- วัยรุ่นมีปัญหามากขึ้น – ไม่จริงหรอก เพียงแต่วัยนี้เขามีปัญหาเร็วกว่าตามจังหวะโลกที่เร็วกว่ามาก จนทุกคนใกล้จะเป็นโรค
- “การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเด็ก แล้วบอกว่าปัญหามันแค่นี้เอง จึงทำไม่ได้”
- เป็นคำพูดของ ‘นีท’ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน ซึ่งเคยเป็นวัยรุ่นที่มีปัญหามาก่อน
- “ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่เรายังต้องการคนช่วยเลย แล้วเด็กจะไม่ต้องการได้ยังไง” ผู้ใหญ่หลายคนอาจลืมความจริงข้อนี้
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
เข้าปีที่สองแล้วที่ ‘นีท’ เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ทำงานเป็นนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยรับหน้าที่ดูแลเด็กๆ ชั้นมัธยมเป็นหลัก
“เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนมองว่า โรงเรียน ‘จำเป็น’ ต้องมีนักจิตวิทยา” นีทเผยโอกาสในรั้วโรงเรียน
รอยยิ้ม แววตาซุกซนแต่มุ่งมั่น บวกกับน้ำเสียงสดใส แทบไม่เชื่อเลยว่า สมัยก่อน ด.ญ.เบญจรัตน์ จะเป็นคนที่เพื่อนไม่ชอบ
“นีทมาจากครอบครัวที่เข้มงวดกับการเรียน เราอยากจะเป็นที่หนึ่ง เลยปัดเพื่อนออกไป ไม่คุยกับเพื่อน บอกกับตัวเองว่า เรื่องเพื่อนไม่สำคัญกับชีวิตเท่าไหร่ อยากเด่น ไม่สนใจว่าเพื่อนจะคิดยังไง สนใจแต่แม่ แม่ชมว่าเก่งคือที่สุดของเรา”
จากประถม มัธยม สู่มหาวิทยาลัย หล่อหลอมให้นีทเป็นคนกลัวความสัมพันธ์ จนได้มาเรียนปริญญาตรีและโทคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพบว่าตัวเองสนใจทำงานกับ “วัยเด็กถึงมหาวิทยาลัย”
ปมปัญหาส่วนตัวที่เคยมีก็ได้รับการคลายไปทีละจุด พร้อมกับเข็มทิศในการทำงานที่ค่อยๆ ชี้ว่า “แพชชั่นในการทำงานที่แรงที่สุดคือวัยรุ่น”
“เราเคยมีปัญหาแบบน้องๆ ประสบการณ์เราที่ผ่านมา มันน่าจะช่วยได้”
สอดคล้องกับที่ รองศาสตราจารย์ ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยอธิบายว่า
“เพราะวัยรุ่นคือช่วงสุดท้ายที่เปลี่ยนแปลงได้”
หน้าที่คร่าวๆ ของนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนมีอะไรบ้าง
คือการดูแลเด็ก นีทจะนิยามตัวเองด้วยคำคำเดียวก็คือ ไกด์ ไกด์ในที่นี้มีอยู่สองมิติ หนึ่ง คือเป็นไกด์ทัวร์ เป็นไกด์ที่พาเด็กเข้าใจชีวิต เหมือนไกด์ที่พาไปเที่ยว ไปทำความรู้จักสถานที่ต่างๆ และกลับไปอย่างมีความสุข นีทมองว่าตัวเองเป็นไกด์ที่พาน้องๆ ไปค้นหาและเข้าใจตัวเองในจุดจุดนี้ เมื่อมีปัญหาควรจะแก้ปัญหาอย่างไร
สอง คือ Guidance คล้ายๆ การโค้ช บางคนมองว่า เด็กวัยนี้น่าจะคิดเองเออเองได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ เด็กๆ อาจไม่รู้และไม่สามารถจัดการชีวิตของเขาได้ หน้าที่ของเราคือเข้าไปช่วยโค้ช
ทำไมต้องช่วยโค้ช
ถ้าเป็นวัยเด็ก เกิดหกล้ม ก็จะมีพ่อแม่พี่น้องคนรอบตัวเข้าไปปลอบ แต่กับวัยรุ่น ไม่ใช่ ทั้งๆ ที่วัยก็ไม่ได้ต่างกันมาก ผู้ใหญ่กลับคิดว่า ต้องแก้ปัญหาเองได้ เริ่มตั้งคำถามว่าทำไมแค่นี้ทำไมได้ นีทมองว่า จริงๆ แล้วเขา (วัยรุ่น) อาจไม่จำเป็นต้องแก้ปัญหาเองก็ได้ เพราะบางปัญหาที่เข้ามา น้องๆ อาจจะยังไม่สามารถประเมินและคิดวิธีแก้ไขที่ถูกต้อง มันเกินความสามารถของเขา
