- 3 หนุ่มจากสกลนคร ปอ, แม็ค และ กี้ นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เจ้าของโปรเจ็คต์ WiMC หรืออุปกรณ์ตรวจสอบมอเตอร์ไฟฟ้าแบบไร้สายอัจฉริยะที่จะช่วยทุ่นแรง ทุ่นทุน และป้องกันความเสียหายเชิงธุรกิจให้ผู้ประกอบการได้อย่างมหาศาล
- “เราสามารถเป็นนักพัฒนาได้ถ้าคิดแตกต่าง มองในจุดที่คนอื่นไม่มอง ต้องมีความอดทน และนอกจากมีความรู้แล้ว ก็ต้องเปิดใจรับความรู้ที่เราไม่รู้มาก่อนด้วย”
เรื่อง: มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
การศึกษาหาความรู้ผ่านข้อมูลทุติยภูมิหรือข้อมูลที่มีผู้อื่นแสวงหามาให้ ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักเรียนนักศึกษา ทว่าเมื่อก้าวไปถึงช่วงเปลี่ยนผ่านจากผู้เรียนสู่ผู้ลงมือทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนวัตกรที่ต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้อื่น การอาศัยเพียงข้อมูลหรือความรู้จากเอกสารหนังสือ อันเปรียบได้กับการมองโลกผ่านสายตาของผู้อื่นเพียงอย่างเดียว ย่อมไม่เพียงพออีกต่อไป
ข้อเท็จจริงนี้คือสิ่งที่ 3 หนุ่มจากสกลนคร ปอ-ปรมินทร์ แสงแก้ว, แม็ค-กฤษณะ ธิวโต, กี้-รัฐธรรมนูญ พลอยเพ็ชร นักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ได้ประสบมากับตัวเองจากการลงมือทำโปรเจ็คต์ WiMC (Wireless Motor Check) อุปกรณ์ตรวจสอบมอเตอร์ไฟฟ้าแบบไร้สายที่ช่วยเฝ้าระวังความผิดปกติของมอเตอร์แบบเรียลไทม์ ที่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยดูแลอุปกรณ์มอเตอร์จำนวนมากในสถานประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ที่จะช่วยทุ่นแรง ทุ่นทุน และป้องกันความเสียหายเชิงธุรกิจให้ผู้ประกอบการได้อย่างมหาศาล
ทั้งสามยอมรับว่า WiMC คงไม่อาจเกิดขึ้นจริงหรือเกิดจริงแต่ก็คงใช้งานจริงไม่ได้เลย หากพวกเขาไม่ได้พาตัวเองไปสัมผัสข้อมูลปฐมภูมิ ผ่านสายตาของตัวเอง…
มอเตอร์ขับด้วยแรงกล คนเคลื่อนด้วยแรงใจ
WiMC มีเป้าหมายเริ่มแรกมาจากความต้องการของ ปอ-แม็ค-กี้ ที่ต้องการพัฒนาผลงานชิ้นนี้ให้เป็นโปรเจ็คต์จบการศึกษาและส่งประกวด YECC ไปพร้อมๆ กัน โดยหัวข้อของผลงานเกิดมาจากประสบการณ์ตรงจากการไปฝึกงานในโรงงานอุตสาหกรรมของปอ ซึ่งเป็นคนเดียวในกลุ่มที่เติบโตมาจากสายวิชาชีพ
“ผมเคยฝึกงานเรื่องการซ่อมบำรุงมอเตอร์และหม้อแปลง และพบว่าในสายงานนี้ยังไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้ตรวจสอบเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ได้หลายๆ อย่าง จึงเกิดความคิดว่าอยากทำเครื่องมือที่ช่วยย่นระยะเวลาการทำงานของวิศวกร เป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้จริง ลดระยะเวลาในการตรวจสอบเครื่องจักรได้จริงโดยไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่ม แค่มีเครื่องเราเครื่องเดียวก็สามารถดูค่าต่างๆ ที่ห้องทำงานได้” ปอเล่าถึงแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นพัฒนาผลงาน
