- ปัญหาความล้าหลังของระบบการศึกษา และไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทย แต่เป็นกันแทบทั้งโลกรวมถึงสหรัฐอเมริกา
- อดีตฟินแลนด์ก็เคยเป็นเช่นนั้น แต่เลือกที่จะหักดิบ ปรับเปลี่ยนระบบการศึกษามาตั้งแต่ช่วงปี 1970 จนเขยิบมาอยู่แถวหน้าในปัจจุบัน
- บทความชิ้นนี้ ยกตัวอย่างความพยายามของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยที่ลุกขึ้นมาสร้างโมเดลการเรียนรู้แบบใหม่ และเพื่อย้ำชัดๆ อีกครั้งว่า ระบบการศึกษาไทยยังไม่หมดหวัง
ก่อนวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษา เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ระบบการศึกษาแบบเดิมไม่ได้ล้มเหลวหรือแย่จนไม่มีอะไรดีเอาเสียเลยมาตั้งแต่แรก เพียงแต่โมเดลการศึกษาแบบเดิมนั้นล้าหลัง และไม่เหมาะกับการเรียนรู้ในยุคแห่งนวัตกรรม (innovative era) ณ ขณะนี้อีกต่อไป และนี่ไม่ได้เป็นปัญหาแค่เฉพาะการศึกษาในประเทศไทยเท่านั้น…แต่เรียกได้ว่าเป็นกันแทบทั้งโลก
ในหนังสือ Most Likely to Succeed โดย โทนี วากเนอร์ (Tony Wagner) และ เท็ด ดินเทอร์สมิธ (Ted Dintersmith) นักธุรกิจตัวฉกาจในวงการนวัตกรรม – ผู้หันมาสนใจประเด็นการศึกษา ฉายภาพให้เห็นความ ‘ใช้ไม่ได้’ ของระบบการศึกษาแบบเดิมของสหรัฐอเมริกาไว้อย่างชัดเจน
ในสหรัฐอเมริกาโมเดลการศึกษาถูกริเริ่มและนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1893 จนถึงตอนนี้ร่วม 126 ปีเข้าไปแล้ว แต่ความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงของโลกก้าวไปไกลมาก เราอยู่ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ไม่เพียงประมวลผลข้อมูลเร็วกว่ามนุษย์ แต่ไปถึงจุดที่คิดวิเคราะห์ได้รอบคอบกว่า แถมยังเลียนแบบพฤติกรรมและวิธีการตอบสนองของมนุษย์ได้แล้วด้วยซ้ำไป
ถ้าเทียบกับการใช้พาหนะ เราคงไม่ใช้เกวียนเดินทางไปไหนมาไหน ในยุคที่เครื่องบินโดยสารราคาถูก และพาไปถึงจุดหมายได้รวดเร็วกว่า ระบบการศึกษาก็เช่นกัน เมื่อวิธีคิด หลักสูตรและเครื่องมือเดิมที่เคยใช้ได้ผล ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ก็ป่วยการที่จะดันทุรัง แต่ทางออกที่ทำได้ คือ การยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยถึงการปฏิรูปการศึกษา เรามักนึกถึงการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบาย แล้วจบลงที่ว่า “ในเมื่อนโยบายไม่เอื้อ มันก็ยาก โรงเรียนและครูจะทำอะไรได้”
ส่วนเล็กๆ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหนกัน เมื่อนโยบายทางการศึกษาส่วนกลางไม่สอดรับ ไม่สนับสนุน และไม่ช่วยให้ครู โรงเรียน และนักการศึกษาทำงานได้ง่ายขึ้น?
