- หนึ่งในกลุ่มงานศิลปะที่จัดแสดงในงาน Open Space Full@Empty #2 ณ ESC-Empty Space Chiang Mai คือละครหุ่นทั้งไร้เสียงและมีเสียง สุนทรียะที่พร้อมกระตุกต่อมจินตนาการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่นับเอกลักษณ์ของละครที่พร้อมจะกระตุกต่อมคิดประเด็นทางสังคมไปในเนื้อในตัว
- ท่ามกลางศิลปะหลายแขนงที่จัดแสดง The Potential หยิบละครหุ่นและละครเวทีมาเล่าให้ฟัง คือ กูจี กูจี โดย ยอด-เจริญพงศ์ ชูเลิศ, The Present โดย กลุ่ม Homemade Puppet & กลุ่ม Plasticity, From Lifeless to Life: When Masks Give Life สองเรื่องหลังเล่าสถานการณ์โลกอย่าง Environment Literacy อย่างเฉียบขาด
ภาพ: ปุณิกา พุณพาณิชย์
โลกการเรียนรู้ของสุนทรียศาสตร์มักเริ่มจาก ‘ความว่าง’ เช่นเดียวกับศิลปินนักการละคร ที่มอบพื้นที่ว่างให้กับคนดูก่อนแสดงเสมอ ทั้งเวทีที่ว่างเปล่า มืดสนิท ความเงียบงันบนเวที เหล่านี้ตั้งใจสร้างความว่างเปล่าให้เกิดขึ้น เป็นการทำงานกับความนิ่ง เงียบ สมาธิ เพื่อตั้งหลักคนดูก่อนเริ่มสร้างสรรค์การแสดง
เมื่อความพร้อมอันรู้กันของทั้งผู้แสดงและผู้ชมเกิดขึ้น ความเคลื่อนไหวปรากฏบนเวทีทั้งภาพ แสง สี เสียง กลิ่น การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก องค์ประกอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเวทีละคร ณ ขณะการเติมเต็มพื้นที่ว่างนั้น ล้วนสร้างความหมายกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้ชมอย่างไม่รู้จบ นั่นคือมนตราการเรียนรู้ (magic of learning) ผ่านความงามของศิลปะ ซึ่งนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการเรียนรู้มากมายที่ผู้สร้างสรรค์ค้นพบคุณค่าของการเรียนรู้รูปแบบนี้มาชั่วอายุคน และไม่จำกัดเพียงการละครเท่านั้น แต่เป็นแก่นแกนของการเรียนรู้ผ่านศิลปะทุกแขนง
การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ณ ห้วงเวลาสั้นๆ ขณะที่คนดูมีประสบการณ์ส่วนตัวกับศิลปะ ช่างเรียบง่าย ผุดบังเกิดความสร้างสรรค์จากความว่างนี้ และอาจมีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยถ้าความลึกซึ้งสามารถสร้างคุณค่าร่วมที่ผู้คนล้วนพร้อมเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมร่วมกัน
The potential มีโอกาสตามรอยการเรียนรู้ของเด็กๆ เยาวชน พ่อแม่ คุณครู นักศึกษา ศิลปินนักการละครจากหลากหลายประเทศ รวมทั้งคนทำงานพัฒนาเยาวชนผ่านงานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่มาเรียนรู้ร่วมกัน ณ ชุมชนทางศิลปะ เอ็มพ์ตี้สเปซ เชียงใหม่ (ESC-Empty Space Chiangmai) พื้นที่สำหรับวิถีชีวิต ศิลปะ และการศึกษา (Space for Life, Arts and Education) ซึ่งกำลังจัดงาน Open Space Full@Empty #2* เมื่อวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา
ละครหุ่นแห่งความเงียบ: ปฏิบัติการจินตนาการโดยไร้เสียงสั่งการ
ไฮไลท์ของงานอยู่ที่ช่วงค่ำ คืนนี้พวกเรารวมตัวกันอยู่ที่โรงละครไม้เล็กๆ ที่จุผู้คนราว 50-60 คนภายในเอ็มพ์ตี้สเปซ เชียงใหม่ แสงไฟส่องสว่างภายในโรงละครทำให้มองเห็นนิทรรศการภาพถ่ายผลงานฉากละครของ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ จัดวางอยู่รอบโรงละคร เสียงซุบซิบเล็กๆ ของเด็กๆ ดังลอดออกมาจากโรงละคร ซึ่งขณะนั้นยังคงเงียบ มืด และ ว่างเปล่า เหมือนตื่นเต้นที่จะได้ชมผลงานการแสดงที่พวกเขารอคอย
เมื่อไฟโรงละครสว่างขึ้นกลางเวที ตัวละครชายในชุดสีแดงปรากฏขึ้น เราเห็นนักแสดงเชิดหุ่นสายพม่ายืนอยู่เบื้องบน เส้นเชือกที่โยงมายังส่วนต่างๆ ของหุ่น ทำให้เราจดจ้องไปที่หุ่นละครขนาดเพียงหัวเข่าของนักแสดง เมื่อดนตรีดังขึ้น หุ่นเริ่มขยับมีชีวิตชีวา เด็กๆ ต่างตื่นเต้นที่ได้ชมการแสดงโหมโรงที่น่าอัศจรรย์นี้ เพราะหุ่นมีชีวิต ขยับขา ขยับมือ ร่ายรำตามจังหวะทำนองได้อย่างงดงาม เราสังเกตว่าเด็กๆ จ้องตาเขม็ง สายตาในฐานะโสตประสาทสำคัญที่ใช้เพื่อรับสุนทรียะความงดงามของสี แสง เพื่อค้นหา ‘ความหมายภายใต้ความว่าง’ การเปิดการแสดงด้วยละครหุ่น ราวกับฝึกความจดจ่อและรับรสความงามผ่านสายตา และการตีความหมายการเคลื่อนไหวของหุ่นละครในทิศทางต่างๆ ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์โดยไร้เสียงสั่งการ
‘กูจี กูจี’ ละครหุ่น (ไม่เงียบ) ที่เด็กๆ ช่วยส่งเสียงหาคำตอบ
ละครเรื่องต่อมา คือละครหุ่นเงาดัดแปลงจากนิทาน เรื่อง ‘กูจี กูจี (Guji Guji)’ เรื่องและภาพโดย เฉิน จื้อหยวน สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก โดย ยอด-เจริญพงศ์ ชูเลิศ ศิลปินและนักกิจกรรมพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านงานศิลปะ นำมาจัดแสดงในวันนี้
“ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า ช้างมันตัวโตไม่เบา จมูกยาวๆ เรียกว่างวง มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่างา มีหู มีตา หางยาว” คือ เพลงที่พี่ยอดชวนเด็กๆ ร้อง ก่อนเริ่มแสดง ละครเรื่องนี้ไม่ได้เล่นเรื่องช้าง แต่เล่าเรื่อง ‘กูจี กูจี’ ซึ่ง ‘กูจี กูจี’ เป็นอะไรนั้น เป็นคำถามที่ตั้งไว้ให้เด็กๆ ได้รอคอยค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
การแสดงหุ่นเงาในกล่องผ้าเล็กๆ สีขาวที่วางตั้งคอยอยู่บนเวที ในความเงียบและไฟที่ดับมืดของโรงละคร เมื่อไฟในจอหุ่นเงาฉายขึ้น เรามองเห็นเงารูปไข่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาที่ละใบ พี่ยอดชวนเด็กนับไข่ทีละใบ จนครบ 3 ใบ ก่อนที่จะมีไข่ใบหนึ่งกลิ้งตกลงมาจากภูเขามาอยู่ในรังไข่เป็ดและแตกออกเป็น ‘เป็ดน้อย’ 3 ตัว