“อย่างโรงงานที่ผมไปฝึกงานมีมอเตอร์เป็น 100 ตัว แต่มีช่างซ่อมแค่ 1-2 คน และมอเตอร์มันไม่ได้วางติดกันทุกตัว ตัวหนึ่งอยู่ตรงนี้ อีกตัวหนึ่งห่างไป 500 เมตร ต้องใช้เวลาในการเดิน มอเตอร์ตัวไหนใกล้พัง แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะไปตรวจ มอเตอร์ก็อาจเสียหายก่อนได้” กี้เสริม
“เกิดจู่ๆ มอเตอร์ช็อตแค่ตัวเดียวแต่ต้องชัตดาวน์ทั้งโรงงานส่งผลกระทบต่อทั้งส่วนงานนั้นที่ต้องหยุดทำงานไปเลย เกิดความเสียหายมหาศาล” ปอกล่าวต่อ
“แต่ถ้าเรามีอุปกรณ์ชิ้นนี้ เราก็ไม่ต้องเดินไปตรวจให้เหนื่อย ดูได้ในคอมพิวเตอร์จอเดียวก็เช็คได้เลยว่ามอเตอร์ตัวนี้แรงสั่นสะเทือนแค่ไหน อุณหภูมิแค่ไหน ไม่ต้องเดินไปตรวจเอง” กี้สรุปความถึงวัตถุประสงค์ของผลงาน
ทั้งสามจึงเริ่มต้นพัฒนา WiMC ให้มีคุณสมบัติสามารถวัดแรงดันไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า อุณหภูมิ และแรงสั่นสะเทือนได้ เพียงแต่ในกระบวนการพัฒนา ทั้งสามจำใจต้องตัดอุปกรณ์รับการสั่นสะเทือนออกไปเนื่องจากไม่สามารถหาอุปกรณ์ที่ตรงตามมาตรฐานได้
กระทั่ง WiMC แล้วเสร็จ ทั้งสามก็ส่งผลงานเข้าประกวด YECC และต่อยอดมาถึงโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 6 ซึ่งช่วงนี้เองคือทางแพร่งที่ทั้งสามต้องตัดสินใจเลือกเส้นทาง เนื่องจากอาจารย์ที่ปรึกษามองว่าผลงาน WiMC เป็นเรื่องเกี่ยวกับมอเตอร์ ซึ่งมีความยากและต้องใช้เวลาในการพัฒนายาวนานจนไม่สามารถใช้เป็นโปรเจ็คต์จบการศึกษาได้ ทีมจึงต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ในการทำโปรเจ็คต์จบการศึกษาขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่ง และพัฒนาผลงานทั้งสองควบคู่ไปพร้อมกัน
ลำพังแค่นี้ก็หนักหนาพอดูแล้วสำหรับพวกเขา แต่หลังจากได้มองเห็นลู่ทางในการพัฒนาผลงานให้ไปได้ไกลกว่าเดิม ทั้งสามก็ท้าทายตัวเองอีกขั้นหนึ่งด้วยการนำ WiMC เข้าโครงการต่อกล้าฯ ด้วย
“อาจารย์กลัวว่าจะยากเกินไปสำหรับเรา ทำให้ไม่จบ โปรเจ็คต์จบก็เลยต้องทำอีกโปรเจ็คต์หนึ่งควบคู่กันไป ซึ่งหนักมากเหมือนกัน ตอนแรกผมก็กะจะทิ้ง กลัวไม่ไหว เริ่มท้อแล้ว แต่แม็คบอกว่ามาถึงขั้นนี้แล้วก็ไปต่อเถอะ สุดท้ายเลยตัดสินใจทำ เพราะถ้าเลิกทำกลางคันก็กลัวส่งผลเสียต่อรุ่นน้องที่อยากเข้ามาต่อกล้าฯ ด้วย ด้วยชื่อเสียงมหา’ลัย และได้โอกาสมาถึงขั้นนี้แล้ว จึงสู้กันต่อ” ปอกล่าวอย่างมุ่งมั่น
“แม็ครู้จักพี่คนหนึ่งที่เคยมาต่อกล้าฯ (นายภูมินทร์ ประกอบแสง โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ รุ่นที่ 3) เราอยากมาเข้าโครงการเพราะเราเป็นเด็กกิจกรรมชอบประกวด ชอบหาประสบการณ์ เราก้าวมาแล้ว แม้จะมีอุปสรรคบ้าง มีท้อ มีเหนื่อย แต่ถ้าเราผ่านไปได้เราน่าจะภูมิใจ เลยยังอยากสู้ต่อ” แม็คกล่าวเสริม
ออกจากห้องเรียน ไปสัมผัสโลกจริง
โลกของการเรียนกับโลกของการทำงานจริงนั้นแตกต่างกัน ความรู้ที่ใช้เพื่อสอบกับความรู้ที่ใช้พัฒนาผลงานเพื่อนำไปใช้จริงในโลกของการทำงานก็แตกต่างกัน นี่คือสิ่งที่ปอ-แม็ค-กี้ ได้เรียนรู้หลังจากเข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ และต้องยกระดับผลงานจากโปรเจ็คต์ไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์
“ตอน YECC งานของเราเหมือนเป็นแค่ต้นแบบ เป็นกล่องที่ไม่มีอะไรเลย (หัวเราะ) แค่สามารถทำงานตามคอนเซ็ปต์ได้ แต่ยังใช้เป็นผลิตภัณฑ์ไม่ได้ เพิ่งมาได้ไอเดียว่าจะทำผลิตภัณฑ์ตอนเข้ามาต่อกล้าฯ นี่เอง” ปอเล่าอย่างอารมณ์ดี
จุดเชื่อมต่อระหว่างความเป็นโปรเจ็คต์นักศึกษากับนวัตกรรมในโลกจริง ก็คือการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มผู้ใช้เพื่อนำมาพัฒนาผลงาน ซึ่งเดิมทีนั้นมีเพียงปอที่มีโอกาสได้ไปฝึกงาน และนำเอาประสบการณ์ที่เขาได้รับจากการฝึกงานนั้นมาสร้างเป็นหัวข้อโปรเจ็คต์ ทว่ากี้กับแม็ค ซึ่งยังไม่เคยผ่านประสบการณ์การทำงานในโรงงานจริงมาก่อน ยอมรับว่าพวกเขาไม่ถ่องแท้ในวัตถุประสงค์ของผลงานตัวเองเท่าไหร่นัก จนกระทั่งได้มีโอกาสฝึกงานจริง พวกเขาจึงมองเห็นเป้าหมายและสิ่งที่ต้องทำในผลงานชิ้นนี้ได้อย่างชัดแจ้งขึ้น
“เมื่อก่อนยังมองภาพไม่ออกว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้มันจะตรวจยังไง (ยิ้ม) แต่พอได้มาฝึกงานผมกระจ่างเลยว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้สามารถช่วยได้จริงๆ สามารถวัดกระแส วัดแรงดัน วัดอุณหภูมิได้” กี้เล่าถึงการเรียนรู้ที่ได้รับ
เปรียบเหมือนกับการมองโลกผ่านสายตาคนอื่น จากหนังสือ จากตำรา แน่นอนว่าเราย่อมได้ความรู้และเห็นโลกในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่อาจเทียบเท่าการออกไปมองโลกผ่านสายตาของตัวเอง เราย่อมเห็นแง่มุมต่างๆ ได้ชัดเจนกว่า ทั้งแง่มุมที่สายตาคนอื่นไม่เคยบอก และแง่มุมที่สายตาคนอื่นบอกแล้ว แต่อาจใช้ไม่ได้จริงในบริบทที่แตกต่างออกไป
“ตั้งแต่เริ่มทำโครงการเราคิดแล้วล่ะว่าเราจะทำอะไร แต่อย่างที่ปอบอก เรามีความรู้จากการเรียนมาแต่เรายังไม่เคยเจอสถานการณ์จริง เราพูดได้ว่าเรารู้แต่มันอาจจะเป็นความรู้ที่ได้มาระดับหนึ่งแต่ยังไม่สุด ทำให้เวลากรรมการหรือคนอื่นมาถามลึกขึ้น คำตอบเราจึงไม่ชัดเจน และการทำงานไม่ใช่แค่เราอยากทำอย่างเดียว เราต้องมีความรู้ด้วย ถ้าอยากได้ประสบการณ์หรือความรู้ใหม่ๆ เราต้องดึงตัวเองเข้ามาในห้องเรียนห้องหนึ่งที่เราเรียกมันว่าประสบการณ์ เพราะความรู้ตอนเราลงมือปฏิบัติมันจะต่างจากความรู้ที่เราอ่านหรือได้ยินคนพูดมา” แม็คเล่าการเรียนรู้ในส่วนของตัวเองอย่างมีชีวิตชีวา
งานยังไม่จบ จะนิ่งสงบไม่ได้
จากผลงานที่คาดหวังให้เป็นเพียงโปรเจ็คต์จบการศึกษา ปัจจุบันทั้ง 3 หนุ่มได้มุ่งมั่นพัฒนาจน WiMC ก้าวไปไกลถึงขั้นพร้อมจะเป็นผลิตภัณฑ์ในโลกแห่งความจริง แต่กระนั้น ทั้งสามก็ยอมรับว่ายังคงมีปัจจัยอีกไม่น้อยที่พวกเขาต้องสะสางจัดการ หากปรารถนาให้ผลงานชิ้นนี้ต่อยอดไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งในมิติของตัวผลงานเอง…
“ตอนนี้ยังมีประเด็นเรื่องตัวสั่นสะเทือนที่ยังวัดไม่ได้ และยังศึกษาไม่ได้ด้วยว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมันต้องเป็นยังไง ก็ยังต้องศึกษาเรื่องนี้อีกเยอะ” ปอเล่าถึงแผนต่อไปของผลงาน
แม็คเสริมว่า “เพราะงานวิศวกรไฟฟ้าเป็นงานเบื้องหลัง เราสามารถสร้างความเสียหายได้ถ้าเกิดความผิดพลาด จนกว่าจะถึงวันส่งมอบงานได้อย่างปลอดภัย นั่นคือความฟิน (หัวเราะ)”
“เราจะทุ่มสุดตัวทำงานชิ้นนี้ให้เสร็จ เพราะผมเห็นความสำคัญของงานชิ้นนี้มากตั้งแต่มาฝึกงาน” กี้ให้สัญญา
และรวมถึงในมิติของการเพิ่มพูนศักยภาพของตัวเอง เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้ดีมากขึ้นไปอีกบนเส้นทางที่ทอดยาวของชีวิต
“ผลงานชิ้นนี้สอนพวกเราให้มีความอดทนในการทำงานและความรู้อย่างถ่องแท้ในสิ่งที่เราจะทำ ต้องรู้ให้มากให้เพียงพอที่จะพัฒนาผลงานได้จริง อย่างการเขียนโค้ด ผมพอเขียนได้ ตอนที่เข้า YECC ก็เขียนเอง แต่พอมาถึงจุดนี้มันต้องเขียนในขั้นที่สูงขึ้น ซึ่งเกินความสามารถของเราแล้ว เลยต้องพึ่งพี่ๆ ตอนนี้เลยผมสนใจเรื่องการเขียนโปรแกรมมากๆ” ปอกล่าว
แน่นอนว่าไม่ใช่การมองโลกด้วยสายตาของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขากำลังต่อยอดตัวเองไปสู่การเรียนรู้โลกและลงมือทำในฐานะนวัตกรอย่างเต็มภาคภูมิ
“สำหรับคนที่จะมาเป็นนักพัฒนาคนหนึ่งต้องมีความรู้รอบด้าน จะได้เห็นความต้องการว่าอะไรขาดไป อะไรควรมี ถ้าผมไม่เคยฝึกงานก็จะไม่รู้เลยว่าสิ่งนี้มันจำเป็น โชคดีที่เคยไปฝึกงานและเห็นไอเดียถูกจุด ทำให้ได้แนวคิดในการพัฒนา นอกจากนั้นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ศึกษาในสิ่งที่ตัวเองจะทำให้มาก รู้ในเรื่องนั้นทุกด้าน อย่างทำเรื่องมอเตอร์ถ้าต้องทำคนเดียวไม่มีตัวช่วยก็ต้องศึกษาให้ลึกซึ้งทุกอย่าง” ปอกล่าวถึงคุณสมบัติของนวัตกรที่ดี
ก่อนที่แม็คจะทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า
“เราสามารถเป็นนักพัฒนาได้ถ้าคิดแตกต่าง มองในจุดที่คนอื่นไม่มอง ต้องมีความอดทน และนอกจากมีความรู้แล้ว ก็ต้องเปิดใจรับความรู้ที่เราไม่รู้มาก่อนด้วย (ยิ้ม)”