นีทเชื่อว่า ถ้าน้องจัดการกับปัญหาได้มันก็จะไม่เรียกว่าปัญหา ปัญหาจริงๆ มันคือ หนึ่ง สถานการณ์เข้ามาแล้วเขาไม่รู้ว่าจะต้องจัดการกับสถานการณ์ตรงหน้ายังไง สอง เขามืดแปดด้าน หน้าที่ของเราคือการไกด์ให้เขาหาทางแก้ปัญหาได้ แล้วคุณจะจัดการยังไงกับโจทย์มากกว่า
ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าให้น้องมัธยมบวกเลข 2+3 เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะสิ่งนี้คือทักษะ แต่ถ้าโจทย์ยากขึ้น ตัวแปรมากขึ้น มันเป็นเรื่องปกติที่เขาจะทำไม่ได้
ขั้นตอนการโค้ช มีอะไรบ้าง
เวลาที่เราช่วย ฟังดูเหมือนง่ายแต่จริงๆ ขั้นตอนเยอะมาก เราต้องฟังเขาเยอะๆ เด็กวัยนี้จะรู้สึกว่า ไม่ได้ถูกพ่อแม่หรือคุณครูฟัง จริงๆ นีทเชื่อว่า พ่อแม่ คุณครูเขาฟังนะ แต่ปัญหาคือ ฟังแล้วตัดสินเด็กเลย เช่น ถ้าเด็กมีปัญหาเรื่องเพื่อน แล้วไปเล่าให้พ่อแม่ คุณครูฟัง สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นมักจะเป็น พ่อแม่หรือคุณครูฟังไม่จบแล้วขัดขึ้นมาทันที
ขั้นแรกเลย เราต้องเปิดพื้นที่รับฟังเขาเยอะๆ เราจะได้รู้ว่า ปัญหานี้ทำไมเขาคิดแบบนี้ เช่น ปัญหาเรื่องเพื่อน ถ้าผู้ใหญ่ฟังก็จะคิดว่า แค่นี้เอง เอาเวลาไปตั้งใจเรียนดีกว่าไหม มันแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่เข้าใจเด็กแล้ว เพราะสำหรับเด็ก ทุกปัญหามันใหญ่เสมอ
ต่อมาคือให้เขาเล่า นีททำอยู่ที่โรงเรียนประจำ เด็กๆ จะต้องอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมง ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเพื่อน เขาก็จะเริ่ม ‘พี่ เขาไม่ชอบหนูหรือเปล่า’ ‘แล้วทำไมถึงคิดว่าเขาไม่ชอบ?’ เราก็ต้องช่วยเขา เพราะลักษณะของเด็กคือเข้ามาพร้อมอารมณ์ที่พรั่งพรู แต่พวกเขาไม่สามารถแยกว่าตรงไหนเป็นปัญหา ตรงไหนเป็นสิ่งที่คิด ตรงนี้คือหน้าที่เราที่จะช่วยเขาเรียบเรียงปัญหา หาทางเลือกให้เขาเลือก
ขั้นที่สาม อาจจะถามว่า จริงๆ แล้วปัญหาคืออะไร สุดท้ายก็จะได้ว่า เด็กคาดหวังให้เพื่อนอยู่กับตัวเองตลอดเวลา เพราะเราเป็นเพื่อนกัน แต่ถ้าในมุมผู้ใหญ่ที่ได้ฟัง มันไร้สาระ แต่เราฟัง เราเข้าใจว่าสิ่งที่มันเป็นปัญหาคือ ความคิดของเขา เวลาเราฟังเราก็ต้องดูว่าในปัญหามันมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ถ้ารู้แล้วว่าปัญหาที่เกิดมันมาจากความคิด เราก็จะช่วยเคลียร์ความคิดของเขา โดยไม่บอกว่าตรงไหนถูก ตรงไหนผิด
สำหรับเด็ก บางทีเขาคิดว่า ถ้าเรียกร้องให้เพื่อนมาอยู่ด้วย แล้วเพื่อนไม่มา ก็จะแปลว่าไม่รัก เธอไม่ให้เวลากับฉัน นีทจะชอบถามคืนว่า ‘จริงเหรอ’ ค่อยๆ ปรับความคิดเขาว่า จริงเหรอที่เพื่อนไม่รัก ทั้งๆ ที่เวลาเรียนเพื่อนก็คุย กินข้าวเพื่อนก็กินด้วย มันมีนะเวลาที่อยู่ด้วยกัน ตรงนี้คือ การสะท้อนให้เขาเห็นความจริง แล้วสุดท้ายก็ถามเขาว่า จริงไหมที่เพื่อนจะต้องอยู่กับเราตลอด 24 ชั่วโมง
เข้าใจ ช่วยกันสะท้อนปัญหา หาวิธีการแก้ไขปัญหา ตรงนี้คือขั้นตอน อีกอย่างบางเคสไม่สามารถทำได้แค่ครั้งเดียว เด็กบางคนใช้เวลามากกว่าหนึ่งครั้ง บางคนเขามีความเชื่อ ความคาดหวังที่แรงมากๆ มองว่าจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ ถ้าเรารีบไปบีบ มันไม่ได้
เวลาที่ช่วยเด็กๆ ต้องดูด้วยว่าเขาหนักขนาดไหน ถ้าเด็กคนไหนคลายเร็ว ก็ช่วยได้เร็ว ถ้าเด็กคนไหนคลายช้า ก็ค่อยๆ ช่วยไป แต่สำหรับเด็กๆ การที่มีคนฟัง มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว
การที่เด็กเลือกที่จะเข้าไปหานักจิตวิทยา หมายความว่าเด็กพร้อมจะคลายแล้ว?
