- การแสดงละครสร้างสรรค์ หรือ Creative Drama เป็นรูปแบบการแสดงละครที่เรียบง่าย (แต่เอาจริงเอาจัง) นักแสดงแสดงผ่านความเข้าใจ ไม่มีบทละครหรือสคริปต์ที่ต้องท่องจำ และไม่เน้นแสดงเพื่อผู้ชมภายนอก ผลัดกันแสดงและผลัดกันชม
- ผลลัพธ์สำคัญที่ได้จากละครสร้างสรรค์คือ ‘การค้นพบตัวเอง’ รู้ว่าตำแหน่งแห่งที่บนโลกใบนี้อยู่ตรงไหน ถ้าเจอจะรู้สึกว่ามั่นคง เมื่อมีความมั่นคงในจิตใจแล้ว การตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตจะดีขึ้น
- ความงดงามของละครสร้างสรรค์คือ เอาสิ่งที่เห็นในละครมาคุยต่อว่าเกิดอะไรขึ้น มักเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบถูกที่สุด มีแค่การตัดสินใจ สุดท้ายมันแค่การเลือก ที่อยู่บนพื้นฐานของ ‘ความรู้’ และการตรวจสอบ ‘ข้อเท็จจริง’ ดังนั้นทุกคนต้องใช้วิจารณญานในการเลือก
‘ละครสร้างสรรค์ หรือ Creative Drama’ คำๆ นี้ดูไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ในอีกโลกหนึ่ง โลกของนักการละครและนักการศึกษา คำว่า ละครสร้างสรรค์ หรือ Creative Drama มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้นมาก และกว่าจะเข้าใจความหมายทั้งหมด ต้องเรียนและศึกษาอย่างจริงจัง
The Potential จึงชวน ครูแพท หรือ ผศ.ดร.ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และ เอก ด้านการละครจากสหรัฐอเมริกามาโดยตรง และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก ‘ละครสร้างสรรค์’ (ตลอดจน การทำละครเวทีแนวทดลอง และการวิจัยด้านละครเวที) ในเมืองไทย มาให้ความรู้และอธิบายถึงความสำคัญมากๆ ของวิชาละครสร้างสรรค์ ในฐานะเครื่องมือที่พัฒนามนุษย์ทั้งภายนอกและภายใน
และชวนตั้งคำถามว่า “ละครสร้างสรรค์มีอะไรดีที่ทุกคนควรจะได้รู้”
Creative Drama คืออะไร
Creative Drama เป็นคำเฉพาะทาง และใช้ตัว C ใหญ่กับ D ใหญ่เสมอ และไม่ใช่ศัพท์ที่มีในพจนานุกรม เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในฝั่งอเมริกา ขณะที่ฝั่งอังกฤษนิยมใช้คำว่า Drama-In-Education (D.I.E)
แนวคิดการใช้ ‘การเล่นละคร’ มาเป็นส่วนหนึ่งในห้องเรียนอย่างจริงจังนั้น เริ่มต้นมาจากนักการศึกษาในช่วง 1920 ในสหรัฐที่มองว่า “การศึกษาที่สมบูรณ์นั้น ต้องช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม หรือ จิตใจ” ซึ่งแนวคิดนี้อยู่ขั้วตรงข้ามกับการศึกษากระแสหลักในยุคนั้นที่มุ่งไปที่การพัฒนาความรู้โดยมีครูเป็นศูนย์กลางอำนาจในห้องเรียน
ปี 1960 นักการศึกษาชื่อ ดร.เอ็ดการ์ เดล (Dr.Edgar Dale) ทำวิจัยเพื่อตอบคำถามว่า “มนุษย์เรียนรู้จากเครื่องมือใดได้มากที่สุด” ก่อนจะพบคำตอบว่า อันดับ 1 คือ การลงมือปฏิบัติกับของจริง รองลงมาคือ ทดลองกับวัตถุจำลอง และอันดับ 3 คือ การแสดงละครหรือนาฏกรรม (dramatic action) โดยให้ผู้เรียนได้สวมบทบาทสมมุติ
นักการละคร นักการศึกษา นำผลการวิจัยนี้ไปพัฒนาต่อเนื่องจนทศวรรษ 1930 คำว่า Creative Drama จึงเกิดขึ้นครั้งแรกและกลายเป็นศาสตร์สำคัญเพื่อพัฒนา ‘ผู้เรียน’ จุดสำคัญของการทำ ‘ละครสร้างสรรค์’ จึงไม่ได้อยู่ที่การทำการแสดงบนเวที เพื่อให้ความบันเทิงกับผู้ชม แต่กลายเป็น ‘การแสดง’ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อการเรียนรู้เฉพาะผู้มีส่วนร่วมในกลุ่มปิด
