- Learning How to Learn เป็นหนึ่งในคอร์สเรียนออนไลน์ (Massive Open Online Courseware: MOOC) ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก
- ทำไมเราต้องเรียนรู้ ‘วิธีการเรียนรู้’? เพราะถ้าเราเข้าใจการทำงานและธรรมชาติของสมองก่อน เราจะรู้ว่าเวลาไหน เราควรเรียนรู้แบบใด
- ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เวลาที่เราคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งแทบตาย กลับคิดไม่ออก แต่พอไม่คิด…กลับคิดออกซะอย่างนั้น
เราพูดถึงการเรียนรู้กันอยู่บ่อยครั้ง หลายครั้งที่บอกว่า การเรียนในห้องเรียนทุกวันนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ช่วยสร้างการเรียนรู้ที่ดีเท่าไรนัก เพราะเน้นการเรียนท่องจำจากตำรา ขาดการฝึกปฏิบัติที่กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง
แต่เมื่อไม่มีทางเลือก เราจะหาการเรียนรู้ที่ใช่ ได้จากไหน?
คำถามนี้ทำให้นึกถึงคำตอบของ ‘แปลน’ รามิล กังวานนวกุล เด็กหนุ่มวัย 17 ปี ที่เรียนโฮมสคูลมาทั้งชีวิต The Potential บุกไปสัมภาษณ์แปลนถึงโรงเล่น อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่ที่แปลนเติบโตและได้เรียนรู้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว ที่ที่แปลนเสาะหาสิ่งที่สนใจและอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง
แปลนบอกว่า ‘การเล่น’ คือ การเรียนรู้ที่ดีอย่างหนึ่งเพราะเมื่อได้เล่นก็เท่ากับได้ลอง ได้คิด และได้ลงมือทำ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นของแปลนตั้งแต่เด็กจนย่างเข้าสู่วัยรุ่น สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของระบบคิด การวิเคราะห์แยกแยะ ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งความคิดสร้างสรรค์
แปลนย้ำว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้ที่ ‘เหมาะสม’ กับตัวเอง และต้องเป็นสิ่งที่ ‘ชอบและทำแล้วสนุก’
เมื่อถอดรหัสการเรียนรู้ของแปลน ซึ่งเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเรียนนอกระบบที่สร้างการเรียนรู้ในตัวผู้เรียนได้จริง กระบวนการเรียนรู้แบบแปลนสอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ และการฝึกฝนการเรียนรู้ที่ทุกคนนำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาตัวเองได้ทันที
เรียนแบบไหนถึงเรียนรู้ได้จริง
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า การเรียนแบบไหนเหมาะหรือไม่เหมาะกับเรา เราจะชอบ ไม่ชอบ สนุกหรือไม่สนุกกับการเรียนเรื่องอะไร จนกว่าจะได้ลอง ได้คิด และได้ลงมือทำด้วยตัวเองก่อน
เดวิด โคล์บ (David Kolb) นักทฤษฎีการศึกษาชาวอเมริกันได้เสนอทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ ที่เรียกว่า Experiential Learning Theory (ELT) ไว้ตั้งแต่ปี 1984 พูดถึง Learning Cycle หรือวงจรการเรียนรู้ 4 ขั้นตอนซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ได้แก่
หนึ่ง การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง (Concrete Experience)
ขั้นแรกของการเรียนรู้เกิดขึ้นจากการ ‘ลงมือทำ’ อะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะทำคนเดียวหรือร่วมกันในกลุ่มเพื่อน หรือพ่อแม่ชวนลูกเล่น โคล์บ ย้ำชัดว่า การเรียนรู้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการดูหรืออ่านเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างเช่น การทำอาหาร เราคงไม่สามารถทำอาหารได้ดี หั่นผักเฉือนเนื้อได้คล่องจากการอ่านหนังสือคู่มือทำอาหารเท่านั้น
สอง การสะท้อนคิด (Reflective Observation)
คือ การให้เวลาอย่างเพียงพอกับการทบทวน ไตร่ตรอง หรือแลกเปลี่ยนถกเถียงเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำลงไปแล้ว ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแห่งการตั้งคำถาม เพื่อให้ได้ย้อนนึกถึงสิ่งที่ทำว่า ทำอะไร และเกิดอะไรขึ้นบ้าง? เช่น
เด็กๆ เข้าไปทัศนศึกษา พบเห็นอะไรบ้าง? ได้คุยกับใครบ้าง? คุยเรื่องอะไร?