วากเนอร์ และดินเทอร์สมิธ ตั้งคำถามนี้ไว้ในหนังสือ ‘Most Likely to Succeed’ เช่นกัน
คำตอบที่ได้ – พวกเขาบอกว่า ส่วนเล็กๆ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากทีเดียว หากส่วนเล็กๆ แต่ละส่วนเดินไปในทิศทางเดียวกันและแชร์วิสัยทัศน์ร่วมกัน โดยเฉพาะหากแต่ละโรงเรียน ในแต่ละพื้นที่หันมาสนใจปรับเปลี่ยนวิถีการเรียนให้ก้าวทัน เพราะส่วนเล็กๆ หลายๆ ส่วนที่กล้าลงมือทำ เมื่อรวมกันจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมระดับนโยบายได้
ตั้งหลักมองปัญหาการศึกษาใหม่
ปัญหาการศึกษาไม่ได้เกิดจากระบบการศึกษาเพียงอย่างเดียว ค่านิยมในสังคมก็มีส่วน ค่านิยมในสังคมเรื่องการประกอบอาชีพ (ที่ก้าวไม่ทันยุคสมัย) ส่งผลต่อความคาดหวังของพ่อแม่ และสังคม ซึ่งส่งผลต่อการวางอนาคตของเด็กและเยาวชน
จำได้ไหมว่า ยุคหนึ่งค่านิยมในประเทศไทย พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นเจ้าคนนายคน รับราชการ มียศมีตำแหน่ง ต่อมาการได้เข้าทำงานบริษัทใหญ่ๆ กลายเป็นความมั่นคง มีการแข่งขันสูง เพราะมีสวัสดิการดี ได้โบนัสปลายปี แต่ยุคนี้การมีธุรกิจเป็นของตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นกระแสเปรี้ยงปร้างขึ้นมา โดยเฉพาะสตาร์ทอัพ อายุน้อยร้อยล้าน เกิดอาชีพใหม่ๆ เช่น บล็อกเกอร์ นักเล่นเกม และอื่นๆ ที่หลายครั้งก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน ว่ามีอาชีพนี้อยู่จริง ถ้าไม่ใช่คนที่อยู่ในแวดวงเหล่านั้น
ค่านิยมในสังคมของคนวัยเด็ก วัยทำงาน และของผู้ใหญ่ แตกแขนงออกไป มีความหลากหลาย จนยากที่จะไปในทิศทางเดียวกัน
ระบบการศึกษาที่จะช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตในสังคมโลกยุคต่อไปได้ จึงไม่ใช่การศึกษาที่ให้คุณค่ากับความรู้หรือผลคะแนนสอบเท่านั้น แต่ต้องเป็นมาตรฐานการศึกษาที่วัดคุณค่าและคุณภาพจากความสามารถที่ทำได้ ไม่ใช่จากความรู้เพียงอย่างเดียว
ความสามารถแบบไหนเป็นหัวใจหลักของการทำงาน การเรียนรู้ และการเป็นพลเมืองที่ดีในยุคนี้?
หนังสือ Most Likely to Succeed บอกว่า พื้นฐานการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย องค์ความรู้ (content knowledge) ทักษะ* (skill) และ แรงจูงใจ (will)
วากเนอร์ และ ดินเทอร์สมิธ เชื่อว่า แรงจูงใจเป็นพื้นฐานสำคัญมากที่สุด เพราะแรงจูงใจจากภายใน กระตุ้นให้ผู้เรียนขวนขวายพัฒนาตัวเองจากการเรียนรู้ทักษะรอบด้าน มีความกล้าในการตั้งคำถาม ลงมือแก้ปัญหา ที่จะนำมาสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุด
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงจูงใจเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันลิดรอนไป จนแทบไม่หลงเหลือแรงจูงใจแห่งการเรียนรู้ให้เห็นในห้องเรียน
เพื่อขยายภาพให้ชัดเจนมากขึ้น แรงจูงใจที่กำลังพูดถึงนี้ ประกอบไปด้วย อุปนิสัยความเพียร (Grit) ความขยัน อดทน (Perseverance) และ ความมีระเบียบวินัยในตัวเอง (Self-discipline)
วากเนอร์ และ ดินเทอร์สมิธ เน้นย้ำไปที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กเมื่อจบชั้นมัธยมปลาย พวกเขา บอกว่า สิ่งแรกที่ท้าทายไม่น้อย คือ การฉายภาพให้ทุกคนเห็นและเข้าใจตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู นักการศึกษา และผู้มีอำนาจในการวางนโยบายว่าเมื่อเรียนจบแล้ว มาตรฐานหรือคุณสมบัติที่เด็กมัธยมปลายควรมีคืออะไร เด็กควรมีความรู้ความสามารถ และมีทักษะชีวิตอย่างไรบ้าง แล้วจะนำศักยภาพที่มีไปใช้อย่างไรในวันที่กูเกิลรู้ไปหมดแทบทุกเรื่อง