ไม่เสมอไป เด็กบางคนเขารู้ว่าตัวเองมีปัญหา บางคนก็ไม่รู้ แต่หลักการแก้มันอยู่ที่ตัวเด็กเลย อันดับแรก เขากอดปัญหาไว้แน่นแค่ไหน หรืออยากจะคลายปัญหาออกไปแล้ว แบบสุดๆ ก็มี คือบางคนต้องการให้คำตอบเป็นไปตามใจตัวเอง เขารู้ว่าปัญหาคืออะไร แต่เขาก็ยังเชื่อว่าความคิดเขาถูกต้อง สิ่งที่ต้องทำคือสะท้อนให้เขาเข้าใจ ซึ่งการสะท้อนเราจะเร่งไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเขาก็จะ ‘ก็พี่ไม่เข้าใจ พี่ไม่ฟังหนู’
บางคนจะมองว่าทำไมกับเด็กบางคนถึงใช้เวลานานจังเลย สิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับการกอดปัญหา
ถ้าเด็กเขายังอยากกอดปัญหาไว้ เราทำได้แค่ไกด์ สุดท้ายแล้วชีวิตก็คือชีวิตของเขา เราไม่ได้มีอำนาจสั่งว่า หนูต้องปล่อยหินนะ ต้องกำหินนะ เราแค่ไกด์ว่ามือเริ่มเจ็บแล้วนะ ปล่อยหินดีไหม ถ้ายังไม่ปล่อย รอไปก่อน
สรุปคือ ฟังปัญหาจากเด็กก่อน สอง คือช่วยกันลิสต์ปัญหาว่ามีอะไรบ้าง สาม เอาสิ่งที่ลิสต์มาสะท้อนและหาคำตอบว่า อะไรจริง อะไรไม่จริงบ้าง แล้วพยายามหารายละเอียด โดยยกตัวอย่างให้เขาเห็น?
ใช่ค่ะ อย่างเรื่องที่ยกตัวอย่างไป มันเป็นการแก้ปัญหาผ่านวิธีคิด เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทัศนคติ เขาอาจจะไม่ได้มองโลกผ่านความเป็นจริง มีเรื่องที่ยึดติดเยอะ ซึ่งเราก็ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของเด็กไป
ปัญหาเกิดมาจากอะไร มันก็มีหลายสาเหตุ เช่น ยึดติดกับความคิดตัวเองเยอะมาก เราจะปรับเขาอย่างไรนี่คืองาน ส่วนอย่างที่สอง เป็นเรื่องพฤติกรรม เช่น ชอบยืมของ ฟังดูเหมือนเรื่องเล็ก แต่เด็กที่ถูกยืมบ่อยๆ เขาก็จะรู้สึกเหมือนถูกเอาเปรียบ ทำไมเธอไม่ซื้อปากกา ทำไมเธอไม่ซื้อลิควิด เราก็ต้องมาแก้ ถ้าหนูไม่ทำแบบนี้ ปัญหาก็จะไม่เกิด กรณีพฤติกรรมมันจะใช้เวลาแก้ไขนานกว่าปัญหาที่เกิดจากความคิด
ถ้ากรณีของพฤติกรรม ต้องแก้ที่ความคิดร่วมด้วย เพราะถ้าไม่เปลี่ยนความคิด เขาจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ยังไง ยิ่งเด็กวัยรุ่นเขามีความคิดของตัวเอง แตกต่างกับเด็กตัวเล็กๆ ที่เปลี่ยนได้เลย
ถ้าเป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวกับบุคลิก เช่น ขวานผ่าซาก กรณีนี้จะยากขึ้น เพราะเขาไม่มีจุดเบรก ที่ทำให้เข้าใจว่ามากน้อยแค่ไหนคือได้ เพราะส่วนใหญ่อยากจะพูดอะไรก็พูด แล้วเราก็เข้าไปสอนเขาไม่ได้ทุกสถานการณ์ กรณีแบบนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ด้วย เช่น เราสอนเขาว่าอย่าไปพูดแรงๆ กับเพื่อน เพราะไม่มีใครที่ชอบถูกว่าแรงๆ หรอก แต่มันก็จะมีบางประโยค เช่น ‘เธอๆ เงียบหน่อย คุณครูพูดเธอไม่ได้ยินเหรอ’ เราก็ต้องคอยบอกเขาว่า ประโยคหลังไม่ต้องพูดก็ได้ ตรงนี้เด็กเขาไม่เข้าใจ ฝั่งเพื่อนก็จะรู้สึกว่า เอ้า เธอมาด่าฉันทำไม
เด็กแบบนี้เขาไม่ผิดเลยนะ เพียงแต่เขาไม่รู้วิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง เขาเลือกใช้วิธีสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นเคสแบบนี้ ก็ต้อง follow up แล้วก็คอยถามไปเรื่อยๆ แก้ไปเรื่อยๆ ไปเจอเหตุการณ์อะไรก็กลับมาฟีดแบ็คให้ฟัง ช่วยกันหาทางออก
ตั้งเป้าหมายของการทำงานที่โรงเรียนไว้อย่างไรบ้าง แล้วได้ตามเป้าไหม