เด็กๆ ได้ทำขนมอะไร ขนมมีส่วนประกอบอะไรบ้าง?
เล่าขั้นตอนการทำให้ฟังหน่อย เริ่มจากทำอะไรก่อน-หลัง?
ระหว่างทำกิจกรรมรู้สึกชอบ/ไม่ชอบอะไร?
มีปัญหาอะไรบ้างไหม? แล้วแก้ปัญหายังไง?
ยกตัวอย่างกลับมาที่เรื่องการทำอาหาร ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการชิม ลองชิมฝีมือตัวเอง ลองให้คนอื่นชิม และเปิดรับฟีดแบ็ค แล้วนำไปสู่การสรุปอีกครั้งในขั้นตอนที่ 3
นอกจากการตั้งคำถามให้ตอบแล้ว ยังสามารถใช้วิธีการเขียนตอบคำถาม เขียนเล่าเรื่อง หรือให้สะท้อนความรู้สึกอย่างอิสระได้ด้วย วิธีการเขียนแบบนี้เป็นคนละเรื่องกับการให้ตอบคำถามประเมินกิจกรรม
สาม การสรุปผลด้วยตัวเอง (Abstract Conceptualization)
นอกจากสรุปผลสิ่งที่ได้ลงมือทำในขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาเพื่อประมวลผล แล้วสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ (ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้) ด้วยผู้เรียนเอง ซึ่งองค์ความรู้ใหม่นี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจไม่ใช่การท่องจำ เพราะผู้เรียนได้ลงมือทำและคิดทบทวนด้วยตัวเองในสองขั้นตอนแรกมาแล้ว แน่นอนว่าบางคนสามารถสังเคราะห์สิ่งที่เรียนรู้ออกมาได้อย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจใช้เวลานานกว่า ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละคนว่าเชื่อมโยงกับสิ่งที่ทำมากแค่ไหน
และสี่ การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปฏิบัติใหม่ (Active Experimentation)
ขั้นตอนนี้ คือ การทดลองทำซ้ำ แล้วพัฒนาต่อยอด ยกตัวอย่างเช่น การปรับอาหารสูตรเดิมให้อร่อยขึ้น หรือพลิกแพลงเกิดเป็นเมนูใหม่ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนอย่างที่เชฟชอบทำกัน
หรือกรณีของแปลน เขาสนใจเรื่องแมลงตั้งแต่อายุราว 4 ขวบ ทดลองเลี้ยงและสตัฟฟ์แมลงไว้หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ด้วงกว่าง แมงป่อง ตัวบึ้งหรือแมงมุมทารันทูลาที่หลายคนบอกว่ามีนิสัยดุร้าย ย้อนไปตอนนั้น ใครๆ ก็มองว่าแปลนน่าจะเติบโตไปเป็นนักกีฏวิทยา…แต่ไม่ใช่
แปลน บอกว่า แมลงเป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงไปยังความสนใจเรื่องอื่น
กระบวนการเรียนรู้ของแปลนได้ผ่านขั้นตอนที่ 1, 2 และ 3 แล้วนำไปสู่ขั้นตอนที่ 4 เมื่อเขานำประสบการณ์และทักษะไปปรับใช้กับการทำสิ่งใหม่ๆ ที่สนใจอยู่เสมอ เช่น เปิดธุรกิจทำร้านออนไลน์จำหน่ายอะไหล่และอุปกรณ์สำหรับจักรยาน ชื่อ ‘14bike’
การดัดแปลงใส่กลไกให้กับของเล่นพื้นบ้านที่หลายคนมองว่าเชย ให้มีลูกเล่น น่าเล่น และน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงการผลิตสื่อโฮโลแกรม 3 มิติที่ช่วยให้การเรียนเนื้อหาสาระหนักๆ เข้าใจง่ายและน่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าเก่า เช่น โฮโลแกรมเกี่ยวกับฝิ่นและประวัติความเป็นมาของฝิ่น โฮโลแกรมส่งเสริมการอ่านไว้ใช้งานที่ห้องสมุด และโฮโลแกรมฉายภาพพระทองคำเชียงแสน เป็นต้น
และล่าสุด การเปิดเมคเกอร์ สเปซ (Maker Space) พื้นที่ที่อนุญาตให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้เข้ามาออกแรงความคิด และใช้อุปกรณ์งานช่างทดลองทำโปรเจ็คท์ต่างๆ
ฝึกฝนวิธีการเรียนรู้ (Learning How to Learn)
ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ของ เดวิด โคล์บ ฉายภาพรวมให้เห็นขั้นตอนการเรียนรู้ที่เป็นแนวทางสำหรับผู้เรียนในภาพกว้าง เป็นแนวทางจัดการศึกษาที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วโลก เช่น บรรจุในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของนิวซีแลนด์และสิงคโปร์
อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถฝึกฝนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและเจาะลึก เพื่อเติมเต็มศักยภาพของแต่ละคนได้อีก ในยุคที่แหล่งการเรียนรู้ไร้ขีดจำกัด
Learning How to Learn เป็นหนึ่งในคอร์สเรียนออนไลน์ (Massive Open Online Courseware: MOOC) ที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก (ยอดลงทะเบียน ณ วันที่ 23 กันยายน 2019 อยู่ที่ 1,797,793 คน) โดยคอร์สเริ่มเปิดสอนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2014 ในเว็บไซต์ Coursera.org มีอาจารย์ผู้สอน 2 คน ได้แก่
บาร์บารา โอคลีย์ (Barbara Oakley) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอคแลนด์ มิชิแกน ที่มีส่วนร่วมวิจัยงานหลายแขนง ทั้งด้านการศึกษาด้วย STEM การศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และ การฝึกฝนการเรียนรู้
และ เทอร์เรนซ์ เซนาวสกี (Terrence Sejnowski) ผู้บุกเบิกด้านประสาทวิทยาการคำนวณ ที่ได้รับการยอมรับทั้งด้านการแพทย์และวิศวกรรม ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ สถาบันวิจัยซอล์คเพื่อการศึกษาชีววิทยา (Salk Institute of Biological Studies) สถาบันที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลมาแล้วถึง 11 คน
เนื้อหาหลักสูตร Learning How to Learn อ้างอิงงานวิจัยด้านประสาทวิทยา (Neuroscience) ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองมนุษย์ จึงเป็นบทเรียนที่เชื่อถือได้ทั้งในทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ก่อนผลิตหลักสูตรออนไลน์นี้ บาร์บาราบอกว่า เธอเคยท้าทายศักยภาพตัวเอง ฝึกฝนการเรียนรู้ด้วยวิธีการลักษณะนี้มาก่อน
บาร์บาราเกลียดวิชาคณิตศาสตร์แต่ชอบภาษาศาสตร์มาก เมื่อไม่มีเงินเรียนหนังสือ เธอจึงตัดสินใจเข้าทำงานกับกองทัพสหรัฐเพื่อโอกาสในการเรียน เธอได้เรียนภาษารัสเซียและออกไปปฏิบัติหน้าที่ จนกระทั่งเมื่ออายุ 26 ปี เธอหันมาเรียนคณิศาสตร์อย่างจริงจัง จนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมในที่สุด
เมื่อคนที่เอาแต่สอบตกวิชาคณิตศาสตร์อย่างเธอ เรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมศาสตร์ได้ คนอื่นก็ต้องทำได้ หากรู้วิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง
สลับโหมด เปลี่ยนสมอง
เคยไหม…คิดแทบตายกลับคิดไม่ออก แต่พอไม่คิด…กลับคิดออกซะอย่างนั้น!!
เกิดอะไรขึ้นในสมองของเรา?
การคิดออก/ได้คำตอบเวลา ‘ไม่ได้คิด’ หรือ ไม่ได้หมกมุ่นกับเรื่องนั้นแล้ว แสดงให้เห็นการทำงานของสมอง
หลายครั้งที่คิด คิดจนเหนื่อย เลยต้องหยุดคิด แต่ขณะที่เราคิดว่าเราหยุด เบื้องหลังสมองก็ยังทำงานครุ่นคิดกับเรื่องนั้นอยู่อย่างไม่รู้ตัว ภาวะนี้เรียกว่าความคิดใน diffuse mode
บาร์บาราอธิบายว่า โดยปกติสมองมีรูปแบบการทำงานในกระบวนการเรียนรู้อยู่ 2 สภาวะ คือ diffuse mode และ focus mode (การครุ่นคิดอย่างตั้งใจ)
สมองมนุษย์ทำงานใน focus mode ได้ดีและรวดเร็วกับเรื่องที่คุ้นเคยหรือเคยทำมาก่อน ยกตัวอย่าง คณิตศาสตร์ เช่น การบวกลบเลขที่ไม่ซับซ้อน หรือการท่องสูตรคูณ ที่ท่องได้ติดปาก เป็นต้น
แต่เมื่อเจอโจทย์ยาก focus mode ก็จอด!
