- Or Health ชุดปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีอินทรีย์อัจฉริยะ พัฒนาโดยคู่หูเทคนิค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา พัฒนาขึ้นเพื่อผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัดที่มีภาวะโลหิตจาง หรือผู้ที่ห่วงใยสุขภาพทั่วไป
- จากความตั้งใจแค่ทำโปรเจ็คต์ให้จบกลายเป็นความต้องการลึกๆ ที่อยากเห็นคนใกล้ตัวอย่างอาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมและต้องดื่มน้ำจากต้นข้าวสาลีได้อย่างมั่นใจและราคาถูกลง
- แม้วันนี้อาจารย์ผู้เป็นแรงบันดาลใจจะไม่อยู่แล้ว แต่พวกเขาก็มุ่งมั่นและทำต่อไป เพราะสิ่งที่อาจารย์หวังไว้คือการทำได้ถึงจุดสูงสุด
เรื่อง: มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
หนึ่งในผลข้างเคียงของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เข้ารับการรักษาแบบเคมีบำบัดคือภาวะโลหิตจาง มีงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยมะเร็งที่รับประทานน้ำคั้นจากต้นอ่อนข้าวสาลีจะช่วยเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงและป้องกันภาวะโลหิตจางได้ดี
อย่างไรก็ตาม น้ำต้นอ่อนข้าวสาลีในท้องตลาดมีราคาสูง และไม่รับประกันว่าต้นอ่อนข้าวสาลีนั้นมีการใช้สารเคมีหรือไม่?
เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและรับประกันถึงความสะอาดของน้ำต้นอ่อนข้าวสาลี Or Health ชุดปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีอินทรีย์อัจฉริยะ จึงเกิดขึ้นด้วยฝีมือของ กัน-อิตาลี จรัสภิญโญ และ นุ๊ก-กรรณิการ์ เกือบสันเทียะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา เพื่อผู้รักสุขภาพและผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคน
หัวข้อและความหวังจากอาจารย์
Or Health มีจุดเริ่มต้นจากโปรเจ็คต์จบการศึกษาของกันและนุ๊ก อาจเดาได้ว่าทั้งสองมีแรงขับเคลื่อนจากคติที่ว่า ‘ลำบากวันนี้ สบายวันหน้า’
“อาจารย์แนะนำว่าสุดท้ายเราต้องทำโปรเจ็คต์จบอยู่แล้ว เราเริ่มทำโปรเจ็คต์ตั้งแต่ปี 2 แล้วส่งประกวด จะได้รางวัลหรือไม่ได้ก็ไม่เป็นไรแต่ก็จะได้มีผลงานออกมา การที่เราได้ทำก่อนเพื่อนจะพัฒนาได้มากกว่าโดยไม่ต้องรอถึงปี 4 ค่อยทำ (หัวเราะ) ตอนแรกอาจารย์ถามว่าอยากทำอะไร แต่ตอนนั้นเราไม่รู้เรื่องอะไรเลย อาจารย์เลยแนะนำหัวข้อให้เราเลือก แล้วเราก็เลือกทำชุดปลูกข้าวสาลี” กันเล่าถึงจุดเริ่มต้นของผลงาน Or Health
แนวคิดของกันและนุ๊กในเวลานั้นคือ การพัฒนาชุดปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีอัจฉริยะที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อมให้ต้นอ่อนสามารถเติบโตได้อย่างอัตโนมัติและไม่ต้องใช้สารเคมี โดยที่ผู้ปลูกไม่ต้องเสียเวลามาคอยดูแล
“โจทย์คือจะปลูกข้าว เริ่มจากการทดลองปลูกข้าวสาลีหลายๆ พันธุ์เพื่อดูว่าพันธุ์ไหนขึ้นสวย แล้วเราก็ประดิษฐ์เครื่องมาเพื่อควบคุมเรื่องต่างๆ ให้สามารถทำงานได้อัตโนมัติ เพื่อประหยัดเวลา ผู้ปลูกไม่ต้องมาคอยดูแล”