ละครเวที (Theatre Production) เป็นการทำการแสดงเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบมากที่สุด แต่ละครสร้างสรรค์ หรือ Creative Drama เป็นรูปแบบการแสดงละครที่เรียบง่าย (แต่เอาจริงอาจัง) ใช้อุปกรณ์การแสดงที่หาได้ง่าย นักแสดงแสดงผ่านความเข้าใจสถานการณ์ของตัวละคร จึงไม่มีบทละครหรือสคริปต์ที่ต้องท่องจำ การแสดงละครสร้างสรรค์ยังแสดงเพื่อให้เพื่อนร่วมกิจกรรมด้วยกันชม ไม่เน้นแสดงเพื่อผู้ชมภายนอก พูดง่ายๆ คือผลัดกันแสดงและผลัดกันชม
อีกทั้งพื้นที่ที่ใช้แสดงก็ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากการถูกตัดสินหรือจับจ้อง อนุญาตให้ผิดพลาดได้ สามารถทดลองทำท่าทางและพูดบทตามที่เราคิดเอง (เรียกว่าการด้นสด หรือ verbal improvisation) จะไม่มีคนโกรธเราหรือล้อให้อาย มันคือพื้นที่ปลอดภัยที่เรา set zero ขึ้นมาใหม่และใช้เป็นกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นมิตร แต่ในส่วนของคุณภาพการแสดง (acting) นั้น ก็จะมีกระบวนการพัฒนาไปสู่ระดับที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ถึงขั้นดีมากได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอาจจะสะเปะสะปะได้ หรือไม่เกิดการเรียนรู้อะไรเลยหากปราศจากขั้นตอนที่นำไปสู่จุดคิดวิเคราะห์ที่ดี ดังนั้นการใช้ ‘กระบวนการ (process)’ หรือแผนการสอนที่ถูกวางแผนและออกแบบมาอย่างดีโดยผู้สอน หรือ ‘กระบวนกร’ หรือ ‘ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator)’ ในการเรียนรู้ จึงสำคัญมากสำหรับละครสร้างสรรค์
ทำไมครูแพทถึงสนใจเรื่องละครสร้างสรรค์
วิชาแรกที่ได้เรียนสมัยที่ไปเรียน ป.ตรีด้านการละครที่ Hunter College ที่ New York คือวิชา Creative Drama กับ อาจารย์แพทริเซีย สเติร์นเบิร์ก (Patricia Sternberg) ทำให้เรารู้สึกทึ่งกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับตัวเราเอง การเรียนวิชานี้ ทำให้เรากล้าที่จะแสดงออกทางความคิด ผ่านการพูด การฟัง การเขียน การแสดง ด้วยความสุขสนุกสนาน
ต่อมา สมัยเรียน ป.โท Master of Fine Arts (ด้านการกำกับการแสดงและละครเพื่อเยาวชน) ที่ Arizona State University ไปเรียนเพื่อกำกับละครเวที แต่ก็ได้เรียนเพิ่มวิชาเกี่ยวกับที่จะประยุกต์ใช้กับเด็กและเยาวชนเข้าไปอีก เช่น ละครสร้างสรรค์ขั้นสูง ละครเพื่อเด็กและเยาวชน วรรณกรรมสำหรับเด็ก และได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยวิจัย ให้กับอาจารย์ที่เป็นผู้บุกเบิกการวิจัยเรื่องนี้ที่อเมริกา คือ ดร.ลิน ไรท์ (Lin Wright) และ ดร.จอห์นนี ซัลดานา (Johnny Saldaña) ผู้ทำวิจัยที่เกี่ยวกับ การใช้ละครสร้างสรรค์ในการพัฒนาทักษะในการชมผลงานศิลปะการแสดงของเด็ก
ซึ่งเป็นการวิจัยกับเด็กกลุ่มหนึ่ง โดยติดตามพฤติกรรมทักษะในคิดวิเคราะห์ตั้งแต่ที่พวกเขาเรียนชั้นอนุบาลไปจนกระทั่ง ป.6 (ช่วง ค.ศ 1983-1990) ใช้เวลาวิจัยนานถึง 7 ปี ในแต่ละปี เด็กจะได้เรียนละครสร้างสรรค์ (Creative Drama) ในโรงเรียน และได้เริ่มชมละครเวทีสำหรับเด็กปีละ 1-2 ครั้ง มีการเก็บข้อมูลจากการถ่ายวิดีโอและสัมภาษณ์เด็กทุกปี นักวิจัยนำผลการคิดวิเคราะห์ของเด็กกลุ่มนี้ไปเปรียบเทียบกับเด็กที่ไม่ได้เรียน เพื่อดูความแตกต่างทางของพัฒนาการทางความคิดและทักษะการวินิจฉัยงานศิลปะ
