่าทางและอากัปกิริยา’ ของความรักความใกล้ชิดผูกพัน เช่น กอดหอม สัมผัส การใช้เวลากับเขาให้มากๆ เอาใจใส่ใกล้ชิด
- วัยก่อนเข้าเรียน สมองซีกซ้ายและขวายังเชื่อมประสานกันได้ไม่เต็มที่ เด็กในวัยนี้จะยังไม่สามารถอธิบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ชัดเจน ประกอบกับสมองซีกขวาทำงานมากกว่าซีกซ้าย สภาวะอารมณ์และการแสดงออกทางพฤติกรรมจึงเข้มข้นรุนแรงเหมือนเด็กเจ้าอารมณ์งอแงเอาแต่ใจ การอบรมสั่งสอนด้วยวาจาจะยังไม่เกิดประสิทธิผลเต็มที่กับเด็กในวัยนี้ การดุหรือห้ามปรามไม่ให้แสดงอารมณ์ความรู้สึกที่ปะทุขึ้นมาอาจกลายเป็นการปิดกั้นการแสดงความรู้สึกและเหมือนบอกเขากลายๆ ว่า เขาเป็นสิ่ง ‘เลวร้าย’ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือปลอบโยนอารมณ์เขาให้เบาลงด้วยภาษากาย เช่น สัมผัส ลูบหัวลูบหลัง มองสบตา พยักหน้าอย่างเข้าใจ
- การศึกษาในโรงเรียน มักโฟกัสที่การใช้งานสมองซีกซ้ายเป็นหลัก ผู้ใหญ่อย่างเราจึงถูกขัดเกลาให้กลายเป็นคนที่คุ้นชินแต่กับความสำคัญของหลักเหตุผลและคำพูด แล้วละเลยความสำคัญของสมองซีกขวาที่กุมบังเหียนความยับยั้งชั่งใจ การรู้จักตัวเอง และความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พ่อแม่ควรหาพื้นที่สมดุลในการส่งเสริมทักษะการคิดที่ช่วยพัฒนาสมองซีกซ้ายพร้อมกับบ่มเพาะพัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจ ด้วยการให้ความอบอุ่นใกล้ชิดและความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของเขา
การสื่อสารที่บั่นทอนความสัมพันธ์กับลูก
ข้างต้นเราเกริ่นถึงวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันไปแล้ว มาดูการสื่อสารที่ตรงกันข้าม ซึ่งเป็นการสื่อสารที่บั่นทอนความสัมพันธ์
รูปแบบของการสื่อสารที่บั่นทอนคือ
ตัวอย่างหนึ่งในหนังสือ Parenting from the Inside Out คุณครูประจำชั้นรายงานคุณแม่ที่เพิ่งพาลูกสาววัยสิบขวบย้ายมาโรงเรียนใหม่ได้เดือนกว่าว่าลูกยังไม่มีเพื่อนใหม่เลยสักคน เมื่อแม่ไปรับหลังจากกิจกรรมช่วงบ่าย ลูกขึ้นรถมาด้วยผมเปียเนี้ยบเหมือนเมื่อเช้าในขณะที่เพื่อนร่วมชั้นเดินเหงื่อโซมหัวหูยุ่งกันออกมา แม่รู้สึกกังวลและนึกอยากช่วยให้ลูกเปิดใจกับเพื่อนและสิ่งแวดล้อมใหม่จึงกระทุ้งถามไปว่า “ลูกได้เล่นกับเพื่อนบ้างไหมเนี่ย” “วันๆ ได้คุยกับคนอื่นบ้างรึเปล่า”
คำถามแนวนี้คือการถามแบบสอบสวนคาดคั้น ซึ่งเอาจริงๆ ไม่ได้ต้องการคำตอบจากลูกหรอกว่าเขาเล่นหรือไม่ได้เล่นกับเพื่อน มันแฝงนัยยะของการสั่งให้เขาพยายามหาเพื่อนใหม่บ้างต่างหาก แม้ความเป็นผู้ใหญ่อาจบอกให้เราเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงด้วยการเดินหน้าให้เร็วที่สุด แต่การสื่อสารแบบนี้กับลูกยิ่งเป็นการผลักไสให้เขาไปยืนบนชายขอบของเหวลึกด้วยความไม่มั่นใจ