ก็มีหลายสิ่งที่เกินกว่าที่คิดไว้มาก (หัวเราะ) เราไม่คิดว่าเด็กๆ จะวิ่งเข้ามาคุยกับเราเยอะขนาดนี้ การที่เด็กวิ่งหานักจิตวิทยาเยอะคือเด็กมีปัญหามาก บางปัญหาเราไม่คิดว่ามันควรจะเป็นปัญหา เช่น เรื่องเพื่อน เรารู้สึกว่าเขาเข้าสังคมได้ยากขึ้น ปรับตัวได้ไม่ดี นีทรู้สึกว่า พวกเขามีปัญหาด้านการสื่อสารเยอะมาก
เยอะแค่ไหน
ปัญหาเรื่องเพื่อนมีเข้ามาทุกวัน สมมุติ 10 ครึ่งหนึ่งเป็นปัญหาความสัมพันธ์ เราก็คิดเล่นๆ ว่า พี่ ม.3 อาจจะมาหาเราด้วยเรื่องการเรียน ปรากฏไม่ใช่เลย เรื่องความสัมพันธ์ทั้งนั้น (คือเรื่องอื่น เด็กๆ อาจจะแก้ได้เอง แต่เรื่องนี้อาจไม่ไหวจริงๆ)
เอาเข้าจริงแล้ว เวลาพูดถึงพัฒนาการวัยรุ่น มันจะมีอยู่ 4 ปัญหาที่เด็กๆ น่าจะมี ได้แก่ ร่างกาย ความสัมพันธ์ อารมณ์ และ ปัญญา (เกี่ยวกับการใช้ชีวิต พวกเกรดเฉลี่ย การเรียนต่อ ฯลฯ) เราคิดว่าเด็กจะเข้ามาด้วยเรื่องเหล่านี้อย่างละ 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏไม่ใช่ เรายึดติดกับตัวเลขเกินไป เพราะบางวันมันคือเรื่องความสัมพันธ์ การสื่อสารล้วนๆ (กับเพื่อน พี่ ครู และครอบครัว) ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็เลยมานั่งคิดกับตัวเองว่ามันเป็นเพราะอะไร
สุดท้ายได้คำตอบว่า ไม่ต้องคิดมาก น้องเดินหน้ามาคุยกับพี่เรื่องอะไรก็ได้ พี่พร้อมจะช่วย เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า จริงๆ แล้ว เขามีปัญหากี่เรื่อง และแก้ได้ไปแล้วกี่เรื่อง
แต่ที่เรารู้แน่ๆ คือ เรื่องไหนเขาแก้ได้ คือ จบแล้ว เรื่องที่แก้ไม่ได้ มาช่วยกัน และที่เรารู้แน่ๆ ตอนนี้คือ เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องของการสื่อสาร เด็กต้องการผู้ช่วยเท่านั้นเอง
เป็นเพราะพัฒนาการของวัยเฉพาะวัยนี้หรือเปล่า ที่ทำให้วัยรุ่นไม่ค่อยเก่งในการสื่อสารสร้างความสัมพันธ์
ตอบยาก เพราะหนึ่งเลย เด็กมักจะพูดว่า ไม่รู้จะทำยังไง (เจอเพื่อนใหม่เขาก็ไม่ชิน ทะเลาะกันแล้วทำอย่างไรต่อ ก็ไม่รู้ หรือคุยกับผู้ใหญ่อย่างไรดี ให้เข้าใจกันจริงๆ) นีทก็เริ่มมาคิดว่า หรือเป็นเพราะเขามีทักษะนี้ไม่เพียงพอหรือเปล่า เวลาที่เราดูแลเด็กเล็ก จะมีเรื่องของอีคิว ความสัมพันธ์ แต่พอเรียนได้สักพักโฟกัสมันเปลี่ยนไปอยู่ที่การเรียนเป็นหลัก สกิลที่สอนเด็กๆ ว่าเล่นกับเพื่อนยังไง คุยกับเพื่อนยังไง แก้ไขเวลามีปัญหากันอย่างไร มันก็อาจจะหายไป อันนี้เราลองเดาดูนะ ว่ามันอาจจะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก
เพราะเหมือนเขาบอกเราว่า เขาไม่รู้จะพูดยังไง เขาพูดแบบนี้มันก็สะท้อนแล้วว่าเขาไม่รู้วิธีการ ไม่รู้ทักษะในการเข้าหาจริงๆ หรือจริงๆ มันอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา แล้วทำให้การสร้างความสัมพันธ์มันหายไป ยกตัวอย่างสมัยที่นีทเป็นเด็ก ยุคนั้นจะไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีอะไรดึงความสนใจเลย เลยเดาว่าปัจจัยบางอย่างมันเบียดเบียนเวลาที่จะพัฒนาทักษะการสื่อสาร เวลาในโลกเสมือนก็อาจจะไปเบียดเบียนโลกจริง ซึ่งตรงนี้ก็ยังตอบไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็น เพราะยังไม่ได้วิจัย
ฟังมาเยอะแล้ว ขอย้ำนิดนึงว่า เรื่องที่เล่ามาเป็นเพียงแค่กลุ่มตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นนะคะ ที่สะท้อนปัญหานี้ให้เราฟัง ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องเจอกับปัญหานี้นะคะ