ถึงตรงนี้ไม่ได้กำลังบอกว่าความรู้ไม่มีประโยชน์ หรือควรสอนแต่ทักษะชีวิตโดยไม่คำนึงถึงหลักการความรู้ แต่โจทย์คือ การเลือกเนื้อหาวิชาการอย่างรอบคอบ เนื้อหาความรู้ใดบ้างที่ควรเรียน เรียนด้วยวิธีการใดที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่สร้างแรงจูงใจเชื่อมไปสู่การสร้างทักษะชีวิตควบคู่กันไป
สหรัฐอเมริกาเรียกร้องปฏิรูปการศึกษามากว่า 30 ปี
ก่อนจะไปถึงทางออกที่พอมีโมเดลให้เดินตามอยู่บ้าง จากประเทศที่ลุกขึ้นมาปฏิรูประบบการศึกษาของตัวเองอย่างจริงจัง สิ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง คือ สหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากับปัญหาทางการศึกษาไม่ต่างจากประเทศไทย
ในสหรัฐอเมริกากระแสการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปีแล้ว เครือข่ายโรงเรียนต้นแบบ และกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญก็ยังคงผลักดันกันต่อไปอย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่ได้รับการแก้ไขในระดับนโยบาย เรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจและถูกพูดถึง คือ การวัดและการประเมินผลการศึกษา
ระหว่างวิธีการวัดที่ง่ายต่อการประเมินผลในภาพรวม ด้วยแบบทดสอบกากบาทแบบเดียวกันทั้งประเทศ กับวิธีการวัดผลด้วยเรื่องที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ ซึ่งต้องใช้แบบทดสอบที่แตกต่างตามแต่ละพื้นที่ อาจจะเป็นข้อสอบเขียน หรือให้ลงมือปฏิบัติ…จะเลือกแบบไหน?
เรื่องการวัดและการประเมินผลการศึกษานี้มีตัวอย่างให้เห็นที่ประเทศเดนมาร์ก ปี 2009 เดนมาร์กประกาศให้นักเรียนใช้อินเทอร์เน็ตระหว่างการสอบวัดผลระดับชาติได้ ในปี 2013 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศเดนมาร์ก ได้ให้สัมภาษณ์ว่า
“การสอบควรสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนในชีวิตประจำวัน และสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนในชีวิตประจำวันควรสะท้อนความเป็นไปในสังคม”
แน่นอนว่าเกณฑ์การวัดผลการสอบที่ให้นักเรียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไม่ได้วัดแค่ความถูกต้องของคำตอบจากการคัดลอกข้อมูล แต่คือการบูรณาการข้อมูลที่หาได้จากแหล่งข้อมูลแต่ละแหล่ง แล้วตอบคำถามที่สื่อสารให้เห็นถึงการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก การเรียนการสอนนั้นถึงจะมีประสิทธิภาพ
หักดิบแบบฟินแลนด์เมื่อ 50 ปีก่อน
วากเนอร์ และ ดินเทอร์สมิธ บอกว่า หลักสูตรครูบางหลักสูตรในสหรัฐอเมริกา จัดสรรเวลาให้ครูได้ฝึกสอนเพียง 5 อาทิตย์เท่านั้นซึ่งถือว่าน้อยมาก ต้องยอมรับว่าครูที่ขาดประสบการณ์และขาดทักษะการสอนเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์ทางการศึกษา
ยุคนี้เมื่อเอ่ยถึงระบบการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศแถวหน้าที่ได้รับการยอมรับและพูดถึงอยู่เสมอ จากสถิติการวัดและการประเมินผลเพื่อคุณภาพการเรียนรู้ ในโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA: Programme for International Student) ที่ใช้วัดผลทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้น ฟินแลนด์มีชื่อปรากฏอยู่ในประเทศท็อปลิสต์มาโดยตลอด แต่ก่อนจะมาถึงวันนี้ ฟินแลนด์ได้ผ่านการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาแบบหักดิบมาก่อนตั้งแต่ช่วงปี 1970