เด็กกลุ่มนี้ มี Critical Thinking ที่ต่างกัน
ผลจากการวิจัยชี้ชัดเจนว่า เด็กที่ผ่านการเรียนละครสร้างสรรค์มานั้น มีทักษะการคิดวิเคราะห์และการใช้วิจารณญาณในการชมละครเวทีและการวินิจฉัยเรื่องอื่นๆ ค่อนข้างมาก มีทักษะคิดอย่างมีวิจารณญาณหรือ critical thinking ในการชมงานละครเวทีอย่างเห็นได้ชัด ต่างจากเด็กกลุ่มทั่วไปมาก
งานวิจัยชิ้นนี้ ได้ช่วยทำให้มลรัฐอริโซนา (Arizona) ให้การสนับสนุนการนำ Creative Drama ไปใช้ในหลักสูตรการละครมากขึ้นอย่างเป็นทางการ คือ ระดับอนุบาล ถึง ประถมปลาย เด็กได้เรียนวิชานี้ และตามด้วยหลักสูตรศิลปะการละครเต็มรูปแบบในระดับ มัธยมต้นถึงมัธยมปลาย เท่าที่ทราบ ในหลายๆ มลรัฐก็เป็นแบบนี้
การได้ไปมีส่วนร่วมกับการทำวิจัยและช่วยปรับปรุงหลักสูตรพื้นฐานของอเมริกา ทำให้เรารู้สึกว่า โอ้โห รัฐของเขาสนใจการพัฒนาเยาวชนมาก เขาไม่ได้สนใจการพัฒนาเพียงมิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่สนใจจะพัฒนาคนแบบรอบด้าน รวมไปจนถึงศิลปะทุกแขนง กีฬาและดนตรี และเขาก็ยังยอมรับว่า Creative Drama เป็นเครื่องมือที่ไม่ธรรมดา
ตอนนั้น ตั้งใจไว้ว่า ถ้าเรากลับมาประเทศไทย เราก็อยากให้ศาสตร์นี้ได้ทำงานรับใช้การศึกษาในประเทศไทยบ้าง
พอมาสอนที่ธรรมศาสตร์ ได้รับโอกาสจาก อ.วันดี ลิมปิวัฒนา ตอนแรกให้ลองสอนเป็นวิชาเล็กๆ ซ่อนอีกทีอยู่ในวิชาอื่น ค่อยๆ สอนกันมาจนมันพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นประโยชน์มากพอที่จะเปิดเป็นอีก 1 วิชา นักศึกษารู้สึกว่าเขาเรียนแล้วได้อะไรเยอะ เขาก็มาเรียกร้องเองว่าเปิดเป็นวิชาเฉพาะเลยได้ไหม จนเปิดเป็นวิชาเต็ม แล้วเราก็เป็นคนไปเปิดสอนวิชานี้ที่ มศว.(มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) ด้วย และได้เขียนหนังสือ ‘ละครสร้างสรรค์สำหรับเด็ก’ เพื่อให้ผู้สนใจมีโอกาสได้รู้จักศาสตร์แขนงนี้
วิชาละครสร้างสรรค์มีลักษณะอย่างไร
เป้าหมายของวิชานี้ลึกซึ้งมาก เป็นวิชาที่ต้องการอำนวยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสพัฒนาอย่างจริงจังในการใช้ทั้งสมอง ร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึก ให้เป็นผู้ที่เรียนรู้โดยใช้ฐานของความเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด จึงเป็นการเรียนที่ไม่ได้เน้นแค่จดจำความรู้ไปสอบ แต่มาฝึกฝนการใช้สิ่งที่มีอยู่ในตัวทุกคนอยู่แล้ว เพื่อนำไปสู่การเข้าใจโลก สังคม และชีวิต
เราพยายามจะพิสูจน์คุณค่าของศาสตร์แขนงนี้ ด้วยการทำวิจัยเรื่อง ‘การใช้ละครสร้างสรรค์ในการพัฒนาผู้เรียน’ ทำไว้ตั้งแต่ปี 2546 กับเด็กชั้นประถมปีที่ 4 จำนวน 29 คน โดยงานวิจัยนี้มีเป้าหมายที่ต้องการพิสูจน์ว่า “ละครสร้างสรรค์สามารถพัฒนาพหุปัญญาได้เป็นอย่างดี” (พหุปัญญาในที่นี้ หมายถึง พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) จิตพิสัย (Affective Domain) และ ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)
เราออกแบบแผนการสอนโดยยึดกระบวนการและแนวทางของ Creative Drama และเราประเมินพัฒนาการของเด็กเป็นรายบุคคลโดยละเอียดในทุกคาบ เนื่องจากละครสร้างสรรค์เน้นกระบวนการ เราสังเกตเห็นว่า เด็กพัฒนามากขึ้นเมื่อผ่านกระบวนการเรียนรู้ (learning process) ที่มีขั้นตอนที่ดี และช่วง process นี้เองที่คุณครูหรือคนที่เข้ามาทำกระบวนการต้องทำกระบวนการให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด โดยการนำกิจกรรม ชี้แนะ การโค้ช การวิจารณ์ การถาม การอภิปราย เป็นต้น