แรกๆ ที่มาทำงานที่นี่ เด็กๆ รู้สึกงงบ้างไหม
ปีแรกๆ ที่มาทำ เราต้องเข้าใจก่อนว่า การเริ่มต้นมันไม่เรียบร้อยอยู่แล้ว ก็ต้องมาวางระบบกันว่านักจิตวิทยาควรอยู่ตรงไหน ปีแรกเลย คุณครูจะเป็นคนส่งเด็กที่คิดว่าประสบปัญหามาหาเราโดยตรง ส่วนปีที่สอง มีการจัดการที่ดีขึ้น มีค่ายก่อนเปิดเทอม ให้เด็กๆ ม.1 ปรับตัวและรู้ว่าเปิดเทอมมาเขาจะต้องเจออะไรบ้าง นีทก็ไปสอนวิชาทีมเวิร์ค ฝึกทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (โดยเฉพาะเรื่องเพื่อน) ให้เขา
องค์ประกอบที่ทำให้เราอยู่กับเพื่อนได้ดีขึ้นคือ คุณต้องมีทักษะในการทักทายกันก่อน สองคือ ต้องมีความเห็นอกเห็นใจต่อ อีกข้อคือ การกีดกันทางสังคม (bully) วัยนี้คือวัยที่เริ่มมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง ชอบความเหมือน ไม่ชอบความต่าง ใครไม่เหมือนเราก็คือแปลก
หน้าที่ของเราคือสอนให้เขาเข้าใจโลก แตกต่างก็ได้ เหมือนกันก็ได้ เราก็พยายามหากิจกรรม ลองให้เล่นเกม นี่คือสิ่งที่เริ่มช่วยตั้งแต่ต้น เราต้องช่วยให้เขาเข้าใจวิธีการเข้าสังคม ผลดีอีกข้อคือจะช่วยให้เด็กๆ รู้จักนักจิตวิทยาไปในตัว
เป็นความโชคดีมากที่นีทเรียนและชอบเต้นเพลงเกาหลี (cover dance) มันเลยมีเรื่องให้คุยกับเด็กได้ เป็นการสร้างมิตรภาพอย่างหนึ่ง ถ้าเราเดินเข้าไปแล้วก็ ‘น้องคะ สวัสดีค่ะ พี่เป็นนักจิตวิทยานะคะ’ เด็กๆ เขาก็จะ…แล้วไง จะมาสะกดจิตหนูเหรอ การเข้าไปแบบนี้มันไม่ได้สร้างความสัมพันธ์เท่าไหร่ แต่ถ้าเข้าไปหาเด็ก เอาเรื่องเดียวกันไปคุยกับเขามันจะสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นมา
แล้วเวลาเข้าไป ความเป็นคุณครูต้องไม่มี ต้องเป็นอารมณ์พี่สาวเม้ามอย เราก็ต้องอาศัยการสังเกตความชอบของเด็กๆ บ้าง มองดูโต๊ะ อ๋อ ชอบศิลปินเกาหลี เราก็หาเรื่องเข้าไปคุย ช่วงนี้เด็กๆ เขาติดซีรีส์ปรมาจารย์ลัทธิมาร ก็ชวนเด็กๆ คุย ทำให้เราใกล้ชิดกับเด็ก เขาก็จะรู้สึกว่าพี่คนนี้คุยได้ แล้วอยากเข้ามาหามากขึ้น
สถานการณ์ของวัยรุ่นตอนนี้ เป็นแบบไหน ไม่ต้องเป็นห่วงก็ได้ เพราะเป็นเรื่องปกติ หรือถ้าเป็นห่วง ควรเป็นห่วงเรื่องอะไร จะดูแลอย่างไร
เรารู้สึกว่าปัจจุบันเด็กมีภาวะซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ความน่าเป็นห่วงคือ บางทีเด็กๆ เขายังไม่มีภูมิคุ้มกัน นีทจะไม่ค่อยชอบคำหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่ชอบว่าว่าเด็กเปราะบาง
การเอาตัวเองไปเทียบกับเด็กมันเทียบไม่ได้ เด็กวัยนี้เขามีปัญหาเร็วกว่าเราเพราะว่าโลกมันเร็วมาก จนทุกคนใกล้จะเป็นโรค ปัญหาหนึ่งเข้ามา สองเข้ามา สามเข้ามาทั้งๆ ที่ ปัญหาแรกยังแก้ไม่ได้
ปัญหาของเด็กมันสั่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันไม่แปลกที่เด็กจะมีสภาวะแบบนี้ แต่คำถามคือเราจะช่วยเด็กๆ แก้ไขปัญหาได้อย่างไรมากกว่า วิธีการที่จะจัดการกับปัญหาเขาทำได้ไหม ตรงนี้สำคัญ งานของเราเป็นการแก้ไขมากกว่าการป้องกัน แต่นีทรู้สึกว่า ถ้าจะให้มันสมบูรณ์แบบจริงๆ ต้องเป็นการป้องกันและแก้ไข เช่น เราสามารถจัดเวิร์คช็อปได้ว่า สถานการณ์แบบนี้เราทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บอกว่าการป้องมันจะไม่มีปัญหา เพียงแต่เราจะหาทางที่ทำให้มันเกิดน้อยลง
สิ่งสำคัญกว่ามากๆ คือ เรื่องการสร้างภูมิให้น้องๆ
ภูมิคุ้มกันที่เด็กควรจะมี คืออะไรบ้าง