สิ่งที่รัฐบาลฟินแลนด์ทำราว 50 ปีก่อน คือ
- รัฐบาลปิดโรงเรียนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทั่วประเทศ คงเหลือไว้เพียงโรงเรียนที่มีเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยซึ่งประเมินแล้วว่ามีมาตรฐานดีที่สุด
- ครูที่จะเข้ามาสอนได้ต้องมีดีกรีด้านการศึกษาโดยตรง และมีครูที่ขึ้นชื่อว่าเป็นครูที่ดีที่สุดของประเทศ เป็นที่ปรึกษาระหว่างฝึกงานในช่วงระยะเวลาหนึ่งอย่างต่อเนื่อง
- หลักสูตรการศึกษาเน้นให้นักเรียนคิดวิเคราะห์
- ครูทำงานเพียง 600 ชั่วโมงต่อปี (เทียบกับสหรัฐอเมริกา 1,100 ชั่วโมงต่อปี มากกว่าเกือบเท่าตัว) เพื่อให้ครูมีเวลามากพอที่จะพูดคุยกับนักเรียน พบปะผู้ปกครอง และแลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนครูด้วยกัน เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม
ผลลัพธ์ที่พอสรุปได้หลังจากฟินแลนด์เปลี่ยนระบบการศึกษาแบบหักดิบครั้งใหญ่ คือ
- นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ก้าวทันนวัตกรรม
- ครูได้รับความเคารพ มีความน่าเชื่อถือ และมีความภาคภูมิใจในอาชีพของตนเอง
- นักเรียนมีแรงผลักดันในการเรียน และเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
- ไม่มีการบ้าน ไร้การสอบ ปราศจากการสอนเพื่อไปสอบ และไม่มีการเรียนพิเศษนอกตารางเรียน
ย้ำอีกครั้ง…ผลลัพธ์จากการปฏิรูปการศึกษาที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ทำให้ฟินแลนด์ได้ชื่อว่า เป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลก
บทเรียนจากฟินแลนด์สะท้อนให้เห็นว่า การปฏิรูประบบการศึกษาไม่ได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาแล้วจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้หมดจด ความพร้อมและการเตรียมตัวของครูก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก
โฉมหน้าใหม่ของการศึกษา
แล้วรูปร่างหน้าตาของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 เป็นแบบไหน?
นอกจากหัวใจ 3 ส่วนที่เป็นองค์ประกอบของพื้นฐานการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ องค์ความรู้ (content knowledge) ทักษะ* (skill) และ แรงจูงใจ (will) แล้ว ระบบการศึกษายุคนวัตกรรม ควร
1. ให้ความสำคัญกับการปรับมาตรฐานการเรียนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีโอกาสก้าวเข้ามหาวิทยาลัย
นอกจากการวัดผลจากบทเรียนในห้องเรียน การเรียนระบบมัธยมศึกษาควรให้นักเรียนได้ฝึกฝนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (independent study) จากใบงานที่ได้รับมอบหมายในรายวิชาต่างๆ การฝึกงาน (work internship) และ การทำโปรเจ็คต์เพื่อสังคม (learning projects in community)
Most likely to succeed ยกตัวอย่าง เครือข่ายสมาคม New York Performance Standards Consortium ที่ตั้งขึ้นในปี 1997 จากความร่วมมือของโรงเรียนมัธยม 28 โรงเรียน ไว้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
นักเรียนจะจบการศึกษาได้ก็ต่อเมื่อผ่านการทำโครงงาน 4 ส่วน ต่อไปนี้
บทวิเคราะห์วรรณกรรม, บทความวิจัยทางสังคมศาสตร์, การทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์ขั้นสูง