คราวนี้การสร้าง diffuse mode ช่วยได้ ที่บอกว่าต้องสร้าง เพราะความคิดทั้งสองโหมดนี้ไม่สามารถทำงานได้ในเวลาเดียวกัน
diffuse mode เกิดขึ้นเมื่อรู้สึกผ่อนคลาย การทำให้สมองอยู่ในภาวะพัก (neural resting stage) เช่น เดินเล่น วิ่งเล่น ปั่นจักรยาน ออกกำลังกาย อาบน้ำ หรือนอนหลับ หากเปรียบเทียบ diffuse mode ก็เหมือนภาวะที่สมองมีพื้นที่อิสระในการคิดมากกว่า focus mode
ทำให้ระบบคิดหลุดออกจากรูปแบบเดิมๆ ที่เคยคิดเคยทำ สมองจึงพยายามเชื่อมโยงข้อมูล และประสบการณ์ใหม่ๆ เข้ามาในกระบวนการคิด
ดังนั้น การเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นหากผู้เรียนบาลานซ์ focus mode และ diffuse mode ให้เกิดขึ้นสลับไปสลับมาอย่างต่อเนื่องได้ ผู้เขียนขอเรียกว่า การเรียนรู้แบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป หรือ ค่อยๆ ทำ ซึ่งจะพูดถึงอย่างละเอียดในหัวข้อถัดไป
เปลี่ยนจาก ‘เดี๋ยวค่อยทำ’ เป็น ‘ค่อยๆ ทำ’
‘เดี๋ยวค่อยทำ’ กับ ‘ค่อยๆ ทำ’ ออกเสียงเผินๆ ฟังดูไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ในทางปฏิบัติให้ผลลัพธ์ต่างกันมหาศาล จากการศึกษา พบว่า การเรียนรู้อะไรสักอย่าง อย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปตามแผนหรือแบบมีเป้าหมาย จะสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพกว่าการอัดเนื้อหาหรือตะบี้ตะบันทำในเวลาสั้นๆ (cramming) เพราะการค่อยๆ เรียน ค่อยๆ ทำ ทำให้สมองจดจำสิ่งที่เรียนรู้นั้นได้ดีและถาวรกว่า วิธีการนี้ใช้ได้กับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การทำงานอดิเรก เช่น การฝึกเล่นเครื่องดนตรี ฝึกเต้น ฝึกร้องเพลง ฝึกทำอาหาร ฯลฯ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลงมืออ่านหนังสือให้จบ 20 รอบในหนึ่งวัน สมองไม่สามารถจดจำหรือทำงานได้ดีเท่าอ่านหนังสือวันละ 1 รอบเป็นเวลา 20 วัน จึงไม่น่าแปลกที่การหักโหมอ่านหนังสือแค่ 1 วันก่อนสอบ ทำให้ผลการสอบพังพับไม่เป็นท่า เพราะเมื่อหลับตื่นขึ้นมาแล้วอาจรู้สึกว่าจำอะไรไม่ได้เลย
วิธีการสร้างความจำระยะยาว (long term memory) ต้องใช้ spaced repetition หรือ spaced rehearsal ด้วยการค่อยๆ อ่านสะสม ก่อนสอบอ่านทบทวนซ้ำๆ วันละนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 7-14 วัน การศึกษา พบว่า ยิ่งอยู่กับเรื่องนั้นนานเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสจำได้มากขึ้นเท่านั้น