โดยกลุ่มเป้าหมายก็คือ ผู้ที่รักสุขภาพและผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่จำเป็นต้องรับประทานน้ำต้นอ่อนข้าวสาลี ซึ่งกลุ่มหลังนี้เองคืออีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนของกันและนุ๊ก
เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษาของพวกเขาเองป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมอยู่ในขณะนั้น กันบอกอีกเหตุผลสำคัญ
“ส่วนหนึ่งที่ทำหัวข้อนี้ เพราะอาจารย์ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม อาจารย์ต้องสั่งซื้อน้ำต้นอ่อนข้าวสาลีจากอินเทอร์เน็ตมาทาน แต่ไม่รู้ว่าน้ำที่ซื้อมามีสารปนเปื้อนไหม จึงคิดว่าปลูกเองปลอดภัยกว่า”
นุ๊กช่วยเสริมว่า “อีกปัจจัยหนึ่งก็คือน้ำต้นอ่อนข้าวสาลีมีราคาแพง ถ้าปลูกเองมันจะง่าย ประหยัดเงินและเวลากว่า”
Or Health ถูกพัฒนาขึ้นจากแนวคิดนั้น โดยยกระดับขึ้นจากความตั้งใจเดิมของกันและนุ๊ก ที่ต้องการเพียงให้เป็นโปรเจ็คต์จบการศึกษา หากพัฒนาไปสู่การประกวดวงจรอิเล็กทรอนิกส์รุ่นเยาว์ (YECC) และโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 6
กระบวนการทำงานสร้างนวัตกร
แรกๆ แรงจูงใจในการทำงานของกันและนุ๊กมีแค่อยากทำให้เสร็จเพื่อลดภาระการทำโปรเจ็คต์เท่านั้น ปราศจากความกระหายอยากรู้อยากทดลองเหมือนธรรมชาติของนวัตกรทั่วไป ทว่าหลังจากที่ได้เริ่มลงมือทำ Or Health หลายๆ อย่างก็เปลี่ยนไป
โดยเฉพาะการเสียชีวิตของอาจารย์ที่ปรึกษา…
“ระหว่างที่เราพัฒนาเครื่องจนสามารถสั่งงานผ่านโปรแกรมได้ แต่ยังไม่ได้ทดสอบว่าคุณสมบัติของต้นอ่อนข้าวสาลีเป็นยังไง ช่วงครึ่งเดือนก่อนไป YECC อาจารย์ก็เสีย ส่วนหนึ่งก็คือห่วงชื่อเสียงอาจารย์ ถ้าเราทำไม่เสร็จอาจารย์ก็จะเสียชื่อ ผลงานนี้เป็นสิ่งที่อาจารย์อยากให้ทำ จึงอยากทำต่อให้สำเร็จ อีกส่วนคือเราเริ่มทดลองไปแล้วก็อยากทดลองต่อว่าผลจะออกมาเป็นยังไง มันจะมีประโยชน์ต่อใครบ้าง เผื่อมันจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ เหมือนได้ทำบุญ” กันเล่าด้วยรอยยิ้ม
กันและนุ๊กพัฒนา Or Health ให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานผ่านโปรแกรมได้ ให้เครื่องสามารถรดน้ำต้นอ่อนข้าวสาลีและแจ้งเตือนเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว และนำเวอร์ชั่นนี้ส่งประกวด YECC ก่อนจะเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 6 ตามปณิธานของพวกเขาที่อยากพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสำหรับการใช้งานจริง
“เวอร์ชั่นแรกจริงๆ มันก็โอเคแล้ว ข้าวสวย โตเร็ว จากที่ปลูกปกติจะใช้เวลาประมาณ 7 วัน แต่ถ้าใช้เครื่องนี้จะประมาณ 5-7 วัน เห็นอย่างนั้นเราจึงตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าควบคุมเรื่องอื่นๆ ได้อีกมันก็น่าจะโตเร็วขึ้นกว่าเดิม จึงอยากทดลองต่อดู” นุ๊กเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ต่อยอดผลงานสู่โครงการต่อกล้าฯ