อันดับแรกคือเรื่องอารมณ์ เรื่องการรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ว่าตอนนี้เรากำลังมีอารมณ์อะไร เพราะอะไรถึงมีอารมณ์นี้ และยอมรับตนเองที่เราจะรู้สึกแบบนี้ ข้อนี้สำคัญค่ะ การยอมรับตนเอง บางทีเราไม่อยากทุกข์ บางทีเราไม่อยากเกลียด แต่ถ้ามีอารมณ์เหล่านี้ แค่เข้าใจ ว่า ฉันรู้สึกแบบนี้ได้นะ (มันคือการเห็นใจตนเอง)
อย่างที่สองคือ เป็นการประคับประคองตนเองจนถึงการจัดการอารมณ์ แต่บางทีเด็กขาดทักษะตรงนี้ รับไม่ได้เมื่อตนเองเป็นทุกข์ รับไม่ได้ที่ตนเองล้มเหลว แต่จริงๆ แล้วเราต้องประคับประคองใจและไปต่อ
อย่างที่สาม คือ หรือการจัดการปัญหา ฝึกฟันธงว่าอะไรเป็นปัญหาของฉัน ที่ฟันธงกันไม่ได้ อาจเพราะไม่ได้คุยกับตัวเองเยอะพอ ไม่ได้ฝึกลิสต์ปัญหา มันก็เลยเหมือนมีปัญหา แต่ไม่มีทางแก้ และต้องฝึกการแก้ปัญหา
และสุดท้ายคือ ฝึกเห็นใจตนเอง เราต้องเมตตาตนเองเยอะๆ อย่ากดดันตนเองเมื่อมีปัญหา แค่รู้ว่ามี เข้มแข็ง และไปต่อ หรือชมตนเองเยอะๆ ให้กำลังใจตนเองบ่อยๆ
เพราะอะไรเด็กๆ จึงเห็นใจตัวเองน้อยลง
บางทีมันคือการลืม ลืมที่จะบอก ชม หรือให้กำลังใจตนเอง ทั้งวันที่ฟ้าสดใส และในวันที่ฟ้าไม่เป็นใจ
แล้วข้างนอกส่งผลต่อการให้เห็นใจตัวเองน้อยลงไหม ก็อาจจะมีส่วน โดยเฉพาะคำพูด เช่น แค่นี้ทำไมแก้ปัญหาไม่ได้ นีทคิดว่ามันมีหลายมิติที่เข้ามาแล้วทำให้เรารู้สึกว่าปัญหามันหนักขึ้น แต่การมีคนฟัง ให้เกำลังใจ และคนช่วยแก้ปัญหา มันจะดีต่อเขา
ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่เรายังต้องการคนช่วยเลย แล้วเด็กจะไม่ได้ต้องการได้ยังไง
แล้วโรงเรียนอื่นที่ไม่มีนักจิตวิทยามันจะแตกต่างกันมากไหม
นักจิตวิทยาไม่ได้ทำงานคนเดียว เด็กๆ มีคุณครูที่คอยให้คำปรึกษาอยู่แล้ว ก่อนหน้าที่จะมีนักจิตวิทยา เด็กๆ เขาจะวิ่งหาคุณครู
นีทไม่ได้บอกว่า นักจิตวิทยาสำคัญจนคุณครูไม่สำคัญ เพราะคุณครูเป็นด่านแรกในการดูแลจิตใจเด็ก แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า คุณครูหนึ่งคนดูแลเด็กได้ไม่หมด ถ้าเด็กวิ่งเข้าหาคุณครูให้ช่วยแก้ปัญหา ครูช่วยอยู่แล้ว ด้วยเรื่องของจำนวนอาจทำให้ตกหล่นไปได้
ในโรงเรียนที่ไม่มีนักจิตวิทยา เด็กๆ ก็อาจจะแก้ปัญหาได้ช้าลง ส่วนโรงเรียนที่มีนักจิตวิทยาเขาจะมีที่พึ่งเยอะขึ้น แก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น
ทุกโรงเรียนควรมีนักจิตวิทยาประจำไหม
ทุกวันนี้หลักสูตรครูก็มีสอนเรื่องจิตวิทยาเหมือนกัน เพื่อนที่เป็นครูบอกมานะคะ แต่ทุกโรงเรียนต้องมีนักจิตวิทยาไหม มันอุดมคติมากเลย ถ้าได้ก็ดีค่ะ สิ่งที่พูดได้ก็คือถ้าเด็กเจอครูที่เข้าใจ เด็กก็จะแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น แต่ถ้าเจอครูที่อาจจะไม่ค่อยเข้าใจ เด็กและคุณครูก็ต้องใช้เวลากันนานหน่อย
ความเห็นส่วนตัว เราจะแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการเปิดคอร์สจิตวิทยาออนไลน์ หรือการรวมทุนกันเพื่อสังคม ถ้าเราบังคับระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องสร้างระบบใหม่ที่ช่วยเหลือเด็ก รวมกลุ่มนักจิตวิทยาเล่าเรื่อง หรือเป็นเพจของกลุ่มนักจิตวิทยา ให้เขารู้สึกว่ามันมีคนที่พร้อมช่วยเหลือพวกหนูอยู่ เหมือนกับว่าอยู่ที่ไหนก็มีคนรับฟัง คนที่พร้อมจะช่วยเหลือ แต่ก็ยอมรับว่ามันอาจจะไม่เท่ากับเจอตัวจริงที่ต้องสังเกตหลายอย่างร่วมด้วย แต่มีก็ดีกว่าไม่มี