กระบวนการเป็นอย่างไร
เริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อเล่นละคร แต่จู่ๆ เด็กจะเล่นละครเลยไม่ได้ เด็กไม่มีสมาธิ ไม่มีทักษะ ใช้พื้นที่ไม่เป็น ใช้ร่างกายก็ไม่เป็น บางคนขี้อาย ถูกเพื่อนแกล้ง เพื่อนไม่คบ เด็กมาจากสภาวะต่างๆ มากมาย อยู่ๆ จะบังคับให้เด็กเรียนรู้เลย เช่นให้ “เด็กๆ นั่งตัวตรง ฟังครู” มันไม่ได้แล้ว
การสร้างแรงจูงใจ (Motivation) ต้องมาก่อน
เราจะเริ่มต้นกระบวนการด้วย ‘Motivation’ สร้างแรงจูงใจให้เด็กก่อนเสมอ เพราะเราเชื่อว่าการเรียนต้องเกิดจากการอยากรู้ ไม่ใช่บังคับให้เด็กรู้
ดังนั้นกระบวนการแรกๆ จะเป็นการสร้างความสบายใจ ความไว้วางใจในพื้นที่ใหม่ จากที่เราไม่เคยเจอกัน เราไม่เคยรู้จักกัน เด็กบางคนถูกโยนมาตรงนี้ (งานวิจัย) เพราะว่าครูวิชาอื่นไม่เอา เรียนไม่เก่ง สอบตกทุกวิชา ดื้อ วิ่งเล่น แกล้งเพื่อนตลอดเวลา ส่งมาเข้าโครงการวิจัยของเรา อยู่กับเราวันละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เป็นห้องเรียนที่มีเด็กหลากหลายมาก ตั้งแต่เด็กเรียนดี เด็กเก่งศิลปะ เด็กเก็บตัว เด็กกล้าแสดงออก ไปจนถึงเด็กที่ครูอาจจะมองว่า มีปัญหามาก เช่น สมาธิสั้น
สิ่งที่เราต้องทำคือให้เด็กเห็นความเป็นมนุษย์ภายในตัวของเด็กเองก่อน ในวันแรกเลย จะต้องสร้างความไว้วางใจ สร้างความรู้สึกปลอดภัยในการทำกิจกรรมร่วมกัน อาจเริ่มจากกิจกรรม ละลายพฤติกรรม เพื่อให้ทุกคนรวมทั้งผู้นำกิจกรรมได้คลายความกังวลต่างๆ และเป็นโอกาสที่ครูจะได้ ‘มองเห็น’ เด็กทุกคน
จากนั้นจึงจะเข้าสู่ทักษะการฝึกฝนละครสร้างสรรค์ เราจะบอกเด็กว่า ทุกๆ วันเราจะมาทำกิจกรรมที่เขาจะได้เรียนรู้นะ ดังนั้นเขาต้องทำกิจกรรมแบบเคารพในกติการ่วมกัน ไม่เช่นนั้นเขาก็ต้องออกไปจากการร่วมกิจกรรม เขาก็จะรู้ว่าทุกครั้งที่มีการเล่นอะไรก็ตาม เสร็จแล้วจะมีการ ‘คุยกัน’ เสมอ เพื่อสำรวจดูว่า เขาได้ค้นพบอะไรบ้างจากการ ‘เล่น’ (หรือการทำกิจกรรม) การโค้ชเด็กระหว่างกิจกรรม หรือ การสนทนาหลังกิจกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการ ‘ประกอบสร้างการเรียนรู้’
(ต่อไปนี้เป็นเพียงตัวอย่างบทสนทนาง่ายๆ)
ครู: เมื่อสักครู่สนุกไหมคะ
เด็ก: สนุกๆๆ
ครู: เราสังเกตเห็นอะไร ในตัวเพื่อนๆ บ้างไหมคะ
เด็ก: เมื่อก่อนเด็กชายอ๊อดไม่เห็นพูดเลย เมื่อกี้พูดแล้วค่ะ
ครู: ใช่เมื่อกี้เขาพูดเสียงดังตอนที่แสดงละคร เป็นสิ่งที่ดีไหมคะ
เด็ก: ดีค่ะ
การที่มีเด็กวิจารณ์การแสดงแบบนี้ แสดงว่า “คนที่ไม่มีใครเคยมองเห็นตัวตนของเขา ได้มีคนเห็นแล้ว”
ทักษะที่จำเป็นของละครสร้างสรรค์ที่ผู้เรียนควรฝึกฝนมีอะไรบ้าง
ทักษะสำคัญที่จะค้อยๆฝึกไปทีละขั้นตอน ได้แก่ การใช้สมาธิ จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสร้างสรรค์ การใช้ท่าใบ้ การพูดด้นสด ไปจนถึงการแสดงละครแบบด้นสด ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องใช้เวลาและการโค้ชจากผู้เชี่ยวชาญ
งานวิจัยชิ้นนี้เรานำเอานิทาน ‘ตำนานเมล็ดข้าว’ มาเป็นเรื่องที่จะใช้สำหรับการเรียนรู้
เรื่องย่อ ‘ตำนานเมล็ดข้าว’