ด้วยคำแนะนำจากกรรมการและทีมโค้ชก็ทำให้กันและนุ๊กพัฒนา Or Health ไปได้ไกลกว่าเดิม ทั้งการเปลี่ยนโครงสร้างชุดปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพิ่มการควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสง เพื่อให้ต้นอ่อนข้าวสาลีโตได้เร็วขึ้น
“รวมไปถึงการพัฒนาเซนเซอร์วัดความชื้นทั้งในอากาศและในดินให้สัมพันธ์กัน และเปลี่ยนจากโซลินอยด์วาล์วมาเป็นปั๊ม เพื่อให้สามารถพักน้ำได้ คลอรีนจะหายไป แต่ถ้าเราต่อจากสายยางโดยตรงจะมีคลอรีนอยู่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่โค้ชต่อกล้าฯ แนะนำมา” กันอธิบายถึงการพัฒนาผลงาน
จนปัจจุบัน Or Health เวอร์ชั่นล่าสุดสามารถรดน้ำได้อัตโนมัติ มีการควบคุมความชื้นด้วยพัดลมระบายอากาศ ซึ่งช่วยป้องกันโรคและแมลงให้กับต้นอ่อนข้าวสาลีได้ และทำให้ต้นอ่อนข้าวสาลีที่ปลูกด้วยชุดปลูกนี้ มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าการปลูกแบบทั่วไป 1-2 วัน โดยปริมาณผลผลิตต่อเครื่องต่อรอบปลูกอยู่ที่ 1 กิโลกรัม หรือประมาณ 4 ถาดปลูก ซึ่ง 1 ถาดจะสามารถนำต้นอ่อนข้าวสาลีมาคั้นเป็นน้ำได้ 4-5 ช็อต
“พอได้ต้นอ่อนแล้วเราก็เอาไปคั้นแยกกากออกมาเป็นน้ำ แล้วผมก็ลองเอาน้ำนั้นไปขายที่ฟิตเนส สำหรับกลุ่มคนออกกำลังกายหรือผู้ที่ดูแลสุขภาพ ดื่มช็อตหนึ่งก็เหมือนทานผักใน 1 วัน โดยที่เขาไม่ต้องวิ่งซื้อผักมาทำเอง ผมเอาน้ำใส่ขวดไปเทใส่แก้วกระดาษขายช็อตละ 30 บาท ปรากฏว่าขายดี ปกติท้องตลาดจะขายช็อตละ 70 บาท ไปขายมา 3 ครั้ง ได้กำไรครั้งละ 300 กว่าบาท (หัวเราะ) ก็ถือเป็นการลองตลาดคร่าวๆ ยังไม่ได้จริงจังมาก”
ประสบการณ์การนำผลผลิตจาก Or Health ไปทดลองตลาดจริง สำหรับกัน ถือเป็นภาพที่ห่างไกลจากตอนที่เริ่มทำโปรเจ็คต์มาก
“ความรู้สึกตอนทำครั้งแรกคืออยากเรียนจบไวๆ (ยิ้ม) จะได้ไม่ต้องเหนื่อยตอนปี 3 ปี 4 แต่พอได้ทำไปแล้วมันเริ่มมีประโยชน์ ก็รู้สึกว่ามันมีคุณค่าและความหมายที่จะทำ” กันกล่าวด้วยรอยยิ้ม
ไม่มีทางลัดสำหรับนวัตกร
แม้การเริ่มต้นโปรเจ็คต์จะปราศจากแรงบันดาลใจเชิงบวกมากนัก รวมไปถึงไม่มีองค์ความรู้รองรับในสิ่งที่กำลังจะทำ แต่การที่ทั้งกันและนุ๊กสามารถพัฒนาผลงาน Or Health มาจนถึงจุดที่สามารถใช้งานได้จริง ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะอยู่เฉยๆ ปล่อยให้สภาพแวดล้อมของกระบวนการพัฒนาผลงานนำพาพวกเขาไปโดยไม่ได้ลงมือทำอะไรเพิ่มเติมกับตัวเอง
กลับกัน หากนวัตกรคนอื่นๆ ต้องลงทุนลงแรงไปมากเท่าไรเพื่อให้ได้ผลงานออกมาชิ้นหนึ่ง กันและนุ๊กก็ต้องลงทุนลงแรงลงเวลาไม่ต่างกับนวัตกรคนอื่นๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงหาความรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ คือกระบวนการสำคัญที่ทั้งสองต้องพยายามมากกว่าคนอื่นเป็น 2 เท่า
“ความท้าทายที่สุดของการทำงานนี้ก็คือ ความรู้ของเรายังไม่เพียงพอ อย่างเรื่องการเขียนโค้ด การทำงานของเซนเซอร์ การเลือกวัสดุโครงสร้างต่างๆ โปรแกรมออกแบบโครงสร้าง แม้แต่เรื่องถ่าน ดิน เมล็ดพันธุ์ พูดง่ายๆ ก็คือต้องเรียนรู้ใหม่หมดทุกอย่างเลย (หัวเราะ)”