การเจอตัวจริง มองหน้า มองตากัน มันดีกว่าอย่างไรบ้าง
มันดีกว่ามากเลยค่ะ สิ่งสำคัญของการสื่อสารมันมีสองอย่าง คือ วัจนภาษากับอวัจนภาษา
ถ้าน้องร้องไห้อยู่ แล้วเราคอยนั่งตบไหล่ มันเหมือนกับว่ามีคนหยิบยื่นกระดาษทิชชู่ให้เรา การคุยกันต่อหน้า เราได้เห็นอวัจนภาษาของเขามันสำคัญมาก เหมือนเราพูดว่า สู้ๆ นะ และหน้าตาของการพูดสู้ๆ นะ มันทำให้เรารู้สึกดี เขาจะรับรู้ได้มากกว่าเสียงที่เปล่งออกมา
ประโยคอะไรที่คุณนีทพูดกับเด็กๆ บ่อยที่สุด
“เหรอ” “อือๆ” เป็นคำที่หลุดออกมาบ่อยมาที่สุดพร้อมกับหน้าตาที่เข้าใจเขาด้วยนะ “เหรอ แล้วยังไงต่ออออ” เพื่อแสดงให้เห็นว่าฉันอยากรู้อารมณ์และความรู้สึกของเธอ เด็กบางคนก็ไม่เหมือนกัน บางทีก็ต้องมีคำคมให้เด็กเหมือนกันนะ บางทีที่เข้ามาก็จะ “พี่ เขาจะชอบหนูรึเปล่า” เราก็จะถามคืนว่า “แล้วคิดว่าเขาจะชอบไหมล่ะ” “ลองดูสิ” เขาก็จะเถียงกลับมา ถ้าไม่ใช่ แล้วจะเป็นยังไง เราก็ตอบไปว่า “ก็แค่นกไหมล่ะ มันจะมีอะไรมาก”
แล้วคำไหนที่ห้ามพูดเลย
“เธอ มันไม่ใช่” แบบนี้มันเหมือนการปฏิเสธเขา มันไม่ใช่สำหรับเรา แต่มันใช่สำหรับเขา เราไม่สามารถเอาความคิดของเราไปใส่ความคิดของเขา ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราบอกเขาว่า ไม่ใช่ เด็กๆ เขาจะรู้สึกว่าตัวตนของเขาไม่ได้รับการยอมรับ
จริงๆ เด็กวิ่งหาพื้นที่การยอมรับ การเข้าใจ ถ้าเราทำตัวเองเป็นพื้นที่ที่ไม่เข้าใจเขา แล้วเด็กๆ จะไปพึ่งใคร
เราก็จะ “พี่เข้าใจ พี่เข้าใจน้องที่คิดแบบนี้” ไม่ได้บอกนะว่า มันถูกหรือผิด แค่เราเข้าใจว่าเขาคิดยังไง ถ้ามันถูกเราก็จะโอเค ถ้ามันผิดเราก็จะค่อยๆ ตะล่อมเขา บางทีพูดแล้วไม่สำเร็จ เราก็ให้น้องไปลอง ถ้าเจ็บแล้วก็จะได้รู้ แล้วก็ถามให้ลองเปลี่ยนวิธีคิดไหม
Curative education หรือการสอนไปด้วย ช่วยเหลือนักเรียนไปด้วย ในความเห็นส่วนตัวของคุณนีทเป็นอย่างไร
มันสำคัญมากๆ เลย ที่เด็กมีปัญหาเพราะเขาไม่รู้วิธีแก้ เพราะฉะนั้นวิธีการสอนสำคัญมาก หนึ่งเลยเราไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลา ถ้าเราไม่ได้สอนวิธีให้เขา เขาก็จะไม่รู้ทางแก้ปัญหา การสอนให้เขาได้คิด มันเหมือนกับการให้อาวุธติดตัว
การใช้ชีวิตมันเหมือนการเดินป่า บางครั้งเราก็ไม่ได้อยากฆ่าเสือ แต่ถ้าเสือมันพุ่งเข้ามาเราก็ต้องมีอาวุธอยู่ในมือ แน่นอนว่าเราไปเดินป่าด้วยกันตลอดไปไม่ได้ เด็กๆ ต้องโตขึ้น ต้องเดินป่าด้วยตัวเอง เขาก็ต้องมีวิธีจัดการ ถ้าเขามีอาวุธติดตัวไป เขาจะแข็งแรง
นักจิตวิทยาในโรงเรียนควรมีคุณสมบัติอะไรที่ต้องโฟกัสเป็นพิเศษเมื่อเปรียบเทียบกับนักจิตวิทยาอื่นๆ
นักจิตวิทยาก็จะมีศาสตร์คล้ายๆ กัน คือศาสตร์การฟัง และการเป็นผู้ช่วยเหลือ ของนีทที่พิเศษแน่ๆ คือการดูพัฒนาการและหาวิธีสร้างทักษะหรือสร้างอะไรก็ตามที่จำเป็นในการแก้ปัญหา เราจะต้องแอบลงไปช่วยเด็กอยู่เยอะทีเดียว เพราะเด็กวัยนี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้ เราเลยต้องมีไกด์ไลน์ แต่สำคัญคือความพอดี ไม่ใช่ปล่อยให้เขาคิดเองจนเกินไป หรือไปช่วยจนเขายืนเองไม่เป็น
อีกอย่างคือการประเมินสถานการณ์ เราควรจะช่วยเขาขนาดไหน มันสำคัญมาก เพราะเด็กบางคนแค่ยื่นวิธีการก็ทำต่อเองได้ แต่เด็กบางคนพาทำเลย เราต้องดูเด็กให้ออก นอกจากการหาความพอดีของชีวิตในการช่วยเหลือเขาแล้ว เรายังต้องเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยนี้อย่างมาก ถ้าเราเข้าใจเขาไม่มากพอ เราก็จะดีลกับเขาไม่ได้ นักจิตวิทยาพัฒนาการต้องมีลูกเล่นในการเข้ากับพวกเขา