หมู่บ้านหนึ่งแห้งแล้งมาก ชาวบ้านอดอยากมาก ฤาษีตาไฟสงสารจึงเสกให้เมล็ดข้าว ‘บิน’ ไปที่หมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้กิน จากนั้นชาวบ้านก็กินดีอยู่ดี มีความสุข และขี้เกียจทำงาน วันหนึ่งเมล็ดข้าวกำลัง ‘บิน’ ไปที่ยุ้งฉางในขณะที่ชาวบ้านกำลังพักผ่อนตอนกลางวัน ชาวบ้านรำคาญเลยเอาไม้ไล่ตีเมล็ดข้าว
พอเรื่องถึงหูฤาษีตาไฟ ฤาษีก็เลยไม่เสกข้าวให้บินไปช่วยชาวบ้านอีก ชาวบ้านเลยกลับมาอดอยากอีกครั้ง จนกระทั่งหญิงชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ นางโพสพ ทนเห็นความลำบากของชาวบ้านไม่ไหว จึงอาสาเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากฤาษีตาไฟที่ป่าลึก นางต้องเดินทางไกลมาก ด้วยความเหนื่อยล้าทำให้นางโพสพเสียชีวิตระหว่างทาง สัตว์ในป่าจึงพานางไปหาฤาษี ฤาษีเห็นความตั้งใจของนางโพสพ จึงเสกนางให้กลายเป็นเมล็ดข้าวเปลือก แล้วให้ควายป่าสองตัวนำไปให้ชาวบ้าน จากนั้นชาวบ้านก็ขยันขันแข็ง ทำมาหากิน และระลึกถึงบุญคุณของแม่โพสพตลอดมา
แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องจริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในการนำมาทำเป็นละครสร้างสรรค์ คือสุนทรียะในการใช้จินตนาการ ทำให้เกิดความเคารพ ความซาบซึ้ง เกิดความรู้สึกว่าเมล็ดข้าวเป็นสิ่งมีชีวิต เวลาที่เด็กโตขึ้น เขาอาจไม่เชื่อเรื่องพวกนี้ก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญคือเด็กรู้สึกว่าแม่โพสพยิ่งใหญ่ ผู้หญิงคนเดียวทำไมยอมทำขนาดนี้ แล้วเด็กๆ ก็มานั่งคุยกันว่าอะไรทำให้แม่โพสพตัดสินใจเดินทางไปคนเดียว โดยขั้นตอนการพูดคุยนี้สำคัญมากๆ ครูต้องมีทักษะการ ‘ถาม’ ที่จะ ‘ชวน’ ให้เด็กใช้ ‘การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking)’
เมื่อเด็กเล่นละคร เด็กจะเล่นเป็นทุกตัวในเรื่อง ตั้งแต่เป็นชาวบ้าน ประกอบอาชีพต่างๆ ฤาษี เมล็ดข้าวที่บินได้ แม่โพสพ ไปจนถึงต้นไม้และสัตว์ป่า เราจะแบ่งกลุ่มกันเล่นคนละฉาก เพื่อให้คนที่เหลือได้ผลัดกันเป็นคนดูเด็กต้องใช้ความเข้าใจในตัวละคร สถานการณ์ ความยุ่งยากซับซ้อนในการแสดงผ่านจินตนาการ มากมาย เพื่อแสดงฉากต่างๆ ในละคร
เด็กๆ เล่นละครกันจริงจังแค่ไหน
ไม่น่าเชื่อว่า เด็กเล่นละครได้อย่างจริงจัง เขาซีเรียสกับการแสดงมาก แต่นั่นเกิดจากกระบวนการที่เราปูไว้ตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เรื่องสมาธิ เรื่องการใช้ 5 senses คือการฝึกทักษะด้านต่างๆ จนกระทั่งก่อร่างขึ้นมาเป็นความมั่นใจในการแสดงออก มันไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เก่งเลย อยู่ดีๆ ก็เล่นละครได้เลย มันมีกระบวนการเยอะแยะมากมายที่เป็นพื้นฐานให้เขามีสมาธิ มีความมั่นใจ มั่นใจที่ได้ใช้ร่างกาย ภาษาพูดและด้นสด และไม่มีการท่องจำ
ละครเล่นเกือบ 1 ชั่วโมง เขาแสดงพูดด้นสดออกมาเยอะมาก แต่เป็นการด้นสดออกมาจากใจ ออกมาจากความเข้าใจเนื้อหาและสถานการณ์ ซึ่งน่าสนใจที่เขาสามารถทำได้ในที่สุด แน่นอนว่าตอนแรกๆ ยังทำไม่ได้ คุณครูยังต้องช่วย เช่น ช่วยเป็นคนเล่าเรื่อง พอเขามั่นใจแล้วว่าเรื่องมันเดินอย่างนี้ เขาก็จะเล่นเองได้
เล่นแบบนี้หลายๆ รอบ พอเล่นได้ดี มันก็มีความสุข การแสดงก็ได้รับคำชื่นชมจากเพื่อน เพราะมันผลัดกันดู ผลัดกันเล่น ไปตลอดจนจบเรื่อง
อภิปรายหลังเล่นละคร สำคัญแค่ไหน?