แต่ตัวสุดท้ายไม่ใช่เป็ด “นี่มันไดโนเสาร์!” เด็กๆ ตะโกนโต้ตอบ ขณะที่พี่ยอดบอกว่า นี่คือ ‘กูจี กูจี’ แม่เป็ดและพี่น้องเป็ดต่างรักและฟูมฟักลูกน้อยตัวนี้ ทำให้ ‘กูจี กูจี’ เติบโตมาอย่างเป็ดตัวหนึ่ง
วันหนึ่ง ‘กูจี กูจี’ พบสัตว์ที่รูปร่างเหมือนตัวเอง และค้นพบว่าที่จริงแล้วตัวเองไม่ได้เป็น ‘เป็ด’ แต่เป็น ‘จระเข้’ และโดนโน้มน้าวให้พาพี่น้องเป็ดมาให้ฝูงจระเข้กิน ขณะที่ ‘กูจี กูจี’ รู้สึกสับสนมากที่ตัวเองไม่ใช่ ‘เป็ด’ เขามองเงาตัวเองในน้ำ แล้วลองทำท่าน่ากลัวแบบจระเข้ ด้วยความน่ารักของมันทำให้เงานั้นดูตลกมากจนต้องขำตัวเอง
‘กูจี กูจี’ ขบคิดและพูดกับตัวเองว่า “ฉันไม่ใช่จระเข้ แล้วก็ไม่ใช่เป็ด แต่ฉันเป็นจระเป็ดต่างหาก” คิดได้ดังนั้น ‘กูจี กูจี’ จึงไม่หลงไปกับคำหลอกล่อของเจ้าจระเข้ แม้ว่าจะรูปร่างหน้าตาดุร้าย แต่ก็ยืนยันตัวตนของตัวเอง ในคุณค่าความดีงามภายใน ที่รักเพื่อน พี่น้อง ไม่อาจทำร้ายทุกคนได้
ระหว่างดูหุ่นเงา เราได้ยินเสียงหัวเราะของเด็กๆ ดังขึ้นตลอด ทั้งยังสามารถส่งเสียงความคิดในหัวโต้ตอบได้อย่างอิสระ
หลังละครจบลง พี่ๆ ถามว่าทำไม ‘กูจี กูจี’ รู้ตัวว่าเป็นจระเข้ถึงไม่กินลูกเป็ด “กูจี กูจีน่ากลัวไหม” “ทำไม กูจี กูจี ถึงเป็นจระเป็ด” คำตอบมากมายต่างพรั่งพรู
เราเชื่อว่าความเป็นไปได้ในโลกของการเรียนรู้ผ่านละคร การกล้าส่งเสียงอย่างไม่มีผิดไม่มีถูก ทำให้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ที่มาดูทำงานได้อย่างเต็มที่ และนี่เป็นการเรียนรู้ที่หาได้ยากจากวิธีการเรียนการสอนแบบอื่นๆ
The Present: ละครหุ่นเงาไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น แต่ดูจบแล้วเด็กๆ อยากเอามาส์คปิดปากกันฝุ่นควัน
ละครหุ่นเงาเรื่องถัดมามีฉากเป็นผ้าสีขาวขนาดใหญ่ มีอุปกรณ์ฉายเงาวางอยู่หน้าเวที ชวนให้เด็กๆ อยากรู้ว่าละครเรื่องนี้จะสร้างความอัศจรรย์อย่างไร และละครเรื่องนี้คือ The Present ละครหุ่นเงา โดยกลุ่ม Homemade Puppet & กลุ่ม Plasticity เป็นความร่วมมือระหว่างศิลปินชาวไทย สุธารัตน์ สินนอง และกลุ่ม Plasticcity ศิลปินชาวมาเลเซีย ที่เตรียมสร้างสรรค์ละครเรื่องนี้ไปแสดง ณ Performing Arts Centre of Penang (penangpac) เมืองจอร์จทาวน์ รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 8-10 มีนาคม 2562 นี้
The Present เล่าเรื่องผ่านเงา ภาพ และเสียง โดยไม่มีบทพูด เอื้อให้เด็กๆ และผู้ชมใช้ความคิดและจินตนาการได้อย่างเต็มที่ ในความมืดของแผ่นจอไม่นาน เราเห็นแสงเงาปรากฏบนจอเป็นสีและรูปทรงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพียงฉายไฟพาดผ่านวัตถุหน้าเวที ทั้งกระดาษตัด ถังน้ำพลาสติกใส ขวดแก้ว กระดาษแก้ว และอื่นๆ จินตนาการให้เราเห็นตึกสูงระฟ้าและเมืองใหญ่ เมื่อไฟดับลงอีกครั้ง จอภาพด้านหลังปรากฏภาพ ‘เด็กชาย’ คนหนึ่งสวมหน้ากากช่วยหายใจกระโดดโลดเล่นอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยว ทำให้เราครุ่นคิดมากขึ้นว่าเพราะอะไรเด็กชายคนนี้ถึงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเล่นอยู่เพียงลำพังในห้องแคบๆ ไปไหนไม่ได้? และนั่นทำให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัดไปด้วย
ทันใดนั้นมีแสงไฟเล็กๆ สีเขียวเข้ามาในห้อง ดั่งของขวัญที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน เด็กชายรีบคว้าจุดเล็กๆ นั้นไว้
ฉับพลันมหัศจรรย์เริ่มเกิดขึ้น เด็กชายหลุดเข้าไปในมิติลึกลับ ดำดิ่งลึกไปใต้น้ำสีฟ้าคราม เขาท่องเที่ยวไปในมหาสมุทรที่มีแต่ปะการัง ปลาประหลาด ท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ จนพบวาฬตัวมหึมาที่ทำให้เด็กๆ ผู้ชมต่างร้อง ว้าว! พร้อมๆ กัน เพราะแสงเงาที่เป็นคลื่นสะท้อนมายังจอภาพสวยมาก… แต่ความงามกลับมีไม่นานนัก ในฉากพาเราไปให้เห็นโรงงานกลั่นน้ำมันกลางทะเล โรงงานอุตสาหกรรมหนัก ที่ต่างปล่อยของเสียและสร้างคลื่นโซน่าที่รบกวนเหล่าปลาน้อยใหญ่ วาฬตัวโตที่เด็กๆ เห็นและชื่นชอบต่างลอยตาย เด็กชายหลุดเข้าไปในโรงงานอย่างทุลักทุเล
ภาพตัดมาฉากที่เด็กชายเดินทางมาถึงป่าใหญ่เขียวขจี เขาได้วิ่งเล่นใต้ต้นไม้ใหญ่ เล่นกับสัตว์ต่างๆ ทั้งกระต่ายน้อย ช้าง นก ลิง แต่ไม่ทันไร ป่าก็เริ่มถูกเผาไหม้ เหมือนเป็นเศษไม้ที่ถูกกวาดออกไปโดยไม่เห็นค่า เพื่อสร้างตึกสูงใหญ่ ฝุ่นลอยคลุ้ง ทำให้เด็กชายต้องสวมหน้ากาก สถานการณ์นี้เองที่ต่อมาอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นภาพว่าเด็กชายต้องอยู่ในโลกของขวดใส ถูกปิดฝาไว้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอดได้
ละครหุ่นเงาจบลงด้วยภาพเด็กชายสวมหน้ากาก เสียงหายใจแผ่วเบาผ่านเครื่องสูดอากาศอันอึดอัดกับโลกใบแคบที่เขาอาศัยอยู่ ชวนให้นึกถึงโลกอนาคตที่เรามีโอกาสจะเป็นแบบนั้น เด็กชายที่ได้มีโอกาสเข้าไปในจินตนาการของโลกอันมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ในอดีต กลับต้องอาศัยอยู่ในขวดแก้วที่มีเพียงอากาศอันน้อยนิด กับกองหนังสือ โต๊ะหน้าต่างบางส่วนที่เขาใช้เพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่มีแม้แต่ต้นไม้ สัตว์ป่า แม่น้ำ มหาสมุทร
เหมือนละครกำลังตั้งคำถามแรงๆ กับผู้ชมทุกคนว่า “เราควรจะทำอย่างไรเพื่อรักษาโลกอันงดงามใบนี้ไว้?”
ละครกำลังเอาเรื่องยากให้เด็กๆ ได้ขบคิด ใช้วิจารณญาณ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว เพราะวันนี้อากาศที่เชียงใหม่กำลังเป็นพิษ หลักฐานคือสัญลักษณ์สีแดงในดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) สาเหตุที่ทุกคนรู้ว่าเกิดจากการเผาไหม้จากท่อไอเสียยานพาหนะ ไฟป่า และอุตสาหกรรม
หลายคนในวันนี้ต้องใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นไม่ต่างจากตัวละครในเรื่อง The Present แม้เป็นเรื่องยากแต่กลับให้ ‘ของขวัญ’ กับพวกเรา นั่นคือการตระหนักรู้ถึงสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ปลุกให้เราตื่นขึ้นเพื่อร่วมคิดหาทางออกและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยไม่นิ่งเฉย ให้เราได้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่อื่นๆ ทั้งในป่า แม่น้ำ และมหาสมุทร
ศิลปะ ในความเงียบที่เด็กๆ นั่งดู พร้อมเสียงร้องว้าวกับความตื่นตาตื่นใจในแสงเงานั้น กลับมี “ความคิดและกระบวนการทางปัญญา” ที่ทำงานอยู่ผ่านความรู้สึกสัมผัส โดยที่เราแทบไม่รู้ตัว และนี่คือเทคนิคทางศิลปะในการเล่าเรื่องยากให้ง่ายงาม และน่าติดตามได้ตลอดทั้งเรื่อง เป็นการทำงานที่แยบยลกว่าการเรียนรู้ผ่านรูปแบบอื่นๆ เช่น การสอนสั่ง
From Lifeless to Life: When Masks Give Life: ละครหุ่นที่มีพลาสติกเต็มเวที
ไม่รอช้าการจัดวางละครชุดสุดท้ายของวันนี้เหมือนจงใจเป็นละครที่แสดงในประเด็น Environmental Literacy ต่อเนื่องจากละครหุ่นเงา เป็นละครหน้ากาก เรื่อง From Lifeless to Life: When Masks Give Life ผลงานจากนักศึกษาสาขาดนตรีและการแสดง คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการอบรมจาก Gallis As ศิลปินชาวอินโดนีเซีย
ตัวละครหน้าตาแปลกตา ค่อยๆ เข้ามาสู่เวทีด้วยท่าทางแปลกประหลาด มีตัวละครตัวหนึ่งก้าวเข้ามาพร้อมชุดแต่งกายพลาสติก หยิบมือถือที่ดังขึ้นมาใช้เพื่อเข้าสู่โลกออนไลน์ เด็กๆ ต่างเข้าใจดีว่านี่คือพฤติกรรมปกติของผู้คนบนโลกสมัยใหม่ ตัวละครสวมหน้ากาก ค่อยๆ ก้าวขึ้นไปบนเวทีกระโจนหยิบถุงพลาสติกออกมาใช้ทีละชิ้น ทีละชิ้น ฉับพลัน ถุงพลาสติกหลากสีกลับล้นมากมายจนเต็มเวที เด็กๆ ชวนกันขึ้นไปเก็บถุงพลาสติกกันสนุกสนาน ตัวละครที่สวมหน้ากากที่ใช้พลาสติก ถูกล้อมรอบด้วยพลาสติก ความหมายเหมือนต้องการให้ถุงพลาสติกลดลงและควบคุมไม่ให้พลาสติกล้นโลก ภาพดังกล่าวกำลังบอกอะไรเรา การที่เด็กๆ วิ่งขึ้นไปเก็บพลาสติกนั้นมันเกิดการเปลี่ยนแปลง อะไรข้างในสมองและจิตใจของเด็กๆ ขณะนั้น เราไม่อาจรู้ได้