มันเหมือนวิธีการเล่นกับเด็กวัยรุ่น มันคือการสร้างความสนิทสนม เป็นนักพัฒนาการที่อยู่กับเขาให้ได้ อิงไปกับเขา ให้เขารู้สึกว่าเราเป็นพี่สาว
ชีวิตส่วนหนึ่งของเด็กๆ คืออยู่กับพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่อาจไม่ได้เข้าใจเหมือนพี่สาวอย่างคุณนีท แล้วพ่อแม่ควรจะมีคาถาหรือวิธีการจัดการกับความปรี๊ดที่จะเกิดขึ้นอย่างไร
นีทเชื่อว่า พ่อแม่ทุกคนเชื่อว่าลูกต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่างในชีวิตได้ เราเลยต้องย้อนถามพ่อแม่ว่าเขาเข้มงวดเกินไปหรือเปล่า ถ้าพ่อแม่ปรี๊ด ทำไมถึงปรี๊ด พ่อแม่ต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ เพราะเขาคิดว่าเด็กวัยรุ่นช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่นะ เราเป็นผู้ใหญ่แล้วบางครั้งเรายังแก้ปัญหาไม่ได้เลย
พ่อแม่แค่ควรเข้าใจ มองเขาเหมือนเด็กเล็กๆ เราเห็นปัญหาเขา เราเข้าไปช่วยแก้ เขาคือเด็กที่แค่เปลี่ยนจากเด็กประถมไปเป็นวัยรุ่นทำไมถึงไม่ช่วยเขาแก้ปัญหา
ทั้งที่จริง วัยรุ่นวันนี้กับสมัยก่อน มันก็เหมือนเดิม ห่วงสวยห่วงหล่อ เครียดเรื่องแฟน เรื่องเรียน เข้าสายวิทย์สายศิลป์ มีปัญหากับเพื่อน มันก็เป็นปกตินะ ต่างเพียงแค่ความเข้ม ความเร็วของสิ่งที่เจอ ยุคนี้อาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่ายุคเราเอง เหมือนสมัยก่อนไม่มีไลน์ ถ้าไม่ชอบเด็กห้องนึงเราก็จะรอหมดคาบแล้วแอบไปเมาท์ ปัจจุบันนี้คือ พิมพ์ไลน์ เร็วมาก มันก็เลยทำให้เด็กๆ เขาเจอเรื่องเหล่านี้ได้เร็วขึ้น
เมื่อก่อนเราไม่ชอบคนหนึ่งคน ต้องอาศัยการเล่าต่อ รอหมดคาบ รอพักเที่ยง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ถ้าไม่ชอบเพื่อนคนนี้ เราก็พิมพ์ไปเลย เราไม่ชอบคนนั้นคนนี้ ตรงนี้คือเรื่องความเร็วที่แตกต่างออกไป
โลกโซเชียลก็เป็นอีกความต่าง เพราะโลกโซเชียลก็จะทำให้ดีกรีความรุนแรงมันมากขึ้น สมัยก่อนเราจะนินทาใคร เราก็จะทำกันลับๆ แต่ทุกวันนี้เราก็จะ (bully) บลูลี่กันในโซเชียลเลย
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้พวกเขาเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้ง่ายมากขึ้นหรือเปล่า
นีทเดาว่าก็มีส่วน การที่มีความเครียดมากๆ มันก็ทำให้เขารู้สึกได้ง่ายมากขึ้น เอาง่ายๆ เรื่องถูกบลูลี่ (bully) ทุกทีเราก็แค่โดนนินทา ซึ่งมันเป็นแค่หนึ่งวิธีที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าและไม่เป็นที่รัก แต่ปัจจุบัน เดินมาก็นินทา ในโซเชียลก็ต่อว่า ก็เป็นสองต่อแล้ว ความเข้มหรือความเครียดมันก็จะมาก
ถ้าวัยรุ่นถูกบุลลี่ (bully) ช่วยเขาอย่างไร
ต้องมีคนเข้าใจ ต้องมีที่พึ่ง อาจจะไม่ใช่นักจิตวิทยา เป็นใครก็ได้เป็นครูก็ได้หรือแม้แต่เพื่อน ที่สามารถจะช่วยให้เขาหาทางแก้ไขได้ ขอแค่มีคนเข้าใจเรา ปัญหาที่หนักก็จะเบาลง
การที่มีคนเข้าใจ มันเหมือนมีคนประคอง นีทว่าจริงๆ แล้ว ความเครียดหรือความเศร้าแต่ละคนประเมินไม่เหมือนกัน มันคือความเข้มที่เรารับรู้และเรานิยามมัน ถ้าเราไม่มีคนซัพพอร์ตเลย เราจะรู้สึกว่าโลกมันมืด แต่ถ้าเรามีคนซัพพอร์ต ปัญหาเดียวกันเราก็อาจจะรู้สึกว่ามันแก้ได้