กระบวนการเรียนรู้เปิดโอกาสให้นักเรียนนำเสนอโครงงานต่อเพื่อนในชั้นเรียน ครู ผู้ปกครอง รวมถึงบุคคลและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ไปพร้อมๆ กับการบันทึกพัฒนาการของนักเรียนลงในพอร์ตฟอลิโอดิจิทัล ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนองานเขียน คลิปการพูดในที่สาธารณะ โครงการที่ลงมือปฏิบัติ หรือแม้แต่ชิ้นงานศิลปะ เพื่อสื่อสารและสะท้อนความเป็นตัวตนของนักเรียน ในช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายในโลกยุคใหม่
โครงงานแต่ละส่วนจะช่วยพัฒนาทักษะ 4Cs ได้แก่ Critical Thinking (ทักษะการคิดวิเคราะห์), Communication (ทักษะการสื่อสาร), Collaboration (ทักษะการทำงานเป็นทีม) และ Creative Problem-solving (ทักษะการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์) กระบวนการทำงานทำให้เด็กรับมือกับความขัดแย้งและควบคุมตนเอง เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
นอกจากนี้ หนังสือ Most Likely to Succeed ยังยกตัวอย่าง โครงการ HIGH TECH HIGH (HTH) โดยเครือข่ายการเรียนรู้เชิงลึก (Deeper Learning Network) ที่รวบรวมโรงเรียนของรัฐกว่า 500 โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาเข้ามาจัดรูปแบบการศึกษาร่วมกัน ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความพยายามปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีข้อตกลงหรือหลักเกณฑ์การเรียนการสอน ดังต่อไปนี้
- ความเชี่ยวชาญในเนื้อหาวิชาหลัก เช่น การอ่าน การเขียน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ยังคงมีอยู่
- กระบวนการเรียนช่วยให้เกิดการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และนักเรียนสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างสร้างสรรค์
- ความสามารถในการทำงานเป็นทีม เข้าใจเป้าหมายงาน ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างแต่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้
- ความสามารถในการสื่อสารได้อย่างชัดเจนทั้งการพูดและการเขียน และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ฟังและผู้อ่าน
- การเรียนรู้ด้วยตัวเอง มีเป้าหมายการเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ วางแผนและติดตามแผนงานของตนเองได้ มองเห็นจุดเด่นจุดด้อยของตัวเอง จากการประเมินตนเองและจากคำแนะนำของผู้อื่น
- วิธีคิดเชิงวิธีการ (academic mindset) เป็นวิธีคิดที่เปิดรับการเรียนรู้ ผู้เรียนมีความเชื่อมั่นและมั่นใจในศักยภาพของตนเอง ขณะเดียวกันก็พร้อมเปิดรับข้อมูลใหม่ๆ ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
วางเป้า แล้วคว้าฝัน
นอกจาก HIGH TECH HIGH แล้ว ยังมี แนวการศึกษาแบบ MALCOLM X SHABAZZ HIGH SCHOOL และ THE FUTURE PROJECT
“อะไรเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และกล้าหาญที่พวกเธออยากทำ เพื่อทำให้โลกของเธอดีขึ้น ฉันอยู่ที่นี่เพื่อช่วยให้เธอทำสิ่งนั้น”
เป็นคำพูดที่ผู้บริหารเอ่ยขึ้นถามนักเรียน คำพูดที่เอ่ยถึงเป้าหมายในชีวิตแบบที่เด็กๆ ไม่เคยได้ยินมาก่อน