กับเด็กแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่ทันปรับตัวบวกกับความรู้สึกสงสัยว่าทำไมต้องย้ายโรงเรียน การลาจากเพื่อนสนิท พ่อแม่ต้องมองในมุมเขาแล้วแบ่งปันความรู้สึกเหล่านั้น ควรเลือกคำถามที่ช่วยกระตุ้นความคิดใหม่ๆ แง่มุมที่เขาอาจยังไม่ได้สำรวจถี่ถ้วนเช่น “วันนี้เป็นยังไงบ้างจ๊ะ เจอสิ่งที่ชอบบ้างรึยัง เห็นว่ากิจกรรมเยอะน่าดู บรรยากาศต่างกับที่เก่ามากไหม เพื่อนๆ เป็นยังไงบ้าง เล่าให้แม่ฟังหน่อย”
ที่สำคัญคือระวังอย่าใช้การตัดสินหรือเปรียบเทียบลูกในทำนองว่าคงดีกว่านี้ถ้า…หรือดูอย่างคนนั้นสิ… “ถ้าลูกยิ้มแย้มกว่านี้ แม่ว่าเพื่อนๆ เขาคงอยากเล่นกับลูกบ้างแหละ นี่เล่นทำตัวแบบนี้ใครจะอยากเป็นเพื่อนด้วย” หรือ “ดูอย่างน้องน้ำมนต์สิ ยิ้มง่าย เข้าง่ายกับคนอื่น ทำไมลูกไม่เป็นอย่างเขาบ้าง” การตัดสินหรือเปรียบเทียบเป็นการบอกเขาทางอ้อมว่าแม่กำลังผิดหวังในตัวเขาเพราะเขาไม่ดีพอ
อีกข้อที่ต้องชั่งใจให้ดีคือทำอย่างไรจึงช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเองโดยพ่อแม่ไม่ออกไปรับหน้าหรือลงมือแทนเขาเสียเอง การปกป้องลูกจนเกินไปยังผลได้สองทางคือลูกขาดความเชื่อมั่นในตนเอง กลายเป็นคนกลัวทำผิดเมื่อเจอปัญหาเพราะรู้สึกไม่ได้รับความไว้วางใจ กับสุดโต่งอีกแบบไปเลยคือทำผิดแล้วไร้สำนึกรับผิดชอบเพราะพ่อแม่คอยปกป้องอยู่เสมอ
ในตัวอย่างของลูกสาวที่ยังไม่กล้าเข้าสังคมกับเพื่อนใหม่ การยื่นมือเข้าไปแก้ปัญหาของพ่อแม่โดยการจับมือลูกเดินดุ่มๆ เข้าไปในวงเพื่อนที่เล่นกันอยู่พลางเอ่ยปากขอเล่นด้วยแทนลูก หรือ ชวนเพื่อนๆ มาที่บ้านโดยเขาไม่ต้องการ นอกจากเป็นการไม่เคารพความรู้สึกนึกคิดของเขา ยังเป็นการล่วงล้ำความรู้สึกไม่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้วซ้ำเดิมไปอีก
ความช่วยเหลือในขอบเขตที่ควรทำคือยอมรับฟังความรู้สึกที่แท้จริงของเขาและให้เวลาเขาได้ปรับตัว เทอมแรกอาจเป็นฝันร้าย แต่เวลาจะนำพาความตื่นเต้น เรื่องราวแปลกใหม่เข้ามาเอง ขอจงเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างเพื่อรับฟังทุกข์สุขของเขาอย่างเข้าใจ
วันวานในวัยเด็กของเราเคยต้องการความรักความเข้าใจจากผู้ใหญ่อย่างไร วันนี้วัยเด็กของลูกก็ยังต้องการความรักความเข้าใจเหมือนเดิมอย่างนั้น เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย สิ่งที่เพิ่มเติมคือพ่อแม่ต้องรู้จักปรับจูนการสื่อสารให้หมุนตามไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่ ก้าวให้ทันยุคสมัยและเข้าไปอยู่ในโลกใบเดียวกับเขาด้วยความเข้าใจ ให้พื้นที่อิสรภาพบนพื้นฐานของสายสัมพันธ์ในครอบครัวที่มั่นคง เพราะเขาอาจต้องสู้กับสิ่งล่อตาล่อใจซึ่งไปไกลกว่าจุดที่พ่อแม่หลายคนเคยรู้จักและเข้าใจมากมายนัก
สายสัมพันธ์และความรักความอบอุ่นที่สื่อสารถึงกันและกันในครอบครัว คือสิ่งยึดเหนี่ยวอันทรงพลังหนึ่งเดียวที่จะสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจของลูกให้แข็งแรง และสามารถต้านทานความป่วยไข้ที่แฝงมากับโลกยุคใหม่นี้ได้