พอจบเรื่องเราก็จะมีการสนทนา อภิปรายกับเด็กๆ ทุกครั้ง การอภิปรายในที่นี้ไม่ใช่พูดคุยแค่ว่าสนุกไหมรู้สึกอย่างไรเท่านั้น แต่จะเป็นการถามที่กระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กๆ เพราะเราเชื่อว่าละครสรา้งสรรค์ให้การเรียนรู้สามแบบใหญ่ๆ ด้วยกัน
1. เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง คือการค้นพบเกี่ยวกับตัวเอง เด็กอาจจะไม่ได้สนใจในมิติของการค้นพบตัวเองถ้าคุณไม่มีคำถามช่วยเขา ยกตัวอย่าง เอ (นามสมมุติ) เด็กผู้ชายคนหนึ่ง ชอบซุกซน แกล้งเพื่อน วิ่งไปวิ่งมา ไม่มีสมาธิ แต่ต้องมาเล่นเป็นช้างที่มาพบศพของแม่โพสพ คิดดูว่าเขาต้องมีสมาธิขนาดไหน ที่จะเข้าไปอยู่ในบทบาทนี้อย่างสมจริง น่าเชื่อต่อตัวละครในนิทาน
สมมุติว่าวันนี้เขาเล่นได้นิดหน่อย เวลาประเมินหลังละคร อาจจะมีบทสนทนาตอนหนึ่งว่า
ครู: มีใครอยากจะพูดอะไรเกี่ยวกับการแสดงของน้องเอไหม
เด็ก: เมื่อกี้น้องเอแสดงดีมากเลยค่ะ เขาทำท่าทางแบบช้างที่เศร้ามาก
ครู: ใช่ค่ะ เป็นการสังเกตที่ดีมาก น้องเอเล่นเป็นช้างที่รู้สึกเสียใจ ที่แม่โพสพต้องมาเสียชีวิตกลางป่า น้องเอทำท่าทางอย่างไรคะ
เด็ก: น้องเอ เขานั่งลงแบบช้าง ข้างๆ แม่โพสพ
เด็ก: แล้วเขาทำหน้าตาเศร้า เขาไม่หัวเราะเลยค่ะ
ครู: ใช่ค่ะ น้องเอใช้ ‘สมาธิ’ ได้ดี ทำให้การแสดง ‘น่าเชื่อ’ มากๆ ปรบมือให้น้องเอหน่อย
น้องเอจากที่เคยเป็นเด็กวิ่งไปวิ่งมามาแกล้งเพื่อนโดยตลอด ได้มาถูกเพื่อนยอมรับว่าเขาก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มได้ กระบวนการพูดคุยหลังการแสดง เป็นขั้นตอนสำคัญมากๆ ที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้
การค้นพบตัวเอง จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า self-esteem ก็จะตามมา เพราะ self-esteem เป็นเรื่องของยอมรับคุณค่าของตัวเอง
ครู: แล้วน้องเอค้นพบอะไรเกี่ยวกับตัวเองไหม
น้องเอ: ผมแสดงได้ครับ (ยิ้ม)
นี่คือตัวอย่างเล็กๆ ในเรื่องการค้นพบเกี่ยวกับตัวเอง
2. ค้นพบเกี่ยวกับคนอื่น
ครู: แล้วตอนที่น้องเอสลับมาเป็นคนดูละครที่เพื่อนแสดงล่ะ น้องเอชอบอะไรมากที่สุดในการแสดงวันนี้
น้องเอ: ผมชอบโหน่งตอนที่เขาเล่นเป็นงูครับ เป็นงูที่น่ากลัวมาก ผมเห็นเขาเลื้อยเยอะเลย แล้วผมเห็นเหงื่อเขาเต็มเลยครับ (คำกล่าวนี้ เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับผู้อื่น)
ครู: เป็นการสังเกตที่ดีค่ะ
น้องเอ: อยากให้งูแลบลิ้นด้วยครับ
ครู: ทำไมต้องแลบลิ้น
น้องเอ: เพราะงูมีลิ้นครับ
ครู: โหน่งลองทำดูได้ไหมคะ
โหน่งทำท่างูแลบลิ้น เพื่อนหัวเราะ เพื่อนชอบ เพื่อนปรบมือ “นี่คือการค้นพบเกี่ยวกับคนอื่น” เพื่อนๆ ของโหน่งพบว่า โหน่งมีความสามารถ
3. การเรียนรู้เนื้อหาของเรื่องนั้น (ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พุทธิพิสัย จิตพิสัย หรือ ทักษะพิสัย)
การ ‘ถาม’ และการ ‘ชี้แนะ’ ของครูกระบวนกรเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยการคิดวิเคราะห์ด้วยตนเอง
ครู: ทำไมชาวบ้านถึงถูกลงโทษ ชาวบ้านทำผิดอะไรถึงต้องถูกลงโทษคะ
เด็ก: ชาวบ้านรำคาญ จึงไปไล่ตีเมล็ดข้าวที่บินเสียงดัง
ครู: ไปตีเมล็ดข้าวนี่เป็นเรื่องที่ดีไหมคะ
เด็ก: ไม่ดีครับ
ครู: เพราะอะไร
เด็ก: เพราะทำให้เมล็ดข้าวตกใจครับ
ครู: การไปทุบตีคนอื่น แบบนี้เรียกว่าอะไรคะ
เด็กๆ: รังแก/กลั่นแกล้ง/อันธพาล ฯลฯ
ครู: ที่เด็กๆ พูดมา เราเรียกว่า ‘การใช้ความรุนแรง’ ค่ะ
ฯลฯ
บทสนทนาสามารถดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เพื่อชวนให้เด็กๆ มองเห็นผลของการกระทำของตัวละคร ดังนั้น การพูดคุยหลังละคร เราอาจจะเลือกที่จะนำพาเด็กไปสู่แก่นความคิดหรือสารหลักของเรื่องด้วย เมื่อเด็กเข้าใจสาระที่ซ่อนอยู่ในเรื่อง เด็กได้รู้ว่าการทำร้ายผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และจะมีผลตามมา
ผลจากการวิจัยชี้ว่า พัฒนาการด้านพุทธิพิสัย (ความรู้ สติปัญญา ความคิด) จิตพิสัย (ความมีน้ำใจ ความเข้าใจผู้อื่น ความร่วมมือ) ทักษะพิสัย (ทักษะการพูด อ่าน เขียน สื่อสาร แสดงออก) คะแนนขึ้นหมดทุกคน คือ ผลเป็นบวก 100 เปอร์เซ็นต์ บางคนขึ้นเยอะอย่างมีนัยสำคัญด้วย
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าผลของกราฟคือว่า สิ่งที่เด็กเขียนความรู้สึกของเขา เช่น เด็กเขียนว่า ได้เข้าใจชีวิต เข้าใจเนื้อหาสาระจากละคร เข้าใจโลกและเข้าใจสัตว์ ภูมิใจและประทับใจที่ได้แสดงละคร รู้สึกได้เรียนอย่างสนุกมาก รู้สึกว่าฉันไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้ รู้สึกว่าเรียนคือเรียน เล่นคือเล่น เป็นต้น
สิ่งที่ได้จากละครสร้างสรรค์ เด็กๆ สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง
เมื่อคุณรู้สึกว่า คุณรู้ตำแหน่งแห่งที่ของคุณบนโลกใบนี้แล้ว ความรู้สึกว่า ‘เรามีตัวตน’ จะมา แต่ไม่ได้มาแบบหลงตัวเอง แต่มันมาแบบ ‘know your position in the world’ คือรู้ว่าตำแหน่งแห่งที่บนโลกใบนี้อยู่ตรงไหน แล้วถ้าคุณเจอมัน คุณจะรู้สึกว่ามั่นคง นี่คือเรื่องที่เด็กหรือวัยรุ่นมักจะมีปัญหา บางครั้ง เขามองไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงในตัวเอง เขาจึงขาดความมั่นคงในจิตใจ เมื่อมีความมั่นคงในจิตใจแล้ว การตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิตน่าจะดีขึ้น
Creative Drama สำหรับผู้ใหญ่เป็นอย่างไร
เราได้พัฒนาศาสตร์นี้ต่อไปในระดับที่เรียกว่า ขั้นสูง เป็น Advance Creative Drama สำหรับวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ด้วย เพื่อนำไปสู่การแสดงละครด้นสดที่เกี่ยวกับประเด็นที่ซับซ้อน หรือตัดสินใจได้ยาก เช่น หัวข้อเกี่ยวกับ โทษประหารชีวิต การเกณฑ์ทหาร สิทธิทางแต่งงานของคนข้ามเพศ ไปจนถึง เรื่องการเมือง หรือ กฎหมายต่างๆ
หัวข้อที่ตอบได้ยากเหล่านี้ใช้ละครสร้างสรรค์มาช่วยสร้างความเข้าใจได้เกือบทั้งหมด ถ้าเราสามารถหาข้อมูลแวดล้อมมาประกอบการวางโครงเรื่อง หรือที่เรียกว่า ‘ซีนนารีโอ (Scenario)’ (หมายถึงการกำหนดตัวละครและสถานการณ์จากการศึกษาค้นคว้ามาอย่างดี) เพราะเอาเข้าจริงแล้ว หัวใจ แก่นแท้ของละครสร้างสรรค์ ขึ้นอยู่กับการที่ตัวคุณเองได้เข้าไปทดลองสวมบทบาทอะไรบางอย่างในปัญหาที่แก้ไม่ตกหรือ dilemma นั้น เช่น มีนักศึกษารุ่นหนึ่งทำเรื่องสิทธิในการตายของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ขอฆ่าตัวตายโดยให้คุณหมอฉีดยาให้ ซึ่งประเทศไทยทำไม่ได้
นักศึกษาทำเรื่องสิทธิ์การตาย เขาเขียน scenario ดีมาก เขาเขียนถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นมะเร็ง แล้วไม่ต้องการมีชีวิตอยู่อีกต่อไป เขาต้องการเตรียมความพร้อมการตายของตัวเองอย่างดีที่สุด แต่ลูกไม่ให้ตาย ญาติไม่ยอมให้เขาตาย แล้วมันเป็นฉากที่เขาต้องเขียน scenario ที่เกิดขึ้นว่าแม่ที่ขออนุญาตลูก แม่ขอตายนะ แล้วแม่ก็ต้องให้เหตุผล
ทีนี้ลูกจะตอบอย่างไร เราก็เขียน scenario ให้คาแรคเตอร์ให้สามารถตัดสินใจออกมาได้หลายแบบมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทายผู้นำกิจกรรมมากๆ ตรงนี้ต้องอาศัยข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าอย่างหนักในหัวข้อนี้ การเขียนโครง scenario นั้นไม่มีตอนจบที่ชัดเจน เป็นการเขียนข้อกำหนดแบบปลายเปิด ตอนจบจะจบได้หลายแบบมาก เช่นสำหรับตัวอย่างที่ยกมานี้ อาจจะไม่มีตอนจบตายตัว บางกลุ่มอาจจะชี้ไปในทางว่าแม่ควรให้ธรรมชาติตัดสิน ธรรมชาติมีกฎของเขาเอง บางกลุ่มอาจจะจบแบบให้แม่เป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง ดังนั้นแม่ย่อมมีสิทธิ์ในการตัดสินชีวิตของแม่เอง คำตอบอื่นๆ คือคำตอบทางกฎหมายกับการแพทย์ เป็นต้น
ละคร Scenario จะเล่นหลายรอบ รอบที่หนึ่งกลุ่มนี้เล่น รอบที่สองอีกกลุ่มเล่น รอบที่สามอีกกลุ่มเล่น ต่างคนต่างไปเตรียมตัว คุณไม่มีทางรู้ว่ามันจะจบอย่างไร มันอาจจะจบสามแบบ
ความงดงามคือ คุณต้องเอาสิ่งนี้มาคุยต่อว่าที่เห็นในละครเมื่อสักครู่มันเกิดอะไรขึ้น ส่วนมากมักเป็นเรื่องที่ไม่มีคำตอบสุดท้าย แต่มีแค่การตัดสินใจ สุดท้ายมันแค่การเลือก แต่มันจะเป็นการเลือกที่อยู่บนพื้นฐานของ ‘ความรู้’ และการตรวจสอบ ‘ข้อเท็จจริง’ หลายๆ ด้าน ดังนั้นทุกคนต้องใช้วิจารณญาณในการเลือก
ส่วนใหญ่เมื่อสิ้นสุดการทำกิจกรรมละครสร้างสรรค์ ผู้ร่วมกิจกรรมมักจะรู้สึกเหมือนได้ค้นพบอะไรบางอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน บางคนบอกว่าไม่เคยเข้าใจเรื่องนี้อย่างมีมิติมาก่อน เคยแต่ประณามเรื่องนี้อย่างเดียว แต่พอมาเล่นละครสร้างสรรค์ scenario เดียวเท่านั้น เปลี่ยนความคิดเลย มองคนลึกซึ้งขึ้น หลายมิติมากขึ้น
ดังนั้น ประโยชน์ของศาสตร์ด้านนี้จึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้อย่างหลากหลาย บางครั้ง ก็นำไปใช้ในวงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วย
ห้องเรียนทั่วๆ ไปสามารถทำละครสร้างสรรค์ ได้ไหม
ได้หมดเลย (แต่อาจจะเหมาะกับวิชาทางสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์มากกว่า) กระบวนกรควรจะต้องผ่านการอบรมฝึกฝน ผ่าน training มาบ้าง มันต้องฝึกกับคนที่เขาทำเป็น ไม่ได้ยากเกินไป workshop สัก 3 วันก็ใช้เทคนิคเบื้องต้นได้แล้ว แต่ถ้าจะให้มีทักษะถึงระดับสูงที่เราคุยกัน ต้องใช้เวลามากกว่านั้น การเป็นกระบวนกรที่ดีต้องใช้ประสบการณ์
ที่ผ่านมาครูตามโรงเรียนทั่วๆ ไปมาเทรนบ้างไหม
มีค่ะ หลังจากที่ทำวิจัยเสร็จทาง สกศ. (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา) ให้เราเปิดอบรบครูทั่วประเทศ เป็นครูแกนนำทุกจังหวัดมาเทรน มาทีละเป็นร้อยคน แต่น่าเสียดายที่หมดยุคอาจารย์รุ่ง แก้วแดง เป็นเลขาธิการสำนักงานการศึกษาแห่งชาติ การเทรนลักษณะแบบนี้ก็หายไปพร้อมกับการเปลี่ยนวาระของผู้บริหาร แต่ก็มีองค์กรเอกชนเช่น กลุ่มมายา กลุ่มมะขามป้อม ที่ได้ใช้แนวทางแบบนี้เหมือนกันในการฝึกอบรมครูและนักการศึกษาอย่างกว้างขวาง