โรงเรียนมัธยมมัลคอล์ม เอ็กซ์ ชาร์บาซ เมืองนวร์ค (Newark) รัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) สหรัฐอเมริกา เป็นต้นแบบของระบบการศึกษาโรงเรียนนวร์ค (Newark school system) ที่ทำงานร่วมกับ เดอะ ฟิวเจอร์ โปรเจ็คต์ องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานด้านการศึกษาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในสหรัฐอเมริกา
จากแนวคิดของผู้บริหารสะท้อนผ่านคำพูดข้างต้น ทำให้นักเรียนชาร์บาซในปัจจุบัน มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าทำสิ่งที่ท้าทาย มีความมุ่งมั่นและสร้างเป้าหมายใหม่ๆ ในชีวิต
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เดอะ ฟิวเจอร์ โปรเจ็คต์ ได้ริเริ่มโครงการฟิวเจอร์ยู (FutureU) ไปยังโรงเรียนในเครือข่ายอื่นๆ สนับสนุนให้นักเรียน วางเป้าหมายและความฝันในชีวิต ใช้เวลาช่วงเที่ยง ก่อนและหลังเข้าเรียน รวมทั้งวันเสาร์ เรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมที่จะช่วยให้พวกเขาคว้าฝันของตัวเองได้สำเร็จ เป้าหมายและความฝันจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างแรงผลักดันและแรงจูงใจในการเรียนรู้
2. ปรับกระบวนการเรียนรู้ในระดับวิทยาลัย/ มหาวิทยาลัย
วากเนอร์ และ ดินเทอร์สมิธ สรุปให้เห็นรูปแบบการศึกษาในระดับวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็นว่า นักเรียนควรได้เรียนรู้จากการทำโครงงานหรือโปรเจ็คต์ที่ได้ลงมือทำ ได้คิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจริงๆ เช่น ได้ทำงานกับบริษัทจริง หรือเช่าที่เปิดร้านแล้วลองบริหารธุรกิจด้วยตัวเอง ทั้งแบบงานเดี่ยวและจากการทำงานเป็นทีม
ตารางเปรียบเทียบด้านล่างแสดงให้เห็นความแตกต่างในกระบวนการเรียนรู้ซึ่งหลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าส่งผลต่อการสร้างทักษะและกระบวนการคิดได้อย่างมหาศาล
การเรียนในศตวรรษที่ 20 | การเรียนในศตวรรษที่ 21 |
ครูสอนหน้าห้องเรียน นักเรียนนั่งฟัง | นักเรียนรับผิดชอบงานสัมมนา/โปรเจ็คต์งานกลุ่ม/ โครงงานเรียนรู้ด้วยตัวเอง |
เน้นเนื้อหาในตำรา | เน้นพัฒนาทักษะ/การเรียนรู้ทักษะการเรียนรู้ที่ดี |
เรียนจำแนกสาขา | เรียนบูรณาการ รวมองค์ความรู้ |
กำหนดเส้นทางการเรียนรู้ให้นักเรียน | นักเรียนสร้างสรรค์เส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่สนใจ |
จำกัดเวลาการเรียนรู้ | เรียนรู้อิสระตามความสามารถ |
วัดด้วยคะแนน/ผลการเรียน | ใช้พอร์ตฟอลิโอ/ผลงาน สะท้อนความรู้ความสามารถ |
เรียนรู้แค่ภายในโรงเรียน/ มหาวิทยาลัย | ฝึกงาน ทำงานร่วมกับองค์กรและหน่วยงานอื่น |
แปลกแยกจากโลกแห่งความจริง | เชื่อมโยงกับสังคม |
เข้าชั้นเรียน เรียน 4 ปีต่อเนื่อง | เข้าชั้นเรียนบ้าง ไม่เข้าชั้นเรียนบ้าง เพราะต้องออกไปฝึกงาน มีอาจารย์ที่ปรึกษา ติดตามผลการเรียนอย่างต่อเนื่อง |
จ้างพนักงานเข้ามาช่วยการจัดการแผนกต่างๆ | นักเรียนเข้ามาเป็นทีมงานช่วยจัดการงาน (เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงาน) |
รับเข้าเรียนจากผลคะแนน | รับเข้าเรียนจากผลคะแนน |
ค่าเทอมแพงมาก จนต้องกู้เงินเรียน | สัดส่วนค่าเทอมลดลงตามสัดส่วนมาตรฐานค่าจ้างในการจ้างงานแต่ละอาชีพ |
ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับที่ไม่น่าเชื่อถือ | ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่แท้จริง โดยไม่เอาคะแนนเป็นตัวตัดสิน |
เป้าหมายคือความมั่งคั่ง | เป้าหมายคือช่วยยกระดับ และพัฒนา |
3. โมเดลการเรียนรู้แบบใหม่