และวิธีการได้มาซึ่งความรู้ของพวกเขาก็ตรงไปตรงมา นั่นคือแสวงหาจากผู้รู้ จากอาจารย์ รุ่นพี่ ผู้รู้เฉพาะทาง ทีมโค้ชโครงการต่อกล้าฯ รวมถึงการค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
“ถ้าอยากรู้เรื่องถ่านหรือดินที่ใช้ปลูกเราก็ต้องไปที่ร้านต้นไม้ จากที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้อะไรเลย ไม่เคยปลูกอะไร ไม่เคยทำโครงสร้าง ไม่เคยออกแบบ (หัวเราะ) ก็ไปถามคนรู้จักในเฟซบุ๊คที่เป็นพวกสถาปัตย์หรือออกแบบภายในว่าจะออกแบบโครงสร้างยังไง ต้องเรียนรู้เรื่องวัสดุว่าต้องใช้อะไรถึงจะแข็งแรง หรือวัสดุเท่านี้ถ้าถึงความสูงเท่านี้จะแข็งแรงได้เท่าไหน รวมทั้งเรื่องความใหญ่ น้ำหนัก ความสูงของแต่ละชั้นด้วย ต้องศึกษาหมดเลย ซึ่งในภาพรวม ทีมโค้ชช่วยเยอะมาก ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ การตลาด อย่างเรื่องโครงสร้างตอนแรกผมออกแบบเป็นแนวนอน เขาก็แนะนำให้เป็นแบบคอนโด 4 ชั้น ซอฟต์แวร์เขาก็แนะนำการเพิ่มระบบควบคุม การตลาดก็แนะนำเรื่องเว็บไซต์หรือการหาลูกค้าว่าเราต้องทำไปเพื่อใคร กลุ่มเป้าหมายเราคือใคร” กันเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ของทีม
และแน่นอนว่าผู้รู้คือผู้ที่สนับสนุนความรู้ แต่คนลงมือทำนั้นก็คือตัวกันและนุ๊กเองที่ต่างต้องแบ่งเวลาจากการเรียนมาอดทนมุงานให้แล้วเสร็จ และการมุงานนั้นก็ไม่ใช่แค่การทำเพราะเป็นแค่โปรเจ็คต์จบการศึกษา แต่ทำเพื่อให้ใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์
“เหนื่อยมาก (ลากเสียง) เพราะถ้าทำแค่โปรเจ็คต์จบก็แค่ให้จบๆ ไป แค่เครื่องติดใช้งานได้ ใช้ค่าประมาณเอา แต่ถ้าเราทำให้คนใช้งานได้จริง มันต้องเป๊ะทุกอย่าง เรื่องอุณหภูมิก็ไม่สามารถเฉลี่ยหรือเมคขึ้นมาได้ ยิ่งทำให้คนกินก็ต้องทำให้เป๊ะ คลาดเคลื่อนน้อยมาก ซึ่งแม้จะเหนื่อย แต่ก็ถือเป็นข้อดีของการทำงานนี้คือเราได้เปิดอีกมุมมองหนึ่ง ได้ไปในโลกของการเรียนรู้ เหมือนเราต้องทำโปรเจ็คต์ 2 รอบ ต้องพัฒนา ต้องเหนื่อยกว่าคนอื่น”
และแม้ถึงวันนี้ผลงาน Or Health ยังคงมีเรื่องให้พัฒนาต่ออีกหลายแง่มุม แต่กันและนุ๊กก็พร้อมที่จะทำงานต่อไป และพร้อมส่งมอบงานต่อให้รุ่นน้องเมื่อถึงเวลาอันสมควร เพราะในวันนี้พวกเขาไม่ใช่คนเดิมที่รีบทำโปรเจ็คต์เพราะอยากจบเร็วๆ อีกต่อไป หากคือนวัตกรที่ทำงานหนักเพื่ออยากเห็นผลงานของตัวเองสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มากที่สุด
“จะทำผลงานต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่อาจารย์อยากให้ทำ…เสียดายที่อาจารย์ไม่ได้เห็น”
กันกล่าวด้วยแววตามุ่งมั่น
“เป็นสิ่งที่ดีที่ได้ทำงานสานต่อจากที่อาจารย์อยากให้ทำ เพราะอาจารย์ก็หวังว่าพวกเราจะทำได้ถึงจุดสูงสุด ก็ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยชี้แนะ ยังไงก็จะทำต่อ” นุ๊กทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม