- แม้กระทั่งในสหรัฐฯ ก็วัดความร่วมมือในห้องเรียนจากคะแนน ‘ยกมือตอบคำถาม’ นักเรียนที่ ‘กล้าแสดงออก’ ก็กวาดคะแนนไปรัวๆ แต่นักเรียนบุคลิก ‘นิ่ง’ ก็ต้องซดยาขม นั่งกลืนความรู้สึกแปลกแยกของตัวเองลงไป
- Quiet Revolution คือห้องเรียนครูที่ต้องการปรับวิธีคิดและการสอน เพื่อนักเรียนบุคลิก ‘Introvert’ หรือเด็กที่ ‘นิ่งเงียบ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ตั้งใจเรียน’
- คะแนนจากการ ‘ยกมือตอบ’ ด้านหนึ่งคือความไม่ยุติธรรม เพราะครูจะโฟกัสและให้คุณค่าเฉพาะนักเรียนที่กล้าแสดงออก แต่ ‘มนุษย์’ คือความหลากหลาย ห้องเรียนควรเป็นพื้นที่ๆ อนุญาตและส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายนั้น
จำความรู้สึกที่ต้องแย่งกันตอบคำถาม เพื่อเอาคะแนนการมีส่วนร่วมในห้องเรียนได้มั้ย จำได้มั้ยว่ารู้สึกอย่างไร คำตอบที่ออกไปผ่านการคิดวิเคราะห์แค่ไหน หรือตอบๆ ไปเพื่อให้ได้คะแนน
แล้วถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ ‘ไม่ชอบพูดมาก ไม่ชอบมีตัวตน ไม่รู้สึกว่าต้องแสดงออก’ มันจะกล้ำกลืนฝืนทนแค่ไหนกัน
เพื่อปลดล็อคความไม่ยุติธรรมจากการเก็บคะแนนที่ขึ้นกับ ‘บุคลิกของแต่ละคนซึ่งมีความหลากหลาย’ และการไม่ชอบตอบคำถาม ไม่ได้แปลว่าไม่ตั้งใจเรียนและไม่อยากมีส่วนร่วมในห้องเรียน ครูกลุ่มหนึ่งจึงลุกขึ้นมาตั้งโครงการ ‘Quiet Revolution’ จัดอบรมเพื่อเปลี่ยนความคิดและวิธีการสอนของครู ในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนที่มีบุคลิกแบบ Introvert หรือ บุคคลที่เก็บเนื้อเก็บตัว มักนิ่งเงียบอยู่ในความคิดของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่คนเก็บกด เพียงแต่มีบุคลิกแบบ ‘นิ่งๆ’ เฉยๆ
- บุคลิกแบบ Extrovert คือคนที่มีบุคลิกร่าเริง กล้าแสดงออก มีภาวะความเป็นผู้นำ เข้าหาคนอื่นมากกว่า
- บุคลิกแบบ Introvert คือผู้ที่มีบุคลิกนิ่งๆ มักเก็บเนื้อเก็บตัวไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ถูกให้ค่าว่า ‘ด้อยกว่า’ กลุ่ม Extrovert และอาจต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่า ผู้ที่มีบุคลิก Introvert ไม่ได้มีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือพัฒนาการ เพียงแต่เป็นลักษณะส่วนตัว
- โตมร ศุขปรีชา เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในนิตยสาร WAY ชื่อ ‘หยิ่ง ขี้อาย หรือผิดทุกข้อ’ หรืออ่านจบแล้วยังไม่จุใจ ตามไปฟัง โตมร ศุขปรีชา และ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ชวนคุยเรื่อง Introvert / Extrovert ใน Omnivore ตอนที่ 3
Quiet Revolution: คอร์สอบอบรมเพื่อเปลี่ยนความคิดครู ไม่ใช่นักเรียน
ไฮดี คาเซวิช (Heidi Kasevich) ครูประจำวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนมัธยมกว่า 25 ปี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Quiet Revolution กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาการศึกษาของอเมริกา คือมักประเมินผลด้วยคะแนนตอบคำถามในห้องเรียนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของเกรดเฉลี่ย ทั้งหมดนี้ทำให้ครูส่วนใหญ่ให้คุณค่าแก่เด็กที่กล้าแสดงออก หรือมีบุคลิกแบบ Extrovert
เช่นเดียวกับความเห็นของ ซูซาน เคน (Susan Cain) – เจ้าของหนังสือ Quiet: the Power of Introverts in a World that Can’t Stop Talking (ความเงียบ: พลังของคนอินโทรเวิร์ต ในโลกที่ผู้คนไม่อาจหยุดพูดได้) หนึ่งในผู้พูดรายการ TED Talks ที่มีผู้คนเข้าไปดูกว่า 18 ล้านวิว – จึงรวบรวมทีมสร้าง ‘ห้องเรียนครู’ เพื่อปรับวิธีคิด วิธีสอน และชี้ว่า ผลลัพธ์จากการให้คุณค่าเฉพาะเด็กที่กล้าแสดงออก ทำให้มองข้ามการพัฒนาศักยภาพของเด็กบางคนไปมากแค่ไหน
วิธีการปรับห้องเรียน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ‘One-Size-Fits-All’
อันที่จริงแล้ว วิธีการดึงศักยภาพ หรือมีสายตาที่มองเห็นว่า “เด็กที่ไม่ยกมือตอบคำถามในห้อง เขาก็มีส่วนร่วมเหมือนกัน” ทำได้หลายวิธี และวิธีการหนึ่งคือ ให้นักเรียนเขียนความคิดของตัวเองในกระดาษคำตอบ ท้าทายให้พวกเขาเขียนด้วยการดีเบตกับความคิดของตัวเอง หากต้องมีชั่วโมงโต้วาทีหรือทำงานเป็นกลุ่มกับเพื่อน ก็ให้พวกเขาลอง ‘ซ้อมมือ’ ในกระดาษ แล้วส่งต่อให้เพื่อนในกลุ่มช่วยกันดูก่อน นี่เป็นแค่หนึ่งในวิธีการออกแบบห้องเรียน เพื่อให้ได้ความเห็นจากนักเรียนทุกคน
เอริน พาวลัค (Erin Pawlak) คุณครูประจำชั้น ป.2 จากโรงเรียนในเครือ P.S. 11 สาขามหานครนิวยอร์ค หนึ่งในครูที่ถูกส่งเข้าห้องเรียน ‘การปฏิวัติความเงียบ’ เล่าว่า เธอชอบวิธีคิดที่ให้ครูวัดการมีส่วนร่วมของนักเรียนผ่าน ‘ภาษากาย’ เช่น การสบตากับครูแม้ขณะที่ครูเดินสอนไปรอบๆ ห้อง หรือลักษณะทางร่างกายที่อธิบายว่านักเรียนสนใจเรียนอยู่
สิ่งที่พาวลัคใช้บ่อยๆ คือ ‘การ์ดทายใจ’ วิธีการคือ เพื่อทำความรู้จักนักเรียนใหม่ เธอจะให้นักเรียนเลือกการ์ดภาพ โดยจะมีภาพเด็กๆ เล่นกับเพื่อน และเด็กที่นั่งเล่นอยู่คนเดียว หรือสลับๆ กัน เพื่อที่เธอจะอนุมานเด็กในชั้นต้นได้ว่า พวกเขามีบุคลิกพื้นฐานอย่างไร
แต่การแบ่งนักเรียนเป็น Introvert กับ Extrovert คือวิธีการแก้ปัญหาจริงๆ หรือ?
“แต่การแปะป้ายว่าเด็กคนนี้เป็น Introvert ใช่วิธีการแก้ปัญหาหรือไม่ หรือจะเป็นการทำให้พวกเขาซ่อนตัวมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจมากกว่า คือการเคารพว่าพวกเขาอาจแสดงออกถึงวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน”
คือความเห็นของ เคธี ชูลต์ซ (Kathy Schultz) คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโรลาโด และผู้เขียนหนังสือ Rethinking Classroom Participation: Listening to Silent Voices (ทบทวนเรื่องการมีส่วนร่วมในห้องเรียน: ลองฟังเสียงของความเงียบ)
ชูลต์ซเห็นด้วยกับการให้ความสำคัญกับการเรียนด้วยวิธีการอื่นๆ แต่เธอตั้งข้อสงสัยว่า แท้จริงแล้วความพยายามของ Quiet Revolution นั้นต้องการเปลี่ยนบุคลิกของนักเรียนจาก ‘Introvert’ เป็น ‘Extrovert’ หรือเปล่า เพราะคงไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องแน่ๆ เธอเรียกร้องให้ครูเคารพในความเงียบของเด็กจริงๆ และแม้ว่าเด็กจะไม่สบตา ไม่ได้ผงกหัวตามบทเรียน หรือไม่ได้แสดงอาการทางกายภาพใดๆ ออกไป ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ตั้งใจเรียนหรือไม่มีส่วนร่วม
อย่างไรก็ตาม คงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียง หารือ และพัฒนากระบวนการเรียนการสอนต่อไป เพราะไม่มีวิธีไหนที่ดีและเหมาะสมที่สุด แต่หลังเข้าอบรมและรับความคิดมาปรับใช้ในงานครูของเด็กๆ ชั้น ป.2 พาวลัคแชร์ประสบการณ์ว่า เธอเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กในห้อง จากเด็กที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความเห็นใดๆ ก็เริ่มเข้ากลุ่มด้วยวิธีการอื่นๆ อาจจะไม่ได้พูดมากเท่าเด็กๆ ที่มีบุคลิก Extrovert แต่ก็แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในแบบอื่นๆ เช่นการยืนยันกับเพื่อนคนอื่นๆ ว่า พวกเขาเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับมติของกลุ่มตัวเอง