สิ่งหนึ่งที่เราหวังคือ เด็กๆ ที่กำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมบนโลกใบนี้ เราต่างรู้ดีว่าสถานการณ์ขยะล้นโลกล้วนส่งผลต่อสรรพสัตว์ สภาวะอากาศ และสภาวะแวดล้อมที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของเราทุกคนบนโลกใบนี้
พื้นที่ว่างอันว่างเปล่า ณ Empty Space ที่ถูกเติมเต็มอย่างเต็มที่ โดยกลุ่มศิลปินที่หลากหลาย นักศึกษา คนทำงานเยาวชน พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และเด็ก ต่างร่วมกันสร้างความหมายของการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้อย่างมีคุณค่า ศิลปะและความงามคงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเรียนรู้ ที่เชื้อเชิญให้ทุกคนเข้ามาร่วมสัมผัสประสบการณ์ที่นำพาให้เรา นอกจากได้เรียนรู้ความงดงามแล้ว การได้ครุ่นคิดร่วมกันบนพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นปัญญาที่เราจะนำพาให้เด็กๆ แห่งโลกอนาคตของเรา ได้ยืนอยู่ด้วยความเป็นมิตรนำพาสิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าส่งต่อธรรมชาติให้คนรุ่นต่อไปอย่างรู้คุณค่า
พื้นที่ว่าง จึงคือ จุดเริ่มต้นของพื้นที่การเรียนรู้…อย่างแท้จริง
Fun Fact *Open Space Full@Empty #2 เพื่อระลึกถึงความทรงจำและมิตรภาพของเหล่าศิลปินคนทำงานศิลปะที่มีต่อ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์ ศิลปินชาวเยอรมันผู้ล่วงลับ มานูเอลเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะในหลายๆ วงการในประเทศไทย อินโดนีเซีย พม่า ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่เขาเดินทางไป ที่สำคัญเป็นผู้ที่ก่อตั้งพื้นที่แห่งความว่าง ESC แห่งนี้ ร่วมกับภรรยา คุณอรพรรณ ลุทเกนฮอสท์ และครอบครัว ภายในงานจัดแสดงนิทรรศการบางส่วนจาก ‘Manuel Lutgenhorst: Behind the Scenes’ ‘ในความทรงจำและมิตรภาพกับโลกศิลปะ’ ซึ่งเคยจัดมาแล้วที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ 1-10 ก.พ. ที่ผ่านมา นิทรรศการภายในงานครั้งนี้ได้จำลองแนวคิด บ้านพิพิธภัณฑ์ ชีวิตและผลงานของ มานูเอล ลุทเกนฮอสท์, พิพิธภัณฑ์หุ่นสายพม่า, งานแสดงเซรามิค จาก Empty space studio, ศิลปะจัดวาง โดย Chatchaiwat pottery Studio และ Reinhard Zabka นอกจากนี้ยังมีเวิร์คช็อปหุ่นเงาใบไม้ โดยยอด-เจริญพงศ์ ชูเลิศ, ละครหน้ากาก โดย Gallis As ศิลปินจากประเทศอินโดนีเซีย กิจกรรมปั้นดินสำหรับเด็กๆ จาก Empty Space Studio กิจกรรมทอผ้าและบอร์ดเกมจากศูนย์การเรียนโจ๊ะมาโลลือหล่า การทำศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ และการเต้นแบบโบราณ จากศิลปินโปแลนด์ |