นอกจากนี้ วากเนอร์ และ ดินเทอร์สมิธ ยกตัวอย่างโครงการต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาที่ได้ริเริ่มแนวคิด และแนวทางการเรียนรู้แบบใหม่ๆ ผ่านมาให้หลังราว 4 ปี ตอนนี้เราเห็นโมเดลการเรียนรู้แบบดังกล่าวแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
– คอร์สเรียนออนไลน์ เนื้อหาหลากหลายตามความสนใจของผู้เรียน เช่น MOOCs: Massive Open Online Courses (มูกส์: แหล่งเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21) http://mooc.org/ หรือ ช่องทางสำหรับคนไทย https://thaimooc.org/
– การฝึกงาน โดยใช้ชั่วโมงทำงานและประสบการณ์จากการทำงานเป็นตัวประเมินศักยภาพ
บางวิทยาลัยทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา นักเรียนรับรายได้จากการฝึกงาน แล้วนำรายได้นั้นมาหักค่าเล่าเรียนได้ หรือ แทนที่จะต้องเรียนในห้องเรียนให้จบอย่างน้อย 4 ปี บางมหาวิทยาลัยในรัฐแคลิฟอร์เนีย เวอร์จิเนีย เวอร์มอนต์ และวอชิงตัน ใช้ชั่วโมงฝึกงานเป็นมาตรฐานประเมินเพื่อออกใบปริญญาบัตร
– นักเรียนเรียนรู้จากการทำงาน และมีรายได้ เป็นตัวช่วยค่าเล่าเรียนอีกทางหนึ่ง
– การเรียนเฉพาะทาง หรือเฉพาะทักษะในคอร์สสั้นๆ ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียนแล้วนำไปประกอบอาชีพได้ ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีหน่วยงานและองค์กรต่างๆ รองรับผู้เรียนคอร์สระยะสั้นเฉพาะทางมากขึ้น
ถึงตรงนี้คงต้องย้ำอีกครั้งว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการปฏิรูปการศึกษา ไม่ได้มีเพียงนโยบายจากส่วนกลางเท่านั้น โรงเรียน ผู้บริหารและคณะครู สามารถเริ่มต้นได้ทันทีด้วยการปรับแนวการเรียนการสอน ฝึกฝนให้นักเรียนมีทั้งความรู้ ทักษะ และมีคุณลักษณะที่ดี
อาศัยความร่วมมือจากนักการศึกษา และองค์กรอิสระที่มีความรู้จากการทำงานในพื้นที่และการวิจัยทางการศึกษา ในประเทศไทยปัจจุบัน เรามี Teach For Thailand และ GetupTeacher ที่เน้นทำงานเสริมศักยภาพครูโดยตรง หรือ มูลนิธิสยามกัมมาจล ที่ดำเนินโครงการหนุนเสริมศักยภาพเด็กและเยาวชน ทำงานร่วมกับผู้ปกครอง โรงเรียนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้รู้ในแขนงการศึกษาและด้านสังคมมาโดยตลอด
ผู้ปกครอง ต้องเปิดใจทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นแรงหนุนให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาสนใจ
ความร่วมมือจากชุมชน ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงรู้องค์ความรู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น จากผู้รู้และปราชญ์ชุมชน หรือแม้แต่ องค์กรธุรกิจ ที่พร้อมเปิดรับคนทำงานจากประสบการณ์ทำงาน จากฝีมือ มากกว่าเกรด คะแนน หรือใบปริญญา เพราะทุกองค์ประกอบเล็กๆ มีส่วนผลักดันให้เกิดการปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้
Fun Facts ตัวอย่างเครือข่ายโรงเรียนเอกชนและนานาชาติในสหรัฐอเมริกา ที่ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนจนสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้นักเรียนกลับมาสนุกและมีส่วนร่วมกับการเรียนได้ RIVERDALE COUNTRY SCHOOL จุดเด่นของที่นี่ คือ Character Lab ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณลักษณะของผู้เรียน ความสงสัยใคร่รู้เป็นอย่างหนึ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญซึ่งไม่สามารถวัดได้จากคะแนนสอบ โรงเรียนจึงสนับสนุนให้นักเรียนออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยการทำโปรเจ็คต์ที่สนใจ BEAVER COUNTRY DAY โจทย์คิดสำคัญของโรงเรียน คือ ห้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนควรตอบคำถาม 2 ข้อนี้ได้“เรากำลังทำอะไร?” “แล้วทำไมถึงทำสิ่งนี้?”เมื่อปี 2010 โรงเรียนให้เวลานักเรียน 90 วัน เรียนรู้นอกห้องเรียนร่วมกับ MIT (Massachusetts Institute of Technology) Media Lab ห้องแล็บด้านการสื่อสารที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในห้องแล็บที่ทันสมัยแห่งหนึ่งของโลกเด็กๆ ได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ทั้งวิศวกร นักออกแบบ ศิลปิน นักดนตรี และผู้ประกอบการ จาก MIT Media Lab และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สร้างสรรค์ผลงานไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผังเมืองอนาคต การพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านการศึกษาเพื่อเด็กชุมชนแออัดในเดลี การออกแบบโมเดลตัวอย่างด้วยพรินเตอร์สามมิติ การพัฒนาระบบเครื่องกรองน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยจักรยาน และการออกแบบและสร้างหนังสือสำหรับอนาคต เป็นต้น AFRICAN LEADERSHIP ACADEMY (ALA) ริเริ่มเมื่อสิบกว่าปีก่อนจากนักเรียนเก่าโรงเรียนธุรกิจสแตนฟอร์ด (Stanford Graduate School of Business) 2 คน ปัจจุบัน AFRICAN LEADERSHIP ACADEMY ตั้งอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) เมืองที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ หลักสูตรของที่นี่ใช้ระยะเวลา 2 ปี (6 คอร์สต่อ 1 เทอม และมีการทำวิจัยอิสระ) รวมทั้งการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ และการเป็นผู้ประกอบการ โดยให้ผู้ร่วมหลักสูตรลงมือเปิดกิจการจริง “เราเลือกเด็กจากความสนใจและแรงขับของเขาที่อยากทำให้โลกนี้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่ความมุ่งมั่นอยากได้เกรดดีๆ เราวัดความสำเร็จของโปรแกรมของเรา โดยดูว่าพวกเขาออกไปก่อรูปก่อร่างสังคมหรือประเทศของพวกเขาให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง แล้วก็เป็นที่น่าดีใจเมื่อได้รู้ว่าพวกเขากำลังออกไปทำสิ่งนั้น” คริส แบรดฟอร์ด (Chris Bradford) หนึ่งในผู้ก่อตั้งกล่าว AFRICAN LEADERSHIP ACADEMY ทำโปรเจ็คต์ดีเอสซี (DSC) หรือ Do Something Cool กระบวนการสร้างการเรียนรู้ คือ โรงเรียนมีเวลา 48 ชั่วโมงให้นักเรียนได้ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งที่พวกเขาอยากทำเพื่อทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น “เมื่อเด็กๆ ลงมือสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างกล้าหาญ นั่นหมายถึงพวกเขาเดินเข้าหาโอกาส เด็กมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าถึงสิ่งที่พวกเขาอยากรู้เพื่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นมาได้ ไม่มีอะไรสร้างความมั่นใจให้พวกเขาได้เท่าความสำเร็จจากการลงมือทำด้วยตัวเอง ที่นี่เราผลักดันให้พวกเขาไปถึงศักยภาพที่สูงสุดของตัวเอง เรียนรู้ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะเติมเต็มเป้าหมายที่มีคุณค่าในชีวิต” แบรดฟอร์ด กล่าว |