เทคนิคการเรียนรู้อย่างหนึ่งที่อยากแนะนำ มาพร้อมชื่อเก๋ๆ Pomodoro Technique เป็นแนวทางฝึกปฏิบัติสำหรับผู้เรียนที่อยากพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตัวเอง แบบค่อยๆ ทำแต่ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง และเพื่อเป็นกำลังใจให้กับคนสมาธิสั้น เพราะ Pomodoro Technique เป็นเทคนิคที่ใช้เวลาสั้นๆ สร้างการเรียนรู้ แล้วมีสมองของเรานี่แหละเป็นตัวช่วยนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปะติดปะต่อกัน
เทคนิคการจัดการเวลานี้ คิดค้นโดย ฟรานเซสโก ซีริลโล (Francesco Cirillo) ในปี 1980s แล้วถูกนำมาพูดถึงจนเป็นที่รู้จักอีกครั้งในหลักสูตร Learning How to Learn ซึ่งทำได้ไม่ยากเลย แค่…
หนึ่ง ปิดช่องทางหันเหความสนใจ เช่น เก็บมือถือให้ห่างจากโต๊ะ ปิดทีวี หรือบางคนอาจชอบอยู่ในที่เงียบๆ ก็สามารถหามุมสงบๆ ของตัวเองได้
สอง โฟกัสด้วยการตั้งใจจดจ่อกับการอ่านหรือสิ่งที่ทำให้ได้ 25 นาที (สร้าง focus mode)
สาม พักเบรกผ่อนคลาย เดินเล่น จิบกาแฟ ฯลฯ 5 นาที (สร้าง diffuse mode)
และ สี่ ควบคุมตัวเองให้ได้ กลับมาโฟกัสกับสิ่งที่ทำอีก 25 นาที แล้วพัก 5 นาที ทำแบบนี้ไปจนครบ 4 รอบ รอบที่ 4 พักยาวได้ 30 นาที เพื่อให้สมองเข้าสู่ diffuse mode อย่างแท้จริง
ระยะเวลาที่ใช้โฟกัสปรับได้ตามความเหมาะสม สำหรับคนสมาธิสั้นอาจมองว่า 25 นาทีนั้นนานและยาก ปรับเอาให้ถูกจริตตามสถานการณ์และตัวบุคคล อาจลดเหลือ 20 นาที หรือเพิ่มขึ้นหากทำได้
นอกจากนี้ การเปลี่ยนคำพูดบอกกับตัวเองก็ช่วยปรับภาวะของสมองได้ ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะบอกว่า “ฉันจะทำการบ้านให้เสร็จภายใน 25 นาที” ฟังดูแล้วกดดันตัวเอง จนเวลาผ่านไป ทำเท่าไรก็ทำไม่เสร็จเพราะคิดไม่ออก ให้ตั้งเป้าบอกกับตัวเองว่า “ฉันจะทำการบ้านอย่างตั้งใจสัก 25 นาที” แทน เพื่อให้ focus mode ที่เกิดขึ้นไม่เต็มไปด้วยแรงกดดันที่มากเกินพอดี
ทบทวน ไม่เท่ากับ อ่านซ้ำ ฟังซ้ำ ทำซ้ำ ตรงที่เดิม
เมื่อเอ่ยถึงการทบทวนบทเรียน เรานึกถึงอะไร?
กลับไปอ่านหนังสือซ้ำอีกครั้ง? กลับไปอ่านตรงปากกาไฮไลท์เพื่อย่นเวลา? ฯลฯ
การทบทวนที่บาร์บาราบอกไว้คือการ recall หรือ นึกย้อนถึงสิ่งที่ได้เรียน ได้อ่าน ได้ฟังหรือได้ทำ โดยยังไม่ต้องกลับไปอ่าน ฟัง หรือทำซ้ำ ส่วนนี้สอดคล้องกับวงจรการเรียนรู้ 4 ขั้นตอนของโคล์บในข้อที่ 2 และ 3
ยกตัวอย่างเช่น ลองตั้งคำถามเพื่อทบทวนว่า
- อะไรเป็นใจความสำคัญ (main idea) คอนเซ็ปท์ หรือสิ่งที่โดดเด่นจากเรื่องที่อ่าน/ฟัง/ทำ?
- ถ้าต้องอธิบายให้คนอื่นฟัง จะเริ่มอธิบายจากส่วนไหน และอธิบายว่าอย่างไร?
ลองเรียบเรียงด้วยภาษาและความเข้าใจของตัวเอง อาจใช้การพูดหรือการเขียน แล้วแต่ถนัด วิธีการ
นี่เป็นการเรียกคืนข้อมูลกลับเข้าสู่กระบวนการคิดของสมอง ช่วยให้เราไม่ตกหลุมพรางและคิดไปเองว่า เข้าใจเรื่องนั้นดีแล้ว (Illusion of competence) ทั้งที่จริงๆ เกิดขึ้นเพราะสมองรู้สึกคุ้นชิน กับหนังสือเล่มเดิมที่เคยอ่านผ่านตา จากประโยคที่เคยไฮไลท์ไว้เป็นสีสัน และจากเสียงที่เคยฟังมาก่อน
เราไม่ได้บอกว่าการอ่านทบทวน การขีดไฮไลท์ การฟังหรือการทำซ้ำ ไม่มีประโยชน์ แต่เมื่อทำเสร็จแล้ว การสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่า คือ การทบทวนด้วยความเข้าใจของตัวเอง เพื่อให้แน่ใจจริงๆ ว่าส่วนไหนจำได้ จำไม่ได้ ส่วนไหนเข้าใจจริงๆ หรือยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วค่อยกลับไปอ่าน/ฟัง/ทำ อีกครั้งในส่วนที่ขาดหายไป
นอกจากนี้ การทบทวนที่ดีควรทำในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ เพื่อปรับสมองให้ทำงานได้อย่างคล่องแคล่วในสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป ช่วยลดความตื่นเต้น และทำให้สมองทำงานได้ดีเมื่อเข้าห้องสอบ
“Wisdom is not a product of schooling but of the life-long attempt to acquire it”.
– Albert Einstein
“ปัญญาไม่ใช่ผลผลิตของการศึกษา แต่มาจากความพยายามทั้งชีวิตเพื่อให้ได้มันมา”
– อัลเบิร์ต ไอสไตน์
Fun Fact! การนอนหลับอย่างเพียงพอ จะช่วยให้สมองจัดเก็บข้อมูลสำคัญที่ได้เรียนรู้ในแต่ละวันได้ดี และสำคัญมากในการรักษาความจำในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยคัดกรองการจำสิ่งที่ไม่จำเป็นออกได้ด้วย ดังนั้น การให้สมองได้พักด้วยการนอน หลังจากการเรียน อ่านหนังสือหรือจากการทำกิจกรรมฝึกฝนทักษะต่างๆ จะช่วยให้จำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดี และสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องต่อไปได้งานวิจัยทางสมองมากมายเห็นตรงกันว่า ช่วงเวลาสำคัญที่สุดในชีวิตเด็ก คือช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึง 5 ปีแรก เพราะช่วงแรกนี้สมองของเด็กจะสร้างการเชื่อมต่อของนิวรอนเกิน 1 ล้านครั้งต่อวินาที หมายความว่า เซลล์ประสาทสามารถสร้างเครือข่ายเชื่อมต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็วในช่วงเวลานี้ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง แต่เมื่อโตขึ้นเราควรหาทางกระตุ้นสมองด้วยวิธีการต่างๆ เพราะเซลล์ในสมอง หากไม่ถูกใช้งานจะเสื่อมและตายลงเรื่อยๆ การออกกำลังกาย มีประโยชน์กว่าอาหารเสริมหรือยาบำรุงใดๆ ที่มีสรรพคุณบำรุงสมอง เพราะการออกกำลังกายช่วยกระตุ้นสมอง ทำให้เซลล์สมองใหม่ที่เติบโตขึ้นอยู่รอดและแข็งแรง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจึงช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และความจำ หมายเหตุ: MOOC คือหลักสูตร (course) ที่เรียนออนไลน์ (online) จากระบบที่เปิดให้ใช้งานฟรี (open) และรองรับผู้เรียนจำนวนมาก (massive) ผู้เรียนสามารถเชื่อมต่อเข้าไปดูวิดีโอการบรรยาย เข้าไปฝึกปฏิบัติ ทำแบบทดสอบแบบฝึกหัด หรือเข้าไปร่วมสนทนากับผู้เรียนอื่นๆ ได้ คอร์สเรียนออนไลน์ Learning How to Learn คลิก , MOOC ในประเทศไทย คลิก ติดตามทฤษฏีการเรียนรู้จากประสบการณ์ เดวิด โคล์บ เพิ่มเติม ได้ที่ |